Aerosmith: ห้าทศวรรษของปู่ทั้งห้า เจ้าของฉายา “เดอะแบดบอยฟรอมบอสตัน”

Aerosmith: ห้าทศวรรษของปู่ทั้งห้า เจ้าของฉายา “เดอะแบดบอยฟรอมบอสตัน”
แม้จะผ่านมามากกว่ายี่สิบปีแล้ว แต่ท่วงทำนองของเปียโนในเพลงบัลลาดร็อกอย่าง ‘I Don’t Want to Miss a Thing’ นั้นยังถูกเล่นซ้ำไม่ต่างจากวันแรกที่ภาพยนตร์ ‘Armageddon’ เข้าฉายในโรงหนังเมื่อปี 1998   ‘I Don’t Want to Miss a Thing’ ทำลายกำแพงที่ Aerosmith เคยมองว่าสูงเสียดฟ้า เมื่อเพลงนี้กลายเป็นเพลงแรกของพวกเขาที่โผขึ้นอันดับหนึ่งบิลบอร์ดชาร์ต แซงหน้า ‘Dream On’ และ ‘Walk This Way’ เพลงดังจากยุค 70s ที่เคยขึ้นเลขสองหลักในชาร์ตเดียวกันไปแบบไม่ทิ้งฝุ่น   นี่คือเรื่องราวและบทเพลงของ ‘Aerosmith’ วงดนตรีที่ได้รับฉายาว่า ‘the Bad Boys from Boston’ จากสีสันของตัววงที่ครบครันไปด้วยดนตรี ผู้หญิง และเหล้ายา ตามแบบร็อกสตาร์ขนานแท้ รวมไปถึงการ ‘เอาตัวรอด’ จากอุตสาหกรรมดนตรีและยาเสพติดของ ‘สตีเวน ไทเลอร์’ นักร้องปากกว้างเจ้าของเสียงแผดสุด iconic ประจำวง   Dream On: ก้าวแรกแห่งความฝัน   ถ้าจะถามคอเพลงร็อกถึงเพลงที่เล่าเรื่องความฝันได้เปี่ยมแรงบันดาลใจที่สุด ใครหลาย ๆ คนคงอดใจที่จะตอบเพลง ‘Dream On’ ของ Aerosmith ออกมาไม่ได้    / Sing with me, sing for a year Sing for the laughter, and sing the tear Sing with me, if it's just for today Maybe tomorrow, the good Lord will take you away /   เนื้อเพลงที่บอกให้หนุ่มสาว ‘ร้องเพลง’ ในวันนี้ เพราะ ‘พรุ่งนี้พระเจ้าอาจจะมารับคุณไปสู่ปรโลก’ นั้นฟังดูลึกซึ้งและมีพลัง จนยากจะเชื่อว่าไทเลอร์แต่งเพลงนี้ด้วยการมอมตัวเองให้เมาที่สุดเท่าที่จะเมาได้ เขาเขียนมันในช่วงวัย 17 หรือ 18 ปีก่อนที่เขาและสมาชิก Aerosmith จะเจอกันและเริ่มฟอร์มวง   “ผมเขียน ‘Dream On’ จากเมโลดี้ที่เล่นวนในหัวมาหลายปี ตั้งแต่วันที่พ่อผมที่เป็นนักดนตรีนั่งอยู่หน้าเปียโน เขาเล่นและร้องเพลงบางอย่าง ผมครุ่นคิดเกี่ยวกับมันอยู่เสมอแต่ไม่เคยคิดว่ามันจะกลายเป็นเพลงได้ด้วยซ้ำเพราะผมไม่รู้วิธีแต่ง จนกระทั่งหกหรือเจ็ดปีให้หลังนั่นแหละมันถึงกลายเป็นชิ้นเป็นอันขึ้นมา”   ด้วยเสียงแผดสูงของไทเลอร์รับกับท่วงทำนองบัลลาดร็อกติดหู ด้วยพาร์ทดนตรีที่กลมกล่อมผสานกับเนื้อร้องที่มีพลัง เป็นส่วนละอันพันละน้อยที่ผลักดันให้ ‘Dream On’ (1973) เพลงแจ้งเกิดของวงนี้สร้างแรงกระเพื่อมในวงการดนตรีช่วงนั้นไม่น้อย แรงกระเพื่อมนั้นบอกกับไทเลอร์และเพื่อนร่วมวงของเขาให้รู้ว่า ความฝันใฝ่ในอุตสาหกรรมดนตรีของ Aerosmith เริ่มขึ้นแล้ว แม้จะเป็นฝันที่ยังไม่อาจกวาดอันดับต้น ๆ บนชาร์ตใดมาไว้กับอกได้ก็ตาม   “เพลงนี้เล่าถึงการคว้าฝันของวัยเยาว์ บางครั้งเราก็ไม่พอใจในตัวเอง บางครั้งเราก็ฝันอยากเป็นใครสักคน...จงฝันและฝันจนกว่าจะทำฝันนั้นเป็นจริงได้”   Walk This Way: แบดบอยมาแล้วจ้า   / She starts, swingin' with the boys in, tune And her feet just fly up in the air  Singin' hey diddle diddle with a kitty in the middle And they swingin' like it just don't care/   ริฟฟ์กีตาร์ของเพลง ‘Walk This Way’ จากอัลบั้ม Toys In The Attic ที่ฟังสนุกสนานและรับกับเสียงร้องของไทเลอร์ได้เป็นอย่างดี นั้นเป็นฝีมือของ ‘โจ เพอร์รี’ (Joe Perry) เพื่อนซี้มือกีตาร์ที่เข้าขากับไทเลอร์ประหนึ่งคู่หูนักดนตรี ‘แจ็กเกอร์ – ริชาร์ด’ หรือ มิก แจ็กกอร์ (Mick Jagger) กับ คีธ ริชาร์ด (Keith Richards) สองปู่รุ่นเก๋าจากคณะหินกลิ้ง The Rolling Stones อย่างไรอย่างนั้น   สองคู่หูนักร้อง - มือกีตาร์ จาก Aerosmith ก็ไม่ต่างกัน นอกจากนั้น พวกเขายังเป็นสองนักดนตรีที่รู้ใจกันมากกว่าเรื่องเพลงเสียด้วย เมื่อไทเลอร์ - เพอร์รี ถูกขนานนามว่า ‘Toxic Twins’ หรือสองคู่หูนักพี้ ที่พี้ยามาแล้วทั่วสหราชอาณาจักร พวกเขาสูดผงเข้าปอดด้วยกัน get high ด้วยกัน และขึ้นไปปล่อยผีบนเวทีอย่างบ้าระห่ำพร้อมกับสมาชิกในวงอีกสามคนที่เมาเละไม่ต่างกัน เรียกได้ว่าพฤติกรรมของพวกเขานั้น ‘เกเร’ ตามฉบับวงร็อกเต็มขั้น สมกับวลี ‘the Bad Boys from Boston’ ที่พวกเขาถูกขนานนาม   เช่นเดียวกับ ‘Dream On’ ชาร์ตของ ‘Walk This Way’ เมื่อแรกปล่อยในปี 1975 ไม่ได้สูงมากนัก แต่ภายหลังเพลงนี้กลับกลายเป็นไอคอนแห่งความหลากหลายและการทำลายอีกหนึ่งกำแพง เมื่อปี 1986 วงฮิปฮอป ‘Run-DMC’ ได้หยิบเพลงนี้ไปทำใหม่ให้กลายเป็นเพลง แรป - ร็อก ที่เอาริฟฟ์กีตาร์ตามฉบับ Aerosmith มามิกซ์กับบีทอิเล็กทรอนิกส์ พร้อมด้วยท่อนแรปตัดสลับกับฮุคเดิมในเพลง   ‘Walk This Way’ ที่ถูกรีมิกซ์คือบทเพลงที่ทำลายความต่างของสีผิวในอุตสาหกรรมดนตรี และกลายเป็นเพลงที่ฟังทุกบ้านตั้งแต่ชาวร็อกไปถึงชาวแรป ไม่ว่าคุณจะเป็นคนขาวหรือคนดำ แต่งตัวแบบพังก์ สะพายกีตาร์ หรือใส่ยีนส์ตัวโคร่งถือสเก็ตบอร์ดแบบเด็กฮิป เพลงนี้ก็อยู่ในลิสต์ท็อปเท็นที่หนุ่ม ๆ สาว ๆ ในยุคนั้นล้วนเปิดกันให้ลั่น USA   I Don't Want to Miss a Thing: เพลงเพลงนี้ที่ได้ฟังนั้น ฉัน (Aerosmith) ไม่ได้แต่ง   แม้โดยมากสมาชิก Aerosmith จะแต่งเพลงกันเอง หลาย ๆ เพลงดังของพวกเขาล้วนเกิดจากปลายปากกาของไทเลอร์หรือเพอร์รี ไม่ก็เป็นสองคนนี้ร่วมกันแต่ง แต่เพลงฮิตของพวกเขาไม่ว่าจะเป็น ‘Crazy’, ‘Cryin’ หรือ ‘Janie Got a Gun’ ก็ไม่เคยพา Aerosmith ไปถึงฝั่งฝันที่ชื่อว่า ‘อันดับหนึ่งของชาร์ตเพลง’ ได้เลย กลับกัน เพลงที่ทำแบบนั้นได้ กลับกลายเป็นเพลงที่พวกเขาไม่ได้แต่ง   ปี 1998 เพลงที่ทำให้ Aerosmith ไปถึงจุดนั้นได้คือ ‘I Don’t Want to Miss a Thing’ เพลงประกอบภาพยนตร์ ‘Armageddon’ ที่ฮิตไปทั่วบ้านทั่วเมือง โดยภาพยนตร์เรื่องนี้ ‘ลิฟ ไทเลอร์’ ลูกสาวของสตีเวน ไทเลอร์ รับบทนางเอกด้วย ซึ่งในตอนแรกนักร้องนำตัวดีของเราก็ไม่ค่อยชอบเพลงนี้สักเท่าไรนัก   “ผมรู้ว่ามันเป็นเพลงที่ดี แต่ไม่ได้คิดว่ามันจะเข้ากับ Aerosmith อะไรมากมาย”   คือคำที่ไทเลอร์เคยพูดไว้ ในวันที่ยังไม่รู้ว่าเสียงร้องของเขาในเพลงนี้นี่แหละ ที่จะถูกเล่นวนจนคนจำได้มามากกว่ายี่สิบปี ขึ้นแท่นอีกหนึ่งตำนานในวงการดนตรีไปแบบไม่ได้ตั้งตัว   Still Dream On: ปู่ซ่าบ้าฝัน   “ในชีวิตผมไม่เคยเจอใครเสพยาหนักเท่าคุณเลย”    “ผมเคยรู้สึกว่าตัวเองเท่เป็นบ้าตอนได้ยินว่าผมเป็นนักเสพยาตัวฉกาจ แต่ตอนนี้มันน่าเจ็บปวดมากกว่า”   เหล่านี้คือบทสนทนาระหว่างผู้สัมภาษณ์และไทเลอร์ เป็นที่รู้ดีจากหนังสืออัตชีวประวัติ ‘Does the Noise in My Head Bother You?’ ว่าเขามีปัญหาเกี่ยวกับเหล้าและยามาอย่างยาวนานตั้งแต่ก่อนที่จะเข้าวงการร็อกแอนด์โรลล์ด้วยซ้ำ เมื่อห้าสิบกว่าปีก่อนหน้า สตีเวน ไทเลอร์ในวัยหนุ่มมองว่าการเสพยาเป็นเรื่องเท่   “ยาเสพติดทำให้ผมรู้สึกว่าตัวเองเป็นร็อกสตาร์ก่อนที่ผมจะได้เป็นจริง ๆ ผมคิดว่านั่นเป็นสิ่งที่ร็อกสตาร์ต้องทำ – fake it till you make it น่ะ”   การเสพยาอย่างหนักและทัวร์คอนเสิร์ตอย่างบ้าคลั่งได้เล่นงานสุขภาพสมาชิกในวงไปไม่น้อย แต่โชคดีเหลือเกินสำหรับแฟน ๆ Aerosmith เพราะหลังจากการบำบัดอาการติดยาในสมาชิกบางคน (แน่ล่ะ รวมทั้งไทเลอร์ด้วย) พวกเขาในวัยหกสิบปลาย ๆ – เจ็ดสิบต้น ๆ ยังคงมีลมหายใจและมีแพสชันในการทำดนตรีที่เหลือเฟืออยู่   “แม้จะอยู่ท่ามกลางความโกรธเกรี้ยวและเกลียดชัง แต่ผมก็เอาชีวิตรอดในธุรกิจดนตรีมาได้ ผมรอดตายจากการเสพยา มีหลายเหตุการณ์ในชีวิตที่ทำให้ผมได้เห็นปัญหา ที่ชี้ให้เห็นว่าบางทีมันก็ไม่ค่อยสนุกที่ผู้คนจะมาข้องเกี่ยวกับผม”   ท่ามกลางโลกดนตรีที่หมุนไวขึ้นในทุกวัน สตีเวน ไทเลอร์ที่บางครั้งบางคราวก็แหวกไปแสดงภาพยนตร์ และเป็นกรรมการในรายการประกวดอย่าง ‘American Idol’ ยังคงไม่ทิ้งความรักในดนตรีร็อก Aerosmith กลายเป็นวงร็อกไม่กี่วงจากยุค 70s ที่ยังคงความเก๋าบนเวทีเอาไว้ได้อยู่   เรียกได้ว่าไทเลอร์ยังยึดคติการ Sing if it's just for today. Maybe tomorrow, the good Lord will take you away. เช่นเนื้อเพลง ‘Dream On’ ที่เขาเขียนอยู่อย่างไม่เสื่อมคลาย   “ผมขึ้นไปบนเวทีแล้วร้องเพลงที่ผมแต่งตอนยังไม่ยี่สิบดีอย่าง ‘Dream On’ มันเหมือนกำลังนั่งไทม์แมชชีนที่พาผมย้อนกลับไปเมื่อสี่สิบแปดปีที่แล้ว แม้จะมีเรื่องแย่ ๆ มากมาย แต่คุณรู้ไหม ตอนที่แสดงบนนั้นและได้ ‘มีเซ็กซ์กับผู้ชม’ ด้วยบทเพลงน่ะ นั่นมันเยี่ยมที่สุดแล้ว” เรื่อง: จิรภิญญา สมเทพ ที่มา: https://www.grunge.com/161990/the-tragic-real-life-story-of-aerosmith/ https://www.loudersound.com/news/perry-talks-toxic-relationship-with-tyler https://www.oprah.com/spirit/oprah-interviews-steven-tyler-aerosmiths-steven-tyler-interview https://www.huffpost.com/entry/steven-tyler-aerosmith-documentary_n_5afa0083e4b0200bcab8027e https://www.loudersound.com/features/the-story-behind-the-song-i-dont-want-to-miss-a-thing-by-aerosmith https://explorerockmusic.blogspot.com/2013/05/song-meaning-dream-on-by-aerosmith.html