กองทัพ 50 เซนต์ 2.0 ชาวเน็ตผู้ก้าวร้าวจากแผ่นดินใหญ่

กองทัพ 50 เซนต์ 2.0 ชาวเน็ตผู้ก้าวร้าวจากแผ่นดินใหญ่
ทุกครั้งที่เกิดการโต้เถียงในประเด็นระดับประเทศที่เกี่ยวพันกับ สาธารณรัฐประชาชนจีน จะมีกลุ่มชาวเน็ตจำนวนมหาศาลที่ถาโถมเข้ามาร่วมการสนทนาวิวาทะในประเด็นนั้น ๆ ด้วย ไม่ว่าจะเกิดขึ้นในโซเชียลมีเดีย แพลตฟอร์มใด ไม่ว่ามันจะถูกแบนในประเทศจีนหรือไม่ ก็จะมีชาวเน็ตจากเมืองจีนพร้อมจะเข้าลุยด้วยเสมอ ประเด็นที่ชักนำให้ชาวเน็ตเหล่านี้เข้าร่วมก็มีตั้งแต่การเมืองเรื่องไต้หวันหรือฮ่องกง ไปจนถึงเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการอ่านภาษาต่างประเทศในโซเชียลมีเดียไม่แตก แล้วไปตีความว่า ดูหมิ่นประเทศจีน เสียได้ ชาวเน็ตเหล่านี้ อาจเป็นชาวบ้านทั่วไปที่ไม่ได้มีวาระซ่อนเร้นก็ได้ แต่ก็มีบางกลุ่มที่มีลักษณะของการหนุนหลังจากภาครัฐ หรือมีลักษณะเป็นการอาสาสมัคร "ทำดี" เพื่อชาติ  สำหรับกลุ่มที่มีลักษณะเป็นการจัดตั้งนั้นปรากฏตัวตั้งแต่ต้นปี 2000s พวกเขาได้รับฉายาว่า "อู่เหมา" (Wumao) หรือ กองทัพ 50 เซนต์ ในภาษาอังกฤษ (50 cent Army - ทั้งนี้คำว่า เซนต์ มาจากภาษาละตินแปลว่า หนึ่งร้อย ถูกใช้เป็นหน่วยย่อยของสกุลเงินหลัก โดย 100 เซนต์ จะมีค่าเท่ากับ 1 หน่วยสกุลหลักนั้น ๆ) พวกเขาได้รับฉายานี้มาเพราะถูกกล่าวหาว่าได้รับเงินจากทางการโพสต์ละ 0.5 หยวน เพื่อให้โพสต์คำพูดดี ๆ สวยหรูเกี่ยวกับรัฐบาล และพรรคคอมมิวนิสต์  พวกเขาไม่ใช่วัยรุ่นขี้โมโหที่ออกมาด่ากราดคนที่ไม่เห็นด้วย กลับกันส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเจ้าพนักงานรัฐที่ได้รับเงินเดือน และอาจไม่ได้รับเงิน 0.5 หยวนต่อโพสต์ ดังที่ถูกกล่าวหา แต่โพสต์ไปโดยหน้าที่และอุดมการณ์เพื่อรับใช้รัฐบาล  ในงานวิจัยชิ้นหนึ่งของฮาร์วาร์ด (ปี 2017) กล่าวว่า ความเห็นที่ออกมาจากตัวแทนของรัฐบาลจีนแต่ทำตัวเหมือนเป็นชาวเน็ตทั่วไปนั้นมีมากถึง 448 ล้านโพสต์ต่อปีในโซเชียลมีเดียต่าง ๆ ขณะเดียวกันลักษณะการให้ความเห็นของกองทัพ 50 เซนต์ ก็มีแทคติกเฉพาะอย่างหนึ่งก็คือ พวกเขาจะไม่ใช้การ "เถียง" แต่เน้นการ "เบี่ยงประเด็น" เพื่อให้เข้าทางรัฐบาลจีนแทน "ตรงกันข้ามกับข้ออ้างที่มีมาก่อนหน้า เราได้แสดงให้ว่า แผนของรัฐบาลจีนก็คือ หลีกเลี่ยงที่จะโต้เถียงกับผู้ที่ตั้งแง่กับพรรคและรัฐบาล และจะไม่ยอมอภิปรายในเรื่องที่อ่อนไหว กลับกันเป้าหมายของปฏิบัติการลับขนานใหญ่นี้อยู่ที่การเบี่ยงเบนความสนใจของสาธารณชน ดังที่โพสต์ส่วนใหญ่เหล่านี้มักเป็นเรื่องของการสรรเสริญประเทศจีน ประวัติศาสตร์การปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์ หรือสัญลักษณ์อื่น ๆ ของระบอบ" ตอนหนึ่งของบทคัดย่อในงานจากฮาร์วาร์ดกล่าว  การทำงานของพวกเขาเป็นลักษณะใต้ดิน ทำให้ข้อมูลของพวกเขามีอย่างจำกัด แต่ทางนักวิจัยไปพบกับเอกสารหลุดชุดหนึ่งที่ยืนยันว่า คนกลุ่มนี้มีตัวตนอยู่จริง ๆ เป็นอีเมลที่ออกมาจากสำนักงานโฆษณาชวนเชื่อทางอินเทอร์เน็ตสาขาหนึ่งในมณฑลเจียงซี ซึ่งแจกแจงว่า ชาว 50 เซนต์ ได้โพสต์ไปแล้วเท่าไร ทำงานที่ได้รับมอบหมายไปถึงไหนแล้ว ส่วนสาเหตุที่นักวิจัยกล่าวว่า ชาว 50 เซนต์ ทำหน้าที่ “เบี่ยงเบน” ประเด็นความสนใจของสาธารณชนมากกว่าที่จะเข้าไปชนกับคนที่เห็นต่าง ก็มาจากการวิเคราะห์เชิงปริมาณที่พบว่า ชาว 50 เซนต์จะแอคทีฟเป็นพิเศษในช่วงวาระสำคัญเกี่ยวข้องกับการรำลึกเหตุการณ์ต่าง ๆ เช่น วันเช็งเม้งซึ่งเป็นวันหยุดและมีการรำลึกถึงคนตาย รวมไปถึงเหตุจลาจลในพื้นที่ของชนกลุ่มน้อย ซึ่งพวกเขาก็จะต้อง “ฟลัด” พื้นที่บนโลกอินเทอร์เน็ตด้วยเรื่องราวดี ๆ ของรัฐบาล และการเสียสละของกองทัพ และพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อให้สาธารณชนไม่ไปสนใจกับความสูญเสีย หรือภาพด้านลบของรัฐบาล กลุ่มต่อมาก็คือ สันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์ หรือ CYL องค์กรที่ปลูกฝังอุดมการณ์คอมมิวนิสต์ให้กับคนรุ่นใหม่ และเป็นจุดตั้งต้นสำคัญต่ออนาคตทางการเมืองในพรรคคอมมิวนิสต์ต่อไป ซึ่งมีประวัติความเป็นมายาวนานพอ ๆ กับอายุพรรค และมีสมาชิกกว่า 80 ล้านคน มีอายุระหว่าง 14 ถึง 28 ปี  CYL จึงเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่มีความชำนาญกับโลกอินเทอร์เน็ตมากกว่า และพร้อมที่จะลุยโต้เถียงกับคนที่เห็นต่างมากกว่ากลุ่มข้ารัฐการที่ต้องทำงานไซด์ไลน์อย่างกองทัพ 50 เซนต์เดิม CYL จึงลงพื้นที่ไม่แต่เฉพาะโซเชียลมีเดียในจีนเท่านั้น แต่ยังข้ามไปลุยกับชาวเน็ตต่างชาติในโซเชียลมีเดียที่ถูกแบนในประเทศจีน ไม่ว่าจะเป็นเฟซบุ๊ก หรือทวิตเตอร์ อีกด้วย ในเอกสารหลุดชิ้นหนึ่งจากสันนิบาตยุวชนคอมมิวนิสต์สาขาเซี่ยงไฮ้ในหัวข้อ "ประกาศการจัดตั้งแผนกโฆษณาชวนเชื่อออนไลน์ของสันนิบาตยุวชนในวิทยาลัยต่าง ๆ ของเซี่ยงไฮ้" ได้กล่าวถึงหน้าที่ของสมาชิกเอาไว้เช่น  "ติดตามการรวมกลุ่มเพื่อเคลื่อนกำลัง มีส่วนร่วมกับกิจการวัฒนธรรมทางอินเทอร์เน็ต ว่าด้วยการแสดงความเห็นเชิงบวกของยุวชน และร่วมประสานเสียงตามประเด็นความเห็นของยุวชน เพื่อส่งเสริมพลังความคิดบวกของยุวชน"  "รีโพสต์และแสดงความเห็นในเนื้อหาตามที่ได้รับมอบหมายโดยสันนิบาตยุวชนกลาง สันนิบาตยุวชนเทศบาล สันนิบาตยุวชนในวิทยาลัย ในบัญชีส่วนตัว ทั้ง WeChat, Weibo, QQ, Fetion, Renren รวมถึงฟอรั่มและเว็บไซต์ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่นักศึกษา"  และ "จำนวนรีโพสต์ของแต่ละคนจะต้องไม่น้อยกว่า 5 โพสต์ ต่อสัปดาห์" ผลงานของ CYL ก็เช่นการวิจารณ์คนดังที่มีท่าทีรักชาติน้อยเกินไป ตัวอย่างเช่น “เจ้า เว่ย” ผู้กำกับและนักแสดงชื่อดังที่สร้างชื่อจากละครชุด “เจ้าหญิงกำมะลอ” เมื่อภาพยนตร์เรื่องหนึ่งของเธอเลือกที่จะใช้นักแสดงชาวไต้หวัน ซึ่งถูกกล่าวหาว่ามีท่าทีสนับสนุนการเป็นอิสระของไต้หวัน และขบวนการประชาธิปไตยในฮ่องกง (South China Morning Post และครั้งที่ ไช่ อิงเหวิน  ชนะการเลือกตั้งในปี 2016 กลายเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของไต้หวัน เธอก็ถูกถล่มด้วยเหล่าชาวเน็ตผู้เกรี้ยวกราดกว่า 40,000 ความเห็นบนเฟซบุ๊กของเธอ เนื่องจากจุดยืนทางการเมืองของเธอที่ท้าทายนโยบาย “จีนเดียว”  "นี่คือกองทัพอาสาสมัครของกลุ่มยุวชนผู้เกรี้ยวกราด พวกเขาพร้อมที่จะตามเสียงเรียกร้องให้ไปถล่มประธานาธิบดีไต้หวัน" เดวิด บันเดอร์สกี (David Bandurski) บรรณาธิการ China Media Project จากมหาวิทยาลัยฮ่องกง กล่าว (Voice of America "รัฐบาลมีส่วนในการจัดตั้งพวกเขามากน้อยแค่ไหนเราไม่รู้ มันจะเป็นการอาสาสมัคร หรือการอาสาสมัครโดยมีรัฐบาลหนุนหลังหรือไม่? มันค่อนข้างซับซ้อน พวกเขาเป็นเหมือนกองทัพ 50 เซนต์ 2.0" บันเดอร์สกีกล่าวเสริม กองทัพ 50 เซนต์ 2.0 จึงมีลักษณะที่เกรี้ยวกราดยิ่งกว่าต้นฉบับ หากเป็นประเด็นที่อ่อนไหวโดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวพันกับชาติและความมั่นคง พวกเขาก็พร้อมจะเดินหน้าบุกพร้อมกัน ด้วยแอคเคาต์ที่เตรียมไว้เป็นการเฉพาะ ทั้งการถล่ม ไช่ อิงเหวิน กรณี “โควิด-19” ที่จีนถูกวิจารณ์ หรือ ดาราไทยถูกเข้าใจว่าฝักใฝ่ไต้หวัน ก็จะพบบัญชีทวิตเตอร์ที่ไม่เคยถูกใช้งานมาหลายปีถูกนำกลับมาใช้อีกครั้ง หรือไม่ก็เป็นทวิตเตอร์ที่สดใหม่เพิ่งสมัครไม่กี่วัน เพื่อเข้าไปโต้แย้งประเด็นนั้น ๆ โดยเฉพาะ