‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ศิลปินผู้สร้างสรรค์ศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพว่าต้องมีคุณภาพเหมือนการส่งโทรเลข คือเลือกใช้ถ้อยคำให้น้อย แต่สื่อความหมายได้ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม

KEY

POINTS

  • ‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ เหลนของในหลวงรัชกาลที่ 4 และผู้รับใช้ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 7
  • ภารกิจในการสนับสนุนให้วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นที่รู้จัก
  • ผู้สร้างผลงานศิลปะเพื่อความสุนทรีย์ส่วนตัว วาดเพราะรัก และแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิต

‘หม่อมเจ้าการวิก’ เป็นพระโอรส ‘พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าเสรฐวงษ์วราวัตร กรมหมื่นอนุพงษ์จักรพรรดิ์’ ซึ่งเป็นพระโอรส ‘สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้าจาตุรนต์รัศมี กรมพระจักรพรรดิพงษ์’ พระราชโอรสใน ‘พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว’  

หม่อมเจ้าการวิก ประสูติเมื่อวันจันทร์ที่ 9 เมษายน พ.ศ. 2460 เสด็จพ่อประทานชื่อให้กับโอรสน้อยว่า ‘การวิก’ ซึ่งเป็นชื่อนกชนิดหนึ่ง และประทานชื่อเล่นว่า ‘หวาน’ ในวัยเด็กหม่อมเจ้าการวิกเติบโตขึ้นมา ณ ตำหนักริมน้ำในอำเภอบางปะอิน จังหวัดพระนครศรีอยุธยา และเริ่มเข้าเรียนที่โรงเรียนวัดนิเวศธรรมประวัติ 

รับใช้ใกล้ชิดในหลวงรัชกาลที่ 7 

และแล้วชีวิตของท่านก็เปลี่ยนไปจนห่างไกลความธรรมดา เมื่อวันหนึ่ง ‘พระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว’ รัชกาลที่ 7 ทอดพระเนตรเห็นหม่อมเจ้าการวิกขณะมารอรับเสด็จกับเสด็จพ่อ พระเจ้าอยู่หัวทรงถูกชะตา จึงมีพระราชดำรัสขอไปเลี้ยง หม่อมเจ้าการวิกเลยได้ย้ายสำมะโนครัวไปอยู่ในพระราชวังสวนดุสิต ที่นั่นท่านได้ทรงเข้าเรียนกิริยามารยาทที่โรงเรียนสตรีจุลนาค และทรงเรียนต่อที่โรงเรียนราชกุมาร แหล่งรวมเด็ก ๆ ในวัง โดยมีครูเก่ง ๆ จากโรงเรียนและมหาวิทยาลัยภายนอกมาสอนวิชาต่าง ๆ ทั้งศาสตร์และศิลป์ ตัวอย่างคุณครูที่มีชื่อเสียงเช่น ‘หลวงประดิษฐ์ไพเราะ’ บรมครูด้านดนตรีไทย จึงทำให้หม่อมเจ้าการวิกทรงมีความสามารถในการเล่นดนตรีไทย เช่น ขลุ่ย ระนาดเอก ฆ้องวง ตั้งแต่ในวัยเยาว์

ในวัย 12 ปี หม่อมเจ้าการวิกทรงได้รับพระมหากรุณาธิคุณให้ไปเรียนต่อที่โรงเรียน Lycee Perier ประเทศฝรั่งเศส ในช่วงที่ทรงเรียนอยู่ต่างประเทศนี้เองที่ประเทศไทยเกิดเหตุการณ์สำคัญ มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ มาเป็นระบอบประชาธิปไตย ใน พ.ศ. 2475 และหลังจากนั้นอีก 2 ปี รัชกาลที่ 7 ทรงสละราชสมบัติขณะที่ประทับอยู่ในประเทศอังกฤษ 

เมื่อเรียนจบชั้นมัธยม หม่อมเจ้าการวิกจึงทรงตัดสินใจตอบแทนพระมหากรุณาธิคุณโดยอาสามาเป็นมหาดเล็กรับใช้ใกล้ชิดรัชกาลที่ 7 และพระบรมราชินี ซึ่งตัดสินพระราชหฤทัยประทับอยู่ต่อในประเทศอังกฤษเพื่อความปลอดภัยจากกลุ่มอำนาจใหม่ และเพื่อรักษาพระอาการประชวรจากโรคพระหทัย 

เรียนรู้รอบด้าน

หน้าที่หลักของหม่อมเจ้าการวิกในพระตำหนักคือทรงเป็นราชเลขาติดต่องานต่าง ๆ แทบจะทุกเรื่อง และขับรถพระที่นั่งให้ในหลวงและพระราชินีประทับ ในขณะที่หม่อมเจ้าการวิกทรงงานอยู่นั้นก็ได้ขวนขวายสมัครเข้าเรียนวิชาบัญชี และสื่อสารธุรกิจ กับ Chartered Institute of Secretaries of Joint Stock Companies ไปด้วย โดยวิธีเรียนทางไกลผ่านไปรษณีย์ ใช้เวลาว่างอ่านหนังสือ และนัดไปสอบประเมินความรู้ 

เพื่อให้มีความสามารถรอบด้าน รัชกาลที่ 7 ทรงส่งหม่อมเจ้าการวิกไปเรียนวิชาช่างกับบริษัท ‘โรลส์-รอยซ์’ ในหลักสูตร Owner Drivers’ Course เรียนประกอบ และซ่อมชิ้นส่วนรถ จนหม่อมเจ้าการวิกทรงเชี่ยวชาญขนาดที่สามารถรื้อรถออกมาเป็นชิ้น ๆ แล้วประกอบขึ้นมาใหม่ให้เหมือนเดิมได้ทั้งคัน 

น่าเศร้าสลดใจที่ในวันที่ 30 พฤษภาคม พ.ศ. 2484 ในหลวงรัชกาลที่ 7 เสด็จสวรรคต หลังจากนั้นหม่อมเจ้าการวิกก็ยังคงทรงอยู่รับใช้พระราชินี สมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีต่อ 

ร่วมขบวนการเสรีไทย

เมื่อสงครามโลกครั้งที่ 2 เริ่มเข้มข้นขึ้น ส่งผลกระทบไปทั่วโลก รัฐบาลไทยในสมัยนั้นหันไปฝักใฝ่ฝ่ายญี่ปุ่นสร้างความไม่พอใจให้แก่ชาวไทยในประเทศ และที่อาศัยอยู่ในต่างแดนอีกเป็นจำนวนมาก กลุ่มผู้ที่มีความเห็นตรงกันข้ามกับรัฐบาลจึงก่อตั้ง ‘ขบวนการเสรีไทย’ ขึ้นมาต่อต้านญี่ปุ่น และหม่อมเจ้าการวิกก็ทรงเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุน 

ด้วยอุดมการณ์อันแรงกล้าที่อยากจะร่วมรบในแนวหน้า ท่านจึงทูลลาสมเด็จพระนางเจ้ารำไพพรรณีไปประจำการในกองทัพอังกฤษเพื่อจะฝึกยุทธวิธี ก่อนจะไปสู้กับทหารญี่ปุ่นในเมืองไทย หม่อมเจ้าการวิกและเสรีไทยท่านอื่น ๆ ถูกส่งไปฝึกในค่ายทหารที่อังกฤษ แอฟริกาใต้ และอินเดีย จนพร้อมรบ ก่อนจะแฝงตัวกระโดดร่มเข้ามาในประเทศไทยที่อำเภอศรีสำโรง จังหวัดสุโขทัย และเดินทางต่อไปยังจังหวัดตากเพื่อเตรียมไพร่พลประจัญบาน แต่ก็พอดิบพอดีญี่ปุ่นประกาศยอมแพ้สงครามก่อนที่หม่อมเจ้าการวิกและพวกพ้องจะได้สู้รบ

สนับสนุนศิลปะสมัยใหม่ และการถ่ายภาพ

หลังสงครามโลก หม่อมเจ้าการวิกทรงตัดสินใจกลับเมืองไทยเพื่อมารับตำแหน่งผู้จัดการของบริษัทเซอร์วิสการาจอยู่ 10 ปี ก่อนจะย้ายไปบริหารบริษัทประชายนต์ ตัวแทนจำหน่ายรถโฟล์คสวาเกน ในช่วงที่กลับมาเมืองไทยนี่เองที่ท่านเริ่มเข้ามามีบทบาทในวงการศิลปะสมัยใหม่ของบ้านเราซึ่งอยู่ในช่วงกำลังตั้งไข่ หม่อมเจ้าการวิกทรงดำรงตำแหน่ง ‘นายกสมาคมศิลปะสมาคมระหว่างชาติแห่งประเทศไทย’ ซึ่งมีภารกิจในการสนับสนุนให้วงการศิลปะสมัยใหม่ของไทยเป็นที่รู้จัก และเป็นที่ยอมรับในเวทีนานาชาติ โดยการผลักดันศิลปินไทยให้ได้เข้าร่วมการประชุม แสดงศิลปะ และศึกษาต่อในต่างประเทศ 

นอกจากนี้ท่านยังได้รับการเชื้อเชิญให้ทรงเป็นประธานคณะกรรมการตัดสินการประกวดผลงานศิลปะในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติหลายต่อหลายครั้ง อีกทั้งยังทรงเป็นประธานคณะกรรมการในการประกวดศิลปะที่จัดขึ้นโดยเอกชนมากมายเช่น ธนาคารกรุงเทพ, ธนาคารกสิกรไทย, โตชิบา, พานาโซนิค, ปตท. ฯลฯ

เนื่องจากหม่อมเจ้าการวิกสนพระทัยและมีความสามารถในการถ่ายภาพไม่แพ้การวาดภาพ กล้องของท่านนั้นได้รับพระราชทานมาจากในหลวงรัชกาลที่ 7 ตั้งแต่หม่อมเจ้าการวิกอายุแค่ 15 ปี แถมท่านยังได้รับการถ่ายทอดความรู้โดยตรงจากรัชกาลที่ 7 ซึ่งโปรดการถ่ายภาพมาก ด้วยประสบการณ์อันยาวนานในด้านนี้ หม่อมเจ้าการวิกจึงทรงได้รับเกียรติให้เป็นนายกสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย พ่วงไปอีกตำแหน่งด้วย

ก่อตั้ง หอศิลป์ พีระศรี 

ในปี พ.ศ. 2505 หลังจากที่ ‘อาจารย์ศิลป์ พีระศรี’ ถึงแก่กรรม หม่อมเจ้าการวิกยังทรงเป็นหนึ่งในโต้โผใหญ่ร่วมกับ ม.ร.ว.พันธุ์ทิพย์ บริพัตร และ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ในการก่อตั้ง ‘มูลนิธิหอศิลป์ พีระศรี’ ขึ้นมา โดยมีจุดประสงค์ที่จะจัดสร้างหอศิลป์ที่มีมาตรฐานทัดเทียมอารยประเทศขึ้นมาในประเทศไทย มูลนิธิได้จัดกิจกรรมระดมทุน จนมีเงินในการออกแบบ และสร้างอาคารเรียบร้อย ที่ยังไม่ลงตัวคือโลเคชั่นว่าจะไปสร้างกันตรงไหน เดิมทีเกือบจะได้พื้นที่ในสนามเสือป่าอยู่รอมร่อ แต่สุดท้ายก็ชวด ในที่สุดคณะกรรมการเลยตกลงปลงใจกันให้มาสร้างหอศิลป์อยู่ในซอยอรรถการประสิทธ์ ถนนสาทร สมัยเปิดตัวใหม่ ๆ หอศิลป์ พีระศรี คึกคักมาก มีทั้งศิลปินไทยและต่างประเทศสลับสับเปลี่ยนกันมาจัดแสดงผลงานชนิดที่เรียกว่าหัวกระไดไม่แห้ง 

ในบั้นปลายชีวิต หม่อมเจ้าการวิกทรงได้รับพระกรุณาโปรดเกล้าฯ จากในหลวงรัชกาลที่ 9 ให้เป็นที่ปรึกษาสำนักงานจัดการทรัพย์สินส่วนพระองค์ แม้จะชราภาพ แต่หม่อมเจ้าการวิกก็ยังทรงสนับสนุนกิจการสมาคม งานประกวด และกิจกรรมในแวดวงศิลปะ และการถ่ายภาพ อย่างขยันขันแข็งอยู่ไม่ขาดจวบจนวาระสุดท้ายในชีวิตของท่าน เมื่อหม่อมเจ้าการวิกสิ้นชีพิตักษัย ในวันที่ 13 พฤษภาคม พ.ศ. 2545

สร้างสรรค์ศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์

ในด้านการสร้างสรรค์ผลงานศิลปะ หม่อมเจ้าการวิกทรงวาดภาพมาตลอดในทุก ๆ ช่วงเวลาของชีวิต ตอนเล็ก ๆ หม่อมเจ้าการวิกโปรดการเขียนลายเส้นเป็นภาพการ์ตูนล้อเลียนดูตลก ๆ จนท่านได้เรียนรู้เทคนิคการวาดภาพด้วยสีน้ำแบบจริง ๆ จัง ๆ ตอนที่ถูกส่งไปเรียนต่อที่ประเทศฝรั่งเศส เมื่อทำเป็นแล้วก็ติดใจ ฝึกฝน ลองผิดลองถูกด้วยตนเองต่อมาเรื่อย ๆ 

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

หม่อมเจ้าการวิกโปรดการวาดวิวทิวทัศน์เป็นชีวิตจิตใจ ภาพที่ท่านวาดส่วนใหญ่เลยจะออกไปในแนวนั้น ตั้งแต่ท่านทรงติดตามรัชกาลที่ 7 ไปยังสถานที่ต่าง ๆ ท่านก็วาดภาพสีน้ำของสถานที่นั้น ๆ ขึ้นมามากมายซึ่งล้วนแต่เป็นวิวในต่างประเทศ แม้แต่ช่วงที่ทรงเข้าร่วมขบวนการเสรีไทย ไปฝึกการสู้รบที่ใดก็แล้วแต่ เมื่อมีเวลาว่างท่านก็ยังคงวาดภาพ ยิ่งภายหลังกลับมาเมืองไทยไม่ต้องย้ายที่ไปไหนมาไหนบ่อย ๆ ก็ยิ่งวาดเอา ๆ และภาพในยุคนี้ก็มักเป็นภาพที่เปี่ยมไปด้วยเอกลักษณ์ความเป็นไทย เช่น ภาพงานประเพณีร่าเริง วิถีชีวิตความเป็นอยู่

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

ผลงานศิลปะทั้งหมดทั้งปวงนี้ หม่อมเจ้าการวิกทรงสร้างสรรค์ขึ้นเพื่อความสุนทรีย์ส่วนตัว ท่านเคยเล่าว่าท่านวาดเพราะรัก และต้องการที่จะวาด วาดแล้วอิ่มฟูลฟิลอารมณ์เดี๋ยวนั้น จะให้วาดซ้ำอีกทีด้วยอารมณ์เดิมก็วาดไม่ได้อีกแล้ว ภาพที่วาดเสร็จก็เก็บไว้ดูเอง ไม่ก็เที่ยวมอบให้ญาติสนิทมิตรสหาย ไม่ได้ตั้งใจจะเอาไปค้าขาย เอาไปประกวด หรือไปโชว์ที่ไหน ผลงานของท่านจึงเป็นงานอาร์ตแบบบริสุทธิ์ที่สร้างขึ้นตามอารมณ์สุนทรีย์ของคนวาดล้วน ๆ

วาดเล่น ๆ แต่ชนะรางวัลจริง ๆ

เพราะไม่ได้ตั้งใจจะเผยแพร่ ผลงานของหม่อมเจ้าการวิกเลยไม่ได้เป็นที่รู้จัก จนมาวันหนึ่ง ‘มูเนท์ ซาโตมิ’ (Mounet Satomi) ศิลปินชาวญี่ปุ่นที่มาทำงานที่กรมศิลปากร ได้ไปดื่มน้ำชาที่บ้านหม่อมเจ้าการวิก และระหว่างที่คุยกันถูกคอตามประสานักเรียนเก่าฝรั่งเศสเหมือนกัน ซาโตมิก็เหลือบไปเห็นภาพวาดสีน้ำภาพหนึ่งแขวนอยู่ ภาพนั้นเป็นภาพภูเขาสิงห์ที่อินเดีย ทั้งการจัดวางองค์ประกอบ และสีสันก็ดูวิเศษลงตัว เป็นผลงานที่มีคุณภาพมาก ซาโตมิจึงทูลถามหม่อมเจ้าการวิกว่าไปซื้อหามาจากที่ใด และใครเป็นคนวาด 

พอรู้ว่าหม่อมเจ้าการวิกเป็นคนวาดเอง ซาโตมิก็ถึงกับตกใจ และคะยั้นคะยอให้หม่อมเจ้าการวิกส่งผลงานเข้าประกวดในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 2 เมื่อ พ.ศ. 2493 ที่จัดขึ้นโดยอาจารย์ศิลป์ พีระศรี แรก ๆ ก็ลังเลใจ แต่พอโดนซาโตมิรบเร้าหนักเข้าก็เลยยอมใจ ลองส่งไปแข่งขันกับเขาดู ผลปรากฏว่าภาพภูเขาสิงห์ได้รับรางวัลเกียรตินิยมอันดับ 3 เหรียญบรอนซ์จากงานใหญ่ระดับชาตินี้ ในปีถัด ๆ มา หม่อมเจ้าการวิกก็ทรงส่งผลงานเข้าร่วมแสดงในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติอีก และก็กวาดมาอีกหลายรางวัล

วาดอย่างมัธยัสถ์ แต่ชัดเจน

แล้วภาพสีน้ำฝีมือหม่อมเจ้าการวิกนี้มีความพิเศษอย่างไร ในสูจิบัตรงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติครั้งที่ 11 เมื่อ พ.ศ. 2503 อาจารย์ศิลป์ พีระศรี เขียนเล่าไว้อย่างชื่นชมว่า “ม.จ.การวิก จักรพันธุ์ เป็นผู้มีชื่อทางด้านงานจิตรกรรมสีน้ำอันวิจิตร มีอุปนิสัยพิเศษในศิลปะประเภทนี้ ภาพทิวทัศน์ต่าง ๆ นั้นใช้พู่กันป้ายสองสามครั้งก็สำเร็จ ภาพงานวัดนั้นจะเห็นได้ว่า ม.จ.การวิก เขียนรูปคนขนาดเล็กโดยใช้สีแต้มเป็นจุด ๆ อย่างฉลาด”

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

หม่อมเจ้าการวิกทรงยึดถือหลักการที่ท่านเรียกว่า Economy of Strokes หรือ ปาดป้ายอย่างมัธยัสถ์ แต่ผลสัมฤทธิ์ต้องชัดเจน ท่านเปรียบการวาดภาพว่าต้องมีคุณภาพเหมือนการส่งโทรเลข คือเลือกใช้ถ้อยคำให้น้อย แต่สื่อความหมายได้ตรงประเด็นไม่อ้อมค้อม สำหรับท่านแล้ว ภาพวาดไม่จำเป็นต้องละเอียดยิบ ไม่ต้องเหมือนเป๊ะทุกกระเบียด ศิลปินแค่แนะแต่พอประมาณ ที่เหลือปล่อยให้ผู้ชมเอาไปจินตนาการต่อเอาเอง 

ภาพวาดของท่าน ถ้าพิจารณาดูแล้วจะเห็นว่าปาดสีไม่กี่ครั้งก็ออกมาเป็นภาพที่เสร็จสมบูรณ์ได้ ความแม่นยำ น้ำหนัก พลัง ครบครัน เทคนิคที่ใช้ก็สุดแสนจะแพรวพราว ทั้งสูตรลับในการวาดเส้นแสง การจับคู่สีแก่อ่อน ใช้ของใหญ่ข่มของเล็กเพื่อให้เกิดคอนทราสต์ รวมถึงการปล่อยให้สีเปียก ๆ ไหลเข้าหากัน น้ำจะทำให้สีที่ผสมกันลุ้นให้เกิดการแตกตัวแผ่ซ่านไปยังทิศทางต่าง ๆ 

อีกองค์ประกอบที่ทำให้ผลงานออกมาดีก็คือวัสดุอุปกรณ์ หม่อมเจ้าการวิกทรงพิถีพิถันกับการเลือก พู่กัน สี และกระดาษเป็นอย่างมาก ของที่ใช้ไม่ใช่แบบบ้าน ๆ อะไรก็ได้ ท่านทรงเลือกใช้เกรดสูงที่สุดเท่านั้น เพราะเหตุนี้ละมั้ง ภาพสีน้ำของท่านถึงมีอายุอานามกว่าครึ่งศตวรรษ แต่สีก็ยังคงความสดใสไม่ค่อยจะซีด กระดาษก็ไม่คล้ำ ไม่ด่าง ไม่เป็นจุด เจิดจรัสอย่างกับวาดเสร็จเมื่อวาน

‘หม่อมเจ้าการวิก จักรพันธุ์’ ผู้สร้างศิลปะด้วยใจบริสุทธิ์ เปรียบการวาดภาพเหมือนโทรเลข

ว่ากันถึงเรื่องราคาค่างวด สำหรับผู้ที่สะสมศิลปะต่างก็รู้ว่าผลงานจิตรกรรมสีน้ำฝีมือหม่อมเจ้าการวิกนั้นเป็นของมีค่ามาตั้งแต่ไหนแต่ไร สมัยก่อนปี พ.ศ. 2500 ยุคที่ทองยังราคาบาทละไม่กี่ร้อย ภาพของท่านที่โชว์อยู่ในงานแสดงศิลปกรรมแห่งชาติก็ตั้งราคาภาพละสองพันกว่าแล้ว 

มีเรื่องเล่าต่อ ๆ กันมาว่าในสมัยนั้น แม้แต่อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ยังถึงกับยอมควักเงินครึ่งหมื่นแลกกับภาพวาดสีน้ำวัดอินทรวิหารฝีมือหม่อมเจ้าการวิก แม้กระทั่งทุกวันนี้ถึงจะมีสะสมกันอยู่ในวงแคบ ๆ เพราะของมีจำนวนสุดแสนจะจำกัด แต่ผลงานของท่านก็ยังมีการซื้อขายเปลี่ยนมือกันเงียบ ๆ ในราคาภาพละเรือนแสน ส่วนภาพเด็ด ๆ ก็เรียกราคากันเป็นล้าน ทั้ง ๆ ที่เป็นผลงานสีน้ำบนกระดาษซึ่งเก็บรักษายาก แต่ก็มีแฟนคลับผู้รู้คุณค่ายินดีจ่ายในราคาที่สูงลิบจนน่าตกใจ

เป็นแบบอย่างอันยิ่งใหญ่ในการใช้ชีวิต 

หม่อมเจ้าการวิกทรงเปรียบชีวิตของท่านว่า “ชีวิตผมเหมือนไม้กระดานหกในสนามเด็กเล่นที่ขึ้น ๆ ลง ๆ แต่เวลาลงก็ไม่ต่ำลงทะลุพื้น ขึ้นก็ไม่ถึงดวงดาว และภูมิใจที่ได้เป็นแค่รอยข่วนเล็ก ๆ ในประวัติศาสตร์ของแผ่นดิน” 

พรรณนาเรื่องราวของหม่อมเจ้าการวิกไปเรื่อย ๆ ทำไมถึงไม่รู้สึกเหมือนกำลังเขียนบทความเกี่ยวกับศิลปินในวงการศิลปะไทยอย่างที่ตั้งใจจะให้เป็น แต่กลับรู้สึกเหมือนกำลังบอกต่อวิธีการใช้ชีวิต โดยการเอาประวัติของบุคคลที่ครบรส ครบเครื่อง มาเล่าสู่กันฟัง พอยิ่งเขียนยิ่งรู้สึกว่าหม่อมเจ้าการวิกท่านมีหมดทั้งคุณสมบัติเรื่องความใฝ่รู้ ความสามารถที่มีรอบด้าน การถ่อมตน การไม่ปิดกั้นโอกาสที่ผ่านเข้ามา การอุทิศตนเพื่อส่วนรวม ความกล้าหาญ ความรักที่มีต่อชาติ ฯลฯ จนเรื่องความสามารถในการวาดภาพดูจะกลายเป็นเรื่องเล็กกระจิริดไปเลยเมื่อเทียบกับวีรกรรมอันยิ่งใหญ่กว่าที่ท่านได้เคยทำมามากมาย

ชีวิตของหม่อมเจ้าการวิกอาจจะเป็นเหมือนไม้กระดานหกอย่างที่ท่านว่าไว้ ไม่ลงต่ำทะลุดิน และถึงจะไม่กระเด้งสูงเสียดดาว แต่ก็ไม่เห็นจะต้องแคร์ เพราะไม้กระดานหกชุดนี้มีคุณสมบัติพร้อมสรรพที่จะกระดกอยู่บนดวงดาวให้คนรุ่นหลังได้แหงนมองเป็นแบบอย่างอยู่แล้ว

 

เรื่อง : ตัวแน่น
ภาพ : The Art Auction Center