อแมนดา กอร์แมน: สาวน้อยนักกวีผู้แจ้งเกิดบนเวที ‘ไบเดน’ และมุ่งมั่นเป็นตัวแทน Gen-Z ลุ้นเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ

อแมนดา กอร์แมน: สาวน้อยนักกวีผู้แจ้งเกิดบนเวที ‘ไบเดน’ และมุ่งมั่นเป็นตัวแทน Gen-Z ลุ้นเก้าอี้ประธานาธิบดีสหรัฐฯ
หาก มาลาลา ยูซาฟไซ คือตัวแทนคนรุ่นใหม่จากเอเชีย และ เกรต้า ธุนเบิร์ก คือ ‘ไอดอล’ ของเด็กยุคใหม่ในยุโรป อแมนดา กอร์แมน (Amanda Gorman) กวีร่างเล็กที่สร้างชื่อจากการอ่านบทกลอนด้วยลีลาท่าทางพลิ้วไหวในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีโจ ไบเดน ก็น่าจะพูดได้เต็มปากว่า เป็นตัวแทนคนรุ่นใหม่ในอเมริกา รวมถึงบรรดาสตรี และคนหลากเชื้อชาติทั่วโลก ภาพสาวน้อยผิวดำในชุดเสื้อคลุมยาวสีเหลืองสะดุดตา ตัดกับสีแดงสดใสของผ้าคาดผมขนาดใหญ่ ซึ่งอแมนดาสวมใส่ขึ้นเวทีสาบานตนของไบเดน เมื่อวันที่ 20 มกราคม ค.ศ. 2021 คือภาพจำที่ทำให้คนทั่วโลกรู้จักเธอ ไม่แพ้ข้อความอันลึกซึ้งกินใจในบทกวี ซึ่งเธอแต่งมาเพื่อการนี้โดยเฉพาะ The Hill We Climb (เนินเขาที่เราปีน) คือบทกวีที่เธอแต่งขึ้นเพื่อถ่ายทอดความรู้สึกของคนรุ่นใหม่ที่ไม่เพิกเฉยต่อปัญหาบ้านเมือง และกล้าบอกเล่าความจริงอันเลวร้ายในสังคม หลังเกิดจลาจลของกลุ่มคนสนับสนุนประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ บุกยึดอาคารรัฐสภา (Capitol Hill) ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ก่อนที่ โจ ไบเดน จะเข้าพิธีสาบานตนไม่กี่วัน   “We’ve seen a force that would shatter our nation rather than share it, Would destroy our country if it meant delaying democracy. And this effort very nearly succeeded. But while democracy can be periodically delayed, It can never be permanently defeated.”   (เราเห็นกองกำลังที่จะทำลายชาติมากกว่าร่วมแบ่งปันอำนาจ จะทำลายประเทศให้เสียหายด้วยการถ่วงรั้งประชาธิปไตย และความพยายามนี้ก็เกือบสำเร็จเต็มที แต่ในขณะที่ประชาธิปไตยถูกถ่วงรั้งไว้เป็นระยะ มันจะไม่มีทางถูกทำลายให้หายไปชั่วนิรันดร์)   นั่นคือส่วนหนึ่งในบทกวีที่สาวน้อยวัย 22 ปี กล่าวในพิธีสาบานตน ณ จุดเดียวกับที่เกิดเหตุจลาจลหน้าอาคารรัฐสภาสหรัฐฯ อแมนดา กอร์แมน นับเป็นกวีอายุน้อยที่สุดในประวัติศาตร์ ที่ได้อ่านบทกลอนในพิธีสาบานตนของผู้นำอเมริกา หลังจากเธอเพิ่งได้รับเลือกให้เป็นกวีเยาวชนแห่งชาติคนแรกของสหรัฐฯ ในปี 2017 ความชื่นชอบในการแต่งโคลงกลอนของอแมนดา เริ่มต้นมาตั้งแต่วัยเด็ก   ปัญหาพูดไม่ชัด อแมนดา กอร์แมน เกิดวันที่ 7 มีนาคมปี 1998 ที่นครลอสแองเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา เธอมีฝาแฝดอีกคนชื่อ เกเบรียล ทั้งคู่เติบโตมาท่ามกลางการเลี้ยงดูของมารดาเพียงคนเดียว (single mom) คือ โจน วิคส์ วิคส์ มีอาชีพเป็นครูสอนภาษาอังกฤษที่โรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่ง เธอเลี้ยงดูลูกสาวทั้งสองให้เติบโตขึ้นมาโดยจำกัดเวลาดูทีวีอย่างเคร่งครัด เพราะอยากให้ทั้งคู่หันมาใช้เวลาทำกิจกรรมอื่น และมีปฏิสัมพันธ์กับคนรอบตัวให้มากขึ้น กิจกรรมสุดโปรดของอแมนดา แน่นอนคือการอ่านและเขียนหนังสือ โดยเธอระบุว่า สาเหตุที่ชอบอ่านและเขียน ส่วนหนึ่งมาจากปัญหาทางร่างกายตั้งแต่วัยเยาว์ เนื่องจากเธอมีปัญหาระบบประสาทสัมผัสการฟังและพูดไม่ชัด ทำให้ออกเสียงพยัญชนะตัว “R” ในภาษาอังกฤษไม่ได้ การใช้ภาษามือประกอบการอ่านบทกวีต่อหน้าสาธารณชน คล้ายท่าทางของคอนดักเตอร์ผู้ควบคุมวงออเคสตรา คือส่วนหนึ่งในการแก้ปัญหาดังกล่าว และทำให้จังหวะการอ่านลื่นไหลค่อยเป็นค่อยไป ช่วยให้การเน้นออกเสียงคำที่มีปัญหาทำได้ดีมากยิ่งขึ้น อแมนดาเริ่มสนใจกาพย์กลอน หลังจากได้ฟังกวีบทแรกที่ครูอ่านในชั้นเรียนตั้งแต่สมัยประถมฯ และด้วยความขัดสนเงินทองของครอบครัวในวัยเด็ก ทำให้เธอเลือกการเขียนหนังสือเป็นกิจกรรมยามว่าง เพราะใช้แค่ปากกากับกระดาษ ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแพงเหมือนกิจกรรมอื่น เช่น การเล่นดนตรี หรือทำงานศิลปะ ความเป็นหนอนหนังสือชอบเข้าห้องสมุดสาธารณะ และชอบอ่านงานเขียนเชิงประวัติศาสตร์ ทำให้เด็กสาวเชื้อสายแอฟริกัน-อเมริกันอย่างเธอเข้าใจการต่อสู้ของกลุ่มคนผู้ถูกกดขี่ทางเพศและทางเชื้อชาติได้เป็นอย่างดี   กวีอัจฉริยะ ปี 2014 อแมนดาฉายแววอัจฉริยะทางกาพย์กลอน ด้วยการถูกคัดเลือกให้เป็นกวีเยาวชนของนครลอสแองเจลิสคนแรกในประวัติศาสตร์ ขณะมีอายุเพียง 16 ปี จากนั้นอีก 3 ปีต่อมา เธอก้าวไปเป็นกวีเยาวชนแห่งชาติ ก่อนสำเร็จการศึกษาปริญญาตรีพร้อมเกียรตินิยมด้านสังคมวิทยาจากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด ในปี 2020 อแมนดาได้รับการติดต่อให้ร่วมอ่านบทกวีในพิธีสาบานตนของโจ ไบเดน เมื่อปลายเดือนธันวาคมปี 2020 หรือราว 1 เดือนก่อนวันงาน โดย จิล ไบเดน ภริยาของโจ ไบเดน คือแฟนบทกวีของเธอ และเป็นผู้เสนอให้ชวนเธอมาร่วมงาน สาวน้อยนักศึกษาฮาร์วาร์ดผู้นี้ยอมรับว่า การเขียนบทกวีสำหรับพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีไม่ใช่เรื่องง่าย แม้ทีมผู้จัดจะไม่ได้ให้โจทย์ยากมากมาย แค่ขอให้เนื้อหาเข้ากับธีมของงาน (America United) ที่เน้นความสามัคคีภายในชาติเท่านั้น เธอเริ่มใช้เวลาแต่งกวีบทนี้วันละไม่กี่ประโยค และเขียนมาได้แค่ครึ่งทางจนกระทั่งเกิดจลาจลที่รัฐสภาเมื่อวันที่ 6 มกราคม ก่อนพิธีสาบานตนไม่กี่วัน นั่นคือเหตุการณ์ที่จุดประกายให้เธอประพันธ์ The Hill We Climb จบได้อย่างรวดเร็ว “ในบทกวีของฉัน ไม่มีทางที่ฉันจะปิดบังซ่อนเร้นสิ่งที่เราเห็นในช่วง 2-3 สัปดาห์ที่ผ่านมา และฉันก็กล้าที่จะพูดถึงช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาด้วย” อแมนดากล่าว “สำหรับฉันแล้ว ความสามัคคีที่ปราศจากสำนึกเรื่องความยุติธรรม ความเท่าเทียมกัน และความเป็นธรรม มันก็เป็นแค่จิตวิทยาฝูงชนที่เป็นพิษ (toxic mob mentality) “ความสามัคคีที่จะขับเคลื่อนเราไปสู่อนาคตได้จริงหมายความว่า เราต้องยอมรับความแตกต่าง โอบอุ้มมันและเอนไปสู่ความหลากหลายนั้น ไม่ใช่การคล้องแขนกันโดยปราศจากคำถามว่าเราคล้องแขนกันไปเพื่ออะไร มันคือความสามัคคีที่มีวัตถุประสงค์”   เป้าหมายประธานาธิบดี “บทกวีเปรียบเหมือนเลนส์ที่เราใช้ทบทวนประวัติศาสตร์ตรงจุดที่เรายืน และคือจุดยืนเพื่ออนาคตของเรา” อแมนดาอธิบายเพิ่มเติมว่า บทกวีของเธอคืองานศิลปะที่ไม่ได้สะท้อนแต่เรื่องส่วนตัวของผู้ประพันธ์ แต่ยังบอกเล่าเรื่องราวในสังคม และให้ความหวังขับเคลื่อนสังคมไปสู่อนาคตที่ดีขึ้น “ทุกสิ่งที่คุณเขียน จงเขียนถึงบางสิ่งที่กล้าหาญพอในการให้ความหวัง จงเขียนถึงบางอย่างที่ยิ่งใหญ่กว่าตัวคุณเอง ฉันไม่คิดว่าจะสามารถเขียนบทกวีในพิธีสาบานตนของประธานาธิบดีได้ หากไม่ได้ใช้เวลาทุกวันในชีวิตราวกับว่าสิ่งนั้นคือจุดที่ฉันต้องการจะไปถึง” อแมนดายอมรับว่า เป้าหมายในชีวิตของเธอคือการลงสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ในปี 2036 หรือตอนมีอายุประมาณ 38 ปี โดยเธอมีทั้งนักการเมืองรุ่นใหญ่อย่าง ฮิลลารี คลินตัน อดีตสตรีหมายเลขหนึ่ง และแนนซี เปโรซี ประธานรัฐสภาสหรัฐฯ รวมถึง โอปราห์ วินฟรีย์ พิธีกรชื่อดังคอยเป็นทั้งพี่เลี้ยงและที่ปรึกษา หากวัดกระแสความดังหลังงานสาบานตนของไบเดน จบลง ชื่อเสียงความนิยมในตัวอแมนดา ดูเหมือนจะไม่มีทีท่าลดลงตาม สังเกตได้จากภาพเธอที่ปรากฏตามหน้านิตยสารชั้นนำต่าง ๆ และยังได้เป็นกวีคนแรกที่ขึ้นปกนิตยสารแฟชั่น Vogue อเมริกา (ฉบับพฤษภาคม 2021) อันโด่งดังด้วย นอกจากนี้ อแมนดายังได้เซ็นสัญญากับ IMG Models เอเจนซีผู้ดูแลภาพลักษณ์นางแบบและคนดังระดับโลกมากมาย ขณะเดียวกันก็เผยว่า ยังมีแบรนด์ชื่อดังอีกหลากหลายที่ติดต่อขอร่วมงานกับกวีดาวรุ่งเจน-ซี (Gen-Z) ดวงนี้   ไม่หลงชื่อเสียง อแมนดายืนยันว่า แม้จะมีงานเข้ามามากมายเพียงใด เธอยังคงยึดมั่นในอาชีพนักกวี และต้องการใช้ศิลปะชนิดนี้เป็นปากเสียงให้คนรุ่นเดียวกัน ตลอดจนผู้หญิง และคนผิวดำผู้ถูกกดขี่ทั่วโลก “ตัวตนของฉันไม่ใช่ร่างกาย แต่มันคือเสียงของฉัน” สาวน้อยผู้โด่งดังในชั่วข้ามคืนกล่าว “ฉันอยากบอกใครก็ตามที่พบว่าตนเองมีคนรู้จักและโด่งดังขึ้นมาอย่างรวดเร็ว จงมองไปที่ภาพใหญ่” “คุณต้องจำไว้เสมอว่า คุณต้องการอะไรและมาอยู่ตรงนี้เพื่ออะไร นั่นคือหนทางที่ไกลกว่าแค่ช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้น ฉันกำลังเรียนรู้ว่า ฉันไม่ใช่สายฟ้าที่ผ่าลงมาแค่ครั้งเดียว แต่เป็นพายุเฮอริเคนที่มาทุกปี และคุณสามารถคาดได้เลยว่าจะได้เจอหน้าฉันอีกในเร็ว ๆ นี้” นั่นคือคำพูดที่สะท้อนความมุ่งมั่นของกวีสาวตัวน้อยที่มีชื่อเสียงขึ้นมาอย่างรวดเร็ว แม้อดีตจะเติบโตมาในครอบครัวที่ขัดสน และร่างกายมีปัญหา แต่เธอก็ไม่ยอมแพ้แก่โชคชะตา และยืนยันเดินหน้าต่อสู้กับปัญหาเพื่ออนาคตของสังคม หากสังเกตให้ดี สิ่งที่อแมนดาแสดงออกมา เป็นคาแรกเตอร์สำคัญที่เห็นได้ชัดในเด็กยุคใหม่หลายคน เป็นคาแรกเตอร์ที่ไม่ต่างจากตัวแทนคนรุ่นใหม่อีกมากมายทั่วโลก ซึ่งยังคงเดินหน้าเคลื่อนไหวเรียกร้องสิ่งที่ดีกว่า แม้ชะตากรรมของพวกเขาอาจแตกต่างกันไป ไม่เหมือนกวีสาวผู้นี้ที่ชื่อ อแมนดา กอร์แมน ก็ตาม   ข้อมูลอ้างอิง: https://www.vogue.com/article/amanda-gorman-cover-may-2021 https://time.com/5933596/amanda-gorman-michelle-obama-interview/ https://www.nytimes.com/2021/01/19/books/amanda-gorman-inauguration-hill-we-climb.html https://people.com/style/amanda-gorman-lands-her-first-vogue-cover/