อัลเลน พอลสัน ผู้ก่อตั้ง Gulfstream ที่ดังน้อยกว่า "ม้าแข่ง" ตัวเอง 

อัลเลน พอลสัน ผู้ก่อตั้ง Gulfstream ที่ดังน้อยกว่า "ม้าแข่ง" ตัวเอง 
Gulfstream คือหนึ่งในผู้ผลิตเครื่องบินธุรกิจรายใหญ่ของโลก และผู้พัฒนาเครื่องบินแบบ Gulfstream G500 ที่ "กองทัพบกไทย" สนใจจัดหามาใช้ในภารกิจโดยสารของผู้บังคับบัญชาและบุคคลสำคัญ  เครื่องบินรุ่นนี้สามารถทำความเร็วได้สูงสุดถึง 0.925 มัค หรือเกือบเท่าความเร็วเสียง ทำระยะทางได้ไกลถึง 5,200 ไมล์ทะเล หรือกว่า 9,600 กิโลเมตร (ถ้าไปทางตะวันตกก็บินได้ไกลถึงเยอรมนี ถ้าไปฝั่งตะวันออกก็จะไปได้ถึงเท็กซัส สหรัฐฯ) และเป็นที่นิยมในเหล่ามหาเศรษฐี เช่น เจฟฟรีย์ เอปสตีน นักธุรกิจและแมงดาจัดหาโสเภณีเด็กที่เสียชีวิตระหว่างถูกจำคุก ก็เคยเป็นเจ้าของเครื่องบินในซีรีส์นี้เช่นกัน สถิติยอดขายและรายรับยังเป็นเครื่องยืนยันว่า Gulfstream คือ เครื่องบินหรูสำหรับมหาเศรษฐีระดับบน เพราะพวกเขามียอดขายปีละประมาณ 120 ลำเท่านั้น ขณะที่ Cessna เบอร์ 1 ในตลาดเครื่องบินทั่วไป มียอดขายปีละกว่า 450 ลำ แต่ถ้าวัดกันที่รายรับ Gulstream คือ เบอร์ 1 มาตลอดตั้งแต่ปี 2013 โดยยอดในปี 2019 พวกเขาทำรายได้ไปกว่า 7,850 ล้านดอลลาร์ (Aeroweb) ความสำเร็จของ Gulfstream ต้องยกความดีความชอบให้กับ อัลเลน พอลสัน (Allen Paulson) ผู้ก่อตั้งที่เปลี่ยนหน่วยธุรกิจที่ไม่ทำกำไรของ Grumman ผู้ผลิตเครื่องบินทหารชื่อดัง ให้กลายเป็นผู้ผลิตเครื่องบินหรูสำหรับมหาเศรษฐีอันดับ 1 ของตลาด จากคำบอกเล่าของ เคลย์ เลซี (Clay Lacy) เพื่อนร่วมวงการ และผู้ก่อตั้ง Clay Lacy Aviation บริษัทจัดการด้านการบิน พื้นเพเดิมของพอลสันเป็นคนเมืองคลินตัน รัฐไอโอวา หลังชนะบิงโกได้เงิน 100 ดอลลาร์ ตอนอายุ 14 ปี ก็ตีตั๋วรถบัสมาแสวงโชคในแคลิฟอร์เนีย รีดนมวัวหารายได้ส่งตัวเองเรียน ก่อนฝึกงานเป็นช่างเครื่อง ช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 เขาอาสาสมัครเข้ากองทัพอากาศ ทำให้เขาได้เรียนด้านวิศวกรรม ที่มหาวิทยาลัยเวสต์เวอร์จิเนีย หลังสงครามจบ เขาจึงเป็นทั้งนักบินและวิศวกรการบิน เบื้องต้นเขาทำงานกับ Trans World Airlines ที่เขาเคยฝึกงานด้วย ก่อนออกมาทำบริษัทรับจ้างบินอิสระ ในปี 1958 เขาเริ่มทำธุรกิจซื้อขายชิ้นส่วนเครื่องบิน และเครื่องบินมือสอง พอขึ้นทศวรรษ 60s เขาก็รับเป็นตัวแทนจำหน่ายให้กับ Learjet ช่วงศตวรรษที่ 70 พอลสันสนใจซื้อหน่วยธุรกิจที่พัฒนาเครื่องบินรุ่น Commander ของ Rockwell แต่ดีลเกิดขึ้นไม่ง่าย ระหว่างนั้น ทาง Grumman รู้เรื่องเข้าจึงเสนอขายโครงการ Gulftream ที่พัฒนาเครื่องบินทั่วไป ซึ่งเป็นหน่วยที่ไม่ทำกำไรให้พอลสัน พอลสันรับซื้อไปในราคา 58 ล้านดอลลาร์ในปี 1978 ก่อนจะได้ Commander ของ Rockwell มาเสริมอีกในปี 1981 "Gulfstream เคยขาดทุนมาโดยตลอด แต่อัลเลนและทีมการตลาดก็ใช้เวลาไม่นานในการพลิกฟื้นบริษัท อัลเลนภูมิใจมากที่ Gulfstream Aircracft Corp ที่เขาสร้างขึ้นหมาด ๆ สามารถทำกำไรได้ตั้งแต่ปีแรก GIIs (ชื่อรุ่นเครื่องบิน) เคยขายที่ลำละ 4 ล้านดอลลาร์ ตอนแรก GIIIs ตั้งราคาไว้ที่ 7.5 ล้านดอลลาร์ พอขาย GIIIs ไปได้ 40 ลำ เขาก็ขึ้นราคาเป็น 9.5 ล้านดอลลาร์ สุดท้ายไปขายที่ลำละ 12 ล้านดอลลาร์" เลซีกล่าว ในปี 1983 พอลสันนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ ขายหุ้นไป 80 ล้านหุ้น ระดมทุนได้ 90 ล้านดอลลาร์ โดยที่เขายังถือหุ้นมูลค่า 400 ล้านดอลลาร์ และเปลี่ยนชื่อบริษัทเป็น Gulfstream Aerospace Corp บริษัทของเขาเติบโตอย่างรวดเร็ว เขาเคยขายบริษัทให้กับ Chrysler ไปเป็นมูลค่า 750 ล้านดอลลาร์ในปี 1985 โดยที่ยังคงนั่งเป็นผู้บริหารใหญ่ต่อไป ก่อนที่ 4 ปีต่อมาเขาจะร่วมกับนักลงทุนอีกรายซื้อบริษัทคืน และนั่งบริหารเรื่อยมาถึงปี 1992 เมื่อเขาเกษียณอายุ แต่บทบาทที่พอลสันได้รับการจดจำมากที่สุด ไม่ใช่เรื่องการเป็นนักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จ หากเป็นในฐานะเจ้าของ “ซิการ์” ม้าแข่งในตำนานที่มนุษย์สร้างอนุสาวรีย์มอบให้ ในรายงานการเสียชีวิตของพอลสัน ใน The New York Times เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ค.ศ. 2000 ใช้พาดหัวว่า "อัลเลน พอลสัน เจ้าของม้าแข่งชื่อซิการ์ เสียชีวิตในวัย 78 ปี" ในรายงานชิ้นนี้ให้เนื้อที่กล่าวถึงธุรกิจการบินของพอลสันเพียงหนึ่งย่อหน้าเท่านั้น ที่เหลือเป็นพื้นที่ในวิชาชีพ "นักแข่งม้า" ที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักของสาธารณะ ในฐานะ "เจ้าของของเจ้าซิการ์" มากกว่าบทบาทอื่น พอลสันเริ่มเล่นม้าในช่วงทศวรรษที่ 70s ตอนแรก ๆ ก็แค่หาม้าถูก ๆ มาลองวิ่ง พอขึ้นทศวรรษใหม่ เขาก็เริ่มเอาจริงเอาจังกับมันมากขึ้น (หลังจากธุรกิจโรงต่อเครื่องบินของเขาเริ่มติดลมบน) เขาเพาะพันธุ์ม้าแข่งที่ชนะเดิมพันได้ถึง 85 ตัว และเป็นเจ้าของม้าแข่งที่ชนะเดิมพันเกินกว่า 100 ตัว แต่ก็ไม่มีตัวไหนที่โดดเด่นไปกว่า "ซิการ์"  ซิการ์เดิมทีเป็นของเมเดอลิน (Madeline) ภรรยาของพอลสัน เขาเอา เอลิซา ม้าแข่งตัวเมียที่เพิ่งได้แชมป์ประจำปี 1992 ในประเภทม้าเพศเมียอายุ 2 ปี ไปแลกมา ตอนนั้นซิการ์เป็นม้าแข่งในลู่หญ้าซึ่งไม่โดดเด่นเท่าไรนัก ลงแข่ง 13 ครั้ง ชนะได้แค่ 2 ครั้ง  แต่เมื่อ บิล มอตต์ (Bill Mott) มาฝึกก็เห็นแววว่า ซิการ์น่าจะวิ่งในลู่ดินได้ดีกว่า และนั่นก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ซิการ์กลายเป็นตำนาน เมื่อมันชนะติดต่อกัน 16 ครั้ง ก่อนที่สถิติจะหยุดลงในวันที่ 10 สิงหาคม 1996 เมื่อมันอายุได้ 6 ปี ในการแข่งขันที่คู่แข่งเล่นเป็น "ทีม" คือ ไซฟอน (Siphon) และ แดร์แอนด์โก (Dare and Go) สองม้าแข่งที่ฝึกโดย ริชาร์ด แมนเดลลา (Richard Madella)  ในการแข่งวันนั้น ไซฟอนเร่งฝีเท้าออกตัวนำตั้งแต่ไมล์แรก เมื่อซิการ์ไล่มาจนเสมอกัน ไซฟอนก็ลดฝีเท้าลง ให้ม้าตีนปลายอย่างแดร์แอนด์โกวิ่งต่อในช่วงสุดท้าย ซิการ์ที่อายุมากแล้วจึงพ่ายแพ้ไปในที่สุด ตลอดการแข่งขันซิการ์ทำเงินรางวัลไปทั้งสิ้น 9.9 ล้านดอลลาร์ และได้รับการโหวตว่าเป็นสุดยอดม้าแข่ง 2 สมัยติดต่อกัน (1995-1996)  แม้จะสู้ม้าแข่งรุ่นใหม่ไม่ได้แล้ว แต่ชื่อเสียงของซิการ์ก็ทำให้มันยังมีมูลค่าอีกมาก เพราะคอกม้าหลายคอกก็หวังว่า จะได้ซิการ์มาเป็นพ่อพันธุ์เพาะม้าฝีเท้าจัดรุ่นต่อไป ซึ่งพอลสันก็สามารถขายสิทธิในตัวซิการ์ 75 เปอร์เซ็นต์ ได้ด้วยราคาที่สูงถึงราคา 25 ล้านดอลลาร์ ก่อนที่คอกม้าที่รับซื้อต่อจะรู้ว่า ม้าแข่งฝีเท้าจัดอย่างซิการ์ "ไม่มีน้ำยา" ในการทำลูก  ทั้งนี้ แม้จะเป็นคนที่รักม้าและคลั่งไคล้กีฬาแข่งม้ามาก แต่พอลสันก็ไม่คิดว่า ตนเอง “เก่ง” กว่าคนเป็นโค้ช และไม่คิดจะล้วงลูกลูกน้องที่ตัวเองจ้างมาแต่อย่างใด เจอร์รี ไบลีย์ (Jerry Bailey) ยอดนักขี่ม้าตลอดกาล ที่คว้าชัยชนะกว่า 5,800 ครั้ง ทำเงินรางวัลเกินกว่า 290 ล้านดอลลาร์ กล่าวถึงพอลสันว่า เขาเป็นคนที่คอยให้ความช่วยเหลือคนทำงาน และปล่อยให้คนที่เขาจ้างมาได้ทำงานตามที่จ้างจริง ๆ "เขาไม่เคยมาสั่งอะไร (ระหว่างเตรียมการแข่งขัน) แม้แต่นิดเดียว" (America’s Best Racing)