สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ?

สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ?
ไข่ไก่ในเมืองไทยส่วนใหญ่มาจากระบบเลี้ยงในกรงแคบแบบที่เรียกกันว่า “กรงตับ” ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำกันมานาน และมิได้ขัดต่อกฎหมายแต่อย่างใด หากแต่กลุ่มสิทธิสัตว์มองว่า วิธีการเช่นนั้นเป็นปัญหา และพยายามรณรงค์ให้มีการเลิกใช้ไข่ที่ได้จากการเลี้ยงด้วยวิธีการนี้ Sinergia Animal เป็นองค์กรหนึ่งที่ทำการรณรงค์เรื่องนี้ในประเทศไทย วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ ในฐานะผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทย จึงได้มาอธิบายถึงปัญหาของการเลี้ยงเช่นนี้ รวมถึงสาเหตุว่าทำไมทางองค์กรเลือกที่จะยื่นข้อเรียกร้องไปยัง “ผู้แปรรูป” ซึ่งเป็นเครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ แทนที่จะไปเรียกร้องโดยตรงกับผู้ผลิต หรือรัฐบาล?     The People: คุณทำหน้าที่อะไรใน Sinergia Animal และ Sinergia Animal เป็นองค์กรที่มีภารกิจอะไร ? วิชญะภัทร์: ปอเป็นผู้จัดการฝ่ายการรณรงค์ประจำประเทศไทยขององค์กรพิทักษ์สัตว์ Sinergia Animal โดย Sinergia Animal เป็นองค์กรพิทักษ์สัตว์ซึ่งเริ่มทำงานในประเทศละตินอเมริกาสี่ประเทศก่อน ได้แก่ บราซิล ชิลี โคลอมเบีย และอาร์เจนตินา เป้าหมายหลักของเราคือการสร้างโลกที่ไม่มีชีวิตสัตว์ใด ๆ ต้องเจ็บปวดในกระบวนการผลิตอาหาร โดยใช้วิธีการหลาย ๆ อย่างเพื่อบรรลุเป้าหมายนี้ สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ? The People: Sinergia Animal เริ่มการเคลื่อนไหวในเมืองไทยตั้งแต่เมื่อไหร่ วิชญะภัทร์: พวกเราเริ่มดำเนินการในประเทศไทยแล้วก็ในประเทศอินโดนีเซียเมื่อปีที่แล้ว (2019) ที่ Sinergia Animal เลือกมาดำเนินการในประเทศไทยและอินโดนีเซียเพราะเห็นว่าภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภูมิภาคที่ยังไม่มีองค์กรใดที่ทำด้านการพิทักษ์สัตว์เหมือน Sinergia Animal แล้วก็เห็นว่ามีสัตว์จำนวนมากที่ถูกละเลยและใช้ชีวิตอย่างเจ็บปวดทุกข์ทรมานเพื่อผลิตอาหาร   The People: การรณรงค์ของ Sinergia Animal ในตอนนี้มุ่งเป้าไปที่การงดเว้นการใช้ไข่จากแม่ไก่ที่ถูกเลี้ยงอย่างทารุณ อยากทราบว่าปัญหานี้ในเมืองไทยเป็นอย่างไร วิชญะภัทร์: อย่างที่บอกว่าภารกิจหลักของเราคือ เราอยากเห็นโลกที่ไม่มีสัตว์ชนิดใดที่ต้องมาเจ็บปวดกับกระบวนการผลิตอาหารอีกต่อไป เราใช้วิธีการหลาย ๆ อย่าง ซึ่งการรณรงค์เพื่อให้ผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ต่าง ๆ เลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงก็เป็นวิธีการอย่างหนึ่งที่เราใช้ ปัญหาของฟาร์มระบบกรงก็คือ ขณะนี้ในประเทศไทยมีแม่ไก่จำนวนกว่า 56 ล้านชีวิต และส่วนใหญ่พวกเขาต้องใช้ชีวิตอยู่ในระบบที่เรียกว่า ระบบกรงตับ หรือว่า battery cage ระบบนี้มีปัญหามากเพราะแม่ไก่แต่ละชีวิตเขาจะมีพื้นที่ในการใช้ชีวิตอยู่เล็กกว่ากระดาษ A4 แล้วเขาก็ไม่สามารถกางปีกหรือเดินไปเดินมาได้อย่างเต็มที่ และเนื่องจากเขาขยับร่างกายไม่ค่อยได้ก็ทำให้เกิดปัญหาต่าง ๆ มากมายที่เกี่ยวกับสุขภาพของเขา เช่น โรคกระดูกพรุน นอกจากนี้เขายังทำพฤติกรรมตามธรรมชาติที่สำคัญสำหรับสายพันธุ์ของเขาไม่ได้อีก เช่น การคุ้ยเขี่ยพื้นดิน การวางไข่ในรังที่เป็นส่วนตัว หรือว่าการเกาะคอน เขาทำพฤติกรรมต่าง ๆ เหล่านี้ตามธรรมชาติไม่ได้เลย นำมาซึ่งความเครียดแล้วก็ความหงุดหงิด และเขาก็ต้องอยู่กับความรู้สึกนี้ไปตลอด จนวันที่เขาถูกฆ่าตาย   The People: วิธีการเลี้ยงแบบนี้ นอกจากจะกระทบต่อตัวสัตว์แล้ว มันกระทบต่อตัวผู้บริโภคด้วยหรือเปล่า วิชญะภัทร์: กระทบต่อผู้บริโภคแน่นอนค่ะ การเลี้ยงแม่ไก่แบบกรงตับมีงานวิจัยจากองค์การด้านความปลอดภัยด้านอาหารแห่งสหภาพยุโรปที่ระบุแล้วว่า การเลี้ยงแม่ไก่ไว้ในกรงตับแบบนี้มีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อซัลโมเนลลาสูงกว่าฟาร์มแบบปลอดกรงถึง  25 เท่า แมคโดนัลด์ก็ทราบเรื่องนี้ดี แมคโดนัลด์จึงได้ประกาศว่า จะยุติการสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ใช้กรงแล้วในประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา รวมถึงประเทศในละตินอเมริกาด้วย แต่ก็น่าเสียใจและน่าผิดหวังมาก ๆ ที่แมคโดนัลด์ปฏิเสธที่จะใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยด้านอาหารแบบเดียวกันในประเทศไทย ซึ่ง Sinergia Animal ไม่เข้าใจว่า ผู้บริโภคชาวไทยทำไมถึงไม่ได้รับมาตรฐานที่ทัดเทียมกับประเทศอื่น ๆ   The People: ทำไมการรณรงค์ถึงมุ่งเป้าไปที่เครือข่ายร้านอาหารขนาดใหญ่ มากกว่าผู้ผลิต ทำไมไม่รณรงค์ให้ผู้ผลิตเลิกถ้าเห็นว่าการเลี้ยงเช่นนั้นไม่ดี วิชญะภัทร์: จริง ๆ ผู้ผลิตเขาทราบปัญหานี้ดี ผู้ผลิตรายใหญ่ ๆ หลายรายก็เริ่มผลิตไข่ไก่แบบ cage free หรือแบบปลอดกรงแล้ว เพียงแต่ว่าอยู่ในขั้นตอนเปลี่ยนแปลงระบบ แล้วมันไม่แฟร์ที่เราจะขอให้ผู้ผลิตเปลี่ยนระบบโดยที่ไม่มีตลาดรองรับ Sinergia Animal เห็นว่า ถ้าจะให้ผู้ผลิตเปลี่ยนระบบเราจะต้องเปลี่ยนแปลงตลาดด้วย ดังนั้นผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ ๆ ต่าง ๆ โดยเฉพาะผู้ผลิตอาหารระดับนานาชาติอย่างเช่น แมคโดนัลด์ ใช้ไข่ไก่เป็นจำนวนมากเป็นผู้สร้างดีมานด์ในตลาดจำนวนสูงมาก อีกอย่างแมคโดนัลด์เป็นบริษัทนานาชาติที่ใหญ่มาก เขามีบุคลากร มีความรู้ แล้วก็มีเงินทุนที่จะเปลี่ยนระบบไปสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ปลอดกรงได้เหมือนเช่นที่ทำแล้วในสหรัฐอเมริกา แล้วก็ในละตินอเมริกา ดังนั้น มันก็สมเหตุสมผลที่เราจะเรียกร้องแมคโดนัลด์ให้ใช้มาตรฐานอย่างเดียวกันในประเทศไทยด้วย The People: การผลิตไข่ไก่ที่มีมนุษยธรรมควรจะเป็นอย่างไร วิชญะภัทร์: องค์กรของเราเป็นองค์กรที่มีภารกิจหลักคือ อยากสร้างโลกที่ไม่มีสัตว์ชีวิตใดต้องเจ็บปวดในการผลิตอาหารอีก มันเป็นไปไม่ได้เลยที่เราจะเอาเนื้อ นม หรือไข่ หรือผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามจากร่างกายสัตว์โดยที่ไม่ทำให้เขาเจ็บปวด ทุกข์ทรมาน หรือถึงแก่ความตาย ดังนั้นเราจึงเชื่อว่า การผลิตไข่อย่างมีมนุษยธรรมไม่มีจริง วิธีเดียวที่เราจะช่วยสัตว์ได้คือเราทุกคนต้องช่วยกันหันไปบริโภคอย่างอื่นแทนที่ไม่ได้มาจากร่างกายของสัตว์ หรือว่าไม่ต้องกักขังหน่วงเหนี่ยวเขาไว้ในกรงหรือในพื้นที่ใดก็ตาม   The People: เป้าหมายของ Sinergia Animal คือจะไปจนถึงการเลิกบริโภคเนื้อสัตว์เลยหรือเปล่า วิชญะภัทร์: เป้าหมายของ Sinergia Animal คือการรณรงค์ให้คนหันมารับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลก แล้วก็ดีต่อชีวิตสัตว์มากขึ้น   The People : แปลว่าต้องงดบริโภคเนื้อสัตว์? วิชญะภัทร์: ใช่ เพราะว่าผลิตภัณฑ์จากสัตว์เป็นของที่ไม่ใช่ของพวกเราอยู่แล้วตั้งแต่ต้น เป็นของที่เป็นของสัตว์ เป็นของเขา ดังนั้นก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะเอาของที่ไม่ใช่ของเรามา แล้วอีกอย่าง การบริโภคอาหารที่มาจากพืชเป็นหลักหรืออาหารแบบ plant-based ก็ได้รับสารอาหารครบถ้วนเหมือนกัน ดังนั้นจึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่ร่างกายมนุษย์จะต้องไปเอาโปรตีนหรือสารอาหารต่าง ๆ มาจากผลิตภัณฑ์จากสัตว์   The People: อาหารแบบ plant-based มีอะไรบ้างที่สามารถกินได้ วิชญะภัทร์: ไม่อยากให้เรียกว่า สามารถกินได้ เพราะจริง ๆ แล้ว เป็นทางเลือกของเรา เราจะเลือกหยิบอะไรมากินก็ได้อยู่แล้ว แต่ว่าเป็นทางเลือกของเรา ชาว plant-based หรือชาว vegan ที่จะไม่กินมากกว่า ดังนั้นไม่อยากให้เรียกว่า กินอะไรได้ หรือ กินอะไรไม่ได้  สิ่งที่เราปฏิเสธไม่รับประทานก็คือ ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ก็ตามที่มาจากร่างกายของสัตว์ เนื้อสัตว์ นม ไข่ไก่ หรือว่า น้ำผึ้ง อันนี้เราก็ไม่รับประทาน   The People: มองว่ากฎหมายในปัจจุบันคุ้มครองสัตว์มากเพียงพอแล้วหรือยัง วิชญะภัทร์: ถ้ามองเรื่องกฎหมาย ก็มีเอกสารที่ตีพิมพ์เรื่องแนวทางปฏิบัติที่ดีในการเลี้ยงสัตว์ แต่เท่าที่เห็นยังไม่มีการ enforced หรือบังคับใช้อย่างได้ผลเท่าที่ควร ดังนั้นจึงมีที่ยังพัฒนาได้อีกเยอะ สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ? The People: การรณรงค์ขององค์กรจะมีเป้าไปถึงฝ่ายกำหนดนโยบายโดยรวมของประเทศด้วยไหม หรือจะมุ่งที่เอกชนเพียงอย่างเดียว วิชญะภัทร์:  จากประสบการณ์การทำงานของเราในกลุ่มประเทศละตินอเมริกา และประสบการณ์ของผู้บริหารขององค์กรเราจากการทำงานร่วมกับองค์กรอื่น ๆ พบว่า การทำงานร่วมกับภาครัฐบาลได้ผลจริง แต่เกิดผลช้ามาก เพราะกว่าจะผ่านร่างกฎหมายได้แต่ละร่างก็ต้องพิจารณากันหลายรอบ แต่ความทุกข์ทรมานของสัตว์นับล้าน ๆ ชีวิตเป็นจริงอยู่ และเกิดขึ้นตอนนี้จริง ๆ พวกเขาต้องได้รับการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วน และวิธีที่เราจะบรรเทาความทุกข์ทรมานของเขาได้อย่างเร็วที่สุดก็คือขอความร่วมมือจากบริษัทผู้ผลิตอาหารรายใหญ่ต่าง ๆ อย่างเช่น แมคโดนัลด์ ให้ปรับนโยบายสั่งซื้อไข่ไก่ที่ดีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของเขามากขึ้น มันจะทำให้เกิดผลเร็วขึ้นกว่าการขอให้รัฐบาลออกกฎหมาย แล้วจากประสบการณ์การทำงานของผู้บริหารขององค์กรเรา พบว่า การที่เราไปเรียกร้องให้รัฐบาลออกกฎหมายเลยโดยไม่ทำงานร่วมกับผู้แปรรูปอาหารรายใหญ่ ๆ มันส่งผลเสียต่อเกษตรกรและผู้ผลิตมากกว่า เพราะแทนที่เขาจะได้มีเวลาเตรียมตัว แทนที่จะได้ทราบล่วงหน้าว่าเราต้องเปลี่ยนระบบแล้ว ไปสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ดีต่อชีวิตแม่ไก่มากกว่านี้ เขาไม่มีเวลาเตรียมตัว รัฐบาลประกาศปุ๊บต้องเปลี่ยนระบบให้ได้ภายในระยะสั้นมาก ๆ ดังนั้นกระทบทั้งบริษัทและเกษตรกรเองด้วย เพราะเวลาเตรียมตัวไม่พอ   The People: การรณรงค์ที่ผ่านมาประสบความสำเร็จแค่ไหน วิชญะภัทร์: ประสบความสำเร็จอย่างมากค่ะ ก่อนอื่นอยากบอกว่า เราไม่ได้รณรงค์เลยนะ เราใช้การเจรจาและการทำงานร่วมกับบริษัทเป็นหลัก ดังนั้นการรณรงค์ไม่ใช่ทางแรกที่เราใช้ จากการทำงานในประเทศไทยเราประสบความสำเร็จมาก หลังจากทำงานร่วมกับเรา เทสโก้ โลตัส ประเทศไทย ก็ได้ประกาศนโยบายว่าจะเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงแล้ว และจะดำเนินการให้เสร็จสิ้นภายในปี 2025 สำหรับแบรนด์ของเขาเอง แล้วก็ 2030 สำหรับแบรนด์อื่น ๆ ดังนั้นในปี 2030 ไป เทสโก้ โลตัส ก็จะไม่เห็นไข่ไก่ที่มาจากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรงตับอีกเลย ส่วนอีกชัยชนะหนึ่งขององค์กร Sinergia Animal ในประเทศไทยก็คือ การเรียกร้องขอให้ Subway ปรับใช้นโยบายสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ไร้กรงเท่านั้นในประเทศไทย คือ Subway มีนโยบายลักษณะนี้แล้วในประเทศสหรัฐฯ และในละตินอเมริกา แต่ยังไม่มีนโยบายในไทย เราก็ส่งข้อเรียกร้องไป ตั้ง petition (ข้อเรียกร้อง) บน Change.org จนในที่สุดแล้ว Subway ก็ประกาศนโยบายว่าจะเลิกสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ขังแม่ไก่ไว้ในกรง   The People: จากที่บอกว่า เป้าหมายขององค์กรคือการให้สัตว์ทุกชีวิตพ้นการทรมานจากกระบวนการผลิตอาหาร ถ้าหากรณรงค์ให้คนเลิกใช้ไข่จากไก่ที่ถูกขังกรงตับสำเร็จ ก้าวต่อไปจะเป็นการรณรงค์ให้เลิกกินไข่เลยหรือไม่ วิชญะภัทร์: การรณรงค์งดกินไข่ไก่ หรือผลิตภัณฑ์จากสัตว์ เราก็ทำอยู่ แต่ไม่ได้ทำกับบริษัท เราเชื่อว่าผู้บริโภคแต่ละคนเป็นเสียงเล็ก ๆ ที่มีความสำคัญมากในการเปลี่ยนแปลง ดังนั้นเราก็มีแคมเปญที่จะช่วยให้ผู้คนเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคแล้วหันมากินอาหาร plant-based แทน เรียกว่า โครงการท้าลอง 22 วัน ในโครงการนี้เรามีทิปส์ (เคล็ดลับ) มีสูตรอาหาร plant-based มากมาย ใช้วัตถุดิบที่ไม่ต้องมาจากสัตว์เลยแต่ได้สารอาหารครบถ้วนแล้วก็อร่อยเหมือนกัน แล้วก็มีคำแนะนำจากนักกำหนดอาหารที่มีความเชี่ยวชาญในด้านนี้โดยตรง นอกจากนี้ ยังมีคนที่เป็น vegan มานาน ๆ แล้ว มาคอยเป็นรุ่นพี่ช่วยให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้วย   The People: ชุมชนคนกิน plant-based ในเมืองไทยตอนนี้ใหญ่โตแค่ไหน วิชญะภัทร์: วัดจำนวนยาก แต่ที่บอกได้อย่างกลุ่มคนที่อยู่ในกลุ่มเฟซบุ๊ก Vegan of Thailand ตอนนี้มี 2 หมื่นกว่าคนแล้ว ในจำนวนนี้ก็จะรวมถึงคนที่เป็น plant-based เป็น vegan หรือคนที่สนใจจะลดการบริโภคเนื้อสัตว์ด้วย ซึ่งเราเชื่อมั่นว่า ทุกการเปลี่ยนแปลงมีความหมายต่อสัตว์โลกและสิ่งแวดล้อม ดังนั้นถ้าใครสนใจอยากจะลด เราก็อยากให้กำลังใจ สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ? The People: แล้ว plant-based ต่างจาก vegan อย่างไร วิชญะภัทร์: แต่ละคนก็มีคำนิยามแตกต่างกันไป ปอให้คำนิยามแบบที่ปอเชื่อแล้วกัน plant-based จะพูดถึงการบริโภคอาหารเท่านั้น ซึ่งก็เป็นภารกิจหลักของ Sinergia Animal เปลี่ยนแปลงการบริโภคเพราะเราเชื่อว่า การบริโภคเป็นส่วนสำคัญที่จะเปลี่ยนแปลงชีวิตของสัตว์ เปลี่ยนแปลงโลกนี้ แล้วก็เปลี่ยนแปลงสุขภาพของคนได้ ส่วนความเป็น vegan จะครอบคลุมอะไรมากกว่านั้น จะรวมถึงวิถีชีวิตด้านอื่น ๆ ด้วย ทั้งของที่ใช้ กิจกรรมที่ทำ หรือไลฟ์สไตล์อื่น ๆ สำหรับปอ การเป็น vegan นอกจากจะไม่บริโภคผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ซึ่งแน่นอนว่าต้องมาจากความทุกข์ทรมานและการกักขัง เราจะไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ใด ๆ ที่ทำมาจากสัตว์ เช่น เครื่องหนัง หรือว่าไปร่วมกิจกรรมที่ทำให้เกิดความทุกข์ทรมานต่อสัตว์เช่น สวนสัตว์ คือทำให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ค่ะ   The People: คุณเปลี่ยนตัวเองมาเป็น vegan ตั้งแต่เมื่อไหร่ และความยากง่ายในการปรับตัวเป็นอย่างไร วิชญะภัทร์: ปอเริ่มเปลี่ยนมาเป็น vegan อย่างเต็มตัวประมาณปี 2016 ปออยากเป็นมังสวิรัติมาตั้งแต่เด็ก ๆ เพราะปอรู้สึกว่ามันย้อนแย้ง ปอดูหนังเรื่อง Babe (ภาพยนตร์ที่มีตัวเอกเป็นหมู) ปอก็กินหมูสะเต๊ะไปด้วย พี่สาวปอก็ล้อว่าทำไมกินหมูสะเต๊ะไปด้วยทั้งที่ชอบ Babe ซึ่งตอนนั้นปอก็ยังไม่เปลี่ยนแปลงพฤติกรรมทันทีนะ แต่ก็เริ่มคิดว่าทำไมความคิดของเรากับการกระทำของเราถึงไม่สอดคล้องกัน ปอเลิกกินเนื้อสัตว์บกตอนเรียนมหาวิทยาลัย แต่ก็ยังหาข้ออ้างให้ตัวเองเรื่อยมาเกี่ยวกับการกินอาหารทะเล ซึ่งจริง ๆ แล้วสัตว์ในทะเลเขาก็มีความเจ็บปวด มีความรู้สึกนึกคิดมากพอ ๆ กับสัตว์บนบก ดังนั้นเขาก็สมควรที่จะได้รับความเห็นอกเห็นใจเท่า ๆ กัน สุดท้ายปอก็เปลี่ยนเป็น vegan อย่างเต็มตัวเมื่อปี 2016 ตอนที่ได้รับข้อมูลอย่างทะลุปรุโปร่งเลย เรื่องอุตสาหกรรมนม และอุตสาหกรรมไข่ไก่ ทำให้รู้ว่าไข่ไก่มาจากความทุกข์ทรมานของแม่ไก่อย่างไรบ้าง ปอก็เลยเปลี่ยนเป็น vegan อย่างเต็มตัว ถามว่าลำบากมั้ย ปอว่าก็เหมือนการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมด้านอื่น ๆ ของปอ คือ เราออกจากความเคยชินจากที่ทำอยู่เป็นเวลานาน เราต้องเปลี่ยนไปทำอย่างอื่น มันก็ยากอยู่แล้วที่จะต้องเปลี่ยนความเคยชินของเรา เหมือนอยากจะตื่นให้เช้าขึ้น จากที่เคยตื่นเที่ยง จะมาตื่น 8 โมงเช้า เราจะได้มีเวลาทำอะไรหลาย ๆ อย่างทั้งวัน การเปลี่ยนพฤติกรรมอย่างนั้นก็ยาก การเปลี่ยนการบริโภคอาหารที่ไม่ได้มาจากสัตว์เลย ช่วงแรกก็ยากเหมือนกัน แต่พอเราคิดถึงความทุกข์ทรมานของสัตว์ ความลำบากของเรามันเป็นอะไรที่เทียบกับชีวิตของเขาไม่ได้เลย    The People: ผลกระทบหลังเปลี่ยนเป็น vegan? วิชญะภัทร์: เรียกว่าผลดีแล้วกัน บางคนบอกว่ารู้สึกเปลี่ยนแปลงอย่างเห็นได้ชัดและในทางที่ดีขึ้นสำหรับร่างกายของเขา แต่สำหรับปอ ปอไม่เห็นอะไรชัดมาก เพราะปอก็ไม่ได้บริโภคเนื้อสัตว์บกมาเป็นเวลานานแล้ว กินแต่อาหารทะเล เท่าที่ปอเห็นก็คือ น้ำหนักคงที่มาตั้งแต่ปี 2016 แล้ว ไม่ได้ขึ้นไม่ได้ลงมากทั้ง ๆ ที่ไม่ค่อยได้ออกกำลังกาย แล้วก็นั่งทำงานออฟฟิศหน้าคอมพิวเตอร์ตลอด นี่ก็เป็นสิ่งเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่ปอสังเกตได้ แต่สำหรับคนอื่น เขาจะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดมากกว่านั้น แต่สำหรับปอไม่ได้สนใจเท่าไหร่ เพราะว่าเหตุผลหลักที่ปอเปลี่ยนมากินอาหารแบบ vegan ก็คือเพื่อสัตว์ สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ? The People: คนที่มีวิถีชีวิตแบบนี้จำเป็นต้องกินอาหารเสริมเพิ่มเติมเพื่อให้ได้สารอาหารครบถ้วนหรือไม่ วิชญะภัทร์: จริง ๆ แล้วไม่ว่าใครก็ควรกินอาหารเสริมที่เรียกว่า B12 เพราะว่าคนที่บริโภคเนื้อสัตว์มากก็ยังขาด B12 ได้เลย แต่สำหรับคนที่รับประทานอาหารแบบ vegan หรือ plant-based วิตามินอย่างเดียวที่ควรจะกิน หรือที่นักกำหนดอาหารแนะนำให้กินก็คือ วิตามินแบบ B12  จริง ๆ วิตามินแบบ B12 มันเป็นวิตามินที่ได้จากแบคทีเรียและน้ำเสีย เนื่องจากว่าปัจจุบันเรามีวิทยาการในการกรองน้ำทำให้เราไม่สามารถได้ B12 จากแหล่งน้ำธรรมชาติได้อีกต่อไป ก็เลยต้องกินวิตามิน B12 เสริม แต่การกิน vegan ไม่ได้แปลว่าจะขาดสารอาหาร มีแค่วิตามิน B12 เท่านั้นเองที่แนะนำให้กินเสริม   The People: นักกิจกรรม vegan บางคนมองว่า คนที่กินเนื้อสัตว์เป็นพฤติกรรมที่โหดร้าย หรือชั่วร้าย โดยส่วนตัวรู้สึกอย่างไร วิชญะภัทร์: สำหรับปอ การบริโภคเนื้อ ปอมองแต่ตัวพฤติกรรม ปอไม่พูดถึงคน เพราะปอเชื่อว่าคนที่มีจิตใจดีบางครั้งเขาทำเรื่องที่โหดร้ายต่อสัตว์โดยไม่รู้ตัว เพราะว่าสภาพสังคมทำให้เขาลืมไปว่า จริง ๆ แล้ว ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์มาจากตัวสัตว์หรือร่างกายสัตว์ เพราะสังคมทำให้การบริโภคเนื้อสัตว์เป็นเรื่องที่ปกติไป มุมมองของปอ เนื่องจากเนื้อสัตว์มาจากร่างกายของสัตว์ มาจากความทุกข์ทรมานของเขา จึงเป็นเรื่องที่ปอไม่อยากให้ใครมีส่วนร่วมหรือมีส่วนเกี่ยวข้องด้วยเลย แต่ปอไม่ได้คิดว่าคนที่ทำแบบนี้เป็นคนชั่วร้าย เขาแค่ยังไม่รู้ข้อมูลเท่านั้นเอง แล้วปอเชื่อว่าทุกคนมีความเมตตาอยู่ในใจ มีความเห็นอกเห็นใจต่อสัตว์ ถ้าหากได้รับทราบข้อมูลที่แท้จริงเขาจะต้องอยากเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของตัวเองแน่นอน   The People: เวลาเพื่อนชวนไปกินชาบู หมูกระทะ เราบอกเพื่อนยังไง หรือเคยชวนเพื่อนมาลองกิน vegan ไหม วิชญะภัทร์: เคยนะคะ เพราะเพื่อน ๆ ปอก็จะรู้อยู่แล้ว เวลาเพื่อน ๆ นัดปอไปกินข้าวด้วย เขาจะให้ปอเลือกร้าน ส่วนใหญ่เป็นเพื่อนที่ดีที่ น่ารัก เขาก็จะทราบไลฟ์สไตล์ของปอ ถึงแม้ว่าเขาจะยังไม่ได้เปลี่ยนแปลงซึ่งปอก็ว่าไม่เป็นไร ปอเห็นว่าทุกคนเป็นคนใจดี เป็นคนมีความเห็นอกเห็นใจและเมตตาสัตว์ ถ้าเกิดว่าเขาได้รู้ข้อมูล สักวันหนึ่งปอเชื่อว่าทุกคนเปลี่ยนแปลงได้ค่ะ   The People: ก้าวต่อไปของ Sinergia Animal คืออะไร วิชญะภัทร์: แผนต่อไปของเราถ้าเรามีคนเพิ่ม เราอยากช่วยเหลือบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ชนิดอื่น ๆ ด้วย เช่น ในประเทศละตินอเมริกาตอนนี้ มีแคมเปญรณรงค์เกี่ยวกับการลดความทุกข์ทรมานของหมูแม่พันธุ์ที่อยู่คอกแคบมาก ๆ ส่วนในประเทศไทยถ้าเกิดว่าเรามีกำลังคนพอ เราก็อยากบรรเทาความเจ็บปวดทุกข์ทรมานของแม่หมูที่อยู่ในกรงด้วย  นอกจากนี้ ก็จะทำให้โครงการท้าลอง 22 วัน ซึ่งเป็นโครงการที่เชิญชวนคนมาบริโภคอาหารที่ดีต่อสุขภาพ ดีต่อโลกและดีต่อสัตว์มากขึ้น อยากให้ใหญ่ขึ้น รับคนได้เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ เราก็มีแผนว่าเราอยากทำงานร่วมกันรัฐบาล เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในหน่วยงาน อาจจะเป็นการเพิ่มเมนูแบบ plant-based เข้าไปด้วยในร้านอาหารต่าง ๆ ในหน่วยงานราชการ หน่วยงานรัฐบาลต่าง ๆ เพื่อลดการบริโภคเนื้อสัตว์ในประเทศไทย สุดท้าย อยากฝากให้ผู้บริโภคคนไทยลงชื่อในแคมเปญเพื่อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์ปรับใช้นโยบายการสั่งซื้อไข่ไก่จากฟาร์มที่ไม่ขังแม่ไก่ไว้ในกรง เพื่อบรรเทาความทุกข์ทรมานของสัตว์ แล้วก็เพื่อความปลอดภัยด้านอาหารของคนไทยด้วยค่ะ มาช่วยกันเรียกร้องให้แมคโดนัลด์ใช้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารที่ทัดเทียมกับมาตรฐานที่ใช้ในประเทศสหรัฐอเมริกาและในละตินอเมริกา ถ้าเกิดว่าสนใจจะร่วมลงชื่อรณรงค์ด้วยกันให้เข้าไปที่ Change.org/McThai ค่ะ
หมายเหตุ:  ทั้งนี้ ความเห็นข้างต้นเป็นของผู้รณรงค์ที่มีเป้าหมายสุดท้ายอยู่ที่การเลิกบริโภคเนื้อสัตว์ และมองว่า การเลี้ยงสัตว์เพื่อการบริโภคไม่ว่าจะด้วยวิธีการใดก็มิอาจถือว่ามี “มนุษยธรรม” ได้เลย การปรับวิธีการเลี้ยงของเกษตรกรไปสู่กระบวนการที่ดีต่อสัตว์มากกว่าอย่างการเลี้ยงนอกกรง ภายหลังก็อาจถูกมองได้ว่า เป็นวิธีการที่ยังไม่มี “มนุษยธรรม” ต่อสัตว์มากพอก็เป็นได้ เพราะในสหรัฐฯ (Washington Post) มีรายงานว่า ไก่ที่ถูกเลี้ยงนอกกรง แต่ยังอยู่ในระบบฟาร์มปิดที่มีพื้นที่จำกัด กำลังประสบปัญหาได้รับบาดเจ็บทางกายมากกว่าไก่ที่ถูกเลี้ยงในกรงตับที่ขยับไปไหนไม่ได้เสียอีก ด้วยอาจจะเกิดการจิกตีกันเอง และด้วยความที่ไก่เป็นสัตว์ปีกที่บินไม่เก่ง จึงมักจะบินไปชนสิ่งกีดขวางจนทำให้กระดูกอกหัก (keel bone) ซึ่งเป็นสิ่งที่สังเกตเห็นได้ยาก และส่งผลกระทบต่อผลผลิตไข่ไก่ของเกษตรกร การเลี้ยงลักษณะนี้จึงอาจถูกต่อต้านได้อีกเช่นกัน  และแม้ว่าในหลายประเทศจะสั่งห้ามการเลี้ยงไก่ในลักษณะนี้ไปแล้ว แต่การเลี้ยงไก่ในกรงตับมิได้ขัดต่อกฎหมายไทย การใช้ผลิตภัณฑ์จากไก่ที่ถูกเลี้ยงในลักษณะนี้จึงเป็นสิทธิที่ผู้ประกอบการทุกระดับสามารถทำได้  ขณะเดียวกัน The People ได้ติดต่อไปยัง แมคโดนัลด์ ประเทศไทย เพื่อขอความเห็นต่อข้อเรียกร้องดังกล่าว แมคโดนัลด์ โต้แย้งกลับมาว่า การรณรงค์ของ Sinergia Animal “ยกเอางานวิจัยที่ไม่มีแหล่งอ้างอิงอย่างชัดเจนที่ระบุว่าการเลี้ยงไก่ในฟาร์มกรงตับมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรีย Salmonella สูงกว่าการเลี้ยงไก่ในฟาร์มไร้กรง และอาจมีความเสี่ยงในการปนเปื้อนเชื้อแบคทีเรียดังกล่าว ซึ่งอาจจะทำให้ถึงแก่ชีวิตได้โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กและผู้สูงอายุ”  [แต่จากการตรวจสอบพบงานชิ้นหนึ่งของ European Food Safety Authority (องค์การความปลอดภัยทางอาหารแห่งสหภาพยุโรป) ที่มีบทคัดย่อตอนหนึ่งกล่าวว่า "ในการตรวจสอบถึงปัจจัยเสี่ยงของการปนเปื้อนซัลโมเนลลาในไก่ไข่แสดงให้เห็นว่า หลักฐานโดยรวมชี้ให้เห็นถึงการปนเปื้อนที่ต่ำกว่าในการเลี้ยงแบบนอกกรง เมื่อเทียบกับระบบกรง"] แมคโดนัลด์ กล่าวว่า พวกเขาเลือกใช้วัตถุดิบจากผู้ผลิตที่ “ผ่านการตรวจรับรองตามมาตรฐานของแมคโดนัลด์ที่คำนึงถึงเรื่องความปลอดในอาหาร” ในกรณีนี้คือ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ซึ่งมีกระบวนการเลี้ยงสัตว์ในรูปแบบโรงเรือนระบบปิดปรับอากาศ (Evaporative Cooling System) สามารถปรับอุณหภูมิภายในโรงเรือน ทำให้สัตว์อยู่สบาย ไม่เครียด เติบโตได้ดีตามศักยภาพของพันธุ์สัตว์ มีมาตรการระบบควบคุมและป้องกันพาหะนำโรคเข้าสู่ฟาร์ม และไม่มีการใช้ยาปฏิชีวนะซึ่งเป็นสารต้องห้ามในการเลี้ยง  ในประเด็นด้านสวัสดิภาพสัตว์นั้น แมคโดนัลด์ชี้แจงว่า การเลี้ยงของซีพีเอฟอยู่ภายใต้หลักสวัสดิภาพสัตว์ขององค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (World Organization for Animal Health : OIE) และ มาตรฐานหลักปฏิบัติและกฎระเบียบของสหภาพยุโรปที่คำนึงถึงความเป็นอิสระของสัตว์เลี้ยง 5 ประการ คือ สัตว์ต้องปราศจากการหิวกระหาย ปราศจากความไม่สะดวกสบายอันเนื่องมาจากสภาพแวดล้อม ปราศจากความเจ็บปวดหรือโรคภัย ปราศจากความกลัวและความทุกข์ทรมาน และมีอิสระในการแสดงพฤติกรรมตามธรรมชาติของสัตว์ [caption id="attachment_20114" align="alignnone" width="1314"] สัมภาษณ์ วิชญะภัทร์ ภิรมย์ศานต์ (Sinergia Animal): ทำไมต้องต่อต้านการเลี้ยงไก่พันธุ์ไข่ในกรงตับ? ภาพประกอบคำชี้แจงของแมคโดนัลด์[/caption] พร้อมโต้แย้งว่า ภาพที่ใช้ในการรณรงค์ของ Sinergia Animal มิได้มาจากภาพจริงในพื้นที่เลี้ยงของซีพีเอฟที่มีความเป็นอยู่ที่ดีกว่า ทั้งนี้ตามกำหนดของ สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวคือ ความหนาแน่นในการเลี้ยงไก่รุ่น ต้องมีพื้นที่อย่างน้อย 285 ตร.ซม. ต่อไก่รุ่น 1 ตัว และ ไก่ระยะไข่ ในพื้นที่อย่างน้อย 450 ตร. ซม. ต่อไก่ระยะไข่ 1 ตัว “ตามข้อกำหนดดังกล่าว แม่ไก่จะมีพื้นที่ยืนและพื้นที่ว่างให้หมุนตัวปรับเปลี่ยนท่าทางได้สะดวก” แมคโดนัลด์กล่าว  (ขณะที่กระดาษ A4 มีขนาดอยู่ที่ 21 x 29.7 ซม. หรือ 623.7 ตร.ซม.)  ส่วนข้อเรียกร้องให้แมคโดนัลด์หันไปใช่ไข่ไก่จากฟาร์มที่ไม่ได้เลี้ยงด้วยกรงตับนั้น พวกเขาเห็นด้วยในหลักการแม้จะยังไม่คิดที่จะทำในตอนนี้ แต่จะเฝ้าดูสถานการณ์ต่อไป “เรามีความเห็นว่า Cage-free eggs เป็นแนวคิดที่ดีต่อหลักสวัสดิภาพของสัตว์ แต่อย่างไรก็ดีการเลี้ยงแม่ไก่ในฟาร์มแบบไร้กรงยังอยู่ในระยะเริ่มต้น ซึ่งกำลังการผลิตไข่ไก่แบบ Cage-free eggs ยังมีปริมาณที่ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ของเราในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม เรายังคงสนใจและติดตามความคืบหน้าของการเลี้ยงแม่ไก่แบบไร้กรงในลำดับต่อไป” แมคโดนัลด์กล่าว