Spider-Man: การเดินทาง 60 ปี ของเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุดสีแดง

Spider-Man: การเดินทาง 60 ปี ของเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุดสีแดง
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่ตัวการ์ตูนตัวหนึ่งจะมีชีวิตข้ามผ่านเวลามาได้เกือบ 60 ปี โดยที่ยังคงได้รับความนิยมอย่างมากมาตลอด โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับการที่ตัวการ์ตูนตัวนั้นจะเดินทางมาถึงยุคปัจจุบัน ยุคที่เรามอบชีวิตให้กับตัวละครที่ถูกสร้างขึ้นมากมายเป็นเรื่องปกติ และชื่นชมพวกเขาราวกับเป็นบุคคลจริง Spider-Man (สไปเดอร์-แมน) ซูเปอร์ฮีโร่ชุดแดงที่มีลายตามตัวอันเป็นเอกลักษณ์คนนี้ ถือเป็นอีกตัวละครที่ครองใจคนทั่วโลกมาอย่างยาวนาน ไม่ว่าจะเป็นแฟนคอมิกส์แต่เดิม หรือคอหนังที่รอคอยการปรากฏตัวของเขาในภาพยนตร์ ตั้งแต่ปี 1962 นายสไปดี้คนนี้ได้ปรากฏตัวบนโลกของพวกเราครั้งแรกในการ์ตูนคอมิกส์ที่ชื่อว่า ‘Amazing Fantasy’ ฉบับที่ 15 โดยนักวาดคอมิกส์ ‘สตีฟ ดิตโก’ (Steve Ditko) และฝีมือการแต่งเรื่องของ ‘สแตน ลี’ (Stan Lee)  จวบจนปัจจุบัน สไปเดอร์-แมน มีคอมิกส์เป็นของตัวเองกว่าหลายร้อยไปจนถึงหลักพันฉบับ และขึ้นแท่นตัวละครฮีโร่ที่ได้รับความนิยมสูงเป็นอันดับต้น ๆ ของค่ายมาร์เวล (Marvel) ‘ฮีโร่อันเป็นที่รัก แม้จะไม่สมบูรณ์’ ในยุคก่อน ซูเปอร์ฮีโร่ที่ได้รับความนิยมมักจะมีร่างกายกำยำแข็งแรง จิตใจดี มีพลังและความสามารถรอบด้าน เพื่อที่จะสามารถช่วยเหลือและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดในเรื่องได้อย่างคล่องแคล่ว และแม้จะมีจุดอ่อนหรือส่วนด้อยอยู่บ้าง แต่ภาพรวมของตัวละครแนวฮีโร่ก็ยังดูเป็นคนในอุดมคติในฝันของแฟน ๆ อยู่เหมือนเดิม เหมือนกับที่ภาษาไทยชอบใช้คำว่า ‘ยอดมนุษย์’ Spider-Man: การเดินทาง 60 ปี ของเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุดสีแดง แต่กับ ‘ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์’ หรือผู้ที่อยู่ภายใต้หน้ากากของฮีโร่ชุดแดงคนนี้ กลับมีชีวิตที่ห่างไกลกับคำว่าสมบูรณ์ในยุคนั้น เพราะปีเตอร์เป็นเพียงวัยรุ่นคนหนึ่งที่ไม่ได้มีร่างกายกำยำใหญ่โต (แม้จะมีพลังกายเหนือมนุษย์หลังจากการเป็นสไปเดอร์-แมน แล้วก็ตาม) เขากำพร้าทั้งพ่อและแม่ รวมไปถึงมีฐานะที่ไม่สู้ดีนัก อีกทั้งยังขาดวุฒิภาวะและการตัดสินใจที่ดีในแบบของผู้ใหญ่อยู่หลายครั้ง นั่นทำให้การที่เขาจะไปช่วยแก้ปัญหากลับกลายเป็นการไปสร้างปัญหาเสียแทน  นั่นทำให้นายปีเตอร์คนนี้ พอไม่ได้ต้องโหนใยไต่ตึกภายใต้หน้ากากแล้ว เขาก็เป็นเพียงเด็กวัยรุ่น (อัจฉริยะ) คนหนึ่งที่พยายามจะมีชีวิตธรรมดา มีงานการที่สามารถหาเงินมาใช้จ่ายได้อย่างไม่ขัดสน และมีชีวิตรักที่ราบรื่นกับผู้หญิงที่ชอบ ไม่ได้ต่างกับคนทั่วไปในสังคมปัจจุบันแม้แต่น้อย นั่นทำให้เรื่องราวของเขามีความสมจริง จนผู้อ่านและผู้ชมรู้สึกว่าตัวละครนี้จับต้องได้มากกว่าใคร ส่วนคำว่า ‘เพื่อนบ้านที่แสนดี’ หรือ Friendly Neighbourhood ที่หมายถึงความถ่อมตัวในการเป็นฮีโร่แถบละแวกบ้านที่คอยช่วยเหลือผู้คนในชุมชน ไม่ได้คิดเกินตัวถึงขนาดไปปกป้องโลกจากภัยร้ายระดับจักรวาล ก็บ่งบอกถึงการรับรู้ตัวตนและตำแหน่งหน้าที่ที่พอดีกับตัวของเขาเอง จึงไม่แปลกที่นายสไปดี้คนนี้จะได้รับความนิยมจากแฟน ๆ เรื่อยมาเกือบ 60 ปี ไม่ถึงกับว่าต้องทุกข์ระทมขมขื่นอย่างที่เกริ่น สไปเดอร์-แมนเองก็เป็นตัวละครฮีโร่ที่เตะตาและมีความเท่ในมุมของฮีโร่ด้วยเช่นกัน ทั้งการออกแบบชุดแมงมุมอันเป็นเอกลักษณ์ แม้ว่าจะถูกเปลี่ยนสีหรือรูปแบบก็ยังเป็นที่จดจำได้ในครั้งแรกที่เห็น รวมไปถึงความสามารถทางวิทยาศาสตร์ เคมี และวิศวกรรมของปีเตอร์ที่นำเอามาใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ในการต่อสู้กับเหล่าร้าย และพลังเหนือมนุษย์อย่าง ‘สัมผัสแมงมุม’ (Spider-Sense) พร้อมทั้งกำลังกายและความว่องไวที่สูงไม่แพ้กับฮีโร่สายกล้ามตัวอื่น ๆ จึงมั่นใจได้เลยว่า การออกแบบอย่างประณีตของไอ้แมงมุมตัวนี้ก็สามารถสร้างความบันเทิงให้ทุกคนได้อย่างมีสไตล์ สอดประสานไปกับเรื่องราวปูมหลังที่กินใจได้อย่างลงตัว แต่ไม่ต่างกับซูเปอร์ฮีโร่หรือตัวละครชื่อดังตัวอื่น สไปเดอร์-แมนได้ถูกนำมาสร้างในสื่ออีกหลายรูปแบบ ทั้งการ์ตูนแอนิเมชัน เกม และที่ขาดไม่ได้ก็คือภาพยนตร์ โลกอีกใบที่เหมือนแตกขยายมาจากโลกคอมิกส์ นำไปสู่การนำเสนอในรูปแบบที่เข้าถึงแฟน ๆ กลุ่มอื่นได้มากขึ้น และได้รับความยอมรับมากขึ้นในฐานะตัวละครจากภาพยนตร์ที่มีคนนำแสดง ไม่ใช่แค่รูปวาดบนกระดาษอีกต่อไป การปรากฏตัวบนจอเงินของไอ้แมงมุมไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะเคยเกิดขึ้นมาแล้วหลายเวอร์ชัน หลายนักแสดง รวมเป็นภาพยนตร์ชุดหลายฉบับด้วยกัน (แม้แต่ภาพยนตร์แนวโทคุซัทสึ หรือ ‘หนังแปลงร่าง’ ของประเทศญี่ปุ่น โดยโตเอะ สตูดิโอ ผู้ฝากผลงานอย่างขบวนการเซนไต และคาเมนไรเดอร์ ก็ยังเคยสร้างสไปเดอร์-แมน ในรูปแบบฮีโร่สไตล์ญี่ปุ่นอีกด้วย) และถึงแม้ภาพยนตร์ดังกล่าวอาจไม่มีความเกี่ยวข้องกันเสียทุกเรื่อง แต่ก็ต้องบอกว่าแต่ละฉบับก็ตีความการเป็นมนุษย์ยิงใยไต่ตึกผู้นี้ออกมาได้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน Spider-Man: การเดินทาง 60 ปี ของเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุดสีแดง ในภาพยนตร์ฉบับล่าสุดของ MCU - Marvel Cinematic Universe (จักรวาลภาพยนตร์มาร์เวล) ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ รับบทโดย ‘ทอม ฮอลแลนด์’ นักแสดงชาวอังกฤษมากความสามารถ ถือเป็นอีกฉบับของสไปเดอร์-แมน ที่ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยปรากฏตัวครั้งแรกในฐานะตัวละครรองจากภาพยนตร์เรื่อง ‘Captain America: Civil War’ และมีบทบาทร่วมกับเหล่าซูเปอร์ฮีโร่คนอื่นใน ‘Avengers: Infinity War’ และ ‘Avengers: Endgame’ รวมถึงมีภาพยนตร์ของตัวเองถึง 3 ภาคคือ ‘Spider-Man: Homecoming’ ‘Spider-Man: Far From Home’ และภาคล่าสุดที่กำลังเข้าโรงภาพยนตร์ในปี 2021 อย่าง ‘Spider-Man: No Way Home’ ความเป็น ‘ปีเตอร์’ และ ‘สไปดี้’ ในเวอร์ชันภาพยนตร์ฉบับล่าสุดก็มีการอ้างอิงมาจากการ์ตูนคอมิกส์ดั้งเดิมไม่น้อย นั่นคือความเป็นวัยรุ่นของตัวละคร ในบรรดาภาพยนตร์แต่ละเวอร์ชัน ทอม ฮอลแลนด์ เป็นปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ที่แลดูจะมีอายุน้อยที่สุด (หรือแม้แต่วัดจากอายุของตัวละคร ‘ป้าเมย์’ ก็ตาม) และนำพามาทุกองค์ประกอบ ไม่ว่าจะเป็นเอเนอร์จีในแบบวัยรุ่นไฟแรง ความรู้สึกของการอยากมีชีวิตปกติธรรมดาสมวัย และวุฒิภาวะที่น้อยกว่าเหล่าฮีโร่รุ่นพี่อย่างชัดเจน ซึ่งทำให้ทั้ง ‘ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์’ และ ‘สไปเดอร์-แมน’ ซ้อนทับกับตัวนักแสดงอย่าง ‘ทอม ฮอลแลนด์’ ได้อย่างเนียนสนิท แม้ว่าตัวทอม ฮอลแลนด์เอง จะมีอายุมากกว่าตัวละครปีเตอร์ก็ตาม แต่สุดท้ายทุกคนก็มีภาพจำในสไปดี้ฉบับนี้ในฐานะ ‘สไปดี้น้องทอม’ ไปแล้ว นอกจากความถูกต้องตามสไตล์คอมิกส์ดั้งเดิมแล้ว สไปดี้น้องทอมยังมีความโดดเด่นเพราะเกิดมาในยุคที่ MCU โด่งดังถึงขีดสุดพอดี ทำให้เรื่องราวของฮีโร่ตัวนี้กลายเป็นหนึ่งในจักรวาลซูเปอร์ฮีโร่ของมาร์เวล และมีเรื่องราวต่าง ๆ ที่ถูกเล่าผ่านความสัมพันธ์ของตัวละครอื่น ๆ อยู่ตลอดเวลา ไม่น่าแปลกใจหากแฟน ๆ ฮีโร่มาร์เวลตัวอื่นจะมีความรู้สึกสนใจและหันมาชื่นชอบไอ้แมงมุมไปอีกคน ในทางกลับกัน การเป็นฮีโร่ที่เหมือนต้องมีพี่เลี้ยงเด็กตลอดเวลาก็เป็นอีกประเด็นสำหรับ ‘สไปดี้น้องทอม’ ที่หลายคนอาจจะมีข้อสังเกตในส่วนนี้ Spider-Man: การเดินทาง 60 ปี ของเพื่อนบ้านที่แสนดีในชุดสีแดง นับตั้งแต่ปี 2016 ที่สไปดี้น้องทอมได้โหนใยครั้งแรกในโลกของ ‘ภาพยนตร์’ จักรวาลมาร์เวล ก็เป็นเวลากว่า 5 ปีแล้วที่เราได้เฝ้ามองเด็กชายคนหนึ่ง เติบโตผ่านภาพยนตร์เรื่องแล้วเรื่องเล่า จากเด็กชายกำพร้าที่โนเนมไปจนถึงการเป็นฮีโร่กู้โลกที่มีนามสกุล ‘อเวนเจอร์’ ต่อท้ายจากชื่อฮีโร่ที่เขาตั้งขึ้นมา สไปดี้น้องทอมก็เติบใหญ่ขึ้นในหลายด้าน และครองใจแฟนคลับทั่วโลกได้อย่างไม่แพ้เวอร์ชันอื่น แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ก็ยังเป็นวัยรุ่นคนหนึ่งเหมือนเดิม ตลอดระยะเวลาที่เขาได้ทำหน้าที่ซูเปอร์ฮีโร่ ก็ยังมีอีกด้านของชีวิตที่เป็นปัญหาที่ต้องแบกรับ และแลดูจะมากกว่าคนทั่วไปเหมือนกัน นั่นทำให้ประโยคที่ ‘เบนจามิน ปาร์คเกอร์’ หรือลุงเบน (ที่แม้จะไม่เคยปรากฏตัวในจักรวาลนี้) กล่าวกับปีเตอร์ในวาระสุดท้ายไว้ว่า  “พลังอันยิ่งใหญ่ มาพร้อมกับความรับผิดชอบที่ใหญ่ยิ่ง”  (With great power, there must also come great responsibility.)  สิ่งนี้กลับมาย้ำเตือนปีเตอร์ว่า พลังนี้ไม่ได้ทำให้เขาแข็งแกร่งหรือยิ่งใหญ่กว่าใครอย่างเดียว แต่ยังนำมาซึ่งภาระความรับผิดชอบที่มากขึ้นอีกหลายเท่า และมันจะติดตัวเขาไปตลอดไม่ว่าจะเป็นในฐานะ สไปเดอร์-แมน หรือในฐานะ ปีเตอร์ ปาร์คเกอร์ ก็ตาม ภาพยนตร์การ์ตูนแนวซูเปอร์ฮีโร่ ไม่เพียงเป็นสื่อบันเทิงที่ได้รับความนิยมในระดับโลก แต่เป็นภาพสะท้อนมุมมองชีวิตของตัวละครหนึ่งที่อาจไปคล้ายคลึง หรือเหมือนกันจนซ้อนทับกับชีวิตของหลายคนในโลกแห่งความจริง ซึ่งสไปเดอร์-แมนก็ได้ถูกเล่าเรื่องผ่านตึกแล้วตึกเล่าที่มีร่องรอยการโหนใยผ่าน รวมถึงความผิดหวังและความสูญเสียที่มากเกินกว่าเด็กชายคนหนึ่งต้องพบเจอ ทั้งหมดนี้คือเรื่องราวของฮีโร่ชุดแดงที่จะใช้ใยแมงมุมยึดหัวใจของแฟน ๆ ทั่วโลกที่เข้าใจในตัวเขาอย่างเหนียวแน่นตลอดไป เรื่อง: ณัฐพล ดุรงค์ฤทธิ์ชัย ภาพ: https://www.spidermannowayhome.movie/gallery/ อ้างอิง: https://www.spidermannowayhome.movie/home/ https://spiderman.fandom.com/wiki/Spider_Powers