“ถ้าคิดว่าชีวิตของตัวเองมีอันตราย.... ขอให้หนีไป” - 20th Century Boys

“ถ้าคิดว่าชีวิตของตัวเองมีอันตราย.... ขอให้หนีไป” - 20th Century Boys
หอคอยพระอาทิตย์ (Tower of the Sun) สิ่งปลูกสร้างหน้าตาพิลึกพิลั่น ที่ปรากฏในมังงะ 20th Century Boys อย่างสม่ำเสมอนั้น เป็นผลงานของศิลปินชื่อดัง โอคาโมะโตะ ทาโร ก่อสร้างขึ้นเพื่อเป็นหนึ่งในส่วนประกอบของงาน 1970 World Expo ซึ่งประเทศญี่ปุ่นได้รับโอกาสให้จัดขึ้นภายใต้ชื่อ Osaka Expo ภายใต้คอนเซปต์ ‘ความก้าวหน้าและความปรองดองของมวลมนุษยชาติ’ ซึ่งไม่เพียงจะเป็นงาน World Expo ครั้งแรกที่จัดขึ้นในประเทศญี่ปุ่น แต่ยังเป็นครั้งแรกในทวีปเอเชียอีกด้วย สำหรับประเทศญี่ปุ่นการจัดงานนี้เป็นการได้รับเกียรติหลังจากที่เคยได้รับโอกาสเป็นเจ้าภาพจัดแข่งขัน 1964 Olympic Games ซึ่งประสบความสำเร็จอย่างมากเพียง 6 ปีให้หลังเท่านั้น ช่วงเวลานี้ ยังเป็นช่วงเวลาแห่งความสำเร็จทางวิทยาศาสตร์อย่างเหลือเชื่อ เพราะเพียง 1 ปีก่อนหน้า ในปี 1969 นีล อาร์มสตรอง และนักบินอวกาศอะพอลโล 11 ได้ร่วมกันสร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ของมวลมนุษยชาติ ด้วยการนำยานไปลงจอดและได้ประทับรอยเท้าและก้าวเดินบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ ซึ่งเป็นการเอาชนะสหภาพโซเวียตในการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอวกาศไปได้ ซึ่งในห้วงเวลานั้นการเมืองระหว่างประเทศอยู่ในสภาวะ ‘สงครามเย็น’ ที่ทำให้การเมืองโลกแบ่งเป็น 2 ขั้วอำนาจยังคงดำเนินอยู่ สหรัฐอเมริกา ยุโรปตะวันตก และญี่ปุ่นอยู่ในสภาวะที่ต้องต่อสู้กับสหภาพโซเวียตและจีนแผ่นดินใหญ่ ไม่เพียงแต่ด้านเทคโนโลยีเท่านั้น ในมิติอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นทางการเมือง เศรษฐกิจ สังคมและวัฒนธรรม ก็แข่งขันกันอย่างเข้มข้น อย่างไรก็ดี งาน Osaka Expo ’70 ก็เป็นเหมือนความหวังและแสงสว่างต่อการพัฒนาประเทศญี่ปุ่น แต่ในมังงะเรื่อง 20th Century Boys งาน World Expo กลับเป็นหนึ่งในจุดเริ่มต้นของยุคดำมืดและความสิ้นหวังของมวลมนุษยชาติเลยทีเดียว… “ถ้าคิดว่าชีวิตของตัวเองมีอันตราย...ขอให้หนีไปอย่างเร็วที่สุด ขอร้องละพวกแกอย่าตายนะ” คือคำพูดของ เอนโดะ เคนจิ ตัวเอกของมังงะ 20th Century Boys พูดกับเพื่อน ๆ ของเขาก่อนที่จะแยกย้ายไปปฏิบัติการเสี่ยงตายเพื่อรักษาสันติภาพของโลกใบนี้ไว้ ***บทความนี้เปิดเผยเนื้อหาในมังงะ 20th Century Boys แก๊งนี้มีป่วน (1999-2006) มังงะที่ตีพิมพ์กว่า 30 ล้านก๊อบปี้ทั่วโลก และได้รับการการันตีรางวัลต่าง ๆ มากมาย ถูกพูดถึงอย่างมากในมุมมองเรื่องพัฒนาการของตัวละครและวิธีการเล่าเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายของ Stephen King นักเขียนนวนิยายสยองขวัญชื่อดังชาวอเมริกัน 20th Century Boys เป็นหนึ่งในผลงานยอดเยี่ยมชิ้นหนึ่งของ นะโอะกิ อุระซะวะ ซึ่งเป็นผู้เขียนผลงานมังงะที่ได้รับความนิยมชิ้นอื่น ๆ อาทิ Monster (1994-2001) Pluto (2003-2009) และ Billy Bat (2008-2016) เป็นต้น 20th Century Boys เป็นการเล่าเรื่องของกลุ่มเพื่อนวัยเด็กกลุ่มหนึ่งซึ่งมี เคนจิ เป็นตัวเอก วัยเด็กของพวกเขาที่มีกิจกรรมวัยเด็กร่วมกัน หนึ่งในนั้นคือการสร้าง ‘ฐานทัพลับ’ ขึ้นกลางทุ่งหญ้า ซึ่งเป็นสถานที่ใช้ในการนัดหมายเพื่อพูดคุยและเล่นกันอย่างสนุกสนาน รวมไปถึงการรับบทบาทสมมติเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์โลก ผ่านสมุดบันทึกซึ่งเรียกว่า ‘บันทึกคำทำนาย’ ที่เคนจิได้เป็นผู้เขียนขึ้น โดยเป็นเรื่องเกี่ยวกับองค์กรวายร้ายที่พยายามจะทำลายความสงบสุขของโลกด้วยนานาวิธี อาทิ การโจมตีเมืองด้วยหุ่นยักษ์ การผลิตเชื้อโรคร้าย เป็นต้น แต่ด้วยความร่วมมือของ ‘เคนจิและเพื่อน’ ก่อนที่วันสิ้นโลกจะมาถึง พวกเขาก็ได้เข้าต่อกรกับองค์กรร้ายนี้และนำความสงบสุขกลับคืนมาอีกครั้ง เรื่องควรจะจบลงเท่านี้ เพราะ ‘บันทึกคำทำนาย’ ชิ้นดังกล่าวเป็นเพียงจินตนาการและการเล่นสนุกของเด็ก ๆ กลุ่มหนึ่ง แต่เมื่อเวลาผ่านไปจนเคนจิและเพื่อนเข้าสู่วัยกลางคน มีหน้าที่ต้องรับผิดชอบ มีหน้าที่การงานต่างกัน บางคนมีครอบครัวต้องดูแล ความทรงจำเกี่ยวกับ ‘บันทึกคำทำนาย’ ดังกล่าวไม่น่าจะคงอยู่ใน ความทรงจำของพวกเขา แต่เหตุการณ์กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเพื่อนเก่าคนหนึ่งในกลุ่มที่ได้จากไปอย่างกะทันหัน พร้อมทั้งได้ทิ้งสัญลักษณ์ปริศนาหน้าตาพิลึกพิลั่นไว้เป็นปริศนา เคนจิผู้ซึ่งต้องการคลี่ปมการเสียชีวิตของเพื่อน เขาได้ติดต่อและได้รวบรวมกลุ่มเพื่อนวัยเด็กของเขาเพื่อคลี่คลายปริศนานี้ และเมื่อยิ่งผ่านไปเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เขาเคยจินตนาการไว้ผ่าน ‘บันทึกคำทำนาย’ ในวัยเด็กก็เป็นจริงขึ้นมาอย่างน่าประหลาด องค์กรลึกลับที่มีผู้นำซึ่งแทนตัวเองว่า ‘เพื่อน’ ที่กุมความลับทุกอย่างไว้ เป็นองค์กรที่อยู่เบื้องหลังเหตุการณ์สะเทือนขวัญต่าง ๆ เคนจิและเพื่อนของเขาต้องหยุดยั้ง ‘เพื่อน’ ก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป… เนื้อเรื่องของ 20th Century Boys แบ่งเป็น 3 ห้วงเวลา ได้แก่ (1) เรื่องราววัยเด็กของเคนจิและกลุ่มเพื่อนในช่วงทศวรรษ 1960s-1970s ซึ่งนักวิจารณ์ส่วนหนึ่งมองว่าเป็นช่วงที่อาจารย์อุระซะวะ ซึ่งเกิดในปี 1960 เขียนออกมาจากประสบการณ์ในวัยเด็กของตัวเอง (2) ในห้วงเวลาที่ 2 ซึ่งเป็นช่วงที่เคนจิได้รวบรวมเพื่อนวัยเด็กเพื่อต่อกรกับ ‘เพื่อน’ ซึ่งเกิดในช่วงปลายทศวรรษ 1990s จนกระทั่งถึงปลายยุค 2000s ที่เกิดเหตุการณ์เผชิญหน้าและนำไปสู่ประวัติศาสตร์โศกนาฏกรรมที่เรียกว่า ‘วันส่งท้ายปีเก่านองเลือด’ เหตุการณ์นี้ไม่เพียงพวกเขาทำภารกิจไม่สำเร็จ แต่ประวัติศาสตร์ที่ ‘เพื่อน’ เป็นผู้เขียน ได้ทำให้ตนเองและองค์กรเป็นฮีโร่ผู้พิทักษ์โลก ในขณะที่เคนจิและกลุ่มเพื่อนถูกรับรู้ในฐานะขบวนการก่อการร้าย และ (3) ห้วงปี 2014-2015 ซึ่งเรื่องราวได้ถูกส่งต่อไปที่ เอนโดะ คันนะ หลานสาวของเคนจิ เธอพยายามที่จะเปิดโปงตัวจริงของ ‘เพื่อน’ ก่อนที่จะครอบงำโลกทั้งใบได้อย่างเบ็ดเสร็จ “ถ้าคิดว่าชีวิตของตัวเองมีอันตราย.... ขอให้หนีไป” - 20th Century Boys นอกจากพล็อตเรื่องที่ได้รับอิทธิพลจากนวนิยายของ Stephen King ที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น วิธีการเล่าเรื่องในห้วงแรกยังมีลักษณะกึ่งบันทึกความทรงจำในช่วงประวัติศาสตร์ยุคหลังสงครามของประเทศญี่ปุ่นซึ่งเป็นยุคสมัยของอาจารย์อุระซะวะเอง ดังที่ได้กล่าวไว้ข้างต้น อาจารย์อุระซาวะเกิดในปี 1960 ได้เห็นการเกิดขึ้นและการล่มสลายของขบวนการเคลื่อนไหวเพื่อเรียกร้องประเด็นทางสังคมต่าง ๆ รวมทั้งวัฒนธรรมย่อยต่าง ๆ การล่มสลายอย่างรวดเร็วและน่าเศร้าของการเคลื่อนไหวนี้ยังคงเป็นความทรงจำที่เจ็บปวดสำหรับคนรุ่นนั้น ดังนั้นจึงไม่น่าแปลกใจที่การเล่าเรื่องใน 20th Century Boys เริ่มในปีที่วัฒนธรรมย่อยที่ก้าวหน้า อาทิ การนำเสนอผ่านแนวเพลงดนตรีร็อคแอนด์โรลล์ แม้กระทั่งชื่อเรื่องของมังงะเรื่องนี้ก็ได้แรงบันดาลใจมาจากเพลงในชื่อเดียวกันของวง T. Rex เพลงเดียวกับที่เคนจิในวัยมัธยมฯ เปิดในช่วงพักกลางวันที่โรงเรียน แทนเพลงป็อปฟังสบาย ๆ ที่เปิดอยู่ในห้วงนั้น เหมือนแสดงนัยถึงการต้องการเปลี่ยนแปลง เพลงดังกล่าวได้ทำการบันทึกเสียงในสตูดิโอแห่งหนึ่ง ณ กรุงโตเกียวในปี 1972 นั่นเอง ในยุคสมัยนั้นเกิดการรวมกลุ่มทางสังคมเพื่อเรียกร้องในประเด็นต่าง ๆ มากมาย ขบวนการสังคมหนึ่งที่เคลื่อนไหวในยุคนั้น คือ Zenkyoto ซึ่งเป็นกลุ่มเคลื่อนไหวของนักศึกษาเพื่อเรียกร้องในประเด็นภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ มีการชุมนุมประท้วงภายในมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศญี่ปุ่น จนกระทั่งรัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการเด็ดขาดต่อการชุมนุมประท้วง อย่างเช่น การผ่านกฎหมายเกี่ยวกับมาตรการชั่วคราวเกี่ยวกับการบริหารจัดการมหาวิทยาลัย ซึ่งมีผลบังคับใช้ในช่วงปลายปี 1970 ซึ่งทำให้มหาวิทยาลัยต่าง ๆ สามารถเรียกตำรวจปราบจลาจลได้โดยอิสระ ต้องถูกจำกัดบทบาทในการเคลื่อนไหวและหายไปในที่สุด ไม่เพียงแต่ในญี่ปุ่น การเคลื่อนไหวของขบวนการทางสังคมของคนหนุ่มสาวได้เกิดขึ้นในหลาย ๆ ประเทศทั่วโลก จนนำไปสู่การถูกปราบปรามจากรัฐบาลของตน รวมไปถึงอิทธิพลต่อองค์กรลึกลับ และ ‘เพื่อน’ จากลัทธิคัลท์ในยุคต่อมา อย่าง โอม ชินริเกียว ที่เคยก่อเหตุสะเทือนขวัญด้วยการปล่อยก๊าซซารินในระบบรถไฟใต้ดิน ซึ่งมีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ที่เกิดขึ้นในปี 1995 ซึ่งเป็นข่าวใหญ่ไปทั่วโลก รวมทั้งยังก่อคดีอาชญากรรมต่าง ๆ อีกเป็นจำนวนมาก โดย โอมฯ ได้ก่อตั้งขึ้นในช่วงทศวรรษ 1980s และภายในระยะเวลาไม่นานองค์กรดังกล่าวได้ขยายตัวและได้รับความนิยมไปทั่วเกาะญี่ปุ่นในฐานะสถาบันทางศาสนา มีศักยภาพในการดึงดูดประชาชนให้มาเข้าร่วมเป็นสมาชิกได้เป็นจำนวนมาก มีทั้งคนวัยทำงานที่มีการศึกษาดี และหน้าที่การงานมั่นคง รวมไปถึงบุคลากรทางการแพทย์ และนักวิทยาศาสตร์ จนทำให้องค์กรมีกำลังทรัพย์เป็นจำนวนมากสามารถซื้อและพัฒนาอาวุธได้ โดยผู้นำลัทธิ โชโก อาซาฮาระ ได้ผสมผสานแนวคิดของหลายศาสนาและความเชื่อเข้าด้วยกันเพื่อใช้ในการชักจูงสาวก และมันได้ผลเป็นอย่างมาก จนทำให้สาวกจำนวนมากพร้อมที่จะทำตามคำสั่งของเขา จนนำไปสู่เหตุโศกนาฏกรรมข้างต้น แต่ในโลกมังงะ องค์กรลึกลับและ ‘เพื่อน’ ใน 20th Century Boys ไม่ได้ถูกทำลายโดยรัฐบาล แต่กลับเป็นองค์กรที่แผ่ขยายอิทธิพลไปทั่วประเทศและทั่วโลก ขนาดที่ว่าสามารถเปลี่ยนประวัติศาสตร์ที่เกิดขึ้นภายหลังเหตุการณ์ ‘วันส่งท้ายปีเก่านองเลือด’ ได้เลย เพราะ ‘เพื่อน’ นั้นชนะเคนจิและกลุ่มเพื่อน ทำให้แบบเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กชั้นมัธยมฯ ในเรื่องก็ระบุผลลัพธ์ของเหตุการณ์ ‘วันส่งท้ายปีเก่านองเลือด’ ไว้แบบนั้น เหมือนกับที่นวนิยายเล่มดังอย่าง ดาวินชี โคด ของ แดน บราวน์ เขียนไว้ว่า “History is always written by the winners” เนื้อหาตอนหนึ่งที่ โคอิซุมิ เคียวโกะ เพื่อนร่วมชั้นของเคนโดะ คันนะ กำลังอธิบายความสงสัยต่อประวัติศาสตร์เกี่ยวกับ ‘วันส่งท้ายปีเก่านองเลือด’ ให้คุณครูของเธอฟังในช่วงเสนอหัวข้อการค้นคว้าอิสระเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ญี่ปุ่นว่า เคนจิและเพื่อนของเขาไม่น่าจะใช่ผู้ก่อการร้ายดังที่ตำราประวัติศาสตร์ได้อธิบายไว้ คุณครูตอบกลับเธอว่า “นี่ แม่โคอิซุมิ... ประวัติศาสตร์สมัยใหม่ที่พิมพ์อยู่ด้านหลังของตำราเรียนแบบนั้น ข้อสอบก็ไม่ได้ออกแล้ว ไม่ได้ใช้สอนด้วย ไม่มีหัวข้ออื่นอีกหรือไง….” สุดท้ายคุณครูก็อนุญาตให้เธอทำรายงานด้วยหัวข้อดังกล่าว แต่ภายหลังเมื่อเธอรู้ความจริงว่าเป็นเช่นไร เธอจึงไปขอคุณครูเปลี่ยนหัวข้อ แต่ก็ไม่ทันเสียแล้ว เพราะการระบุถึงเรื่องดังกล่าวทำให้โรงเรียนต้องแจ้งไปยังทางการ และเธอก็ถูกพาไปเข้าหลักสูตรเข้มข้นเพื่อให้รับรู้และเชื่อในประวัติศาสตร์กระแสหลักตามที่ ‘เพื่อน’ ต้องการ หลังจากพ่ายแพ้ให้ ‘เพื่อน’ ในครั้งแรก ยูคิจิ เพื่อนสาววัยเด็กของเคนจิ ที่ทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงคันนะ ตัดสินใจสู้กับ ‘เพื่อน’ อีกครั้ง เพื่อต้องการปลดเปลื้องภาระที่ต้องดูสำนักฝึกยูโดของคุณตา เธอจึงตัดสินใจปิดสำนักนี้เสีย โดยเธอได้ให้ปัจฉิมโอวาทแก่ศิษย์ทั้งหลายว่า “คุณตาเป็นฮีโร่ของฉัน แต่ยังมีฮีโร่ในใจอยู่อีกคนหนึ่ง เขาพูดไว้อย่างนี้ ถ้าคิดว่าชีวิตตัวเองมีอันตราย ขอให้หนีไปโดยเร็วที่สุด ขอร้องละทุกคนอย่าตายนะ” หากเคนจิในวัยมัธยมฯ ผู้ต้องการเปลี่ยนแปลงรสนิยมการฟังเพลงจากป็อปมาสู่ร็อคแอนด์โรลล์ให้กับเพื่อนร่วมชั้น การกลับมาหลังจากความพ่ายแพ้แก่ ‘เพื่อน’ ในยกแรก เขากลับมาใหม่อีกครั้งในฐานะนักดนตรี ที่มาพร้อมกับเพลง ‘Bob Lennon’ เพลงเนื้อหาเชย ๆ แต่เต็มไปด้วยการตั้งคำถามต่อการมีอยู่ของ ‘เพื่อน’ ทำให้ผู้คนตั้งคำถามกับการถูกจำกัดสิทธิ เสรีภาพ เพลงที่จะสามารถเปลี่ยน ความกลัวให้เป็นความกล้า เปลี่ยนให้ทุกคนร่วมกันลุกขึ้นสู้กับ ‘เพื่อน’ ก็เป็นได้ สุดท้าย คันนะและพวกพ้อง รวมทั้งเคนจิที่กลับมาได้บทบาทนักดนตรี ซึ่งมาพร้อมบทเพลงเปลี่ยนโลก จะสามารถเอาชนะ ‘เพื่อน’ และกลายเป็นคนเขียนประวัติศาสตร์ได้หรือไม่? นักเรียนจะได้อ่านประวัติศาสตร์ฉบับที่ถ่ายทอดเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาหรือไม่? ถ้าจะทำให้สำเร็จ คันนะคงต้องระลึกถึงคำพูดของ คุณน้าเคนจิ ที่ว่า “ถ้าคิดว่าชีวิตตัวเองมีอันตราย ขอให้หนีไปโดยเร็วที่สุด ขอร้องละทุกคนอย่าตายนะ” สำหรับใครที่เคยอ่านแต่ลืมเรื่องราวไปแล้ว ลองย้อนกลับไปอ่านกันดูนะครับว่ายุทธวิธี การรักษาชีวิตเมื่อภัยมา กับบทเพลงร็อคแอนด์โรลล์ของเคนจิ จะเปลี่ยนโลกได้หรือไม่?... อ้างอิง 20th Century Boys แก๊งนี้มีป่วน (ฉบับภาษาไทย) Vol. 5, 7, 20 21st Century Boys Graphic Subjects: Critical Essays on Autography and Graphic Novels Edited by Michael A. Chaney https://www.japantimes.co.jp/.../1970-osaka-expo-looking.../ . เรื่อง: ทรงกลด ขาวแจ้ง