แอนาคาร์ซิส นักปรัชญาชาวซิเธียน เจ้าของคำพูด “กฎหมายเหมือนใยแมงมุม”

แอนาคาร์ซิส นักปรัชญาชาวซิเธียน เจ้าของคำพูด “กฎหมายเหมือนใยแมงมุม”
"กฎหมายเหมือนใยแมงมุม จับได้แต่เหยื่อที่อ่อนแอ ทันทีที่เหยื่อติดมันจะรีบวิ่งเข้าหา แต่เมื่อต้องเจอกับคนรวยและคนมีอำนาจ ใยของมันก็จะขาดวิ่นในทันที" แอนาคาร์ซิส นักปรัชญาชาวซิเธียน รัฐที่มีความเจริญทางสังคมในระดับหนึ่งมักจะประกาศว่า “บุคคลย่อมเสมอภาคต่อหน้ากฎหมาย” บนหลักเกณฑ์สากลเรื่องความเท่าเทียมและความเสมอภาค (ซึ่งอาจจะเป็นสิ่งแปลกปลอมในสังคมพุทธ-ฮินดู ที่เชื่อในเรื่องบุญญาบารมีที่แต่ละคนมีแต่กำเนิดไม่เท่ากัน แม้จะไร้ข้อพิสูจน์ก็ตาม)  แต่ในทางปฏิบัติ การเข้าถึงความยุติธรรมตามกลไกรัฐ สร้างความยากลำบากให้กับคนที่ต้องหาเช้ากินค่ำเป็นอย่างมาก ทำให้มีคนเปรียบเปรยเอาไว้ว่า “กฎหมายเหมือนใยแมงมุม”  ผู้ที่ให้คำเปรียบเปรยดังกล่าวไว้ก็คือ แอนาคาร์ซิส (Anacharsis) เจ้าชายชาวซิเธียนผู้มีชีวิตในศตวรรษที่ 6 ก่อนคริสตกาล บิดาแห่งประวัติศาสตร์ เฮอโรโดทัส (Herodotus) เล่าว่า แอนาคาร์ซิสสืบเชื้อสายจากราชวงศ์ซิเธียน อนารยชนจากทุ่งหญ้าสเตปป์ ผู้ออกเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับต่างแดนและแสวงหาความรู้ถึงเมืองกรีก และมีความชื่นชมในวิถีชีวิตของชาวกรีก ชาวกรีกโบราณหลายคนก็ยกย่องแอนาคาร์ซิสขึ้นหิ้งเทียบชั้นนักปราชญ์ระดับท็อป 7 แต่ภายหลังเมื่อแอนาคาร์ซิสเดินทางกลับบ้านเกิดเขาก็ถูกฆ่าตาย เมื่อนำเข้าพิธีกรรมบูชาเทพีองค์หนึ่งของกรีก ซึ่งไม่ถูกใจกษัตริย์ซิเธียนที่มีศักดิ์เป็นพระญาติ  แอนาคาร์ซิสได้ชื่อว่าเป็นคนที่พูดจาตรงไปตรงมา ไม่มองโลกแบบนักอุดมคติ ในบันทึกของพลูทาร์ก (Plutarch นักประวัติศาสตร์โรมันเชื้อสายกรีกรุ่นหลัง) เล่าถึงการพบกันของ แอนาคาร์ซิสกับโซลอน (Solon) รัฐบุรุษแห่งเอเธนส์เอาไว้ว่า ตอนนั้นโซลอนเล่นการเมืองแล้ว และอยู่ระหว่างการทำประมวลกฎหมาย “เมื่อแอนาคาร์ซิสรู้ว่าโซลอนกำลังยุ่งอยู่กับอะไรก็ได้แต่ขำที่โซลอนเชื่อว่า จะจัดการกับความอยุติธรรมและความโลภของประชาชนได้ด้วยการเขียนกฎหมาย ที่เหมือนกับใยแมงมุม ซึ่งจับได้แต่เหยื่อที่อ่อนแอ ทันทีที่เหยื่อติดมันจะรีบวิ่งเข้าหา แต่เมื่อต้องเจอกับคนรวยและคนมีอำนาจ ใยของมันก็จะขาดวิ่นในทันที “ตรงนี้กล่าวกันว่าโซลอนได้ตอบกลับไปว่า คนเราย่อมรักษาข้อตกลงใด ๆ เมื่อต่างฝ่ายต่างไม่ได้ประโยชน์จากการกระทำผิดข้อตกลงนั้น ๆ และเขาก็ปรับใช้กฎหมายกับพลเมืองตามพฤติการณ์ดังกล่าว เพื่อแสดงให้เห็นว่า การปฏิบัติตามกฎหมายมีประโยชน์กว่าการละเมิดกฎหมาย  “แต่ผลลัพธ์ดูจะตรงกับการคาดหมายของแอนาคาร์ซิส มากกว่าความมุ่งหมายของโซลอน และก็เป็นแอนาคาร์ซิสเช่นกันที่กล่าวหลังได้ร่วมการประชุมของสภาว่า เขาได้แต่ทึ่งเมื่อพบว่าในหมู่ชาวกรีก นักปราชญ์ทำได้แค่พูด แต่คนโง่กลับเป็นผู้ตัดสิน”  เวลาได้ผ่านไปกว่า 2,500 ปีแล้ว แต่คำพูดของแอนาคาร์ซิสก็ยังคงความเป็นอมตะ แม้แต่ในปัจจุบันโดยเฉพาะในสังคมไทยเอง ที่คนจนไม่น้อยต้องตกเป็นเหยื่อของกระบวนการยุติธรรม แทนที่กระบวนการดังกล่าวจะช่วยปกป้องสิทธิและเสรีภาพของพวกเขา  เช่น สมศักดิ์ ประสานทรัพย์ อดีตนักโทษคดีเผาศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี ทั้งที่ตอนเกิดเหตุ (พ.ศ. 2553) เขาเป็นอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือนที่เข้าไปช่วยเหลือเหตุเพลิงไหม้ แต่ภาพถ่ายขณะเขาช่วยเหลือผู้ได้รับบาดเจ็บ กลับถูกใช้เป็นหลักฐานปรักปรำว่าเขาคือหนึ่งในผู้กระทำความผิด เบื้องต้นถูกพิพากษาจำคุกกว่า 30 ปี ก่อนได้รับการปล่อยตัวในปี พ.ศ. 2561 ซึ่งระหว่างที่เขาต้องโทษอยู่นั้น เขาต้องเสีย แม่ พ่อ ตามด้วยลูกชาย โดยไม่มีโอกาสได้ร่วมงานศพ ความเครียดยังทำให้เขาป่วยเป็นอัมพฤกษ์ (อีสานเรคคอร์ด) หรือ สายชล แพรบัว จำเลยคดีเผาเซ็นทรัลเวิลด์ ที่ถูกซ้อมให้รับสารภาพว่าเผาห้าง โดยใช้ภาพของเขาขณะถือ "ถังดับเพลิง" อยู่ในที่เกิดเหตุเป็นหลักฐานประกอบ ระหว่างการพิจารณาคดี เขาถูกจำคุกในเรือนจำถึง 4 ปี โดยไม่ได้รับการประกันตัว ถูกนักโทษด้วยกันทำร้าย เมื่อรู้ว่าเขาเป็นเป็นจำเลยคดีเผาห้างเซ็นทรัลเวิลด์ ก่อนที่สุดท้ายศาลชั้นต้นมีคำสั่งยกฟ้องในปี 2556 (ประชาไท 1, 2) ในแวดวงกฎหมาย ยังมีหลักการหนึ่งที่ได้รับการยึดถือในหลายสำนัก นั่นคือคำกล่าวของ วิลเลียม แบล็กส์ตัน (William Blackstone) นักกฎหมายอังกฤษในศตวรรษที่ 18 ที่ว่า "ปล่อยให้คนร้าย 10 คนหนีโทษไปได้ ยังดีกว่าปล่อยให้คนบริสุทธิ์ 1 คน ต้องมารับบาป" ซึ่งเป็นหลักการสำคัญในการพิจารณาคดีอาญาที่ว่า โจทก์จะต้องแสดงหลักฐานให้ “สิ้นสงสัย” ว่าจำเลยกระทำผิดจริง หากยังมีข้อสงสัยประการใดก็ต้อง ยกประโยชน์ให้กับจำเลย หลักการดังกล่าวถือเป็นหลักการที่ดี แต่น่าสงสัยว่า มันได้ถูกนำมาใช้กับกรณีที่จำเลยเป็นคนจนมากน้อยแค่ไหน ถึงได้เกิดกรณีของสมศักดิ์ หรือสายชล หรือแพะในคดีดังอย่างคดีฆาตกรรม “เชอรี่ แอน” ที่ต้องตายฟรีขณะติดคุก แต่หากจำเลยหรือผู้ถูกกล่าวหาเป็นคนรวยและมีอำนาจ การ “ยกประโยชน์ให้กับจำเลย” มีให้เห็นอยู่เสมอ ซึ่งต้องย้ำว่า โดยหลักการเป็นเรื่องที่ดี แต่มันต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม และโปร่งใส ไม่ใช่การอ้างหลักการนี้โดยหมกเม็ด (เช่น มีหลักฐานหนักแน่นพอให้ศาลพิจารณา แต่ตัดตอนกระบวนการยุติธรรมด้วยการสั่งไม่ฟ้อง) ไม่เช่นนั้นก็จะเป็นอย่างที่แอนาคาร์ซิสได้กล่าวไว้ว่า “กฎหมายเป็นเหมือนใยแมงมุม” ทั้งที่มันควรเป็นส่วนหนึ่งของ “สัญญาประชาคม” ที่ประชาชนทุกคนต้องรักษาเพื่อประโยชน์ร่วมกัน ดั่งความเห็นของโซลอน