อโดรา สวิทัก : ‘อะไรคือสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้จากเด็ก ๆ’... หัวข้อ TED Talks ที่ชวนตั้งคำถามว่าเด็กสอนอะไรผู้ใหญ่ได้บ้าง ?

อโดรา สวิทัก : ‘อะไรคือสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้จากเด็ก ๆ’... หัวข้อ TED Talks ที่ชวนตั้งคำถามว่าเด็กสอนอะไรผู้ใหญ่ได้บ้าง ?
“ระบอบการปกครองแบบเผด็จการ เด็ก ๆ มักไม่มีสิทธิ์หรือมีน้อยมากในการบัญญัติกฎต่าง ๆ ในขณะที่จริง ๆ แล้ว การตั้งกฎควรมาจากสองฝ่าย”
อโดรา สวิทัก (Adora Svitak) ในวัย 12 ปี กล่าวบนเวที TED Talks เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ปี 2010 ในหัวข้อ ‘อะไรคือสิ่งที่ผู้ใหญ่สามารถเรียนรู้ได้จากเด็ก ๆ’ (What adults can learn from kids) เพื่อชักชวนให้ผู้ใหญ่รับฟังเสียงของเด็ก และเปิดพื้นที่ให้เด็กได้มีส่วนร่วมกับเรื่องสำคัญที่มักถูกมองว่าเป็น ‘เรื่องของผู้ใหญ่’ ตั้งแต่การศึกษาในห้องเรียนไปจนถึงปัญหาสิ่งแวดล้อม  แม้เนื้อหาจะชวนเครียด แต่การเลือกสรรถ้อยคำและวิธีการเล่าเรื่องของอโดรากลับทำให้ผู้ใหญ่หลายคนที่นั่งฟังยิ้มได้ ตามด้วยเสียงปรบมือครั้งแล้วครั้งเล่า จากมุกตลกที่อโดราแทรกเข้ามาอย่างชาญฉลาด และคำถามกระตุกความคิดตั้งแต่เริ่มต้น “หนูขอเริ่มด้วยคำถามหนึ่ง คุณถูกเรียกว่า ‘ทำตัวเหมือนเด็ก’ (childish) ครั้งสุดท้ายเมื่อไหร่?” เธอพูดประโยคนี้ ตามด้วยตัวอย่างของเด็กและผู้ใหญ่ที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับโลก ก่อนจะบอกว่า “ดังนั้น หากคุณมองจากตัวอย่างดังกล่าว อายุ ไม่ได้มีส่วนเลยแม้แต่น้อย คุณลักษณะของการ ‘ทำตัวเหมือนเด็ก’ ที่สื่อออกมานั้น หลายครั้งผู้ใหญ่ก็เป็นเหมือนกัน และเราก็ควรยกเลิกการใช้คำเชิงกีดกันอายุคำนี้ โดยเฉพาะในการวิจารณ์พฤติกรรมที่เกี่ยวข้องกับ ‘การไร้ความรับผิดชอบ’ และ ‘การคิดแบบไร้เหตุผล’” นี่เป็นเพียงเนื้อหาส่วนหนึ่งที่ทำให้ผู้เขียนรู้สึกทึ่งกับมุมมอง ความคิดและความมั่นใจของเด็กหญิงอายุ 12 ขวบคนนี้ และ TED Talks ไม่ใช่เวทีสุดท้ายของเธอ เพราะหลังจากนั้นเธอคือผู้ริเริ่ม TEDxRedmond ในปี 2010 ซึ่งจัดขึ้นโดยเยาวชน เพื่อเยาวชน พ่อแม่ คุณครู และผู้นำชุมชน นอกจากนี้อโดรายังขึ้นเวทีกล่าวสุนทรพจน์ไม่ต่ำกว่า 100 ครั้ง ตั้งแต่อายุยังไม่ถึง 13 ปี ทั้งในสถานศึกษาไปจนถึงองค์กรต่าง ๆ อย่าง Google หรือคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC)    จากนักอ่านและนักเขียน สู่การเป็นนักพูด อโดราเล่าว่า จุดเริ่มต้นของการออกมาขับเคลื่อนสังคมในประเด็นดังกล่าว เป็นเพราะก่อนหน้านี้ เธอเข้าร่วมประชุมด้านการศึกษาหลายแห่ง เพื่อกล่าวสุนทรพจน์ต่อนักการศึกษา แต่อโดราเริ่มสังเกตเห็นว่าแม้ผู้ใหญ่เหล่านี้จะมาพูดคุยเกี่ยวกับการพัฒนาและการเรียนรู้ของนักเรียน แต่ ‘นักเรียน’ แทบไม่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมเหล่านั้นเลย เธอจึงมองว่า ‘การขาดตัวแทน’ ของนักเรียนในวงสนทนาที่เกี่ยวข้องกับพวกเขา ส่งผลกระทบต่อเด็กและเยาวชนคนอื่น ๆ รวมทั้งตัวเธอเองโดยตรง กลายเป็นจุดเริ่มต้นของการเป็นนักเคลื่อนไหวที่เกี่ยวข้องกับเด็กและเยาวชนมาตั้งแต่ตอนนั้น ย้อนกลับไปในวัยเยาว์ (กว่าตอนที่เธออยู่บนเวที) อโดรา สวิทัก เกิดในรัฐออกอน และเติบโตมาในครอบครัวที่เปิดกว้างทางความคิด แม่ของเธอเป็นชาวจีนอพยพ พ่อของเธอเป็นวิศวกรซอฟต์แวร์ ส่วนอโดราเองก็เป็นเด็กธรรมดาคนหนึ่งที่ชอบไปแคมป์ปิ้งกับเพื่อน ๆ พูดคุยกัน ดูหนัง และเล่นบอร์ดเกม แต่สิ่งที่พิเศษคือมุมมองความคิดที่ก้าวกระโดดไปก่อนอายุ อาจเพราะวัยเด็กที่พ่อของอโดรามักจะอ่านบทความของอริสโตเติล และนักสู้เชื้อโรคผู้บุกเบิกให้ฟัง ขณะที่เพื่อนคนอื่น ๆ กำลังฟังเพลงสำหรับเด็ก “พวกเราก็ได้ฟังเหมือนกัน แต่เรื่องของ ‘นักต่อสู้กับเชื้อโรคผู้บุกเบิก’ เจ๋งกว่า” เธอกล่าวบนเวที TED Talks ซึ่งเรียกเสียงหัวเราะจากผู้ฟังหน้าเวทีจำนวนไม่น้อย เมื่ออโดราอายุได้ 3 ขวบ เธอก็เริ่มฝึกอ่าน จนกระทั่งมีคอมพิวเตอร์เครื่องแรกในปีต่อมา เด็กหญิงวัย 4 ขวบจึงเริ่มใช้นิ้วน้อย ๆ พรมลงบนแป้นพิมพ์ออกมาเป็นเรื่องสั้นกว่า 300 เรื่อง นั่นคือช่วงเวลาที่อโดราเริ่มตระหนักได้ว่าเธอหลงรักการอ่านและการเขียนมากเพียงใด  หลังจากนั้นเธอส่งเรื่องสั้นไปยังสำนักพิมพ์ต่าง ๆ และถูกปฏิเสธอยู่หลายหนจนได้รับการตีพิมพ์เป็นรูปเล่มในชื่อ Flying Fingers โดยสำนักพิมพ์ Action Publishing เมื่อเธออายุได้ 6 ขวบ กลายเป็นใบเบิกทางสำหรับการก้าวขึ้นไปบนเวทีปราศรัยตามโรงเรียนและเวทีอื่น ๆ รวมทั้ง TED Talks ครั้งนี้ที่ล่าสุดในปี 2021 มียอดผู้เข้าชมกว่า 6 ล้านครั้งเฉพาะในเว็บไซต์ ted.com   จิตวิญญาณอันแสนมหัศจรรย์ในวัยเยาว์ สิ่งหนึ่งที่โดดเด่นนอกจากถ้อยความที่เธอเอ่ยออกมา คือความมั่นใจและความตั้งใจที่ฉายชัดจากแววตาบวกกับน้ำเสียง อโดราในวัย 19 ปีกล่าวถึงวิธีการสร้างความมั่นใจในแบบของเธอว่า “ทุกคนมีช่วงเวลาที่พวกเขาเต็มไปด้วยความมั่นใจ” ซึ่งเธอมักจะนึกย้อนไปถึงความทรงจำตอนที่เธออายุ 4 ขวบ และแม่ของเธอพาเธอไปที่สวนสาธารณะ ก่อนที่เธอจะปีนขึ้นไปบนก้อนหินและกล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับเหตุผลที่เธอควรเป็นประธานาธิบดี “ฉันคิดว่ามันสำคัญมากที่เราจะกอดเก็บจิตวิญญาณอันแสนมหัศจรรย์ในวัยเยาว์ ซึ่งยังไม่ได้นึกถึงข้อจำกัดของตัวเอง” แม้ว่าเธอจะมั่นใจและฉายแววนักพูดมาตั้งแต่วัยเยาว์ แต่ใช่ว่าเธอจะไม่เคยทำพลาด เพราะครั้งหนึ่งที่เธอนำเสนอแนวคิดให้กับกลุ่มครูในโรงเรียนที่มีทรัพยากรน้อยและยึดติดกับประเด็นสนทนาทั่วไปของเธอ อย่างการให้นักเรียนเขียนบล็อกและมีส่วนร่วมกับโครงการในชุมชนของพวกเขา แต่เมื่อเธอพูดจบ นักการศึกษาเหล่านั้นก็บอกเธออย่างมีเหตุผลว่า เธออาจจะลืมนึกถึงความต้องการของพวกเขาและยังไม่เข้าใจภูมิหลังที่ด้อยโอกาสของนักเรียน “นั่นเป็นการวิจารณ์ที่ยุติธรรม และเป็นข้อบกพร่องในส่วนของฉัน” เธอกล่าวถึงเหตุการณ์นั้นซึ่งเป็นบทเรียนสำคัญที่ทำให้เธอต้องศึกษาภูมิหลังของผู้ฟังอย่างถี่ถ้วนขึ้น หลังจากนั้นเธอจะดูรายชื่อของผู้เข้าร่วมการประชุม ค้นคว้าเกี่ยวกับโรงเรียนที่พวกเขาทำงาน และพยายามพูดคุยกับผู้ฟังเพื่อทำความรู้จักพวกเขาให้ดียิ่งขึ้นก่อนก้าวขึ้นไปบนเวทีเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ ต้นทุนทางความรู้บวกกับการปรับปรุงแก้ไขอยู่เสมอจึงทำให้อโดราได้ชื่อว่าเป็นแบบอย่างของเยาวชนอัจฉริยะด้านการสื่อสาร และกวาดรางวัลจากหลายเวที เช่น รางวัลการบริการสาธารณะด้านการศึกษาดีเด่น จากมูลนิธิสมาคมการศึกษาแห่งชาติ (the National Education Association Foundation) ในปี 2011 หรือปี 2013 ที่เธอได้รับการเสนอชื่อให้เป็นผู้นำวัยรุ่นระดับโลกของ Three Dot Dash โดยมูลนิธิ We Are Family ซึ่งตั้งอยู่ในมหานครนิวยอร์ก จากผลงานการจัด TEDxRedmond ของเธอ และนิตยสาร Pacific Standard เรียกอโดราว่าเป็นหนึ่งใน ‘30 Top Thinkers Under 30’ และนักเคลื่อนไหวเพื่อสตรีนิยมและการเมืองแบบเสรีนิยม แต่เมื่อถามถึงความสำเร็จและความภูมิใจ เธอกลับไม่ได้พูดถึงรางวัลเหล่านั้น โดยอโดราให้สัมภาษณ์ใน The Daily Californian ว่า  “หลังจากสุนทรพจน์ TEDxBerkeley ของฉันเกี่ยวกับสาเหตุที่สังคมต้องเปิดกว้างเรื่องเพศมากยิ่งขึ้น มีพ่อคนหนึ่งเดินเข้ามาหาฉันพร้อมกับลูกสาวสองคนแล้วพูดว่า “อโดรา เมื่อฉันได้ยินคำพูดบางคำในสุนทรพจน์ของคุณครั้งแรก ฉันรู้สึกไม่โอเค เพราะลูกสาวของฉันอายุแค่ 11 และ 12 ปี แต่แล้วคุณทำให้ฉันคิดบางอย่างได้ในมุมใหม่” นี่เป็นช่วงเวลาที่สำคัญมากสำหรับฉัน เพราะมันช่วยเสริมความเชื่อในอุดมคติของฉันที่ว่า ทุกคนสามารถเปิดใจได้หากได้รับโอกาสซึ่งเป็นความเชื่อที่จำเป็นมากสำหรับคนที่กล่าวสุนทรพจน์เกี่ยวกับปัญหาที่ขัดแย้งกันในบางครั้ง มันทำให้ฉันรู้สึกเหมือนได้สร้างมุมมองที่ต่างออกไปในชีวิตของใครบางคน ฉันรู้สึกประทับใจเสมอที่มีนักเรียนมาหาฉันและบอกฉันว่าตอนนี้พวกเขารู้สึกว่า มันเป็นไปได้หากจะทำสิ่งที่ท้าทายสังคมซึ่งกำลังบอกพวกเขาว่า พวกเขายังเด็กเกินกว่าจะทำอะไรที่มีคุณค่า” ปัจจุบัน อโดรา สวิทัก ในวัย 23 ปี จบการศึกษาจาก University of California, Berkeley และเข้าทำงานที่มูลนิธิวิกิมีเดีย (Wikimedia Foundation) จัดการประกวด Heart of Knowledge ซึ่งเป็นงานศิลปะในหัวข้อ ‘การเข้าถึงความรู้แบบเปิดกว้างมีความหมายกับคุณอย่างไร’ รวมทั้งโครงการอื่น ๆ ที่ช่วยขับเคลื่อนสังคม เพื่อสานต่อความตั้งใจเดิมเมื่อสิบปีที่แล้วอย่างที่เธอเคยกล่าวไว้ว่า “ฉันอยากเห็นเด็ก ๆ จัดการกับปัญหาที่สำคัญสำหรับพวกเขา ไม่ว่าจะเป็นบางสิ่งที่ต้องแก้ไขในโรงเรียนของหรือโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่พวกเขาอยากจะเริ่มต้น ฉันต้องการให้พวกเขาเห็นว่าพวกเขาสามารถลงมือทำได้ ในวัยเด็ก, เสียงของคุณเป็นสิ่งสำคัญ ฉะนั้นโปรดจงใช้มันให้คุ้มค่า”   ที่มา: https://www.ted.com/talks/adora_svitak_what_adults_can_learn_from_kids/transcript?language=th  https://www.adorasvitak.com/ https://www.cnbc.com/2017/09/08/child-prodigy-who-gave-100-talks-before-she-was-13-shares-speech-tips.html  https://brightlitemag.com/2019/06/interview-w-writer-and-activist-adora-svitak-speaking-up-for-youth-empowerment/  https://www.dailycal.org/2015/03/20/interview-adora-svitak/ https://peoplepill.com/people/adora-svitak