ภาพยนตร์สารคดี Amy: กับโลกที่ค่อย ๆ ฉีกทึ้ง เอมี ไวน์เฮาส์

ภาพยนตร์สารคดี Amy: กับโลกที่ค่อย ๆ ฉีกทึ้ง เอมี ไวน์เฮาส์
เคยตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมศิลปินระดับโลกที่เสียชีวิตก่อนวัยที่ควรจะเป็น (Too Young To Die) ในมุมหนึ่งจึงอยู่ในสภาวะเป็น ‘อมตะ’ ทั้งผลงานและตัวตนของเขา? คำตอบที่ผู้เขียนคิดว่า ฟังก์ชันที่สุด นั่นก็เพราะว่า การตายของพวกเขานั้น (ซึ่งเอาจริง คงไม่มีใครอยากให้พวกเขาด่วนจากไปสักเท่าไรหรอก) เป็นการสร้างสถานะ ‘คนหนุ่มสาว’ ให้กับพวกเขาตลอดกาล พร้อมกับการเชิดชูว่า ผลงานของพวกเขาในตอนนั้นคือ จุดสูงสุดที่พวกเขาฝากไว้กับโลกแล้ว ทั้งที่เราไม่อาจจะรู้ได้ว่า ถ้าพวกเขามีชีวิตอยู่ต่อไป อาจจะมีผลงานที่ดีกว่านี้ออกมาก็ได้, แต่เราก็เลือกที่จะเชื่อมั่นแล้วว่า ผลงานของพวกเขาเหล่านั้น ในวันนั้น มันคือจุดสุดยอดจริง ๆ เพราะเช่นนี้ ในขณะที่เราเห็น พอล แม็กคาร์ตนีย์ กลายเป็นคุณปู่จอมเก๋าในวงการดนตรี แต่เรากลับจดจำ จอห์น เลนนอน ในภาพของหนุ่มใหญ่วัย 40 ที่พยายามป่าวประกาศปรัชญาว่าด้วยความรักและสันติภาพ ผ่านเพลงที่คนรู้จักทั่วโลกอย่าง Imagine เราจึงได้เห็นหนุ่มผมทองที่ทั้งบุคลิกและเสียงดนตรีเต็มไปด้วยความเกรี้ยวกราดและแสนดิบ ยามเมื่ออยู่บนเวที ที่แม้ว่าเขาจะจากไปตั้งแต่ปี 1994 แต่ภาพของศิลปินกรันจ์ อย่าง เคิร์ต โคเบน ก็ยังถูกสตัฟฟ์ไว้ในความทรงจำด้วยวัยเพียง 27 ปี และเพลงอย่าง Smells Like Teen Spirit ก็ยังมีทั่วโลกเปิดฟังทุกวัน เอมี ไวน์เฮาส์ ศิลปินชาวอังกฤษ ก็เป็นอีกคนหนึ่งที่ Too Young To Die การเสียชีวิตของเธอในวัย 27 ปี เมื่อ ค.ศ. 2011 ถือเป็นความสูญเสียครั้งยิ่งใหญ่อีกครั้งหนึ่งของวงการเพลง เพราะเธอมีผลงานเดี่ยวในช่วงที่ยังมีชีวิตอยู่เพียง 2 อัลบั้ม (Frank ในปี 2003 และ Back to Black ในปี 2006) ก็มาด่วนจากไปเสียก่อน เหลือไว้แต่เพียงเพลงดังอย่าง Rehab, Back to Black, You Know I’m No Good หรือเพลงคัฟเวอร์อย่าง Valerie ให้คนข้างหลังได้ฟังกัน ภาพยนตร์สารคดีเรื่อง Amy (2015) ผลงานกำกับของ Asif Kapadia จึงเปรียบเสมือนการนำเอมี ผู้เป็นที่รัก กลับมาให้เรารู้จักกันอีกครั้ง Asif Kapadia ทำงานนี้อย่างบ้าพลังมาก เพราะกว่าจะออกมาเป็นสารคดีความยาวร่วม 2 ชั่วโมง เขาเก็บข้อมูลอย่างละเอียด สัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้องกับเอมี มากกว่า 100 บทสัมภาษณ์ จนได้สารคดีชั้นดีเรื่องนี้ออกมา ในเชิงรูปแบบการนำเสนอ สำหรับคนทำงานสกู๊ปเชิงข่าว หนัง Amy เป็นตัวอย่างที่ดีของการทำงานเชิงสารคดีให้ดูสนุกด้วยการนำวัตถุดิบทั้งหมดมา ‘ตัดแปะ’ ด้วยจังหวะที่ดูน่าสนใจตลอดเวลา การเล่าเรื่องผ่านภาพของหนังเรื่องนี้ เป็นการประกอบกันขึ้นมาของภาพฟุตเทจข่าวและรายการโทรทัศน์, ภาพโฮมวิดีโอ หรือแม้แต่ภาพนิ่ง ที่มาอย่างถูกที่ถูกเวลา ล้วนแล้วแต่ขับเน้นเนื้อหาของหนังเรื่องนี้ให้มีน้ำหนักขึ้น ภาพยนตร์สารคดี Amy: กับโลกที่ค่อย ๆ ฉีกทึ้ง เอมี ไวน์เฮาส์ ในเชิงเนื้อหา Amy เล่าเรื่องตามไทม์ไลน์ช่วงชีวิตของเอมี ไวน์เฮาส์ จากอายุ 14 ปี จนมาถึงวันสุดท้ายของชีวิต อายุ 27 ปี โดยพยายามเล่าเรื่อง ‘ความสำเร็จ’ ที่ถั่งโถมเข้ามาอย่างไม่น่าเชื่อกับสาวในครอบครัวชนชั้นกลางของอังกฤษ กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ระดับโลก และขมวดปมจนนำไปสู่คำถามใหญ่ที่ว่า อะไรที่ทำให้เอมี ไวน์เฮาส์ จบชีวิตลงด้วยยาเสพติดและแอลกอฮอล์? ยิ่งขุดลงไปในชีวิตของเอมี ยิ่งเจอเรื่องราวต่าง ๆ มากมาย ที่ชวนให้คิดว่า น่าจะเป็นสาเหตุที่ทำให้เธอจากไปก่อนวัยอันควร ทั้งในเรื่องครอบครัว ที่พ่อแม่ของเธอแยกทางกัน ทั้งมีช่วงที่พ่อช่วยดูแลตอนเธอป่วย และมีทั้งช่วงที่พ่อถือ ‘วิสาสะ’ มาถ่ายทำรายการร่วมกับเธอ ทำให้เอมีรู้สึกหนักใจ และชวนให้เห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่างเธอกับพ่อมีทั้งแย่และดี นอกจากนี้ยังมีปัญหาในเรื่องคนรัก ที่หลายครั้งทำให้เธอตกอยู่ในสถานะที่ลำบาก Amy ได้พาไปสำรวจภายในจิตใจของเอมีเองด้วย เธอต้องต่อสู้ทั้งอาการซึมเศร้า โรคบูลิเมีย (โรคกลัวอ้วน) ไปจนถึงการเสพยาและติดแอลกอฮอล์ ซึ่งแม้ว่าส่วนหนึ่งของหนังจะบอกเล่าถึงพรสวรรค์ของการทำงานเพลงของเอมี แต่ในอีกมุมหนึ่ง สภาวะจิตใจที่อ่อนแอของเธอ เห็นอย่างได้ชัดว่า วุฒิภาวะที่เป็นอยู่ของเอมียังไม่พร้อมที่จะอยู่ในพื้นที่ที่โลกทั้งโลกคอยจ้องมองเธออยู่ตลอดเวลา ทั้งสื่อมวลชน ไปจนถึงแฟนเพลง ส่วนหนึ่งของหนัง มีเสียงวอยซ์โอเวอร์บรรยายว่า “คืนวันศุกร์ เธอ(เอมี) เพิ่งให้ผมดูคลิปในแล็ปท็อปตอนเธอร้องเพลงบนเวที แล้วบอก ‘ดูสิ ฉันร้องเพลงได้!’ ผมตอบ ‘โคตรถูก คุณร้องเพลงได้’ “เธอพูด ‘แต่ถ้าให้แลก...กับการได้เดินตามถนนโดยไม่มีใครยุ่ง...ฉันยอมนะ’” แม้ว่าภาพยนตร์เรื่องนี้จะเปิดกว้างในการค้นหาสาเหตุว่าทำไมเอมีจึงเลือกที่จะใช้ยาและแอลกอฮอลล์เข้ามาจัดการชีวิต โดยไม่ชี้ธงไปว่าเป็นเพราะใคร? แต่ทรัพย์สินเงินทอง และชื่อเสียงที่นำไปสู่การเป็นคนดัง ถาโถมเข้ามาอย่างรุนแรง ทำให้เราเห็นว่า ภายใต้บุคลิกสาวมั่นที่กล้าตอบคำถามต่อสื่ออย่างเป็นตัวเองที่สุด ก็ยังมีหัวใจที่ ‘อ่อนแอ’ ที่เก็บซ่อนเอาไว้อยู่ในตัว ถ้าย้อนเวลากลับไปได้ บางทีนะ เธออาจจะอยากเป็นคนธรรมดาเดินดินมากกว่า... เพราะจากในภาพยนตร์เรื่องนี้ เรามองเห็นสิ่งที่เป็นอยู่เบื้องหลังความเป็นซูเปอร์สตาร์ของเธอ นั่นคือ ‘ชีวิต’ ที่ไร้การแต่งแต้มผ่านสื่อ อย่างเช่นตอนที่เธออยู่กับครอบครัว หรือฉากจำของหนังตอนที่เอมีแซวจัสติน ทิมเบอร์เลคในตอนประกาศผลรางวัลแกรมมี อวอร์ดส์ ในปี 2008 ก่อนที่ผู้ประกาศจะแจ้งว่าเธอได้รับรางวัล ‘Record of the Year’ เราจะเห็นความเป็นธรรมชาติของเธอ จากที่กำลังคุยเรื่องตลกกับเพื่อนอยู่ดี ๆ เธอก็เปลี่ยนเข้าสู่สีหน้าดีใจแกมประหลาดใจที่รู้ว่าตนได้รางวัลระดับโลก ชีวิตของคนหนึ่งคน เราไม่อาจจะตัดสินใจโดยใช้อคติของเราได้หรอกว่า ทำไมเขาจึงเป็นเช่นนั้นเช่นนี้? แต่หากเราเปลี่ยนจากการไป ‘ตัดสิน’ มาเป็นการทำความ ‘รู้จัก’ กับสิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ อาจจะมีบางมุมที่เราจะสามารถเข้าใจเขาได้ นี่คงเป็นสิ่งที่หนังสารคดี Amy ต้องการจะสื่อสารกระมัง... ความห่วงใยอย่างที่สุดที่เราจะมีให้กับเอมี ไวน์เฮาส์ และคนรอบตัวของเราได้ ก็คงจะคล้ายคลึงกับประโยคที่โทนี เบนเน็ตต์ นักร้องผู้ยิ่งใหญ่วัย 89 ปี ชาวอเมริกันได้กล่าวถึงเอมี ไวน์เฮาส์ ศิลปินรุ่นน้องที่อายุต่างจากเขาร่วม 60 ปี ไว้ในช่วงท้าย ๆ ของหนังเรื่องนี้ว่า “ถ้าเธอยังอยู่ ผมจะบอกว่า... ‘ช้าลงหน่อย คุณสำคัญเกินกว่าจะทำแบบนี้’ ชีวิตจะสอนวิธีใช้มันเอง ถ้าคุณอยู่กับมันนานพอ”