จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’

จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’
ผมรู้สึกว่ามันเป็นโชคชะตาแล้วแหละ มันทำให้เราเลิกทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้นถ้าพรุ่งนี้ไม่มีดนตรี ผมว่าอย่ามีชีวิตอยู่ดีกว่า ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมแล้วจริง ๆ แม้คำตอบจะกลั้วหัวเราะ ใบหน้าเปื้อนยิ้ม หากเมื่อมองลึกเข้าไปในดวงตา จะรู้ได้ว่าถ้อยคำดังกล่าวของ ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ หรือ ‘เอก Season Five’ เมื่อเราถามว่า ‘ถ้าหากพรุ่งนี้ไม่มีดนตรี ชีวิตคุณจะเป็นอย่างไร’ คือคำตอบที่มีความจริงใจอยู่เต็มร้อย เพราะมีวัยเด็กที่รายล้อมด้วยดนตรี และมีบทเพลงเป็นเพื่อนมาตั้งแต่ยังไม่รู้ประสา หนำซ้ำเมื่อเริ่มเข้าวัยประถม เอกในวัยเด็กก็ได้เจอกับกลุ่มคนที่มีความสนใจในสิ่งเดียวกัน ‘ชมรมประสานเสียง’ ไม่ใช่สิ่งที่เข้ามาในชีวิตเขาเพื่อจากไป เพราะมันคือจุดเริ่มต้นแรกสุดของ ‘Season Five’ วงที่มีผู้ชาย 4 คน ร้องเพลงด้วยโทนเสียงต่างกัน เพื่อสร้างสรรค์ดนตรีจรรโลงใจผู้คน เส้นทางชีวิตของเอก และเส้นทางดนตรีของ Season Five ตั้งแต่วันที่ทำเพลงโดยแทบไร้คนฟัง จนกระทั่งตั้งใจว่าปล่อยเพลงสุดท้ายแล้วแยกทาง แต่เพลงที่ว่าดันกลายเป็นเพลงชุบชีวิตที่ทำให้พวกเขายังเดินหน้าต่อได้ เรื่องราวแบบใดที่เขาเคยผ่าน ร่วมอ่านได้ในบทสัมภาษณ์ต่อไปนี้   The People: ย้อนเล่าเรื่องในวัยเด็กสักหน่อย มาเริ่มสนใจดนตรีตอนไหน ได้อย่างไร เอก: จริง ๆ ตอนเด็ก ๆ ก็ถูกเลี้ยงดูมาเป็นครอบครัวปกติเลย ก็คืออยู่กับคุณพ่อคุณแม่ แล้วก็สิ่งที่ทำให้รู้สึกสนใจเรื่องดนตรีคือคุณพ่อเขาจะพาลูกน้องไปสังสรรค์บ่อย เขาจะมีกลุ่มมีอะไรของเขา แต่เขาเป็นคนรักครอบครัวมาก เขาจะพาเราไปด้วย คือเราเด็ก ๆ เราจำความได้ก็มีคุณพ่อไปร้องเพลงอยู่ตามงานตลอด ก็จะถูกเชิญขึ้นไปร้องตลอด คุณพ่อร้องเพลงโอเค แล้วก็จะมีคนชอบเรียกร้องให้คุณพ่อขึ้นไปร้อง เราก็จะเห็นภาพนั้นมาตลอดตั้งแต่เด็ก ๆ ก็เลยรู้สึกเหมือนซึมซับ คุณพ่อชอบเปิดเพลงในรถให้ฟัง อยู่บ้านชอบเปิดเพลงให้ฟัง ก็จะเหมือนซึมซับการฟังเพลง การดูคุณพ่อร้องเพลงก็เลยเหมือนหล่อหลอมให้เรามีความชอบในเรื่องของดนตรี   The People: เริ่มเปลี่ยนจากคนฟังมาเป็นคนร้องตอนไหน เอก: จริง ๆ พอเห็นคุณพ่อร้อง เราเองก็เริ่มสนใจ พอสนใจปุ๊บ เรียนประถม จริง ๆ แล้วมันเริ่มจากประถม คือที่โรงเรียนจะมีเป็นชมรมร้องประสานเสียง ก็จะเป็นกิจกรรมที่ทางโรงเรียนเขาจะเหมือนสนับสนุนให้เด็กในโรงเรียนหากิจกรรมเพิ่ม ก็จะมีคล้าย ๆ เป็นชมรม แต่เราก็ต้องเลือกไปอยู่ชมรมอะไร แต่เราเลือกไปอยู่ร้องประสานเสียง ซึ่งก็ตอบโจทย์เราที่เรารู้สึกเราชอบดนตรี เราก็เลยเข้าไปในร้องประสานเสียงเหมือนเป็นการได้ฝึกด้วยว่าเราจะต้องได้เรียนร้องเพลง เพราะอยู่ในชมรมเราต้องมีอาจารย์สอนเราร้องเพลงแน่นอน ก็เหมือนเป็นการต่อยอดความชอบทางดนตรีเข้าไปอีกตั้งแต่ประถม อันนี้ก็เป็นจุดเริ่มต้น   The People: เริ่มเจอกับเพื่อน ๆ Season Five เมื่อไร เอก: นี่แหละครับ จุดเริ่มต้นเจอสมาชิก Season Five ก็คือจุดที่เริ่มเข้าไปในชมรมร้องประสานเสียงของโรงเรียน ทุกคนเรียนโรงเรียนเดียวกันหมด แล้วก็มาเจอกันในนักร้องประสานเสียง ซึ่งตอนนั้นจะเป็นวงใหญ่ ๆ เลย 30-40 คน ส่วน 4 คนนี้ก็อยู่ในนั้นหมดเลย ก็ด้วย passion ความหลงใหลเหมือน ๆ กัน คือฟังเพลงคล้าย ๆ กัน กลุ่มใหญ่เหมือนพออยู่ในนั้นทุกคนชอบร้องเพลงหมด แต่ว่าอาจจะฟังเพลงไม่เหมือนกัน ชอบต่างกัน แต่มันมี 4 คนนี้ที่มันเฮ้ย! ฟังอันนี้เหมือนกันเลย มันก็เลยเกิดขึ้นในกลุ่มเล็ก ๆ จาก 30-40 คน เป็นกลุ่มเล็ก ๆ ขึ้น พอเราชอบเหมือนกัน เราได้ทำเหมือนกัน เรามี passion คล้าย ๆ กัน ก็เริ่มรวมตัวกันเกิดขึ้นตั้งแต่สมัยเรียน  จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ The People: เส้นทางกว่าจะออกอัลบั้มแรกเป็นอย่างไรบ้าง เอก: จริง ๆ เป็นเรื่องที่มีความเป็นโชคชะตาบางอย่างที่ทำให้เราก็ยังมีวันนี้ ทุกคนจะต้องแยกย้ายกันหลังจากจบมัธยม เพราะเรา 4 คนได้เข้ามหาวิทยาลัยคนละที่เลย แล้วเรียนกันคนละสาขา อย่างส่วนตัวผมเรียนนิติศาสตร์ เรียนกฎหมาย เพราะว่าจริง ๆ ลึก ๆ เราเป็นคนชอบดนตรี แต่ที่บ้านก็คืออยากให้เป็นเหมือนคุณพ่อ จบบัญชี จบบริหาร ทำงานธนาคาร แต่เขาก็เล่นดนตรีเป็นงานอดิเรก คุณพ่อก็เลยอยากให้เรียนอะไรที่มันเป็นวิชาการหน่อย เราก็เลยเลือกเรียนกฎหมาย ด้วยความที่มันมากกว่าการเป็นสมาชิกวง มันคือความเป็นเพื่อนกันด้วย เราอยู่กันคนละมหา’ลัย แต่ว่าเราก็ยังรวมตัวกันอยู่ เหมือนเพื่อนกลุ่มอื่น ๆ ที่อยู่ในโรงเรียนเขาย้ายออกไปก็ไม่ค่อยได้เจอกันบ้างแล้ว แต่นี่คือก็ยังโทรฯ คุยกันว่าว่าง ๆ มาเจอกัน เล่นดนตรีกัน ร้องเพลงกันหน่อยดิ มันก็ยังมีความผูกพันกันอยู่ จนเรียนมหา’ลัยจบก็ยังเจอกันอยู่ ยังมีความคิดว่าอยากทำเพลง อย่างที่บอกมันเป็นโชคชะตาด้วย ที่เราทำงานกันคนละสาย ผมก็เป็นที่ปรึกษากฎหมายช่วงหนึ่ง คือทำตามสิ่งที่ตัวเองเรียนจบมาเลย ทุกคนก็ทำตามสิ่งที่ตัวเองเรียนจบมา แต่ว่าก็ยังแอบมาเจอกัน แบบเวลาว่างมาเจอกัน มาร้องเพลงกัน บางทีก็ไปรับงาน เหมือนรับงานร้องตามที่ต่าง ๆ จนวันหนึ่งเราได้มารู้จักกับพี่ผู้ใหญ่คนหนึ่ง ซึ่งมันก็เป็นจุดเริ่มต้นของการที่ได้เข้ามาทำงานในวงการเพลง ซึ่งทุกคนก็ลาออกจากสิ่งที่ตัวเองทำหมดเลย ผมก็ลาออกจากการเป็นที่ปรึกษากฎหมาย แล้วมาทำดนตรีเต็มที่  ถ้าอันนี้คือคำตอบว่าทำไมถึงได้เลือกทางนี้ ก็คือรู้สึกว่าตอนนั้นมันคือความฝัน มันคือความชอบตั้งแต่เด็ก ๆ แล้วเราก็เหมือนอายุเรายังไม่เยอะด้วย ความที่มันยังเป็นเด็ก เราก็จะคิดไม่เยอะ คือเราก็เหมือนกับไม่มีอะไรต้องเสีย ก็เลยลาออก ทุกคนลาออกจากที่ทำงานของตัวเองเพื่อมาเป็นนักร้อง คือถ้าเทียบตอนนั้นเป็นตอนนี้บางทีเราอาจจะไม่กล้าก็ได้นะ แบบโห! เสี่ยงไปเปล่าวะ แต่ตอนนั้นคือมันกล้าเดิมพัน พอเราเดิมพันแล้ว เราแลกแล้ว มันก็เหมือนเป็นไฟที่เราจะต้องแบบมันต้องทำให้ได้เว้ย เพราะว่าเราทิ้งทุกอย่างมาแล้ว มันก็เลยเป็นจุดเริ่มต้นของการที่โฟกัสทางด้านดนตรีจริงจังอย่างเดียว    The People: ‘พูดไม่คิด’ เกือบจะเป็นเพลงสุดท้าย ? เอก: อย่างที่บอก ตอนนั้นก็คือเราลาออกจากการทำงานประจำกันหมดแล้วเพื่อมาทำอัลบั้มกัน เราก็มีผู้ใหญ่ที่คอยซัพพอร์ตอยู่ แล้วก็เหมือนพอการเริ่มทำงานเพลง หนึ่งคือเรายังเด็กอยู่ด้วย แล้วเราก็อาจจะยังไม่ได้มีใครที่เหมือนเป็นรุ่นพี่ คือตอนนั้นคนที่ให้โอกาสพวกเราคือพี่ตี๋ แมทชิ่ง (สมชาย ชีวสุทธานนท์) ซึ่งทำบริษัทเป็นบริษัทโฆษณา ซึ่งเขาก็ไม่ได้สายนี้โดยตรง แต่เขาก็เป็นรุ่นพี่ที่น่ารักที่เขาอยากเห็นพวกเราเกิด เขาก็เลยเหมือนเปิดเซกเมนต์ต่างหากในบริษัทเขาเพื่อมาดูแลศิลปิน ซึ่งทุกคนเหมือนเป็นมือใหม่หมดเลยจากการทำศิลปิน อัลบั้มแรกมันก็ออกมาอาจจะยังไม่ใช่อะไรที่เราคาดหวังไว้ คือเหมือนมันต้องลองผิดลองถูกด้วย ซึ่งอัลบั้มแรกทำเพลงออกมามันอาจจะไม่ได้ถูกใจคนฟัง ไม่ได้เป็นไปตามอย่างที่เราคิดไว้ หรือเขาเรียกว่าผลตอบรับไม่ได้ดีอย่างที่เราคาดหวังเอาไว้  ก็รู้สึกว่าเออ...ชีวิตหนึ่งครั้งหนึ่ง เรามีอัลบั้ม เราได้ทำเพลงออกมาแล้ว ทุกคนก็คุยกันว่าเรามากันสุดได้เท่านี้แล้วแหละ ตอนนั้นกำลังคิดว่านี่คงเป็นเวลาแล้วที่จะกลับไปทำงานประจำ ไปทำในสิ่งที่ตัวเองเรียนมา พี่ตี๋เหมือนจะไม่ทำบริษัทนี้แล้วด้วย แล้วเราก็มีเงินทุนอยู่ก้อนหนึ่งก้อนสุดท้ายแล้ว พี่ตี๋แกก็บอกว่าเอาอีกสักเพลงหนึ่งแล้วกันนะ ทิ้งทวน ทุกคนก็คิดว่าเพลงนี้น่าจะเป็นเพลงสุดท้ายของเราแล้ว คือความฝันเราคงมาได้แค่นี้แหละ ก็ทำอะไรให้มันสุด ๆ ไปเลย อยากทำอะไรก็ทำไปเลย  ตอนนั้นก็คือเหมือนคิดอะไรให้มันแหวก ๆ ไปเลย เราเป็นประสานเสียงใช่ไหม เอาให้มันผสมกับคนรุ่นใหม่หน่อย ดึงพี่กอล์ฟ ฟักกลิ้งฮีโร่ มาช่วยหน่อยในเพลงนี้ ดึงพี่โจ แพนเค้ก (เหมือนเพชร อำมะระ) มาแต่งเพลงให้ ก็เกิดขึ้นมาเป็นเพลง ‘พูดไม่คิด’ ซึ่งตอนนั้นเพลงปล่อยออกมาแล้ว บริษัทพี่ตี๋ก็ไม่มีแล้ว ตอนนั้นเรากลายเป็นศิลปินอิสระไปแล้ว ไม่มีใครช่วยดูแล้ว จำได้ว่าตอนนั้นเพลงปล่อยปุ๊บ เรายังต้องขับรถกันไปเอง ขับรถไปเองแบบไปต่างจังหวัด ไปทุกที่ เหมือนตอนนั้นยังเป็นแผ่นซีดีอยู่ ปั๊มแผ่นไปแล้วก็ไปเดินตามร้านต่าง ๆ ไปถึงเชียงใหม่ ติดต่อเอง ติดต่อวิทยุเพื่อขอเข้าไปสัมภาษณ์ ส่งแผ่นให้ฟังอะไรอย่างนี้ ใช้วิธีแบบบ้าน ๆ เลย เพราะเรารู้สึกว่าไหน ๆ ก็ทำแล้ว ทำสุดท้ายแล้วก็ลงแรงให้เต็มที่  แต่เพลงที่เราตั้งเป้าไว้ว่าเป็นเพลงสุดท้ายแล้ว เราจะแยกย้ายกันแล้ว ก็กลับกลายเป็นจุดที่เรารู้สึกว่าเราได้อะไรที่ไม่เคยได้รับมาก่อน ตอนนั้นเราคือไปโปรโมตทั่วประเทศเลย ไปด้วยตัวเอง ไม่มีใครดูแล ไปด้วยกัน ขับรถไป 4 คน เรากลับมาที่กรุงเทพฯ หลังจากนั้นประมาณสักหลายเดือนอยู่เหมือนกันนะ ก็เริ่มมีข่าวที่เชียงใหม่ว่าเฮ้ย! ชาร์ตเพลงที่เชียงใหม่เราติดชาร์ต ซึ่งเราไม่เคยติดชาร์ตไหนเลยตั้งแต่ทำเพลงมา แล้วเพลงนี้ดันติดชาร์ตที่เชียงใหม่ จริง ๆ ก็รู้สึกดีใจนะครับ หลังจากนั้นอีกอาทิตย์หนึ่ง ก็ได้ยินว่าที่เชียงใหม่วิทยุทุกชาร์ต เราติดทุกชาร์ตเลย มันก็เป็นปรากฏการณ์ที่แบบเฮ้ย! จริงเหรอ ก็ยังไม่เชื่อ อีกอาทิตย์หนึ่งเริ่มเป็นที่หนึ่งในชาร์ต อาทิตย์ต่อมาเป็นเพลงอันดับหนึ่งทุกชาร์ตในเชียงใหม่ เราก็เลยเฮ้ย! มันอะไรกันวะ ยอดวิวใน YouTube ตอนนั้นก็เยอะมาก ตอนแรกเราหวังแบบไม่กี่พันก็เยอะแล้ว เป็นหลักหมื่น หลักหมื่นเป็นหลักแสน เป็นหลักล้าน พอถึงหลักล้านก็กลับมาติดชาร์ตในกรุงเทพฯ คือแบบกลายเป็นว่าเพลงนี้มันเหมือนไฟลาม มันลามเข้ามาในกรุงเทพฯ แล้ว ก็ตื่นเต้นกันมากเลยว่าเพลงสุดท้ายเราคิดว่าเราจะทำ มันดันเป็นเพลงที่คนรู้จักเรามากขึ้น พอหลังจากนั้นปุ๊บมันเริ่มมีงานมากขึ้น คนจ้างไปเล่นที่นู่นที่นี่ เริ่มไปออกรายการนู้นรายการนี้ เริ่มได้รางวัล ได้เพลงยอดเยี่ยม ก็เลยต้องมานั่งคุยกันใหม่แล้วว่ามันไม่น่าจะเป็นเพลงสุดท้ายของเราแล้ว มันเหมือนมันเลิกทำไม่ได้แล้ว เพราะว่าตอนนั้นก็มีหลาย ๆ ค่ายติดต่อเข้ามาเต็มไปหมดเลยว่าจะทำอัลบั้มให้  มันก็เหมือนเราก็มานั่งคุยกันว่าทำไงดี ก็ควรจะไปต่อ มันน่าจะเป็นโอกาสที่เราสามารถต่อยอดได้ นั่นแหละก็เป็นที่มาที่แบบเพลงสุดท้ายเหมือนจะกลายเป็นเพลงสุดท้าย แต่ก็เป็นเพลงแรกที่ทุกคนรู้จักเรา   The People: เพลง ‘แหลก’ เพลงแรกที่แต่งเอง ? เอก: อย่างที่บอกคืออย่าง ‘พูดไม่คิด’ ก็เป็นพี่โจแต่งให้ จริง ๆ ผมแอบแต่งเพลงเก็บไว้เยอะเหมือนกันนะ แต่ด้วยความที่เราไม่กล้า เพลง ‘แหลก’ เป็นเพลงที่แต่งแล้วรู้สึกว่ากล้าแล้ว อยากให้ที่ค่ายฟังว่าเรามีเพลงที่แต่งเองเหมือนกันนะ ตอนนั้นอยู่กับสนามหลวงมิวสิก ภายใต้ GRAMMY ก็เอาเพลงนี้ให้ที่สนามหลวงฟัง เป็นเพลงแรกที่กล้าให้คนอื่นฟังว่าเพลงฉันแต่งนะ อยากจะเอาไว้ในอัลบั้ม ที่ค่ายชอบมาก ก็เลยบอกว่าเอาเพลงนี้ปล่อยเพลงที่สองเลย พอเข้ามาปุ๊บเรามีเพลง ‘Event’ เหมือนมันก็เป็นระลอกสองที่ดี  เรามีเพลง ‘พูดไม่คิด’ แล้วตอนนั้นเราหายไปประมาณปีหนึ่ง แล้วก็จากที่ค่ายเราคุยเรื่องค่ายเรื่องอะไร เพลง ‘พูดไม่คิด’ มันก็ทำงานอยู่ประมาณปีหนึ่งพอดี แล้วเราก็ไปอยู่ค่ายปุ๊บ เรามีเพลง ‘Event’ ออกมา ซึ่ง ‘Event’ ก็ตอบรับดีเหมือนกัน แล้วก็เพลง ‘แหลก’ เป็นเพลงหลังจากเพลง ‘Event’ เลย ปล่อยไปซึ่งก็เกินคาดมาก ๆ เลย คือตอนนั้นเริ่มรู้สึกโอ้โห! เหมือนเราได้กำลังใจกับตัวเองว่า เออเราน่าจะแต่งเพลงได้ ตอนนั้นก็เริ่มจริงจังกับการเขียนเพลงแล้ว  จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ The People: ‘แหลก’ เป็นเพลงสำหรับคนอกหัก แล้วเบื้องหลังเพลงนี้ แต่งจากการอกหักด้วยไหม? เอก: เพลงนี้มันเป็นเพลงที่เรียลมาก อย่างที่บอกมันเป็นเพลงแรก ๆ ที่ผมเขียน เพราะฉะนั้น เชื่อได้ว่านักเขียนเพลง เริ่มจากการเขียนเพลงแรก ๆ มักจะเอาประสบการณ์ตัวเองมาเขียนเสมอ ซึ่งเพลง ‘แหลก’ ก็คือประสบการณ์เราเองเหมือนกัน เป็นประสบการณ์ที่เรามีแฟนคนแรก แล้วก็เลิกกับแฟน คือจริง ๆ เหตุการณ์มันผ่านมานานแล้วนะ แต่ว่าวันที่คิดว่าจะแต่งเพลง ‘แหลก’ เราบอกกับตัวเองว่าอยากทำเพลงอกหักสักเพลงหนึ่ง ซึ่งเราจะเอาเรื่องของตัวเองนี่แหละเขียน เราก็จำลองเหตุการณ์ ณ วันนั้นที่เราเลิกกับแฟนคนแรกว่ามันรู้สึกอะไร คิดอะไรอยู่ ตอนนั้นมันเจ็บขนาดไหน ก็เลยมาลองเขียนออกมาก็เป็นเพลง ‘แหลก’ ซึ่งอันนั้นคือประสบการณ์ตัวเองล้วน ๆ เลย เราก็รู้สึกว่ามันเรียลมาก เพราะมันมาจากความรู้สึกเราจริง ๆ ร้อยเปอร์เซ็นต์    The People: คิดว่าทำไมเพลงนี้ถึงตรึงใจคนได้ เอก: มันอาจจะมีความรู้สึกที่แบบที่โดนมั้งครับ อาจจะเป็นการเลือกคำด้วย คือเท่าที่คุยมาหลาย ๆ คน จริง ๆ แล้วเพลงอกหักส่วนใหญ่ผู้หญิงจะโดน แต่หลาย ๆ ครั้งที่เราไปตามคอนเสิร์ต จะมีแฟนเพลงผู้ชายเข้ามาคุยแล้วบอกว่าผมอินกับเพลงนี้มาก ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายหมดเลยนะ ไม่เข้าใจเหมือนกัน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเราโดนผู้หญิงหักอกมาในช่วงนั้น แล้วเหมือนเป็นความรู้สึกของเราซึ่งเป็นผู้ชาย คือบางคอนเสิร์ตก็มีผู้ชายยืนร้องไห้ แบบร้องไห้อยู่ในโต๊ะ เพื่อนต้องปลอบ ตอนเราร้องเพลงนี้ เป็นบ่อยมาก เราจะเห็นผู้ชายร้องไห้กับเพลงนี้เยอะมาก ก็อาจจะเป็นไปได้ที่เพลงนี้มันอาจจะมีเซนส์แบบผู้หญิงก็รู้สึก ผู้ชายก็รู้สึก ก็เป็นไปได้ แล้วอีกอย่างหนึ่งมันมาจากเรื่องจริงของเราเอง คนอาจจะเข้าถึงได้ง่ายกว่า   The People: คิดว่าการที่แนวทางของ Season Five เป็นวงประสานเสียง ทำให้กระแสตอบรับช่วงแรกยังเงียบ ๆ ด้วยไหม เอก: ใช่ครับ อันนี้ใช่เลย ตั้งแต่อัลบั้มแรกที่หลาย ๆ คนอาจจะไม่รู้จักเลย เรารู้สึกว่ามันยากไป คือตอนนั้นเราคิดง่าย ๆ คือเราคิดว่าเราถนัดแค่นี้ เราถนัดด้านนี้ เราทำกันมาอย่างนี้ เพราะเราอยู่ในวงประสานเสียง เราเกิดมาจากสิ่งนี้ คือเราทำได้ดีที่สุด เราร่วมกันมาจากสิ่งนี้ เราก็เลยเอาสิ่งนี้เป็นสิ่งที่เป็นตัวตนของเรา ในการที่จะยื่นออกไปให้คนฟัง แต่เราก็ยังอ่อนประสบการณ์นะตอนนั้น คือเราไม่รู้หรอกว่าคนเขาจะเบื่อไหมหรืออะไร   แต่พอเราได้เริ่มเรียนรู้มาอยู่บนเส้นทางนี้ประมาณหนึ่ง เราก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าความสำคัญของการเป็นศิลปิน มันจะต้องแบ่งกราฟ แบ่งสัดส่วน เหมือนเป็นวงแล้วมีเปอร์เซ็นต์ว่าเราควรจะมีตัวตนของตัวเองเท่าไร กับอันหนึ่งก็ควรที่จะตามใจคนฟังด้วย คือมันเป็นเรื่องของการแบ่งบาลานซ์ของการเลือกตัวตนของตัวเอง และเลือกสิ่งที่ทุกคนชอบด้วย หลาย ๆ คนเลือกทำในสิ่งที่คนชอบ มันก็ไม่เวิร์กเพราะเราก็ไม่ต่างจากคนอื่นเลย หรือบางคนเอาความเป็นตัวตนของตัวเองใส่เยอะไป โดยที่ไม่คำนึงเลยว่าใครจะฟังเพลงเราหรือเปล่า สุดท้ายปล่อยเพลงไปก็ไม่มีใครฟัง  ผมรู้สึกว่าการเป็นศิลปินที่ดีมันต้องผสม 2 อย่างให้ลงตัวที่สุด ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องง่ายเลยที่เราจะสามารถทำได้ในครั้งแรก เพราะเราก็ลองผิดลองถูกนะ แต่นี่คือสิ่งที่เราได้เรียนรู้ เราก็มานั่ง ‘พูดไม่คิด’ ทำไมมันถึง success ก็มานั่งคุยกันว่าเฮ้ย! มันก็มีความป็อปมากขึ้น ฟังง่ายขึ้น มันมีแร็ป มันมีความโยก ๆ ได้ ‘แหลก’ ทำไมคนถึงฟัง เพราะว่าบางทีเราไม่ได้ใช้อะไรที่มันยากเหมือนอัลบั้มแรก มันเป็นเนื้อที่คนฟังแล้วรู้สึกได้เลย ไม่ต้องคิดมาก ไม่ต้องอะไรมาก แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นความเป็นตัวตนของเราที่มันประสานเสียง มันก็ยังอยู่ในเพลงเหล่านี้ แต่ว่าเราลดทอน เพิ่มลดแต่ละอันจนเรารู้สูตรสำเร็จแล้วว่าเพลงของเรามันควรจะออกมาประมาณนี้แหละ มันคือประสบการณ์และการเรียนรู้ต่าง ๆ ที่ทำให้เราเข้าใจ    The People: หลังจากนั้นได้ร่วมทำงานดนตรีอย่างไรบ้าง เอก: โห จริง ๆ มันเกิดขึ้นเร็วมากเลย ต้องขอบคุณเพลง ‘แหลก’ แล้วก็ขอบคุณพี่โอ๊บ-เพิ่มศักดิ์ (พิสิษฐ์สังฆการ) พี่โอ๊บเป็นอดีตสมาชิกวงไทม์ แล้วก็เป็นโปรดิวเซอร์ให้กับ Season Five ด้วย ในยุคที่เราอยู่กับ GRAMMY พอเพลง ‘แหลก’ ประสบความสำเร็จประมาณหนึ่ง ด้วยยอดวิวเยอะที่สุดของเราที่ปล่อยมา ซึ่งพี่โอ๊บก็เล็งเห็นศักยภาพตรงนี้ ก็เริ่มที่จะชวนไปเขียนเพลงให้คนอื่นบ้างแล้วนอกจากเพลงตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่เราอยากอยู่แล้วแหละ พอถึงจุดหนึ่งที่เราเขียนเพลงเรามา เราก็รู้สึกว่าอยากไปเขียนให้คนอื่นบ้าง ก็เริ่มเขียนให้คนอื่นเพลงแรกก็คือ ‘Sky & Sea’ ของเอิ๊ต-ภัทรวี ก็ได้เขียนเนื้อเพลงเพลงนั้น แล้วหลังจากนั้นก็เริ่มมีงานเขียนเพลงให้คนอื่นมากขึ้นเรื่อย ๆ ก็ต้องขอบคุณผู้ใหญ่ที่เล็งเห็น แล้วมันก็กลายเป็นว่า หลังจากนั้นปุ๊บได้ทำงานกับคนอื่น เป็นเบื้องหลังไปด้วยควบคู่กันมาตลอด   The People: เสน่ห์ที่ต่างกันของงานเบื้องหน้าและเบื้องหลัง เอก: มันก็ยากนะครับ ถ้าสมมติว่าเราทำเพลงให้กับวงตัวเองแล้วเราก็ร้องเอง มันเป็นสิ่งที่เราคิดแล้วเราตีความออกมาในแบบของเรา มันก็ไม่ต้องคิดอะไรมาก เพราะว่าใช้ความเป็นตัวเอง แต่ในเพลงที่เราทำให้คนอื่น มันค่อนข้างที่จะใช้ความคิดเยอะเหมือนกัน ว่าจากบุคลิกคนแบบนี้ จากสไตล์เพลงของเขาแบบนี้ จากคนที่พูดจาแบบนี้ เราใช้ภาษาเรา บางทีไม่ถึงร้อยเปอร์เซ็นต์ที่เราจะใช้ของเรา เราอาจจะต้องมีความจินตนาการมากขึ้น ที่เราจะต้องจินตนาการว่าน้องคนนี้ หรือว่าศิลปินท่านนี้ เขาจะพูดภาษานี้ออกมา ที่เราเขียนออกมาได้แค่ไหน คนจะเชื่อเขาไหมถ้าเขาพูดจาแบบนี้ มันเป็นเรื่องที่ต้องทำการบ้านเหมือนกัน เป็นความคุ้นเคยกับศิลปินที่เราทำงานด้วย เรื่องนี้เป็นเรื่องยาก แต่จริง ๆ ผมเป็นคนชอบทำงานกับศิลปินที่ใหม่ มันได้เกิดมาพร้อมกันกับเขา ก็เป็นอะไรที่ถ้าเรารู้สึกว่าเพลงนี้เป็นเพลงที่เขาปล่อย แล้วมันมีชื่อเสียง เราจะรู้สึกดีใจมาก เหมือนว่าได้ฟังเพลงนี้แล้วเป็นเพลงที่เราเขียน แต่ว่าร้องเป็นคนอื่น ก็จะเป็นอีกอารมณ์หนึ่งที่แบบโอ๊ย! ดีใจมาก จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ The People: พูดถึงที่มาของโปรเจกต์ One Week One Song สักหน่อย เอก: อันนี้ก็เป็นโปรเจกต์ที่เกิดขึ้นจากโควิด-19 รอบแรก ซึ่งเป็นโปรเจกต์ที่พอเจอโควิด-19 รอบแรกมันฟุ้งซ่าน มันเหมือนกับอะไรที่เคยทำไม่ได้ทำเลยว่ะอะไรอย่างนี้ เราก็เลยรู้สึกว่ามีเวลาประมาณหนึ่ง รู้สึกว่าเรามีเพลงที่เขียนไว้เยอะประมาณหนึ่งเหมือนกัน แต่เหมือนเพลงเหล่านี้ เราไม่สามารถที่จะโทรฯ ไปหาคนนี้ เพื่อแบบเห้ย! มีเพลงอะ เอาไปร้องหน่อย มันก็ยากในการที่เราจะเข้าถึงค่ายเพลง หรือเข้าถึงศิลปินต่าง ๆ ก็เลยรู้สึกว่าเพลงที่มันอยู่ในฮาร์ดดิสก์ของเรา การที่เราเก็บเพลงเหล่านี้ไว้ วันหนึ่งเราตายไปหรืออะไร มันก็ได้แค่อยู่ในฮาร์ดดิสก์ของเรา ก็เลยเป็นโปรเจกต์ที่ว่าเราทำเพลง เอาเพลงพวกนี้ที่ทำไว้ปล่อยออกมาซิ ไม่ต้องให้คนรู้จักเยอะก็ได้ แต่อย่างน้อยมันอยู่ในที่ที่เป็นสาธารณะ แล้วใครจะมาฟังก็ได้ มันอาจจะไม่มีชื่อเสียงวันนี้ มันอาจจะมีชื่อเสียงในอีก 10 ปีก็ได้ใครจะรู้  แล้วก็รู้สึกว่าเหมือนเราก็มีพี่ ๆ น้อง ๆ ที่เป็นศิลปิน ที่เราสามารถดึงเขามาร่วมด้วยได้ โดยไม่ต้องมีพิธีรีตองอะไรมากมาย เราก็ชวนนักแต่งเพลง ชวนแอ้ม (อัจฉริยา ดุลยไพบูลย์) มาร่วมด้วย ก็เป็นคนที่มาช่วยเขียนอีกคนหนึ่งในโปรเจกต์ One Week One Song ก็เป็นอะไรที่สนุกมาก คือเรารู้สึกเหมือนเป็น challenge ของเราด้วย อาทิตย์หนึ่งเราต้องมีเพลงใหม่ออกมาให้ทุกคนฟัง แต่ว่าโปรเจกต์นี้ก็เหมือนเขาเรียกว่าพักไว้ก่อนชั่วคราว เพราะว่าเราเจอระลอกสอง แล้วระลอกสองมันหนักกว่าระลอกแรกเยอะมาก มันเลยทำงานลำบากมาก เลยกลายเป็นว่าการที่จะมาเจอกัน การที่มานั่งทำเพลงด้วยกัน มันยากมาก แล้วต่างคนต่างก็มีงานเข้ามาเยอะด้วยเหมือนกัน โปรเจกต์นี้เลยถูก pause ไว้ก่อน ยังไม่ได้เลิกทำนะครับ แต่ว่ายังหยุดไว้ก่อน คิดว่าทำต่อแน่นอน    The People: เพลงแมสและไม่แมสมีคุณค่าต่างกันไหมในความคิดคุณ  เอก: ไม่ต่างเลยครับ เราเข้าใจได้ง่าย ๆ เลย อย่างที่เราเคยเป็นเราเป็น Season Five ในวันที่มันมีเพลงไม่ดังเลย กับเราเป็น Season Five ที่มีเพลงที่ดังมาก ๆ เราก็รู้อยู่แล้วแหละว่าเพลงมันเพราะในแบบของมัน มันอาจจะไม่ถูกใจคนหมู่มากก็ได้ แต่มันอาจจะถูกใจคนไม่กี่คน เราก็รู้สึกว่ามันมีคุณค่า แล้วถ้ามันเป็นที่ยอมรับของคนบางคน แค่คนน้อยคน เราก็รู้สึกว่ามันก็เป็นอะไรที่คุณค่ามันเท่ากันอยู่แล้ว  แต่ว่า One Week One Song คือด้วยโจทย์แล้วเราไม่ได้ตั้งใจทำให้เพลงมันแมสอยู่แล้ว มันเป็นเพลงที่เรารู้อยู่แล้วว่ามันอาจจะไม่แมสมาก แต่มันเป็นอะไรที่มีกิมมิคบางอย่าง มีอะไรบางอย่างที่เราคิดว่าเราเขียนเพลงแบบนี้ให้กับเพลงที่ออกไปกับศิลปินไม่ได้หรอก มันจะมีเพลงอะไรก็ตามที่มันเป็นแบบหลุด ๆ แบบอะไรก็ไม่รู้อยู่ใน One Week One Song เต็มไปหมดเลย ซึ่งอันนั้นมันเป็นความซนด้วยโปรเจกต์นี้ มันก็เลยเป็นความตั้งใจของเราอยู่แล้วว่ามันอาจจะไม่ดังหรอก แต่ว่าอย่างน้อยให้คนเห็นในมุมที่เออ...มันกล้าคิดเว้ย มันก็ทำแบบนี้ มันเหมือนเป็นพื้นที่ที่ให้คนแต่งเพลงแต่งอะไรก็ได้ อันนี้เพิ่งนึกออก เราเคยตั้งเป็นคอนเซปต์ของ One Week One Song คือเราทำเพลงตามใจ เราไม่ทำเพลงตามโจทย์ เพราะทุกครั้งที่เวลาเราทำเพลงตามโจทย์ หมายถึงว่าเราทำให้กับศิลปิน เรามีค่ายเพลงมาจ้างเราทำ เขาก็บรีฟมา มีกรอบให้เรา ศิลปินคนนี้ต้องพูดจาแบบนี้ แต่ว่าเพลงใน One Week One Song มันจะเป็นอีกทางหนึ่ง คือเราคิดอะไรขึ้นมาเราก็แต่งเลย เราไม่แคร์อะไรทั้งสิ้น มีเพลงหนึ่ง ผมได้ยินคำที่ผันทุกเสียงวรรณยุกต์ แล้วมันผันได้เป็นประโยค คำเดียวในภาษาไทยเลยคำว่า ไมค์ ใหม่ ไหม้ มั้ย ไหม มันเจ๋งว่ะ มันเป็นคำที่แบบว่าไมค์ ใหม่ ไหม้ มั้ย ไหม มันเป็นประโยคได้เลย ก็เอาเนี่ยเพลง ‘ไมค์ใหม่ไหม้มั้ยไหม’ มาเป็นชื่อเพลง มาแต่งเป็นเพลง One Week One Song (หัวเราะ) ซึ่งเพลงนี้เรารู้อยู่แล้วไง ยังไงมันก็ไม่ดังหรอก ยังไงมันก็ไม่เป็นที่ที่ทุกคนเอาไปฟังเล่น ๆ ไม่ได้อยู่แล้วแหละ แต่ว่าเราต้องการนำเสนอมุมความแปลก ความเป็นครีเอทีฟของการแต่งเพลง เป็นช่องทางหนึ่งที่เราจะซนได้มากที่สุด โดยไม่ต้องคำนึงถึงความจะดังหรือไม่ดัง   The People: ตอนที่คุณไปออกรายการ The Mask Singer ภาพลักษณ์ แนวเพลง และการร้องของคุณดูเป็นอีกแบบ แตกต่างจากที่ได้ยินในวง Season Five เป็นความตั้งใจที่คุณอยากนำเสนอสิ่งใหม่ ๆ ด้วยไหม เอก: โห! เป็นคำถามที่ดีมากเลยครับ จริง ๆ เป็นความตั้งใจเลยว่าการไปรายการนี้ เราต้องทำอะไรที่เราไม่ทำอยู่แล้ว จะเป็นการออกจาก safe zone ตัวเองให้มากที่สุด ให้ไกลที่สุดเลย เราจะไปให้สุด แล้วเรารู้สึกว่าเราจะทำอะไรก็ได้ที่เราไม่เคยทำ แล้วก็อยากให้คนอื่นเห็นในอีกมุมของเราบ้าง จริง ๆ ผมเป็นคนชอบเพลงเพื่อชีวิต ผมเป็นคนชอบเพลงที่มีความหมายซ่อนอยู่เยอะ ๆ เป็นเพลงที่บางทีอาจจะไม่ใช่เพลงที่เป็นเพลงรัก หรืออาจจะเป็นเพลงรักที่มีความหมายแบบลึก ๆ ล้ำ ๆ เลย แล้วมีวิธีการเขียน มีวิธีการนำเสนอที่ลึก เป็นผู้ใหญ่มาก ๆ เพราะเพลงที่เราทำเราทำแบบ average ของคนที่อายุค่อนข้างจะเป็นวัยรุ่น First jobber  แต่ว่าเพลงที่ถูกนำเสนอใน The Mask Singer นี่คือเราเอาจากเพลงที่เป็นเพลงเก่าหมดเลย ซึ่งเราเอามาผสม คือส่วนใหญ่ถ้าในเพลงนั้น ผมจะเขียนเนื้อเองใส่เข้าไปด้วย มันก็เป็นอะไรที่อย่างที่บอกว่าเป็นอะไรที่เราไม่เคยทำ แล้วเราอยากทำ อยาก challenge ตัวเองด้วย ก็เลยเป็นเพลงทุกเพลงที่ได้ยินใน The Mask Singer คือเหมือนเราตั้งโจทย์อยู่แล้วว่าด้วยความที่เราเลือกเป็นหน้ากากราศีมีน ราศีมีนก็จะเป็นปลา 2 ตัว ผมก็เลยมานั่งวางคอนเซปต์ว่า เพลงที่เราจะนำเสนอโดยที่เป็นหน้ากากราศีมีนจะเป็นเพลงอะไรดี เราก็เลยรู้สึกว่าราศีมีนเราจะให้เขาเป็นตัวละครหนึ่งที่เขามีความสองขั้ว ว่าหนึ่งเขาอาจจะพูดเป็นปลาสีขาว อีกส่วนหนึ่งของเพลงเขาจะเป็นปลาสีดำ เขาจะเกรี้ยวกราด เขาจะโมโห ในทุกเพลงถ้าสังเกตได้ The Mask Singer จะมีความสองขั้วตรงนี้ แต่ว่าอยู่ในเพลงเดียวกัน แล้วมันออกมา นี่เป็นโจทย์ที่เราตั้งก็เลยเป็นอย่างที่ทุกคนเห็น    The People: สำหรับคุณเพลงที่ดีคืออะไร  เอก: เป็นคำถามที่ยากมากเหมือนกัน เพราะว่าศิลปะคำว่าถูกผิดมันค่อนข้างยากนะ คำว่าดีหรือไม่ดีมันก็ยากด้วยเหมือนกัน แต่ว่าจริง ๆ มันขึ้นอยู่กับ…ประสบการณ์การฟังเพลงของเราด้วยแหละ เพราะว่าเด็ก ๆ ถ้าพูดถึงเพลงเพลงหนึ่ง ถ้าเด็ก ๆ ที่ไม่เคยฟังเพลงมา เขาจะไม่รู้เลยว่าเพลงสมัยนี้ คือผมว่าคำว่าดีหรือไม่ดี มันคือประสบการณ์การได้ฟังเพลงมาเยอะหรือไม่เยอะ  คือถ้าเป็นในมุมมองผม เพลงดีหรือไม่ดี คือมันต้องเปรียบเทียบ คือเราฟังเพลงมาตอนนี้เราก็อายุเยอะแล้ว เราฟังเพลงตั้งแต่ Carpenter เด็ก ๆ จนมาถึงตอนนี้ เราได้ฟังเพลงเยอะมาก ในสมองเราจะสามารถรู้ได้ว่าถ้าเทียบกับเพลงนู้นที่มีเนื้อหาใกล้เคียงกัน แนวดนตรีเหมือนกัน คือแบบโอ้โห! อันนู้นเด็ดขาดกว่าเยอะ อันนี้ธรรมดา แต่มันก็วัดกันไม่ได้อยู่ดี เพราะเรื่องความดีไม่ดีมันอาจจะอยู่ที่ตัวบุคคลมากกว่า อยู่ที่ประสบการณ์การฟังเพลงมากกว่า อันนี้มันวัดด้วยตัวเราเอง บางทีเราไม่ชอบเพลง รู้สึกเพลงนี้ไม่ค่อยดีเลย แต่คนอื่นหลาย ๆ คนอาจจะชอบก็ได้ มันเป็นเรื่องของศิลปะที่ตอบยากเหมือนกัน จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ The People: สิ่งไหนที่ทำบนเวทีแล้วดีและเป็นสิ่งจำเป็นในฐานะ performer เอก: ผมจะให้ความสำคัญกับเรื่องของอารมณ์มากกว่า ถ้าเป็นเรามุมมองเรานะ คือรู้สึกว่าเพลงจะทำงานได้ หรือการ perform จะทำงานได้ดี มันคือการ perform ที่เราดึงคนเข้ามาอยู่ เข้ามามีส่วนร่วมกับการสื่อสารของเรา การ performance ที่ดีหรือไม่ดี ถ้าความคิดของผม คือการที่คนรับรู้สิ่งที่เราสื่อสารได้ไหม ต่อให้เป็นการแสดงยิ่งใหญ่อลังการไฟเยอะมาก แต่ไม่สามารถดึงคนเข้ามาอยู่ในจุดที่เราจะสื่อสารกับเขาได้ ผมก็รู้สึกว่าเออ...มันใหญ่ไปก็เท่านั้น กับการแสดงที่แบบแค่นั่งแล้วก็เล่นกีตาร์ให้คนฟังอยู่ในสวนธรรมดา แต่ถ้ามันซาบซึ้ง เพลงเศร้าเราทำให้เขาร้องไห้ได้ ผมว่าอันนี้ก็เพียงพอแล้ว นี่คือการแสดงที่ดีแล้ว มันขึ้นอยู่กับเรื่องของว่าเราเอาเขามาอยู่ในจุดที่เรากำลังสื่อสาร แล้วเขาสามารถสัมผัสสิ่งที่เราสื่อสารได้หรือเปล่า อันนี้ดีหรือไม่ดีผมว่าสำหรับตัวผมคือมันขึ้นอยู่กับสิ่งนี้   The People: เพลงประสานเสียงกับความเป็นเพื่อนเกี่ยวข้องกันไหม อย่างไร เอก: สำหรับวงเรา มันค่อนข้างที่จะเกี่ยวข้องมาก หมายถึงว่าเราให้ความเป็นเพื่อนเยอะกว่า เพราะเราผ่านอะไรมาตั้งแต่เด็กเลยจนโต คือชีวิตเรามีแค่นี้ ชีวิตเรามีกันอยู่แค่ 4 คน เพราะฉะนั้น ความเป็นเพื่อนค่อนข้างที่จะ…ชัดเจนมากใน Season Five แต่ว่ามันก็มีทั้งข้อดีและข้อเสียแหละ คือเราเป็นวงที่ค่อนข้างอยู่กันมานานแล้วก็คิดว่ามันไม่ค่อยมีปัญหาอะไรกัน เพราะว่าแต่ละคนมันค่อนข้างมีความ compromise เหมือนแบบเออ...มึงชอบอย่างนี้ก็ได้ เอาเลย ทั้ง ๆ ที่บางทีในใจอาจจะไม่ชอบก็ได้ คือมันเป็นอย่างนี้กันหมด แต่ว่ามันมีความเกรงใจกันมาตลอด ข้อดีของมันก็คือการที่เราพามันมาได้เห็นจุดนี้เหมือนกัน แต่ว่าข้อเสียก็คือบางทีเราอาจจะไม่ได้สิ่งที่ดีที่สุด เพราะเรายอมกันมากเกินไป คือไม่มีใครกล้าที่จะพูดว่า มึง อันนี้ไม่ดีกว่า กูว่าเป็นอันนี้ไหม มันมีความอะลุ่มอล่วยกันอยู่ประมาณหนึ่ง ผมว่ามันเป็นทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ว่านี่แหละการเป็นเพื่อนจะทำให้เราขับเคลื่อน Season Five ไปด้วยกันได้   The People: ดนตรีคืออะไรในชีวิตคุณ เอก: ผมว่าดนตรีก็เป็นพื้นที่ที่เราจะได้หลุดออกจากโลกแห่งความเป็นจริงได้พักหนึ่ง เป็นศิลปะที่เราใช้หู เหมือนเข้าไปอยู่จุดจุดหนึ่งที่บางทีเราลืมโลกในปัจจุบัน ที่มันเป็นในชีวิตความเป็นจริง เราอาจจะไปอยู่กับอะไรบางอย่าง เราอาจจะไปฟังใครสักคนที่สื่อสารอะไรให้เรารับรู้ แล้วมันเป็นศิลปะที่มีเสน่ห์มาก เพราะว่าคำว่าดนตรีในหลาย ๆ คนมันก็มีนิยามแตกต่างกันไป มันก็เหมือนเราเสพผลงานศิลปะอย่างหนึ่ง เหมือนการมองดูรูปวาดคนหนึ่งวาดแบบนี้ คนหนึ่งวาดอย่างนี้ เราฟังเพลงหนึ่งเรารู้สึกแบบนี้ อีกวันหนึ่งเราอาจจะอยากฟังอะไรบางอย่างที่รู้สึกอีกแบบหนึ่ง ผมว่ามันเป็นการไปในอีกโลกหนึ่งที่มันมีเสน่ห์ มันหลากหลายดี มันได้ไปในที่ที่ไม่เหมือนกัน เพราะว่าศิลปินแต่ละคนก็จะมีงานตัวเองที่ไม่เหมือนกัน จริง ๆ มันตอบยากนะว่าดนตรีมันคืออะไร แต่ผมก็รู้สึกว่ามันขึ้นอยู่กับการตีความของแต่ละคนด้วย บางคนอาจจะเป็นแร็ปที่ไม่ได้มีเนื้อร้อง แต่มันฟังแล้วโหโคตรดีเลยว่ะ มันก็เป็นดนตรีที่เราเสพแล้วเรารู้สึกอินกับมันได้ คือจริง ๆ มันเป็นอะไรก็ตามที่เรารู้สึกว่าเรา relate กับมันได้ เป็นศิลปะที่เรา relate ทางหูกับมันได้ เรามีความสุขกับมัน   The People: ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีเสียงดนตรีแล้วคิดว่าชีวิตจะเป็นอย่างไร เอก: คือจริง ๆ ดนตรีมันคือชีวิตเลย ถ้าไม่มีคืออย่ามีชีวิตอยู่เลยดีกว่า เพราะมันคือชีวิตของเราไง เพราะมันเป็นสิ่งที่ทุกวันนี้มันคือชีวิตของเราแล้วละ เราอยู่กับสิ่งที่เราเลือกแล้ว แล้วอย่างที่บอกว่าโชคชะตาเรา เหมือนเราหนีดนตรีเราแล้ว แต่เขาไม่ให้เราหนีไป เหมือนเราเรียนนิติศาสตร์แล้วเราก็เลิกไม่ได้ทำแล้วนะ พอได้กลับมาทำแล้วก็เหมือนจะเลิกทำอีกแล้ว เขาก็ดึงเรากลับมาทำอีก ผมรู้สึกว่ามันเป็นโชคชะตาแล้วแหละ มันทำให้เราเลิกทำสิ่งนี้ไม่ได้แล้ว ฉะนั้น ถ้าพรุ่งนี้ไม่มีดนตรี ผมว่าอย่ามีชีวิตอยู่ดีกว่า (หัวเราะ) ไม่รู้จะอยู่ไปทำไมแล้วจริง ๆ จบกฎหมายมาฟอร์มวงประสานเสียง ‘Season Five’ ดนตรีคืออะไรในสายตา ‘เอก-สุดเขต จึงเจริญ’ The People: ที่มาของเพลง ‘What the F’ เอก: จริง ๆ ‘What the F’ พูดถึงไปอยู่ใน One Week One Song ได้เลยนะ มันมีความคิดจากความครีเอทีฟ คือพอเราทำเพลงมาถึงจุดหนึ่ง คนเขียนเพลงที่เขียนเพลงเยอะประมาณหนึ่ง มันจะเริ่มมีปัญหาเรื่องของการเฮ้ย! คิดอันนี้ก็ซ้ำแล้วว่ะ อันนี้เคยเขียนไปแล้ว อันนั้นเคยเขียนไปแล้ว มันก็เริ่มที่จะมองหาอะไรใหม่ ๆ ‘What the F’ เป็นสิ่งหนึ่งที่ทำให้รู้ว่าเวลาหาคอนเทนต์มาทำเพลงเพลงหนึ่ง บางทีเราไม่จำเป็นต้องหาไกลตัวมาก อันนี้เป็นสิ่งที่ทึ่งกับการที่เฮ้ย! เราสามารถหยิบอะไรก็ตามที่มันเกิดขึ้นรอบตัวเรามาทำเพลงได้หมดเลยนะ เพียงแต่ว่าเรามีวิธีการยังไง  ‘What the F’ เป็นวิธีการใช้คำ การเปรียบเทียบ ก็คือเพลงนี้ผมบังเอิญได้อยู่กับน้องคนหนึ่งที่เขากำลังเรียนออนไลน์ แล้วเขาก็เหมือนเป็นบทสนทนากันในจอคอมพ์กับอาจารย์ อาจารย์อย่าให้หนูตกเลย หนูติด F ปี 4 เทอม 2 แล้ว คือถ้าตกปุ๊บเนี่ยมันต้องลงอีกไปเทอมหน้า แล้วช่วงนี้มันช่วงโควิด-19 เรียนออนไลน์มันก็ยาก มันก็แบบโห! มันจบยากจริง ๆ เราก็เออว่ะแม่ง โคตรน่าเห็นใจเลยนะคนเรียนยุคนี้ แล้วกำลังจะจบ กำลังจะติด F  เป็นบทสนทนาที่แบบคำนี้เป็นคำที่เราได้ยินชัดเจนมากที่สุด คือคำว่าขอโอกาสแก้ตัวอีกสักครั้งหนึ่ง เหมือนกับว่าขอสอบใหม่อีก 1 ครั้ง อย่าให้หนู F เลย ขอแก้ตัวอีกสักครั้ง ขอโอกาสอีกสักครั้ง แต่เราได้ยินคำนี้เป็นคำที่ชัดเจนมาก ๆ เรารู้สึกว่าเฮ้ย! คำว่าขอโอกาสอีกสักครั้ง มันเป็นคำที่แบบถ้าเรามาใช้กับความรักมันก็ได้อยู่เหมือนกันนะ ด้วยคำว่าเขาบอกว่าอย่าให้หนู F เลย ก็เลยรู้สึกว่าเฮ้ย! คำว่า F นี่มันแม่งเป็นคำที่เอามาใช้เรื่องของความรักได้ คือการไม่ผ่าน คือการสอบตก เราก็เลยคิดจากตรงนั้น คิดไปอีกก็เลยกลายเป็นคำว่า What the F  มันเหมือนเขาก็คงมีอารมณ์นี้กับอาจารย์ ถ้าไม่ใช่ F เป็นเรื่องของเกรด ถ้าเป็นเรื่องของอย่างนี้ มันก็คือเป็นแบบ What the F จริง ๆ ที่แบบให้ฉัน F ได้ไงวะ เหมือนบ่น มันก็เลยเป็นท่อนฮุกของเพลง ‘What the F’ จริง ๆ F ก็คือเกรด ก็คืออย่าให้เกรด F เลย บางทีความรักมันเหมือนการเรียน เรียนมหา’ลัยทั้งหมดจบ 4 ปี บางคนอาจจะแบบโห! ทำได้ดีมาทุกเรื่องเลย มันมีวิชาเดียวที่เราแม่งไม่ถนัดจริง ๆ คือเราทำอะไรก็ผิดตลอด ไอ้สิ่งนี้เราไม่ถนัดจริง ๆ แต่แบบอย่าตัดสินเราด้วยแค่วิชาเดียว อย่าให้ F เราวิชาเดียวเลย คือแบบมันก็จะพังหมดเลยที่เราทำมาทั้งหมด ที่เราเรียนมา 4 ปี จะให้เราแค่นี้เลยเหรอ ก็เหมือนเป็นการขอโอกาสกับความรัก นี่เป็นที่มา   The People: คำถามสุดท้าย ฝากผลงานสักหน่อย เอก: จริง ๆ เพลงนี้เป็นเพลงที่จะอยู่ในอัลบั้มเต็มของ Season Five ก็ฝากเพลง ‘What the F’ แล้วก็ฝากอัลบั้มที่กำลังจะมาถึง เพื่อเป็นการรวมเอาเพลงทั้งหมดที่เรามาอยู่กับ Me Records แล้วก็รวมถึงเพลง ‘What the F’ ด้วย แล้วก็กำลังจะมีอีกเพลงหนึ่งด้วย เพลงต่อไปเป็นเพลงปิดอัลบั้มแล้ว อัลบั้มนี้ก็จะเพลงเยอะหน่อย อัลบั้มนี้ชื่อว่า ‘Bet’ นะครับ ตอนที่คิดที่จะเป็นอัลบั้มนี้ ก็คือเราอยากเอาคำที่มีความหมายสั้น ๆ แต่ว่ามันเป็นคำที่มีความหมายบ่งบอกถึงการเดินทางของเรามา ที่เล่าให้ฟังตั้งแต่ต้นจนจบเลยคือ Bet คือการเดิมพันที่เรารู้สึกว่าเราเป็นอย่างนี้มาตลอด เราออกจากค่ายนู้นมาอยู่ค่ายนี้ เราออกจากสิ่งนี้ เราทำสิ่งนี้ไม่โอเค ทำสิ่งอื่นตลอด รวมถึงชีวิตผมที่เดิมพันกับการเรียนจบกฎหมาย ทำงานกฎหมาย แต่ก็ลาออกมาเพื่อมาทำสิ่งที่มันเป็นความฝัน โดยที่เรายังไม่รู้เลยว่ามันจะเกิดอะไรขึ้น มันคือการเดิมพันตลอดเวลาที่เราเดินทางมา ก็เลยรู้สึกว่าคำนี้มันน่าจะเป็นคำที่บอกตัวตนของเราได้กับการทำเพลง กับชีวิตของเรา กับ Season Five ด้วย ก็อยากฝากอัลบั้มนี้อัลบั้ม ‘Bet’ ก็อย่างที่บอกแหละครับว่ามันคือการเดิมพันของเรา  อยากให้ทุกคนเดินทางไปกับเราในอัลบั้มนี้ ในเร็ว ๆ นี้ แล้วก็ฝากเผื่ออีกเพลงหนึ่งแล้วกัน เพลงปิดอัลบั้มที่กำลังจะปล่อย แต่ว่าตอนนี้ฝาก ‘What the F’ ก่อน ให้ทุกคนช่วยกันฟัง ช่วยกันแชร์เยอะ ๆ ด้วยนะครับ