คัทซึฮิโร่ โอโตโมะ: ผู้กำเนิด AKIRA ป็อป คัลเจอร์แห่งยุค 80s, ความฝันตอนเยาว์วัย และโลก Cyberpunk

คัทซึฮิโร่ โอโตโมะ: ผู้กำเนิด AKIRA ป็อป คัลเจอร์แห่งยุค 80s, ความฝันตอนเยาว์วัย และโลก Cyberpunk
วันที่ 9 ธันวาคม ค.ศ. 1982 เวลา 14:27 นาฬิกา  ระเบิดชนิดใหม่ ถูกใช้ที่ภูมิภาคคันโต ประเทศญี่ปุ่น หลังจากนั้น 9 ชั่วโมงต่อมา สงครามโลกครั้งที่ 3 ก็อุบัติขึ้น โลกค่อย ๆ ฟื้นฟูจากความเสียหาย ปี ค.ศ. 2019 ... 38 ปีต่อมา  ญี่ปุ่น ก่อกำเนิดเมืองใหม่ที่ชื่อ นีโอโตเกียว นี่คือบทบรรยายของมังงะที่ได้รับการขนานนามว่า เป็นต้นแบบแห่งมังงะไซไฟยุคใหม่ และเป็นพิมพ์เขียวของ Cyberpunk ตั้งแต่คำนั้นยังไม่ถูกบัญญัติเสียด้วยซ้ำ โดยผู้ที่ให้กำเนิดมังงะและอนิเมะที่กลายเป็นลัทธิที่คนทั้งโลกต่างคลั่งไคล้นั่นก็คือ คัทซึฮิโร่ โอโตโมะ นั่นเอง   KATSUHIRO OTOMO คัทซึฮิโร่ โอโตโมะ เกิดในเมืองโทเมะ จังหวัดมิยากิ ในวัยเด็กมีความหลงใหลและชื่นชอบในการดูหนังมาก ๆ ถึงขนาดยอมนั่งรถไฟนานถึง 3 ชั่วโมงเพื่อดูหนังเพียงเรื่องเดียว ขณะเดียวกันเขาก็มีความสนใจในการวาดมังงะเช่นกัน และความสนใจอย่างหลังดูจะไปได้สวยเมื่อเขาฝึกฝนการวาด และส่งมังงะที่ได้แรงบันดาลใจจากเรื่องสั้นของ พร็อสแปร์ เมรีเม ในชื่อ A Gun Report จนได้รับคัดเลือกให้ตีพิมพ์ในแมกกาซีนในปี 1972 และด้วยความที่โปรดปรานในนวนิยายวิทยาศาสตร์ถึงขั้นคลั่งไคล้ ผลงานมังงะเรื่องยาวเรื่องแรกก็คือ Fire-Ball ที่นำเสนอเรื่องราวของการต่อต้านเทคโนโลยีด้วยพลังจิต ซึ่ง  Fire-Ball ได้รับการกล่าวขวัญถึงในฐานะมังงะที่ทะเยอทะยาน และเปลี่ยนรูปแบบเดิม ๆ ที่เคยชินของมังงะไซไฟไปตลอดกาล และทำให้คัทซึฮิโร่มีความสนใจอย่างแรงกล้า แต่ทว่าไอเดียใหม่ก็ผลักดันให้เขาสานต่อจนทำให้มังงะขนาดยาวเรื่องแรกไม่จบสมบูรณ์ตามที่เขาหวังไว้ เขาเดินหน้าต่อกับโปรเจกต์ Domu: A Child’s Dream (1980) เรื่องราวการฆ่าตัวตายปริศนาของคนในอพาร์ตเมนต์ที่นำไปสู่การสอบสวนและได้พบว่าเงื่อนงำการตายอาจไม่ใช่การฆ่าตัวตายธรรมดา แต่เป็นการฆาตกรรมที่เกิดจากพลังจิต / การต่อสู้ของคน 2 รุ่นระหว่างชายชรากับเด็กน้อย และอำนาจแห่งพลังธรรมชาติที่ทั้ง 2 ขั้วต่างยื้อแย่ง นำมาสู่การต่อสู้ที่เจิ่งนองไปด้วยเลือดและซากปรักหักพัง  ผลงานเรื่องนี้สร้างชื่อให้กับคัทซึฮิโร่อย่างมากในฐานะการผสมผสานความลี้ลับทางไสยศาสตร์ และความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์ จนมังงะเรื่องนี้สามารถคว้ารางวัล Japan Cartoonists Association Award ไปครอง และ Domu: A Child’s Dream นี่เองที่ได้เปิดประตูสู่อภิมหาโปรเจกต์เรื่องยิ่งใหญ่ และกลายเป็นมาสเตอร์พีซของเขาในกาลต่อมา นั่นก็คือ AKIRA นั่นเอง   AKIRA: The Manga AKIRA เล่าเรื่องในอนาคตหลังจากล่มสลายของสงครามโลกครั้งที่ 3 ที่นิวเคลียร์ทำลายโตเกียวจนยากเกินเยียวยา รัฐบาลได้ย้ายเมืองหลวงและฟื้นฟูมันใหม่จากการถมที่ในอ่าวโตเกียวในชื่อ ‘นีโอโตเกียว’ แม้ตึกรามบ้านช่องและเทคโนโลยีรุดหน้าและได้เป็นเจ้าภาพในการจัดงานมหกรรมโอลิมปิก แต่ทว่าคุณภาพชีวิตของประชาชนกลับถดถอย เกิดเหตุก่ออาชญากรรมไม่เว้นแต่ละวัน ความต่างทางชนชั้นนำไปสู่การประท้วงรัฐบาล และการก่อจลาจลที่นับวันจะรุนแรงขึ้น  ในขณะที่กลุ่มวัยรุ่นแก๊งซิ่งที่นำโดย คาเนดะ ยกพวกขี่มอเตอร์ไซค์ทัวร์เมืองร้างของนครโตเกียวในอดีต ระหว่างขับรถ เท็ตสึโอะ เพื่อนผู้อ่อนแอและเป็นลูกไล่ของคาเนดะ ก็ขี่มอเตอร์ไซค์สาดไฟเจอเด็กประหลาดกลางถนนที่มีรูปร่างเหมือนเด็กประถมฯ แต่ใบหน้าซีดขาวและเหี่ยวย่น ผมที่หงอกเต็มหัว เท็ตสึโอะตกใจจนประสบอุบัติเหตุพลิกคว่ำ และถูกองค์กรลับจับตัวไปรักษา แต่ทว่าองค์กรลับได้ค้นพบพลังจิตในตัวของวัยรุ่นขี้กลัวที่เป็นลูกไล่ในแก๊งคนนี้ และมันก็ได้นำพาพลังอันยิ่งใหญ่และอำนาจที่แม้กระทั่งเจ้าตัวเองก็ไม่อาจควบคุมได้ จนเกิดเป็นโศกนาฏกรรมสุดสยองของพลังจิตที่พร้อมทำลายทุกอย่างให้ย่อยยับในพริบตา นี่เป็นเพียงเศษเสี้ยวของเรื่องย่อของ AKIRA ที่ยิ่งใหญ่และกลายเป็นตำนานแห่งการพลิกหน้าประวัติศาสตร์แห่งวงการมังงะให้โลกได้ประจักษ์ ไม่ว่าจะเป็นลายเส้นที่เต็มไปด้วยรายละเอียดอันชวนตื่นตะลึง รวมไปถึงเนื้อเรื่องและวิสัยทัศน์ที่ก้าวล้ำหน้าเกินจินตนาการ แต่ท่ามกลางความสลับซับซ้อนของเรื่องราวนั้น แรงบันดาลใจเริ่มต้นของคัทซึฮิโร่กลับเริ่มต้นด้วยความเรียบง่าย และเขาไม่ได้ต้องการให้มันเป็นมหากาพย์อะไรขนาดนั้น เขาอยากจะเขียนให้มันเป็นเพียงเรื่องสั้นจบในตอนด้วยซ้ำ เพราะประสบการณ์จากการจบไม่สวยของมังงะเรื่องแรกในชีวิตของเขานั้นขาดการวางแผนและประสบการณ์ในการทำงานที่ดี เขาจึงไม่อยากให้ AKIRA ซ้ำรอยความล้มเหลวเดิม ๆ “ผมอยากจะฉายภาพซ้ำของญี่ปุ่นในช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดลง รวมไปถึงความขัดแย้งของมวลชนที่มีต่อรัฐบาล อิทธิพลทางการเมือง และโลกที่สร้างใหม่ รวมไปถึงอนาคตที่ไม่แน่นอน และกลุ่มวัยรุ่นขบถที่เบื่อหน่ายสังคมที่ขับรถตระเวนไปวัน ๆ ซึ่งส่วนนี้มาจากเรื่องราวของผมในตอนวัยรุ่นเองที่แทบไม่คิดหน้าคิดหลังในเรื่องของวันข้างหน้าใด ๆ เรื่องเหล่านี้มันผสมปนเปจนเกิดเป็น AKIRA โดยไม่ตั้งใจ” คัทซึฮิโร่ย้อนไปถึงที่มาของ AKIRA นอกจากนี้เขายังผสมผสานการดีไซน์จากหนังที่ชอบอย่าง Star Wars, ผลงานลายเส้นเปี่ยมจินตนาการของศิลปินชาวฝรั่งเศส Moebius, มังงะเรื่องทสึจิน 28 (หุ่นเหล็กหมายเลข 28) ที่นำการเรียกหมายเลขแทนชื่อของเด็ก ๆ ในโครงการทดลอง, นวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวกับการสร้างเผ่าพันธุ์ใหม่ของมนุษย์ของเซอิชิ โยโกมิโซะ รวมไปถึงหนังวัยรุ่นแก๊งซิ่งขบถสังคมที่โด่งดังของญี่ปุ่นในช่วงยุค 70s เข้าไปใน AKIRA ด้วย  แต่เมื่อเขาได้ลงมือทำและได้ตีพิมพ์ในนิตยสาร Young Comic ของสำนักพิมพ์โคดันฉะ ในช่วงปี 1982 เมื่อได้ทำก็ค้นพบว่า จุดเริ่มต้นเพียงเล็กน้อยที่เขาอยากทำให้มันจบไว ๆ นั้น กลับยาวนานเป็นมหากาพย์ที่กว่าจะสิ้นสุดถึง 8 ปีเต็ม รวมไปถึงการสร้างในรูปแบบภาพยนตร์อนิเมะ ทั้งที่มังงะยังไม่แล้วเสร็จดี ด้วยการตั้งใจใส่โครงสร้างของตัวละคร ปมหลังอันซับซ้อน จากจุดเล็ก ๆ มันจึงค่อย ๆ แตกกิ่งก้านสาขาและยิ่งใหญ่จวบจนปัจจุบัน   AKIRA: The Movie จากความสำเร็จในฐานะมังงะที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล แต่คัทซึฮิโร่ก็ไม่ได้คาดหวังว่ามันจะกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวได้เลย จนกระทั่งมีคนสนใจอยากทำโปรเจกต์นี้ ทั้งที่มังงะยังไม่แล้วเสร็จ คัทซึฮิโร่รับในข้อเสนอนี้แต่แลกด้วยการให้เขาเป็นผู้กำกับเอง เพราะอยากควบคุมกระบวนการความคิด รวมไปถึงดีไซน์ของอนิเมะนี้ทั้งหมด จนนำไปสู่การระดมทุนครั้งยิ่งใหญ่ที่คาดการณ์ว่าใช้งบประมาณการสร้างที่สูงกว่า 1,100,000,000 (หนึ่งพันหนึ่งร้อยล้านเยน) โดยผู้ลงทุนไม่ได้คิดแค่เพียงกำไรที่คืนกลับในแง่การลงทุนจะเป็นเงินเท่านั้น แต่มันยังจะเป็นการนำพาวัฒนธรรมญี่ปุ่นที่แข็งแกร่งให้ชาวโลกได้ทึ่งอีกด้วย  แม้สุดท้ายงบในการสร้างจะไม่ถึงตามที่คาดการณ์ แต่เม็ดเงินจำนวน 700 ล้านเยนที่ลงไปกับด้วยจำนวนเซลล์ (แผ่นใสที่ใช้ในการวาดอนิเมะ) กว่า 160,000 เซลล์ ใช้กระบวนการทางคอมพิวเตอร์ที่เป็นสิ่งแปลกใหม่ในสมัยนั้นทำ รวมไปถึงการให้ผู้ให้เสียงพากย์มาให้เสียงก่อนเพื่อใช้บันทึกภาพริมฝีปาก นับเป็นครั้งแรกของอนิเมะญี่ปุ่นที่ทำกระบวนการนี้ และระยะเวลาในการทำอันยาวนาน ซึ่งทีมงาน Sunries ได้หลังขดหลังแข็งในการวาดมือเฟรมต่อเฟรม นับว่า 700 ล้านเยนเป็นการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูงอยู่ดีในยุคนั้น  และเมื่อหนังใหญ่ AKIRA ได้ฉายในวันที่ 16 กรกฎาคม 1988 หนังกลับทำรายได้ไปเพียง 750 ล้านเยน นับเป็นรายได้ปานกลางที่เข้าขั้นขาดทุนเสียด้วยซ้ำเมื่อแบ่งเปอร์เซ็นต์กับโรงหนัง แต่ความมุ่งมั่นที่จะพาอนิเมะญี่ปุ่นให้โลกได้ตื่นตะลึงนั้น สำหรับพวกเขาแล้ว ถือเป็นกำไรอันมหาศาลที่ประเมินค่าไม่ได้    AKIRA: Pop Culture การปรากฏตัวของหนัง AKIRA ในสายตาชาวโลกนั้นสร้างความตื่นตะลึงในแง่ของการสร้างวัฒนธรรมป็อปอันแข็งแกร่งไว้มากมายและหลายแง่มุม ไม่ว่าจะเป็นการจำลองโลกอนาคตอันหดหู่ไร้ความหวังที่หนังในยุคนั้นยังไม่ค่อยกล้าเสนอ และยิ่งวงการแอนิเมชันแล้วยังไม่มีใครเคยหยิบประเด็นนี้มาพูดอย่างจริงจัง แต่ในกาลต่อมาพิสูจน์แล้วว่านี่คือของจริง มีมังงะไซไฟมากมายที่ได้รับแรงบันดาลใจจาก AKIRA ในการเสนอโลกในจินตนาการที่ดิบและดาร์ก ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ Ghost in the Shell ที่ได้รับแรงบันดาลใจและพลังขับเคลื่อนจาก AKIRA มาอย่างเต็ม ๆ  การสร้างโลกดิสโทเปียอันสิ้นหวังของ AKIRA กลายเป็นพิมพ์เขียวให้หนังฮอลลีวูดอีกหลายต่อหลายเรื่องในกาลต่อมา ด้วยวิชวลอันล้ำสมัยและการนำเสนอภาพอนาคตที่ไม่เกินกว่าความเป็นจริงมากนัก เราจึงได้เห็นเงาอันรางเลือนของ AKIRA ผ่านหนังไซไฟชั้นดีอย่าง Midnight Special, Looper, Chronicle, Inception, Cloud Atlas, Lucy ไปจนถึงซีรีส์อย่าง Stranger Things และ The Umbrella Academy ที่นำเสนอภาพของเด็กน้อยผู้ใช้พลังจิตแฝงกายให้เป็นพลังอันยิ่งใหญ่  และการสร้างนิยามของความหมาย Cyberpunk ได้เห็นภาพชัดเจนที่สุด ซึ่งคำคำนี้เกิดขึ้นพร้อม ๆ กับนวนิยายวิทยาศาสตร์ที่เขียนโดย Bruce Bethke ที่เขานำคำว่า Cybernetics มาผสมกับคำว่า Punk และปล่อยนวนิยายเรื่องนี้ออกจำหน่ายในปี 1983 ซึ่งคาบเกี่ยวกับช่วงเวลาที่ AKIRA ฉบับมังงะได้ตีพิมพ์พอดี โดยที่ทั้งสอง ต่างไม่รู้จักและไม่เคยอ่านผลงานกันมาก่อนด้วยซ้ำ  ขณะเดียวกันภาพการทำนายทายทักอนาคตอันใกล้ ซึ่งไทม์ไลน์ปัจจุบันได้เวียนมาบรรจบกับยุคสมัยของหนังแล้ว เราจะพบภาพทับซ้อนที่คล้ายคลึงกันอย่างน่าอัศจรรย์ ไม่ว่าจะเป็นการได้เป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกของประเทศญี่ปุ่น ไปจนถึงสงครามที่แม้จะไม่เกิดขึ้นจริง แต่โรคระบาดก็สะท้อนภาพความเสื่อมโทรมที่คนทั้งโลกกำลังเผชิญ ฟากฝั่งดนตรี AKIRA ก็ฉายอิทธิพลให้เห็น โดยเฉพาะศิลปินฮิปฮอปอย่าง Lupe Fiasco ที่อุทิศอัลบั้มที่ชื่อ Tetsuo & Youth ให้กับตัวละคร เท็ตสึโอะ และตัวพ่อของฮิปฮอปสุดโต่งอย่าง Kanye West ที่เพิ่งได้ดู AKIRA ผ่าน YouTube เมื่อปี 2005 เขาได้ทวีตข้อความขึ้นว่า “ไม่มีทางที่ Spirited Away จะเจ๋งกว่า AKIRA ไม่มีทางงงงงงงงงงง...ขอโทษอย่างมากที่เพิ่งได้ดูมันผ่าน YouTube นี่คือ 1 ใน 10 อนิเมะยอดเยี่ยมตลอดกาล” ไม่เพียงแค่การทวีต เขายังเอาความชอบนี้ไปใส่ในมิวสิกวิดีโอ Stronger ที่นำเสนอตัวคานเย่เหมือนเท็ตสึโอะที่กำลังถูกทำการทดลอง และฉายภาพตึกที่เต็มไปด้วยไฟนีออนไม่ต่างกับหนึ่งในฉากไล่ล่าตอนต้นของ AKIRA เลย ไม่นับรวมการออกแบบสิ่งละอันพันละน้อยต่าง ๆ ในการดีไซน์ ไม่ว่าจะเป็นยวดยานพาหนะ โดยเฉพาะมอเตอร์ไซค์สีแดงของคาเนดะที่เป็นหนึ่งในการออกแบบชั้นเยี่ยมที่เหล่านักออกแบบคาดหวังว่ามอเตอร์ไซค์คันนี้จะสามารถทำได้จริงในอนาคต และการตีความจากนักดูหนังมากมายที่ต่างพากันตีความหลากหลายไม่ว่าจะเป็นทางด้านปรัชญา จิตวิทยา ไปจนถึงเรื่องของวิทยาศาสตร์ ซึ่งเมื่อลองไปถามกับตัวคัทซึฮิโร่เองว่าเขาได้แฝงสัญลักษณ์อันมากมายนี้เพื่ออะไร เขาได้แต่ตอบว่า “จริง ๆ สิ่งที่หลายคนโดยเฉพาะทางฟากฝั่งตะวันตกที่พากันตีความ AKIRA ในทางปรัชญามากมายนั้น ผมขอสารภาพตามตรงว่า ผมแทบไม่ได้คิดถึงในส่วนนั้นเลย ผมแค่อยากรวบรวมความฝันในวัยเด็ก แรงบันดาลใจต่าง ๆ จากหนังที่ผมชอบ เอามารวมไว้ใน AKIRA เท่านั้นเอง” แม้จะเป็นการพูดที่ถ่อมเนื้อถ่อมตัวของผู้ให้กำเนิด AKIRA แต่เมื่อเวลาได้ผันผ่านไปจนจะครบ 40 ปี มังงะและอนิเมะเรื่องนี้กลับสร้างคุณูปการอย่างมากมายในทุกแขนง จนเป็นหนึ่งใน Pop Cultue ร่วมสมัยและเป็นหมุดหมายสำคัญที่คนทั้งโลกต่างบูชา เป็นหนึ่งในผลงานอันทรงคุณค่าที่จารึกไว้บนโลกใบนี้   อ้างอิง: https://www.lambiek.net/artists/o/otomo_katsuhiro.htm https://kodanshacomics.com/2019/01/09/10-years-kodansha-comics-akira/ https://www.forbes.com/sites/olliebarder/2017/05/26/katsuhiro-otomo-on-creating-akira-and-designing-the-coolest-bike-in-all-of-manga-and-anime/?sh=626dfc906d25 https://www.nme.com/film-features/akira-anime-rerelease-2776694