อมาตยา เซน อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ใช่ของนำเข้าจากตะวันตก

อมาตยา เซน อุดมการณ์ประชาธิปไตยไม่ใช่ของนำเข้าจากตะวันตก
ข้ออ้างสำคัญข้อหนึ่งในการปฏิเสธ "ประชาธิปไตย" ของเผด็จการในโลกตะวันออกส่วนใหญ่ก็คือ ประชาธิปไตยมันเป็นสิ่งแปลกปลอม เป็นของนำเข้าจาก "ตะวันตก" ไม่ได้เหมาะกับสังคมบ้านตนเอง ถ้าจะเอามาใช้ก็ต้องปรับปรุงดัดแปลงให้เป็นแบบเฉพาะ เช่น ประชาธิปไตยแบบ "ไทย ๆ" เป็นต้น อย่างไรก็ดี ข้ออ้างนี้ อมาตยา เซน (Amarty Sen - บ้างสะกดเป็นภาษาไทยว่า อมรรตยะ เสน) นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล และนักทฤษฎีทางสังคมชาวอินเดียไม่เห็นด้วย เพราะหลักฐานทางประวัติศาสตร์ชี้ว่า พัฒนาการความคิดด้านประชาธิปไตยนั้นเกิดขึ้นในโลกตะวันออกไม่น้อยไปกว่าตะวันตกเลย "ประชาธิปไตยมักจะถูกมองว่าเป็นหัวใจของความคิดแบบตะวันตก และเป็นสิ่งแปลกปลอมในโลกที่อยู่นอกกรอบตะวันตก การแปลงนัยยะทางวัฒนธรรมให้ฟังดูง่าย ๆ แบบนี้ยิ่งได้รับการหนุนนำยิ่งขึ้นในระยะหลังเนื่องจากความยากลำบากในการจัดตั้งรัฐบาลภายใต้ระบอบประชาธิปไตยในอิรักที่กลุ่มประเทศซึ่งนำโดยสหรัฐฯ กำลังเผชิญอยู่ "อย่างไรก็ดี เมื่อการกล่าวโทษปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการแทรกแซงในอิรักไม่ได้ถูกวางไปที่การแทรกแซงทางทหารอันเกิดมาจากการตัดสินใจที่เร่งรีบบนข้อมูลที่ผิดพลาดและขาดการครุ่นคิด แต่กลับไปอ้างเรื่องมโนว่าประชาธิปไตยไม่เหมาะกับอิรัก หรือตะวันออกกลาง หรือวัฒนธรรมอื่นนอกตะวันตก ตรงนี้ทำให้ความจริงพร่ามัว และผมต้องขอค้านว่ามันเป็นวิธีการที่ผิดโดยสิ้นเชิงในการเข้าใจปัญหาที่เรากำลังเผชิญหน้าในปัจจุบันทั้งในตะวันออกกลาง หรือที่ใดก็ตาม" เซนกล่าว (จากหนังสือของเขาเองเรื่อง Identity & Violence) เซนกล่าวว่า ทฤษฎีทางประชาธิปไตยและการใช้เหตุผลสาธารณะในปัจจุบันนั้น ต้องยอมรับว่าได้รับอิทธิพลเป็นอย่างสูงจากการวิเคราะห์และประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในยุโรปและอเมริกาในช่วงระยะเวลาไม่กี่ศตวรรษที่ผ่านมา โดยเฉพาะในยุคแสงสว่างทางปัญญาในยุโรป แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในระยะใกล้เกินกว่าที่จะบอกว่ามันคือหัวใจของตะวันตก และเป็นปัจจัยสำคัญในการแบ่งแยกความคิดของโลกตะวันตกและโลกนอกตะวันตก นอกจากนี้ยังมีการอ้างว่า ตะวันตกคือผู้สืบทอดอารยธรรมกรีกโบราณ โดยเฉพาะเอเธนส์ ที่ถือกันว่าเป็นต้นกำเนิดแห่งประชาธิปไตยด้วยมีหลักฐานถึงการลงคะแนนเลือกตั้งเป็นครั้งแรก ๆ ของโลก แต่เซนมองว่าข้ออ้างเช่นนี้ออกจะประหลาดและสับสน เพราะคนที่อ้างเช่นนี้ไม่ลังเลเลยที่จะยกให้ผู้สืบเชื้อสายชนชาวกอท (Goth - ชนเผ่าเยอรมันจากตอนใต้ของสแกนดิเนเวีย) หรือวิซิกอท (Visigoth - สาขาหนึ่งของชาวกอทที่เคยตั้งหลักทำเกษตรอยู่แถวโรมาเนียก่อนอพยพลงใต้ไปสร้างอาณาจักรอยู่แถว ๆ ตอนใต้ของฝรั่งเศสและสเปนในปัจจุบัน) ซึ่งแทบไม่มีปฏิสัมพันธ์ใด ๆ กับวัฒนธรรมกรีกโบราณ เป็นผู้สืบทอดจารีตและวัฒนธรรมกรีกโบราณที่เหมาะสม ขณะเดียวกันคนที่ยกว่าประชาธิปไตยคือตะวันตกกลับลังเลที่จะกล่าวถึงความเชื่อมโยงทางปัญญาระหว่างกรีกกับอารยธรรมโบราณอื่น ๆ ที่อยู่ทางด้านตะวันออกหรือใต้ของกรีกไม่ว่าจะเป็นอียิปต์ อิหร่านหรืออินเดีย ทั้ง ๆ ที่ชาวกรีกโบราณเองให้ความสนใจในกลุ่มอารยธรรมเหล่านี้เป็นอย่างมาก ข้อบกพร่องในเหตุผลลำดับต่อมาก็คือ แม้เอเธนส์จะเป็นผู้พัฒนาระบบการเลือกตั้งขึ้นมาและเป็นแบบอย่างให้กับการปกครองในท้องถิ่นใกล้เคียง แต่มันก็แทบไม่มีอิทธิพลใด ๆ ในระยะเดียวกันกับกลุ่มวัฒนธรรมอื่น ๆ ที่อยู่ไปทางตะวันตกของกรีซหรือโรม ซึ่งก็หมายถึงอาณาจักรที่ตั้งอยู่ในฝรั่งเศส เยอรมนี หรืออังกฤษในปัจจุบัน กลับกันอาณาจักรร่วมสมัยกับกรีกโบราณในฝั่งตะวันออก เช่นในอิหร่าน แบกเตรีย (Bactria) และอินเดียต่างก็รับเอาองค์ความรู้ด้านประชาธิปไตยแบบเอเธนส์มาใช้ในการปกครองระดับท้องถิ่น เช่นในเมืองซูซา (Susa) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอิหร่านที่มีคณะที่ปรึกษาที่มาจากการเลือกตั้ง มีสภาประชาชน และคณะลูกขุนที่มาจากการเสนอชื่อของคณะที่ปรึกษาและให้สภาประชาชนเป็นผู้ลงคะแนนคัดเลือกอีกที นอกจากนี้ ประชาธิปไตยก็ไม่ใช่แค่การเลือกตั้ง (อันนี้คุ้น ๆ มั้ย?) หากยังมีเรื่องของการตรวจสอบไตร่ตรองจากสาธารณะ และการอภิปรายโต้แย้งกันด้วยเหตุผล ซึ่งในข้อนี้แม้จะเป็นสิ่งที่เจริญงอกงามอยู่ในกรีกโบราณ แต่มันก็ไม่ได้เป็นลักษณะเฉพาะของวัฒนธรรมกรีกเท่านั้น ในวัฒนธรรมโบราณที่อื่น ๆ เขาก็มีเหมือนกัน ตัวอย่างหนึ่งก็คือ สภาสงฆ์ในศาสนาพุทธซึ่งเป็นที่ประชุมสำหรับตัดสินข้อขัดแย้งทางความคิดในคำสอนของพระพุทธองค์ที่มีมาในระยะเวลาใกล้ ๆ กัน ธรรมนูญการปกครอง 17 ข้อของญี่ปุ่นซึ่งมีมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 (ค.ศ. 604) ก็มีการกำหนดเอาไว้ว่า การตัดสินใจในกิจการสำคัญต่าง ๆ ไม่อาจกระทำได้โดยคนคนเดียว แต่ต้องผ่านการปรึกษาของคณะบุคคล ซึ่งข้อกำหนดนี้เก่าแก่กว่า "กฎบัตรแมกนา คาร์ตา" ของอังกฤษถึงกว่าหกศตวรรษ และการต่อสู้เพื่อความเสมอภาคและประชาธิปไตยของเนลสัน แมนเดลา (ประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของแอฟริกาใต้ผู้ต่อสู้ให้ยุตินโยบายแบ่งแยกสีผิว) ก็ไม่ได้มีแรงผลักดันมาจากแนวคิดแบบตะวันตก หากแต่เป็นสภาชาวบ้านในแอฟริกาที่เขาคุ้นตามาตั้งแต่เด็ก ๆ ดังที่เขาบรรยายบรรยากาศในที่ประชุมเอาไว้ในอัตชีวประวัติของเขาว่า "ทุกคนที่อยากพูดต่างได้พูด นี่คือประชาธิปไตยในรูปแบบที่บริสุทธิ์ที่สุด แม้ว่ามันจะมีลำดับศักดิ์ที่ต่างกันระหว่างผู้พูดแต่ละคน แต่ทุกความต่างได้การรับฟังไม่ว่าจะเป็นหัวหน้าเผ่า ลูกเผ่า นักรบ หมอยา แม่ค้า ไปจนถึงชาวนา เจ้าที่ดินและแรงงาน" ด้วยเหตุนี้จึงกล่าวได้ว่า "ประชาธิปไตยเป็นของตะวันตก" เป็นคำกล่าวที่เหนือจริง เพราะชุมชนร่วมสมัยที่อยู่ตะวันตกไปจากอารยธรรมกรีกที่ได้ชื่อว่าเป็นต้นแบบประชาธิปไตยนั้นมิได้รับสืบทอดทฤษฎีหรือประสบการณ์จากชาวกรีกแต่ประการใด เพราะบรรพบุรุษของพวกเขามีปฏิสัมพันธ์ค่อนข้างน้อยกับอารยธรรมกรีก กลับเป็นอารยธรรมโบราณทางใต้และตะวันออกของกรีกที่ผสมผสานองค์ความรู้ประชาธิปไตยเอาไว้ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เมื่อโลกตะวันตกเข้าสู่ยุคแสงสว่างทางปัญญาพวกเขาจึงได้ไปรื้อค้นปรัชญากรีกมาปรับใช้ในภายหลัง และมีส่วนอย่างมากในการพัฒนารูปแบบและองค์กรการปกครองแบบประชาธิปไตยสมัยใหม่ขึ้นมา และด้วยทฤษฎีทางประชาธิปไตยเป็นทฤษฎีที่สอดคล้องกับธรรมชาติของมนุษย์ที่รู้จักใช้เหตุผลและการเทียบเคียง การประชุมและอภิปรายของผู้มีส่วนได้ส่วนเสียซึ่งเป็นหัวใจหนึ่งของประชาธิปไตย (ที่ไม่ได้มีแต่การเลือกตั้ง) จึงเป็นสิ่งที่พบเห็นได้ตั้งแต่ชุมชนระดับพื้นฐานที่ยังไม่ถูกครอบงำด้วยเรื่องเล่าปาฏิหาริย์ของผู้มีบุญญาธิการ ไปจนถึงสังคมที่มีความสลับซับซ้อน ซึ่งยิ่งจำเป็นที่สังคมจะต้องรู้จักใช้เหตุผลในการแก้ไขความขัดแย้ง แทนที่จะใช้อำนาจที่อิงกับตำนานปรัมปราที่ขาดเหตุผลรองรับ ประชาธิปไตยจึงเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากลักษณะร่วมกันของมนุษย์ที่รู้จักใช้เหตุผลและรักความเป็นธรรม ไม่ใช่สิ่งที่เป็นของชนชาติไหนโดยเฉพาะ