Flee: บาดแผลเก่าที่ถูกเล่าใหม่ของผู้ลี้ภัย

Flee: บาดแผลเก่าที่ถูกเล่าใหม่ของผู้ลี้ภัย
***บทความนี้มีการเปิดเผยเนื้อหาบางส่วนของภาพยนตร์สารคดี Flee*** “สำหรับผม บ้านคือที่ที่ปลอดภัย  ที่ที่เรารู้ว่าเราจะอยู่ได้ และไม่ต้องหนีไปไหนอีกแล้ว…”  คือคำนิยามจากปากของชายผู้สูญเสียบ้านให้สงครามตั้งแต่ยังเด็ก บ้านของครอบครัวที่เคยอยู่กันพร้อมหน้า แต่ครอบครัวต้องพลัดพรากจากกัน และไม่เคยมีที่อยู่เป็นหลักแหล่งจนโตขึ้น  Flee เป็นภาพยนตร์สารคดีสัญชาติเดนมาร์กที่คว้ารางวัลทั้งด้านภาพยนตร์ สารคดี และแอนิเมชันมาหลายสถาบัน จุดเด่นคือการเลือกใช้แอนิเมชันลายเส้นสวยงามและเร้าอารมณ์มาดำเนินเรื่องราว สลับกับภาพข่าวจริงเป็นระยะ Flee ถูกบอกเล่าผ่านปากของ อามิน นาวาบิ (Amin Nawabi) ผู้หนีภัยสงครามจากอัฟกานิสถาน ซึ่งปัจจุบันกำลังตามหาบ้านเพื่อลงหลักปักฐานกับ แคสเปอร์ คู่หมั้นหนุ่มในเดนมาร์ก แต่บาดแผลในจิตใจและอดีตที่ตามมาหลอกหลอนทำให้เขาไม่สามารถเปิดใจบอกเล่าเรื่องราวของตนได้ แม้แต่กับคนรักที่พร้อมยอมรับเขาทุกอย่างก็ตาม ความหวาดวิตกเหล่านั้นเกาะกุมหัวใจของเขาไปหมด อามินไม่สามารถตัดสินใจได้ว่าที่ไหนคือ ‘บ้าน’ ที่เขาต้องการ  แล้วเขาจะถักทออนาคตที่สดใสจากอดีตอันแสนเจ็บปวดได้อย่างไร?  “เมื่อเราต้องหนีมาทั้งชีวิต มันยากเหลือเกินที่จะเรียนรู้ให้กล้าเชื่อใจใคร” ผู้กำกับ โยนาส โพเฮอร์ ราสมุสเซน (Jonas Poher Rasmussen) นำเอา ‘ผู้ลี้ภัย’ ตัวจริงมานั่งคุยกันในรูปแบบ ‘เพื่อนนั่งเล่า’ ทำให้เราสามารถเข้าถึงความเป็นปัจเจก เบื้องหลังชีวิต และประสบการณ์ที่ไม่เหมือนใครของบุคคลหนึ่งที่มักถูกเรียกอย่างรวม ๆ ว่า ‘ผู้ลี้ภัย’ อามินและผู้กำกับเคยเป็นเพื่อนร่วมชั้นเรียนกันมาก่อน เสียงลือเสียงเล่าอ้างเกี่ยวกับพื้นเพของเขาเป็นเหมือนตำนานลึกลับที่ไม่มีใครรู้ว่าจริงหรือเปล่า และนี่เป็นตัวจุดประกายให้เกิดภาพยนตร์สารคดีชิ้นนี้ “ผู้ลี้ภัยถูกกล่าวถึงในแง่ว่าพวกเขาต้องการอะไรอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยถูกเล่าถึงความปัจเจกอันซับซ้อนเหมือนพวกเราทุกคน นี่คือเรื่องราวของผู้ลี้ภัยที่บอกเล่าจากมิตรภาพ และสำหรับผม อามินเป็นผู้ลี้ภัยจริง แต่เขามีอะไรกว่านั้นมาก และผมหวังว่าจะบอกเล่าแง่มุมอื่นของผู้ลี้ภัยให้ได้” โยนาสกล่าว การเป็น ‘ผู้ลี้ภัย’ ไม่ใช่อัตลักษณ์ หากแต่เป็นสถานการณ์ชี้เป็นชี้ตายที่มนุษย์คนหนึ่งต้องเผชิญและหนีไปหาความหวังอันริบหรี่ที่จะเริ่มชีวิตใหม่ท่ามกลางสถานการณ์อันสิ้นหวัง เรื่องราวทั้งหมดดำเนินจากคำบอกเล่าที่ถักทอโดยอามิน แม้จะมีความขัดแย้งกันเองจนคนฟังอาจสงสัย แต่สุดท้ายการเปิดเผยความจริงออกทีละนิดของเขาจะคลี่คลายทุกอย่างออกมา  เราได้รู้พื้นเพชีวิตและวัยเด็กของเขาในอัฟกานิสถานแบบที่น้อยคนนักจะเคยได้ยิน แต่ในขณะเดียวกันก็ยังสะท้อนความเหมือนกับเด็กทั่วโลกที่เติบโตในช่วงทศวรรษ 1980 เช่นกัน แม้ว่าอัฟกานิสถานในยุคนั้นจะอยู่ในสภาวะสงครามอันยืดเยื้อมาหลายปีก็ตาม อัฟกานิสถานในเวลานั้นถูกปกครองโดยรัฐบาลคอมมิวนิสต์ที่มีสหภาพโซเวียตหนุนหลัง แต่ก็เกิดสงครามระหว่างรัฐบาลกับกลุ่มนักรบมูจาฮิดีน (Majuhideen) ที่ยึดครองพื้นที่ห่างไกลตามภูเขาและชนบท และยังได้รับการสนับสนุนโดยสหรัฐอเมริกาและพันธมิตรเพื่อต่อต้านอิทธิพลของโซเวียตในอัฟกานิสถาน  ชีวิตวัยเด็กในกรุงคาบูลของอามินเต็มไปด้วยสีสัน ที่บ้านหลังนั้นยังมีพี่น้องทั้ง 4 ของเขาและแม่ในวัยสีผมดอกเลา ชีวิตของครอบครัวนับว่าสงบสุข แต่ในวันหนึ่งพ่อของเขาก็ถูกรัฐบาลจับกุมตัวไปและไม่ได้กลับมาอีกเลย ในขณะเดียวกันตัวตนทางเพศของอามินก็ค่อย ๆ คลายปมออก ดาราฮอลลีวูดกล้ามใหญ่คือภาพที่เขาพาตัวเองล่องลอยเข้าสู่จินตนาการ และฌอง-คล็อด แวนแดมม์ คือผู้ชายที่ทำให้เขารู้ตัวว่าเป็นเกย์ แต่การเป็นคนรักร่วมเพศในสังคมอัฟกันเป็นเรื่องที่เกินจินตนาการของคนทั่วไป แม้แต่คำที่ใช้อธิบายตัวตนของเขายังไม่มีในคลังศัพท์เลยด้วยซ้ำ  เมื่อสงครามคืบคลานมาใกล้กรุงคาบูลเรื่อย ๆ รัฐบาลเริ่มเกณฑ์เด็กหนุ่มอัฟกันไปรบ ครอบครัวอามินจึงตัดสินใจย้ายหนีออกจากบ้านแล้วบินไปรัสเซียก่อนกลุ่มมูจาฮิดีนจะบุกเมืองหลวงสำเร็จ ภาพของบ้านที่เคยเต็มไปด้วยแสงอันอบอุ่นและเสียงครอบครัว บัดนี้กลับกลายเป็นบ้านร้างไร้ชีวิตชีวาที่ยังคงตามหลอกหลอนชายหนุ่มตลอดมา รัสเซียยุคหลังคอมมิวนิสต์ล่มสลายเต็มไปด้วยการคอร์รัปชัน วิกฤตเศรษฐกิจ และแก๊งอาชญากรรมผุดขึ้นมากมาย กฎหมายไม่อาจคุ้มครองใครได้ ครอบครัวอามินต้องอาศัยอยู่อย่างหวาดกลัว เจ้าหน้าที่ตำรวจในรัสเซียก็ไม่ต่างอะไรกับมาเฟียในนามกฎหมาย คอยรีดไถและเรียกร้องสินบน บีบให้ทั้งครอบครัวต้องขลุกตัวอยู่แต่ในห้อง  แต่ยังโชคดีที่ครอบครัวอามินมีพี่ชายคนโตที่ลี้ภัยไปสวีเดนนานแล้ว และพี่คนนี้ก็เป็นคนพยายามส่งเงินและจัดหากลุ่มค้ามนุษย์เพื่อลักลอบพาครอบครัวมายังสวีเดนครั้งแล้วครั้งเล่า  “พี่ชายของผมเคยมีแฟนชาวฟินแลนด์ที่คบกันมา 10 ปี เธออยากมีครอบครัวกับเขา แต่การต้องหาเงินมาช่วยพวกเราทำให้เขาไม่อาจเก็บเงินได้ เธอจึงจากเขาไป” ทำให้เราเข้าใจว่าพี่ชายคนโตของบ้านต้องสูญเสียอะไรไปบ้างเพื่อให้ครอบครัวได้มาอยู่พร้อมหน้ากัน ตลอดเวลาที่อามินเล่าประสบการณ์ของครอบครัวกับพวกค้ามนุษย์ในรัสเซีย คำว่า ‘พวกเลวระยำ’ ‘สารเลว’ หรือ ‘ผมเกลียดพวกมัน’ เป็นสิ่งที่หลุดออกมาจากปากเขาบ่อย ๆ คนเหล่านี้คือตัวแทนของความละโมบและเห็นแก่ตัวของมนุษย์บางส่วนที่สามารถผุดขึ้นมาได้เมื่อโลกเข้าสู่วิกฤตการณ์ พี่สาวของเขาถูกพวกค้ามนุษย์จับใส่คอนเทนเนอร์ขนส่งไปสวีเดน ผู้ลี้ภัยอีกหลายคนถูกยัดไปในตู้เดียวกันอยู่หลายวันท่ามกลางความมืดสนิทและเสียงโคลงเคลงของเรือบวกกับคลื่นยักษ์ที่โถมซัดอยู่หลายวัน กว่าจะมีคนมาพบ พวกเขาก็แทบจะเอาชีวิตไม่รอด  พี่ชายคนรองพยายามเก็บเงินก้อนใหญ่ให้พวกค้ามนุษย์ส่งตัวอามินไปสวีเดน ระหว่างการเดินทาง อามินยังได้พบเรื่องราวน่าประทับใจเล็กน้อยจากผู้ลี้ภัยร่วมทางอีกคน ซึ่งเป็นเด็กชายรุ่นใกล้เคียงกัน อามินยังสารภาพว่าเขาแอบชอบเพื่อนร่วมทางคนนี้และมีความสุขมากระหว่างร่วมทางกัน แต่เมื่อถึงเวลาต้องขึ้นเครื่องบิน นายหน้าค้ามนุษย์ก็ยื่นตั๋วเครื่องบินไปเดนมาร์กให้เขา และยื่นตั๋วไปยังสวิตเซอร์แลนด์ให้เพื่อนร่วมทาง ทั้งคู่ไม่มีทางเลือก และต้องอำลากันด้วยดีโดยที่ยังไม่รู้ชื่อกันด้วยซ้ำ อามินยื่นเรื่องขอลี้ภัยในเดนมาร์กโดยเล่าประวัติตามที่นายหน้าค้ามนุษย์กำชับ เขาจำใจต้องโกหกว่าครอบครัวทั้งหมดถูกพวกตาลีบันฆ่าตายหมด เหลือเพียงเขาคนเดียว เรื่องนี้ทำให้เขาได้รับสถานะผู้ลี้ภัย  “ผมร้องไห้ไม่หยุด ผมแปลกใจมากว่าทำไมตัวเองถึงร้องไห้กับเรื่องที่ไม่เคยเกิดขึ้นจริง”  แต่ในอีกด้าน มันเหมือนเป็นดาบสองคมที่จะย้อนกลับมาทำร้ายอามินได้ทุกเมื่อ แฟนเก่าคนหนึ่งยังเคยขู่ว่าจะฟ้อง ตม. เรื่องที่เขาโกหกหลังเลิกรากัน และความสัมพันธ์ครั้งนั้นทำให้เขาไม่กล้าเปิดเผยความจริงกับใครอีกจนกระทั่งได้มาเปิดอกเปิดใจใน Flee  อีกมุมหนึ่งคือตัวตนทางเพศของอามินที่ต้องคอยปกปิดสังคมรอบข้างมาตลอด แม้แต่ครอบครัว แต่เมื่อได้กลับไปรวมตัวกับครอบครัว เขาจึงเปิดเผยออกมาในที่สุดว่าเป็นเกย์ สุดท้ายความกลัวที่เขาเก็บมาตลอดชีวิตถูกพังทลายลง เมื่อครอบครัวต่างแสดงความรักความเข้าใจ และโอบรับอามินในแบบที่เขาเป็น หลังพยายามเปิดประตูหัวใจและปล่อยความทรงจำเลวร้ายในอดีตออกมาให้ทุกคนฟัง เขาก็พร้อมที่จะตัดสินใจเลือกบ้านหลังใหม่กับแคสเปอร์ ที่แห่งนี้จะกลายเป็นบ้านที่เขารู้สึกปลอดภัย และไม่ต้องหนีไปที่ไหนอีกแล้ว  บางทีเรื่องเล่านี้อาจไม่ได้ชวนเราตั้งคำถามกับที่มาที่ไปของผู้ลี้ภัย แต่สารคดีอาจกำลังถามว่า เราในฐานะผู้ชม (หรือ bystander ในสถานการณ์จริง) จะทำให้อามินหรือผู้ลี้ภัยที่เคยพบเจออะไรคล้ายเขา รู้สึกวางใจที่จะเปิดเผยตัวตนให้กับพวกเราได้หรือไม่   ภาพ: Imdb / Wikimedia    อ้างอิง: https://www.kcrw.com/news/shows/press-play-with-madeleine-brand/congress-extremism-afghan-flee-sports/jonas-poher-rasmussen-amin-nawabi