Post on 10/06/2022
อัมมะ แคนทีน: โรงอาหารของ ‘แม่’ เสิร์ฟอาหารให้ชาวอินเดียได้อิ่มท้อง พร้อมขจัดความยากจนผ่านมื้ออาหาร

“เราแค่สงสัยว่าคนจน ๆ อย่างเราจะมีสิทธิ์กินข้าวครบสามมื้อเหมือนคนชนชั้นอื่นได้บ้างไหม?”
“ขอแค่มีอาหารให้เราพอยาไส้ เท่านี้ก็ช่วยเราได้มากโข”
อาหารสามมื้อที่ใครบางคนอาจมองว่าไม่ใช่เรื่องยากเย็นอะไรที่จะหาของกินมาเติมเต็มท้องอันว่างเปล่า แต่สำหรับคนจนเมืองในอินเดีย ประเทศที่ยังคงมีการแบ่งแยกชนชั้นกันอย่างชัดเจน ทำให้คนชนชั้นล่างที่เลือกเกิดไม่ได้ต้องดิ้นรนทุกวิถีทางเพื่อเอาชีวิตรอด ท่ามกลางการดิ้นรนของพวกเขา ยังมีสิ่งหนึ่งที่ช่วยฉุดพวกเขาขึ้นมาจากความอดอยากหิวโหยนั่นคือ ‘อัมมะ แคนทีน’ (Amma Canteen) โรงอาหารที่ตั้งขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหาความยากจนของชาวอินเดียในเมืองเจนไน (ชื่อเดิมคือมัทราส) เมืองหลวงของรัฐทมิฬนาฑู
โดย ‘อัมมะ’ (Amma) หมายถึง ‘แม่’ ซึ่งชาวอินเดียตอนใต้นิยมนำมาใช้เรียกผู้หญิงที่พวกเขาให้การเคารพรัก ดังนั้นโรงอาหารที่ ‘ชยารัม ชายาลลิตา’ (Jayaram Jayalalithaa) อดีตมุขมนตรีแห่งรัฐทมิฬนาฑู เปิดขึ้นมานั้นจึงเปรียบเสมือนโรงอาหารของแม่ที่สร้างขึ้นมาเพื่อเลี้ยงดูลูก ๆ หรือก็คือชาวอินเดียตอนใต้ที่มีฐานะยากจนให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น
แม้บางส่วนจะมองว่าเธอเปิดโรงอาหารเพื่อใช้เป็นฐานหาเสียง เพราะอีกหนึ่งบทบาทของชายาลลิตา เธอคือนักการเมืองที่ครองตำแหน่งมุขมนตรีของพรรค All India Anna Dravida Munnetra Kazhagam (AIADMK) มานานถึง 6 สมัยติดต่อกันตั้งแต่ปี 1991 – 2016
หลังจากชายาลลิตาเปิดโรงอาหารแห่งนี้ในปี 2013 ได้เพียงหนึ่งเดือน พรรคของเธอก็ชนะ 37 ที่นั่งจาก 39 ที่นั่งในการเลือกตั้งรัฐสภาปี 2014 แม้จะดูเป็นเรื่องการเมืองไม่น้อยที่เธอลุกขึ้นมาเปิดโรงอาหารราคาประหยัดเพื่อช่วยคนทุกชนชั้นให้รอดพ้นจากความอดอยากหิวโหย แต่ต้องยอมรับว่า ผลของการเปิดโรงอาหารได้ช่วยชีวิตชาวอินเดียในทมิฬนาฑูไว้นับแสนราย โดยหากเหมา 3 มื้อ เช้า – เที่ยง – เย็น ก็จะจ่ายเพียงแค่ 15 รูปี (ประมาณ 7 บาท)
ตัวอย่างอาหารมื้อเช้า เช่น อิดลี แป้งนึ่งทรงกลมสีขาว เสิร์ฟเคียงคู่แกงซัมบาร์ร้อน ๆ ที่อัดแน่นไปด้วยผักหลากชนิดจนพูนจาน และปงกัล ข้าวต้มผสมถั่วและพริกไทยดำ ส่วนอาหารมื้อเที่ยงจะเป็นข้าวหุงน้ำมะนาว เสิร์ฟคู่กับแกงซัมบาร์เจ้าเก่า มื้อเย็นคือจาปาตี แป้งแผ่นแบนที่จะนำมากินคู่กับดาล หรืออาหารประเภทแกง ที่ทำจากถั่วหลากชนิด ซึ่งแต่ละมื้อจะตกอยู่ที่มื้อละประมาณ 5 รูปี (ประมาณ 2 บาท)
แม้ราคาจะถูกแสนถูก แต่ทุกเสียงที่มาฝากท้องที่โรงอาหารอัมมะต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่า ‘อร่อย!’ และการันตีได้ว่าถูกสุขอนามัย ไม่ใช่อาหารสตรีทฟู้ดอินเดียตามที่เรามักจะเห็นกันตามหน้าสื่อออนไลน์ เพราะพนักงานทุกคนได้รับการฝึกปรือฝีมือมาอย่างดีว่าอาหารจะต้องสด สะอาด และถูกสุขอนามัย
“เราเริ่มต้นโครงการโรงอาหารเหล่านี้ เพื่อจัดหาอาหารที่ดีและราคาถูกให้กับประชาชน นอกจากนี้ยังสร้างงานให้กับผู้หญิงในชุมชนอีกนับพันราย ซึ่งถือเป็นหมุดหมายที่ดีในการจะเห็นผู้หญิงไม่ต้องหวังพึ่งแต่ผู้ชายเพียงอย่างเดียว เพราะที่โรงอาหารของเรา พวกเธอคือคนที่คอยดูแลทุกอย่าง ตั้งแต่จัดเตรียมอาหาร ปรุงรส ไปจนถึงทำความสะอาดโรงอาหาร”
ชายาลลิตา เสียชีวิตลงในปี 2016 ในขณะที่มีอายุ 68 ปี หลังจากเปิดโรงอาหารอัมมะขึ้นได้เพียงแค่ 3 ปี ปัจจุบันโรงอาหาร ‘อัมมะ’ 407 แห่งยังคงเปิดให้บริการ แม้จะได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 แต่รัฐบาลรัฐทมิฬนาฑูพยายามอย่างสุดความสามารถ ในการประคับประคองให้โรงอาหารแห่งนี้ไม่ปิดตัวลง
แม้สรวงสรรค์จะมารับตัวชายาลลิตาไป แต่ผลงานที่เธอหลงเหลือไว้บนโลกนี้ยังคงอยู่ และยังคงช่วยให้ชาวอินเดียตอนใต้ได้อิ่มท้องมาจนถึงปัจจุบัน
ภาพ: Getty Images / Hindustan Times
อ้างอิง: