‘อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม’ เส้นทางและเหตุผลของชัยชนะบนเวที MUT 2020

‘อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม’ เส้นทางและเหตุผลของชัยชนะบนเวที MUT 2020
“การประกวดนางงามไม่เคยเป็นเรื่องในหัวของฉัน แต่ฉันก็พบว่าบทบาทของการประกวดนางงามเปลี่ยนไปตลอดหลายปีที่ผ่านมา มันไม่ได้เกี่ยวกับมงกุฎอีกแล้ว แต่เป็นเรื่องของการมีช่องทางการสื่อที่คุณสามารถใช้เพื่อสร้างแรงบันดาลใจและส่งต่อพลังให้แก่ผู้อื่น และเพื่อสนับสนุนในสิ่งที่ฉันเชื่อว่าสำคัญมาก ๆ นั่นคือเรื่องสุขภาพจิต” ประโยคหลังจากการแนะนำตัวในรอบออดิชันที่แสดงทัศนคติของ ‘อแมนด้า ชาลิสา ออบดัม’ สาวลูกครึ่งไทย-แคนาดา อายุ 27 ปี ดีกรีเกียรตินิยมอันดับหนึ่ง การจัดการและบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยโทรอนโต ประเทศแคนาดา เธอคือผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ประจำปี 2020 มาครองในค่ำคืนที่ผ่านมา และถือเป็นความหวังครั้งใหม่สำหรับการคว้า "มงสาม" ให้กับประเทศไทยบนเวทีมิสยูนิเวิร์ส  อันที่จริง อแมนด้าไม่ใช่หน้าใหม่ในวงการการประกวดนางงาม แต่เคยเป็นทั้งผู้แพ้และผู้ชนะ...และนี่คือเรื่องราวของเธอ จาก 10 คนสุดท้ายสู่ความท้าทายบนเวที MUT2020 อแมนด้าเริ่มเข้าสู่วงการการประกวดนางงามในปี 2015 กับผลงานผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายบนเวทีมิสไทยแลนด์เวิร์ลด เธอกลับมาอีกครั้งในปี 2016 ในนามของมิสแกรนด์ภูเก็ต และผ่านเข้ารอบ 10 คนสุดท้ายบนเวทีมิสแกรนด์ไทยแลนด์ ซึ่งต่อยอดให้เธอได้เป็นตัวแทนสาวไทยที่ไปคว้ามงกุฎของประกวด Miss Tourism Metropolitan International ที่ประเทศกัมพูชาในปีเดียวกัน หลังจากนั้นอแมนด้าก็ถูกพูดถึงอยู่บ้างในหมู่แฟน ๆ นางงามว่าอยากเห็นเธอบนเวทีระดับมิสยูนิเวิร์ส และ 4 ปีถัดมา เธอก็ปรากฏตัวอีกครั้งในการประกวดมิสยูเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ในฐานะตัวเต็ง ชื่อของอแมนด้าไม่เคยหลุดจากโพลใด ๆ เลยของเหล่าบรรดากูรูนางงาม อาจมีบ้างที่ตกอันดับเป็นนางรอง แต่ทุกคนรู้ว่ายังไง ๆ ดีกรีระดับอแมนด้าไม่น่าจะหลุดจาก 3 คนสุดท้ายแน่ ๆ แต่คงต้องยอมรับจริง ๆ ว่าการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ปีนี้มีเรื่องราวมากมายที่กลายเป็นกระแส เช่น การขยายเกณฑ์เรื่องอายุให้แก่ผู้สมัคร คำถามการเมืองและวัฒนธรรมสุดโหด คำตอบของนางงามที่วิพากษ์วิจารณ์ประเด็นสังคมอันจัดจ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกระแสของ ‘เฌอเอม’ ที่มาแรงจนเบียดกระแสของตัวเต็งคนอื่น ๆ จนเกือบจะเงียบกริบในการประกวดช่วงแรก แต่จุดจบในเส้นทางการประกวดของเฌอเอมกลับทำให้อแมนด้าเป็นที่พูดถึงไม่น้อยหลังกรณีดรามาแชทหลุด และนี่คือทัศนคติของเฌอเอมต่ออแมนด้าที่เธอพูดไว้ในรายการโหนกระแสเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ที่ผ่านมา “เพราะว่าเรา (เฌอเอม) กับเขา (อแมนด้า) มีอะไรที่คล้ายกัน แล้วอีกอย่างเขาเป็นคนที่หนูพยายามเทียบตัวเองตลอดเวลา คือแม้ว่าเราจะแข่งขัน เราอาจจะไม่ได้คิดว่าโอเคเราต้องได้ที่หนึ่ง แต่เราต้องแข่งให้มากที่สุด ทีนี้เราจะมีใครที่เป็นเหมือนจุดสูงสุด ที่เรารู้สึกว่าเราต้องขึ้นไปเทียบ มันก็เป็นอแมนด้า” ตลอดการแข่งขัน ผลงานของอแมนด้าในรอบต่าง ๆ ถือว่ารักษามาตรฐานที่คงเส้นคงวาในระดับตัวเต็งมาตลอด แต่ก็ใช่ว่าจะไม่มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพราะหลายคนมองว่าเธอดูไม่เป็นตัวของตัวเอง พยายามเลียนแบบลักษณะท่าทางการเดิน การพูด และบุคลิกภาพของ ‘แคททรีโอนา เกรย์’ (Catriona Gray) สาวงามจากประเทศฟิลิปปินส์ผู้คว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์สปี 2018 ซึ่งอาจทำให้อแมนด้าไม่น่าจะเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจหากจะไปประกวดมิสยูนิเวิร์สเพราะนางงามจักรวาลมีคนเดียว ไม่มีทางซ้ำกับใคร ผนวกกับช่วงท้ายของการประกวดที่ผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ โดยเฉพาะ ‘วีณา ปวีณา ซิงค์’ และ ‘พรฟ้า ปุณิกา กุลสุนทรรัตน์’ ที่ปล่อยของเต็มที่จนอาจเรียกได้ว่าถอดวิญญาณสู้เลยทีเดียว มาตรฐานความคงเส้นคงวาที่ไม่เคยทำให้รู้สึกว้าว แต่ก็ติเสียมิได้ของอแมนด้าจึงน่าเป็นห่วงอยู่พอสมควรในช่วงก่อนวันประกวดจริงและชวนให้ลังเลว่าเธอต้านทานพลังของ ‘วีณา’ และ ‘พรฟ้า’ อยู่หรือไม่  จนโค้งสุดท้ายกูรูหลายคนถอดชื่อเธอจากตัวเต็งอันดับหนึ่งในคืนหมาหอน (คืนก่อนวันประกวด) แต่ใครจะรู้ว่าความคงเส้นคงวานี่แหละที่จะทำให้อแมนด้าคว้ามง เมื่อ ‘ดีที่สุด’ ไม่ใช่เหตุผลของคนชนะ ‘อแมนด้า’ ‘วีณา’ และ ‘พรฟ้า’ เป็นรายชื่อผู้เข้ารอบ 3 คนสุดท้ายที่ไม่ได้พลิกโพลแม้แต่น้อย กูรูนางงามหลายคนมองว่า 1 ใน 3 คนนี้ เป็นใครก็ได้ที่สามารถหยิบมงกุฎและเป็นตัวแทนสาวไทยในเวทีมิสยูนิเวิร์ส แต่คำถามในรอบ 3 คนสุดท้ายนั้นก็ได้พิสูจน์แล้วว่าความเชื่อเช่นนั้นเป็นเรื่องไม่จริง “ภาพของวัดอรุณราชวรารามฯ มักได้รับการนำเสนอสู่สายตาชาวโลก เป็นสัญลักษณ์สื่อถึงประเทศไทย หากคุณได้เป็นมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์คนใหม่ คุณจะสื่อความเป็น iconic ของตัวคุณในฐานะตัวแทนประเทศไทยให้ผู้อื่นรับรู้ได้อย่างไร” คำถามลักษณะนี้มองผิวเผินดูเป็นเรื่องเข้าใจได้เพราะเป็นไปตามหลักการของของเวทีการประกวดความงามแบบไทย แต่มันก็ดูจะผิดฝาผิดตัวในบริบทที่สังคมโลก หรือแม้แต่เวทีมิสยูนิเวิร์สที่พยายามผลักดันเรื่องความเป็นพลเมืองโลกเพื่อลดอคติที่ติดมากับความแตกต่างและเชิดชูการเคารพซึ่งความหลากหลาย แต่คำถามนางงามรอบสุดท้ายบนเวทีมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์กลับยังวนเวียนอยู่ในวังวนที่ไม่หลุดพ้นจากการนำความเป็นไทยแบบขนบนิยมมาผลิตซ้ำ “ถ้าฉันได้เป็นตัวแทนของประเทศไทย ฉันจะแสดงให้ทุกคนเห็นถึงตัวตนของฉัน เพราะฉันถูกวิจารณ์มาตลอดว่าเป็นลูกครึ่ง ไทย-แคนาดา แต่สิ่งที่ฉันจะพูดในวันนี้คือฉันเป็นคนไทย ฉันเกิดจากแม่ผู้ที่เป็นคนไทย ซึ่งฉันก็ควรถูกนับว่าเป็นคนไทย ฉันจึงอยากแสดงให้ทุกคนเห็นถึงตัวตนทั้งหมดของฉัน ความเป็นไทยของฉัน เพราะฉันเป็นคนไทย ขอบคุณค่ะ” นี่คือคำตอบของผู้ชนะที่อาจชวนให้เรากังขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวางมันบนบริบทของเวทีมิสยูนิเวิร์สแล้วยิ่งไปกันใหญ่ เพราะการต่อสู้เพื่อการเรียกร้องความเคารพต่อความแตกต่างหลากหลายนั่นยืนยันว่าชาติพันธุ์ไม่อาจเป็นความชอบธรรมของตัวตนในฐานะตัวแทนประเทศชาติได้อีกแล้ว กลับกัน เพราะชาติพันธุ์ต่างหากที่ก่อปัญหาเรื่องในระดับอคติว่าด้วยความเหลื่อมล้ำไปจนกระทั่งถึงเรื่องการไร้ถิ่นฐานของชนกลุ่มน้อยที่เป็นปัญหาระดับโลก แต่เหตุใดคำตอบนี้จึงอยู่ในระดับที่ยอมรับได้มากกว่าเนื้อความของคำตอบของ 'พรฟ้า' (ซึ่งเห็นได้ชัดเจน) และโดยเฉพาะอย่างยิ่งคำตอบของ 'วีณา' ที่เป็นประเด็นในสังคมอยู่ไม่น้อย ย้อนกลับไปสู่จุดเริ่มต้นของการประกวด 'วีณา' มาพร้อมกับการนำเสนอโครงการ 'Be an Ally, Not a Bully' ที่รณรงค์ต่อสู้เพื่อลดการบูลลีของคนในสังคม โดยมีแรงผลักดันจากประสบการณ์ตรงของเธอที่เคยถูกเหยียดว่าเธอไม่อาจเป็นตัวแทนผู้หญิงไทยได้เนื่องจากมีหน้าตาแบบแขกและเชื้อชาติอินเดีย แต่ความพยายามของเธอจะนำพาสังคมไปสู่ความเป็นไทยที่แตกต่างหลากหลายทั้งทางชาติพันธุ์และความเชื่อกลับสวนทางกับคำตอบที่ว่าด้วยความเป็นไทยและสามเสาหลักของชาติที่เป็นนิยามของชาตินิยมอันไปคนละทางต่อหลักการพื้นฐานของโครงการของเธออย่างไม่อาจปฏิเสธได้ มีเรื่องให้ชวนคิดว่าหากนี่เป็นการประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์เมื่อ 3-4 ปีก่อน อแมนด้าคงไปยืนเป็นนางรอง และวีณาคงครองมงกุฎไปอย่างสบาย ๆ แต่ในยุคนี้ พ.ศ. นี้ที่คุณค่าและจารีตนิยมแบบเก่ากำลังถูกตั้งคำถามในสังคมไทย กับคลื่นของกระแสคนรุ่นใหม่ที่ตั้งคำถามต่อความถูกต้องของผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้านเมือง นักเรียน-นักศึกษา ตั้งคำถามกับกฏเกณฑ์ของโรงเรียนและสถานศึกษา LGBTQ+ ถามถึงความชอบธรรมขอตัวเองในพื้นที่ทางเพศของสังคม การจะโยนมงกุฎให้แก่ความเชื่อที่ทัดทานต่อกระแสกาลเวลาแห่งอนาคตในบริบทสังคมไทยจึงถือเป็นเรื่องยากเกินไปสำหรับกองประกวดมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ที่จะเกิดขึ้นได้ในปีนี้ ดังนั้น คำตอบของอแมนด้าที่ไม่ได้ ‘ดีที่สุด’ แต่ ‘เบากว่า’ ไม่ได้ ‘หวือหวาที่สุด’ แต่ ‘ปลอดภัยกว่า’ จึงพาเธอสู่ตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สไทยแลนด์ 2020 ซึ่งในแง่หนึ่งเราอาจมองได้ว่าเป็นข้อบ่งชี้ถึงความเปลี่ยนแปลงของการการประกวดนางงามในบ้านเรา การตอบคำถามแบบเดิม ๆ ในกระแสสังคมแบบใหม่อาจจะใช้ไม่ได้อีกต่อไปแล้ว นี่อาจเป็นเรื่องการเมืองเรื่องความงามเล็ก ๆ ในท่ามกลางกระแสความเปลี่ยนแปลงมากมาย แต่ก็เป็นจุดเปลี่ยนที่ร่วมยืนยันอีกเสียงว่าความเชื่อเดิม ๆ ที่ในช่วงชีวิตไม่คิดว่าจะเปลี่ยนแปลงได้ก็เปลี่ยนไปแล้ว เมื่อพูดถึงโอกาสของอแมนด้าในเวทีมิสยูนิเวิร์ส เราปฏิเสธได้ยากว่าอแมนด้าเป็นตัวเลือกที่น่าสนใจไม่น้อยสำหรับโอกาสที่จะคว้ามงกุฎนางงามจักรวาลที่ 3 ของประเทศไทย ทั้งรูปร่างหน้าตา ทักษะการเดิน การนำเสนอตัวตน คงเป็นผู้เข้าประกวดที่น่าสนใจไม่น้อยในเวทีมิสยูนิเวิร์สที่จะจัดขึ้นในต้นปีหน้า แต่หลายครั้งการตอบคำถามในหลาย ๆ รอบของอแมนด้าก็ยังคงสร้างข้อกังขาในใจถึงความพร้อมของเธอของฐานะตัวแทนประเทศไทยบนเวทีที่การแสดงทัศนคติเป็นเรื่องจำเป็นมาก ๆ และจากมาตรฐานปีที่แล้วที่เราก็เห็นชัดว่าสาวงามจากหลาย ๆ ประเทศที่ทักษะการพูดในระดับที่ไลฟ์โค้ชยังชิดซ้าย รอจะแผลงอิทธิฤทธิ์และพร้อมขยี้ผู้เข้าประกวดคนอื่น ๆ เมื่อเสียงสัญญาณการตอบคำถามที่มีเวลาจำกัดเพียง 30 วินาทีดังขึ้น และนี่จะเป็นอีกครั้งหรือไม่ ที่นางงามไทยต้องหยุดที่รอบจับไมค์?… เรื่อง: ณัฐ วิไลลักษณ์ ที่มาภาพ: เพจ Miss Universe Thailand