เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋

เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋
“คนภาคอื่น ๆ จะเข้าใจว่าคนเมือง หรือคนเหนือจะเป๋นคนที่แบบช้า ๆ เนิบ ๆ ต๊ะต่อนยอน (สบาย ๆ) อ่อนช้อย อ่อนหวาน อันนี้คือการเข้าใจ๋ผิดเลยหนา (หัวเราะ) แหม (บาง) ส่วนก่คือเหมือนภาคอื่น ๆ ทั่วไป อู้ไว (พูดเร็ว) สวก (ดุ) คนอื่นจะเข้าใจว่า คนเหนือด่าแล้วบ่เจ๊บ มันก่บ่ใจ้ มีครับมี ที่ด่าเจ๊บเน้อ” (หัวเราะ) ‘ติ๊ก - พีรวัส กันธา’ หรือ ‘อ้ายติ๊ก’ บ่าวเจียงใหม่เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก ‘อ้ายติ๊ก’ ให้สัมภาษณ์กับ The People ถึง ‘ความเข้าใจผิด’ ที่คนทั่วไปมีต่อวัฒนธรรมทางภาคเหนือ รวมไปถึงความกังวลที่มีต่อ ‘ภาษาคำเมือง’ เนื่องจากทุกวันนี้ แม้กระทั่งคนเหนือเองก็มีการใช้ภาษาถิ่นน้อยลง อ้ายติ๊กจึงเลือกเปลี่ยนเพจสอนภาษาเหนือธรรมดาให้กลายเป็นเพจที่ส่งต่อทั้งเสียงหัวเราะและวัฒนธรรมล้านนาไปในตัว โดยเอกลักษณ์และเสน่ห์ของเขาก็คือการ ‘อู้คำเมือง’ (พูดภาษาเหนือ) ในทุกคลิปวิดีโอนั่นเอง The People ชวนอ้ายติ๊กมาอู้คำเมืองกันม่วน ๆ (สนุก ๆ) พร้อมเล่าเรื่องราว ‘ความเข้าใจผิด’ ที่มีต่อคนภาคเหนือ ไม่ว่าจะเป็นการใช้คำว่า ‘เจ้า’ หรือการคิดว่า คนเหนือนั้น ‘ใจเย็น’ รวมไปถึงบอกเล่าความเป็นมา ความฝันของเพจ และเชิญชวนทุกคนไปรู้จัก และร่วมอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนาไปด้วยกัน เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ จากหนุ่มอู้น้อยสู่เจ้าของเพจสอนภาษาเหนือ “สมัยละอ่อนน้อย (เป็นเด็กน้อย) คือเป๋นคนอู้น้อย ขี้อายหน่อย ๆ ไม่กล้าแสดงออก พอมาถึงช่วงมัธยมปลาย มันจะมีจุดเปลี่ยน ก่คิดว่าเอ๊ะ บ่ได้ละ เฮาต้องเปลี่ยนแปลงตั๋วเก่า บ่อั้นเฮาจะไปไกลกว่านี้บ่ได้ละ ก่เลยเริ่มกล้าแสดงออก” อ้ายติ๊กเล่าถึงสมัยเด็กที่อยากจะเปลี่ยนแปลงตนเองเพื่ออนาคต เขาเริ่มออกไปพรีเซนต์งานหน้าห้อง เริ่มทำกิจกรรมโรงเรียน รับงานพิธีกร รวมไปถึงเป็นดีเจจัดรายการให้วิทยุชุมชน จนกระทั่งอ้ายติ๊กค้นพบว่า ตนเองมีความชอบด้านการสื่อสาร เขาจึงเข้าศึกษาต่อที่คณะการสื่อสารมวลชน สาขาสื่อใหม่ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นการเรียนเกี่ยวกับสื่อออนไลน์ที่กำลังมาแรงในขณะนั้น เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ จากความถนัดและความรู้ที่ได้ร่ำเรียนมา อ้ายติ๊กได้เริ่มทำคลิปขนาดสั้น เพื่อสอนภาษาคำเมืองลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “ปกติเวลาเราโพสต์วิดีโอ โพสต์รูปจะมีคนกดไลก์แค่ 10 - 20 คน ก่คือดีใจ๋แล้ว แต่วันนั้นเฮาโพสต์สอนภาษาเหนือไป ปรากฏว่ามีคนกดชอบเป๋นร้อยไลก์ ก่เฮ้ย! เฮามาถูกทางละ นั่นก่ทำให้เรามีกำลังใจ๋ในการทำคลิปต่อ ๆ ไป ก่เลยเป๋นจุดเริ่มต้นในการทำคลิปสอนภาษาเหนือ” แต่เนื่องจากเฟซบุ๊กส่วนตัวสามารถรับเพื่อนได้เพียง 5,000 คน อ้ายติ๊กที่มีความฝันไกลกว่านั้นจึงตัดสินใจเปิดเพจ เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้มากขึ้น ซึ่งความตั้งใจแรกของอ้ายติ๊กคือการสื่อสารกับกลุ่มเป้าหมายที่ไม่ใช่คนเหนือ แต่เป็นคนภาคอื่น ๆ “ช่วงแรกที่ทำคลิปจะพูดภาษากลางนะครับ (หัวเราะ) แล้วก่สอนภาษาเหนือให้กับคนภาคอื่น ๆ แต่เอาไปเอามาปรากฏว่า คนมาติดตามเฮากลับเป๋นคนภาคเหนือ เป๋นคนตี้อู้เมืองอยู่แล้ว เฮาก่เลยมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหา จากที่พูดภาษากลางเป๋นอู้คำเมืองสุดคลิปเลย เพราะว่ากลุ่มเป้าหมายตี้ได้คือเป๋นคนเหนือ เป๋นคนเมืองเหมือนกั๋นเอี้ยครับ” อ้ายติ๊กให้ความเห็นว่า ถึงแม้กลุ่มเป้าหมายที่เข้ามาดูจะสามารถอู้คำเมืองได้อยู่แล้ว แต่ความสนุกและเสียงหัวเราะที่ทุกคนได้รับกลับไปจากเพจของเขาคืออีกสิ่งที่ดึงดูดผู้ติดตามเสมอ กระนั้น การสอนภาษาเหนือให้กับคนเหนือก็มีอุปสรรคอยู่บ้าง เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ สอนภาษาเหนือให้คนเหนือ “อุปสรรคที่เจอตอนแรก ๆ คือเรื่องของคำศัพท์ สำเนียง แต่ละพื้นที่มันบ่เหมือนกัน อย่างเจียงใหม่ เจียงฮาย พะเยา ลำปาง มันจะออกเสียงคนละแบบ พอเฮาสอนภาษาเหนือไป ก่จะมีลูกเพจมาคอมเมนต์ว่า เอ้ ออกเสียงอี้บ่ถูกหนา สำเนียงบ่ใจ้จะอี้ เฮาก่ ​อ๋อ ฮู้ละ เพราะว่าภาษาเมืองมันมีหลายพื้นที่ หลายจังหวัด มันออกเสียงคนละแบบ หลังจากนั้นก่เลยกึ๊ดว่า เฮาก่บ่ใจ้ผู้ชำนาญก๋าน ก่เลยเริ่มลดคลิปที่สอนภาษาเหนือ สอนคำศัพท์ลง แล้วก่เพิ่มเนื้อหาตี้เป๋นตลก เป๋นคอมเมดี้ขึ้นไปแทนเน้อครับ” นอกจากนี้ อ้ายติ๊กยังยกตัวอย่างคำศัพท์ที่เมื่อใช้ต่างพื้นที่ก็จะสื่อสารคนละความหมาย “บางคำศัพท์บางจังหวัดมันก่จะมีตี้เข้าใจ๋ผิด อย่างเช่นคำว่า งานปอย เอี๊ยะครับ งานปอย ถ้าเป๋นเจียงใหม่คืองานรื่นเริง ถ้าไปตางลำปาง งานปอยคืองานศพ มันเป๋นคนละความหมายกั๋นเลย” แต่ถึงแม้จำนวนคลิปสอนภาษาเหนือจะลดน้อยลง อ้ายติ๊กก็ไม่เคยอู้คำเมืองน้อยลงเลย ในทางกลับกัน เขายังสวมเสื้อผ้าสไตล์ล้านนา และทำวิดีโอท่องเที่ยวที่ทำให้ผู้ชมได้ดื่มด่ำราวกับเดินทางไปยังภาคเหนือด้วยตัวเอง ซึ่งถือเป็นการอนุรักษ์และส่งต่อความงามของล้านนาอย่างที่อ้ายติ๊กตั้งใจเอาไว้ เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ ความตั้งใจในการอนุรักษ์วัฒนธรรมล้านนา “ปัจจุบันแต้ ๆ ภาษาเหนือมันก่ค่อย ๆ เลือนรางไปละหนา เพราะว่าได้ฮับวัฒนธรรม ได้ฮับตางภาคกลางเข้ามา ทำฮื้อคนอู้ภาษาเมืองน้อยลง บ่ะเด๋วนี้ ป้อแม่ตี้เป๋นคนเมืองเหมือนกัน เวลามีลูกมาก่สอนลูกอู้ไทยแล้ว แล้วในโฮงเฮียนบ่ว่าจะเป๋นประถม มัธยม มหา’ลัย ก่อู้ภาษากลางหมดเลย “ป้อก้าแม่ก้าไปซื้อข้าวซื้อของ อู้คำไทยใส่กั๋นทั้ง ๆ ที่เป๋นคนเมืองเหมือนกั๋นเอี้ยครับ เวลาเฮาอู้ภาษากลางไปเรื่อย ๆ ก่คิดว่าคำเมืองอาจจะเลือนไป ก่เลยเอาจุดนี้มาทำ เพื่อที่จะได้ฮักษาเสน่ห์ตรงนี้ไว้ ฮักษาภาษาที่งดงามอันนี้ไว้” ในปัจจุบันเพจสอนภาษาเหนือเริ่มมีมากขึ้น บ่งบอกถึงความสามารถในการเผยแพร่วัฒนธรรมที่มีมากขึ้นตาม ส่วนตัวอ้ายติ๊กเอง นอกจากภาษาเหนือที่เขารัก เขายังมีอีก 3 สิ่งที่อยากแนะนำให้คนไทยและคนต่างประเทศรู้จักและร่วมอนุรักษ์กัน “ถ้าเป๋นสถานที่ท่องเที่ยวก่อาจจะฮู้จักกั๋นอยู่แล้วว่า มาเจียงใหม่ต้องไปแอ่วดอย ไปสูดอากาศบริสุทธิ์ ขึ้นม่อนต่าง ๆ โดยเฉพาะอำเภอรอบนอก ที่บ่ใจ้ในตัวเมืองนะครับ มันยังคงมีความเป๋นเขา เป๋นดอย เป๋นม่อน มีอากาศบริสุทธิ์อยู่ นั่นก่คือจุดหนึ่งที่อยากจะแนะนำสำหรับคนที่มาแอ่วทางภาคเหนือครับ “ละก่แหมอย่างก่จะเป๋นอาหารเหนือ อาหารเหนือก่ลำ (อร่อย) เน้อครับ มีของลำ ๆ บ่ว่าจะเป๋น หยังพ่องล่ะ (อะไรบ้างล่ะ) คนภาคอื่นก่ฮู้จัก ไส้อั่ว น้ำพริกอ่อง น้ำพริกหนุ่ม แกงฮังเล จอผักกาด ลาบเมือง เน้อครับ ล้วนแล้วแต่เป๋นของลำ ๆ เพราะฉะนั้นถ้าได้มาภาคเหนือ ต้องได้มาชิมอาหารเหนือ “อีกอย่างหนึ่งที่อยากจะเผยแพร่ก่คือ เรื่องของเพลงครับผม เพลงคำเมือง เพลงภาษาเหนือ เพลงจ๊อยซอ เหมือนมันจะบ่ค่อยมี ละเฮาจะสังเกตได้ว่า ในประเทศไทย เพลงคำเมืองตี้เป๋นเพลงยอดนิยมคือมีน้อยขนาด ส่วนใหญ่จะเป๋นเพลงอีสาน ก่อยากจะแนะนำเป๋นงานเพลงภาษาคำเมือง หื้อมันเป๋นที่นิยมครับ” ไม่ใช่แค่ ‘วงนกแล’ ‘จรัล มโนเพ็ชร’ ‘ลานนา คัมมินส์’ หรือ ‘สุนทรี เวชานนท์’ เท่านั้น แต่อ้ายติ๊กยังแนะนำเพลงของ ‘วิฑูรย์ ใจพรหม’ และ ‘เหินฟ้า ล้านนาไทย’ ด้วย หรือหากใครอยากฟังเขาร้องเพลงภาษาคำเมืองก็สามารถเข้าไปชมคลิปวิดีโอกันได้ในเพจอ้ายติ๊ก รวมไปถึงชมคลิปรวมมุกตลกเรียกเสียงหัวเราะที่อ้ายติ๊กลงทุนแสดงเป็น ‘ทุกตัวละคร’ เอง เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ ตัวละครจากความทรงจำในวัยเด็ก ใครหลายคนคงจะคุ้นเคยกับตัวละครหลักที่ปรากฏตัวอยู่แทบจะทุกคลิปวิดีโอในเพจอ้ายติ๊ก ไม่ว่าจะเป็น ‘โจ๊ะโล๊ะ’ เด็กชายผิวขาวปะแป้งที่สองแก้ม ‘อรพิน’ เด็กหญิงพูดช้ามาพร้อมผมปรกหน้า หรือ ‘แก้วตา’ เด็กหญิงขี้ฟ้องประจำโรงเรียน วันนี้อ้ายติ๊กได้ไขความลับให้ฟังว่า ตัวละครสมมติทั้งหมดล้วนเกิดมาจากความทรงจำในวัยเด็กที่เขามีต่อเพื่อนในโรงเรียน เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ “ตอนแรกทำคลิปคนเดียว อู้คนเดียวแล้วฮู้สึกว่ามันไปต่อยาก ก่เลยต้องมีตัวละครสมมติเข้าไป อย่าง ‘โจ๊ะโล๊ะ’ เนี่ยคือมาจากคลิปเกี่ยวกับนักเรียนอู้กับคุณครูในห้องครับ ก่เลยคิดว่าจะเอาตัวละครอะหยังดี โจ๊ะโล๊ะก็เป๋นละอ่อน (เด็กน้อย) นักเรียนป้อชาย น่าฮัก ๆ กวน ๆ น้อยหนึ่ง อู้คำเมืองในห้อง ช่วงแรกตี้ทำเพจ มีแค่ตัวละครที่เป๋นป้อจายครับ ยังบ่มีแม่ญิง เพราะตอนนั้นคือเริ่มทำ ยังบ่กล้าที่จะแต่งเป๋นแม่ญิงเนอะ (หัวเราะ) “ที่มาที่ไปของตัวละครก่คือ เฮานึกไปตอนอดีตเลย ตอนเฮาเฮียนประถม มัธยม ตอนนั้นเฮามีเปื้อนเป๋นคนจะไดพ่อง (เป็นคนแบบไหนบ้าง) มีคนขี้ฟ้องก่ได้มาเป๋นตัวละคร ‘เด็กหญิงแก้วตา’ ขี้ฟ้องอี้น่อ ละมันจะมีนักเรียนย้ายมาใหม่พ่อง มาจากต่างจังหวัดเอี้ยครับ ก่จะได้ตัวละคร ‘กวิน’ เอี้ยครับ แล้วก่มันจะมีเปื้อน เจื้อว่าหลาย ๆ คนต้องเจอนะครับ คนตี้เงียบ ๆ ขรึม ๆ ทำหยังจ้า ๆ เนิบๆ แล้วก่นั่งหลังห้อง เอ้ เอาเป๋น ‘อรพิน’ ละกั๋น ก่คือตัวละครทั้งหมดได้แรงบันดาลใจมาจากเปื้อนในอดีตทั้งนั้นเลยครับ” (หัวเราะ) อ้ายติ๊กเล่าว่าในวันที่เติบใหญ่ หลายคนมักจะหลงลืมเรื่องราวในอดีต ดังเช่นสุภาษิตภาษาเหนือที่กล่าวว่า ‘ของบ่กิ๋นฮู้เน่า ของบ่เล่าฮู้ลืม’ หมายถึงอาหารที่ไม่กิน เก็บไว้ก็จะมีแต่เน่า ส่วนเรื่องที่ไม่ถูกเล่า สักวันก็จะถูกลืม อ้ายติ๊กจึงนำความทรงจำของเขามาพัฒนาเป็นตัวละครที่สร้างเสียงหัวเราะและความบันเทิงให้กับผู้ติดตามแทน แต่นอกจากความเพลิดเพลินที่ได้รับเป็นปกติจากคลิปของอ้ายติ๊ก หากใครที่ต้องการเรียนรู้การใช้ภาษาเหนือที่ถูกต้องก็สามารถสังเกตและฝึกฝนผ่านเพจได้เช่นกัน ซึ่งในครั้งนี้ อ้ายติ๊กก็ได้มาเล่าประสบการณ์ที่พบเจอเกี่ยวกับความเข้าใจผิดที่คนภาคอื่นมีต่อคนภาคเหนือให้ฟัง เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ #คนเหนือไม่ได้ใจเย็นและคำว่าเจ้าก็ใช้กับผู้หญิง “คนภาคอื่น ๆ จะเข้าใจว่าคนเมืองหรือคนเหนือจะเป๋นคนที่แบบช้า ๆ เนิบ ๆ ต๊ะต่อนยอน (สบาย ๆ) อ่อนช้อย อ่อนหวาน อันนี้คือการเข้าใจ๋ผิดเลยหนา (หัวเราะ) แหม (บาง) ส่วนก่คือเหมือนภาคอื่น ๆ ทั่วไป อู้ไว (พูดเร็ว) สวก (ดุ) คนอื่นจะเข้าใจ๋ว่า คนเหนือด่าแล้วบ่เจ๊บ มันก่บ่ใจ้ มีครับมี ที่ด่าเจ๊บเน้อ (หัวเราะ) “แล้วแหมอย่างที่เข้าใจผิดกั๋น จะหันบ่อย ๆ ก่คือเรื่องการเอาคำว่า ‘เจ้า’ ไปใช้ คนอื่นจะนึกได้ว่าถ้าคนเหนือจะอู้เจ้า คนภาคอื่นจะเอาไปใช้ตึงแม่ญิงตึงป้อจาย เอาเจ้าไปใช้หมดเลย ซึ่งความจริงคำว่าเจ้า มันจะใช้เป็นคำต่อท้ายของแม่ญิง เจ้า ก่แปลว่า คะ แปลว่า ขา เจ้าได้เจ้า ได้ค่ะ ประมาณนี้เน้อครับ บางทีหันคนอื่นเป๋นป้อจายก่ใช้ต่อท้ายคำ มันก่บ่ถูกละ เพราะว่า คำว่าเจ้าแต้ ๆ คือ ส่วนใหญ่เปิ้นจะใช้เฉพาะแม่ญิงครับ” ไม่ใช่แค่ความบันเทิง ความสนุกสนาน และความผ่อนคลายเท่านั้นที่ผู้ติดตามทุกคนจะได้รับเมื่อเข้ามาชมเพจอ้ายติ๊ก เพราะความรู้เกี่ยวกับภาษาคำเมือง รวมถึงวัฒนธรรมภาคเหนือก็ถูกอัดแน่นด้วยความหลงใหลในเสน่ห์เมืองล้านนาของเจ้าของเพจด้วยเช่นกัน อ้ายติ๊กหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ตัวเขาจะมีส่วนช่วยในการเผยแพร่วัฒนธรรมอันงดงามเหล่านั้นให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นเรื่อย ๆ “สิ่งตี้อยากให้ได้รับ สิ่งแรกคือได้ความบันเทิง แหมอย่างก่คือ ได้เรื่องของภาษาคำเมือง คำศัพท์ต่าง ๆ หลายคนไปอยู่ต่างจังหวัดเอี้ย ถึงแม้จะเป๋นคนเหนือ บ่ได้ใจ้ภาษาเหนือก่อาจจะลืมเลือนคำศัพท์บางคำไปพ่อง เวลามาผ่อ (ดู) เพจอ้ายติ๊ก ก่จะได้แบบทบทวนความทรงจำโตย ละก่ข้อสุดท้ายอยากจะหื้อได้เป๋นบรรยากาศเป๋นความเป๋นเมือง ความเหนือ ความเป๋นภาคเหนือ เพราะว่ามีลูกเพจหลายคนที่อยู่ต่างจังหวัด อยู่ต่างประเทศ เวลามาผ่อแล้วก่ฮู้สึกนึกถึงบ้านเกิด “สุดท้าย สำหรับคนที่ติดตามเพจอ้ายติ๊กก่ต้องขอบคุณนะครับ ขอบคุณแต้ ๆ ที่อยู่เป๋นกำลังใจ๋กันมาจนถึงตอนนี้ อย่างใดก่ฝากหื้อติดตามกันไปแบบเมิน ๆ เลยเน้อครับ แล้วก่สำหรับไผตี้ยังบ่ได้ติดตามเพจอ้ายติ๊ก ก่ฝากเข้ามาติดตามโตยเน้อครับ จะได้มาม่วน คลายเครียด ได้รับความรู้ ได้รับคำศัพท์ภาษาเหนือกันไป ก่คืออยากจะหื้อทุกคนอู้คำเมืองกัน ” เพจอ้ายติ๊ก: บ่าวเจียงใหม่ผู้ส่งต่อวัฒนธรรมล้านนาด้วยภาษาคำเมืองและคลิปม่วนใจ๋ คำศัพท์คำเมือง อ้าย แปลว่า พี่ชาย ละอ่อน แปลว่า เด็ก อู้ แปลว่า พูด เฮา แปลว่า ผม ฉัน เรา คำเมือง คือ ภาษาถิ่นของพื้นที่ภาคเหนือ เอี้ย แปลว่า แบบนี้ งานปอย (เชียงใหม่) แปลว่า งานรื่นเริง งานปอย (ลำปาง) แปลว่า งานศพ ลำ แปลว่า อร่อย ต๊ะตอนยอน แปลว่า สบายสบาย ไวพ่อง แปลว่า เร็วหน่อย สวก แปลว่า ดุ แหม แปลว่า อีก (แหมอย่าง แปลว่า อีกอย่าง, แหมส่วน แปลว่า อีกส่วน) หยัง แปลว่า อะไร พ่อง แปลว่า บ้าง เปิ้น แปลว่า เขา หรือ เรา ผ่อ แปลว่า ดู เรื่อง: วโรดม เตชศรีสุธี ภาพ: เพจอ้ายติ๊ก