'ฝันของป้า' ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลา 63 "แค่อยากเห็นกฎหมายปฏิบัติกับคนเท่ากัน"

'ฝันของป้า' ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลา 63 "แค่อยากเห็นกฎหมายปฏิบัติกับคนเท่ากัน"
ท่ามกลางบรรยากาศครึ้มฟ้าครึ้มฝนของการชุมนุมในวันที่ 14 ตุลาคม 2563 ขณะที่กลุ่มผู้ชุมนุมต่างกำลังช่วยกันลำเลียงต้นไม้ออกจากอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ที่สุดปลายแถวของมวลชนก็ยังมีคุณป้าคนหนึ่ง คอยนำต้นไม้มาจัดวางเรียงไม่ให้เกะกะขวางทาง รวมถึงยังดูสมบูรณ์สวยงาม แม้จะไม่ได้วางประดับบริเวณสัญลักษณ์ของประชาธิปไตยอีก “ต้องวางให้เป็นระเบียบนะ จะได้ไม่เลอะเทอะ เราไม่ได้มาทำลายข้าวของ แค่มาทวงประชาธิปไตย จะให้เขามาว่าไม่ได้” “ป้าแม้ว” หรือ “ยายแม้ว” เป็นชื่อที่เธอสะดวกที่จะบอกกับเรา เธอบอกว่าคราวนี้จะไม่ยอมให้ใครเขามาใส่ร้ายเด็ก ๆ ว่าทำบ้านเมืองเสียหายได้ ขยะก็ช่วยเก็บ ต้นไม้ก็ช่วยเรียง รถก็จะช่วยโบก นี่คือสิ่งที่เธอตั้งใจมาช่วยเหลือและอำนวยความสะดวกในพื้นที่ชุมนุม โดยไม่ได้ค่าจ้างเลยแม้แต่บาทเดียว “ป้ามาครั้งแรกตั้งแต่สมัยจำลองโน่น พฤษภาทมิฬหนูรู้จักไหม ตอนนั้นที่ออกมาไล่ก็คล้าย ๆ กันเลย คนอดอยาก ญาติพี่น้องป้าอยู่กันไม่ไหว ก็เลยต้องออกมาทำอะไรสักอย่าง ตอนนั้นป้าก็เหมือนน้อง ๆ เลย อายุ 20 กว่า ๆ เอง” 'ฝันของป้า' ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลา 63 "แค่อยากเห็นกฎหมายปฏิบัติกับคนเท่ากัน" ป้าแม้วบอกว่า การออกมาชุมนุมครั้งนั้น พวกเธอออกมาด้วยความฮึกเหิม เพราะต้องการจะขับไล่พลเอกสุจินดา คราประยูร ที่ผิดคำพูดว่าจะไม่รับตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ แต่ภายหลังกลับเปลี่ยนใจ และเข้ามารับตำแหน่งรัฐมนตรี และทั้ง ๆ ที่จุดเริ่มต้นเป็นเพียงการชุมนุมต่อต้านโดยปราศจากอาวุธใด ๆ เวลาผ่านไปเมื่อมีการปะทะกันระหว่างผู้ชุมนุมและเจ้าหน้าที่มากขึ้น ฝั่งทหารก็เริ่มใช้กระสุนจริง “ตอนแรกเราก็ไม่คิดอะไรเลยหนู ป้าเป็นแค่เด็กคลองเตยที่ออกมาม็อบกับเพื่อน แต่พอเขาเริ่มยิงกัน เราก็รู้ว่านี่มันไม่ใช่เรื่องเล็กแล้ว” 'ฝันของป้า' ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลา 63 "แค่อยากเห็นกฎหมายปฏิบัติกับคนเท่ากัน" เดิมทีพื้นเพของป้าแม้วเป็นคนต่างจังหวัด เธอไม่บอกเราว่าจังหวัดอะไร แต่เล่าว่ามาเติบโตที่กรุงเทพฯ เพราะมารดาของเธอเข้ามาหางานทำที่นี่ ป้าแม้วบอกว่า กรุงเทพฯ แม้จะเป็นเมืองที่เหมือนจะดี แต่ทำไมอยู่ ๆ ไปก็ยังลำบากเหมือนเดิม ตั้งแต่เด็กยันแก่ เพราะคาดหวังชีวิตที่ดีกว่าเดิม เธอจึงเริ่มออกมาร่วมชุมนุมในม็อบต่าง ๆ เธอบอกว่าไปมาหลายม็อบแล้ว ทั้งเล็กทั้งใหญ่ ทุกครั้งที่มีการชุมนุมเพื่อประชาธิปไตยต้องมีเธอมาเข้าร่วมด้วย มาตั้งแต่สาวยันแก่ จนคราวนี้มีลูกหลานมาร่วมด้วยแล้ว แต่ความเป็นอยู่ก็ยังเหมือนเดิม เธอเริ่มคิดว่าหรือจะมีปัญหาบางอย่างกับกฎหมายไทย? “มันมีแต่คำว่าอีกแล้วน่ะลูก อีกแล้วที่คนจน ๆ มันโดนจับ แต่คนรวยมีแต่รอด ทั้ง ๆ ที่ทำผิดเหมือนกัน ป้าไม่รู้ว่าใครผิดมากผิดน้อย แต่มันผิดกฎหมาย แล้วทำไมมันไม่โดนด้วยกัน ข่าวที่ออกมันก็ชัดแล้วว่ากฎหมายมันไม่ยุติธรรมใช่ไหม แล้วจะให้ป้าทำยังไง คนอย่างป้าไม่ได้เรียนหนังสือสูง แต่เราเห็น เราเจอ เราก็เลยต้องออกมาอย่างนี้” 'ฝันของป้า' ในการชุมนุมวันที่ 14 ตุลา 63 "แค่อยากเห็นกฎหมายปฏิบัติกับคนเท่ากัน" ป้าแม้วบอกว่า หลายครั้งที่ทิศทางการชุมนุมดำเนินไปเหมือนจะดี แต่สุดท้ายก็ถูกปราบลงเพราะกำลังของรัฐ นี่หรือคือการบังคับใช้กฎหมาย ทำกับประชาชนที่ไม่มีทางสู้ ทำจนคนตาย สรุปกฎหมายบ้านเรามันมีไว้เพื่อใครกันแน่ คำตอบจะเป็นอะไรก็แล้วแต่ คนพวกนั้นเขารู้อยู่แก่ใจ “ฝันของป้า ก็แค่อยากเห็นกฎหมายมันปฏิบัติกับคนเท่ากัน ครั้งนี้เด็ก ๆ เขาบอกจะแก้กฎหมาย ป้าก็จะออกมาช่วย ถามว่าเหนื่อยไหม ท้อไหม มันแน่อยู่แล้ว แต่ถ้าเราไม่มาแล้วใครจะมา เรื่องพวกนี้มันไม่มีใครมาช่วยเราหรอก เราต้องช่วยกันเอง” เมื่อถูกถามว่า คิดว่าการต่อสู้ครั้งนี้จะได้รับชัยชนะไหม ป้าแม้วบอกว่า "มันไม่ง่าย แต่เรายังมีหวัง" แม้จะไม่ใช่ครั้งนี้ แต่ก็ต้องมีสักครั้งที่ชัยชนะจะเป็นของเรา ป้าแม้วยืนยันว่า ไม่ว่าจะต้องสู้อีกกี่ครั้ง เธอก็จะออกมาช่วยเหลือกลุ่มเด็ก ๆ เธอจะไม่ทิ้งให้พวกเขาต้องต่อสู้ลำพังแน่นอน     เรื่อง : พาขวัญ ศักดิ์ขจรยศ ภาพ : กิตติธัช ศรีพิชิต