Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน

Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน

รองเท้า Allbirds เคยถูกมองว่าใส่สบายกว่า Yeezy’s ธุรกิจนี้เริ่มต้นจาก ทิม บราวน์ นักฟุตบอลทีมชาติที่อกหักจากฟุตบอลโลก กลายมาเป็นรองเท้าขนแกะยอดนิยม แบรนด์เคยมีมูลค่า 4 พันล้าน

Allbirds ถูกเรียกว่าเป็น “The Wolrd’s Most Comfortable Shoes” รองเท้าที่ใส่สบายที่สุดในโลกโดยนิตยสาร Time นิตยสาร Forbes บอกว่าใส่สบายกว่ารองเท้าไฮเอนด์อย่าง Yeezy’s ด้วยซ้ำ ตอนนี้บริษัทรองเท้าขนแกะเมอริโนมีมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญฯ (ประมาณ 13,000 ล้านบาท) ในปี 2021 ซึ่งสำหรับบริษัทผลิตรองเท้าแล้วถือว่าเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนัก  รองเท้าของ Allbirds ได้รับความนิยมอย่างมากจนเราเห็นบุคคลที่มีชื่อเสียงอย่าง Larry Page (ผู้ร่วมก่อตั้ง Google), Dick Cost (อดีต CEO ของ Twitter), Oprah Winfrey รวมถึงอดีตประธานาธิบดีสหรัฐฯ Barack Obama ก็ใส่อยู่เป็นประจำ ทุกอย่างเริ่มต้นจากนักฟุตบอลทีมชาติคนหนึ่งที่ความฝันในการแข่งขันฟุตบอลโลกล่มสลายจนกลายเป็นไอเดียที่กลายมาเป็นรองเท้า Allbirds ทั้ง ๆ ที่เขาไม่มีความรู้เรื่องรองเท้าเลย และกว่าจะได้รองเท้าคู่แรกก็ต้องทำตัวอย่างขึ้นมากว่า 200 แบบ ต้องปฏิเสธเงินลงทุนจำนวนมากแม้ไอเดียกำลังร่อแร่เพราะถูกเอาเปรียบ แต่มันก็กลายเป็นจุดพลิกผันจนทำให้ Allbirds กลายเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในเวลาต่อมา   จุดเริ่มต้นที่ไม่คาดฝัน ทิม บราวน์ (Tim Brown) เกิดในเมือง Congleton ประเทศอังกฤษในปี 1981 แต่ต่อมาครอบครัวย้ายไปอยู่ที่เมือง Wellington ประเทศนิวซีแลนด์ คุณพ่อทำงานในองค์กรไม่แสวงผลกำไร ส่วนคุณแม่ทำอาชีพพยาบาล ทิมเป็นเด็กผู้ชายที่เต็มไปด้วยพลังงาน และชื่นชอบการเล่นกีฬาอย่างมากโดยเฉพาะฟุตบอล (แม้ว่าสมาชิกในครอบครัวจะไม่ค่อยปลื้มเท่าไร เพราะอยากให้ทิมเล่นกีฬาประจำชาตินิวซีแลนด์ อย่างรักบี้มากกว่า) เขาใช้ความรักในกีฬาชนิดนี้เป็นตัวขับเคลื่อนความฝันที่อยากจะติดทีมชาติอายุไม่เกิน 20 ปี จนได้รับทุนไปเรียนต่อมหาวิทยาลัยซินซินแนติ ( University of Cincinnati) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในโควตานักกีฬาฟุตบอล แต่อีกเหตุผลหนึ่งที่เลือกเรียนที่นี่เพราะมีหลักสูตรการเรียนเรื่องการออกแบบที่มีชื่อเสียงที่เขาสนใจด้วย หลังจากเรียนจบปริญญาตรีทางด้านการออกแบบ เขาก็ถูกดึงตัวไปเล่นให้กับทีมฟุตบอล Newcastle Jets ที่เมืองนิวคาสเซิล ประเทศออสเตรเลีย ก่อนจะย้ายไปเล่นให้กับทีม Welligton Pheonix ที่เมืองเวลลิงตัน ประเทศออสเตรเลีย ภายในเวลาไม่ถึงปีต่อมา เขาเล่นในตำแหน่งกองกลางตัวตัดเกม ไม่ใช่คนที่วิ่งเร็วที่สุด หรือมีเทคนิคดีที่สุด ได้รับใบเหลืองหรือใบแดงอยู่บ่อยครั้ง แต่ความสามารถพิเศษของทิมคือการทำลายจังหวะคู่แข่ง แย่งบอลคืนแล้วส่งต่อให้กับผู้เล่นในทีมที่สามารถเปลี่ยนจากรับเป็นรุกได้ดีกว่า เขาซ้อมอย่างหนักทุกวัน เพราะหวังว่าวันหนึ่งจะติดทีมชาติแล้วได้ไปเล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกสักครั้งหนึ่ง ช่วงจังหวะนี้เองที่ทิมได้รับข้อเสนอจากแบรนด์เสื้อผ้ากีฬาหลายแห่ง (แต่ไม่ได้บอกว่าเป็นแบรนด์ไหนบ้าง) ให้มาเป็นพรีเซนเตอร์ให้ แต่เขาปฏิเสธกลับไปทุกแบรนด์ เพราะไม่เห็นด้วยกับแนวคิดบริโภคนิยมซึ่งซึมซับมาจากพ่อที่จะแกะโลโก้ของแบรนด์เสื้อผ้าทุกตัวออกหมดตั้งแต่ตอนที่เขาเป็นเด็ก นอกจากนั้นเขายังชื่นชอบการออกแบบแนว Minimalist ที่เรียนมาจากหลักสูตรการออกแบบด้วย เพราะฉะนั้นเลยไม่อยากรับงานพรีเซนเตอร์ที่ต้องใส่เสื้อผ้าที่มีโลโก้ใหญ่ ๆ เต็มไปหมด ตอนนี้เองที่ทิมเริ่มมีความคิดว่า “ทำไมมันถึงไม่มีรองเท้ากีฬาที่สวมใส่สบายและไม่มีโลโก้กันนะ?” มันกวนใจเขาถึงขั้นทำให้เขาใช้เวลาว่างที่มีอยู่นั่งออกแบบรองเท้าของตัวเอง หาข้อมูลเกี่ยวกับโรงงานและวัสดุที่จะมาทำรองเท้าที่อยากได้ จนเจอโรงงานที่ประเทศอินโดนีเซีย เขาตัดสินใจซื้อตั๋วเครื่องบินไปที่นั่นระหว่างพักการแข่งขันฟุตบอลเพื่อติดต่อกับโรงงาน (ตอนนั้นทีมชาตินิวซีแลนด์กำลังแข่งขันรอบคัดเลือกเพื่อเข้าไปแข่งในฟุตบอลโลก) หลังจากคุยรายละเอียดเรียบร้อย ทิมตัดสินใจสั่งทำรองเท้าในฝันของเขาไป 1,000 คู่ แต่ไม่นานหลังจากนั้นเขาก็ต้องเสียใจกับการตัดสินใจครั้งนี้ รองเท้าของเขาทำขึ้นมาจากผ้าแคนวาสและหนังวัว จึงทำให้(เมื่อ)ทิมได้มีโอกาสไปดูโรงงานที่ผลิตวัสดุเหล่านี้เป็นครั้งแรก เขาค้นพบว่าการทำวัสดุเหล่านี้ต้องใช้สารเคมีจำนวนมหาศาล ซึ่งมันขัดกับความเชื่อของเขาในการทำธุรกิจทุกอย่าง แต่ถึงตอนนี้มันไม่สามารถที่จะแคนเซิลรองเท้าที่สั่งไปได้แล้ว โชคยังดีที่พี่ชายและเพื่อนของเขาอาสารับไปขายต่อให้ จึงได้เงินทุนคืนกลับมาเล็กน้อย แต่ไอเดียของรองเท้าที่ใส่สบาย ไร้แบรนด์ เรียบง่าย และเป็นมิตรต่อโลกนั้นก็ติดอยู่ในหัวของทิมมาโดยตลอดตั้งแต่ตอนนั้น เพียงแต่เขาไม่มีทางรู้เลยว่ามันจะกลายมาเป็นแบรนด์รองเท้าที่มีมูลค่าถึง 4 พันล้านเหรียญฯ ในภายหลัง Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน Merino Sheep ในปี 2009 ทิมมีโอกาสได้อ่านนิตยสารเกี่ยวกับแกะเมอริโน (Merino Sheep) และอุตสาหกรรมขนแกะในประเทศนิวซีแลนด์ ขนแกะชนิดนี้ถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของสินค้าทางประวัติศาสตร์ของประเทศเลยก็ว่าได้ เพราะมันเป็นขนแกะที่แตกต่างจากขนแกะชนิดอื่น ๆ แต่ความต้องการในตลาดของขนแกะเมอริโนกำลังลดลงอย่างมาก เพราะโรงงานหันไปให้ความสนใจวัสดุสังเคราะห์ทดแทนที่ราคาถูกกว่า ทิมพบว่าขนแกะเมอริโนนั้นเป็นเส้นใยธรรมชาติที่สามารถสร้างขึ้นมาใหม่ได้เรื่อย ๆ แถมไม่พอ(และ)ยังย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ แถมขนแกะเมอริโนจากบ้านเกิดของเขาก็ถือว่าดีที่สุดในโลกแล้ว ทิมเลยตั้งคำถามว่า “แล้วทำไมไม่มีใครทำรองเท้าจากขนแกะเมอริโนกันนะ?” พอคิดได้แบบนั้นทิมเลยเขียนแผนธุรกิจส่งให้องค์กร Wool Industry Research Limited ที่กำลังมองหาไอเดียใหม่ ๆ เพื่อยกระดับและการพัฒนาอุตสาหกรรมขนแกะในประเทศ ทิมเขียนไปขอทุนเพื่อมาทดลองทำผ้าขนแกะเมอริโนสำหรับตัดเย็บรองเท้า เขาได้รับเงินทุนมา 200,000 เหรียญฯ (ประมาณ 6.5 ล้านบาท) แล้วก็เริ่มพัฒนาผ้าขนแกะสำหรับการทำรองเท้าขึ้นมา แต่ทิมต้องวางความฝันเรื่องรองเท้าของตัวเองลงก่อน เพราะตอนนี้ทีมฟุตบอลของนิวซีแลนด์ผ่านรอบคัดเลือกและเขาเองก็ต้องไปร่วมแข่งขันฟุตบอลโลกในปี 2010 ในฐานะรองกัปตันและกองกลางทีมชาติ (ซึ่งนี่ถือเป็นครั้งที่สองของประวัติศาสตร์ที่นิวซีแลนด์ผ่านรอบคัดเลือกด้วย) แม้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นในการแข่งขันครั้งนี้อาจจะดูเหมือนฝันร้ายมากกว่าฝันที่เป็นจริงสำหรับทิมก็ตาม   ฝันร้ายของความฝันที่จะไปบอลโลก วันที่ 24 มิถุนายน 2010 ทีมฟุตบอลของนิวซีแลนด์ที่มีฉายาว่า ‘All Whites’ มีโปรแกรมเตะอุ่นเครื่องกับออสเตรเลีย ด้วยเอกลักษณ์การเล่นของทิมที่เข้าหนักหน่วงและต้องคอยตัดเกมคู่แข่ง เขาเข้าปะทะกับวินซ์ เกรลลา (Vince Grella) ในช่วงครึ่งแรกของการเตะ ทั้งคู่วิ่งไล่ตามบอลแล้วชนกันเข้าอย่างจัง ทิมร่วงไปกองกับพื้น พยายามใช้มือขวายันพื้นเอาไว้เพื่อประคองตัว แต่โชคร้ายที่วินซ์ร่วงลงมาทับตัวของทิมจนทำให้หัวไหล่ขวาของเขาบาดเจ็บอย่างหนัก ทิมยังฝืนเล่นต่อจนจบครึ่งแรกก่อนจะถูกส่งตัวไปโรงพยาบาล หมอบอกว่าหัวไหล่ของเขาแตกและต้องทำการผ่าตัดทันที เพียงสองอาทิตย์หลังจากการผ่าตัด ร่างกายของทิมฟื้นกลับมาแข็งแรงมากพอที่จะตามเพื่อนไปแอฟริกาใต้เพื่อร่วมการแข่งขันด้วย แต่โค้ชเลือกที่จะไม่ใช้งานเขา และทิมต้องนั่งเป็นตัวสำรองทั้ง 3 เกมที่เสมอกับสโลวาเกีย 1 - 1, เสมออิตาลี 1 - 1 และเสมอปารากวัย 0 - 0 จนนิวซีแลนด์ร่วงตกรอบแบ่งกลุ่มฟุตบอลโลกไปอย่างน่าเสียดาย ทิมไม่มีโอกาสได้เล่นในการแข่งขันฟุตบอลโลกที่เขาฝันมาตั้งแต่เด็ก แม้โอกาสจะอยู่ตรงหน้าแล้วก็ตาม เขารู้ดีว่านี่คือโอกาสครั้งสุดท้ายแล้ว เพราะด้วยวัยย่างเข้าสามสิบปี ทำให้การกลับมาติดทีมชาติอีกครั้งเป็นเรื่องที่ยากมาก เขาให้สัมภาษณ์ในรายการ ‘How I Built This’ ของสถานีวิทยุ NPR ว่า “ผมรู้ตอนนั้นเลยว่านี่คือจุดจบของมันแล้ว มันเป็นตอนที่ผมต้องเดินออกมาแล้ว” สองปีต่อมาทิมประกาศแขวนสตั๊ดอย่างเป็นทางการ และสิ้นสุดเส้นทางนักกีฬาฟุตบอลอาชีพของเขาลงด้วยวัย 32 ปี หลังจากนั้นเขาตัดสินใจกลับไปเรียนต่อปริญญาโทสาขาบริหารระหว่างประเทศที่ London School of Economics (LSE) โดยคิดว่าการมีความรู้เกี่ยวกับเรื่องธุรกิจนั้นน่าจะช่วยเสริมจุดแข็งของความรู้เกี่ยวกับการออกแบบที่เรียนมาเมื่อหลายปีก่อนได้ดี ระหว่างนั้นเขาได้ลงเรียนคลาสผู้ประกอบการแบบ 8 สัปดาห์เป็นวิชาทางเลือก โดยคอร์สเรียนนี้เขาต้องไปที่มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) ที่เมือง Evanston รัฐ Illinois ซึ่งในคลาสนี้เขาได้ คาร์เตอร์ คาสต์ (Carter Cast) อดีต CEO ของ Walmart.com มาเป็นอาจารย์สอนด้วย คาร์เตอร์สอนเกี่ยวกับการเป็นผู้ประกอบการและให้นักเรียนทุกคนลองนำเสนอไอเดียทางธุรกิจภายในเวลา 3 นาที ต่อจากนั้นถ้าไอเดียที่นำเสนอถูกเลือก นักเรียนก็จะจับกลุ่มกันแล้วลองทำไอเดียนั้นให้กลายเป็นจริงขึ้นมาให้ได้ Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน   Kickstarter ทิมเสนอไอเดียรองเท้าขนแกะเมอริโนให้ทุกคนฟัง เพื่อนคนหนึ่งตั้งคำถามด้วยความสงสัยว่า “จะทำรองเท้าจากขนแกะคัน ๆ เนี่ยนะ?” ทิมพยายามอธิบายว่าขนแกะเมอริโนไม่เหมือนขนแกะทั่วไป เส้นใยของขนแกะเมอริโนนั้นละเอียดกว่า นุ่มกว่า สวมใส่ได้สบาย แถมยังระบายอากาศและคุมอุณหภูมิได้ดีมากด้วย เพื่อน ๆ บางคนก็บอกว่ามันน่าสนใจดี...แต่ส่วนใหญ่จะหัวเราะและคิดว่ามันเป็นไปไม่ได้หรอก อาจารย์อีกคนหนึ่งของทิมเรียกเขาเข้ามาคุยเกี่ยวกับไอเดียนี้แล้วบอกว่ามัน ‘ห่วย’ ด้วยซ้ำ อาจารย์คนนั้นบอกเขาว่าให้เอาไอเดียนี้ไปลงเว็บไซต์ระดมทุนอย่าง Kickstarter ให้มันจบ ๆ ไป (เพราะเขาเชื่อว่าคงไม่มีคนลงเงิน) แล้วทิมก็จะได้ไปทำอย่างอื่นแทน หลังจากจบคลาสที่ Northwestern University และกลับมาเรียนต่อจนจบปริญญาโทในปี 2013 จาก LSE ทิมกลับมาทุ่มเทให้กับไอเดียรองเท้าขนแกะเมอริโนของตัวเองอีกครั้งหนึ่ง เขาใช้เวลาออกแบบรองเท้าที่เขาต้องการกว่า 200 แบบ จนกระทั่งเจอรูปแบบที่ตัวเองต้องการ ทิมเลือกทำตามที่อาจารย์คนนั้นแนะนำและเผชิญหน้ากับความกลัวครั้งยิ่งใหญ่ของตัวเอง สร้างแคมเปญรองเท้าขนแกะบน Kickstarter ขึ้นมาจริง ๆ Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน ระหว่างที่กำลังถ่ายทำวิดีโอเพื่อโปรโมตรองเท้าที่ฟาร์มแกะของเพื่อนในนิวซีแลนด์ ทิมรู้สึกกังวลถึงขั้นบอกพี่ชายตัวเองว่า “นี่มันงี่เง่าชะมัดเลย” แต่พี่ชายของเขากลับบอกว่า “ทำไปเลย มันจะแย่แค่ไหนเชียว” แม้ว่าจะยังกังวลอยู่แต่ก็เห็นด้วยกับพี่ชายของเขา จนในที่สุดปลายปี 2013 แคมเปญรองเท้าขนแกะเมอริโนคู่แรกของโลกของทิมก็ไปอยู่บน Kickstarter จนได้ ทิมเลือกที่จะเน้นย้ำจุดสำคัญของรองเท้าที่ทำจากวัสดุธรรมชาติ ที่สร้างขึ้นมาใหม่ได้เรื่อย ๆ ย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ และสามารถใส่เครื่องซักผ้าได้ด้วย เขาตั้งเป้าของแคมเปญเอาไว้ที่ 30,000 เหรียญฯ ภายใน 30 วัน แต่เสียงตอบรับของรองเท้าของทิมนั้นดีมาก ภายในเวลา 24 ชั่วโมงเขาก็ระดมทุนได้ถึงเป้าหมายที่วางเอาไว้แล้ว และภายใน 4 วัน ยอดระดมทุนก็พุ่งไปถึง 120,000 เหรียญฯ จนเขาต้องปิดแคมเปญลง และไม่สามารถรับเงินเพิ่มได้อีก เพราะมีขนแกะเมอริโนไม่เพียงพอที่จะทำรองเท้าได้ จากภายนอกทิมดูประสบความสำเร็จไปแล้ว แต่ภายในนั้นเขายังไม่แน่ใจเลยว่ารองเท้าของจริงหลังจากเข้าโรงงานผลิตจะออกมารูปแบบไหน แม้จะได้ติดต่อกับโรงงานในโปรตุเกสไว้เรียบร้อยแล้ว แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกอย่างจะราบรื่นไปซะหมด เขาบินไปที่โปรตุเกสเพื่อเช็กรองเท้าที่ทำขึ้นมา แต่กลายเป็นว่าโรงงานนี้ทำรองเท้าของผู้ชายและผู้หญิงขนาดเท่ากันเลย แถม(เท่านั้นยัง)ไม่พอ ยังทำออร์เดอร์ไม่ครบก็ล้มละลายไปซะก่อน ทิมไม่มีทางเลือกมากนักนอกจากจะส่งรองเท้าที่ทำออกมาแล้วไปให้ลูกค้าก่อน แล้วก็ส่งขนแกะที่เหลือกลับมา ซึ่งตอนนี้ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ เริ่มเกินกว่าเงินที่ระดมทุนมาได้ และเงินเก็บของเขาก็ร่อยหรอลงเรื่อย ๆ ตอนนี้เองที่ทิมเริ่มตั้งคำถามกับไอเดียของตัวเองอีกครั้งหนึ่งว่ามันเป็นไอเดียที่ดีจริง ๆ หรือเปล่า ขนาดพ่อของเขาเองยังรู้สึกว่ามันเป็นงานอดิเรกมากกว่า มันไม่สามารถสร้างเป็นธุรกิจได้หรอก แถมยังเรียกเขาว่า ‘ช่างรองเท้า’ ระหว่างมื้อเย็นกับครอบครัวอยู่บ่อย ๆ จนทำให้เขารู้สึกไม่มั่นใจทุกครั้งเวลาคนถามว่าตอนนี้กำลังทำอะไรอยู่ แต่ต่อจากนั้นไม่นานก็มีเรื่องที่ไม่น่าเชื่อเกิดขึ้น ทิมได้รับข้อเสนอที่จะมาพลิกธุรกิจของเขาให้กลายเป็นบริษัทมูลค่า 4 พันล้านเหรียญฯ อย่างไม่คาดคิดเลย Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน   จากไอเดีย ‘ห่วย’ สู่บริษัทรองเท้าพันล้าน ในปี 2015 มีนักลงทุนคนหนึ่งโทรฯ มาหาทิมหลังจากเห็นความสำเร็จของรองเท้าเขาบน Kickstarter และถามทิมว่าเขาจะขอลงทุนด้วยได้ไหม ทิมตัดสินใจบินไปพบเขาที่นิวยอร์กและคุยกันเรื่องข้อเสนอต่าง ๆ อย่างละเอียด ทิมรู้สึกทะแม่ง ๆ กับดีลนี้อยู่เล็กน้อย แถมยังมีเวลาตัดสินใจเพียงแค่ 2 อาทิตย์เท่านั้น ทิมกลับมาที่บ้านแล้วลองชั่งน้ำหนักข้อดีข้อเสียของข้อเสนอครั้งนี้ แต่ก็ไม่แน่ใจว่าควรทำอย่างไร เพราะเงินที่ได้จะช่วยทำให้ความเครียดเกี่ยวกับเงินในการทำธุรกิจลดลง แต่มันก็จะทำให้หุ้นส่วนในบริษัทของเขาลดลงจนแทบไม่เหลือเลย ลินซีย์ เฮิร์สช์ (Lindsay Hirsch) ภรรยาของเขาบอกว่าทิมควรไปปรึกษา โจอี้ ซวิลลิงเกอร์ (Joey Zwillinger) เพราะน่าจะรู้เรื่องนี้เป็นอย่างดี โจอี้เป็นสามีของเพื่อนสนิทของลินซีย์ที่เชี่ยวชาญในการให้คำปรึกษากับผู้บริหารและบริษัทลงทุน แถมยังดูแลสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีชีวภาพชื่อ Solazyme ที่ซานฟรานซิสโกด้วย ทิมเชื่อคำแนะนำของลินซีย์แล้วติดต่อไปหาโจอี้ หลังจากที่โจอี้อ่านข้อเสนอที่ทิมได้รับมาอย่างละเอียดก็พบว่าข้อเสนอนี้ค่อนข้างเอาเปรียบทิมอย่างมาก โจอี้บอกว่า “ผมคิดว่ามันเป็นการเอาเปรียบไอเดียที่ดี และเป็นการฝังกรงเล็บของตัวเองลงในธุรกิจนี้ และสิ่งที่เหลือให้ทิมก็ไม่ดีเลย” โจอี้แนะนำให้ทิมปฏิเสธข้อเสนอนี้และให้ทางเลือกใหม่อีกทางนั่นคือเขาจะมาช่วยทิมในฐานะพาร์ตเนอร์ทางธุรกิจ เพราะโจอี้เองก็กำลังสนใจเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเสื้อผ้าแบบยั่งยืน (Sustainable Clothing) เขาพยายามนำเสนอไอเดียนี้ให้กับแบรนด์ระดับนานาชาติหลายแห่ง แม้มันจะได้รับความสนใจ แต่ก็ไม่มีแบรนด์ไหนจริงจังพอที่จะทำอะไรให้มันเกิดขึ้นเป็นรูปเป็นร่าง (เพราะยังอยากใช้วัสดุที่ราคาถูกแบบเดิม ๆ อยู่) โจอี้รู้สึกไม่พอใจกับเรื่องนี้เป็นอย่างมาก และเห็นว่าไอเดียของทิมนั้นตอบโจทย์ในสิ่งที่เขาตามหาอยู่พอดี Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน ทิมตกลงกับข้อเสนอของโจอี้ และทั้งคู่ก็ขึ้นเป็น CEO ร่วมกัน ก่อนจะย้ายไปทำงานในโรงรถของบ้านแม่ยายของโจอี้ในเมืองซานฟรานซิสโก ในปีเดียวกันนั้นพวกเขาก็เจอโรงงานสิ่งทอที่ได้รับการรับรองว่าสามารถผลิตผ้าจากขนแกะเมอริโนแบบยั่งยืนและคุณภาพสูงได้ และ(เป็น)โรงงานผลิตรองเท้าที่ใช้พลังงานสะอาดที่สุดแห่งหนึ่งของโลกที่เมืองปูซาน ประเทศเกาหลีใต้ ต่อมาพวกเขาได้เงินลงทุนกว่า 2.8 ล้านเหรียญฯ จากบริษัทลงทุน Great Oaks Venture Capital และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Allbirds เพื่อเป็นการแสดงความเคารพแก่ประเทศนิวซีแลนด์ เพราะกลุ่มคนที่มาตั้งรกรากที่นี่แรก ๆ เรียกผืนดินแห่งนี้ว่า “The land of all birds” ต่อจากนั้นพวกเขาก็ปรับเปลี่ยนรูปแบบของโมเดลธุรกิจให้เป็น Direct to Customer หรือทำเองขายเอง ส่งตรงถึงบ้านลูกค้าโดยไม่มีหน้าร้านผ่านทางเว็บไซต์ (ไอเดียเดียวกับแบรนด์แว่นตา Warby Parker) เพียง 7 เดือนเว็บไซต์ของพวกเขาก็เสร็จสมบูรณ์และพร้อมขายรองเท้ารุ่นแรกของแบรนด์ Allbirds ชื่อว่า ‘Wool Runners’ ให้กับลูกค้า รองเท้าขายจนหมดสต๊อกภายในเวลาไม่ถึง 2 สัปดาห์ ทำรายได้มากกว่า 1 ล้านเหรียญฯ ภายในเดือนเดียว ต่อจากนั้นคนก็เริ่มแชร์เรื่องรองเท้าที่ตัวเองใส่บนโลกออนไลน์ สร้างความฮือฮาและได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ปีต่อมานิตยสาร Time ได้เขียนถึง Allbirds ว่าเป็นรองเท้าที่ ‘สวมใส่แล้วสบายที่สุดในโลก’ และยิ่งตอนที่ Forbes ออกมาเปรียบเทียบว่า Allbirds นั้นมีคุณภาพที่ดีกว่ารองเท้าไฮเอนด์อย่าง Yeezy’s ยิ่งทำให้มันกลายเป็นที่ต้องการของตลาดมากขึ้นไปอีก ต่อจากนั้นอีก 2 ปีก็ได้เงินลงทุนเพิ่มมาอีก 87.5 ล้านเหรียญฯ และทำให้ Allbirds มีมูลค่า 1.4 พันล้านเหรียญฯ ในปี 2018 กลายเป็นบริษัทสตาร์ทอัพในอุตสาหกรรมรองเท้าที่กลายเป็นยูนิคอร์นได้อย่างสวยงาม Allbirds จากนักบอลทีมชาติที่อกหักจากบอลโลก สู่สตาร์ทอัพรองเท้าขนแกะมูลค่า 4 พันล้าน ถึงตอนนี้ Allbirds มีมูลค่ากว่า 4 พันล้านเหรียญฯ ไปแล้วในปี 2021 ทิมและโจอี้ยังคงทำงานด้วยกันในฐานะ CEO ของ Allbirds ทั้งคู่ยังคงยึดมั่นแนวคิดของการทำธุรกิจที่ดีต่อสภาพแวดล้อมและไม่เบียดเบียน(โลก)ใบนี้ ยังคงสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาทำรองเท้าอย่างรุ่น Tree ที่สร้างจากต้นยูคาลิปตัส และรุ่น SweetForm ที่ทำมาจากต้นอ้อย นิตยสาร Time นำ Allbirds กลับมาเขียนอีกครั้งโดยเรียกมันว่า ‘รองเท้าที่อาจจะช่วยรักษาโลกใบนี้ได้’ เพราะไม่ต้องใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกแบบเดิม ๆ อีกต่อไป แถมยังไม่พอ Allbirds ยังเปิดให้แบรนด์อื่น ๆ อย่าง Nike และ adidas มาใช้วัสดุที่พวกเขาสร้างขึ้นมาเพื่อช่วยลดการใช้วัสดุที่มีสารเคมีและทำร้ายโลกใบนี้ด้วย ทิมให้สัมภาษณ์กับรายการพอดแคสต์ The Business of Fashion ว่า “ถ้าคุณไม่ทำบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวคุณเอง หรือมีเหตุผลที่ลึกซึ้ง มันจะเป็นเรื่องยากมาก ๆ เลยที่จะทำธุรกิจให้สำเร็จ” ถึงตอนนี้ทิมอาจจะต้องขอบคุณอาจารย์ที่บอกว่าไอเดียนี้มัน ‘ห่วย’ และควรทำให้มันจบ ๆ ไปซะ เพราะหลังจากนั้นมา แม้จะต้องผ่านอุปสรรคและความไม่มั่นใจหลายต่อหลายครั้ง ทิมก็สามารถสร้างรองเท้าในฝันของเขาที่ใส่สบาย ไม่โชว์แบรนด์ เรียบง่าย และเป็นมิตรต่อโลกได้สำเร็จจนได้   ภาพ: https://www.allbirds.com/   อ้างอิง: https://time.com/4243338/allbirds-wool-runners/ https://www.optimonk.com/how-allbirds-went-from-a-small-startup-to-a-billion-dollar-sneaker-brand-in-4-years/ https://allgoodtales.com/brand-story-hero-allbirds/ https://www.cnbc.com/2018/12/14/allbirds-went-from-silicon-valley-staple-to-billion-sneaker-startup.html https://www.forbes.com/sites/kristenphilipkoski/2016/04/30/allbirds-merino-wool-sneakers-shockingly-comfortable-sustainable-affordable https://podcasts.apple.com/mn/podcast/tim-brown-on-allbirds-sustainable-footwear-revolution/id1225204588?i=1000453156656 https://www.youtube.com/watch?v=--5m1XLdcPI https://www.npr.org/2019/06/07/730695224/allbirds-tim-brown-joey-zwillinger https://www.forbes.com/sites/laurendebter/2021/11/03/allbirds-shares-soar-after-shoemaker-raises-over-300-million-in-ipo/