อันเดอร์ส แทกเนล (สาธารณสุขสวีเดน): คุมโควิด-19 ด้วย ความเชื่อใจ และ ภูมิคุ้มกันหมู่

อันเดอร์ส แทกเนล (สาธารณสุขสวีเดน): คุมโควิด-19 ด้วย ความเชื่อใจ และ ภูมิคุ้มกันหมู่
เมื่อการระบาดของโควิด-19 ทะลักเข้าประเทศใด หากระบบสาธารณสุขของประเทศนั้นเกินจะรับไหวก็จะมีการประกาศ "ล็อกดาวน์" เหมือนเช่นที่อิตาลี หรือบางประเทศก็ทำการล็อกดาวน์ประกาศใช้กฎหมายพิเศษจำกัดเสรีภาพของประชาชนตั้งแต่เนิ่น ๆ อย่างเช่นประเทศไทย ที่คุมการระบาดได้ดีจนได้รับคำชมจากองค์การอนามัยโลก (WHO) แม้ว่าจะกระทบต่อการใช้ชีวิตประจำวันของประชาชนเป็นอย่างสูง และการชดเชยเป็นไปอย่างล่าช้า ขณะที่ สวีเดน เลือกใช้วิธีการที่ต่างกันออกไป พวกเขาไม่คิดที่จะใช้มาตรการ "บังคับ" ประชาชนว่าพวกเขาต้องประพฤติตนอย่างไรในภาวะเช่นนี้ รวมถึงมิได้สั่งปิดกิจการต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดการรวมตัวของประชาชนอีกด้วย  หากพิจารณาจากตัวเลข สวีเดนมีประชากรราว 10.2 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อแล้วราว 24,000 คน และเสียชีวิตราว 3,000 ราย (ณ วันที่ 7 พฤษภาคม 2020) หากเทียบกับประเทศในแถบสแกนดิเนเวียด้วยกันเช่น เดนมาร์ก มีประชากรราว 5.8 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อราว 10,000 คน เสียชีวิตราว 500 ราย ส่วนนอร์เวย์มีประชากรราว 5.3 ล้านคน มีผู้ติดเชื้อราว 8,000 คน เสียชีวิตราว 200 ราย  ตัวเลขผู้เสียชีวิตต่อประชากร 1 ล้านคน ของสวีเดนจึงสูงถึง 300 ราย เทียบไม่ได้เลยกับประเทศเพื่อนบ้านใกล้เคียงอย่างนอร์เวย์ซึ่งอยู่ที่ 40 ราย และเดนมาร์กที่ 87 ราย และสูงยิ่งกว่าสหรัฐฯ ซึ่งมีตัวเลขอยู่ที่ 226 ราย จากสถิติการเสียชีวิตจากโควิด-19 อย่างเดียว คงบอกไม่ได้ว่า สวีเดน “ประสบความสำเร็จ”  หลายคนโจมตีนโยบายของรัฐบาลสวีเดนว่า ให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจมากกว่าชีวิตของประชาชน หรือให้ค่ากับชีวิตของคนไม่เท่ากัน เพราะผลของนโยบายทำให้ผู้สูงอายุเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก ด้วยวัตถุประสงค์ของนโยบายดังกล่าวมาจากเป้าหมายที่จะให้ประชาชนที่มีสุขภาพแข็งแรงได้รับเชื้อ ซึ่งอาจจะป่วยเป็นระยะเวลาหนึ่งแล้วก็หาย ทำให้เกิดภูมิต้านทาน ยิ่งคนกลุ่มนี้มีมากขึ้นก็จะทำให้เกิด “ภูมิคุ้มกันหมู่” ซึ่งจะช่วยจำกัดการแพร่กระจายของไวรัสได้เป็นอย่างดี แต่เมื่อไม่สามารถกันกลุ่มผู้สูงอายุซึ่งมีอัตราการเสียชีวิตสูงหากติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงทำให้คนกลุ่มนี้โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยในบ้านพักผู้สูงอายุ กลายเป็นผู้รับบาปเคราะห์จากนโยบายของรัฐบาล อย่างไรก็ดี ด้วยความเข้าใจและบริบททางสังคมที่แตกต่าง นโยบายของสวีเดนกลับได้รับการยอมรับเป็นอย่างมากจากประชาชน โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุเองที่แม้จะมีความเสี่ยงสูง อันเป็นผลมาจากความเชื่อใจในฝีมือของรัฐบาล  จากผลสำรวจซึ่งมีคณะจัดทำนำโดยนักวิชาการสวีเดน เอริก แวงสตอร์ม (Erik Wengström) จาก Lund University และ โอลา แอนเดอร์สสัน (Ola Andersson) จาก Uppsala University เผยแพร่เมื่อ 29 เมษายน 2020 ซึ่งได้ทำการสอบถามความเห็นจากบุคคลกลุ่มอายุต่าง ๆ จำนวน 1,600 คน ผลปรากฏว่า 31 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า มาตรการของรัฐยังไม่เข้มแข็งพอ อีก 18 เปอร์เซ็นต์ ไม่มีความเห็นไปในทางใด และ 51 เปอร์เซ็นต์ บอกว่า มีความเข้มข้นเพียงพอแล้ว (The Conversation และหากแยกย่อยลงไปเป็นกลุ่มช่วงอายุก็ยิ่งพบว่า ชาวสวีเดนอายุยิ่งมากก็ยิ่งให้การสนับสนุนรัฐบาล แม้ว่า นโยบายดังกล่าวอาจะส่งผลกระทบต่อพวกเขามากก็ตาม โดยในกลุ่มอายุระหว่าง 15-29 ปี ให้การสนับสนุนนโยบายรัฐบาลที่ 40 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ผู้มีอายุสูงกว่า 70 ปี กลับให้การสนับสนุนถึง 61 เปอร์เซ็นต์ และผู้อยู่เบื้องหลังนโยบายอย่าง อันเดอร์ส แทกเนล (Anders Tegnell) ก็ยังได้รับการยกย่องเป็นอย่างสูง บางคนถึงขนาดสักหน้าของเขาบนท่อนแขนราวกับเป็น “ฮีโร” แทกเนลคือ statsepidemiolog ซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่สูงสุดผู้ดูแลเรื่องโรคระบาดของสำนักงานสาธารณสุข ก่อนหน้านี้เขาแทบไม่เป็นที่รู้จัก แต่เมื่อเกิดการระบาด แทกเนลก็กลายเป็นใบหน้าที่ประชาชนแทบทุกคนจะได้เห็นแทบทุกวัน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลในการสื่อสารกับประชาชนถึงสถานการณ์รายวัน และข้อแนะนำจากภาครัฐในการต่อสู้กับการระบาดของโควิด-19 โดยระบบ รัฐธรรมนูญสวีเดนไม่ได้ให้อำนาจกับรัฐบาลในการประกาศภาวะฉุกเฉินขณะบ้านเมืองไม่ได้อยู่ในภาวะสงคราม พรบ.ฉุกเฉินอย่างเมืองไทยที่จะใช้จำกัดเสรีภาพของประชาชน (เป็นการชั่วคราว) จึงไม่มี ขณะเดียวกัน การบริหารงานของรัฐบาลก็ทำในนามคณะรัฐมนตรี ไม่ใช่ระบบแบบที่รัฐมนตรีแต่ละคนมีอำนาจไปสั่งการตามกระทรวงอย่างรัฐบาลทั่วไป  กลไกการทำงานในภาคปฏิบัติก็ต้องปล่อยให้เจ้าหน้าที่รัฐดำเนินการไป รัฐมนตรีจะลงมาสั่งการหรือชี้นิ้วให้ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ ไม่เช่นนั้นจะถูกโจมตีว่าแทรกแซงการทำงานของเจ้าหน้าที่ หรือ "ministerstyre" ซึ่งถือเป็นสิ่งต้องห้ามทางการเมือง (Sweden and COVID 19: A Constitutional Perspective) รัฐบาลและรัฐสภาจะชี้นำการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐได้ก็ด้วยการออกกฎหมาย การจัดสรรงบประมาณ และการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่ประจำหน่วยงานต่าง ๆ เท่านั้น (นี่เป็นกลไกที่ออกแบบมาเพื่อป้องกันการทุจริตสไตล์สวีเดน)  แทกเนลแม้จะไม่มีตำแหน่งรัฐมนตรี จึงกลายเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดนโยบายสำหรับรับมือกับการระบาดของโควิด-19 และรัฐบาลสวีเดนก็ให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ซึ่งแทกเนลยืนยันว่า เป้าหมายของสวีเดนก็ไม่ได้ต่างไปจากประเทศอื่น ๆ อย่างที่สื่อรายงานจนเกินความเป็นจริง "เหมือนกับที่อื่น ๆ เราต้องการชะลอการระบาดของไวรัสลงไปต่ำกว่าระดับที่จะทำให้ระบบสาธารณสุขและสังคมล้มลง รวมถึงการปกป้องพลเมืองผู้สูงอายุของเรา" แทกเนลกล่าว (The Local) ในขณะที่หลายประเทศในยุโรปเลือกใช้วิธีการ "ล็อกดาวน์" เพื่อชะลอการระบาด ประชาชนชาวสวีเดนยังคงไปร้านอาหาร ช็อปปิ้ง เที่ยวบาร์ ตัดผม เล่นฟิตเนส เตะฟุตบอลได้ตามปกติ แต่นั่นไม่ได้แปลว่า รัฐบาลจะปล่อยให้ทุกคนทำอะไรตามใจชอบ หากมีการเน้นย้ำเรื่องการรักษาความสะอาดและสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ การสั่งปิดโรงเรียนก็มี แต่มีเฉพาะในชั้นมัธยมปลายและมหาวิทยาลัยที่รัฐบาลขอให้ทำการเรียนการสอนทางไกลไปก่อน ส่วนโรงเรียนของเด็กเล็กชั้นอนุบาลและประถมซึ่งจากสถิติมีความเสี่ยงต่ำกว่าก็ให้เข้าเรียนตามปกติ  ส่วนการเว้นระยะห่างทางสังคมที่นี่ก็มีเช่นกัน แต่เป็นไปโดยความสมัครใจ เสริมด้วยการ “ห้าม” รวมตัวกันเกิน 50 คน ร้านอาหารและบาร์จะต้องให้บริการกับลูกค้านั่งโต๊ะเท่านั้น จะนั่งที่บาร์ใกล้ชิดกันไม่ได้ ผู้สูงอายุที่อายุเกิน 70 ปี รวมถึงผู้ที่มีอาการป่วยได้รับ “คำแนะนำ” ให้พักอยู่บ้าน ส่วนผู้ที่มีสุขภาพปกติดีก็สามารถเดินทางไปทำงานได้ ธุรกิจส่วนใหญ่จึงยังสามารถดำเนินไปได้ต่อ  นโยบายของสวีเดน จึงอยู่ที่ความไว้เนื้อเชื่อใจกันของสมาชิกสังคม มากกว่าที่จะใช้ไม้แข็งโดยมีอำนาจรัฐเป็นตัวกำกับ แทกเนลกล่าวถึงมาตรการของสวีเดนในการรับมือกับโควิด-19 ว่า "นี่ไม่ใช่โรคที่จะสามารถหยุดหรือกำจัดได้ อย่างน้อยจนกว่าจะมีวัคซีน (ซึ่งเขาประเมินว่าอาจใช้เวลาอีก 2 ถึง 3 ปี) เราจำเป็นต้องหาทางออกในระยะยาวที่จะทำให้การติดเชื้อกระจายตัวในระดับที่รับมือได้ สิ่งที่ประเทศอื่น ๆ ทำคือการจับแยกประชาชน แต่ด้วยมาตรการและธรรมเนียมในการปฏิบัติ เป็นเหตุให้เราต้องปฏิบัติต่างออกไปเล็กน้อย "กฎหมายสวีเดนว่าด้วยโรคระบาดส่วนใหญ่กำหนดมาตรการอยู่บนฐานของความสมัครใจ และความรับผิดชอบเป็นการส่วนตัว มันระบุอย่างชัดเจนว่า ประชาชนมีหน้าที่ที่จะไม่แพร่กระจายโรค นี่คือหัวใจอันเป็นจุดตั้งต้นของเรา และเพราะการปิดเมืองไม่สามารถทำได้ภายใต้กฎหมายที่มีอยู่ในปัจจุบัน การกักตัวสามารถทำได้เฉพาะกลุ่มคน หรือพื้นที่เล็ก ๆ อย่างเช่น โรงเรียนหรือโรงแรม แต่ (โดยกฎหมาย) เราจะล็อกดาวน์พื้นที่หนึ่ง ๆ ไม่ได้" (Nature) แทกเนลยังกล่าวว่า "ในภาคสังคม เราชอบใช้การสะกิด ย้ำเตือนให้ประชาชนใช้มาตรการต่าง ๆ ปรับปรุงมาตรการไปตามสถานการณ์รายวันเมื่อเห็นว่ามีสิ่งจำเป็นต้องปรับ เราไม่จำเป็นต้องปิดทุกอย่าง ซึ่งแทนที่จะดี กลับจะกลายเป็นผลเสียไป" ส่วนเรื่องภูมิคุ้มกันหมู่นั้น แทกเนลกล่าวว่า มีการตีความและการรายงานที่คลาดเคลื่อนไป เพราะ ภูมิคุ้มกันหมู่สำหรับเขาคือ “เป้าหมาย” ไม่ใช่ “วิธีการ”  “เราเชื่อว่า แน่นอนภูมิคุ้มกันหมู่จะช่วยเราได้ในระยะยาว และเราก็พูดคุยกันในเรื่องนี้ แต่มันไม่ใช่ว่าเรากระตุ้นเพื่อให้มันไปถึงเป้าหมายนั้นอย่างที่ถูกเล่าออกไป (โดยสื่อหรือนักวิทยาศาสตร์บางราย) ถ้าเราต้องการให้ภูมิคุ้มกันหมู่ถึงเป้า เราจะไม่ทำอะไร ปล่อยให้โคโรนาไวรัสอาละวาดสังคมได้ตามใจก็ได้ แต่เรากำลังพยายามให้การกระจายตัวอยู่ในอัตราที่ต่ำเท่าที่เราจะทำได้  “เราใช้แผนการที่ยั่งยืน เป็นแผนที่จะต้องใช้เป็นเดือน ๆ ประเทศไหนที่คิดว่าตัวเองจะสามารถกันตัวเองจากโรคได้ (ด้วยการปิดพรมแดน ระงับการทำกิจกรรมต่าง ๆ ) ถึงจุดหนึ่งก็จะรู้ว่ามันเป็นไปไม่ได้ เราจำเป็นต้องเรียนรู้ที่จะใช้ชีวิตอยู่กับมัน" แทกเนลกล่าวกับ USA Today ขณะเดียวกัน แทกเนลก็ยอมรับถึงปัญหาของการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในบ้านพักผู้สูงอายุต่าง ๆ ซึ่งกลายเป็นสถานที่ที่มีรายงานการเสียชีวิตมากที่สุด โดยบอกว่าเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เขาเองก็คาดไม่ถึง และยังอยู่ระหว่างการตรวจสอบว่า ปัญหาเกิดจากส่วนใด มีมาตรการไหนไม่ถูกนำไปใช้หรือไม่ เพราะเหตุใด ถึงตอนนี้หลายประเทศคงรับรู้ได้แล้วว่า การใช้แผนการล็อกดาวน์ในระยะยาวเพื่อให้เชื้อหยุดการระบาดนั้นกระทบต่อภาคเศรษฐกิจมากแค่ไหน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่สวัสดิการรัฐย่ำแย่ ไม่มีการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากการขาดรายได้ การเปิดเมืองจึงเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้ และจำเป็นต้องมองหามาตรการระยะยาวที่เหมาะสมกว่า  (ในด้านเศรษฐกิจ JP Morgan สถาบันการเงินขนาดใหญ่ในสหรัฐฯ ประเมินว่า สวีเดนจะมีการหดตัวทางเศรษฐกิจต่ำกว่าหลายประเทศในยุโรป โดยประเมินว่า ครึ่งแรกของปีจะหดตัว 2.4 เปอร์เซ็นต์ และครึ่งหลัง 13.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ค่าเฉลี่ยของทวีปยุโรปทั้งทวีปอยู่ที่ 4 เปอร์เซ็นต์ และ 17.3 เปอร์เซ็นต์ตามลำดับ - Reuters แต่สวีเดนเป็นประเทศที่อยู่ในเงื่อนไขที่ดีกว่าที่จะทำเช่นนั้นได้ ด้วยระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้า และสวัสดิการรัฐอุดหนุนผู้ที่ขาดรายได้จากการทำงาน การหยุดงานเพื่อกักตัวเองอยู่บ้าน จึงไม่ได้รับผลกระทบมากนัก  ต่างจากแรงงานในประเทศที่ไร้สวัสดิการ จึงจำเป็นต้องออกมาทำงานแม้จะรู้ตัวว่าป่วย เพื่อให้ตัวเองรอดไปวัน ๆ ก่อน ทำให้การเว้นระยะห่างทางสังคมด้วยความสมัครใจเกิดขึ้นได้ยาก เนื่องจาก (นอกจากประชาชนบางส่วนจะไม่ไว้ใจรัฐแล้ว) ประชาชนด้วยกันเองก็ไม่เชื่อใจกัน ด้วยมีความเหลื่อมล้ำเป็นสาเหตุ ผู้มีอันจะกินจึงยอมรับได้ถ้ารัฐจะใช้ไม้แข็งจำกัดเสรีภาพ เพราะทำให้ตัวเองรู้สึกได้ว่าปลอดภัย และไม่ยอมให้คลายกฎง่าย ๆ หากความลำบากยังคืบคลานมาไม่ถึง