นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อนแห่งอาเซียน

4 ต่อ 10,000 คือตัวเลขของอัตราแพทย์ต่อจำนวนประชากรของประเทศไทยที่ต่ำกว่าแถบตะวันตกถึง 10 เท่า ด้วยระบบสาธารณสุขที่ดูแลทุกคน รักษาทุกโรค ทำให้ต้องทุ่มสรรพกำลังบุคลากรทางการแพทย์เพื่อดูแลผู้ป่วยโรคทั่วไป ในขณะที่โรคยากและซับซ้อนกลับมีโรงพยาบาลใหญ่เพียงไม่กี่แห่งที่มีศักยภาพพร้อมทำงานส่วนนี้

“Medpark” โรงพยาบาลที่ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของคณะแพทย์หลากหลายสาขาและบริษัทโรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน) จึงเข้ามาเติมเต็มช่องว่างดังกล่าวของระบบสาธารณสุข ให้เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่รับรีเฟอร์ผู้ป่วย กับความเชี่ยวชาญในการรักษาโรคยากและซับซ้อนไม่ใช่แค่เฉพาะในประเทศไทย แต่ปักธงทางการแพทย์สำหรับโรคยากและซับซ้อนแห่งภูมิภาคเอเชียอาคเนย์

ภายใต้การนำของหัวเรือใหญ่คือ นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค (MedPark) นายแพทย์ผู้มีความสนใจด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขที่ร่วมขับเคลื่อนระบบสาธารณสุขไทย ผู้อยู่เบื้องหลังการสร้างโรงพยาบาลมากว่า 6 แห่ง กับประสบการณ์คร่ำหวอดบริหารโรงพยาบาลมากว่า 35 ปี ภายใต้ บริษัท โรงพยาบาลมหาชัย จำกัด (มหาชน)

กับประวัติศาสตร์หน้าใหม่ในการสร้างโรงพยาบาล MedPark ตั้งอยู่บนทำเล Super Core CBD ย่านพระราม 4 กว่า 90,000 ตร.ม. ให้เป็นโรงพยาบาลเรือธงของเครือ พร้อมด้วยทีมแพทย์ผู้ชำนาญการจากหลากหลายสาขา เครื่องมืออุปกรณ์และเทคโนโลยีที่ครบครันทันสมัย และยังมีการพัฒนาและสนับสนุนการวิจัยทางการแพทย์อย่างต่อเนื่อง

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

35 ปี แห่งการสร้างโรงพยาบาลเพื่อผู้คน

ภาพเตียงผู้ป่วยอัดแน่น ทุกซอกหลืบถูกใช้งานอย่างเต็มพิกัด กลิ่นยาฆ่าเชื้อเตะจมูกในโรงพยาบาล คงเป็นประสบการณ์ร่วมของหลายหลายคนที่ต้องเข้าไปใช้บริการในโรงพยาบาลหลายแห่งที่ถูกออกแบบโดยเน้นฟังก์ชันการใช้งานเป็นหลัก

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ในฐานะผู้มีประสบการณ์สร้างโรงพยาบาลมาหลายแห่ง จึงมีแนวคิดสร้างสถานพยาบาลที่คำนึงถึงมากกว่าแค่ประโยชน์ใช้สอย ด้วยหลักคิด “Life Does Matter” ชีวิตนั้นสำคัญนัก จึงใส่ใจในทุกรายละเอียดอย่างพิถีพิถัน

“MedPark ใช้คอนเซปต์ว่า Life Does Matter ชีวิตนั้นมีค่า ชีวิตนั้นสําคัญนัก เมื่อผู้ป่วยมาหาเราต้องมีความปลอดภัยในโรงพยาบาลเพียงพอ ที่เขาจะไม่รู้สึกถูกซ้ำเติมเลย การอยู่ในบรรยากาศที่ดีและผ่อนคลาย ทำให้ผู้ป่วยมีความมั่นใจ และสบายใจในการให้ความร่วมมือกับการรักษามากขึ้น” นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าว

อาคารจึงถูกออกแบบให้ดีต่อสุขภาพ เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และประหยัดพลังงาน ได้รับการรับรองมาตรฐานอาคารสีเขียวระดับ Gold จากการรับรองมาตรฐาน LEED (Leadership in Energy and Environmental Design) เป็นอาคารใช้พลังงานต่ำ แบ่งการใช้งานของแต่ละแผนกในแต่ละชั้นอย่างชัดเจน ช่วยลดการกระจุกตัวของผู้ป่วยในจุดใดจุดหนึ่ง ย่นระยะเวลารับบริการพร้อมทั้งรักษาความเป็นส่วนตัวแก่ผู้ป่วย

รวมถึงการสร้างระบบอากาศแรงดันบวก (Posotive Pressure) ที่ทำให้ภายในอาคารมีมลพิษจากฝุ่น PM น้อยกว่าอากาศภายนอกถึง 10 เท่า ถือเป็นโรงพยาบาลที่นำระบบดังกล่าวมาใช้กับทั้งอาคารแห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทยบนพื้นที่ 90,000 ตร.ม. แบ่งเป็นพื้นที่ใช้สอย 70,000 ตร.ม.ที่มีจำนวนห้องตรวจนอกผู้ป่วยนอก 300 ห้อง เตียงผู้ป่วยใน 550 เตียง โดยแบ่งเป็นเตียงผู้ป่วยวิกฤต (ICU) ถึง 30% ทำให้เป็นโรงพยาบาลที่มีเตียงผู้ป่วยวิกฤตมากที่สุดในประเทศ

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

 

การแพทย์สำ หรับโรคยากซับซ้อน       

“สิ่งที่เราคิดคืออยากทำให้ MedPark เป็นโรงพยาบาลที่เป็นต้นแบบ เป็นทางออก เป็นทางเลือกของระบบสาธารณสุขประเทศไทยได้ โดยเน้นรักษาโรคยากซับซ้อนเพื่อแบ่งเบางานที่ไม่มีคนดูแลเรื่องนี้อย่างเพียงพอ” นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าวเปิดประเด็นถึงหัวใจสำคัญของโรงพยาบาล MedPark

ซึ่งนิยามความหมายของโรคยากและซับซ้อน หมายความถึง โรคหายากที่พบได้น้อย โรคที่มีความซับซ้อน รักษายาก หรือการรักษาโรคในผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดต่าง ๆ เช่น ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีอวัยวะบกพร่อง หรือผู้ป่วยที่ต้องอาศัยการดูแลรักษาหลายโรคพร้อมกัน เป็นต้น และออกแบบการทำงานเพื่อแก้เพนต์พอยท์ของผู้ป่วย จากที่เคยต้องนัดพบแพทย์หลายครั้ง หลายแผนก ที่ใช้เวลาตรวจรักษายาวนาน แต่ด้วยทีมแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาล MedPark ที่มีแพทย์ประจำและพาร์ทไทม์กว่า 600 คน คัดเลือกผู้ที่มีประสบการณ์มากกว่า 5 ปี มีความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขารวม 40 สาขา ที่ทำงานร่วมกันเพื่อย่นย่อระยะเวลาในการรักษา พร้อมการพัฒนาแอปพลิเคชัน เพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลทั้งการนัดหมายแพทย์ ผลแล็บ ผลการตรวจรักษา และใบเสร็จ ทำให้ผู้ป่วยได้รับประสบการณ์ที่แตกต่างนับตั้งแต่ก้าวเท้าเข้ามาใช้บริการที่โรงพยาบาล MedPark จนกระทั่งอยู่ในระยะฟื้นฟูหรือรักษาหาย

“ที่ MedPark เราต้องการให้ลดเวลาในการวินิจฉัยโรค ลดเวลาในการรักษาพยาบาลโดยใช้ทีมมากขึ้นเป็นการทำงานแบบ Intregate Care บางครั้งในเคสที่จำเป็น รักษาคนไข้คนเดียว แต่มีทีมแพทย์มาตรวจ 3-4 คน ทำงานร่วมกัน เพื่อประหยัดเวลาและผลการรักษาที่ดีที่สุด” นายแพทย์พงษ์พัฒน์กล่าวถึงการทำงานของทีมแพทย์

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

 

ความฝันในการขับเคลื่อน Medical Hub ของประเทศไทย

เมื่อความฝันในการผลักดัน Medical Hub เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงมากว่าทศวรรษ แต่เป้าหมายดังกล่าวถูกขับเคลื่อนเป็นรูปธรรมแล้วหรือไม่ ? นี่คือคำถามของนายแพทย์พงษ์พัฒน์ผู้มีความสนใจเป็นพิเศษในด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุข ที่เห็นว่า Medical Hub จะเป็นอีกคำตอบของการพัฒนาเศรษฐกิจมวลรวมของประเทศ และ MedPark จะเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโอกาสทางการแข่งขันด้านการบริการสาธารณสุขในตลาดโลก

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ กล่าวต่อว่าประเทศไทยมีจำนวนผู้ป่วยชาวต่างชาติเข้ามาใช้บริการอยู่ที่ปีละ 4 ล้านราย คิดเป็นรายได้ราว 3,000 - 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 100,000 ล้านบาท แต่เมื่อเหลียวหลังแลหน้าพิจารณาประเทศเพื่อนบ้านอย่างสิงคโปร์ แม้มีจำนวนชาวต่างชาติเข้ารับบริการปีละ 1 ล้านราย น้อยกว่าไทยถึง 4 เท่า แต่กลับสร้างรายได้ใกล้เคียงกับประเทศไทย

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

 

สิ่งนี้จึงเป็นโจทย์ที่กรรมการผู้จัดการโรงพยาบาลเมดพาร์ค มองว่าหากเราสามารถเพิ่มขีดความสามารถในการรักษาพยาบาลให้มากขึ้น ด้วยความรู้ความเชี่ยวชาญในโรคยากซับซ้อน ที่มีเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพสูง จะสามารถเพิ่มค่าใช้จ่ายต่อหัวของผู้เข้ารับบริการได้

“ในเรื่อง Medical Hub ถามว่าการรักษาพยาบาลของสิงคโปร์ราคาแพงกว่าเราหรือไม่ ไม่ใช่นะครับ แต่เขารักษาโรคยากซับซ้อนกว่าไทย เพราะฉะนั้นถ้าไทยเปลี่ยนจำนวนผู้เข้ารับบริการชาวต่างชาติ 4 ล้านคน ให้มีค่าใช้จ่ายต่อหัวเท่าสิงคโปร์ เราก็จะเปลี่ยนจากรายได้ 1 แสนล้าน มาเป็น 4 แสนล้านทันทีเลย โดยใช้คนจำนวนไม่มาก อาจจะเป็นโรงพยาบาลเอกชนเพียง 10-20 แห่งเท่านั้นเอง”

โรงพยาบาล MedPark เองก็เป็นอีกหนึ่งฟันเฟือง ที่จะร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการดึงเม็ดเงินหลายแสนล้านบาทหลั่งไหลเข้ามาเพื่อสร้างประเทศไทยให้เป็น Medical Hub ของโลกอย่างสมบูรณ์แบบ

 

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน

 

“การให้” คือหัวใจของผู้นำ

“ผู้นำที่ดีต้องมีทักษะการสื่อสาร รับฟังผู้อื่น มองว่าทีมเป็นส่วนหนึ่งของกันและกันที่จะทําให้งานเดินไปข้างหน้า ซึ่งเราจะรู้จักการให้คนอื่น รู้จักเสียเปรียบคนอื่น” เป็นคำตอบที่ได้รับในทันทีเมื่อถามถึงหลักคิดด้านทักษะการเป็นผู้นำของนายแพทย์พงษ์พัฒน์

คุณค่านี้สะท้อนให้เห็นนับตั้งแต่โรงพยาบาล Medpark เริ่มเปิดให้บริการในช่วงเวลาที่ทั่วโลกเผชิญกับสถานการณ์โควิด-19 ในปี พ.ศ. 2563 ที่ผู้คนเว้นระยะกักตัวอยู่ที่บ้าน และเฝ้ารอคิวการฉีดวัคซีนโควิด-19 ด้วยใจจดจ่อ

MedPark ในฐานะโรงพยาบาลที่พร้อมด้วยทีมแพทย์และเครื่องมือ ทีมบุคลากรของโรงพยาบาลที่มีอยู่ราว 500 - 600 คน จึงร่วมให้บริการฉีดวัคซีนแก่ประชาชนทั่วไปทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติในจำนวนรวมกว่า 400,000 โดส โดยไม่ได้คิดค่าบริการบุคลากรทางการแพทย์และค่าอุปกรณ์ต่าง ๆ

นับเป็นการสร้างนิสัย “การให้” อันเป็นพื้นฐานที่ดีของการทำงานเพื่อผู้อื่น จนเกิดความไว้เนื้อเชื่อใจของประชาชนที่มีต่อโรงพยาบาล MedPark เกิดการบอกต่อความประทับใจ ทำให้หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย ก็มีผู้เข้ารับบริการเพิ่มขึ้นต่อเนื่องทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติมาจนถึงปัจจุบัน

“เราสร้างแนวคิดให้บุคลากรรู้จักการให้กับประชาชน มองว่าการทำงาน ทำแล้วมีความสุขและเป็นประโยชน์ต่อผู้อื่น การทำงานด้านสาธารณสุข ต้องฝึกเป็นคนรู้จักให้ รู้จักเสียเปรียบคนอื่น เราถึงจะสามารถเข้าใจคนไข้ เปลี่ยนแปลงเขาได้ แล้วงานก็จะบรรลุเป้าหมาย” นายแพทย์พงษ์พัฒน์ กล่าวสรุปถึงหัวใจของความสำเร็จ

นายแพทย์พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช ปักธง MedPark สู่โรงพยาบาลรักษาโรคยากและซับซ้อน