แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก

แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก
“ชีวิตคนเราต้องการอะไรมากกว่าความสุขอีกเหรอ ?” เมื่อโดนถามว่าความสุขคืออะไร ? ใครหลายคนอาจตอบว่าความสำเร็จในหน้าที่การงาน บางคนอาจมีความสุขเมื่อได้เดินทางไปยังดินแดนที่ไม่เคยไปมาก่อน ท่องเที่ยวสัมผัสกับวัฒนธรรมแตกต่าง และมีคนไม่น้อยที่มีความสุขเมื่อมีบ้าน มีรถ มีครอบครัวพร้อมหน้านั่งกินข้าวเย็นร่วมกัน ส่วนความสุขที่หาจากไหนไม่ได้ของหญิงชราสองคนนามว่า แพท (Pat) กับ เทอร์รี่ (Terry) คือการใช้ชีวิตอยู่ด้วยกันในฐานะคนรัก แต่พวกเธอกลับต้องโกหกคนอื่นว่าเป็นแค่เพื่อนนานกว่าหกทศวรรษ แพทกับเทอร์รี่คือผู้หญิงจากสารคดีเรื่อง A Secret Love ของ Netflix เผยให้เห็นการใช้ชีวิตที่หลายคนไม่อาจจินตนาการ เมื่อความรักของหญิงสาวสองคนไม่สามารถเปิดเผยให้คนอื่นรู้ หากมีคนรู้จะโดนประณาม ต้องทนรับสายตาเหยียดหยามดูแคลนจากคนในสังคม โดนเรียกว่าเป็นพวกโฮโมเซ็กชวลที่ทำให้ศาสนาแปดเปื้อน ซ้ำร้ายความรักยังทำให้พวกเธอเสี่ยงถูกจับเพราะทำผิดกฎหมาย ภาพยนตร์สารคดี A Secret Love กำกับโดย คริสโตเฟอร์ โบแลน (Chris Bolan) หลานชายของเทอร์รี่ ที่อยากแบ่งปันเรื่องราวน่าประทับใจของคุณยายให้โลกรับรู้ว่า คู่รักเกย์ที่ผู้คนชอบดูแคลนว่าเป็นความสัมพันธ์ที่ไปไม่รอด สามารถเป็นรักที่ยั่งยืนได้ ซึ่ง ไรอัน เมอร์ฟี (Ryan Murphy) ผู้กำกับซีรีส์เรื่อง Glee และ American Horror Story เป็นผู้อำนวยการสร้างสารคดีเรื่องนี้ เดิมที A Secret Love วางกำหนดฉายรอบปฐมทัศน์เทศกาลหนัง SXSW 2020 (South by Southwest) แต่เทศกาลต้องถูกยกเลิกอย่างเลี่ยงไม่ได้เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทางผู้กำกับและทีมงานเลยตัดสินใจนำสารคดีฉายทางระบบสตรีมมิงของ Netflix แทน แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก A Secret Love พาผู้ชมไปยังแคนาดา ปี 1947 ช่วงเวลาที่สงครามโลกครั้งที่สองจบลงไม่กี่ปี ทำความรู้จักกับความสัมพันธ์ของ แพท เฮนส์เชล (Pat Henschel) วัย 18 ปี ที่พบกับ เทอร์รี่ โดนาฮิว (Terry Donahue) หญิงสาวอายุ 22 ปี ในงานปาร์ตี้เล็ก ๆ ที่ทำให้พวกเธอพัฒนาความสัมพันธ์จนกระทั่งเริ่มออกเดต มีชีวิตไม่ต่างจากใคร ๆ ไปเดตที่ลานสเกตน้ำแข็ง ปิกนิกในสวน แต่งตัวตามสมัยนิยม แต่ภายใต้การเดตต้องทำตัวเหมือนกลุ่มเพื่อนสาวที่ถูกคอเพราะชอบพูดคุยเรื่องกีฬา เทอร์รี่เคยเป็นนักกีฬาเบสบอลอาชีพทีมหญิงล้วนช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เพราะสมาคมเบสบอลจะต้องหาผู้หญิงเก่งกีฬามาแข่งขันให้ผู้ชมทั่วทั้งแคนาดาและสหรัฐฯ ได้รับชม ขณะที่ผู้ชายต้องออกไปรบอยู่แนวหน้า จนชีวิตการทำงานของเทอร์รี่เคยถูกนำไปเล่าในภาพยนตร์เรื่อง A League of Their Own (1992) ส่วนแพทก็เป็นนักกีฬาไอซ์ฮอกกี้ ทั้งสองหยิบเรื่องกีฬามาเป็นหนึ่งเหตุผลที่ทำให้สนิทกัน จึงไม่แปลกที่ผู้คนในชุมชนจะเห็นสาวนักกีฬาสองคนไปไหนมาไหนด้วยกันบ่อย ๆ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทั้งคู่เริ่มอยากไปอยู่เมืองใหญ่กว่านี้ อยากหนีออกจากชุมชนที่ทุกคนรู้จักกัน ชุมชนที่มีเวลามาสอดส่องชีวิตประจำวันหรือรสนิยมทางเพศของเพื่อนบ้าน แพทกับเทอร์รี่อยากเริ่มต้นใช้ชีวิตคู่อย่างจริงจัง จึงตัดสินใจไปเป็นคนตัวเล็กในเมืองใหญ่ที่สหรัฐอเมริกา พวกเธอตัดสินใจไปใช้ชีวิตอยู่ในชิคาโก เมื่อมาถึงความรู้สึกแปลกใจกับสังคมใหม่ถาโถมเข้าใส่ การใช้ชีวิตของหญิงสาวสองคนในเมืองใหญ่ไม่ใช่เรื่องที่ผู้คนรอบตัวสนใจจับจ้อง ทุกคนต่างต้องทำงานไม่มีเวลามาใส่ใจทุกเรื่องของทุกคน แพทกับเทอร์รี่เช่าห้องอยู่ด้วยกัน โดยให้เหตุผลกับเจ้าของตึกว่า ต้องหารกันอยู่เพราะค่าครองชีพที่ชิคาโกสูงกว่าแคนาดามากพอดู ไม่มีใครติดใจสงสัย ทั้งสองรู้สึกเหมือนได้รับอิสระในการใช้ชีวิตเป็นครั้งแรก แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก A Secret Love เผยให้เห็นเรื่องราวชวนยิ้มของหญิงสาวสองคนจากยุค 50s ที่ตกหลุมรัก มีความฝัน จับมือเคียงข้างกันจนแก่ แต่เบื้องลึกเบื้องหลังการดำเนินความสัมพันธ์ของแพทและเทอร์รี่ก็มีช่วงเวลาแสนเจ็บปวดอยู่ไม่น้อย น่าเศร้าที่ความเจ็บปวดส่วนใหญ่ไม่ได้เกิดจากพวกเธอสองคน แต่กลับมาจากจารีตทางสังคม กีดกันให้รู้สึกเหมือนเป็นคนนอก เป็นคนชายขอบที่ไม่ได้รับการดูแลเอาใจใส่เหมือนมนุษย์คนอื่น ๆ ที่อยู่ในครรลองคลองธรรม พวกเธอตกลงกันว่าจะไม่เปิดปากบอกความสัมพันธ์แท้จริงกับใคร เรียนรู้จากสิ่งที่เจอและได้คำตอบว่าไม่คุ้มแน่นอนกับการออกมาเรียกร้องสิทธิที่ไม่มีใครอยากจะฟัง ทั้งสองเคยเจอเหตุการณ์เจ้าหน้าที่ตำรวจบุกเข้ามาในคลับ จับกุมหญิงสาวคนหนึ่งเพียงเพราะเธอสวมกางเกงแบบไม่มีจีบด้านหน้า ไอเทมยอดฮิตของเหล่าสุภาพบุรุษช่วงยุค 50s-60s ด้วยข้อหาปลอมตัวเป็นผู้ชาย หากเจ้าหน้าที่คนนั้นรู้ว่าแพทกับเทอร์รี่เป็นเกย์ คงมิวายถูกจับไปพร้อมกับสาวใส่กางเกงคนนั้นแน่นอน แถมในยุคที่พวกเธอเป็นวัยรุ่น ตำรวจมักบุกบาร์เกย์อยู่บ่อย ๆ บางทีอาจบ่อยกว่าการไล่ตามจับโจรเสียด้วยซ้ำ มุมมองของผู้ชมปัจจุบันเมื่อได้ดู A Secret Love ท่ามกลางกระแสสังคมที่แปรเปลี่ยน กลุ่มผู้หลากหลายทางเพศเริ่มเป็นเรื่องปกติในสังคม อาจยากที่จะจินตนาการถึงความอึดอัด ความรู้สึกกดดันของหญิงสาวที่ต้องรีบฉีกจดหมายที่อีกฝ่ายตั้งใจกลั่นกรองความรู้สึกออกมาเป็นตัวอักษร เพียงเพราะกลัวว่าจะมีคนมาเจอ ความรักที่ควรสวยงามกลับกลายเป็นสิ่งผิดบาปในสายตาคนส่วนมาก แม้ยืนอยู่ข้างกันแต่ทำได้เพียงบอกกับคนอื่น ๆ ว่าเธอคือเพื่อนสนิท ไม่มีมากกว่าอย่างอื่น และจะเป็นเพื่อนกันไปแบบนี้จนตาย เพียงเพราะสังคมไม่อนุญาตให้พวกเธอได้รักกัน คอมเมนต์ของผู้ชมทั้งคนไทยและเทศต่างแลกเปลี่ยนมุมมองหลากหลาย มีความคิดเห็นบางส่วนน่าสนใจว่า "ถ้าเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นกับตัวเองจะไม่เลือกปิดเอาไว้ แต่จะสู้หัวชนฝา” การออกมาประกาศว่าฉันรักเพศเดียวกันเวลานี้อาจเป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย ๆ ผู้คนจะรับรู้ จากนั้นก็เดินผ่านไป ไม่มีใครมายืนรอด่าทออยู่หน้าประตู เสียดสีด้วยคำพูดให้รู้สึกแย่ หรือไล่ให้ไปตายเพราะมีรสนิยมวิปริต หากเรายังยืนกรานหนักแน่นต่อสังคมว่ารักเพศเดียวกันในช่วงทศวรรษ 1950 คิดแล้วจุดจบของชีวิตคู่อาจไม่สวยงามเหมือนดั่งแพทกับเทอร์รี่ แท้จริงพวกเธอก็ไม่ได้อยากปกปิดตัวตน แต่บริบทของสังคมโลกที่โตมาเวลานั้นไม่เหมือนปัจจุบัน หากเปิดเผยรสนิยมอาจถูกตำรวจจับ หรือถูกส่งตัวไปยังโรงพยาบาลจิตเวช ดังนั้นการประกาศตัวว่าเป็นเกย์เมื่อหกสิบปีที่แล้ว ไม่อาจเรียกว่าความกล้าหรือฉลาดได้เต็มปากนัก แต่ถึงกระนั้นผู้ชมต่างรับรู้ทั่วกันถึงความกล้าของทั้งคู่ แม้สังคมไม่ยอมรับ แต่พวกเธอจะไม่ยอมปล่อยมือกันและกัน แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก “ฉันไม่เสียใจสักนิด ถ้าย้อนกลับไปได้ ฉันก็จะทำแบบเดิม” ในปี 2009 แพทกับเทอร์รี่ตกลงเปิดเผยความสัมพันธ์กับหลาน ๆ ยอมบอกว่าทั้งสองไม่ใช่แค่เพื่อนสนิทอย่างที่เคยพร่ำบอกเสมอมา การพยายามบอกหลานเป็นเรื่องน่าลำบากใจ กังวลกลัวว่าหลานรับไม่ได้ กลัวถูกเกลียดชัง แต่เมื่อพวกเธอเล่าอย่างระมัดระวัง หลานสาวกลับตอบว่า "คิดว่าจะไม่บอกเสียแล้ว” เพราะสำหรับคนใกล้ชิด ใคร ๆ ต่างมองเห็นแววตาเป็นประกายเวลาทั้งสองมองกัน มันเต็มไปด้วยความรัก ไม่ว่าใครเมื่อได้เห็นก็ต้องรู้ว่าทั้งสองคนรักกันมากแค่ไหน A Secret Love เผยให้เห็นมุมมอง ความคิด การใช้ชีวิตของคู่รักเกย์ที่สังคมไม่ยอมรับและไม่เต็มใจยอมรับรู้ถึงการมีอยู่ เห็นอุปสรรคที่คนรักเพศเดียวกันต้องพบเจอ จากนั้นพาผู้ชมกลับมายังปัจจุบันเพื่อดูชีวิตที่เปลี่ยนไปของทั้งสองหลังอยู่ร่วมกันมาหลายสิบปี ในที่สุดแพทกับเทอร์รี่มีโอกาสจดทะเบียนสมรส ทำสิ่งที่พวกเธอไม่เคยแม้แต่จะกล้าฝัน เพราะรู้ว่าในเวลานั้นต่อให้เรียกร้องแค่ไหนก็ไม่มีวันได้มา เมื่อวันเวลาไหลผ่าน มุมมองและกรอบจำกัดความรักแบบดั้งเดิมถูกโค่นล้ม คนเพศเดียวกันในหลายเมืองสามารถจดทะเบียนสมรสกันได้ การถูกสังคมรังเกียจเพราะเป็นคนรักร่วมเพศเริ่มเจือจาง แพทกับเทอร์รี่มีโอกาสจัดพิธีแต่งงานเล็ก ๆ ท่ามกลางเหล่าญาติมิตร คนใกล้ชิดร่วมยินดีกับพวกเธออย่างใจจริง เกิดเป็นบรรยากาศแสนอบอุ่นกับคำอวยพรเรื่องชีวิตคู่ที่ทั้งสองไม่เคยได้รับมาทั้งชีวิต แพทและเทอร์รี่ แห่ง A Secret Love: ความสัมพันธ์ที่สังคมไม่ยอมรับของสตรียุคหลังสงครามโลก “ตั้งแต่นี้ทั้งคู่จะเริ่มต้นชีวิตคู่ตามกฎหมาย พวกเรารู้สึกยินดีที่พวกคุณไม่ต้องอ้างว่าเป็นเพื่อนสนิทหรือลูกพี่ลูกน้องกันอีกต่อไป แต่สามารถเรียกกันและกันว่าภรรยาผู้เป็นที่รักได้อย่างภาคภูมิ” บนโลกใบนี้ มีคู่รักชายหญิงที่ได้รับอนุญาตจากสังคมให้สร้างครอบครัวและมีความสุขในทุกวัน แล้วเพราะเหตุใดความสุขง่าย ๆ ที่แทบไม่มีอะไรแตกต่างของคู่รักเพศเดียวกันถึงกลายเป็นเรื่องยาก ทั้งที่ความสุขจากการได้จดทะเบียนสมรสและสร้างครอบครัวกับคนรักไม่ทำให้ใครเดือดร้อน พวกเขาควรได้รับความคุ้มครองด้วยกฎหมายการสมรสเหมือนกับคู่รักชายหญิง แต่ในความจริงก็ยังมีคนรักร่วมเพศอีกมากบนโลกต้องทุกข์ทรมานกับการไม่ได้รับสิทธิที่ควรจะได้รับ ถูกละเลย ถูกรังเกียจจากสังคม ชุมชน หรือแม้กระทั่งครอบครัว เราจึงได้แต่หวังว่า ในเร็ววันนี้ความเท่าเทียมที่ผู้คนสามารถเลือกรักใครก็ได้จะแผ่ขยายไปทั่วทุกมุมโลก รอวันที่ทุกคนได้รักใครสักคนโดยไม่ต้องรู้สึกผิด ไม่ต้องรอจนแก่ และไม่ต้องปกปิดอีกต่อไป     ที่มา https://www.netflix.com/th-en/title/80209024 https://www.nytimes.com/2020/04/29/movies/a-secret-love-review.html https://time.com/5829664/a-secret-love-netflix-review/ https://www.latimes.com/entertainment-arts/movies/story/2020-05-01/secret-love-review-documentaryy-lgbtq https://decider.com/2020/04/29/a-secret-love-on-netflix-stream-it-or-skip-it/   เรื่อง: ตรีนุช อิงคุทานนท์