ลุงเล็กจากม็อบ 14 พ.ย. 63 "คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้นักโทษ"

ลุงเล็กจากม็อบ 14 พ.ย. 63 "คืนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ให้นักโทษ"
“คดีการเมือง สมมตินะ ว่าถ้ามีการชุมนุม แล้วมีภาพเราอยู่ในกล้อง เราโดนแล้ว”
ท่ามกลางบรรยากาศการชุมนุมที่คึกคักราวกับมหกรรมอาหารและงานศิลปะ เมื่อหันไปมองทางซุ้มของคนหลากหลายกลุ่มที่เดินทางมาชุมนุมเพื่อแสดงจุดยืนและเรียกร้องในประเด็นที่ตนต้องการขับเคลื่อน ป้ายกระดาษที่เขียนว่า “สวัสดีเรามาจาก ‘คุก’” ซึ่งมีชายวัยกลางคนแต่งตัวแปลกตายืนขนาบข้าง ดึงดูดความสนใจของผู้คนในบริเวณนั้นไม่น้อยเลย “เรามาเรียกร้องให้รัฐปฏิบัติกับนักโทษและอดีตนักโทษอย่างมีศักดิ์ศรี” ลุงเล็ก วัย 56 ปี รีบตอบคำถามทันทีที่มีคนเดินเข้าไปหา ลุงเล็กบอกว่า เขาเคยติดคุกมา 7 ปีจากคดีทางการเมือง และคดีพยายามฆ่า ทั้งหมดเป็นผลสืบเนื่องมาจากการที่เขาอาสาทำหน้าที่การ์ดดูแลความปลอดภัยในพื้นที่ชุมนุมของกลุ่มนปช. (แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ) เมื่อปี 2553 หลังผ่านเหตุการณ์นั้นมาได้เพียงหนึ่งปี ชีวิตที่เคยดีของคน ๆ หนึ่งก็ไม่มีทางกลับมาเป็นเหมือนเดิมได้อีก "ตอนนั้นก็โดนตราหน้าว่าเป็นพวกเผาบ้านเผาเมืองเป็นพวกล้มเจ้า คุ้น ๆ ไหม ขนาดผมติดคุกมา 7 ปี ออกมายังเจอคำนี้อยู่ คือตอนนั้นผมโดนข้อหาพวกนี้แหละ ล้มเจ้า เผาบ้านเผาเมือง เป็นผู้ก่อการร้าย” ลุงเล็กบอกว่า เขาไม่ได้โดนจับในทันที แต่สุดท้ายช่วงปี 2554 ก็ถูกทางการตามตัวเจอเพราะมีภาพใบหน้าของเขาในมือตำรวจ “คือมันต่อเนื่องกันเพราะหลังการชุมนุม ปี 53 ต่อมามันมีเลือกตั้ง แล้วนักการเมืองแต่ละฝั่งก็จะมีคนของตัวเอง ผมก็อยู่ฝั่งหนึ่ง ตอนนั้นมันมีการปะทะกันแล้วก็มีคนตาย ผมก็เลยกลายเป็นหนึ่งในผู้ต้องสงสัย ตอนนั้นนอกจากคดีการเมืองก็เลยมีคดีเจตนาฆ่าโดยไต่ตรองไว้ก่อนอีกข้อหนึ่ง” “ผมก็ติดคุกมาทั้งหมด 7 ปี หมายถึงกว่าจะสู้คดีมาจนหลุดหมดนะครับ ที่จริงมันก็มีรายละเอียดอะไรอีกเยอะ กว่าศาลฎีกาจะยกฟ้องผมปี 2561 ก็เหมือนผมทิ้งชีวิตช่วงนั้นไปเลย” ลุงเล็กเล่าว่า คุกเป็นที่ ๆ ไม่ควรมีใครเข้ามาอยู่ ชีวิตในนั้นแทบจะไม่ถูกปฏิบัติเหมือนเป็นมนุษย์ด้วยกัน เรือนจำที่เขาอยู่นั้น ส่วนใหญ่เป็นนักโทษคดียาเสพติดกับพวกใช้ความรุนแรง คดีทางการเมืองยังมีไม่มาก “มันเป็นที่จองจำคนทำผิด แต่เราก็ได้รับโทษทางกฎหมายแล้ว ผู้คุมไม่ต้องลงโทษเราซ้ำก็ได้” เขาบอกว่าหลายครั้งเลยที่รู้สึกเหมือนถูกปฏิบัติราวกับไม่ใช่มนุษย์ ทั้งคำพูดดูถูกและการทำร้ายล้วนเกิดขึ้นในพื้นที่ซึ่งไม่มีบุคคลภายนอกรู้เห็น “อีกข้อที่เรียกร้องคือ เรือนจำก็ควรเลิกแหกกฎเสียที นักโทษอยู่ในคุกกำแพงล้อม 3-4 ชั้นทุกด้าน จะไปเอายาเสพติด เอาอาวุธ เอาโทรศัพท์มือถือมากจากไหน คนที่เข้า ๆ ออก ๆ อยู่ทุกวันคือใคร ผู้คุมใช่ไหม แล้วแบบนี้ใครมันจะศรัทธากฎหมาย” ในขณะที่คุกในต่างประเทศกลับสามารถลดจำนวนนักโทษลงไปได้เรื่อย ๆ ลุงเล็กบอกว่าคุกไทยทำไมมีแต่คนเดินเข้า แต่แทบไม่เดินออก “ทุกวันนี้ปัญหาของคุกคือนักโทษมันล้น ที่นอนไม่พอ สุขอนามัยก็แย่ อาหารการกินก็ไม่ดี คือมันไม่ใช่ที่ ๆ ใครควรมาอยู่ แต่ก็อย่างที่รู้ คุกมันมีไว้ขังคนจน คนไม่มีอำนาจ เส้นสาย คนไม่มีเงินสู้คดี มันก็เลยจบอีหรอบนี้ แล้วพอมาคิด ๆ ดูมันเป็นเพราะเราเอาแต่แก้ปัญหาปลายเหตุ ตอนนั้นผมก็คิดไม่ถึงหรอกนะ แต่ก็อย่างที่เขาชอบพูดกัน ถ้าการเมืองดี ทำมาค้าขายดี เศรษฐกิจดี คนมันจะไปค้ายาทำไม” ลุงยอมรับว่า การได้ออกมาจากคุกทำให้รู้สึกเหมือนได้ชีวิตใหม่ ที่จริงมันก็ไม่ได้สวยงามอะไร เพราะโลกที่ผ่านไป 7 ปีเปลี่ยนไปเยอะมาก ปัญหาต่อมาคือทั้ง ๆ ที่พ้นโทษแล้ว นักโทษหลายคนไม่สามารถกลับเข้าสู่สังคมได้ เพราะมีประวัติการติดคุกมาก่อน สังคมจึงไม่ยอมรับพวกเขา นั่นจึงเป็นอีกสาเหตุที่เขาเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งกับกลุ่มเรียกร้องการคืนศักดิ์ศรีแก่นักโทษ รวมถึงอดีตนักโทษด้วย “อย่างผม อีกไม่กี่ปีก็ตายแล้ว พวกเด็ก ๆ เขายังต้องอยู่ต่อ เขาเรียกร้องอนาคตของเขา ผมว่าถ้าเราทำสำเร็จ อีกอย่างที่ควรเปลี่ยนเลยคือคุก คุกควรถูกปฏิรูป สวัสดิการในคุก พวกอาหารการกิน ความเป็นอยู่ ทำเหมือนนักโทษเป็นคนหน่อย ไม่ใช่สัตว์ที่ฟังภาษาคนรู้เรื่อง”