เอมี่ ไพรซ์: ผู้จัดการทั่วไป ผู้แบกรับ Cecil Hotel โรงแรมแห่งความตาย

เอมี่ ไพรซ์: ผู้จัดการทั่วไป ผู้แบกรับ Cecil Hotel โรงแรมแห่งความตาย
*บทความนี้มีการเผยแพร่ข้อมูลบางส่วนจากสารคดี The Vanishing At The Cecil Hotel ของทาง Netflix*   ถ้าคุณต้องทำงานอยู่ในโรงแรมที่มีคดีฆ่าตัวตาย คดีฆาตกรรม อย่างไม่เว้นแต่ละวัน  หรือแม้กระทั่งคดีอันแสนลึกลับที่ถูกพูดถึงกันทั่วโลกอย่างคดีของ เอลิซ่า แลม (Elisa Lam) กับปริศนาการหายตัวไปอย่างลึกลับในโรงแรม ก่อนที่จะพบศพในแท็งก์น้ำบนดาดฟ้า พร้อมกับทฤษฎีสมสบคิดถึงสาเหตุการเสียชีวิตที่แท้จริง คุณยังจะกล้าทำงานที่นั่นไหม? หลายคนอาจจะส่ายหน้าปฏิเสธเป็นพัลวัน แบบแค่ให้เป็นแขกที่เข้าพักก็ยังต้องคิดแล้วคิดอีก แต่สำหรับ เอมี่ ไพรซ์ (Amy Price) เธอเป็นผู้จัดการทั่วไปในโรงแรมแห่งนี้ยาวนานถึง 10 ปี และมีส่วนช่วยในการสร้างกำไรจากเดิมที่เต็มไปด้วยความน่ากลัวอีกด้วย   โรงแรมสยอง ในย่านคนไร้บ้าน โรงแรมแห่งนี้เป็นที่รู้จักในชื่อ โรงแรมเซซิล (Cecil Hotel) ตั้งอยู่บนถนนที่แสนจะพลุกพล่านในตัวเมืองลอสแอนเจลิส ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีจุดประสงค์เพื่อเป็นจุดหมายปลายทางสำหรับการเดินทางเพื่อติดต่อธุรกิจ และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก แต่ใครจะรู้ว่าหลังจากที่เปิดทำการได้เพียงไม่นาน จากจุดมุ่งหมายในตอนแรก ก็ได้แปรเปลี่ยนสถานที่ที่เชื้อเชิญให้เหล่าผู้ที่สิ้นหวังในชีวิตมาพักผ่อนเป็นครั้งสุดท้าย และเป็นสถานที่พักผ่อนของเหล่าฆาตกรที่แวะมาใช้บริการไปเสียอย่างนั้น เพราะหลังจากโรงแรมเซซิลเปิดให้บริการเมื่อวันที่ 20 ธันวาคม ในปี 1924 จากการร่วมลงทุนจำนวน 2.5 ล้านดอลลาร์ จากวิลเลียม แบงก์ส ฮันเนอร์ (William Banks Hanner) ชาร์ลส์ แอล. ดิกซ์ (Charles L. Dix) และโรเบิร์ต เอช. ชอปส์ (Robert H. Schops) เพื่อหวังจะทำกำไรจากมันในย่านใจกลางเมือง ผ่านมาเพียง 5 ปี สหรัฐอเมริกาก็ต้องเผชิญหน้ากับภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ (เหตุการณ์ The Great Depression ปี 1929) จนทำให้โรงแรมเซซิลค่อย ๆ เสื่อมโทรมลง เพราะจำนวนคนไร้บ้านที่อาศัยอยู่ในย่านใกล้เคียงอย่าง สคิดโรว์ (Skid Row) เพิ่มจำนวนอย่างรวดเร็ว และการเพิ่มขึ้นของจำนวนประชากรคนไร้บ้านนี้เอง ก็นำมาสู่ปัญหา​​เกี่ยวกับยาเสพติดที่แพร่ระบาด จนกลายเป็นการก่ออาชญากรรมในบริเวณใกล้เคียงอยู่บ่อยครั้ง  เศรษฐกิจที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้โรงแรมจำใจต้องปรับตัวเพื่อให้สามารถอยู่รอดต่อไปได้ โดยการเปลี่ยนให้ส่วนหนึ่งกลายเป็นที่พักสำหรับผู้ไร้บ้านที่สามารถเช่าระยะยาวได้ในราคาถูก ชนิดที่ว่าบางคนอาศัยอยู่ในโรงแรมยาวนานถึง 40 ปีก็มี สาเหตุนี้เองที่ทำให้โรงแรมเซซิลกลายเป็นเหมือนจุดแวะพักของผู้คนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวอันน่ากลัว จน ‘โรงแรมแห่งความตาย’ กลายเป็นชื่อเล่นของโรงแรมเซซิลไปโดยปริยาย  เหตุที่ถูกขนานนามเช่นนี้ ไม่ใช่เพียงเพราะตั้งอยู่ใกล้ย่านสคิดโรว์เพียงอย่างเดียว แต่เป็นเพราะหลังจากเปิดทำการได้เพียง 3 ปี ก็เกิดเหตุการณ์การฆ่าตัวตายของชายวัย 52 ปีขึ้นในห้องพักของโรงแรม ด้วยสาเหตุจากการล้มเหลวในการคืนดีกับภรรยาและลูกของเขา ฟังดูเผิน ๆ ก็ดูจะเป็นเรื่องที่สามารถเกิดขึ้นได้ แต่หลังจากเหตุการณ์นั้นเป็นต้นมา เหตุการณ์เช่นนี้ก็เกิดขึ้นตามมาอีกเป็นจำนวนมาก ทั้งเหตุฆ่าตัวตายด้วยการกินยาพิษหรือกระโดดตึก และเหตุฆาตกรรมอันน่าสยดสยอง อย่างการโยนเด็กลงจากตึก หรือแม้กระทั่งการฆ่าข่มขืน และหนึ่งในคดีที่โด่งดังที่สุดคงจะหนีไม่พ้นคดีของ เอลิซ่า แลม ในปี 2013 ซึ่งเป็นที่จับตามองของสื่อในขณะนั้นเป็นอย่างมาก   ผู้จัดการอาณาจักรเซซิล “มันเหมือนเป็นอาณาจักรของฉัน ฉันเรียกมันว่าสวนสัตว์ด้วยซ้ำ” เอมี่ ไพรซ์ กล่าวกับทีมสารคดี Crime Scene ของทาง Netflix: The Vanishing At The Cecil Hotel เมื่อถูกสัมภาษณ์ถึงตัวโรงแรมและคดีของเอลิซ่า แลม ในขณะที่เธอดำรงตำแหน่งเป็นผู้จัดการทั่วไป เอมี่ ไพรซ์: ผู้จัดการทั่วไป ผู้แบกรับ Cecil Hotel โรงแรมแห่งความตาย

(ภาพจากสารคดี The Vanishing At The Cecil Hote)

เธอใช้ระยะเวลายาวนานถึง 10 ปี ในโรงแรมที่เต็มไปด้วยสิ่งผิดปกติ และเผชิญหน้ากับปัญหาที่ถาโถมเข้ามาไม่เว้นแต่ละวัน ในช่วงปี 2007 - 2017 การเผชิญหน้ากับปัญหาด้านความปลอดภัย และการรักษาความปลอดภัยมากมาย เป็นสิ่งที่เธอต้องเจออย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ “ในตลอด 10 ปีที่ฉันทำงานที่นั่น เราต้องโทรฯ แจ้งตำรวจเป็นพัน ๆ ครั้ง” เอมี่กล่าว และในพัน ๆ ครั้งนั้น โดยเฉลี่ยแล้วทางสถานีตำรวจได้รับสายจากทางโรงแรมมากถึง 3 ครั้งต่อวัน ด้วยเรื่องแปลกประหลาดอันน่าเหลือเชื่อ ตั้งแต่การเผาทางเดิน เล่นยา แทงกัน ไปจนถึงการพบศพขึ้นอืดอยู่ภายในห้องพัก ถึงแม้ว่าในระยะเวลาที่เธอดูแลอาณาจักรเล็ก ๆ นี้ เอมี่จะพยายามทำทุกอย่างเท่าที่เธอจะทำได้เพื่อคงสภาพมันไว้อย่างดี  แต่ด้วยเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น มักทำให้คนข้างนอกมองเข้ามาด้วยสายตาที่เต็มไปด้วยคำถาม รวมไปถึงทฤษฎีสมคบคิดจำนวนมากที่กล่าวหาว่าเธอรู้เห็นกับการตายของเอลิซ่า แลม สิ่งนี้เองที่สุดท้ายกลายเป็นหนึ่งในเหตุผลที่เธอตัดสินใจให้สัมภาษณ์กับทางสารคดี เพื่อส่งเสียงถึงความอยุติธรรมที่เธอได้รับตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา   พลิกโฉมทำกำไร สร้างสองโรงแรมในตึกเดียว ก่อนที่เอมี่จะเริ่มต้นทำงานในโรงแรม เธอไม่เคยคิดเลยว่าวันหนึ่งเธอจะต้องเข้ามารับรู้ถึงเรื่องการจัดการศพ หรือพูดคุยกับเจ้าหน้าที่ชันสูตรศพและตำรวจ “นั่นเป็นสิ่งที่เปิดโลกของฉันจริง ๆ” เพราะนั่นไม่ใช่เพียงครั้งเดียวที่เธอเจอกับเหตุการณ์แบบนี้ แต่เป็นมาโดยตลอดระยะเวลาที่เธอทำงานในโรงแรมแห่งนี้ มีคนตายประมาณ 80 คน ในช่วงที่เธอทำงาน นั่นคือสิ่งที่เธอบอกในสารคดี และด้วยภาพลักษณ์ที่น่ากลัวเช่นนี้ ทำให้เธอต้องรับมือกับผู้เข้าพักที่เต็มไปด้วยความหวาดกลัว แสวงหาเรื่องลึกลับ หรือแม้แต่การวิจารณ์โรงแรมในโซเชียลฯ ในทางที่แย่มากขึ้นเรื่อย ๆ  จนถึงขั้นที่มีคนกล่าวว่า “โรงแรมเซซิลคือสถานที่ที่ความฝันจะตายลง” สิ่งเหล่านี้ทำให้เอมี่เริ่มมองหาทางออกให้กับโรงแรมแห่งนี้อย่างจริงจัง จนเกิดเป็น สเตย์ออนเมน (Stay on Main) ขึ้นมาในที่สุด “เราพัฒนาคอนเซ็ปต์โรงแรม 2 แห่งในตึกเดียวขึ้นมา” เอมี่กล่าว สถานที่ใหม่ถูกตั้งชื่ออย่างไม่มีเค้าโครงเดิมว่า ‘สเตย์ออนเมน’ ในปี 2011 เพื่อเป็นโฮสเทลวัยรุ่นสำหรับนักเดินทางสมัยใหม่ ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อลบภาพลักษณ์เดิม ๆ ของโรงแรมเซซิล แต่ในขณะเดียวกัน เซซิลก็ยังคงมีอยู่และคงไว้ซึ่งชื่อเดิม เพื่อเป็นที่พักสำหรับผู้พักอาศัยรายเดือนเดิมและแขกคนอื่น ๆ แล้วทั้ง 2 โรงแรมใน 1 ตึก แยกออกจากกันอย่างไร? คำตอบง่าย ๆ ของเอมี่คือการดึงเอา 3 ชั้นของตึกเดิมแยกออกมาเป็น สเตย์ออนเมน อย่างง่าย ๆ ตึกของโรงแรมเซซิลเดิมทั้ง 15 ชั้น ถูกแบ่งสรรการใช้งานอย่างคุ้มค่า โดยชั้น 4 ถึง 6 กลายเป็นสเตย์ออนเมน ที่มีการตกแต่งใหม่ทั้งหมด และชั้น 2 กับ 3 ถูกใช้เป็นชั้นของผู้เช่ารายเดือนเดิม ส่วนชั้นที่เหลืออยู่ยังคงเป็นของโรงแรมเซซิลตามเดิม และสร้างล็อบบี้ที่แตกต่างกัน 2 แห่งในตึกเดียว เอมี่ ไพรซ์: ผู้จัดการทั่วไป ผู้แบกรับ Cecil Hotel โรงแรมแห่งความตาย

(ภาพจากสารคดี The Vanishing At The Cecil Hote)

“ฉันรู้สึกเหมือนได้เห็นอนาคตแล้วว่า โรงแรมนี้จะเป็นอย่างไร” เธอกล่าว ผลลัพธ์เริ่มเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางที่ดีขึ้น ผู้ที่เข้าพักในสเตย์ออนเมนเริ่มให้การรีวิวในเว็บไซต์ที่ดีขึ้น จนสามารถพลิกวิกฤตการเงินของโรงแรมขึ้นมาได้ในที่สุด “มันแทบจะเป็นช่องทางการหารายได้ ช่วยต่อชีวิตของเราเอาไว้” แต่นั่นก็เป็นสิ่งที่ก่อนที่จะเกิดวิกฤตขึ้นอีกครั้งในปี 2013 เมื่อเกิดคดีเอลิซ่า แลม และคลิปกล้องวงจรปิดในลิฟต์ที่ถูกพูดถึงกันอย่างกว้างขวางขึ้น จนทำให้โรงแรมต้องปิดตัวลงอย่างเป็นทางการในปี ​​2017 เพื่อทำการปรับปรุงครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นปีสุดท้ายที่เธอทำงานเป็นผู้จัดการทั่วไปอยู่ที่นั่นนั่นเอง ก่อนที่มันจะถูกสภาเมืองลอสแอนเจลิสกำหนดให้กลายเป็นอนุสาวรีย์ประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม โดยเรียกอาคารนี้ว่า ‘ตัวอย่างที่เป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมโรงแรมในช่วงต้นศตวรรษที่ 20 ในอเมริกา’ และ ‘ตัวอย่างสถาปัตยกรรมเชิงพาณิชย์สไตล์โบซาร์’ เพื่อพยายามที่จะลบภาพจำเดิมของโรงแรมออกไป แต่ถึงอย่างนั้น แม้ว่าระยะเวลาจะผ่านมาอย่างยาวนาน และมีการปรับปรุงสถานที่เพื่อกลับมาเปิดให้บริการอีกครั้ง โรงแรมแห่งนี้ก็ยังคงลบภาพของความน่ากลัวออกจากใจของคนทั่วโลกไม่ได้อย่างหมดจด และยังคงกลายเป็นสถานที่ที่ถูกบอกเล่าถึงเหตุการณ์อันน่ากลัวต่อไปผ่านสารคดี The Vanishing At The Cecil Hotel ของทาง Netfilx และเอมี่ ไพรซ์ ที่ถูกจดจำในฐานะของผู้จัดการทั่วไปของโรงแรมเซซิล แม้คดีเอลิซ่า แลมจะถูกไขไปแล้วก็ตาม   ภาพ: สารคดี The Vanishing At The Cecil Hotel   อ้างอิง: สารคดี The Vanishing At The Cecil Hotel  https://www.elle.com.au/culture/cecil-hotel-history-24660