อับดุล คาเดอ ไฮดารา : บรรณารักษ์พิทักษ์ ‘ตำราแห่งมาลี’ ปกป้องบันทึกโบราณจากการทำลายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์

อับดุล คาเดอ ไฮดารา : บรรณารักษ์พิทักษ์ ‘ตำราแห่งมาลี’ ปกป้องบันทึกโบราณจากการทำลายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์
หากกล่าวชื่อเมือง “ทิมบักตู” (Timbuktu) ในแวดวงของนักประวัติศาสตร์ นักโบราณคดี หรือนักการศาสนา หลายคนล้วนเข้าใจตรงกันว่ามันคือเมืองที่เคยรุ่งเรืองมากในอดีต ช่วงศตวรรษที่ 15 ทิมบักตูเจริญถึงขีดสุดทั้งในด้านศิลปวัฒนธรรม ศูนย์กลางทางการค้า และองค์ความรู้ด้านศาสนาอิสลาม จนถูกขนานนามว่าเป็น “กรุงเอเธนส์แห่งทวีปแอฟริกา” คงไม่น่าแปลกใจที่หลายร้อยปีต่อมา เมืองนี้จะถูกขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลก ทิมบักตู เป็นเมืองสำคัญของ “มาลี” ประเทศทางตอนเหนือของทวีปแอฟริกา เหตุเพราะประวัติศาสตร์นานกว่า 800 ปีได้ทิ้งมรดกทางวัฒนธรรมทั้งโบราณสถาน และคัมภีร์เก่าแก่ล้ำค่า ซึ่งไม่ได้มีแค่ตำราทางศาสนา แต่ยังรวมถึงหนังสือปรัชญา นิยายรัก ดาราศาสตร์ ตำรับยา ตำราเพศ ฯลฯ รวม ๆ แล้วหลายแสนเล่มถูกเก็บรักษาไว้ในหอสมุดประจำเมือง อับดุล คาเดอ ไฮดารา (Abdel Kader Haidara) บรรณารักษ์ประจำหอสมุด ผู้ไม่เคยคิดเลยว่างานจะนำพาเขามาสู่ภารกิจยิ่งใหญ่ ทีแรกเขาไม่ได้อยากทำงานสายนี้ด้วยซ้ำ แค่เพราะเติบโตมาในครอบครัวนักวิชาการ และมีบิดาเป็นอาจารย์ในโรงเรียนสอนศาสนาอิสลามที่เก่าแก่ที่สุด เขาจึงมีความเชี่ยวชาญในภาษาอาหรับแบบหาตัวจับได้ยาก และเพราะหนังสือโบราณมักถูกบันทึกในภาษาอาหรับและภาษาบัมบารา (มาลีใช้ภาษาฝรั่งเศสเป็นภาษาราชการ) ไฮดาราจึงถูกทาบทามให้มาทำงานในหอสมุด อับดุล คาเดอ ไฮดารา : บรรณารักษ์พิทักษ์ ‘ตำราแห่งมาลี’ ปกป้องบันทึกโบราณจากการทำลายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ มากกว่างานบรรณารักษ์ ไฮดาราต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้ไปรวบรวมเหล่าหนังสือโบราณ ที่เคยถูกชาวบ้านลำเลียงออกไป ในช่วงที่ชาวโมร็อกโกเข้ามาเป็นใหญ่ในบ้านเมือง (ช่วงปี 1590s) เขาต้องเข้าไปพูดคุยกับชาวบ้านและขอคัมภีร์โบราณเหล่านั้นกลับไปเก็บรักษา ไฮดาราเคยให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากทำไปเรื่อย ๆ เขาก็เริ่มรักงานนี้ ไฮดาราประสบความสำเร็จในการรวบรวมคัมภีร์จำนวนมากกลับมายังหอสมุด และทำงานเป็นผู้ดูแลต่อจากนั้น ปี 2012 เป็นช่วงเวลาที่หลายคนได้รู้เห็นการกระทำอุกอาจของกลุ่มมุสลิมสุดโต่ง อัลกออิดะฮ์ (Al Qaeda) ที่พยายามบังคับใช้กฎหมายชารีอะฮ์ (กฎหมายอิสลาม) รูปแบบเข้มงวด พวกเขาใช้ทั้งกำลังและอาวุธสงครามเพื่อเข่นฆ่า เผาทำลายคัมภีร์เอกสาร โบราณสถาน และสุสานสำคัญหลายแห่ง ในพื้นที่ที่นับถือศาสนาอิสลาม แน่นอนว่า ประเทศมาลีเองก็เป็นหนึ่งในนั้น ตอนนั้นไฮดาราคาดเดาว่า หากกลุ่มอัลกออิดะฮ์เดินทางมาถึงทิมบักตู ตำราโบราณที่ประเมินค่ามิได้เหล่านี้ จะต้องถูกเผาทำลายแน่ เหตุเพราะมันประกอบไปด้วยองค์ความรู้ทางศาสนาที่หลากหลาย และเปิดกว้างเกินกว่าที่ กลุ่มอัลกออิดะฮ์ ซึ่งต่อต้านทุกการตีความที่แตกต่างไปจากตน จะให้การยอมรับ โดยเฉพาะตำราคำสอนของ “ลัทธิซูฟี” ที่กลุ่มอัลกออิดะฮ์มองว่านอกรีต หากถูกพบก็มีโอกาสถูกทำลายก่อนตำราอื่น ๆ ตอนนั้นเอง ขณะที่ชาวทิมบักตูกำลังวุ่นวายกับการลี้ภัย และความรุนแรงที่กำลังจะมาถึง ไฮดาราก็เริ่มลงมือปฏิบัติการลับ เพื่อขนย้ายบันทึกเก่าแก่จำนวนมหาศาลไปสู่ที่ปลอดภัย โดยอาศัยความร่วมมือจากเหล่าชาวบ้าน ตั้งแต่พ่อค้าแม่ค้า คนขับแท็กซี่ ไปจนถึงภารโรง ที่ยอมเสี่ยงชีวิตยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือและปกป้องคัมภีร์ศักดิ์สิทธิ์ อับดุล คาเดอ ไฮดารา : บรรณารักษ์พิทักษ์ ‘ตำราแห่งมาลี’ ปกป้องบันทึกโบราณจากการทำลายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ เวลานั้น บันทึกโบราณเกือบ 5 แสนเล่ม ค่อย ๆ ถูกแบ่งใส่ในหีบเหล็กและหีบไม้ ลำเลียงผ่านพื้นที่อันตราย ไปยังจุดหมายเดียวกันคือเมือง บามาโก เมืองหลวงของประเทศมาลี แต่กว่าชาวบ้านจะขนตำราผ่านไปได้ ก็เรียกได้ว่าต้องงัดทุกท่าไม้ตายออกมาเพื่อตบตากลุ่มอัลกออิดะฮ์ ทั้งแบ่งหีบเหล็ก หีบไม้ บรรทุกใส่หลังอูฐ หรือรถลาก ซุกซ่อนใต้หีบสินค้าสำหรับนำไปขายต่างเมือง ทั้งแอบพักไว้ตามบ้านเรือน และขนผ่านเรือที่ล่องไปตามแม่น้ำไนเจอร์ ปฏิบัติการลับนี้ ต้องใช้ทั้งความอดทนและความกล้าหาญ เพราะกว่าจะลำเลียงตำราโบราณหลายแสนเล่มออกมาย่อมใช้เวลาไม่น้อย แถมยังไม่ต่างอะไรจากการเอาชีวิตมาเสี่ยง เพราะหากถูกจับได้ ปลายทางย่อมมีแต่ความตายรออยู่เท่านั้น แต่หลังจากผ่านไป 18 เดือน ในที่สุดไฮดาราและคณะ ก็สามารถลำเลียงตำราทั้งหมดออกมาได้สำเร็จ พวกเขาปกป้องสมบัติล้ำค่าที่บันทึกองค์ความรู้ และประวัติศาสตร์ของแอฟริกาไว้ได้ และไฮดาราก็กลายมาเป็นบุคคลที่ได้รับการยกย่อง รวมถึงได้รับรางวัล German Africa Prize จากมูลนิธิ German Africa ในปี 2014 “นี่ไม่ใช่แค่รางวัลของผม แต่เป็นรางวัลของชาวบ้านทุกคน ที่ให้ความช่วยเหลือผมในตอนนั้น” ไฮดารากล่าว “เราทุกคนต่างรู้ดีว่าคัมภีร์พวกนี้สำคัญแค่ไหน เมื่อใดที่มันถูกทำลายไปแล้วมันจะหายไปตลอดกาล” ไฮดาราเชื่อว่า สิ่งปลูกสร้าง หากถูกทำลาย ย่อมสร้างใหม่ได้ แต่หากตำราความรู้สูญหาย นั่นหมายถึงประวัติศาสตร์เกือบพันปีที่จะหายไปด้วย “นั่นเป็นเหตุผลที่ผมอุทิศตัวเอง ไม่ใช่แค่เพื่อผม เพื่อชาวมาลี แต่เพื่อประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ” อับดุล คาเดอ ไฮดารา : บรรณารักษ์พิทักษ์ ‘ตำราแห่งมาลี’ ปกป้องบันทึกโบราณจากการทำลายของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ไฮดาราให้สัมภาษณ์ว่าในแบบเรียนของเด็ก ๆ แอฟริกา น้อยนักที่จะสอนว่าเราเคยมีประวัติศาสตร์อันรุ่งเรืองมาก่อน ที่จริงอาจเรียกได้ว่า เราแทบไม่เคยสอนอะไรเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ให้แก่เด็ก ๆ รุ่นหลังเลย มันเป็นเรื่องน่าเศร้า ที่หลายคนรู้สึกแปลกใจกับการที่มีตำราเก่าแก่ให้ศึกษามากมายขนาดนี้ แต่อย่างไรก็ดี เขารู้สึกภาคภูมิใจที่สามารถปกป้องประวัติศาสตร์ ที่ไม่ใช่แค่ของเมืองทิมบักตู หรือประเทศมาลี แต่เป็นของแอฟริกาได้สำเร็จ หลังการรุกรานของกลุ่มอัลกออิดะฮ์ ถูกกองทัพฝรั่งเศสควบคุมสถานการณ์ไว้ได้ แต่เหตุการณ์ภายในประเทศมาลีก็ยังไม่มีทีท่าจะเข้าใกล้คำว่าสงบ การก่อการร้าย การปะทะกันรุนแรงยังคงเกิดขึ้นในหลาย ๆ เมือง เหล่าตำราโบราณที่ถูกเก็บรักษาไว้ในเมือง บามาโก ได้รับการสนับสนุนจากหลายมูลนิธิให้มีการคัดลอกเป็นไฟล์ดิจิทัล เพื่อป้องกันการสูญหายหรือถูกทำลายในอนาคต ไฮดาราบอกว่า หากบ้านเมืองสงบลง เขาอยากจะนำตำราเหล่านี้กลับคืนสู่ทิมบักตู แต่เมื่อดูจากสถานการณ์ คงต้องใช้เวลาอีกนานกว่าวันนั้นจะมาถึง     ที่มา https://www.nationalgeographic.com/.../badass-librarians.../ https://www.bbc.com/news/magazine-22704960 https://en.gariwo.net/.../abdel-kader-haidara-21109.html https://www.dw.com/.../abdel-kader-haidara.../a-17729553 https://www.youtube.com/watch?v=44d1OYXiZok...