รำลึก “เหมืองแร่” ต้นฉบับของ "ลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์" เขียนถึงประวัติชีวิตตัวเอง

รำลึก “เหมืองแร่” ต้นฉบับของ "ลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์" เขียนถึงประวัติชีวิตตัวเอง

รำลึก “เหมืองแร่” ต้นฉบับของ "ลุงอาจินต์ ปัญจพรรค์" เขียนถึงประวัติชีวิตตัวเอง

***เผยแพร่ครั้งแรกที่ The People เนื่องจากลุงอาจินต์ (ขออนุญาตเรียกท่านแบบลำลอง) นับเนื่องได้ว่า เป็นครูของคนทำงานเขียนและบรรณาธิการ ทาง The People จึงได้ขออนุญาตหยิบส่วนหนึ่งของต้นฉบับซึ่งยังไม่เคยตีพิมพ์ในที่ใด ที่ท่านเขียนถึงประวัติของท่านเอง โดยได้รับการอนุเคราะห์มาจากลูกศิษย์ลูกหา มาเผยแพร่ที่นี่เป็นที่แรก (โดยพยายามคงรูปแบบของต้นฉบับให้มากที่สุด เช่น การใช้ตัวเลขไทย) รำลึกถึง “ลุงอาจินต์” ครับ ... (บทความส่วนที่ 1) ผม – อาจินต์ ปัญจพรรค์ มีความรักฝักใฝ่ในหนังสือหนังหามาตั้งแต่อายุ ๕ ขวบ พี่ชอุ่ม ปัญจพรรค์อายุ ๑๑ ปี ถีบจักรยาน ๒ ล้อ ให้ผมเกาะท้ายไป เรียน ก.ไก่ ข.ไข่ ( ชั้นมูล) ที่ร.ร.สตรีหญิงประจำจังหวัดนครปฐม ชื่อ ร.ร.ราชินีบูรณะ ที่พี่ชอุ่มเรียนมัธยมปีที่ ๑ ผม - อาจินต์ ฯ เรียนชั้นมูลกับคุณครูผิวขาวสาวสวยร่างท้วมใจดี ชื่อคุณครูสำเภา ต่อมา อายุ ๕ ขวบกว่า ผม – อาจินต์ ฯ เรียนชั้นประถม ๑ ที่ร.ร.ชายประจำจังหวัด คือ ร.ร.พระปฐมวิทยาลัย – ห้วยจรเข้ จนถึงมัธยมปีที่ ๑ ผมอ่านหนังสือพิมพ์รายวันชื่อ “ประชาชาติ” ที่คุณพ่อของผม (ขุนปัญจพรรคพิบูล – นายอำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม พ.ศ. ๒๔๗๕ – ๒๔๗๙) รับเป็นสมาชิกรายเดือนจากร้านนาย ต.ถาวร ซึ่งเขาจะถีบจักรยาน ๒ ล้อมาส่งทุกวัน “ประชาชาติ” พิมพ์แถวบนของหน้าปกว่า “บำเพ็ญกรณี ไมตรีจิตต์ วิทยาคม อุดมสันติสุข” ผมอ่านทุกวันล้วนจำได้เองโดยไม่ต้องท่อง และเมื่อผมเรียนต่อมาจนถึงมัธยมปีที่ ๑ ผมได้อ่านหนังสือหลายเรื่องในตู้ของคุณพ่อ ครั้งหนึ่งผมได้อ่านหนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์ที่พี่ชายของผม แก่กว่าผม ๒ ปี ชื่อลัดดา ปัญจพรรค์ ซื้อมาจากตลาด เรื่อง”กาลีแห่งนคร” หน้าปกวาดเป็นผู้ชายหน้าตาน่ากลัว เป็นเรื่องจอมโจรใหญ่ของประเทศ และ "ไอ้นกแร้ง” หน้าปกวาดเป็นคนมีหัวเป็นอีแร้ง เป็นเรื่องจอมโจรของกรุงเทพ ฯ ในตู้หนังสือของคุณพ่อมี เทศาภิบาล, ลูกเสือสยาม, และที่คุณพ่อซื้อมาอ่านจนดึกดื่นแล้วเก็บในตู้หนังสือ และผมได้อ่าน “บันทึกคดีอุกฉกรรจ์ของนักสืบแบร์ติยอง เค-ร่า” (สันติบาลฝรั่งเศส) และเรื่อง “เชอร์ล็อก โฮล์ม” (นักสืบอังกฤษ), อาแซน ลูแปง (จอมโจรผู้ลบเหลี่ยมเชอร์ล็อก โฮล์ม) ชื่อเรื่อง "ลูแปงผจญโฮล์ม (เรื่องนี้ เมื่อผมอายุราว ๓๐ ปีเศษผมอ่านหนังสือมากขึ้น ได้อ่าน “ลูแปงผจญโฮล์ม” อีกครั้งจึงรู้ว่า โฮล์ม คนนี้ไม่ใช่ เชอร์ล็อคโฮล์ม แต่เป็นโฮล์ม เชียร์ล็อก) -0- เมื่ออายุ ๑๐ ขวบ ผมเข้ากรุงเทพฯ มาเรียนที่โรงเรียน “อำนวยศิลป์” ปากคลองตลาด เริ่มตั้งแต่มัธยมปีที่ ๒ ใน พ.ศ.๒๔๘๐ จนจบถึงมัธยมปีที่ ๖ ในพ.ศ.๒๔๘๔ ช่วงนี้ได้อ่านน.ส.พ. “ไทยใหม่” รายวันที่น้าเขยรับประจำ แกชื่อคุณวิชิต นิ่มสมบูรณ์อยู่ห้องแถว แถวเดียวกัน ที่หน้าร.ร.ราชินี (ล่าง) ใกล้สถานีตำรวจพระราชวัง ตอนนี้ ผมเริ่มอ่าน“นิยายยุวชน” เล่มละ ๓สตางค์ – ๖ สตางค์ และหนังสืออ่านเล่น เล่มละ ๑๐ สตางค์ เรื่อง บู๊ โลดโผน ผจญภัยหลายเรื่องแต่งโดย “เรืองเดช “ เรื่องรักและผจญภัยหลายเรื่องแต่งโดย "อรวรรณ” เรื่องรักโศกหลายเรื่องแต่งโดย “กุลปราณี”,และ “ช่อลิลลี่ –พริ้มเพรา” นามปากกาของผู้เขียนเรื่องบู๊โลดโผน, เรื่องรักและผจญภัย, เรื่องรักโศก ดังที่กล่าวมา ล้วนเป็นนามปากกาของคุณเลียว ศรีเส-วก เรื่อง “ทหารใหม่” ซึ่งเป็นทหารบก และเรื่อง "สายแดง” เป็นวีรกรรมของทหารอากาศ แต่งโดย ส. บุญเสนอ เรื่องชีวิตรักหนักๆ และเรื่องที่พระเอกต้องพบอุปสรรคของชีวิตแต่งโดย “เฉลิมวุฒิ” (เฉลิม วุฒิโฆสิต) นักเขียนนักวาดภาพประกอบนิยายรัก และเป็นเจ้าของสำนักพิมพ์ชื่อ “เฉลิมวุฒิ” ต่อมาเป็นบรรณาธิการหนังสือรายวัน,นิตยสารหลายหัว ผมอ่านนิยายเล่มละ ๑๐ สตางค์โดย “ศรีอิศรา” (ม.ล.ฉอ้าน อิศรางกูร) แต่งเรื่อง “ม้ามังกร” ที่นางเอกขี่ม้าแข่งชนะ ซึ่งเมื่อเข้าเส้นชัย หมวกแก๊ปที่สวมคลุมผมยาวหลุดออกมา ประชาชนจึงรู้ว่าจ๊อกกี้ของ “ม้ามังกร” เป็นผู้หญิง “อ.อรรถจินดา” คือร้อยตำรวจเอกอรรถ อรรถจินดา แต่งเรื่องหญิงสาววัยรุ่นจอมซนเรื่อง “ซนแต่สวย” ผู้อ่านชอบมาก ท่านจึงแต่งอีกรื่องหนึ่งชื่อ “สวยแต่ซน” ซึ่งผู้อ่านก็ชอบอีก อ.อรรถจินดาท่านนี้เป็นนายตำรวจระดับสารวัตรโรงพัก ต่อมาแต่งเรื่องผีก็ขายดีประกบกับเหม เวกร ในบั้นปลายชีวิต อ.อรรถจินดา เมื่อเกษียณราชการแล้ว ท่านยังคงใช้นามปากกา “อ.อรรถจินดา” เขียนนิยายอาชญากรที่มีผู้อ่านคลั่งไคล้ในเรื่องการปราบอาชญากรร้าย ด้วยฝีมือของนายร้อยตำรจเอกหญิงมือปราบ ผู้เชี่ยวชาญในการดูพระเครื่อง และมีวิธีปราบโดยล่อให้ผู้ร้ายหลวมตัวด้วยเรือนร่างเซ็กซี่ของหล่อน ยศ วัชรเสถียร ผู้เขียนเรื่องบู๊ โลดโผน ผจญภัย ฯลฯ ส่วนหนังสือเรียนในมัธยมปีที่ ๓ ที่อ่านสนุกคือ บทละครพูดเรื่อง “ผู้ร้ายแผลง” พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ ๖ ผู้ร้ายแผลง คือคนในบ้านเป็นขโมยลักของในบ้านที่ตนอาศัย แล้วถูกนักสืบจับได้ . ในช่วงเวลานี้ ผมได้อ่านหนังสือเล่มละ ๑๐ สตางค์ที่พี่สาวของผม (ชอุ่ม ปัญจพรรค์) อายุแก่กว่าผม ๖ ปี ซื้อมาอ่าน คือเรื่องของ “อรวรรณ”, “ไม้เมืองเดิม”, เมื่อพี่อ่านเสร็จผมก็ขออ่านบ้าง อ่านแล้วผมอยากวาดรูป และเขียนเรื่องเอาอย่างหนังสือเรื่องนั้น ๆ -0- ในช่วงที่ผมเป็นวัยรุ่น อายุ ๑๔ ในวันที่ ๘ ธันวาคม พ.ศ. ๒๔๘๔ เกิดสงครามญี่ปุ่นบุกเมืองไทย แล้วเครื่องบินอังกฤษ-อเมริกามาทิ้งระเบิดตั้งแต่ วันที่ ๘ มกราคม พ.ศ.๒๔๘๕ สงครามสงบเมื่อพ.ศ. ๒๔๘๘ ผมได้อ่านนิตยสารชั้นยอดของประเทศไทย คือ “ไทยเขษม” รายเดือน “ประชามิตร – สุภาพบุรุษ” รายสัปดาห์,”สยามสมัย” รายสัปดาห์, ”นิกรวันอาทิตย์" รายสัปดาห์, “ชาติไทยอาทิตย์” รายสัปดาห์ อ่านนวนิยายเป็นพ็อกเก็ตบุ๊คเล่มหนา เรื่อง "นักบุญ-คนบาป” "วีระบุรุษในหนังฬา” โดยอิศรา อมันตกุล, อ่าน”ชัยชนะของคนแพ้” โดยเสนีย์ เสาวพงศ์, และเมื่อผมได้อ่านเรื่องสั้นของอุษณา เพลิงธรรม และ มาลัย ชูพินิจ เพิ่มเติมขึ้นมาอีก ผมก็พยายามเขียนนิยายด้วยปากกาหมึกซึมเขียนลายมือ “หวัดแกมบรรจง” บนกระดาษฟุลสแค้ป เรื่องหนึ่ง ส่งไปรษณีย์ไปยังนิตยสารที่ผมอ่าน แต่ทุกเรื่องลงตะกร้าทั้งสิ้น ผมแต่งเรื่องส่งนิตยสารและน.ส.พ.รายวันต่างๆ มาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๔๘๓ อายุ ๑๓ ปีเรียนมัธยมปีที่ ๕ เขียนลงตะกร้านานถึง ๙ ปี มาจนถึงพ.ศ. ๒๔๙๒ เรื่องที่ผมแต่งชื่อ “เศรษฐศาสตร์ในทะเลลึก” นามปากกา “จินตเทพ” จึงได้ลงพิมพ์เรื่องแรก ในนิตยสารรายสัปดาห์ชื่อ “พิมพ์ไทยวันจันทร์” ซึ่งคุณประหยัด ศ. นาคะนาทเป็นบ.ก.” เรื่องนี้พี่ชอุ่ม ปัญจพรรค์ฝากต้นฉบับให้คุณ “อิงอร” (ศักดิ์เกษม หุตาคม) นำไปส่งคุณประหยัด ศ. นาคะนาท ค่ายไทยพาณิชยการ - สีลม แล้วได้ตีพิมพ์ เป็นงานเป็นการเรื่องแรกในชีวิต เมื่อเรื่อง”เศรษฐศาสตร์กลางทะเลลึก” ได้ลงพิมพ์นั้น ผมเดินทางไปทำงานเหมืองแร่แล้ว พี่ชอุ่มม้วนนิตยสารที่ลงเรื่องนั้นส่งทางไปรษณีย์จากกรุงเทพ ฯไปให้ผมอ่านในยามที่ผมเป็นกรรมกรตีเหล็กอยู่ในเหมืองแร่ดีบุกใหญ่ในจังหวัดพังงา ชื่อบริษัท กำมุนติง ทิน เดร็ดยิ่ง จำกัด ผม อ่านซ้ำแล้วซ้ำอีก แล้วเกิดกำลังใจ เขียนเรื่องใหม่ชื่อ “คนกล้าหาญ” โดย “จินตเทพ” แต่งขึ้นจากชีวิตในเหมืองแร่ ส่งไปรษณีย์มายังนิตยสาร “พิมพ์ไทยวันจันทร์” ก็ได้ลงพิมพ์ในปี ๒๔๙๒ นั้น ผมคับแค้นใจในงานกุลีตีเหล็กค่าแรงวันละ ๖ บาทจึงเขียนเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” ใช้ชื่อจริง นามสกุลจริง (อาจินต์ ปัญจพรรค์) ส่งมาลงหนังสือประจำปี ๒๔๙๒ ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยซึ่งคุณธวัชชัย ไชยชนะ เป็นสาราณียกร ผมรู้ภายหลังว่าเรื่องนี้ ทำให้นิสิตขยันเรียนเพราะกลัวจะถูกรีไทร์ไปตกระกำลำบากอย่างผม คือ คุณวาทิน ปิ่นเฉลียว ( ต่วย) สถ.บ.จุฬาฯ อายุอ่อนกว่าผม 5 ปี เป็นผู้เล่าผลดีของเรื่องนี้ให้ผมฟังในอีกหลายปีต่อมา ขณะที่ผมได้งานทำที่ไทยทีวีช่อง ๔ บางขุนพรหม พระนคร คุณต่วย เล่าว่าเมื่อนิสิตจุฬา ฯ ได้อ่านเรื่อง “สีชมพูยังไม่จาง” แล้วพากันเอาใจใส่ในการเรียน นี่ทำให้ผมภูมิใจในการที่ผมก้มหน้าตีเหล็กสร้างตัวนั้น กลับเป็นเรื่องเตือนใจมิให้พวกเขาเหลวไหลในการเรียน ผมภูมิใจในการเล่าความจริงว่าผมถูกรีไทร์จากวิศวะ จุฬา ฯทำให้นิสิตจุฬาพากันขยันเรียน เพราะกลัวจะถูกรีไทร์ไปตกระกำลำบากอย่างผม (บทความอีกชิ้น) เมื่อพ.ศ. ๒๔๘๔ ผมอายุ ๑๔ ปี เรียนมัธยมปีที่ ๖ ญี่ปุ่นบุกเมืองไทย แล้วพ.ศ. ๒๔๘๕ มีภัยทางอากาศ โดยอังฤษ –อเมริกามาบอมบ์ จุดยุทธศาสตร์ของญี่ปุ่นในเมืองไทย แต่การบอมบ์นั้นก็ระเบิดบ้านเมืองไทยป่นปี้ไปด้วย ระยะนั้น ผมได้อ่านนิตยสาร "ประชามิตร – สุภาพบุรุษ” ,”สยามสมัย”, "นิกรวันอาทิตย์” อ่านแล้วผมอยากเป็นนักเขียนขึ้นมาบ้าง บทนี้ ผมทบทวนการเดินทางอันระหกระเหินของผมในโลกนักเขียน ที่ผมบากบั่นมาจนเขียนขายได้เป็นอาชีพ และเป็นงานเป็นการ . ผมจะบันทึกประสบการณ์ในการอ่านเขียนมาให้ท่านอ่าน (บทความส่วนนี้ งานของลุงอาจินต์เริ่มใช้ตัวเลขฮินดูอารบิก) ปัจจุบันนี้พ.ศ.2545 ผมอายุ 75 ปี ผมเขียนหนังสือขายเป็นอาชีพแล้ว ผมก็ศึกษาวิธีการเขียนของนักเขียนต่างประเทศ และของไทยโดยอ่านทั้งเรื่องไทย เรื่องจีน เรื่องฝรั่ง เรื่องแปลที่ถูกรสนิยมของผม ผมจะเล่าการเดินทางอันระหกระเหินบนถนนแห่งการเขียนที่ผมบากบั่นมาจนเขียนขายได้เป็นอาชีพ และเป็นงานเป็นการ ผมจะบันทึกประสบการณ์ในการอ่านเขียนมาให้ท่านอ่าน มันคือเรื่อง “สอนตัวเองในการประพันธ์" ที่อยู่ในมือท่านนี้ ผมค้นแฟ้มเก่าๆ ที่บันทึกตกๆ หล่นๆ เป็นลายมือรุงรังตั้งแต่ พ.ศ.2497 มาจนถึงปัจจุบัน-2545 และบัดนี้ 2547 เอามาอ่านและเกลาอย่างเข้มงวด จึงเป็นหนังสือเล่มที่ท่านกำลังอ่านนี้ ผมค้นสมุดและกระดาษบันทึกเก็บไว้อ่านเอง, สอนตัวเอง, นานาสาระพัด (แม้แต่ตั๋วรถเมล์เมืองมอสโก (พ.ศ.2508) ผมก็เก็บจากรัสเซียเมื่อครั้งไปประชุมนักเขียนแอฟโฟร-อาเชียน นาน 1 เดือนในปี 2508, แต่ตั๋วรถเมล์มอสโกนั้น หายไปนานแล้ว แต่ที่ไม่หายคือความทรงจำที่ว่า ปัญญาชนนักเขียนรัสเซีย ทีมเจ้าภาพที่พาผมขึ้นรถเมล์ เขาเก็บตั๋วที่มีตัวเลขทั้งแถวบวกกันได้ 10 เป็นของมีค่าของเขา (เพราะนักเขียนรัสเซีย ไม่ทำอะไรที่ฟุ้งเฟ้อฟุ่มเฟือยผลาญเวลาของเขามากไปกว่าการทำคอลเล็กชันตั๋วรถเมล์ในมอสโก) ตรงข้ามกับประชาชนในประเทศนายทุนึงผลาญเวลาด้วยการขับรถ,นั่งรถเมล์เดินทางไปขอเลขเด็ดจากภิกษุในป่าดงมาแทงหวยใต้ดิน (บนดิน) ผมชอบเก็บ,การเก็บสะสมเป็นศัตรูของระเบียบเรียบร้อยในการจัดโต๊ะ, จัดตู้, (แบบนี้โบราณท่าน เรียกว่า "ไอ้บ้าหอบฟาง") มีกระดาษท่วมหัว ชาวบ้านเยาะเย้ยว่า “เวลาตายเอาของที่เก็บรุงรังนี้ มาเผาศพตัวเองได้” ผมเก็บสำเนาชิ้นงานที่เขียนส่งสำนักพิมพ์ต่างๆ ทั้งที่ได้ลงพิมพ์แล้ว แม้แต่เรื่องที่เงียบหายไป (บ.ก.เขาทิ้งตะกร้ามาตั้งแต่ปี 2496, บัดนี้ ปี 2545 ผมก็ยังเก็บสำเนางานของผมไว้ด้วยความรักใคร่ผูกพัน และเสียดายลายมือและเค้าเรื่อง) พี่ทิดตนหนึ่งเรียกผมว่า” ไอ้คนกอดศพ” แต่ผมกอดหนังสือ มิได้กอดศพ ศพนั้นตาย แต่ “ตัวหนังสือ” ไม่ใช่ศพ ตัวหนังสือไม่มีวันตาย การที่มันไม่ตายก็เพราะมันคือตัวหนังสือไทยซึ่งพระองค์วรรณ (กรมหมื่นนราธิปพงศ์ประพันธ์) ท่านเสกคาถาไว้ว่า “คนไทยต้องรักภาษาไทย" ผมเก็บสำเนาต้นฉบับเก่าไม่ทิ้ง ตรงกันข้ามกับเอิสกิน คอลด์เวลล์ นักเขียนใหญ่ผู้นี้เขาเผาเรื่องที่เขียนแล้วไม่ได้ลงพิมพ์ทั้งหมดให้เกลี้ยงไปจากความทรงจำ แต่ ผมไม่ทิ้งเพราะผมไม่ใช่ศิษย์ของเอิสกิน คอลด์เวลล บันทึกของเอิสกิน ที่เผาเรื่องในอดีต (ที่ไม่ได้ลงพิมพ์ทิ้งทั้งสิ้น) นี้ ผมได้อ่านในหนังสือของเขาเรื่อง Call it Experience (เรียกมันซะว่าความช่ำชอง) ซึ่งสุทธิชัย ธาดานิติ แปลเรื่องนี้ตั้งชื่อภาษาไทยว่า “บนถนนนักประพันธ์” ใครอยากเป็นนักเขียนต้องอ่านเรื่องนี้เอาเป็นตัวอย่าง, เพราะเขาแสดงความทรหดอดทนในการเขียนๆๆๆๆๆๆ แล้วจึงมีสิทธิ์ได้ลงพิมพ์ทีเดียว 2 เรื่องซ้อนในนิตยสารเล่มเดียวกัน “บนถนนนักเขียน” ของเอิสกิน คอลเวลด์ เล่มนี้ได้บันทึกไว้เป็นแบบอย่างให้นักเขียนใหม่เดินตาม ผมเก็บของเก่าของแก่ของผมสะสมเรื่อยมา - อ้าว กลายเป็นดีแฮะ ในการเขียนชีวประวัติในบรรณพิภพของผมเอง ทำให้ผมรื้อต้นฉบับที่ตายด้านเหล่านั้นเอามาอ่านแล้วเห็นช่องทางในการรำลึกอดีต ได้อ่านสำนวนไร้เดียงสา, อ่อนหัด เหล่านั้นมาทบทวนกาละ และเทศะในอดีตอย่างภูมิใจชีวิตหนุ่ม เมื่อ 50-60 ปีที่แล้ว . ลุงอาจินต์-อาจินต์ ปัญจพรรค์ นักเขียนเรื่องสั้นชุดเหมืองแร่ และอดีตบรรณาธิการนิตยสารชื่อดัง-ฟ้าเมืองไทยรายสัปดาห์ ได้จากไปอย่างสงบเมื่อวันที่ 17 พ.ย. 2561 ด้วยอายุ 92 ปี ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่ของวงการน้ำหมึกไทย . เรียบเรียง: ณัฐกร เวียงอินทร์ เอื้อเฟื้อข้อมูลและภาพ: วีระยศ สําราญสุขทิวาเวทย์