สมาคมสุภาพบุรุษแห่งสก็อตแลนด์ กำเนิด Britannica สารานุกรมภาษาอังกฤษอายุยืนที่สุดในโลก 

สมาคมสุภาพบุรุษแห่งสก็อตแลนด์ กำเนิด Britannica สารานุกรมภาษาอังกฤษอายุยืนที่สุดในโลก 
ก่อนยุคของ Google แหล่งข้อมูลที่จะหาความรู้เบื้องต้นได้อย่างเป็นระบบที่สุด ย่อมหนีไม่พ้น "สารานุกรม" หรือ encyclopedia ที่จัดเก็บข้อมูลในทุกสาขาความรู้ หรือบางฉบับอาจจะจำกัดเฉพาะสาขาความรู้ แต่มีลักษณะตรงกันคือ การอธิบายข้อมูลพื้นฐานอย่างเข้าใจได้ง่าย ๆ เพื่ออธิบายคำ คอนเซปต์ หรือประวัติความเป็นมาของเรื่องนั้น ๆ  (ทั้งนี้ Google คงไม่ถือเป็นสารานุกรม เพราะตัว Google เองไม่ได้มีเก็บบันทึกข้อมูลของตัวเอง แต่มันมีความสามารถยิ่งกว่าสารานุกรม ด้วยความสามารถในการค้นหาข้อมูลทุกอย่างที่มีอยู่ในอินเทอร์เน็ต ซึ่งไม่ได้จำกัดอยู่ที่แหล่งข้อมูลเพียงแหล่งเดียว)  คำว่า encyclopedia มาจากภาษากรีกว่า enkyklios paideia แปลว่า "สามัญศึกษา" (general education) หรือการศึกษาความรู้ทั่วไป ซึ่งไอเดียของการบันทึกคำอธิบายสั้น ๆ ถึงองค์ความรู้ใด ๆ อย่างง่าย ๆ นั้นมีมานานนับพัน ๆ ปี ย้อนไปถึงสมัยกรีกและจีนโบราณ แต่การใช้คำนี้กับหนังสืออ้างอิงเป็นครั้งแรก ๆ ที่พบหลักฐานคืองานของ พอล สกาลิช (Paul Scalich) นักเขียนชาวเยอรมันที่เผยแพร่เมื่อ ค.ศ. 1559 แต่คนร่วมสมัยยังคงนิยมใช้คำว่า dictionary หรือ พจนานุกรม กับงานลักษณะเดียวกันเสียมากกว่า จนกระทั่ง เดนีส์ ดีเดอโรต์ (Denis Diderot 1713-1784) นักปรัชญาฝรั่งเศสทำหนังสือ Encyclopédie ออกมาในยุคแสงสว่างทางปัญญา คำนี้จึงกลายเป็นที่นิยมอย่างกว้างขวางมากขึ้น ระยะเวลาไล่เลี่ยกัน บนเกาะอังกฤษ Encyclopædia Britannica ชุดแรกก็ออกเผยแพร่ในปี 1768 ที่เอดินเบอระ เมืองหลวงของสก็อตแลนด์ ซึ่งถือเป็นสารานุกรมภาษาอังกฤษที่มีประวัติศาสตร์การเผยแพร่ที่ยาวนานที่สุดในโลก แม้ว่าก่อนหน้านั้นจะมีหนังสือสารานุกรมฉบับภาษาอังกฤษซึ่งเป็นที่นิยมเผยแพร่อยู่ก่อนแล้วก็ตาม (เช่น Cyclopædia หรือ Universal Dictionary of Arts and Sciences เผยแพร่ครั้งแรกเมื่อปี 1728)  จุดเริ่มต้นของ Encyclopædia Britannica (ต่อจากนี้ขอเรียกอย่างย่อว่า Britannica) มาจาก แอนดรู เบลล์ (Andrew Bell) กับ โคลิน แมคฟาร์กฮาร์ (Colin Macfarquhar) สองช่างพิมพ์หนังสือที่ตีพิมพ์สารานุกรมชุดนี้ออกมาในนามของ "สมาคมสุภาพบุรุษแห่งสก็อตแลนด์" และจัดจำหน่ายที่สำนักพิมพ์ของแมคฟาร์กฮาร์เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 1768 โดยมีการลงโฆษณาในหนังสือพิมพ์ด้วยคำมั่นว่าจะให้ "คำอธิบายและคำจำกัดความที่ถูกต้องของคำต่าง ๆ โดยเรียงตามลำดับตัวอักษร" ในการตีพิมพ์ชุดแรกมีการแบ่งออกเป็นภาค ๆ ตีพิมพ์แต่ละหน้าเป็นสองแถว รวม 3 เล่มใหญ่ วางจำหน่ายตั้งแต่ปี 1768 ถึง 1771 มีจำนวนหน้า 2,500 หน้า และมีภาพพิมพ์ทั้งหมด 160 ภาพ โดยมีเบลล์เป็นช่างแกะภาพพิมพ์ ซึ่งหากจะวัดกันด้วยจำนวน Britannica ยังสู้ Encyclopédie ที่มี 17 เล่ม และ Universal Lexicon ของ โยฮัน ไฮน์ริช (Johann Heinrich) ที่มีมากกว่า 60 เล่ม ไม่ได้  แต่ความง่ายในการศึกษาและค้นหา เป็นจุดขายสำคัญที่ทำให้ Britannica ประสบความสำเร็จ โดยมีการแทรกบทความทั้งด้านศิลปศาสตร์และวิทยาศาสตร์ลงในหัวข้อคำต่าง ๆ ที่อธิบายคำศัพท์ทางเทคนิคสั้น ๆ และยังมีการอ้างอิงในจุดที่เชื่อมโยงถึงกัน จึงทำให้สารานุกรมฉบับนี้ตอบโจทย์คนอ่านทั้งที่ต้องการความรู้อย่างละเอียด และคนอ่านที่เพียงต้องการหาคำอธิบายสั้น ๆ ของคำนั้น ๆ โดยไม่ต้องกวาดสายตาหาคำที่ต้องการในบทความขนาดยาวเหมือนเช่นสารานุกรมรุ่นก่อน ซึ่งไอเดียดังกล่าวน่าจะมาจาก วิลเลียม สเมลลี (William Smellie) นักวิชาการไฟแรงที่ถูกจ้างมาเป็นผู้เรียบเรียง Britannica ฉบับแรก และเป็นผู้เขียนเรียบเรียงบทความหลัก ๆ  ทั้งนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับผู้ก่อตั้ง Britannica แม้แต่ใน Britannica เองก็มีข้อมูลน้อยมาก คือ แอนดรู เบลล์ มี 11 บรรทัด ส่วน โคลิน แมคฟาร์กฮาร์ มีแค่ 6 บรรทัด ข้อมูลที่ว่า สองช่างพิมพ์ผู้ก่อตั้ง Britannica ตกลงแบ่งงานหรือจัดสรรผลประโยชน์อย่างไรก็ไม่เป็นที่รับรู้ของภายนอก รู้แต่ว่า แอนดรู เบลล์ คือผู้เขียนหนังสือไปหา วิลเลียม สเมลลี ขอให้มาเป็นบรรณาธิการให้กับงานฉบับแรก แต่ก็ไม่มีหลักฐานว่าเบลล์ให้ความสนใจเรื่องงานเขียนมากนัก โดยเบลล์มีสถานะเป็นเจ้าของร่วมกับ โคลิน แมคฟาร์กฮาร์ จนถึงปี 1793 เมื่อแมคฟาร์กฮาร์เสียชีวิต เบลล์ก็กลายเป็นเจ้าของแต่ผู้เดียว ส่วนใครเป็นบรรณาธิการผู้เรียบเรียง Britannica ฉบับแรกนั้น Britannica เองก็ไม่ฟันธง ด้วยข้อมูลของ Britannica ต่างฉบับก็ยังขัดกันเอง โดยฉบับดิจิทัลที่ข้อมูลเป็นปัจจุบันที่สุดระบุว่า "สเมลลีเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าเป็นบรรณาธิการของ Encyclopædia Britannica ฉบับแรก แม้ว่า ผู้เขียนประวัติของ เจมส์ ทิตเลอร์ [James Tytler] อ้างว่า ทิตเลอร์คือผู้คัดกรองเนื้อหาทั้งฉบับแรกและฉบับที่สอง ทั้งยังเป็นผู้เสนอไอเดียให้กับแมคฟาร์กฮาร์ ขณะที่บทนำของฉบับที่สามยกให้แมคฟาร์กฮาร์เป็นบรรณาธิการทั้งฉบับที่หนึ่งและฉบับที่สอง รวมถึงครึ่งแรกของฉบับที่สาม แต่บทนำในภาคผนวกของฉบับที่สี่ ห้า และหก ต่างระบุว่า สเมลลีคือบรรณาธิการของฉบับแรก" (ทิตเลอร์ ถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญในการสร้างอัตลักษณ์ของ Britannica เพราะเขาคือผู้ที่รื้อสร้าง Britannica ฉบับดั้งเดิมที่มีจาก 3 เล่ม และขยายเนื้อหาให้กลายเป็น 10 เล่ม มีจำนวนหน้ากว่า 9,000 หน้า แทบจะด้วยตัวคนเดียว โดยได้เพิ่มส่วนประวัติศาสตร์และชีวประวัติบุคคลสำคัญเข้ามาเป็นครั้งแรก ในโอกาสที่เขาได้เป็นบรรณาธิการของฉบับที่สอง) ด้วยอายุรวมยาวนานกว่า 200 ปี Britannica ได้เปลี่ยนแปลงตามยุคสมัย มีฉบับพิมพ์ทั้งหมด 15 ฉบับ ฉบับที่ 15 ซึ่งเป็นฉบับสุดท้าย เผยแพร่เป็นครั้งแรกเมื่อปี 1974 มีทั้งหมด 28 เล่ม มีผู้เขียนกว่า 4,000 คน จากกว่า 100 ประเทศ แต่ก็ยังมีทีมงานประจำที่คอยทำหน้าที่ปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอ โดยได้มีการปรับปรุงใหญ่ในฉบับที่ 15 ไปเมื่อปี 1985 มีจำนวนเล่มเพิ่มขึ้นเป็น 32 เล่ม และยังพิมพ์ขายต่อมาจนถึงศตวรรษที่ 21   ผู้ถือสิทธิตีพิมพ์และเผยแพร่ Britannica ก็มีการเปลี่ยนมือไปหลายเจ้า จากชาวสก็อต ปัจจุบันไปอยู่ในการดูแลของบริษัทอเมริกัน มีสำนักงานใหญ่อยู่ในชิคาโก สหรัฐอเมริกา เนื่องจากสมัยหนึ่ง Britannica เคยอยู่ในความดูแลของมหาวิทยาลัยชิคาโก แต่ทางมหาวิทยาลัยมิได้เข้ามาควบคุมจัดการโดยตรง เพียงแต่ให้คำปรึกษาพร้อมด้วยคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยสมาชิกจากคณะต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยชั้นนำจากฝั่งอังกฤษอย่าง ออกซ์ฟอร์ด เคมบริดจ์ ลอนดอน และเอดินเบอระ รวมไปถึงมหาวิทยาลัยอื่นจากทั่วโลก ก่อนที่ เจคอบ อี. ซาฟรา (Jacob E. Safra) นายทุนจากบราซิลมาซื้อไปในปี 1996 และยังคงรักษาสำนักงานใหญ่ไว้ที่เดิม สำหรับสื่อกลางในการเผยแพร่นั้น การที่หนังสืออ้างอิงต้องตีพิมพ์เป็นชุด ชุดละเป็นสิบ ๆ เล่ม เพื่อรวบรวมเนื้อหาความรู้ในทุกสาขา อาจไม่ใช่วิธีการที่เหมาะสมอีกต่อไปแล้ว โดยเฉพาะความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ที่ความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง ทันทีที่ต้นฉบับไปถึงแท่นพิมพ์ข้อมูลนั้นก็อาจมีการปรับเปลี่ยนไปเรียบร้อยแล้ว และด้วยอินเทอร์เน็ตกลายเป็นแหล่งค้นหาข้อมูลที่คนพึ่งพามากกว่าโดยที่ไม่ต้องเสียเงิน การขายหนังสืออ้างอิงเป็นชุด ราคาชุดละเป็นหมื่นจึงหาคนซื้อยาก Britannica จึงมุ่งเป้าพัฒนาไปสู่ระบบดิจิทัล โดยได้เปิดเว็บไซต์ Britannica.com ในปี 1999 ก่อนที่จะประกาศเลิกเผยแพร่ฉบับพิมพ์ไปในปี 2012