อนาคาริกธรรมปาละ ผู้ริเริ่มชิงอำนาจดูแล “พุทธคยา” จากชาวฮินดู

อนาคาริกธรรมปาละ ผู้ริเริ่มชิงอำนาจดูแล “พุทธคยา” จากชาวฮินดู
"(พุทธคยา) พื้นที่ที่เป็นที่รัก ศรัทธาและหวงแหนเหนืออื่นใดในโลกสำหรับชาวพุทธกว่า 400 ล้านคนจากจีน ญี่ปุ่น มองโกเลีย อัสสัม กัมพูชา พม่า... ศรีลังกา... ถ้าคุณได้เดินทางมาที่นี่ ที่ที่เพื่อนมนุษย์นับล้าน ๆ คนของเรารักเป็นหนักหนา ก็คงได้แต่เฝ้ามองด้วยความเศร้าและอนาถใจ... พระพุทธรูปศิลา...ถูกใช้เป็นตุ้มถ่วงคันโยกปั๊มน้ำ เสาอโศก โบราณวัตถุที่เก่าแก่ที่สุดของสถานที่แห่งนี้ หรืออาจจะกล่าวได้ว่าเป็น 'อนุสรณ์ความทรงจำที่เก่าแก่ที่สุดของอินเดีย' ซึ่งถูกประดับทางเดินสู่วิหาร ตอนนี้ได้ถูกนำมาใช้เป็นเสาค้ำโรงครัวของมหันต์ (ผู้นำชาวฮินดู) ไปเสียแล้ว"   เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ นักเขียนชาวอังกฤษในศตวรรษที่ 19 (เจ้าของผลงาน “The Light of Asia” งานเขียนที่ทำให้ตะวันตกสนใจศาสนาพุทธเป็นอย่างมาก) กล่าวถึงพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าซึ่งตกอยู่ภายใต้การดูแลของชาวฮินดู  นักเขียนผู้นี้เองที่เป็นแรงบันดาลใจให้กับ อนาคาริกธรรมปาละ (Anagarika Dharmapala) นักกิจกรรมชาวพุทธจากศรีลังกา ผู้ฟื้นฟูสถานะของพระพุทธศาสนาในช่วงศตวรรษที่ 19 หันมารณรงค์เพื่อแย่งชิงสิทธิในการดูแล “พุทธคยา” รวมถึงพุทธสถานอื่น ๆ ที่อยู่ในความดูแลของชาวฮินดู ให้กลับมาอยู่ในมือของชาวพุทธอีกครั้ง พุทธคยา สังเวชนียสถานสำคัญของศาสนาพุทธ ปัจจุบันตั้งอยู่ในจังหวัดคยา รัฐพิหาร พระเจ้าอโศกได้รับเครดิตว่าเป็นผู้สร้างวิหารหลังแรกให้กับพุทธคยาในปี 260 ก่อนคริสตกาล และกลายเป็นสถานที่แสวงบุญที่ชาวพุทธผู้ศรัทธาเดินทางมาคารวะเรื่อยมา โดยเฉพาะนักบวชจากต่างแดน หลังพุทธศาสนาในอินเดียเสื่อมโทรมลงเป็นลำดับ ทั้งนี้ ความเสื่อมโทรมของศาสนาพุทธนั้นมีมาก่อนการรุกรานของอาณาจักรมุสลิมหลายร้อยปี เห็นได้จากบันทึกของพระถังซัมจั๋ง พระจีนจากศตวรรษที่ 7 ที่เดินทางมาแสวงบุญ เล่าถึงสถานภาพของศาสนาพุทธในขณะนั้นว่า กำลังเสื่อมถอยในพื้นที่ภาคใต้และตะวันตกเฉียงเหนือ หลังการปฏิรูปของฝ่ายฮินดูทำให้เกิดการแพร่อิทธิพลอย่างกว้างขวาง และได้เห็นการก่อสร้างวิหารพราหมณ์ใหม่  ๆ อยู่มากมาย ขณะที่วิหารพุทธใหม่ ๆ แทบไม่มี ของเดิมที่มีก็ค่อย ๆ ถูกทิ้งร้าง พุทธคยาจึงหมดความสำคัญลงไปตามลำดับ เมื่อคนท้องถิ่นทยอยละทิ้งศาสนาพุทธ ยิ่งศตวรรษที่ 13 หลังการรุกรานของอาณาจักรมุสลิม พุทธสถานแห่งนี้ก็แทบจะถูกทิ้งร้าง พระธรรมสวามิน พระจากทิเบตที่เดินทางมายังพุทธคยาในยุคนี้เล่าว่า พุทธคยาอยู่ในสภาพที่ทรุดโทรมยิ่งนัก อารามท้องถิ่นมีพระสงฆ์อยู่เพียง 4 รูปเท่านั้น และมีการนำเทวรูปขนาดใหญ่มาตั้งไว้หน้าทางเข้า ซึ่งเขาเข้าใจไปว่ามันคือทวารบาล แต่มันอาจจะเป็นหลักฐานการเข้ามาของเทวรูปฮินดูตั้งแต่ศตวรรษนั้นแล้วก็เป็นได้ ต่อมาในช่วงปลายศตวรรษที่ 16 กลุ่มนักบวชจากไศวนิกายสาขาหนึ่งก็เริ่มลงหลักปักฐานในพื้นที่พุทธคยา โดยมีหัวหน้าคณะนักบวชเรียกว่า “มหันต์” ทำหน้าที่เป็นเหมือนเจ้าอาวาส ดูแลวิหารและอารามในพื้นที่ทั้งหมดเรื่อยมา เมื่อเข้าสู่ยุคอาณานิคม มีบันทึกของชาวตะวันตกที่เล่าถึงธรรมเนียมของชาวฮินดูที่รับเอาโบราณสถานของชาวพุทธมาใช้อย่างไม่เคอะเขิน โดยมีการครอบคติเรื่องเล่าแบบฮินดูเข้าไปโดยไม่ต้องดัดแปลงมาก อย่างเช่นการบอกว่าเจดีย์หรือสถูปของชาวพุทธแท้จริงคือลึงค์ของพระศิวะ ขณะที่สายไวษณพนิกายก็อธิบายว่า พระพุทธเจ้านั้น แท้จริงคืออวาตารหนึ่งของพระนารายณ์ไปเสีย ยุคนี้เองที่กษัตริย์พม่าหันมาสนใจพุทธคยาอีกครั้ง โดยใน ค.ศ. 1871 พระเจ้ามินดงทรงขออนุญาตเจ้าอาณานิคมอังกฤษส่งทีมงานไปบูรณะพุทธคยา อังกฤษก็บอกว่าทำได้ แต่อย่าไปรบกวนชาวฮินดูเจ้าถิ่นเข้าก็แล้วกัน  เมื่อฝ่ายมหันต์ผู้ดูแลตกลงด้วย ทีมงานของพระเจ้ามินดงก็ได้เข้ามาบูรณะพุทธคยา แต่ปรากฏว่า การบูรณะของชาวพม่านั้นไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการอนุรักษ์ของเก่าจนสร้างความเสียหายอย่างรุนแรงกับวิหารโบราณ บูรณะได้ไม่นานก็ถูกเชิญออกจากพื้นที่ แล้วรัฐบาลอาณานิคมก็ต้องจัดการซ่อมแซมเสียใหม่ ด้วยเงินทุน 200,000 รูปี แม้ว่ารัฐบาลอาณานิคมมิได้ประสงค์ที่จะส่งเสริมพุทธศาสนาเลยก็ตาม หากแต่มีวาระที่ต้องการจะเปลี่ยนพุทธคยาให้เป็นอนุสรณ์สถานที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ มากกว่าเป็นศาสนสถานของกลุ่มความเชื่อใด อย่างไรก็ดี แผนการของรัฐบาลอาณานิคมไม่ประสบความสำเร็จ และการมาถึงของ อนาคาริก ธรรมปาละ ก็ยิ่งเพิ่มความซับซ้อนให้กับการจัดการศาสนสถานแห่งนี้ยิ่งขึ้นไปอีก เพราะต่างจากกษัตริย์พม่าที่เคารพในกรรมสิทธิ์ของชาวฮินดูที่ถือครองศาสนสถานแห่งนี้มาหลายร้อยปี (เห็นได้จากการที่พระองค์ต้องทรงขออนุญาตจากมหันต์เสียก่อน) ธรรมปาละเห็นว่า ศาสนสถานแห่งนี้ควรเป็นของชาวพุทธเท่านั้น จากข้อมูลของ รูติกา คานธี (Rutika Gandhi) ในวิทยานิพนธ์ของ University of Lethbridge เรื่อง Reclaiming Buddhist Sites in Modern India: Pilgrimage and Tourism in Sarnath and Bodhgaya และหนังสือเรื่อง The Rebirth of Bodh Gaya: Buddhism and the Making of a World Heritage Site โดย เดวิด เกียรี (David Geary) ธรรมปาละเป็นนักกิจกรรมที่รณรงค์เรียกร้องทั้งอิสรภาพของชาวสิงหล เป็นผู้ก่อตั้งสมาคมมหาโพธิ์ ผู้ฟื้นฟูศาสนาพุทธในชมพูทวีป และเป็นผู้นำที่ริเริ่มการทวงสิทธิของชาวพุทธในการจัดการโบราณสถานที่มีรากเหง้าดั้งเดิมมาจากศาสนาพุทธ ทั้งพุทธคยา สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า และสารนาถ  เดิมธรรมปาละมีชื่อว่า เดวิด เหววิตรเน (David Hewavitarne) เกิดเมื่อปี 1864 ในครอบครัวชาวสิงหลนับถือพุทธ ฐานะดี พูดภาษาอังกฤษ เขามีโอกาสได้ใกล้ชิดกับชาวตะวันตกที่ศรัทธาในศาสนาพุทธอย่าง เซอร์เฮนรี สตีล โอลคอตต์ (Henry Steel Olcott) และมาดามเฮเลนา เปโตรนา บลาวัตสกี (Helena Petrona Blavatsky) ผู้ก่อตั้งสมาคมเทวปรัชญา (Theosophical Society) ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น ระหว่างที่เขามีโอกาสเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นร่วมกับโอลคอตต์นี่เอง ที่เขาได้อ่าน Light of Asia งานของอาร์โนลด์ (เผยแพร่ครั้งแรกปี 1879) ธรรมปาละเคยเล่าว่า "ความคิดที่จะฟื้นฟูกรุงเยรูซาเล็มของชาวพุทธให้กลับมาอยู่ในการดูแลของชาวพุทธมีจุดเริ่มมาจาก เซอร์เอ็ดวิน อาร์โนลด์ หลังจากที่เขาได้ไปเยือนดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ (พุทธคยา) ในปี 1886 จึงเป็นเขานี่เองที่ทำให้ฉันอยากเดินทางมายังวิหารแห่งนี้ และนับแต่ปี 1891 ฉันก็ได้ทำทุกอย่างที่จะทำได้ เพื่อให้ชาวพุทธในทุกดินแดนได้สนใจโครงการฟื้นฟูบูรณะ" ในปี 1889 เดวิด เหววิตรเน ก็เปลี่ยนชื่อเป็น อนาคาริกธรรมปาละ (อนาคาริก เป็นคำนำหน้าบอกสถานะแปลว่า ผู้ไม่ครองเรือนแม้จะไม่ได้อยู่ในสถานะนักบวชในศาสนาพุทธ ส่วนคำว่า ธรรมปาละ แปลว่า ผู้รักษาพระธรรม) จากนั้นในปี 1891 ธรรมปาละได้เดินทางไปยังสารนาถ และพุทธคยา ร่วมกับสหายคือพระโกเซน คุณรัตนะ (Kozen Gunaratana) พระชาวญี่ปุ่น  ในการเดินทางไปยังพุทธคยาครั้งแรก เขาคิดไปเองว่า ผู้ดูแลจะยอมยกพื้นที่แห่งนี้คืนมาอยู่ในความดูแลของชาวพุทธแต่โดยดี และหวังจะให้พุทธคยาเป็นจุดศูนย์รวมใจของชาวพุทธทั่วโลก แต่เมื่อมาถึงเขาจึงได้รู้ว่า พื้นที่แห่งนี้อยู่ในความดูแลของชาวฮินดูอย่างเข้มแข็ง และไม่ยอมมอบพื้นที่แห่งนี้ให้อย่างง่าย ๆ  ธรรมปาละอาศัยอยู่ในเรือนซึ่งเคยเป็นของคณะสงฆ์จากพม่า และเริ่มเขียนจดหมายไปถึงสมาคมชาวพุทธในประเทศต่าง ๆ ให้หันมาสนใจพุทธคยา และระดมทุนเพื่อใช้ขอซื้อพุทธคยาคืนจากมหันต์ ระหว่างที่รอให้มีพระในศาสนาพุทธมาประจำอยู่ที่เรือนพม่าในพุทธคยา  เมื่อมีพระสงฆ์ 4 รูปมารับช่วงต่อ ธรรมปาละจึงกลับไปศรีลังกาแล้วตั้งสมาคมมหาโพธิ์ขึ้นในปีเดียวกัน ด้วยเป้าหมายสำคัญคือ เพื่อกู้ รื้อฟื้น และบูรณะพุทธยาให้กลับมาเป็นของชาวพุทธ และมุ่งหมายให้สมาคมเป็นเครื่องมือในการเชื่อมต่อชาวพุทธชาติต่าง ๆ เข้าด้วยกัน  เบื้องต้นทางสมาคมยื่นขอความช่วยเหลือไปยังรัฐบาลอาณานิคมให้ช่วยเวนคืนพุทธคยามาจากชาวฮินดู แล้วชาวพุทธจะขอซื้อเอง แต่ทางรัฐบาลไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับกิจการทางศาสนาจึงไม่เอาด้วย ธรรมปาละจึงต้องเข้าไปเจรจากับมหันต์โดยตรงแต่ก็ไม่ได้ผล เขาจึงหวังพึ่งอิทธิพลจากนานาชาติช่วยกดดันเพื่อให้รัฐบาลลงมือเข้าแทรกแซง โดยเริ่มออกวารสารสมาคมมหาโพธิ์เพื่อโปรโมตการรณรงค์ของเขาในปี 1892 แต่จุดสำคัญที่ทำให้เขาเป็นที่รู้จักคือ การเดินทางไปร่วมงานสภาศาสนาโลกที่ชิคาโกในปี 1893 ในฐานะตัวแทนของชาวพุทธ เขาได้แสดงวิสัยทัศน์ในการรวมเอเชียไว้ใต้ร่มเงาแห่งศาสนาพุทธเหมือนเช่นพระเจ้าอโศก ด้วยหวังว่าความเป็นหนึ่งเดียวของชาวพุทธจะช่วยเปิดทางให้ชาวพุทธกลับมามีอิทธิพลเหนือศาสนสถานสำคัญทั้งที่พุทธคยาและสารนาถ ขณะเดียวกันก็ยืนยันว่าชาวพุทธมิได้คุกคามชาวฮินดูแต่ประการใด งานครั้งนั้นทำให้ธรรมปาละเป็นที่รู้จักระดับนานาชาติ และได้รับความชื่นชมเป็นอย่างมากกับการปาฐกถาอย่างยอดเยี่ยม ทั้งเนื้อหาและภาษา ทำให้เขาได้รับการสนับสนุนจากผู้ศรัทธาในอุดมการณ์ของเขามากมาย  (ในงานเดียวกันยังมีชาวฮินดูที่โดดเด่นไม่แพ้ธรรมปาละนั่นคือ สวามีวิเวกานันดา [Swami Vivekananda] ผู้กล่าวว่า พระพุทธเจ้าคือหัวใจ ขณะที่พรามหณ์คือศีรษะของศาสนาฮินดู โดยในการปาฐกถาหลายครั้งวิเวกานันดาพร้อมจะอ้างถึงพระพุทธเจ้าในฐานะชาวอินเดียที่น่าภาคภูมิใจคนหนึ่งเสมอ และเป็นหนึ่งในบุคคลที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาลัทธิชาตินิยมฮินดู) ความขัดแย้งระหว่างธรรมปาละกับมหันต์ถึงจุดแตกหักในปี 1895 เมื่อเขานำพระพุทธรูปอมิตาภะพุทธเจ้า ที่เขาได้จากญี่ปุ่นขึ้นประดิษฐานในห้องชั้นบนของวิหารพุทธคยา ซึ่งถูกมองว่าเป็นการยั่วยุ จึงถูกคนของมหันต์เข้าขัดขวางและนำพระพุทธรูปออกไปวางกลางสนามหญ้าแทน การกระทำในครั้งนั้นเขาไม่ได้รับการสนับสนุนจากชาวพุทธกลุ่มอื่น ๆ ที่ยอมอยู่ในเงื่อนไข “ขอแบ่งปัน” พื้นที่ร่วมกับชาวฮินดูในพื้นที่พุทธคยา และเมื่อคดีความไปถึงชั้นศาล ธรรมปาละที่ต้องการให้พุทธคยาเป็นของชาวพุทธฝ่ายเดียวพยายามต่อสู้ว่า ชาวฮินดูผู้ครองพื้นที่ไม่ได้ให้ความเคารพกับพระพุทธเจ้าอย่างที่เหมาะที่ควร เมื่ออีกฝ่ายแย้งว่า พระพุทธเจ้าได้รับการเคารพอย่างเทพเจ้าฮินดูในฐานะอวตารของพระวิษณุ เขาก็อ้างว่า ถึงฝ่ายฮินดูจะอ้างเช่นนั้น แต่ชาวฮินดูก็มิได้เคารพพระพุทธเจ้าเสมออวตารร่างอื่น ๆ ของพระวิษณุ นอกจากนี้ชาวฮินดูยังปฏิบัติต่อพระพุทธรูปอย่างผิดธรรมเนียมทั้งการเจิมสีที่หน้าผากพระพุทธรูป นุ่งห่มด้วยผ้าหลากสีและประดับพระเศียรด้วยดอกไม้ เขาพยายามอธิบายต่อศาลถึงเส้นแบ่งทางความเชื่อของชาวพุทธและชาวฮินดูและไม่ยอมรับการครอบงำความเชื่อว่าพระพุทธเจ้าคืออวตารของพระวิษณุ แต่การต่อสู้คดีของเขาก็กลายเป็นฝ่ายพ่ายแพ้ในที่สุด ภาพลักษณ์ของธรรมปาละหลังการต่อสู้คดีไม่ดีนัก โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่รัฐที่เห็นเขาเป็นตัวสร้างปัญหา หรือแม้แต่ในหมู่ชาวพุทธ โดยระหว่างปี 1916 ถึง 1917 ธรรมปาละถูกรัฐบาลเบงกอลกักตัวในข้อหารังควานกษัตริย์สยาม (ตรงกับรัชสมัยของ พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 6) ซึ่งต้องการความคุ้มครองจากธรรมปาละ ที่พยายามเรียกร้องให้พระองค์ทรงเป็นผู้นำในการกอบกู้พุทธคยา จึงเป็นอีกส่วนหนึ่งที่ทำให้ชื่อเสียงของธรรมปาละเสื่อมโทรมลงในระดับนานาชาติ แม้ลอร์ดคูร์ซอน (George Curzon) อุปราชแห่งอินเดียในขณะนั้นจะเห็นด้วยกับธรรมปาละ และพยายามที่จะนำพุทธคยาเข้ามาอยู่ใต้การดูแลตามกฎหมายอนุรักษ์อนุสรณ์สถานโบราณ (1904) แต่ก็ไม่ได้รับความร่วมมือจากฝ่ายมหันต์ ถึงอย่างนั้นธรรมปาละก็ไม่ได้พ่ายแพ้โดยสิ้นเชิง เขายังได้มาซึ่งที่ดินแปลงหนึ่งเพื่อสร้างเรือนรับรองของสมาคมมหาโพธิ์ ซึ่งน่าจะเป็นความสำเร็จเป็นรูปธรรมที่สุดในการต่อสู้ของธรรมปาละในคราวนั้น ภายหลังธรรมปาละหันไปขอความช่วยเหลือจากมหาตมะ คานธี ผู้นำชาตินิยมอินเดีย คานธีให้คำตอบแบ่งรับแบ่งสู้ว่า เขาคงช่วยอะไรไม่ได้ตอนนี้ แต่หากอินเดียได้รับอิสรภาพแล้ว เขาน่าจะสามารถช่วยเหลือธรรมปาละได้บ้าง  แต่กว่าอินเดียจะได้รับอิสรภาพ ธรรมปาละก็เสียชีวิตลงก่อนแล้วในปี 1933 และคานธีก็เสียชีวิตลงไม่นานหลังอินเดียได้รับอิสรภาพ (1947) โดยไม่ได้มีส่วนช่วยให้ชาวพุทธได้กลับมาครอบครองพุทธคยาแต่อย่างใด การต่อสู้ของธรรมปาละใช่ว่าจะสูญเปล่า เพราะสิ่งที่เขาเรียกร้องก็ค่อย ๆ ได้รับความสนใจจากนานาชาติมากขึ้น รัฐบาลอินเดียหลังได้รับอิสรภาพ (ใหม่ ๆ) อย่างน้อยก็พยายามทำตัวเป็นรัฐทางโลก และเห็นใจการต่อสู้ของชาวพุทธที่ต้องการมีส่วนในการจัดการพุทธคยา โดยได้มีการออกกฎหมาย Bodhgaya Temple Act ในปี 1949  กฎหมายดังกล่าวกำหนดให้อำนาจจัดการพุทธคยาจากเดิมที่อยู่ในมือมหันต์ มาอยู่ที่คณะกรรมการอันประกอบด้วยสมาชิก 8 คน ทั้งหมดต้องเป็นคนอินเดีย นับถือพุทธ 4 คน เป็นฮินดู 4 คน (หนึ่งในฝ่ายฮินดูต้องมีมหันต์ด้วย 1 คน) และมีผู้อำนวยการเขตคยานั่งเป็นประธานโดยตำแหน่ง ถ้าหากผอ.เขตเป็นฮินดู แต่ถ้าผอ.เขตไม่ใช่ฮินดู รัฐต้องตั้งประธานที่เป็นฮินดูมานั่งแทน แปลว่า คณะกรรมการชุดนี้การันตีว่าเสียงข้างมากต้องเป็นชาวฮินดู ทำให้การต่อสู้เพื่อสิทธิในการจัดการศาสนสถานแห่งนี้ (แต่ฝ่ายเดียว) ของชาวพุทธจึงยังไม่จบสิ้นจนถึงปัจจุบัน