Always: Sunset on Third Street '64: โตเกียวโอลิมปิกส์ '64 ความฝัน ความหวัง และการก่อร่างสร้างประเทศญี่ปุ่น

Always: Sunset on Third Street '64: โตเกียวโอลิมปิกส์ '64 ความฝัน ความหวัง และการก่อร่างสร้างประเทศญี่ปุ่น
ภาพยนตร์ชุด Always: Sunset on Third Street ที่ประกอบด้วยภาพยนตร์ทั้งสามภาคอันได้แก่ Always: Sunset on Third Street ภาค 1 (2005) และ 2 (2007) และ Always: Sunset on Third Street '64 (2012-ภาค 3) อันสร้างมาจากโครงเรื่องของหนังสือการ์ตูนชื่อ Sunset on Third Street ผลงานของ Ryōhei Saigan คือหนึ่งในภาพยนตร์ชุดที่อยู่ในความทรงจำของหลายคนที่นำเสนอ 'อดีต' ของญี่ปุ่นในยุคก่อร่างสร้างประเทศหลังจากที่เป็นประเทศผู้แพ้สงครามโลกครั้งที่ 2 มันจึงเป็นชุดภาพยนตร์ที่อัดแน่นไปด้วยความหวังและความฝัน ผ่านการเล่าเรื่องที่กลมกล่อมแบบ 'หัวเราะร่า น้ำตาริน' จนเป็นภาพยนตร์ขวัญใจมหาชน ในขณะที่ Always ภาค 1 และ 2 พยายามนำเสนอการก่อร่างสร้างประเทศญี่ปุ่นในปี 1958 หลังจากแพ้สงครามไป 13 ปี โดยมีแลนด์มาร์กสำคัญอยู่ที่ปีนั้นเป็นปีที่ญี่ปุ่นกำลังก่อสร้างโตเกียวทาวเวอร์ขึ้นมา อันเป็นสัญลักษณ์ของความก้าวหน้าของประเทศ ผ่านผู้คนในชุมชนบนถนนหมายเลข 3 ที่โตเกียว มาถึง Always ภาค 3 ยังเป็นเรื่องราวของผู้คนในชุมชนเดิมในปี 1964 ซึ่งในปีนั้นกรุงโตเกียวเป็นเจ้าภาพกีฬาโอลิมปิกส์ และรถไฟชินคันเซ็นที่รวดเร็วทันใจเพิ่งเปิดใช้ในช่วงเวลานั้น จุดเริ่มต้นของระบบขนส่งที่ดีระดับต้น ๆ ของโลก กับการรับหน้าเสื่อเป็นเจ้าภาพในกีฬาของมวลมนุษยชาติของประเทศที่แพ้สงครามโลกครั้ง 2 เมื่อไม่กี่สิบยี่สิบปีที่ผ่านมาเป็นเหมือนความหวังที่สำคัญของผู้คนในแดนอาทิตย์อุทัยที่จะก้าวไปข้างหน้าต่อไป ในภาค 3 หนังได้ฉายภาพความหวังดังกล่าวโดยโฟกัสมาที่ครอบครัวนักเขียนของริวโนะสุเกะ ชากาวะ และครอบครัวช่างซ่อมรถยนต์ 'ซูซูกิออโต้' ของซูซูกิ โนริฟุมิ อันเป็นภาพเปรียบเปรยถึงการคลี่คลายของ 2 อุตสาหกรรมที่สำคัญต่อญี่ปุ่นกันคนละแบบ ชื่อของผู้นำครอบครัวทั้งสองครอบครัว มีนัยที่น่าสนใจ ชื่อ ชางาวะ ริวโนะสุเกะ ชวนให้นึกถึง อะคุตะงะวะ ริวโนะสุเกะ นักเขียนชื่อดังของญี่ปุ่น ส่วนซูซูกิ โนริฟุมิ ก็ชวนให้นึกถึงบริษัทผลิตรถยนตร์ของญี่ปุ่น 'ซูซูกิ' ที่มีชื่อเสียงระดับโลก อันมีนัยหมายถึง ทิศทางความฝันของญี่ปุ่น ที่สนใจทั้งเรื่องสินค้าทางวัฒนธรรมในฐานะ soft power และสินค้าทางเทคโนโลยีที่ส่งออกเป็นที่รู้จักทั่วโลก บริบทในภาพยนตร์ ฝั่งนักเขียน เปรียบเป็นอุตสาหกรรมทางด้านวัฒนธรรรม ซึ่งต้องยอมรับว่า ในทุกวันนี้เรื่องเล่าเมดอินเจแปนที่ถูกถ่ายทอดผ่านมังงะ นิยาย ซีรีส์ วิดีโอเกมส์ หรือภาพยนตร์ กลายเป็นสินค้าสำคัญอย่างหนึ่งของญี่ปุ่น ส่วนอู่ซ่อมรถยนต์ คงไม่เกินเลยนัก หากจะบอกว่า นี่คือต้นธารของอุตสาหกรรมยานยนต์ที่สำคัญที่มาถึงวันนี้คงไม่มีใครไม่รู้จักชื่อ โตโยต้า ฮอนด้า ยามาฮ่า หรือซูซุกิ จากรุ่นผู้ก่อตั้งที่เราได้เห็นในภาค 1 และ 2 ในภาค 3 คือการต่อยอดให้เห็นการโบยบินของตัวละครหลัก 2 คนที่เติบใหญ่ขึ้นมาตามช่วงเวลาที่ผันผ่าน นั่นคือ จุนโนะสุเกะ เด็กที่ริวโนะสุเกะเก็บมาเลี้ยง และโรขุ เด็กสาวที่ทำงานที่ร้านซูซุกิ ออโต้ ที่แม้ว่าจะไม่ใช่เลือดเนื้อเชื้อไขกันโดยตรง แต่สายสัมพันธ์นี้ทำให้พวกเขาสามารถอยู่ร่วมกันฉันพ่อ-ลูก อันเป็นปมที่ทำให้ซึ้งจนเสียน้ำตาได้ไม่ยาก และที่สำคัญก็คือ ทั้งสองคนนี้ต้องพบกับภาวะ coming of age หรือการเปลี่ยนผ่านชีวิตอีกขั้นหนึ่งในการเลือกทางเดินชีวิตของแต่ละคนโดยที่อาจจะไม่เป็นไปตามความคาดหวังของคนรุ่นก่อน แต่ที่สุดพวกเขาก็ได้เลือกด้วยตัวเอง แม้คนในชุมชนจะต่างความคิดกัน และมีความขัดแย้งกันเป็นระยะ แต่สุดท้ายทุกคนต่างมานั่งจดจ้องที่ทีวีเครื่องเดียวกันเพื่อลุ้นให้นักกีฬาในชาติตนได้รับเหรียญรางวัล ซึ่งทำให้เห็นว่าภาพยนตร์เรื่องนี้มีความเป็น 'ชาตินิยม' ค่อนข้างเข้มข้น ตั้งแต่เรื่องการพูดธีมความหวังและความฝัน ไปจนถึงการลงสนามแข่งขันกับประเทศอื่น ๆ ในกีฬาโอลิมปิกส์ อย่างไรก็ตาม Always: Sunset on Third Street ทั้งสามภาค จึงเป็นภาพยนตร์ที่นอกจากจะจุดประกายความหวังกับประเทศญี่ปุ่น ให้มีความหวังที่จะก้าวไปข้างหน้าในยุคที่กำลังฟื้นฟูชาติ แต่หากมองในมุมปัจเจก ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ได้พาไปสำรวจผู้คนในซอกซอยของหมายเลข 3 เพื่อตามหาความฝันและความหวังของผู้คนที่ต่างก็ยิ่งใหญ่ไม่ต่างจากความฝันของประเทศของตน