ย้อนรอย  5 อนุสาวรีย์ถิ่นอีสาน มรดกจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475

ย้อนรอย  5 อนุสาวรีย์ถิ่นอีสาน มรดกจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475
หากกล่าวถึงวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 วันเปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาเป็นระบอบประชาธิปไตย โดยให้พระมหากษัตริย์อยู่ใต้รัฐธรรมนูญ จากเหตุการณ์นี้ หลายคนอาจจะนึกถึงคณะราษฎรผู้จุดประกายการเปลี่ยนแปลง บ้างก็นึกถึงรัฐธรรมนูญฉบับแรกของประเทศ หรือนึกถึงสัญลักษณ์ของความสำเร็จในการปฏิวัติครั้งนี้คือ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตยบนถนนราชดำเนิน ที่สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2482 และเข้าใจว่าเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรกที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิวัติสยามในการเปลี่ยนแปลงการปกครองเป็นระบอบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ แต่น้อยคนนักที่จะทราบว่าแท้จริงแล้วอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยแห่งแรกตั้งขึ้นที่ภาคอีสาน ซึ่งใช้ชื่อแตกต่างออกไปคือ ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ’ ก่อนจะเล่าถึงอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญทั้ง 5 แห่งในภาคอีสาน สิ่งที่สะท้อนถึงความสนใจต่อเหตุการณ์ครั้งนี้คือคำบอกเล่าของ สิบโท สุพรรณ อนันตะโสภณ ในวันที่ 24 มิถุนายน พ.ศ. 2475 ว่าประชาชนในจังหวัดอุดรธานีต่างรอฟังข่าวในวิทยุอย่างใจจดใจจ่อ แม้จะไม่มีความรู้เรื่องการปกครองเท่าใดนัก เข้าใจเพียงแค่พระมหากษัตริย์อยู่ภายใต้อำนาจรัฐธรรมนูญ ราษฎรมีสิทธิและเสรีภาพเท่ากัน ในปี พ.ศ 2473-2478 วรรณ พรหมกสิกร ดำรงตำแหน่งนายอำเภอเขื่องใน จังหวัดอุบลราชธานี ได้เขียนยกย่องความสำคัญของรัฐธรรมนูญในหนังสือคำกลอนภาษาอีสานไว้ว่า “กฎหมายว่าอำนาจสูงสุด จุดที่หมายเป็นของไพร่ราษฎร์ เป็นอำนาจทั่ว ๆ กันไป บ่อมีไผได้มีอำนาจลื่น” แปลว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ โดยมีราษฎรเป็นศูนย์กลางในการปกครอง ราษฎรมีอำนาจเสมอกัน ไม่มีผู้ใดมีอำนาจมากหรือน้อยไปกว่ากัน ซึ่งสองข้อนี้ก็ช่วยคลายความสงสัยว่าทำไมอนุสาวรีย์จึงเกิดขึ้นที่แรก ๆ ในภาคอีสาน ย้อนรอย  5 อนุสาวรีย์ถิ่นอีสาน มรดกจากการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญมหาสารคาม ‘อนุสาวรีย์เทอดรัฐธรรมนูญ จังหวัดมหาสารคาม’ เป็นอนุสาวรีย์ที่มีสัญลักษณ์พานพุ่มแห่งแรกในสยาม สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2477 ที่น่าสนใจคือ แม้จะเป็นอนุสาวรีย์แห่งแรก แต่วัตถุประสงค์ของการสร้างนั้นกลับไม่ได้มาจากการเปลี่ยนแปลงการปกครองเพียงอย่างเดียว แต่ยังคาบเกี่ยวกับเหตุการณ์ในท้องถิ่นในช่วงเวลาไล่เลี่ยกัน คือปี พ.ศ. 2476-2477 ที่ภาคอีสานเกิดปรากฏการณ์กบฏผู้มีบุญหรือรู้จักในชื่อ ‘กบฏผีบุญ’ โดยกบฏกลุ่มนี้ตั้งขึ้นเพื่อต่อต้านรัฐบาลในกรุงเทพฯ รวมถึงโน้มน้าวให้คนอีสานเชื่อฟังตนเองว่าเป็นผู้วิเศษ  เมื่อหลวงอังคณานุรักษ์ ข้าหลวงประจำจังหวัดมหาสารคามทราบเรื่องดังกล่าว และตระหนักว่าจากเหตุการณ์นี้แสดงถึงการไม่เห็นคุณค่าของระบอบรัฐธรรมนูญสูงสุด จึงเสนอให้สร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ ตลอดจนจัดการประกวดแต่งลำกลอนเทอดรัฐธรรมนูญ เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจในระบอบการปกครองใหม่แก่คนในจังหวัด   อนุสรณ์รัฐธรรมนูญสุรินทร์ “๑ เอกราช ๒ ความปลอดภัย ๓ ความสามัคคี ๔ ความเสมอภาค ๕ เสรีภาพ ๖ การศึกษา”   คำที่ปรากฏใต้แท่น ‘อนุสรณ์รัฐธรรมนูญ จังหวัดสุรินทร์’ เกือบจะคล้ายกับเสา 6 หลักประการของคณะราษฎร แต่เปลี่ยนจากเศรษฐกิจเป็นความปลอดภัย อนุสรณ์นี้สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2479 จากการบริจาคเงินของประชาชนในจังหวัดและบริเวณใกล้เคียงที่มีสถานะตั้งแต่ข้าราชการชั้นสูงจนถึงประชาชนทั่วไป มียอดตั้งแต่ 5 บาท จนถึง 50 บาท  นอกจากมีการสลักเสาหลัก 6 ประการ ยังสลักรายชื่อผู้บริจาคด้านหน้าอนุสรณ์ ถือว่าเป็นเอกลักษณ์ของอนุสรณ์แห่งนี้ และเป็นการตอกย้ำว่า ไม่ว่าจะอยู่ในชนชั้นใด สถานะไหน ทุกคนล้วนให้ความสำคัญกับรัฐธรรมนูญใหม่   อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญร้อยเอ็ด อนุสาวรีย์อีกแห่งที่มีความสำคัญจนได้อยู่ในตราประจำจังหวัดคือ ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ จังหวัดร้อยเอ็ด’ สร้างขึ้นปี พ.ศ. 2479 จากการริเริ่มของข้าราชการในจังหวัด  เดิมทีอนุสาวรีย์จะถูกสร้างที่หน้าศาลากลางจังหวัด แต่สุดท้ายก็สร้างที่บึงพลาญชัย ซึ่งในอดีตเคยแห้งแล้งมาก่อน ในเวลาต่อมา ผู้ว่าราชการจังหวัดได้เกณฑ์แรงงานชาวร้อยเอ็ดที่ไม่เสียค่าภาษีอากรมาขุดบึงแห่งนี้ จนกลายมาเป็นบึงที่มีน้ำตลอดทั้งปี  ส่วนตราประจำจังหวัดที่ปรากฏรูปอนุสาวรีย์ เกิดจากการค้นหาเอกลักษณ์ของร้อยเอ็ดตามนโยบายของรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม ที่กล่าวว่า หากต้องการให้ประเทศชาติรุ่งเรืองจะต้องสร้างความเป็นปึกแผ่นในชนบทก่อน จึงเสนอให้สร้างตราประจำจังหวัดโดยชูสิ่งที่คนในชุมชนภาคภูมิใจ แต่ต่อมากรมศิลปากรได้เสนอให้เปลี่ยนตราประจำจังหวัดเป็นโบราณสถานแทนอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ   อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญบุรีรัมย์ อนุสาวรีย์อีกแห่งในอีสานที่เกิดก่อนในกรุงเทพฯ คือ ‘อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญจังหวัดบุรีรัมย์’ แม้ไม่ปรากฏประวัติการสร้างอย่างชัดเจน แต่สันนิษฐานว่าสร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2480 จากหน้าปกหนังสือเทอดบุรีรัมย์ในงานฉลองรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2480 ที่มีภาพวาดอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญคล้ายกับในปัจจุบัน  แรกเริ่มอนุสาวรีย์นี้ตั้งอยู่ที่วงเวียนสามแยกหน้าศาลากลาง ใครผ่านไปผ่านมาก็จะเห็นอย่างชัดเจน แต่ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2557 อนุสาวรีย์ที่ตั้งอยู่ใจกลางเมืองถูกรื้อถอนและย้ายไปตั้งที่ศาลากลางจังหวัดเก่า โดยทางเทศบาลให้เหตุผลว่า อนุสาวรีย์ทำให้การจราจรติดขัด ก่อนจะถูกรื้อถอนอีกครั้งในปี พ.ศ. 2560 และยังไม่มีการสร้างใหม่จนถึงปัจจุบัน   อนุสาวรีย์ขอนแก่น อนุสาวรีย์ขอนแก่นปรากฏแนวคิดของการสร้างตั้งแต่ พ.ศ. 2481 แต่ถูกสร้างจริงเมื่อ พ.ศ. 2486 ประวัติของการสร้างอนุสาวรีย์แห่งนี้ค่อนข้างน่าสนใจ เพราะแห่งอื่นล้วนเกิดจากความร่วมมือของประชาชนโดยปราศจากรัฐบาลกลางของประเทศ ในขณะที่อนุสาวรีย์ที่ขอนแก่นริเริ่มจากประชาชนเช่นกัน เพียงแต่ต้องส่งเรื่องไปยังผู้ว่าราชการจังหวัด และส่งไปยังกระทรวงมหาดไทยเพื่อพิจารณาอีกที เนื่องจากในยุคนั้นรัฐบาลยังไม่มีนโยบายส่งเสริมรัฐธรรมนูญด้วยการสร้างอนุสาวรีย์ แต่ท้ายที่สุดก็มีการอนุมัติให้สร้างได้  ในเวลานั้น ปลัดกระทรวงมหาดไทยกล่าวว่า การสร้างอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญเป็นความเห็นชอบของท้องถิ่น ทางกระทรวงไม่ควรล่วงล้ำ ควรจะกำชับและตักเตือนในเรื่องที่เหมาะสมเท่านั้น พร้อมทั้งกล่าวต่อว่า การปลูกฝังการให้คุณค่าแก่รัฐธรรมนูญไม่ใช่การสร้างอนุสรณ์ที่เป็นเสาหิน แต่อยู่ที่การปฏิบัติตนให้สมกับสมัยรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันอนุสาวรีย์ขอนแก่นเป็นสถานที่ที่แสดงการเรียกร้องเชิงสัญลักษณ์ในด้านการเมือง เช่น เป็นสถานที่ชุมนุมการต่อต้านรัฐประหาร และเป็นจุดรวมตัวเพื่อแสดงจุดยืนของชาวอีสานชื่อ ‘เครือข่ายอีสานปลดแอกปลาแดกจงเจริญ’ นอกจากอนุสาวรีย์ที่เป็นมรดกของการปฏิวัติสยาม พ.ศ. 2475 ในยุคสมัยนั้น ยังพบงานฉลองรัฐธรรมนูญอีกด้วย โดยเริ่มจัดขึ้นวันแรกในกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม พ.ศ. 2475 จุดประสงค์เพื่อการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไปรู้จักและเข้าใจระบอบการปกครองใหม่ของไทย  ในเวลาต่อมางานฉลองก็เริ่มขยายตัวไปสู่จังหวัดต่าง ๆ ซึ่งจะมีกิจกรรมทั้งตลาดนัด การแห่ขบวนรัฐธรรมนูญ และการจัดแสดงมหรสพ  ปัจจุบันอนุสาวรีย์ที่ภาคอีสานเหลือเพียงแค่ 5 แห่ง คือ มหาสารคาม สุรินทร์ ร้อยเอ็ด ขอนแก่น และชัยภูมิ ส่วนอนุสาวรีย์ที่บุรีรัมย์และอุดรธานีถูกรื้อถอนอย่างถาวร หากถามว่าอนุสาวรีย์ของภาคอีสานเริ่มถูกลดทอนความสำคัญและเริ่มเลือนหายไปจากความทรงจำของคนไทยเมื่อใด ก็คงจะเป็นตอนเกิดรัฐประหารปี พ.ศ. 2490 โดยพลโท ผิน ชุณหะวัณ กลุ่มทหารนอกราชการ ร่วมมือกับจอมพล ป. พิบูลสงคราม และกลุ่มอนุรักษนิยมเจ้า เพื่อล้มล้างอำนาจของนายปรีดี พนมยงค์ สาเหตุที่การรัฐประหารครั้งนี้ทำให้ความสำคัญของรัฐธรรมนูญลดลง คือ การสลับบทบาทความสำคัญจากหน้ามือเป็นหลังมือ โดยการชูให้สถาบันพระมหากษัตริย์อยู่สูงสุดเหนือรัฐธรรมนูญ รวมถึงคำกล่าวอ้างของ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช ว่า ประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญตั้งแต่สมัยสุโขทัย ไม่ใช่เพิ่งมี พ.ศ. 2475 ทำให้คนส่วนใหญ่ลดความสนใจในอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในภาคอีสาน และรื้อสร้างความหมายใหม่เกี่ยวกับรัฐธรรมนูญสมัยคณะราษฎร จากวาทกรรมที่ว่า คณะราษฎรชิงสุกก่อนห่าม ก็อาจจะไม่ถูกต้องมากนัก เพราะการชิงสุกก่อนห่าม หมายถึง การทำสิ่งที่ยังไม่สมควรแก่เวลา ซึ่งอนุสาวรีย์เหล่านี้ได้สะท้อนให้เห็นแล้วว่า ชาวอีสานมีความตื่นตัวทางการเมือง และพร้อมต่อระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยภายใต้รัฐธรรมนูญ   เรื่อง: ขวัญจิรา สุโสภา (The People Junior)   อ้างอิง: วารสารศิลปวัฒนธรรม เรื่องมองสำนึกพลเมืองคณะราษฎรผ่านอนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญในอีสาน โดยศรัญญู เทพสงเคราะห์ https://www.m-culture.go.th/ubonratchathani/ewt_dl_link.php?nid=833     ที่มาภาพ https://www.silpamag https://www.silpa-mag.com/history/article_17795 https://www.facebook.com/fotomomo.project/photos/2-อนุสาวรีย์รัฐธรรมนูญ-บุรีรัมย์-รื้อไปแล้วอนุสาวรีย์ถูกเคลื่อนย้ายเมื่อวันที่-6/2504060569873560/ https://m.facebook.com/1571548012893023/posts/2460035100710972/ https://m.facebook.com/%E0%B8%9E%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B8%B0-1756422141271246/photos/pcb.2528418950738224/2528418694071583/ https://e-shann.com/%E0%B8%97%E0%B8%B2%E0%B8%87%E0%B8%AD%E0%B8%B5%E0%B8%A8%E0%B8%B2%E0%B8%99-76-%E0%B8%AD%E0%B8%99%E0%B8%B8%E0%B8%AA%E0%B8%A3%E0%B8%93%E0%B9%8C%E0%B8%A3%E0%B8%B1%E0%B8%90%E0%B8%98%E0%B8%A3%E0%B8%A3/