อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน

อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน
ศึกนัดที่สองระหว่างเทพเจ้ากับมนุษย์ในเรื่อง มหาศึกคนชนเทพ (Record of Ragnarok) คือการปะทะกันระหว่างสองผู้มีนามกรอันยิ่งใหญ่ในบันทึกโบราณของมนุษยชาติ ทั้งสองมีประวัติเป็นทั้ง ‘ไอ้ลูกไม่รักดี’ และเป็น ‘มหาบิดา’ ในคนคนเดียวกัน นั่นคือศึกระหว่าง เทพซุส (Zeus) แห่งโอลิมปัส และ อาดัม (Adam) มนุษย์คนแรกตามความเชื่อของกลุ่มศาสนาอับราฮัม (Abrahamic religions อันได้แก่ ยิว คริสต์ อิสลาม) และแนวคิดไญยนิยม (Gnosticism - กลุ่มความเชื่อศาสนายิวและคริสต์นอกกระแสหลัก ที่เชื่อว่าโลกวัตถุถูกสร้างและปกครองโดยเทพผู้สร้างระดับที่ต่ำลงมากว่าพระเจ้าสูงสุด)  ที่ว่าเป็น ‘ไอ้ลูกไม่รักดี’ ก็คือ เทพซุสนั้นโค่นบัลลังก์ของโครนอส บิดาของตน (เป็นไปเพื่อช่วยเหลือพี่ ๆ ที่ถูกพ่อจับกลืนลงท้อง) ทางอาดัมนั้นฝ่าฝืนคำสั่งของพระผู้เป็นเจ้า (ที่เป็นผู้สร้างและมอบชีวิต) กินผลไม้ต้องห้าม ส่วนสำหรับความเป็น ‘มหาบิดา’ นั้น ซุส คือพ่อของเทพและคนกึ่งเทพจำนวนมาก และอาดัมนั้นคือบรรพบุรุษคนแรกของมนุษยชาติ  ในศึกนัดนี้ อาดัมปรากฏตัวด้วยรูปลักษณ์เป็นหนุ่มรูปงาม ร่างเปลือย มีเพียงใบไม้ปิดของสงวน นั่งอยู่บนก้อนหินในท่ากึ่งนั่งกึ่งนอน ก้อนหินวางอยู่บนแท่นสูงคล้ายบัลลังก์ และมาพร้อมกับบรรดาส่ำสัตว์ทั้งสัตว์บก สัตว์ปีก ประหนึ่งว่าเป็นราชาผู้ปกครองสรรพสัตว์ ซึ่งฉากเปิดตัวนี้สะท้อนเนื้อความในพระคัมภีร์ ปฐมกาล 1:26 “แล้วพระเจ้าตรัสว่า ‘ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา ให้ครอบครองฝูงปลาในทะเล ฝูงนกในท้องฟ้าและฝูงสัตว์ใช้งาน ให้ปกครองแผ่นดินโลกทั้งหมด และสัตว์เลื้อยคลานทุกชนิดบนแผ่นดินทั้งหมด’” อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน รูปลักษณ์และกิริยาของอาดัมที่ปรากฏออกมานี้น่าจะได้รับแรงบันดาลใจมาจากศิลปะและบันทึกโบราณไม่มากก็น้อย อาทิ ความงามและท่านั่งของอาดัมในฉากเปิดตัวนั้นเหมือนกับในภาพวาด The Creation of Adam (c.1512) ของ มีเกลันเจโล (Michelangelo - ผู้ปรากฏตัวออกมาในบริเวณที่นั่งผู้ชมด้วย) และอากัปกิริยาของการที่วัลคีรีเข้าไป ‘ประสานเป็นหนึ่ง’ กับอาดัมเพื่อมอบอาวุธเทพนั้น ก็เป็นการล้อภาพที่ว่าอย่างชัดเจน ส่วนใบไม้ปิดหว่างขานั้นก็น่าจะเป็นใบมะเดื่อตามที่ระบุในพระคัมภีร์ ส่วนแอปเปิลที่เขาถือก็คือผลไม้ต้องห้ามที่ถูกตีความในกระแสหลักว่าเป็นแอปเปิล (ถึงขนาดมีศัพท์ภาษาอังกฤษว่า Adam’s Apple ที่หมายถึงลูกกระเดือก ก็คือแอปเปิลที่อาดัมกินเข้าไปแล้วติดที่คอมาจนถึงลูกหลาน แต่อีกบางการตีความก็บอกว่าผลไม้ต้องห้ามน่าจะเป็นลูกมะเดื่อ เพราะหลังจากกินผลไม้ต้องห้ามจนรู้สึกได้ว่าตนกำลังเปลือยกาย เขาก็ดึงใบมะเดื่อมาปกปิดร่างกาย) อาดัมในเรื่องนี้ถูกอรรถาธิบายว่าเป็นผู้เกลียดชังเทพเจ้า พลังของเขาที่ใช้สู้กับ ซุส นั้นคือความสามารถในการใช้ ‘เนตรเทพลักษณ์’ (Eyes of the Lord) คือพลังในการมองและเลียนแบบท่าทางของคู่ต่อสู้ (ในมังงะตีความความสามารถในการเลียนแบบว่า เป็นสิ่งที่ได้มาจากการที่อาดัมถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้า เขาจึงมีสภาพเป็นของเลียนแบบ และมีพลังแห่งการเลียนแบบ)  อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน ส่วนภูมิหลังของอาดัมถูกเล่าว่า สาเหตุที่เขา (และ อีฟ ผู้เป็นภรรยา) ได้ออกมาจากสวรรค์นั้น เป็นเพราะว่า เทพนาคาผู้ชั่วร้ายต้องการสมสู่กับอีฟ แต่อีฟไม่ยอม เทพนาคาจึงได้ใส่ร้ายว่าอีฟกินผลไม้ (แอปเปิล) ต้องห้ามของพระเจ้าเข้าไป อีฟจึงถูกเรียกมาพิพากษาในศาลของบรรดาเทพเจ้า ซึ่งในระหว่างไต่สวนนั้นเอง อาดัมได้บุกเข้ามาพร้อมตะกร้าแอปเปิล พร้อมกับกัดกินแอปเปิลหลายลูกต่อหน้าเทพทั้งปวง เขาบอกว่าถ้าอีฟต้องออกจากสวรรค์ ตนก็จะไปด้วย เป็นตอนนั้นเองที่เทพนาคาเข้าจู่โจมอาดัม เขาจึงใช้ความสามารถ ‘เนตรเทพลักษณ์’ ในการจู่โจมกลับแล้วชนะเทพนาคา จากนั้นทั้งสองก็จูงมือกันออกจากสวรรค์ไปด้วยกัน  อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน หากอ่านภูมิหลังการออกจากสวรรค์ในมังงะเรื่องนี้แล้ว ผู้อ่านอาจจะรู้สึกได้ว่าเป็นการตีความที่ ‘เลยเถิด’ เกินกว่าเนื้อหาดั้งเดิมในพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่า ซึ่งงูเป็นคนมาล่อลวงอีฟให้กินผลไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว (แล้วอีฟก็กิน จากนั้นก็ส่งให้อาดัมกิน ตามมาด้วยการถูกพระเจ้าลงโทษและขับออกจากสวนแห่งเอเดน) หรืออย่างการที่อีฟถูกพิพากษาต่อหน้าเทพจำนวนมาก (ทั้ง ๆ ที่บางคนเชื่อว่าควรจะมีพระเจ้าเพียงองค์เดียว) หรือการที่อาดัมมากินผลไม้เพื่อช่วยอีฟนั้น ดูขัดกับเนื้อเรื่องในปฐมกาลจนดูยากจะเชื่อการตีความของผู้เขียนมังงะ  เช่นนั้นแล้ว ผู้เขียนบทความนี้จะขอลองพยายามอธิบายที่มาที่ไปและความเป็นไปได้ของภูมิหลังแห่งอาดัมที่ถูกเล่าในมหาศึกฯ ซึ่งในการสืบสาวราวเรื่อง (แล้วย่อยเนื้อหาอันมากมายให้อยู่ในพื้นที่อันจำกัด) นี้ เราจะลองอ่านและสำรวจตัวบทในปฐมกาล (Genesis) โดยอ่านทั้งตัวประโยคและตีความช่องว่างระหว่างบรรทัด พร้อม ๆ กันนั้น เราจะอ่านมันโดยวางเคียงคู่กับเอกสารแวดล้อมอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับพระคัมภีร์ไบเบิล อาทิ อัลกุรอาน คัมภีร์โทราห์ (Torah) บทตีความของรับบี (Rabbi) ไปจนถึงกลุ่มเอกสารนอกระบบ (Apocrypha) อาทิ Life of Adam and Eve หรือเอกสารไญยนิยมอย่าง The Secret Revelation of John ความเชื่อของลัทธิคับบาลาห์ (Kabbalah) ไปจนถึงมหากาพย์ที่นำเหตุการณ์ในสวนเอเดนมาเล่าอย่างโลดโผนโจนทะยานอย่าง Paradise Lost (1667) ของ จอห์น มิลตัน (John Milton) รวมทั้งตำนานของอารยธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงกับแหล่งกำเนิดพระคัมภีร์ อาทิ เมโสโปเตเมีย อียิปต์ และกรีก เป็นต้น อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน กำเนิดมนุษย์คนแรก เป็นเรื่องถกเถียงกันมานมนานถึงการที่ใน ปฐมกาล มีเรื่องการสร้างมนุษย์ที่มีรายละเอียดแตกต่างกัน คือในบทที่ 1 เป็นเรื่องพระเจ้าสร้างโลกในเจ็ดวัน ซึ่งหลังจากที่สร้างฟ้า น้ำ แผ่นดิน พืช สัตว์ พระเจ้าก็สร้างมนุษย์ขึ้นมาในวันที่หก ซึ่งการสร้างทั้งปวงใช้วิธีการ ‘พูด’ คำออกมา ส่วนในบทที่ 2 เล่าเจาะจงเฉพาะการสร้างมนุษย์ โดยพระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาจากดินแล้วพ่นลมหายใจเข้าไปเพื่อให้ชีวิต ซึ่งความแตกต่างของสองบทปฐมกาลนี้ก็ถูกผู้คนอ่านผ่านความเป็นไปได้หลาย ๆ แบบ ตั้งแต่ว่าบทที่สองคือการมองย้อนกลับเข้าไปสำรวจจำเพาะเหตุการณ์สร้างมนุษย์ในบทแรก ไปจนถึงการมองผ่านทฤษฎี Documentary Hypothesis (ซึ่งมองว่าพระคัมภีร์พันธสัญญาเก่าเกิดจากการรวมเอกสารจากต่างแหล่งเข้าไว้ด้วยกัน) ว่าบทที่หนึ่งกับสองมาจากต้นฉบับคนละชุดกันที่ถูกนำมารวมภายหลัง  ไม่ว่าจะอย่างไร เป็นที่น่าสนใจว่า การสร้างคนขึ้นมาจากดิน/โคลน นั้นก็พบในเรื่องเล่าและเอกสารโบราณของวัฒนธรรมบ้านใกล้เรือนเคียงอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็น เมโสโปเตเมีย (ในเรื่อง Atra-Hasis เทพีมามิ นำเอาดินมาผสมกับเลือดเนื้อของเทพที่ถูกสังหาร) อียิปต์ (เทพคนุม ปั้นคนจากดินด้วยเครื่องปั้นหม้อ) กรีก (เทพปั้นคนขึ้นมาจากดิน แล้วเทพีอาธีนาพ่นลมหายใจเข้าไป) ความสัมพันธ์ระหว่างคนและดินนี้ สะท้อนออกมาในคำว่า ‘อาดัม’ (אָדָם) ซึ่งเป็นข้อสันนิษฐานกันมายาวนานว่า น่าจะสัมพันธ์กับคำว่า อาดามาห์ (אדמה) ที่แปลว่า ผืนดิน ความสัมพันธ์นี้ถูกเน้นย้ำชัดเจนในพระวจนะของพระเจ้าถึงจุดเริ่มต้นและจุดจบของอาดัม “เจ้าจะต้องหากินด้วยเหงื่ออาบหน้าจนเจ้ากลับไปเป็นดิน เพราะเจ้าถูกนำมาจากดิน และเพราะเจ้าเป็นผงคลีดิน และเจ้าจะกลับเป็นผงคลีดินดังเดิม” (ปฐมกาล 3:19) นอกจากนี้ยังเป็นไปได้สูงมากว่า พระเจ้าสร้างมนุษย์ขึ้นมาอาจจะเพื่อปลูกและดูแลสวน “เมื่อยังไม่มีต้นไม้ตามทุ่งบนแผ่นดิน และพืชตามทุ่งก็ยังไม่งอกขึ้นเลย เพราะพระยาห์เวห์พระเจ้ายังไม่ได้ทรงให้ฝนตกบนแผ่นดิน ทั้งยังไม่มีมนุษย์เพาะปลูกบนดิน” (ปฐมกาล 2:5) และ “พระยาห์เวห์พระเจ้าทรงปลูกสวนแห่งหนึ่งไว้ในเอเดนทางทิศตะวันออก และทรงกำหนดให้มนุษย์ที่พระองค์ทรงปั้นอยู่ที่นั่น” (ปฐมกาล 2:8) ซึ่งการสร้างมนุษย์ให้มาดูแลเพาะปลูกเรือกสวนไร่นานี้ได้ปรากฏอยู่ในตำนานสร้างมนุษย์ของเมโสโปเตเมีย/บาบิโลนเช่นเดียวกัน (ดูเรื่อง Enuma Elish และ Atra-Hasis)  อีกประเด็นที่น่าสนใจคือคำว่า ‘อาดัม’ ที่ปรากฏขึ้นมาในช่วงแรกของปฐมกาลนั้นเป็นคำที่มีความหมายรวม ๆ หมายถึง ‘มนุษย์’ จนเมื่อเข้าบทต่อมา ‘อาดัม’ จึงหมายถึงมนุษย์ผู้ชายคนที่พระเจ้าสร้างและก่อเรื่องผลไม้ต้องห้าม และเมื่อสุดท้ายเข้าปฐมกาล 5:1 “ต่อไปนี้เป็นหนังสือลำดับพงศ์พันธุ์ของอาดัม” อาดัมจึงกลายเป็นชื่อบุคคลอย่างเต็มตัว เช่นนั้นเอง เรื่อง​ ปฐมกาล 1:27 “พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ (Adam) ขึ้น และทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” จึงเปิดช่องว่างไปสู่การอ่านและการตีความอีกหลายแบบ มนุษย์ถูกแบ่งร่าง ในปฐมกาล 2:18 “พระยาห์เวห์พระเจ้าตรัสว่า ‘การที่ชายผู้นี้จะอยู่แต่ลำพังนั้นไม่ดี เราจะสร้างคู่อุปถัมภ์ที่เหมาะสมกับเขาขึ้น’” ซึ่งตรงนี้เองที่เป็นการกำเนิดของอีฟ (สังเกตว่า นี่เป็นครั้งแรกที่พระเจ้าตรัสว่า ‘นั้นไม่ดี’ ซึ่งก่อนหน้านี้ทุกอย่างที่พระเจ้าทรงสร้างนั้น ‘ดี’ ไปหมด) ใน 2:21-22 “แล้วพระยาห์เวห์พระเจ้าจึงทรงทำให้ชายนั้นหลับสนิท ขณะที่เขาหลับอยู่ พระองค์ทรงชักกระดูกซี่โครงซี่หนึ่งของเขาออกมา แล้วทำให้เนื้อติดกันเข้าแทนกระดูก ส่วนกระดูกซี่โครงที่พระยาห์เวห์พระเจ้าได้ทรงชักออกจากชายนั้น พระองค์ทรงสร้างให้เป็นหญิง แล้วทรงนำมาให้ชายนั้น” จากนั้นชายนั้นจึงกล่าวว่า “นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา เนื้อจากเนื้อของเรา จะเรียกคนนี้ว่าหญิง (isha) เพราะคนนี้ออกมาจากชาย (ish)” (คำว่า กระดูกชายโครง หรือ ribs ในที่นี้ ภาษาฮีบรู ‘tzeila’ แปลว่า ด้าน/ข้าง ซึ่งก็นำไปสู่การตีความต่าง ๆ ว่าทำไมต้องสร้างจาก ‘ข้าง’)  การ ‘ผ่าตัด’ (ดึงเนื้อและกระดูกออกมาแล้วปิดเนื้อกลับเข้าไป) ของพระเจ้านี้ถูกไปเปรียบเปรยกับตำนานสร้างมนุษย์ที่ปรากฏอยู่ในหนังสือ Symposium ของเพลโตว่า เดิมทีมนุษย์มีสองร่างติดกัน (มีทั้ง ชาย-ชาย หญิง-หญิง ชาย-หญิง) ต่อมาโดนเทพเจ้าผ่าครึ่ง มนุษย์จึงมีสภาพกลายเป็นสิ่งไม่สมบูรณ์ และใช้ชีวิตในการตามหาอีกครึ่งที่หายไป ซึ่งการตีความมนุษย์คนแรกในปฐมกาลก็มีอยู่เรื่องราวหนึ่งที่ว่า มนุษย์นั้นแรกกำเนิดมีสองเพศ (hermaphrodite) ตามการอ่านประโยคใน 1:27 “พระองค์ทรงสร้างมนุษย์ขึ้น และทรงสร้างให้เป็นชายและหญิง” และการแบ่งหญิงออกมาจากมนุษย์คนแรก ทำให้เพศถูกแบ่งออกมา (ซึ่งการอ่านช่องว่างใน 1:27 ก็นำไปสู่เรื่องอีกว่ามนุษย์ชุดแรกในปฐมกาลบทแรกนั้นอาจจะมีหลายคนและมีทั้งชายและหญิง แต่พวกเขากระจัดกระจายอยู่บนผืนโลก ในขณะที่บทสองนั้นพูดถึงเฉพาะมนุษย์ผู้ชายคนที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่ในสวนเอเดน) อย่างไรก็ดี มนุษย์ผู้หญิงซึ่งขณะนี้ยังไม่ได้ชื่ออีฟ เนื่องจากอาดัมจะเป็นผู้ตั้งชื่อให้หลังออกจากสวนเอเดนแล้ว (อาดัมมีพลังอำนาจคล้ายคลึงกับพระเจ้าอย่างหนึ่ง คือมีอำนาจแห่งการเป็น ‘ผู้เรียกชื่อ’ หรือ Nomothete ดังเช่นที่เขาตั้งชื่อสัตว์ต่าง ๆ รวมถึงเรียกมนุษย์ที่แยกออกมาจากเขาว่า ‘ผู้หญิง’) ก็ถูกสร้างขึ้นมาโดยพระเจ้าหวังให้มาเป็นผู้ช่วยเหลือมนุษย์ผู้ชาย ซึ่งชายเองก็ยอมรับว่าหญิงเป็นเนื้อเดียวกับเขา (1:23 “นี่แหละ กระดูกจากกระดูกของเรา เนื้อจากเนื้อของเรา” และ 1:24 “เพราะเหตุนั้นผู้ชายจะละจากบิดามารดาของเขาไปผูกพันอยู่กับภรรยา และเขาทั้งสองจะเป็นเนื้อเดียวกัน”) ซึ่งผู้หญิงคนนี้เองที่จะมีบทบาทสำคัญต่อชะตากรรมของมนุษยชาติ อาดัมกินผลไม้ต้องห้าม ณ กลางสวนนั้น มีต้นไม้อยู่สองต้นที่พระเจ้าสั่งห้ามอาดัมมิให้กินผลไม้จากต้นนั้น คือต้นไม้แห่งชีวิต และต้นไม้แห่งความรู้ดีรู้ชั่ว แต่จนแล้วจนรอด เหตุการณ์มันก็เกิดขึ้น เมื่อเจ้างูที่สามารถพูดภาษาคนได้มายั่วยุมนุษย์ผู้หญิงว่าให้กินผลไม้ แล้วบอกว่าไม่ต้องเชื่อพระเจ้าหรอกว่ากินแล้วเจ้าจะตาย เจ้าจะไม่ตายแน่ “เพราะพระเจ้าทรงทราบอยู่ว่า พวกเจ้ากินผลจากต้นไม้นั้นวันใด ตาของพวกเจ้าจะสว่างขึ้นในวันนั้น แล้วพวกเจ้าจะเป็นเหมือนอย่างพระเจ้า คือรู้ความดีและความชั่ว” (ปฐมกาล 3:5) แล้วผู้หญิงก็มอบผลไม้ให้ผู้ชายกิน ตาของทั้งสองจึงสว่างขึ้น และรู้สึกตัวว่ากำลังเปลือยกาย พวกเขาก็นำใบมะเดื่อมาปกปิดอวัยวะเพศ (ดั่งเป็นสัญลักษณ์ว่าแหล่งกำเนิดชีวิตบัดนี้ได้แปดเปื้อนบาปเสียแล้ว) ซึ่งเหตุการณ์นี้นำมาสู่สิ่งที่เรียกว่า ‘การตกในบาป’ (The Fall of Man หรือสั้น ๆ ว่า The Fall) ที่มนุษย์สูญเสียสถานะความไร้เดียงสาและความบริสุทธิ์ไป อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน เหตุการณ์ The Fall นี้คือจุดเปลี่ยนและจุดเริ่มต้นอันสำคัญของประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ เรื่องราวภายในช่วงเหตุการณ์นี้ได้รับการวิเคราะห์และตีความออกมามากมายมหาศาล อาทิ เรื่องของงูว่างูตัวนี้เป็นใคร ซึ่งก็มีตั้งแต่การบอกว่าตัวตนที่แท้จริงของงูคือซาตาน ซึ่งมุมมองนี้น่าจะเกิดจากที่มีการเปรียบงูกับซาตานในพันธสัญญาใหม่ เช่น วิวรณ์ 12:9 “พญานาคใหญ่ตัวนั้นคืองูดึกดำบรรพ์ ที่เขาเรียกกันว่ามารและซาตานผู้ล่อลวงมนุษย์ทั้งโลก” ส่วนในเรื่องเล่านอกสารบบก็มีเล่าว่า ซาตานเข้าสิงงูมาล่อลวงผู้หญิง ส่วนถ้าดูอัลกุรอาน ผู้ล่อลวงให้กินผลไม้คือ ‘ชัยฏอน’ (شَيْطٰان) ซึ่งมีความหมายเดียวกับ ‘ซาตาน’ (แต่ก็ต้องขออรรถาธิบายไว้หน่อยว่า คำว่าซาตานในช่วงแรกของพระคัมภีร์ดูจะมีความหมายถึงผู้เป็นปฏิปักษ์ จนเข้าช่วงต่อ ๆ มาของพระคัมภีร์ ซาตานจึงค่อยมีความหมายเจาะจงถึงเทพตกสวรรค์ผู้ชั่วร้าย) ก่อนที่พระเจ้าจะไล่มนุษย์ทั้งสองออกไป พระเจ้าได้ตรัสว่า “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว โดยที่รู้ความดีและความชั่ว บัดนี้ อย่าปล่อยให้เขายื่นมือไปหยิบผลจากต้นไม้แห่งชีวิตมากินด้วย แล้วมีอายุยืนชั่วนิรันดร์” เรื่องราวในตอน The Fall นี้ พบความคล้ายคลึงกันกับตำนานโบราณอื่น อาทิ มนุษย์ได้สูญเสียความเป็นอมตะ/โอกาสที่จะเป็นอมตะด้วยฝีมือของงูนั้นพบในมหากาพย์กิลกาเมช คือถูกงูขโมยพืชแห่งความอมตะไปหลังจากตามหามานานจนครอบครองไว้ได้ ส่วนความอยากรู้อยากเห็นของมนุษย์ผู้หญิง (ปฐมกาล 3:6 “เมื่อหญิงนั้นเห็นว่าต้นไม้นั้นดีน่ากิน ทั้งเป็นต้นไม้น่าปรารถนาที่ทำให้เกิดปัญญา จึงเก็บผลไม้นั้นมากิน”) ก็เป็นเช่นเดียวกันกับการที่ แพนโดรา (Pandora) มนุษย์ผู้หญิงคนแรกในตำนานกรีก อยากรู้อยากเห็นจนเปิดกล่องต้องห้ามจนนำความตายและภัยพิบัติมาสู่โลก (เรื่องเล่าของแพนโดราอาจพบแตกต่างกันไปในต่างเวอร์ชัน) จับแพะชนแกะวิเคราะห์อาดัมในมหาศึกฯ จากที่สรุปเรื่องไปเบื้องต้น จะเห็นได้ว่ามีบางช่วงที่ภูมิหลังของอาดัมในมหาศึกฯ ดูพอจะเข้าเค้ากับต้นฉบับ แต่ก็มีอีกบางส่วนที่ดูเลยไกลไปมาก ซึ่งเราจะมาจับแพะชนแกะ เอาช่องว่างและเรื่องเล่าจากเอกสารต่าง ๆ มาลองอธิบายดังต่อไปนี้ ขอเริ่มที่ท้ายเรื่องภูมิหลังอาดัมในมหาศึกฯ ในตอนก่อนออกจากสวรรค์นั้น อีฟถูกตัดสินอยู่ในสภาเทพที่มีเทพหลายองค์ ซึ่งแน่นอนว่าถ้ามองจากจักรวาลมหาศึกฯ การเห็นเทพต่างศาสนามารวมกันคงไม่ใช่เรื่องแปลก แต่หากมองจากมุมมองพระเจ้าองค์เดียวของคริสต์ก็อาจจะดูประหลาดสำหรับบางคน ซึ่งในจุดนี้ เราจะมาพิจารณาประเด็นที่ว่า พระเจ้าใช้คำว่า ‘เรา’ ที่เป็นพหูพจน์บ่อยครั้ง (ปฐมกาล 1:26 “ให้เราสร้างมนุษย์ตามฉายาของเรา ตามอย่างของเรา” หรือภาษาอังกฤษ “Let us make mankind in our image, in our likeness” และ 3:22 “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว”) คำถามคือ ‘เรา’ หรือ ‘พวกเรา’ นี้หมายถึงอะไร ซึ่งก็มีข้อสันนิษฐานอยู่ว่า ‘เรา’ นี้ก็คือบรรดา เทวดา (angel) ของพระเจ้านี่เอง ดังที่จะเห็นได้ว่าเทวดาต่าง ๆ ได้เข้ามามีบทบาทหลายครั้งในช่วงอื่นของพระคัมภีร์ ถ้าอ่านจากอัลกุรอาน เทวดา (มลาอิกะฮ์) ทั้งหลายได้มีบทบาทอยู่กับพระเจ้าตั้งแต่ตอนสร้างมนุษย์แล้ว ส่วนถ้าจะมองจากเอกสารฝั่งไญยนิยม ผู้สร้าง (demiurge) ก็เป็นเพียงหนึ่งในเทพอื่น ๆ นอกจากนั้นแล้ว ใน Life of Adam and Eve เทวดาก็มีบทบาทอยู่มากมายในเรื่อง เช่นนั้นเอง ฉากสภาเทพจึงไม่ได้ไกลจากสิ่งที่บันทึกอยู่ในเอกสารศาสนาจากสมัยโบราณเหล่านี้เท่าใดนัก หรือถ้าจะมองในอีกแง่ เอกสารเหล่านี้ก็ได้มาช่วยตอบข้อสงสัยเกี่ยวกับพหูพจน์ ‘เรา’ ที่ว่า (อันที่จริงหากอ่าน Paradise Lost ก็จะพบว่าเทวดามีบทบาทมากมายเหลือเกิน รวมทั้งมิลตันก็ได้เอ่ยชื่อเทวดาพร้อมอ้างชื่อเทพเจ้ากรีกโรมันอยู่เรื่อยไปในบทกวี ทำให้ฉากพิพากษาต่อหน้าหมู่มวลเทพจากหลากชาตินี้ดูไม่มีอะไรแปลกเลย) ส่วนฉากเทพนาคาข่มขืนอีฟ ก็เป็นไปได้เช่นกัน ในหนังสือ Midrash Rabbah ซึ่งรวมบทตีความคัมภีร์นั้น มีข้ออธิบายว่า ซาตานต้องการให้อาดัมกินผลไม้แล้วตายเพื่อที่ตัวเองจะได้อีฟมาครอง (ก็คือต้องการตัวอีฟ) ส่วนใน The Secret Revelation of John นั้น เทพผู้สร้าง คือ ยัลดาบาออธ (Yaldabaoth) ซึ่งมีร่างเป็นงูหัวสิงโตนั้นข่มขืนอีฟได้สำเร็จ! ส่วนรูปร่างของเทพนาคาที่ดูยิ่งใหญ่กว่างูปกติ ถ้าไม่ใช่ว่าเทียบเคียงได้กับยัลดาบาออธแล้ว ก็อาจจะเป็น ซามาเอล (Samael) ที่ใน Midrash Rabbah บอกว่าเป็นปีศาจที่เป็นหัวหน้าของพวกงู หรือถ้าจะอ่าน วิวรณ์ 12:9 ก็อาจจะคือ ‘พญานาค’ (The Great Dragon) อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน ส่วนการที่อาดัมจงใจกินแอปเปิลเพื่อที่จะรับโทษไปพร้อมกับอีฟนั้น เป็นช่องว่างของเรื่องที่อยู่ในปฐมกาล 2:6 “จึงเก็บผลไม้นั้นมากิน แล้วส่งให้สามีที่อยู่กับเธอกินด้วย เขาก็กิน” เราไม่รู้เลยว่าอาดัมกินผลไม้ด้วยเหตุผลหรือจุดประสงค์อะไร อาจจะกินเพราะโดนหลอก หรืออาจจะรู้อยู่แล้วเต็มอก ตรงนี้เองที่ทำให้ จอห์น มิลตัน เล่าในมหากาพย์ Paradise Lost ว่า อาดัมรู้ว่าอีฟได้ตกในบาปแล้ว เขาจึงกินผลไม้เพื่อร่วมชะตากรรมไปพร้อมกับอีฟด้วย ซึ่งในมหาศึกฯ ก็สื่อความในใจของอาดัมคล้ายลักษณะนี้ ส่วนด้านพลังของอาดัมนั้น แน่นอนว่า ‘เนตรเทพลักษณ์’ นั้นน่าจะมาจากการที่เขากินผลไม้ต้องห้ามลงไป (ปฐมกาล 3:7 “ตาของเขาทั้งสองคนก็สว่างขึ้น”) และพลังที่สามารถสู้ทัดเทียมเทพนั้นก็น่าจะมาจากการกินผลไม้เช่นเดียวกัน (3:22 “ดูสิ มนุษย์กลายเป็นเหมือนผู้หนึ่งในพวกเราแล้ว”) หรือในทางไญยนิยมนั้นบอกว่า อาดัมเป็นผู้มีความรู้และพลังอันยิ่งใหญ่ ส่วนเรื่องพลังการเลียนแบบนั้น นอกจากเรื่องการถูกสร้างตามพระฉายาของพระเจ้าแล้ว (ซึ่งก็มีประเด็นให้ขยายความอีกว่า ความเป็น Image of God หรือภาษาละติน Imago Dei นั้น เป็นสิ่งที่ประทับอยู่ในวิญญาณ หาใช่ร่างกาย เนื่องจากพระผู้เป็นเจ้ามิได้ดำรงอยู่ในรูปวัตถุ สภาพการถูกสร้างตามฉายาพระเจ้าไม่ควรจะหมายถึงรูปลักษณ์ภายนอกของมนุษย์) ในมุมของคับบาลาห์ และนักปราชญ์ไฟโล (Philo) นั้นบอกว่ามีอาดัมที่สูงส่งศักดิ์สิทธิ์อยู่ในมิติเทพ อาดัมที่อยู่บนโลกเป็นอีกร่างแยกออกมา (คล้ายทฤษฎีโลกของแบบ ของเพลโต) ส่วนทางไญยนิยมนั้น ยัลดาบาออธสร้างอาดัมบนพื้นโลกเลียนแบบอาดัมในมิติสวรรค์  จับมือกันออกจากสวรรค์  การออกจากสวนแห่งเอเดนนั้น ถูกตีความในหลายแง่มุม บ้างก็บอกว่า มันคือสัญลักษณ์ของการสูญเสียความไร้เดียงสาแบบวัยเด็กก้าวสู่การเป็นผู้ใหญ่ (แต่เป็นการเติบโตที่ไม่ดีในสายตาของพ่อแม่สายบังคับ เนื่องจากไม่ได้เป็นไปตามทางที่พ่อแม่วางไว้ให้) ส่วนมุมมองจิตวิเคราะห์ก็บอกว่าคือกระบวนการกลายเป็นปัจเจก (individuation) หรือการตีความโดยอิงมุมมองจาก Wisdom of Solomon ก็ว่าพระเจ้าให้มนุษย์ทั้งสองออกจากสวนเอเดนเพื่อช่วยเหลือไม่ให้โดนพวกปิศาจซาตานมาทำร้ายและใช้เป็นเครื่องมือ ไปจนถึงการตีความสัญลักษณ์ถึงจุดเปลี่ยนในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ว่าการออกจากแหล่งอาหารอันสมบูรณ์ไปออกแรงออกเหงื่อเพื่ออาหารนั้นเป็นเรื่องราวสื่อถึงการปฏิวัติยุคหินใหม่ (Neolithic Revolution) อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน ในทันทีที่ทั้งสองเดินออกจากสวนแห่งเอเดน การแตกออกเป็นสอง ก็เกิดขึ้นอย่างสมบูรณ์ที่สุด และเป็นสัญญาณจุดเริ่มต้นครั้งใหม่และครั้งใหญ่ของมนุษยชาติ หากสังเกตดูตั้งแต่กำเนิดโลก จะพบว่าการสร้างโลกและมนุษย์คือการแบ่งหนึ่งออกเป็นสอง คือการแตกเวลาออกจากนิรันดร์กาล แยกฟ้ากับแผ่นดิน แสงสว่างกับความมืด ฟ้ากับน้ำ แผ่นดินกับทะเล ผู้ชายกับผู้หญิง ในการสร้างมนุษย์ก็คือการใส่วิญญาณเข้าไปในสสาร และในเมื่อมนุษย์กินผลไม้ต้องห้าม พวกเขาก็รู้ดีและรู้ชั่ว เผชิญกับความเป็นและความตาย และเมื่อก้าวออกจากสวน พระเจ้าก็ทรงตั้งเครูบ (Cherubim) กับดาบเพลิงเพื่อปกป้องทางกลับเข้าสู่เอเดน เมื่อนั้นโลกมนุษย์และโลกพระเจ้าก็แบ่งแยกออกจากกันอย่างชัดเจน  ใน Paradise Lost เทวดามิคาเอลได้บอกอาดัมว่า “ออกจากสวรรค์นี้ แต่ครองอีกสวรรค์ภายในตัว มีสุขมากมายกว่าหลายเท่านัก” จึงเป็นการตอกย้ำการแบ่งสอง ละทิ้งโลกภายนอกและกลับเข้าหาโลกภายใน ส่วนในมหาศึกคนชนเทพ อาดัมกับอีฟจูงมือกันกลับคืนสู่ความเป็นหนึ่ง ลืมความเป็นหนึ่งของดินแดนเก่า เดินออกจากสวรรค์อย่างมั่นอกมั่นใจ ออกไปเริ่มต้นหนึ่งกับความเป็นหนึ่งอันใหม่ “เราจะออกไปสร้างสวรรค์แห่งใหม่ด้วยกัน”  และก็เป็นสวรรค์แห่งใหม่นี้ ที่ต่อมาคลี่คลายและแตกแยกออกไปจนความเป็นหนึ่งกลายเป็นเพียงตำนานให้ลูกหลานเรียนรู้และลืมเลือนจนสร้างความบัดสีและฉิบหายให้กับโลก จนกระทั่งบรรดาเทพเจ้าต้องการล้างโลก (เช่นเดียวกับในตำนานน้ำท่วมโลกต่าง ๆ ในหลายบันทึกโบราณ) แต่คราวนี้ อาดัมผู้เป็นปฐมบิดานั้นรักลูกหลานเหลือเกิน จนต้องสู้กับเทพเจ้าจนถึงวาระสุดท้ายของสุดท้าย จนการแตกเป็นสองของตัวเองสลายหายไป ไม่เหลือแม้เพียงหนึ่ง อาดัม: การตั๊นหน้าเทพเจ้าของมนุษย์คนแรก กับหลายการตีความ ณ สวนเอเดน อ้างอิง/อ่านเพิ่มเติม อรรถาธิบายพระคัมภีร์ โทราห์ และปกรณัมคติของยิว Ariel’s Bible Commentary: The Book of Genesis ของ Arnold G. Fruchtenbaum Asimov’s Guide to Bible ของ Isaac Asimov Midrash Rabbah แปลโดย H. Freedman และ Maurice Simon The Oxford’s Bible Commentary Trees of Soul: The Mythology of Judaism ว่าด้วยเอกสารนอกระบบและลัทธิความเชื่อต่าง ๆ The Essence of Kabbalah ของ Brian L. Lancaster The Kabbalistic Tradition โดย Alan Unterman The Secret Revelation to John ของ Karen L. King A Synopsis of the Books of Adam and Eve โดย Gary A. Anderson และ Michael E. Stone หนังสือที่ศึกษาเรื่องปฐมกาล The Book of Genesis: A Biography ของ Ronald Hendel The Evolutions of Adam: What the Bible Does and Doesn’t Say about Human Origins ของ Peter Enns The Lost World of Adam and Eve ของ John H. Walton Out of Paradise: Eve and Adam and their Interpreters โดย Bob Becking และ Susanne Hennecke ศาสนาและตำนานเปรียบเทียบ The Hero with a Thousand Faces และ Thou Art That และ The Power of Myths ของ Joseph Campbell Jung on Christianity โดย Murray Stein ตำนานสร้างมนุษย์ในอารยธรรมโบราณ Creation Myths of the World: An Encyclopedia ของ David Adams Leeming Myths from Mesopotamia แปลโดย Stephanie Dalley Theogony และ Works and Days ของ Hesiod แปลโดย M.L.West เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์ ภาพ: https://www.youtube.com/watch?v=pYgrhU93lJg The Creation of Adam, 1508 - 1512 - Michelangelo - WikiArt.org