อับราฮัม ลินคอล์น: เมื่อการเลิกทาสไม่ได้เป็นเพื่อประชาธิปไตยอย่างที่เข้าใจ

อับราฮัม ลินคอล์น: เมื่อการเลิกทาสไม่ได้เป็นเพื่อประชาธิปไตยอย่างที่เข้าใจ
สงครามกลางเมืองอเมริกัน คือสงคราม 5 ปี ระหว่างกองทัพสหรัฐทางเหนือผู้ซึ่งต้องการล้มเลิกระบบทาส กับกองทัพสมาพันธรัฐทางใต้ผู้ซึ่งยังมีความจำเป็นต้องคงไว้ซึ่งระบบทาส ช่วงกลางของสงครามดังกล่าวได้เกิดการแถลงสุนทรพจน์ฉบับหนึ่งซึ่งส่วนหนึ่งของเนื้อความในสุนทรพจน์ฉบับนั้นได้กลายมาเป็นคำนิยามที่โด่งดังที่สุดให้แก่ระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตย  นิยามที่ว่านั้นก็คือ “ประชาธิปไตย หมายถึง การปกครองที่เป็นของประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน”  ชายผู้ที่กล่าวสุนทรพจน์ดังกล่าวในตอนบ่ายของวันที่ 19 พฤศจิกายน 1863 คือชายคนที่เพียงราว 2 ปีคล้อยหลังเขาได้ถูกลอบสังหาร แต่สุนทรพจน์สั้นๆของเขาได้เปลี่ยนแปลงสหรัฐอเมริกาให้กลายเป็นภาพตัวแทนของระบอบประชาธิปไตยของโลก และตัวเขาเองก็ได้กลายเป็นหนึ่งในรัฐบุรุษแห่งประชาธิปไตยของโลกเช่นกัน  ชายคนดังกล่าวที่มีชื่อว่า อับราฮัม ลินคอล์น ลินคอล์น เกิดวันที่ 12 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1809 ทางใต้ของเมืองฮอดเจนวิลล์ มลรัฐเคนตักกี้ เขาเป็นบุตรคนโตในตระกูลชาวนาและช่างไม้ที่สืบสายตระกูลมาจากช่างทอผ้าที่อพยพมาจากอังกฤษ เมื่อลินคอล์นอายุได้ 7 ปีครอบครัวของเขาต้องสูญเสียที่ดินทำกินไปเกือบทั้งหมด ทำให้พ่อของเขาเลือกที่จะย้ายครอบครัวมาสู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของรัฐอินเดียนา และจากการที่มลรัฐอินเดียน่านั้นเป็นรัฐที่ไม่มีทาส นี่เองอาจจะเป็นเหตุผลว่าตลอดชีวิตทางการเมืองของลินคอล์นนั้นการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทาสของสหรัฐอเมริกาจึงเป็นประเด็นทางการเมืองที่โดดเด่นที่สุดของลินคอล์น ใน ค.ศ. 1818 เพียง 2 ปีหลังจากทั้งครอบครัวย้ายมาที่อินเดียนา ลินคอล์นต้องสูญเสียมารดาจากอาการไข้นม (milk sickness) ซึ่งเป็นอาการแพ้จากการดื่มนมปนเปื้อนพิษจนทำให้อาเจียน และขาดน้ำจนเสียชีวิต หลังมารดาของเขาเสียชีวิตไม่นานนักพ่อของลินคอล์นก็แต่งงานใหม่กับหญิงม่าย ซึ่งเป็นโชคดีของลินคอล์นที่แม่เลี้ยงของเขาชื่นชอบและให้ความรักแก่เขาราวกับเป็นแม่แท้ ๆ  ที่สำคัญที่สุดคือ แม้พ่อ และแม่เลี้ยงของลินคอล์นจะไม่รู้หนังสือ แต่แม่เลี้ยงของเขาสนับสนุนการศึกษาให้ลินคอล์นอย่างเต็มที่ โดยเฉพาะการอนุญาตให้ลินคอล์นมีเวลาพักอ่านหนังสือจนทำให้ตัวเขาอ่านออกเขียนได้อย่างคล่องแคล่วแม้เขาแทบไม่ได้รับการศึกษาในระบบเลยก็ตาม เมื่อลินคอล์นอายุได้ 21 ปี ครอบครัวของเขาตัดสินใจย้ายมาที่มลรัฐอิลลินอยส์ เนื่องจากเกิดการระบาดของไข้นมอีกครั้ง แต่ ณ เวลานี้ลินคอล์นเติบใหญ่และแข็งแรง เขามีชื่อเสียงจากการดูแลฝูงวัว มีความสามารถในการใช้ขวานอย่างคล่องแคล่ว เป็นแชมป์มวยปล้ำ และเป็นหัวหน้ากลุ่มวัยรุ่นของเมือง  ลินคอล์นยังเป็นคนอารมณ์ดี เป็นนักพูดและนักเล่าเรื่องที่เก่งกาจ จากลักษณะเช่นนี้ทำให้ลินคอล์นมีเพื่อนเยอะ และโดยพื้นฐานที่ตัวเขาเองไม่อยากเป็นชาวนา ลินคอล์นในวัยหนุ่มจึงเปลี่ยนงานอยู่เรื่อย ๆ จนใน ค.ศ. 1836 ด้วยอายุ 27 ปี จากความพยายามศึกษาด้วยตนเองอย่างยิ่งยวด เขาสอบผ่านและได้รับอนุญาตให้ประกอบวิชาชีพทางกฎหมายในมลรัฐอิลลินอยส์ได้  ลินคอล์นค่อย ๆ สร้างสมชื่อเสียงจากการว่าความในเมืองสปริงฟิลด์ รัฐอิลลินอยส์ ซึ่งทำให้ฐานะทางการเงินของเขามั่นคงขึ้นเรื่อย ๆ แต่ชื่อเสียงในวงกว้างของเขามาจากการเดินทางบนหลังม้าเพื่อรับค่าตอบแทนเพียงเล็กน้อยจากการว่าความให้แก่คนตัวเล็กตัวน้อยที่มีภูมิลำเนาห่างไกลจากเมืองใหญ่  นอกจากนี้ ตั้งแต่ราวปี ค.ศ. 1830 ลินคอล์นเข้าสู่การเมืองครั้งแรกในสังกัดพรรควิก ซึ่งมีอุดมการณ์อนุรักษ์นิยม ซึ่งในเวลาต่อมาเขาสามารถก้าวขึ้นไปถึงระดับหัวหน้าพรรคการเมืองนี้ บทบาททางการเมืองของลินคอล์นในช่วง ค.ศ. 1934 – 1942 ในฐานะของผู้แทนในสภามลรัฐอิลลินอยส์ เขาได้ผลักดันการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคของมลรัฐอย่างมหาศาล  ในเวลาเดียวกันนี้เองบทบาททางการเมืองในการต่อต้านระบบทาสของเขาก็เริ่มชัดเจนขึ้นเช่นกัน ในด้านชีวิตส่วนตัว ต้นอายุ 30 ใน ค.ศ. 1842 หลังจากผ่านบททดสอบความรักอย่างมากมาย ทนายความและนักการเมืองจากครอบครัวชาวนาอย่างลินคอล์นก็ได้แต่งงานกับ แมรี ทอดด์ ผู้ให้กำเนิดบุตรชายแก่ลินคอล์นถึง 4 คน  ทอดด์เป็นหญิงสาวจากครอบครัวชนชั้นสูงมีชื่อเสียงอยู่ในมลรัฐเคนตักกี้ การแต่งงานกับทอดด์จึงทำให้ลินคอล์นได้มีโอกาสได้เป็นที่รู้จักในสังคมชั้นสูงของรัฐอิลลินอยส์มากขึ้น จนในที่สุดหลังจาก 20 ปีในอาชีพทางกฎหมาย ลินคอล์นได้กลายเป็นหนึ่งสังคมชั้นสูงของมลรัฐในฐานะของทนายความที่มีชื่อเสียงในเรื่องความเฉลียวฉลาด ความซื่อสัตย์สุจริต และการให้ความสำคัญกับคนจนคนยาก จนประสบความสำเร็จในอาชีพการงานและการเมืองมากที่สุดคนหนึ่งในอิลลินอยส์ สิ่งนี้ทำให้ลินคอล์นได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐอเมริกา หรือสภาคองเกรสใน ค.ศ. 1846 หลังหมดวาระลินคอล์นกลับไปประกอบวิชาชีพกฎหมาย จวบจน ค.ศ. 1854 ลินคอล์นกลายเป็นผู้นำก่อตั้งพรรคการเมืองใหม่ คือ พรรคริพับลิกัน  พรรคการเมืองนี้เองที่ลินคอล์นใช้แสดงจุดยืนทางการเมืองที่คัดค้านการขยายตัวของระบบทาสอย่างจริงจัง จน ค.ศ. 1860 ลินคอล์นกลายเป็นตัวแทนของพรรคริพับลิกันในการชิงตำแหน่งประธานาธิบดี ภาพลักษณ์ทางการเมืองของลินคอล์นในวัย 50 ปี คือนักการเมืองสายกลาง ที่มีฐานเสียงมาจากรัฐที่คะแนนเสียงไม่แน่นอน (swing state) และจากการวิพากษ์วิจารณ์ระบบทาสอย่างแข็งขันจนทำให้ลินคอล์นไม่ได้รับเสียงสนับสนุนจากมลรัฐในทางใต้เลย  แต่ด้วยคะแนนเสียงของมลรัฐทางเหนือก็เพียงพอที่จะทำให้ลินคอล์นชนะ และอีกส่วนหนึ่งก็มาจากปัญหาการเมืองภายในของพรรคเดโมแครตที่เป็นคู่แข่งในการเลือกตั้งครั้งนั้นเองด้วย อย่างไรก็ดีลินคอล์นก็ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีคนที่ 16 ของสหรัฐอเมริกา ทว่าความสำเร็จในครั้งนี้ของเขากลายเป็นแรงกระตุ้นให้เจ็ดมลรัฐทางใต้ที่ยึดมั่นในระบบทาสตัดสินใจประกาศแยกตัว และก่อตั้งสมาพันธรัฐแห่งอเมริกา (Confederate States of America) ขึ้นใน ค.ศ. 1861เพียง 1 ปี หลังจากลินคอล์นกลายเป็นประธานาธิบดีของสหรัฐอเมริกา  แล้วสงครามกลางเมืองที่กินเวลาเกือบ 5 ปี และมีผู้สังเวยชีวิตกว่า 1,000,000 คนก็อุบัติขึ้น อันที่จริงแล้ว แม้ลินคอล์นจะได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้ปลดปล่อยที่ยิ่งใหญ่ (great emancipator) ก็ตาม จากนโยบายการยกเลิกระบบทาสอันนำมาสู่ความขัดแย้งครั้งใหญ่ระหว่างชาวอเมริกันด้วยกันเอง แต่สิ่งที่ต้องกล่าวขยายความต่อก็คือแม้ลินคอล์นกล่าวว่าการเป็นทาสนั้นเป็นเรื่องผิด แต่เขาก็มองว่าความผิดดังกล่าวมิใช่การผิดทางกฎหมาย หรือผิดศีลธรรม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสำหรับลินคอล์นนั้นระบบทาสเป็นความผิดทางการเมือง  เพราะระบบทาสทำให้ทาสไม่สนใจการเมือง เพราะทาสมีชีวิตอยู่ได้ด้วยการปกครองของนายทาสในระบบทาสไม่ใช่การปกครองจากระบบการเมือง ผลประโยชน์ของทาสจึงมีเพียงการดำรงชีวิตอยู่ภายใต้การปกครองของนายทาส แต่สิ่งที่ลินคอล์นต้องการคือระบบการเมืองที่สามารถชักจูงให้มนุษย์ทุกคนมองเห็นผลประโยชน์ร่วมกัน การมีอยู่ของระบบทาสจึงขัดกับพื้นฐานความคิดทางการเมืองข้อนี้ของลินคอล์นโดยตรง และหากสืบสาวกลับไปจะพบว่าแนวคิดเกี่ยวกับทาสของลินคอล์นนี้สอดคล้องไปกับแนวคิดทางการเมืองของชนชั้นนำในมลรัฐทางเหนือ ที่มีมาตั้งแต่ราวต้น ค.ศ. 1820 ที่ประเด็นความขัดแย้งเรื่องระบบทาสนั้นถูกผูกโยงกับผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของมลรัฐฝ่ายเหนือ  เพราะในขณะที่มลรัฐฝ่ายเหนือมีรากฐานทางเศรษฐกิจจากการนำเข้าสินค้าจากยุโรป โดยเฉพาะสิ่งทอจากฝ้าย มลรัฐฝ่ายเหนือจึงสามารถสร้างความร่ำรวยโดยไม่มีความจำเป็นจะต้องมีทาส ทว่าในทางกลับกันการเติบโตทางเศรษฐกิจของมลรัฐฝ่ายใต้คืออุตสาหกรรมไร่ฝ้ายซึ่งมีความจำเป็นต้องลดต้นทุนการผลิตด้วยการใช้แรงงานทาส เพื่อให้ได้สินค้าที่ราคาถูกกว่าสินค้านำเข้าของมลรัฐฝ่ายเหนือ ทำให้มลรัฐฝ่ายใต้ไม่สามารถยกเลิกระบบทาสได้  การเติบโตทางเศรษฐกิจจากแรงงานทาสของมลรัฐฝ่ายใต้จึงมีผลกระทบต่อความเติบโตทางเศรษฐกิจของมลรัฐฝ่ายเหนือโดยตรง ราวปี ค.ศ. 1820 เป็นต้นมามลรัฐฝ่ายเหนือจึงมักใช้อำนาจทางการเมืองออกกฎหมายให้ระบบทาสที่เติบโตในมลรัฐฝ่ายใต้กลายเป็นสิ่งผิดกฎหมายมากขึ้นเรื่อย ๆ ความคิดของลินคอล์นเกี่ยวกับทาสจึงดูมิได้แยกขาดจากความคิดของชนชั้นนำในมลรัฐฝ่ายเหนือที่ต้องการยกเลิกระบบทาส  แต่ลินคอล์นยังให้เหตุผลสร้างความหนักแน่นเพิ่มเติมด้วยว่า การที่ทาสมองเห็นผลประโยชน์ทางการเมือง จะเกิดได้ก็ต่อเมื่อมีการให้สิทธิทางการเมืองต่อทาส แต่การให้สิทธิดังกล่าวก็ไม่ได้หมายความว่าทาสจะมีสิทธิทุกอย่างเท่ากับนายทาส ลินคอล์นเสนอมากกว่านั้นด้วยว่าหากแก้ปัญหาการ “ต้องมี” หรือ” ต้องไม่มี” สิทธิทางการเมืองของทาสนี้ไม่ได้ ก็ควรจะมีนโยบายผลักดันทาสผิวดำในสหรัฐอเมริกาให้ไปสร้างอาณานิคมที่ไลบีเรียเสีย ดังนั้นสิ่งที่ย้อนแย้งมากในเรื่องนี้ก็คือ แม้ลินคอล์นจะต่อต้านระบบทาสแต่ตัวเขาเองไม่เคยกล่าวว่าตนเองนั้นสังกัดกลุ่มการเมืองที่ต้องการยกเลิกระบบทาส เขาไม่เคยคิดด้วยซ้ำว่าทาสผิวดำควรมีสิทธิที่เท่าเทียมกับนายทาสผิวขาว ดังนั้นการให้ความสำคัญต่อเรื่องทาสของลินคอล์นจึงดูคล้ายจะเป็นเครื่องมือในการจัดการศัตรูทางเศรษฐกิจและในทางการเมืองของเขามากกว่าที่จะเป็นเรื่องของการพัฒนาประชาธิปไตยในเชิงอุดมการณ์ ยิ่งเมื่อพิจารณาจากว่าการที่สงครามกลางเมืองอเมริกันที่เกิดขึ้นใน ค.ศ. 1861 นี้จะมีความขัดแย้งเริ่มต้นคือประเด็น “การยกเลิก” หรือ “ไม่ยกเลิก” ระบบทาส แต่นโยบายที่เน้นย้ำเรื่องการเลิกทาสของลินคอล์นกลับเกิดขึ้นหลังจากสงครามเริ่มราว 1 ปี คือภายหลังยุทธการที่แอนตีแทม ใน ค.ศ. 1862 และนโยบายดังกล่าวยังมีเหตุผลทางทหารที่สำคัญรองรับนั่นคือการกระตุ้นให้ทาสเข้ามาเพิ่มกำลังรบให้กับกองทัพฝ่ายเหนือ และในเวลาเดียวกันก็ลดทอนกำลังรบของกองทัพฝ่ายใต้ไปในเวลาเดียวกัน เพราะอันที่จริงแล้วสงครามกลางเมืองครั้งนี้ กองทัพสหรัฐฝ่ายเหนือของลินคอล์นใช้ยุทธวิธีกวาดล้างทั้งกำลังรบ และฐานทางเศรษฐกิจของฝ่ายใต้โดยสิ้นเชิง โดยพยายามยึดเสบียง ทำลายบ้าน ที่ดินเพาะปลูก และเส้นทางคมนาคม และรวมถึงการประกาศเลิกทาสใน ค.ศ. 1862 ดังกล่าวก็ถือเป็นหนึ่งในยุทธวิถีในการรบเช่นเดียวกัน ในทางกลับกันสมาพันธรัฐฝ่ายใต้เลือกใช้ยุทธวิธีรบยืดเยื้อ เนื่องด้วยความเสียเปรียบในหลาย ๆ ด้าน แต่ยุทธิวิธีดังกล่าวก็ดูจะเป็นผลดี เพราะในช่วงปีแรกกองทัพสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ตั้งรับยืดเยื้อจนได้ชัยชนะเหนือกองทัพสหรัฐฝ่ายเหนืออยู่หลายครั้ง กระทั่งเกิดจุดเปลี่ยนใน ค.ศ. 1862 ดังกล่าว รวมถึงภายหลังยุทธการที่แอนตีแทการปะทะกัน ณ เมืองเกตตีส์เบอร์ก มลรัฐเพนซิลเวเนีย ที่กินเวลาทั้งสิ้น 3 วัน ตั้งแต่วันที่ 1 – 3 กรกฎาคม  มียอดผู้เสียชีวิตเกือบ 10,000 คน และบาดเจ็บอีกเกือบ 30,000 คน สงครามครั้งนี้ทำให้กองทัพสมาพันธรัฐฝ่ายใต้เสียหายอย่างหนัก หลังจากการรบที่เกตตีส์เบอร์กจบลงเป็นเวลา 4 เดือนครึ่ง ในวันที่ 19 พฤศจิกายน 1863 ลินคอล์นได้รับเชิญให้เข้าร่วมพิธีการสร้างสุสานแห่งใหม่เพื่อสดุดีวีรชน ณ สนามรบเมืองเกตตีส์เบอร์ก  บ่ายวันนั้น ลินคอล์นได้ถือโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนชาวอเมริกัน เพราะนับตั้งแต่เขาได้รับตำแหน่งประธานาธิบดีก็เกิดสงครามขึ้นจนตัวเขาเองไม่ได้มีโอกาสกล่าวสุนทรพจน์ต่อประชาชนชาวอเมริกันมากนัก สุนทรพจน์ความยาวไม่ถึง 300 คำนี้ในเวลาต่อมากลายเป็นเอกสารอ้างอิงสำคัญให้แก่ประวัติศาสตร์ของระบอบการปกครองแบบประชาธิปไตยของสหรัฐอเมริกา และอาจรวมถึงประชาธิปไตยระดับโลก สุนทรพจน์ดังกล่าวมีเนื้อความแปลได้ดังนี้ “87 ปีที่แล้ว เหล่าบิดาของเราได้ให้กำเนิดดินแดนแห่งนี้ ชาติใหม่อันถือกำเนิดจากเสรีภาพ ชาติใหม่ที่อุทิศให้แก่ความเชื่อที่ว่ามนุษย์ทุกคนนั้นเกิดมาเท่าเทียมกัน บัดนี้เรากำลังอยู่ในสงครามกลางเมือง เพื่อพิสูจน์ว่าความเชื่อของชาติเรานี้เป็นจริงหรือไม่ พวกเราพบกัน ณ สนามรบของสงครามครั้งใหญ่ครั้งนั้น พวกเรามาเพื่ออุทิศส่วนหนึ่งของสนามรบแห่งนี้ให้เป็นที่พำนักสุดท้ายของผู้ที่อุทิศชีวิตของตนเพื่อให้ชาติได้มีชีวิตต่อไป และการมารวมตัวกันของเรานี้จึงเป็นสิ่งสมควรกระทำยิ่ง “ทว่า เอาเข้าจริงแล้ว เราไม่สามารถอุทิศอะไร เราไม่สามารถปลุกเสก ไม่สามารถสร้างความศักดิ์สิทธิ์ ให้กับพื้นดินแห่งนี้ เหล่าผู้กล้าผู้ซึ่งทำการรบ ณ ที่นี้ ผู้ซึ่งเคยมีชีวิตและได้ตายไป ณ ที่แห่งนี้นั้นเองต่างหากคือผู้ปลุกเสกความศักดิ์สิทธิ์ให้แก่พื้นดินแห่งนี้ สิ่งนี้ห่างไกลเกินกว่าที่อำนาจอันน้อยนิดของพวกเราจะเพิ่มเติมหรือลดทอนความศักดิ์สิทธิ์อะไรได้ โลกคงใส่ใจหรือให้ความสำคัญกับสิ่งที่เรากำลังพูดอยู่นี้เพียงน้อยนิด แต่คงไม่สามารถลืมได้ว่าพวกเขาเหล่านั้นทำอะไรไว้ ณ ที่แห่งนี้ และนี่เป็นสิ่งที่พวกเรา เหล่าผู้คนที่ยังมีชีวิตที่จะต้องสานต่องานที่ยังไม่จบสิ้นของพวกเขาเหล่าผู้ที่สู้รบอย่างสมเกียรติ เป็นการดีแล้วสำหรับพวกเราที่นี่ที่จะได้สานต่อให้กับงานใหญ่ในภายภาคหน้าที่ยังหลงเหลืออยู่จากบรรดาเหล่าผู้วายชนม์อันทรงเกียรติเพื่อให้ความตายของพวกเขาไม่สูญเปล่า ด้วยอำนาจของพระผู้เป็นเจ้า ขอให้ชาตินี้จงให้กำเนิดครั้งใหม่แก่เสรีภาพ และเพื่อให้การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชนจะไม่สูญหายไปจากแผ่นดินโลก” 2 ปี ต่อมา สงครามกลางเมืองอเมริกาสิ้นสุดลงในวันที่ 9 เมษายน ค.ศ. 1865 เมื่อกองทัพสมาพันธรัฐฝ่ายใต้ยอมจำนนต่อกองทัพสหรัฐฝ่ายเหนือ ทว่าเพียง 5 วันหลังเป็นประธานาธิบดีผู้ได้รับชัยชนะในสงครามกลางเมือง ในวันที่ 14 เมษายน 1865 ณ โรงละครฟอร์ด ณ วอชิงตัน ดี.ซี. ลินคอล์นในวัย 56 ปีแต่ดูแก่ชราเกินวัยเนื่องจากเริ่มผจญกับโรคร้ายถูกลอบสังหารโดยนักแสดงผู้มีชื่อเสียงที่เป็นสายลับสองหน้าให้กับฝ่ายสมาพันธรัฐ ลินคอล์นถูกยิงเข้าที่ศีรษะและเสียชีวิตในวันต่อมา ซึ่งก็คือวันที่ 15 เมษายน 1865  และถึงแม้ในปัจจุบันจะมีข้อสงสัยมากมายเกี่ยวกับแนวคิดเรื่องสิทธิ ความเท่าเทียม เสรีภาพของลินคอล์น การศึกษาตีความเกี่ยวกับลินคอล์นเผยให้เห็นความคิดของเขาที่ดูย้อนแย้งกับสถานะของนักประชาธิปไตยต้นแบบมากขึ้นเรื่อย ๆ แต่ว่าในทางปฏิบัติ อาทิ ในการต่อสู้ทางอุดมการณ์ในยุคสงครามเย็น สหรัฐอเมริกาใช้ภาพของลินคอล์นเป็นเครื่องหมายของโลกเสรีที่พร้อมจะให้การปลดปล่อยเหล่าผู้ที่ถูกกดขี่ภายใต้การปกครองระบอบคอมมิวนิสม์ หรือการที่บารัค โอบามาเลือกใช้คัมภีร์ไบเบิลของลินคอล์นในงานสาบานเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีใน ค.ศ. 2009 เพื่อแสดงออกถึงความยึดมั่นในอุดมการณ์ประชาธิปไตยของตน ก็แสดงให้เห็นว่าสำหรับเหล่าผู้คนในสหรัฐอเมริกาแล้ว อับราฮัม ลินคอล์นยังคงเป็นมหารัฐบุรุษแห่งประชาธิปไตยดังเดิม   อ้างอิง เจริญขวัญ แพรกทอง บลาฮาสสกี้. (2561). The American Civil War: สงครามกลางเมืองอเมริกา. ยิปซี. อัลเลน ซี. เกวลโซ. (เขียน). (2556). ลิงคอล์น: ความรู้ฉบับพกพา. ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ. (แปล). Openworlds. Heidler, D.S.; Heidler, J.T.; and Coles, D.J., eds. (2002). Encyclopedia of the American Civil War: A Political, Social, and Military History. W. W. Norton & Company Jackson, D. (2013, 10 Jan.). Obama to be sworn in with Lincoln, King Bibles. USA Today. Mclean, Virginia. Archived from the original on March 24, 2015. Retrieved https://www.usatoday.com/story/theoval/2013/01/10/obama-inaugural-bible-kennedy-king/1821363/ Jaffa, H.V. (2000). A New Birth of Freedom: Abraham Lincoln and the Coming of the Civil War. Rowman & Littlefield. Lincoln, A.  Lincoln on Slavery - Lincoln Home National Historic Site (U.S. National Park Service). Retrieved https://www.nps.gov/liho/learn/historyculture/slavery.htm.   Lincoln, A. (1863). The Gettysburg Address. Retrieved https://americanhistory.si.edu/documentsgallery/exhibitions/gettysburg_address_1.html McNamara, R. (2019, 12 Sep). Significance of the Battle of Gettysburg. Retrieved https://www.thoughtco.com/significance-of-the-battle-of-gettysburg-1773738. McPherson, J.M. (2009). Abraham Lincoln. Oxford University Press. Pruitt, S. (2012, 21 Sep). 5 Things You May Not Know About Abraham Lincoln, Slavery and Emancipation. Retrieved https://www.history.com/news/5-things-you-may-not-know-about-lincoln-slavery-and-emancipation. Schwartz, B. (2008). Abraham Lincoln in the Post-Heroic Era: History and Memory in Late Twentieth-Century America. University of Chicago Press. Wills, G. (2012). Lincoln at Gettysburg: The Words that Remade America. Simon and Schuster. Zilversmit, A. (1980). Lincoln and the Problem of Race: A Decade of Interpretations. Journal of the Abraham Lincoln Association. Abraham Lincoln Association. 2 (1): 22–24. Retrieved https://quod.lib.umich.edu/j/jala/2629860.0002.104/--lincoln-and-the-problem-of-race-a-decade-of-interpretations?rgn=main;view=fulltext.   เรื่อง: พิสิษฐิกุล แก้วงาม