สัมภาษณ์ อมร วิวัฒน์สุนทร ในวันที่เกมไม่ใช่แพะรับบาป แต่คือม้าขาวตัวใหม่ของสังคม

สัมภาษณ์ อมร วิวัฒน์สุนทร ในวันที่เกมไม่ใช่แพะรับบาป แต่คือม้าขาวตัวใหม่ของสังคม
ใครไม่เล่นเกมบ้าง? เชื่อว่าหลายคนคงเคยเล่นเกมบ้างแหละ ไม่ว่าจะเป็นผ่านเครื่องเล่นเกมคอนโซล, คอมพิวเตอร์ หรืออุปกรณ์ประจำตัวอย่างมือถือ น้อยคนนักที่จะไม่มีโอกาสเล่นเกมเลย ย้อนกลับไปสมัยก่อน เรามักเห็นข่าวความรุนแรงจากเยาวชนอยู่บ่อยครั้ง และเกือบทุกครั้งมักผูกโยงว่าได้รับผลกระทบมาจากเกม สวนทางกับงานวิจัยหลายสำนักในปัจจุบันที่การันตีว่า เกมไม่ทำให้ผู้เล่นมีความก้าวร้าวเพิ่มขึ้น วันนี้ The People จึงชวนคุยกับคุณ อมร วิวัฒน์สุนทร หรือ เซียนโอ๊ตโตะ พิธีกรแห่ง Online Station ผู้ที่ทำงานอยู่ในวงการเกมมาหลายสิบปี ในวันที่ภาพลักษณ์เกมเปลี่ยนจากแพะรับบาป สู่ม้าขาวตัวใหม่ของสังคม สัมภาษณ์ อมร วิวัฒน์สุนทร ในวันที่เกมไม่ใช่แพะรับบาป แต่คือม้าขาวตัวใหม่ของสังคม The People: มีโอกาสสัมผัสเกมและของเล่นตั้งแต่เมื่อไหร่ อมร: จุดเริ่มต้นมาจากคุณแม่ครับ คุณแม่ค่อนข้างตามใจเราก็เลยมีของเล่นหลายอย่างมาตั้งแต่เด็ก แล้วก็เล่นโดยไม่รู้จักคุณค่าของมันด้วยนะ เล่นแล้วพัง จนกระทั่งพี่ข้างบ้านมาสอนให้เรารู้จักเก็บ รู้จักคุณค่า พอคุณแม่มองเห็นว่าเราเริ่มรักของเล่น คราวนี้ตะบี้ตะบันตามใจเลยครับ ส่วนเรื่องเกม ผมพิ่งคุยกับแม่เร็วๆ นี้เองว่าซื้อเกมให้เพราะอะไร แม่ให้คำตอบประมาณว่า ถ้าเล่นหุ่นยนต์ อย่างมากแปลงร่างได้ไม่เกิน 3 ร่าง แต่ถ้าซื้อเกม เราสามารถเปลี่ยนตลับเกมได้เรื่อยๆ แม่ก็เลยซื้อเกมให้เราดีกว่า   The People: แสดงว่าคุณแม่โอเคกับการเล่นเกมถึงได้สนับสนุน ในยุคที่เกมยังมีภาพลักษณ์ไม่โอเคกับสังคม อมร: (ทันที) มันไม่ได้ไม่โอเค! เข้าใจกันก่อน ที่ไม่โอเคคือคนที่ไปเล่นแล้วติดมัน ฟังก์ชันเกมคือของเล่นอย่างหนึ่งนะเว้ย! แล้วพ่อแม่ผู้ปกครองจะซื้อให้ลูกเล่นหรือเปล่านั้นก็อีกเรื่องหนึ่ง พอซื้อไปให้ลูกเล่นแล้วจะติดไหมก็อีกเรื่องหนึ่ง เข้าใจความหมายหรือเปล่า มันไม่ใช่ไม่ดี เพราะฉะนั้นแม่ของผมจึงมองว่าเกมน่าจะสร้างสรรค์อะไรบางอย่าง อีกหนึ่งคีย์คือแม่ไม่อยากให้ผมออกไปเที่ยวเล่นอันตราย เขาอยากให้ผมอยู่บ้านครับ จริงๆ ไม่ใช่เรื่องอะไรเลย ก็แค่อยากให้อยู่บ้านแล้ว สนุกกับของเล่นเท่านั้น   The People: เริ่มเล่นเกมจริงจังตั้งแต่ตอนไหน อมร: คำถามนี้น่าสนใจตรงที่ผมไม่เคยถูกถามเพราะผมยังแยกไม่ออกระหว่าง Casual Gamer กับ Hardcore Gamer ผมเล่นเกมแล้วเบื่อ ผมก็เลิก ผมน่าจะเป็นสาย Collector มากกว่า ชอบเล่นเกมและเก็บมาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเกินกว่า Casual มาหน่อย แต่ก็ไม่ถึงกับ Hardcore หลังจากนั้นก็กลายเป็นความผูกพัน อารมณ์เหมือนคุณได้เจอกับอาหารรสชาติใหม่อยู่เสมอ เพราะเกมไม่ได้มีแค่ประเภทเดียว มันมีเกมแอ็กชัน, แอดเวนเจอร์, ภาษา, รถแข่ง, ยานยิง โอ้โห! เสพเท่าไหร่ก็ไม่หมด เลยรู้สึกว่านั่นแหละคือความชอบของเรา ผมดำดิ่งเล่นเกมเดียวไม่ได้ เพราะถ้าดำดิ่งเกมเดียวแล้ว ผมจะไม่มีเวลาไปเล่นเกมอื่นเลย   The People: เคยคิดไหมว่าจะเติบโตขึ้นมาทำงานสายเกมจริงจังขนาดนี้ อมร: เรียกว่ารู้ตัวเองตั้งแต่ประมาณ ประถมฯ 5-6 คุณครูก็จะถามเป็นธรรมเนียมว่า โตขึ้นจะไปเรียนหรือทำงานอะไร คำตอบแพตเทิร์นเดิมๆ ยังมีอยู่ เช่น ตำรวจ ทหาร พยาบาล หมอ ดับเพลิง ฯลฯ แต่ตอนนั้นในใจผมคิดว่า “อยากสร้างเกม” ท้ายที่สุดการสร้างเกมในยุคนั้นเป็นคำตอบที่ไม่ค่อยเหมาะสมเท่าไหร่ แต่เราเป็นคนชอบวาดเขียน ชอบงานศิลปะ ก็เลยไปเรียนสายศิลปะ เพราะในเวลานั้นสายเกมยังไม่มีที่เรียน ไม่เหมือนเด็กสมัยนี้ที่มีสาขา E-Sports แล้ว บอกจริงๆ ว่าอิจฉามาก เพื่อนบอกว่า “มันไม่มีสาขาเกมให้เรียนหรอก ไปเรียนนิเทศศิลป์” สุดท้ายเราก็เชื่อและเรียนนิเทศศิลป์ สมัยนั้นเพื่อนคนอื่นถือนิตยสาร a day, Art4d โอโห้ โคตรหล่อ แต่ผมเหรอ... ถือ MEGA, Future Gamer, GameMag เวลาทำงานศิลปะจึงไม่เหมือนชาวบ้าน แต่นั่นคือตัวตนของผมครับ แล้วที่ตลกร้ายคือหลังจากเรียนจบ ผมเดินออกจากมหาวิทยาลัยแล้วเห็นประกาศรับนักศึกษาพร้อมเปิดสาขาใหม่ ไล่ไปไล่ไป สุดท้ายเป็นสาขาออกแบบเกมคอมพิวเตอร์ เหมือนชีวิตเล่นตลก เรียนจบออกมาถึงจะมีสาขานี้ ยุคนั้นเรื่องเกี่ยวกับเกม ถ้าไม่เรียนวิทยาการคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับสาขาการเขียนโปรแกรม ผมไม่นึกไม่ออกเลยว่าจะไปทางไหน ผมก็เลยเรียนด้านศิลปะ แล้วบังเอิญได้ทำหนังสั้น ตัดต่อเป็น ก็เลยจับพลัดจับผลูมาทำงานโปรดักชัน   The People: ที่บอกว่า “อยากสร้างเกม” คุณอยากสร้างเกมแบบไหน อมร: ตอนเด็กๆ ผมคิดถึงเกมแนวแอดเวนเจอร์ ผมอยากเล่าเรื่องของคนคนหนึ่งที่เป็นเบื้องหลังเหตุการณ์ใหญ่ๆ แล้วตัวละครตัวนี้ก็พาเราไปรู้จักเหตุการณ์ใหญ่ เช่น เราเป็นคนส่งข่าวสารเฉยๆ แต่จับพลัดจับผลูไปอยู่ในมหาสงคราม แล้วเราต้องใช้ความสามารถเพื่อพิชิตมหาสงครามนั้น ตอนนั้นเคยถึงขั้นเขียนเนื้อเรื่องเลยนะ วาดตัวละคร ออกแบบพลังต่างๆ ซึ่งเกมที่ใกล้เคียงสุดคือ Onimusha แล้วพอได้เล่น Onimusha เหมือนได้สนองความคิดตัวเอง   The People: เคยมีประสบการณ์โดนกล่าวหาว่า เด็กเล่นเกมเป็นภัยสังคมไหม อมร: ไม่เลย เพราะว่าสภาพแวดล้อมรอบข้างของผมโชคดีที่ไม่เหมือนชาวบ้าน มันเป็นสภาพแวดล้อมที่ทุกคนเปิดรับทั้งหมด ใครไม่เปิดกูบังคับเปิดอะ (หัวเราะ) ให้รู้ไปเลยว่าไอ้โอ๊ตมันบ้าเกม แต่การเรียนผมไม่มีปัญหานะ นั่นเป็นสิ่งเดียวที่คุณแม่ขอด้วย ถ้าภาษาเท่ๆ อย่างตอนนี้ก็คือ Play Hard, Work Hard ผมเลยเต็มที่กับทุกอย่าง คือผมไม่ได้โดนผลกระทบนั้นเพราะว่าเราทำตัวด้วยแหละ แต่แน่นอนสังคมรอบข้างตอนนั้น โอ้โห ดำมืดครับ เรียกว่าบรรยากาศมาคุ เด็กติดเกมบ้างล่ะ ทำร้ายร่างกายบ้างล่ะ ความรุนแรงบ้างล่ะ ความรุนแรงของเยาวชนตอนนั้นคือเอะอะๆ ผูกขาดเกมอย่างเดียวเลย ฉิบหายมาก ทั้งๆ ที่ความรุนแรงกับเยาวชนเรามีกันมาตั้งแต่โคตรเหง้าศักราชแล้ว แต่เราไม่มีตัวโทษหรือไง สังคมไปโทษเกมอย่างเดียวเลย แต่ผมไม่มีนะ   The People: เกมกลายเป็นแพะรับบาปของสังคมใช่ไหม อมร: ใช่ ผมพูดกับเพื่อนตอนที่ทำช่องจีสแควร์ (G2) เหมือนกันว่าเกมแม่งเป็นแพะ แล้วพอมาอยู่กับ OS (Online Station) กลายไปเป็นว่า “gaming is not a crime” คือเกมไม่ใช่อาชญากรรม จริงๆ มันไม่ใช่เว้ย คน! จำไว้ว่าคนต่างหากที่เล่นมัน แต่มึงกำลังโดนเกมเล่น เพราะฉะนั้น ณ ตอนนี้ เวลานี้ แม่งอาจจะไม่ขาวจั๊วะ แต่แม่งเทาอ่อนมาก เทาอ่อนจนบางทีแยกไม่ออกว่าตกลงมันขาวหรือยัง มันต่างมากกับสมัยก่อนที่แม่งถูกโทษเป็นสีดำ โอ้โห อยู่ดีๆ เด็กหยิบปืนมานั่งยิงคนในหมู่บ้านเพราะเล่นเกม FPS (First-person shooter) เต็มไปหมดเลย ไอ้ฉิบหาย! ก็เขาก็เล่นเป็นธรรมดาเปล่าวะ เด็กทุกคนก็เล่น FPS ไม่เห็นมีใครทุกคนต้องมาหยิบปืนขึ้นมานั่งยิงชาวบ้านเขาเลย แต่บังเอิญแค่ตรงนั้นเอง แค่นั้นเองจริงๆ แม่งไม่มีเลยจริงๆ มีนักกีฬา E-sports มากมายที่ขึ้นไประดับอินเตอร์ เห็นชัดๆ เลย มิกกี้ (ปองภพ รัตนแสงโชติ) เขาก็เล่นแต่เกม FPS นะเว้ย ทำไมความรุนแรงไม่เห็นไปกระทบชีวิตเขาเลยใช่ไหม พูดยาก ความจริงมันไม่มีอะไรเลย สัมภาษณ์ อมร วิวัฒน์สุนทร ในวันที่เกมไม่ใช่แพะรับบาป แต่คือม้าขาวตัวใหม่ของสังคม The People: พูดถึง E-sports มันก็เหมือนกีฬาชนิดหนึ่งถูกไหม อมร: ภาษาโบราณเรียกว่ากุศโลบายหรือเปล่าไม่แน่ใจ เพราะตั้งแต่คนที่เขาคิดคำว่า E-sports (Electronic sports) ขึ้นมา เขาเอาคำว่า Sports เข้ามาเพื่อหาสปอนเซอร์หรือต้องการแสดงภาพลักษณ์ว่าระบบและกลไลการแข่งขันเหมือน Sports หรือเปล่า ไม่ต้องอะไรมาก เรามองดูธุรกิจวงการกีฬาในปัจจุบันว่าเป็นอย่างไร เราต้องมีนักกีฬา ต้องมีโค้ช ต้องมีผู้จัดการทีม ต้องมีสปอนเซอร์ดูแล และมีการแข่งขันใช่ไหม แล้วธุรกิจวงการเกมมันแตกต่างกันตรงไหน มีเหมือนกัน เราไม่นับคนที่เล่นเกมแบบอีเหละเขละขละ เราไม่ได้นับคนที่เตะบอลแค่หน้าปากซอยหรือแค่เล่นออกกำลังเฉยๆ เข้าใจความหมายขอผมเปล่า เราต้องแยกแยะกันก่อน คนที่รู้ตัวเองว่าอยากเป็นนักกีฬาต้องรู้จักตัวเอง ต้องฝึก ต้องเข้าใจว่าทำอะไรอยู่ หลังจากนั้นก็หาโอกาสเอาตัวเองไปอยู่ในวงการนั้นๆ เช่น สมมติอยากเป็นนักกีฬา E-sports คุณต้องโชว์ฝีมือ ต้องเล่นจนเตะตาผู้จัดการทีมหรือแมวมองที่จะดึงคุณเข้าทีม E-sport หลังจากนั้นก็ต้องสร้างผลงานดีๆ จนสปอนเซอร์เข้า แล้วพาทีมไปแข่งในระดับโลกได้ ถ้าเป็นอย่างนั้นจริง มันคืออาชีพ ไม่ใช่แค่เล่นๆ เฉยๆ เล่นแบบไม่ได้คาดหวังอะไรกับชีวิต หรือเล่นเอาสนุก มันไม่ใช่! ที่สำคัญ E-sports ยังไม่ใช่อาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้จริงจัง คุณต้องมีอาชีพสำรอง เพราะประเทศนี้ยังไม่สนับสนุนเต็มที่ คุณต้องเตรียมตัวเอาไว้แล้ว ถ้าเรียนยังไม่จบก็ต้องแบ่งให้ชัด เรียนคือเรียน ซ้อมคือซ้อม สิ่งหนึ่งคืออย่าเพิ่งรีบเท่ ผมเห็นเด็กหลายคนรีบเท่มากไป ผมบอกเลยไม่ต้องรีบ ถ้ารีบแล้วมันอ่อนแอ ถ้าฐานอ่อนแอคุณจะพังลงโดยไม่รู้ตัว จะบอกคุณว่าอยากให้อดทน อดทนให้มากๆ ในทุกด้าน โดยเฉพาะสภาพอารมณ์ ผมเห็นเด็กสมัยนี้อดทนน้อยมาก ผมไม่เข้าใจ อาจเป็นเพราะทุกวันนี้เรามีโซเชียลฯ ให้ระบายหรือเปล่า แต่มันไม่ดีเลย ผมอยากให้พวกเขาเพิ่มความอดทนในตัวเองให้มาก   The People: เห็นภาพรวมเด็กเล่นเกมรุ่นใหม่เป็นอย่างไรบ้าง อมร: ผมอิจฉาแล้วก็สงสารมากกว่า ผมอิจฉาเด็กยุคนี้ที่คุณมีโอกาสและอิสรภาพที่จะโชว์ศักยภาพตัวเองเยอะมาก ทุกวันนี้เด็กแค่ไม่กี่ขวบขึ้นมาเป็น YouTuber หรือ Influencer หารายได้เป็นหลักล้านได้ ในขณะเดียวกันคือทั้งสงสารและเห็นใจที่สงครามนี้ยิ่งใหญ่มาก คุณเป็น YouTuber ที่กำลังยืนอยู่กับคนเป็นหลักร้อยล้านรอบตัวที่ทำคอนเทนต์สู้กับคุณอยู่ ถ้าคุณช้าเมื่อไหร่ คุณก็เสียโอกาสเท่านั้น คนที่ประสบความสำเร็จก่อนหน้านี้เขาใช้เวลาไปแล้ว ถ้าตัวตนคุณไม่เจ๋งจริง ถ้าไม่ทำการบ้านให้ดี คุณไม่เกิดก็ดับไปเลย ปฏิเสธไม่ได้เลยว่าตอนนี้โลกกำลังเปลี่ยน เราไม่ดูทีวีกันแล้ว นั่นคือสิ่งแรกที่ทุกคนต้องตระหนักก่อน ผมเชื่อเลยว่าเกือบ 90 เปอร์เซ็นต์อยู่กับมือถือหมดนั่นคือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ว่า OS ต้องพยายามปรับตัวเอง หน่วยงานไหนยิ่งปรับตัวได้เร็ว แล้วทันต่อกระแสสังคมเท่าไหร่ยิ่งดี   The People: ตอนนี้คุณมองวงการเกมเป็นอย่างไร อมร: โอ้โห ตอนนี้เป็นม้าขาวมาก วงการเกมสำหรับสายตาผมตอนนี้เป็นม้าขาว เป็นเหมือนอัศวินอาเธอร์ที่ใส่เกราะตีมาฟูลแล้วกำลังจะพุ่งไป หล่อเลย ว่าจะเป็นทั้งคำว่า E-sports, YouTuber, Influencer หรือ Caster ก็ตาม มันคือสิ่งที่กำลังขจัดความเชื่อเดิมๆ ออกไปเลย แล้วเขากำลังจะวิ่งพาเราไปในจุดที่เราไม่เคยเห็นมาก่อน อย่างตอนนี้เราเห็นการแข่งขัน E-sports มากมาย มีผู้สนับสนุน E-sports ที่เปิดรับมากมาย มีบริษัทรุ่นใหม่ที่เข้าใจเนเจอร์ของคนเล่นเกม แล้วเข้ามามีบทบาทให้การสนับสนุน ผมเชื่อว่าเรากำลังจะเห็นจุดต่อไป ผมว่ามันจะต้องเป็นจุดที่เฟ้อมากๆ ของวงการนี้ แล้วถ้ามันได้อยู่ถูกจุด เราอาจจะประสบความสำเร็จ เราจะเห็นตัวแทนประเทศมากขึ้น แล้วผมอยากเห็นจุดนั้นไวๆ นะ จุดที่ประเทศไทยเป็นแชมป์การแข่งขันนู่นนี่นั่น ซึ่งปัจจุบันมีแล้วนะ ทยอยมีเล็กๆ น้อยๆ แต่ว่างานใหญ่จริงๆ เรายังไม่มี อยากเห็น   The People: แล้วอัศวินตัวนี้กำลังต่อสู้กับอะไร, ไดโนเสาร์ใช่ไหม อมร: ไม่ ไดโนเสาร์นี่ผมมองข้ามเลยนะ เอาจริงๆ ฟังดูเหมือนสิ่งที่ขวางเราอยู่คือไดโนเสาร์ ไม่ใช่นะ ไม่ใช่ ที่เราขวางคือตัวพวกเรากันเอง เราดันเป็นเด็กที่แม่งติดแต่เกม ไม่ยอมเรียนหนังสือ เราเป็นเด็กที่แม่งเล่นเกมแล้วไม่ควบคุมอารมณ์ตัวเอง หัวรุนแรง เที่ยวโวยวายคนอื่น ทำตัวให้ผู้ปกครองและผู้ใหญ่คนอื่นมองเห็นแล้วก็ชี้หน้าด่าว่า “ไอ้เด็กติดเกมแม่งก้าวร้าว” เราสู้กับเด็กอีกหลายคนที่แบบ... แล้วเราต้องต่อสู้กับคนอีกจำนวนไม่น้อย ที่มองวงการนี้หอมหวานแล้วลงเข้ามาตอม เราสู้กับคนพวกนั้นอยู่ ซึ่งแน่นอนมันไม่ได้สวยหรูอยู่แล้ว มีแทบทุกวงการ ไม่ว่าวงการไหนถ้ามีเรื่องเม็ดเงินเข้ามา เป็นธรรมดาที่ต้องมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามา เราสู้กับพวกนั้น ถ้าเราพ้นผ่านพวกนี้ไปได้ไกลเท่าไหร่ มันยิ่งสว่างมากขึ้นเท่านั้นครับ   The People: จะทำอย่างไรให้คนอื่นเข้าว่าการเล่นเกมเป็น Subculture หนึ่งในสังคม อมร: ถ้าพูดถึงความเข้าใจ-ไม่เข้าใจ พูดยากนะครับ เพราะว่าตอนนี้รอบตัวผมเกินว่า 60-70 เปอร์เซ็นต์เขาเปิดรับกันหมดแล้ว เพราะมันทานไม่ได้ มันเหมือนคลื่นสึนามิที่อัดเข้ามาแบบช่วงประมาณสัก 2-3 ปีที่ผ่านมา มันโหมกระหน่ำแรงมากครับ ไม่ต้องดูอะไรมาก ขออนุญาตอ้างอิง BNK48 เลย อันนี้ชัดมาก มาปั๊บไม่เกินปีรับแล้ว และก็รับเร็วมาก เพราะว่าอะไรรู้ไหมครับ เพราะว่าตอนนี้เราห้ามโลกหมุนไม่ได้แล้ว ต่อให้สังคมเราช้าขนาดไหน ต่อให้เราเป็นคนที่ดึกดำบรรพ์ไดโนเสาร์แค่ไหน คุณปฏิเสธไม่ได้เลยโลกมันหมุนเร็ว แล้วตอนนี้มันมาแล้ว ตอนนี้โลกเปลี่ยนไปแล้วครับ คำว่า “โอตาคุ” แต่ก่อนเป็นคำเหยียดด้วยซ้ำ เดี๋ยวนี้กลายเป็นไลฟ์สไตล์แล้ว ผมมองว่ารสนิยมไม่ควรนำมาว่าหรือเหยียดกัน มันเป็นอิสระ ตราบใดที่ไม่ไปรบกวนคนอื่น   The People: เราจะได้เห็น HalfLife 3 ไหม อมร: ว้าย! ผมไม่แน่ใจว่าเพราะอะไรนะ แต่ก็เป็นความสนุกอย่างหนึ่งที่เรามาลุ้นกันดีกว่าว่า Valve มันจะทำภาค 3 ได้เมื่อไหร่ ผมว่ามันก็เป็นการปฏิวัติวงการเกมอย่างหนึ่งเหมือนกันนะ เออ ถ้ามันทำได้นะจริง   สัมภาษณ์ อมร วิวัฒน์สุนทร ในวันที่เกมไม่ใช่แพะรับบาป แต่คือม้าขาวตัวใหม่ของสังคม ขอบคุณสถานที่ Ataktito's Shop