ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ

ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ

ผลงานของเธอสื่อถึงความทุกข์ทรมานสาหัสจากชีวิตบัดซบได้จัดจ้าน

แตกต่างจากผลงานของศิลปินยุคเดียวกัน

ฟรีด้า คาห์โล (Frida Kahlo) ถือเป็นศิลปินหญิงชื่อดังของโลกที่ไม่เพียงแต่สร้างสรรค์ผลงานศิลปะมีเอกลักษณ์เฉพาะ ชีวิตตั้งแต่เด็กจนวาระสุดท้ายก็สะเทือนใจจนเป็นที่จดจำของโลก เรื่องราวของเด็กสาวป่วยหนัก ประสบอุบัติเหตุใหญ่จนพิการ ชีวิตรักสุดพัง การแท้งลูกถึงสองครั้ง และความเจ็บปวดทั้งหมดก็ถูกเล่าบนผืนผ้าใบและสีน้ำมัน ฟรีด้าเป็นชาวเม็กซิกันแต่กำเนิด เติบโตมาในครอบครัวไม่อบอุ่นเท่าไหร่นัก พออายุ 6 ขวบ ป่วยเป็นโรคโปลิโอ นอกจากนี้ถูกสันนิษฐานภายหลังว่าอาจมีความผิดปกติของกระดูกสันหลังควบคู่ด้วย เด็กหญิงฟรีด้าจึงต้องเดินกะเผลกตลอดเวลา พออายุ 18 ปี ประสบอุบัติเหตุบนรถประจำทาง บริเวณกระดูกเชิงกรานและไหปลาร้าหัก มดลูกได้รับผลกระทบหนัก กระดูกขาขวาแตกร้าว ต้องนอนพักฟื้นรักษาตัวอยู่บนเตียง ใส่เฝือกสวมคอร์เซ็ตดามร่าง ชีวิตของหญิงผู้น่าสงสารคนนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป ระหว่างนอนรักษาตัวอยู่โรงพยาบาลหลายเดือน ผู้เป็นพ่อกลัวว่าลูกสาวเบื่อจนหมดอาลัยตายอยาก จึงซื้อกระดาษและพู่กันมาให้เธอใช้เวลาว่างด้วยการวาดภาพ หญิงสาวที่ไม่ได้ออกไปใช้ชีวิตวัยรุ่นเหมือนอย่างคนอื่น ๆ ร้องขอให้บุพการีทำโครงไม้สำหรับยึดเฟรมผ้าใบให้วาดรูปได้แม้นอนอยู่ หากระจกขนาดกำลังดีหนึ่งบานมาติดไว้บนเพดานหรือวางไว้ข้างเตียงให้เห็นตัวเอง เริ่มวาดรูปเหมือนตัวเองบนผืนผ้าใบโดยใช้สีน้ำมันสร้างสรรค์ผลงานที่จะกลายเป็นตำนาน ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ ฟรีด้าสร้างสรรค์ผลงานตั้งแต่อายุยังน้อย ‘ตัวฉันเองในชุดเดรสกำมะหยี่สีแดง’ (Self Portrait in a Red Velvet Dress) ถือเป็นผลงานชิ้นแรกของเธอที่เสร็จสมบูรณ์เมื่ออายุ 19 ปี หลังจากรักษาตัวอยู่นาน แวะเวียนไปโรงพยาบาลเพื่อเข้ารับการผ่าตัดมากกว่า 30 ครั้ง บริเวณหลังและขาขวาที่เป็นโปลิโอ หลุดพ้นจากการนอนติดเตียง ลุกขึ้นมาทำกายภาพบำบัด เริ่มใหม่เหมือนเด็กวัยหัดเดินจนกลับมาเดินเหมือนปกติได้อีกครั้ง แม้คนส่วนใหญ่มองว่าชีวิตของฟรีด้าเริ่มกลับเข้าที่เข้าทาง หลังจากพังทลายลงเพราะอุบัติเหตุใหญ่ ทว่าความเจ็บปวดทางร่างกายและจิตใจข้างในไม่ได้แสดงออกมาให้คนอื่นเห็น ทำให้เธอเริ่มติดมอร์ฟีน สารเสพติดชนิดอื่น บุหรี่ แอลกอฮอล์ เพื่อทำให้ความเจ็บปวดที่ไหลเวียนอยู่ทั่วร่างหายไปสักสองสามชั่วโมง ฟรีด้าพึงพอใจเวลาตัวเองได้จับฝีแปรง วาดภาพตัวเองที่สื่ออารมณ์เด่นชัดจนโด่งดัง ผลงานทั้งหลายถูกจัดอยู่ในหมวดเหนือจริง (Surrealism) ซึ่งตัวเธอเองไม่อยากจัดหมวดผลงานไว้ในหมวดนี้ เพราะภาพบนผ้าใบแต่ละผืนบอกเล่าชีวิตอันเจ็บปวดแสนสาหัสของตัวเอง สะท้อนชีวิตขมขื่นที่พบเจอมาอย่างเถรตรง ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ

พวกเขาคิดว่าฉันเป็นเซอเรียลลิสต์ ทว่าไม่ใช่

ฉันไม่เคยวาดภาพความฝัน ฉันวาดความจริงของตัวเอง

แม้ใช้เวลาส่วนใหญ่ไปกับการบำบัดความเจ็บปวดด้วยการร่ำสุรา ทว่าก็ให้ความสนใจกับวาดรูป ประวัติศาสตร์ศิลปะ วรรณคดี การเมือง ปรัชญา มีโอกาสทำความรู้จักกับจิตรกรมีชื่อ ดิเอโก ริเวรา (Diego Rivera) มีผลงานโดดเด่นเรื่องการเสียดสีการเมือง ชนชั้นแรงงาน และช่องว่างทางสังคม ดิเอโกชื่นชอบผลงานฉูดฉาดของฟรีด้า ทั้งสองสานต่อความสัมพันธ์จนกระทั่งแต่งงานกันในปี 1929 ทั้งคู่เดินทางทำงานยังสหรัฐอเมริกา เธอตกหลุมรักเมืองแห่งเสรีภาพ ทำความรู้จักกับศิลปินอเมริกันหลายคน และพยายามมองข้ามปัญหาชีวิตคู่ที่สามีเป็นคนก่อ ตลอดเวลาฟรีด้ารู้ว่าดิเอโกมักสานสัมพันธ์กับหญิงสาวหลายคน จนสุดท้ายความรักของพวกเขาไปไม่รอด เมื่อจับได้ว่าดิเอโกเป็นชู้กับน้องสาวแท้ ๆ ของเธอ ฟรีด้าเป็นอาจารย์สอนจิตรกรรม จัดงานนิทรรศการผลงานของตัวเอง ต่อมายอมคืนดีกับสามีอีกครั้งในปี 1940 จากนั้นชีวิตต้องเจอกับจุดเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อพบกับ เลออน ทรอตสกี (Leon Trotzky) นักปฏิวัติและนักทฤษฎีมาร์กซิสต์ชื่อดังผู้ก่อตั้งกองทัพแดง สานสัมพันธ์เชิงชู้สาวกับเขาและหนุ่มสาวอีกหลายคน หลังจากเคยเจ็บหนักเรื่องสามีนอกใจ ตอนนี้เธอกลายเป็นสาวเจ้าชู้ที่ควงคนดังมากหน้าหลายตา [caption id="attachment_24705" align="aligncenter" width="1200"] ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ ดิเอโก ริเวรา และ ฟรีด้า คาห์โล[/caption] บุคคลชื่อดังที่หลายคนเชื่อว่าเธอมีความสัมพันธ์ด้วยมีทั้งช่างภาพพอร์เทรตชื่อดัง นิโคลัส มูเรย์ (Nickolas Muray) ที่ถ่ายรูปของฟรีด้าไว้เป็นจำนวนมาก นักสะสมผลงานศิลปะชาวเยอรมัน ไฮน์ซ เบอร์เกิร์น (Heinz Berggruen) นักร้องชาวคอสตาริกา ชาเบล่า บาร์กาซ (Chavela Vargas) ที่มักสวมกางเกงไปไหนมาไหนในยุคที่ผู้หญิงต้องใส่แค่กระโปรง โจเซฟิน เบเกอร์ (Josephine Baker) นักเต้นผิวดำชาวฝรั่งเศสที่แสดงจุดยืนด้านสิทธิมนุษยชนชัดเจน รวมถึงศิลปินหญิงชาวอเมริกัน จอร์เจีย โอคีฟ (Georgia O’Keffe) และนักแสดงสาว โดโรธี เฮล (Dorothy Hale) เห็นได้ชัดว่าเธอไม่ยอมให้เรื่องเพศมาปิดกั้นความโรแมนติกคาวโลกีย์ในแบบของฟรีด้า นอกจากผลงานศิลปะแปลกตา ชีวิตรักสุดฉาว การประกาศตัวว่าเป็นไบเซ็กชวล ฟรีด้ายังโดดเด่นด้วยแฟชั่นไม่เหมือนใคร เป็นผู้หญิงแต่งตัวเก่ง มีสไตล์เป็นของตัวเอง มักนำดอกไม้หลากชนิดมาทำเป็นมงกุฎ ชุดกระโปรงแบบพื้นเมืองหลากสี แสดงความสดใส เต็มไปด้วยความหลากหลายทางอารมณ์ สิ่งที่ลืมไม่ได้นอกจากเซนส์ทางแฟชั่นคือการแต่งหน้า คิ้วทั้งสองข้างคล้ายรวมเป็นเส้นเดียวกัน ประกอบกับเส้นขนคล้ายหนวดบาง ๆ อยู่บริเวณขอบริมฝีปากบน ไม่สนค่านิยมกระแสหลักของเกณฑ์ความงามว่าผู้หญิงต้องกันคิ้วไม่ให้รก หรือกำจัดขนที่สังคมส่วนใหญ่ลงมติว่าไม่น่ามองเพียงเพราะความพึงพอใจของใคร เธอเป็นตัวของตัวเองอย่างชัดเจน ทั้งหมดไปสุดในแต่ละทาง จัดจ้านกว่าสตรีในยุคเดียวกันจนถูกเรียกว่า “ผู้หญิงก๋ากั่นที่มีความขบถอยู่เต็มเปี่ยม” ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ ฟรีด้าหยิบประสบการณ์ของตัวเองมาสร้างสรรค์ผลงานอยู่เสมอ ในปี 1932 วาดภาพ Henry Ford Hospital ตามชื่อโรงพยาบาลที่พักรักษาตัวจากการแท้งลูกครั้งที่ 2 สื่อถึงความเศร้าโศกเพราะไม่สามารถมีลูกได้ ภาพร่างเปลือยเปล่าของตัวเองบนเตียงที่เขลอะไปด้วยเลือด สายสะดือระโยงระยางจากท้องแตกฉานซ่านเซ็นไปทั่วภาพ แสดงถึงความเจ็บปวดแสนสาหัส นอกจากภาพโรงพยาบาลเฮนรี่ ฟอร์ด หรือภาพ Memory the Heart เล่าถึงการนอกใจของดิเอโกที่คล้ายกับถูกแทงทะลุอก ในปี 1946 มีผลงานน่าสะเทือนใจอีกชิ้นชื่อว่า The Wounded Deer ภาพสีน้ำที่จุดกึ่งกลางภาพมีกวางหน้าตาเหมือนตัวเองโดนลูกธนูจำนวนมากยิงจนล้ม นักวิจารณ์ส่วนใหญ่ตีความไปในทางเดียวกันว่า เธอต้องการแสดงความรู้สึกเจ็บปวดจากการผ่าตัดซ้ำแล้วซ้ำเล่า [gallery columns="2" size="large" link="none" ids="24711,24710"] [caption id="attachment_24707" align="aligncenter" width="1200"] ฟรีด้า คาห์โล: สตรีที่เล่าชีวิตแสนเจ็บปวดผ่านงานศิลปะ The Wounded Deer (1946)[/caption] ช่วงปลายของชีวิต ฟรีด้าใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนรถเข็นและเตียงนอน ร่างกายย่ำแย่ลงทุกวันจากการเจ็บป่วยสะสม ต้องเข้ารับการผ่าตัดหลายครั้ง ควบคู่กับร่างกายที่อ่อนแอลงจากการใช้สารเสพติด ดื่มเหล้า สูบบุหรี่ และอาการซึมเศร้า ฟรีด้า คาห์โล จากโลกนี้ไปเมื่อวันที่ 13 กรกฎาคม 1954 ด้วยวัย 47 ปี เกิดและตายในบ้านสีฟ้าอันโด่งดัง บ้างก็ว่าเธอจากไปด้วยการทำอัตวินิบาตกรรม เพราะทนความเจ็บปวดจากโรคร้ายกับจิตใจบอบช้ำสะสมไม่ไหวอีกต่อไป บ้างก็ลือว่าตายเพราะเส้นเลือดอุดตัน ทิ้งไว้เพียงผลงานศิลปะ 143 ชิ้น และมรดกทางวัฒนธรรมที่แสนสำคัญ ภาพวาดตัวเองของฟรีด้าเปรียบเหมือนผู้หญิงคนนี้เป็นมารดาแห่งการเซลฟี่ของยุคก่อนมีการเซลฟี่ด้วยสมาร์ตโฟน ส่วนชีวิตของเธอเป็นต้นแบบให้กับกลุ่มลัทธิสตรีนิยม หรือที่สังคมปัจจุบันรู้จักกันว่า ‘กลุ่มเฟมินิสต์’ ในยุคสมัยที่ผู้หญิงต้องทำงานบ้าน เป็นแม่ที่ดีของลูก เป็นภรรยาที่ดีของสามี ฟรีด้าได้แหกธรรมเนียมสังคมสำหรับผู้หญิงแทบทุกข้อ เธอเป็นไบเซ็กชวล ไม่แวกซ์ขน หากไม่ต้องการทำตัวเป็นกุลสตรีก็จะไม่ทำ รู้สึกอย่างไรก็พูดออกมาจนหมดเปลือก หมกมุ่นทำสิ่งที่รักอย่างการวาดภาพ โดยไม่สนว่าศิลปะในยุคดังกล่าวถูกสงวนไว้สำหรับผู้ชาย และไม่เคยย่อท้อต่ออุปสรรคในชีวิต   ที่มา   https://www.biography.com/artist/frida-kahlo https://www.dailyartmagazine.com/the-art-and-politics-of-frida-kahlo/ https://www.culturematters.org.uk/index.php/arts/visual-art/item/2739-marxism-will-heal-the-sick-frida-kahlo-and-karl-marx https://www.frida-kahlo-foundation.org/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์     .