อัลแบร์ต กามูส์: คนตีนดำ หนุ่มเจ้าเสน่ห์ นักเขียนโนเบล และปรัชญาว่าด้วยความไร้แก่นสารของชีวิต

อัลแบร์ต กามูส์: คนตีนดำ หนุ่มเจ้าเสน่ห์ นักเขียนโนเบล และปรัชญาว่าด้วยความไร้แก่นสารของชีวิต
‘อัลแบร์ต กามูส์’ (Albert Camus) เป็นหนึ่งในชื่อนักเขียนฝรั่งเศสที่โด่งดังในศตวรรษที่ 20 ผู้เคยคว้ารางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรมปี 1957 คนไทยหลายคนพอจะคุ้นชื่อเขาอยู่บ้าง เพราะผลงานชิ้นเอกหลายต่อหลายชิ้นของเขาได้รับการแปลภาษาไทย อาทิเช่น ‘L’Étranger’ (คนนอก) ‘Le Mythe de Sisyphe’ (เทพตำนานซีซิฟ) ‘La Peste’ (กาฬวิบัติ) ฯลฯ  ผลงานวรรณกรรมของกามูส์สะท้อนแนวความคิดของเขาที่เชื่อว่าชีวิตมนุษย์ไร้ความหมาย คุณค่า และแก่นสารสาระ (l’absurdité) ความเชื่อที่ว่าสรรพสิ่งล้วนเกิดขึ้นและดำรงคงอยู่อย่างมีเหตุผลเป็นเรื่องไม่จริง ในทางกลับกัน มนุษย์พยายามสรรสร้างชุดคำอธิบายผ่านความเชื่อทางศาสนา หลักกฎหมาย และศีลธรรมจรรยาเพื่อตอบสนองความปรารถนาที่จะอยู่ยงคงกระพัน (สอดคล้องกับคำอธิบายเชิงจิตวิทยาของ ซิกมุนด์ ฟรอยด์ ที่เขียนไว้ในหนังสือของเขาที่มีชื่อ ‘L’Avenir d’une illusion’ (อนาคตของภาพหลอน)  ผิวเผินมันก็ดูไม่ใช่เรื่องผิดหรือเลวร้ายแต่อย่างใด แต่ในเชิงลึก เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความรุนแรงในเชิงโครงสร้างสังคมไม่ว่าจะมากหรือน้อยล้วนมีบ่อเกิดจากชุดความคิดเหล่านั้น และยิ่งไปกว่านั้นมันยังลิดรอนพื้นที่แห่งการมีอยู่ของมนุษย์ในฐานะปัจเจกบุคคล กามูส์ได้เชิญชวนผู้อ่านของเขาฉุกคิด ตั้งคำถาม และต่อสู้ต้านทานเพื่อยืนยันเสรีภาพของมนุษย์ท่ามกลางโลกแห่งความไร้แก่นสารสาระ อัลแบร์ต กามูส์ เกิดในปี 1913 และจบชีวิตลงด้วยวัยเพียง 46 ปี เนื่องจากอุบัติเหตุรถยนต์พุ่งเข้าชนกับต้นไม้ ความสืบทราบว่าอันที่จริงแล้วในวันเกิดเหตุ กามูส์ตั้งใจจะเดินทางด้วยรถไฟ แต่เขาเปลี่ยนใจกะทันหัน และนั่งรถยนต์สปอร์ตเดินทางกับเพื่อนสนิทของเขา ‘มิเชล กาล์ลิมารด์’ (Michel Gallimard) บรรณาธิการสำนักพิมพ์กาล์ลิมารด์ที่โด่งดังลำดับต้น ๆ ของฝรั่งเศส พ่อแม่ของกามูส์เป็น ‘piers-noirs’ (ปีเยต์-นัวร์ แปลว่า ตีนดำ) ‘กี แปร์วีเย่’ (Guy Pervillé) นักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญเรื่องสงครามแอลจีเรียอธิบายว่า แต่เดิมคำว่า piers-noirs เป็นคำที่เอาไว้ใช้เรียกคนท้องถิ่นแอลจีเรีย เพราะพวกเขาเดินทางไปไหนมาไหนด้วยเท้าเปล่าจนฝ่าเท้าสกปรก แต่ต่อมาคำคำนี้ได้ถูกใช้เพื่อจำแนกประเภทของคนฝรั่งเศส (รวมถึงชาวยุโรปประเทศอื่น ๆ) ที่อพยพไปอยู่ที่แอลจีเรียในยุคล่าอาณานิคมช่วงกลางศตวรรษที่ 19 จวบจนกลางศตวรรษที่ 20  ครอบครัวของกามูส์มีฐานะยากจน พ่อของกามูส์ทำงานเป็นแรงงานในภาคเกษตรกรรม และเสียชีวิตในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง (กามูส์เองก็เคยสมัครเป็นทหาร แต่ถูกปฏิเสธเนื่องจากเขาเป็นวัณโรค) ส่วนแม่ของเขาทำงานเป็นแม่บ้าน แม้กระนั้น กามูส์ก็ตั้งใจศึกษาเล่าเรียนและจบการศึกษาด้านปรัชญาจากมหาวิทยาลัย University of Algiers หลังจากนั้นเขาทำงานให้กับสำนักข่าวหัวก้าวหน้าของแอลจีเรียอย่าง Alger républicain กามูส์แสดงความคิดต่อต้านการรุกรานของกลุ่มฟาสซิสต์ที่ขยายตัวอย่างกว้างขวางและยิ่งใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงต่อต้านการล่าอาณานิคมของประเทศฝรั่งเศส  ในปี 1940 กามูส์เริ่มงานใหม่ที่ปารีสในฐานะบรรณาธิการหลักของหนังสือพิมพ์ ‘Paris-Soir’ ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังมากทั้งในฝรั่งเศสและยุโรป ณ ขณะนั้น และยังร่วมงานกับสำนักพิมพ์ ‘กาล์ลิมารด์’ (Gallimard) อีกด้วย ความเปลี่ยนแปลงนี้เองที่เป็นจุดเริ่มต้นความสัมพันธ์ของเขาและตัวพ่อแนวคิด ‘อัตถิภาวนิยม’ (L’existentialisme)... ‘ฌ็อง-ปอล ซาทร์’ (Jean-Paul Sartre)  ‘ซีโมน เดอ โบวัวร์’ (Simone de Beauvoir) เคยเล่าให้ฟังว่า ซาทร์ประทับใจกามูส์ตั้งแต่แรกเมื่อเขาเข้ามาแนะนำตัวกับซาทร์ในงานเปิดตัวบทละครของเขาที่มีชื่อว่า ‘Les Mouches’ (แมลงวัน) ซึ่งก่อนหน้านั้นทั้งคู่เคยมีโอกาสได้เป็นผู้พิจารณาเนื้อหาในหนังสือของกันและกันก่อนตีพิมพ์ แต่ไม่เคยมีโอกาสได้พูดคุยกันอย่างเป็นทางการ จุดเริ่มต้นนี้เองที่ทำให้เขาทั้งคู่เริ่มสานสัมพันธ์กันจนสนิทสนม และพูดคุยแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันบ่อย ๆ ครั้งหนึ่ง ซาทร์เคยทาบทามให้กามูส์ให้มารับบทเป็นนักแสดงนำหลักในบทละครของเขาเรื่อง ‘Huit Clos’ (No Exit) ในช่วงแรกกามูส์ลังเลที่จะตกปากรับคำ แต่เมื่อพวกเขาทำการซ้อมบทละคร ซาทร์พบว่ากามูส์สวมบทบาทตัวละครเอกของเขาได้อย่างดี แต่น่าเสียดายที่สุดท้ายโครงการนี้ไปไม่ถึงฝั่งฝัน เนื่องจากมีการเปลี่ยนมือฝ่ายควบคุมการผลิต จะว่าไป... คงไม่ใช่เพียงเพราะความสนิทสนมเท่านั้นที่ซาทร์เลือกกามูส์เป็นนักแสดงนำ แต่คงเป็นเพราะกามูส์มีรูปร่างหน้าตาที่หล่อเหลาเอาการ รวมถึงรสนิยมในการแต่งตัวที่มี James Deen และ Humphrey Bogart เป็นแรงบันดาลใจ แถมเขายังเคยได้รับการเชื้อเชิญให้เป็นแบบให้กับนิตยสาร Vogue อเมริกาอีกด้วย และด้วยรูปลักษณ์ รสนิยม และความเป็นหนุ่มเจ้าเสน่ห์นี้เองที่ทำให้เขามีความสัมพันธ์ทั้งแบบซับซ้อน (complicated) และเปิดเผยกับสาว ๆ หลายคนในช่วงเวลาเดียวกัน   นักวิชาการและนักวิจารณ์วรรณกรรมมักจัดประเภทผลงานเขียนของกามูส์ไว้ในกระแสอัตถิภาวนิยมเฉกเช่นเดียวกับซาทร์ เพราะทั้งคู่เป็นนักเขียนฝ่ายซ้ายจัด ตั้งคำถามกับอิทธิพลทางความคิดทางศาสนาคริสต์ มุ่งเน้นประเด็นเรื่องความยุติธรรมในสังคม หรือความเชื่อทางปรัชญาที่ว่าชีวิตมนุษย์ตั้งอยู่บนฐานของความไร้แก่นสารสาระ แต่อันที่จริงแล้ว เขาทั้งคู่คิดต่างกันในรายละเอียด ซาทร์เชื่อว่าเมื่อเราตระหนักรู้ว่าความไร้แก่นสารสาระเป็นความจริงแท้ของชีวิตมนุษย์ (La conscience) มนุษย์สามารถสร้างคุณค่า (l’essence) ให้แก่ตัวเองและสังคมได้ เพราะมนุษย์คือผู้ให้ความหมายแก่โลกใบนี้ แต่กามูส์กลับเชื่อว่าเราไม่อาจแปรผันความไร้แก่นสารสาระเป็นคุณค่าหรือความหมายได้ เพียงแค่เราตระหนักรู้ถึงความเป็นไปรอบตัวและต่อต้านทัดทานความอยุติธรรมที่ขูดรีดความเป็นปัจเจกบุคคลของเราแบบเกินจะยอมรับก็เพียงพอแล้ว  ความคิดนี้ของกามูส์ถูกสะท้อนอย่างชัดเจนมากในชะตากรรมของตัวละครเอกเรื่อง ‘คนนอก’ “วันนี้แม่ฉันตาย หรือเมื่อวานละมั้ง ฉันก็ไม่รู้” ประโยคเปิดเรื่องที่แสนสั้นแต่สั่นสะเทือนของเรื่อง ‘คนนอก’ ผ่านคำบอกเล่าของตัวละครเอก ‘เมอร์โซลท์’ (Meursault) ได้กลายเป็นวรรคทองของวรรณกรรมฝรั่งเศสศตวรรษที่ 20  เมอร์โซลท์เป็นชายหนุ่มผู้ไร้ซึ่งความหวังหรือความปรารถนาจะค้นหาความหมายใด ๆ ในชีวิต เขาต้องเผชิญกับเหตุการณ์ไม่คาดคิดที่ประดังประเดเข้ามา เช่น รับรู้การตายของแม่ตัวเองแบบกะทันหัน ถูกผู้หญิงขอแต่งงานแบบฉับพลัน หยิบปืนมายิงคนอาหรับโดยไม่รู้ตัว ถูกตัดสินจำคุกและประหารชีวิตในท้ายที่สุด  กามูส์พยายามลดเฉดสีของตัวละครเมอร์โซลท์ด้วยโทนที่เบาบางจนอาจจะเรียกได้ว่า ‘ความไร้เดียงสา’ เพื่อขับเน้นความเป็นไปอันไร้เหตุผลของสังคมและความรุนแรงเชิงโครงสร้างที่ฝังตัวผ่านความเชื่อทางศาสนาและศีลธรรมจรรยาบนฐานของหลักกฎหมาย สิ่งเหล่านี้ไม่เพียงพุ่งเป้าจัดการกับคนที่ฝ่าฝืนอย่างโหดเหี้ยม แต่ยังไม่อนุญาตให้คนเฉยชาต่อความเป็นไปของโลกอย่างเมอร์โซลท์มีลมหายใจอยู่ได้  ความเบื่อหน่ายที่ต้องถูกกักขังในคุกทำให้เมอร์โซลท์ตระหนักรู้ถึงตัวตนและการมีอยู่ของเขา และนั่นก็สายเกินกว่าจะแก้ไข ‘คำพิพากษา’ ที่คนร่วมสังคมตัดสินเขา การถูกตัดสินประหารชีวิตจึงเป็นทางรอดเดียวที่จะทำให้เขาหลุดพ้นจากสภาพที่เป็นอยู่และความน่าเบื่อหน่าย ความตายที่เกิดขึ้นกับเมอร์โซลท์จึงมีมิติที่ทับซ้อนกันระหว่างความรุนแรงจากรัฐและการฆ่าตัวตายด้วยเจตจำนงเสรี บทวิเคราะห์นี้สุ่มเสี่ยงเหลือเกินที่จะชวนให้ผู้อ่านทึกทักไปว่ากามูส์สนับสนุนการฆ่าตัวตาย…ซึ่งผิดถนัด  แม้ว่ากามูส์จะเชื่อว่าชีวิตมนุษย์พร้อมที่จะถูกโจมตีจากความไร้เหตุไร้ผลได้เสมอดั่งที่เกิดกับเมอร์โซลท์ แต่เราต้องเข้าใจว่าความตายในเงื่อนไขชีวิตของเมอร์โซลท์เป็นทางเลือกหนึ่งเดียวที่เขาเลือกได้ และโชคดีที่ตัวเขาเองก็ยินยอมพร้อมใจ แต่สำหรับคนอื่น ๆ ที่ชีวิตไม่ได้มีเงื่อนไขอันคับแคบเหมือนเมอร์โซลท์ กามูส์ยังคงยืนยันว่าการรักษาชีวิตย่อมดีกว่าการดับสูญ เพียงแต่การคิดถึงความตายเป็นเรื่องจำเป็นต่อชีวิตมนุษย์ดั่งที่เขาอธิบายในประโยคแรกของเรื่อง ‘เทพตำนานซีซิฟ’ “ปรัชญามีเรื่องที่จริงจังอยู่เพียงเรื่องเดียว นั่นคือการฆ่าตัวตาย การตัดสินว่าชีวิตมีคุณค่าหรือไม่ที่จะดำรงอยู่ต่อไปถือเป็นคำตอบเดียวของหลักการพื้นฐานของปรัชญา” ชะตากรรมอันโชคร้ายของซีซิฟเกิดขึ้นจากเทพซุส (Zeus) ไม่พอใจซีซิฟเพราะเขาไปบอกกับเทพอะโซปัส (เทพแห่งแม่น้ำ) ว่าซุสหลงรักลูกสาวของอะโซปัส และลักพาตัวลูกสาวเขาไป สุดท้ายซีซิฟต้องชะตาขาดและถูกลงโทษให้กลิ้งหินขึ้นไปบนจุดยอดของภูเขาในยมโลก แต่เมื่อใกล้ถึงจุดหมาย หินนั้นกลับไหลย้อนลงไปที่จุดเดิม และซีซิฟต้องทำแบบนั้นเรื่อยไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด หลายคนเชื่อว่าหินที่ถูกเข็นขึ้นไปและไหลลงมาสะท้อนความเป็นไปของธรรมชาติ เช่น พระอาทิตย์ ระดับน้ำทะเล ฯลฯ หรือในเชิงนิทานสอนใจ อาจจะอธิบายว่าผู้ที่ฝ่าฝืนและท้าทายต่อผู้มีอำนาจสูงส่งหรือการเป็นคนเจ้าเล่ห์เพทุบายมักจะต้องประสบกับชะตากรรมอันโชคร้ายหรือบทลงโทษแสนสาหัส แต่สำหรับการตีความของกามูส์ บทลงโทษที่ซีซิฟได้รับเปรียบได้กับการมีอยู่ของชีวิตมนุษย์ที่บังเกิดและขับเคลื่อนไปด้วยความไร้เหตุผลและแก่นสารสาระ แต่กระนั้นซีซิฟก็ไม่ย่อท้อและยังคงเดินหน้าใช้ชีวิตต่อไป แม้จะรู้ว่าโชคชะตากำลังกลั่นแกล้งและหมายปองชีวิตของเขา ด้วยเหตุนี้เอง กามูส์จึงตีความว่าซีซิฟคือนักสู้ผู้ไม่ยอมพ่ายแพ้ต่อความอยุติธรรม  มันก็น่าแปลกที่ตัวกามูส์เองที่ดูเหมือนจะเชื่อว่าศักยภาพของปัจเจกบุคคลเล็กน้อยเกินกว่าจะเปลี่ยนความไร้แก่นสารสาระที่เป็นแกนกลางของโลกใบนี้ได้... แต่จะมากหรือน้อยนั้น ผลงานวรรณกรรมของกามูส์ก็นับว่ามีคุณูปการต่อความเปลี่ยนแปลงทั้งในเชิงอุดมคติและระดับปฏิบัติการของโลกใบนี้ไม่น้อย    อ้างอิง https://youtu.be/2uJuSpdNbHE  https://youtu.be/-u6Y18Xl5i4  https://youtu.be/kAm_I8nwjnc https://press.uchicago.edu/Misc/Chicago/027961.html  https://www.franceculture.fr/emissions/le-malheur-des-uns/sisyphe-ou-le-sens-de-labsurde https://commentairecompose.fr/l-etranger-incipit/    เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์