อันเดรอา โบเชลลี: แม้โลกไร้แสงใด แต่ในใจมีเสียงเพลง นักร้องโอเปร่าตาบอดที่ร้องเพลงให้โลกฟัง

อันเดรอา โบเชลลี: แม้โลกไร้แสงใด แต่ในใจมีเสียงเพลง นักร้องโอเปร่าตาบอดที่ร้องเพลงให้โลกฟัง
มหาวิหารดูโอโม, มิลาน, อิตาลี ท้องฟ้ายังฉาบทาด้วยสีฟ้า ทว่าบรรยากาศแห่งมิลานในยามโควิด-19 ระบาดหนักนั้นทึมเทาไม่สดใส บ้านเรือนทุกหลังปิดประตูเงียบ สถานที่สาธารณะที่มักมีผู้คนขวักไขว่กลับไร้ชีวิต ใจกลางมิลานเมื่อปี 2020 ที่ร้างหวัง ‘อันเดรอา โบเชลลี’ (Andrea Bocelli) ซ่อนดวงแก้วที่มองไม่เห็นไว้หลังเปลือกตา เมื่อเปียโนบรรเลง ริมฝีปากนั้นก็ขับขานบทเพลง ‘Panis Angelicus’ เป็นเพลงแรก จนถึง ‘Domine Deus’ ที่เสียงร้องเทอร์เนอร์ของเขากังวานก้องไปทั่วโบสถ์ ก่อนจะก้าวสองเท้าจากด้านในสู่ด้านนอก ยืนเผชิญหน้ากับความว่างเปล่าและเปล่งเสียงร้องเพลงสุดท้าย  Amazing Grace’ คือบทเพลงสรรเสริญพระเจ้าที่เขาเล่าร้องได้งดงาม เปี่ยมความหวัง และเต็มไปด้วยพลังแห่งความศรัทธา คอนเสิร์ต ‘Music For Hope’ ที่จัดขึ้นในโบสถ์ร้างผู้คนเพื่อเติมกำลังใจให้ชาวอิตาลี ในช่วงที่สถานการณ์โควิด-19 ยังอยู่ในช่วงวิกฤต โดยมีผู้ชมผ่านช่องทาง streaming มากกว่า 3 ล้านคน กลายเป็นอีกหนึ่งหน้าประวัติศาสตร์แห่งโลกดนตรี และหน้าประวัติชีวิตของชายชื่อ ‘อันเดรอา โบเชลลี’ ที่โลกรู้จักในฐานะนักร้องโอเปร่าระดับตำนาน   โลกมืดลงดนตรีบรรเลง หมู่บ้านเล็ก ๆ ในทัสคานี ในครอบครัวที่ยึดการบ่มไวน์และขายเครื่องจักรในฟาร์มเพื่อเลี้ยงชีพ เด็กชายอันเดรอาเกิดมาจากความรัก หากเป็นรักที่อยู่นอกเหนือการรับรองของแพทย์ - เมื่อแม่ของอันเดรอาตั้งท้อง หมอบอกกับครอบครัวโบเชลลีว่าเธอควรทำแท้ง เพราะลูกของพวกเขาอาจเกิดมาพิการไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง หากสองคู่รักโบเชลลีเลือกที่จะเก็บเด็กเอาไว้ อุ้มท้องต่อไป และวันที่ 22 กันยายน 1958 เด็กน้อยน่ารักน่าชังก็ได้ฤกษ์ลืมตาดูโลก อันเดรอาเกิดมาพร้อมต้อหินในดวงตาที่ค่อย ๆ ทำให้การมองเห็นของเขาพร่าเลือนขึ้นทุกขณะ ด้วยวัย 12 ปี ระหว่างเล่นฟุตบอลและถูกลูกหนังกระแทกใบหน้า เด็กชายสูญเสียการมองเห็นไปตลอดกาล แม้ในครอบครัวของอันเดรอาจะไม่มีใครสืบสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดนตรี แต่เจ้าหนูน้อยกลับสนใจและสนิทกับมันตั้งแต่ยังเล็ก ความหลงใหลดังกล่าวเริ่มต้นเมื่อเขาอายุราว 6 ขวบ เด็กชายหัดเล่นเครื่องดนตรีทุกชิ้นเท่าที่เล่นได้ ไม่ว่าจะเปียโน กีตาร์ แซกโซโฟน หรือกลอง นอกจากนั้นเจ้าตัวจ้อยยังได้รับรู้ถึงความพิเศษในเสียงร้องของตัวเองเมื่ออายุ 7 ขวบเท่านั้น ดนตรีคือพื้นที่ปลอดภัยของอันเดรอา และอีกไม่นานเสียงร้องของเขาก็จะกลายเป็นพื้นที่ปลอดภัยของผู้คนมากมายบนโลก เส้นทางดนตรีของเขาเริ่มจริงจังขึ้นหลังจากชนะการประกวดในการแข่งขัน Viareggio เมื่ออายุ 14 ปี และแม้จะเล่าเรียนมหาวิทยาลัยที่ the University of Pisa ในสาขากฎหมาย อันเดรอาก็ยังใช้เวลาช่วงค่ำไปกับการร้องเพลงที่บาร์เปียโนและไนต์คลับเพื่อหาเงินจ่ายค่าเรียน ชายหนุ่มจบการศึกษาและทำงานด้านกฎหมายอยู่ราวหนึ่งปี ก่อนที่จะตัดสินใจว่าเขาจะมอบชีวิตที่เหลือให้ดนตรี และเรียนร้องเพลงกับ ‘แฟรนโก โกเรลลี’ (Franco Corelli) เพื่อพัฒนาเสียงของตัวเอง   เสียงที่มอบความสุขให้ผู้คน เสียงของอันเดรอาเริ่มผ่านไมค์ไปหาผู้คนในปี 1992 เมื่อเขาได้บันทึกเทปเดโมเพลง ‘Miserere’ ให้กับ ‘ซุคเคโร ฟอร์นาเครี’ (Zucchero Fornaciari) และเมื่อการบันทึกเสียงดังกล่าวผ่านไปเข้าหูนักร้องชื่อดังผู้เป็นเจ้าของเพลงดั้งเดิมอย่าง ‘ลูชาโน ปาวารอตตี’ (Luciano Pavarotti) น้ำเสียงโทนเทอร์เนอร์แสนไพเราะของอันเดรอาก็ทำให้อีกฝ่ายประทับใจ จนทั้งคู่มีโอกาสได้เป็นเพื่อนกัน และร่วมถ่ายทอดเพลง ‘Miserere’ ให้โลกฟัง ไล่เลี่ยกับการแข่งขันจนได้รับรางวัลในเวที Sanremo Festival ชายหนุ่มเซ็นสัญญาบันทึกเสียง และเปิดตัวอัลบั้ม ‘II Mare Calmo Della Sera’ (1994) ตามมาด้วย ‘Bocelli ’ (1995) ที่บรรจุบทเพลงอย่าง ‘Con te Partiro.’ บทเพลงที่ภายหลังถูกถ่ายทอดร่วมกับ ‘ซาราห์ ไบรท์แมน’ (Sarah Brightman) ในชื่อ ‘Time to Say Goodbye’ และกลายเป็นเพลงฮิตที่ถูกบรรจุใน ‘Romanza’ อัลบั้มของอันเดรอาเมื่อปี 1997 นอกจากเสียงร้องที่หลายคนยกย่องว่าไพเราะราวได้รับพรจากพระเจ้า เหตุผลที่งานของอันเดรอาจับใจผู้คนนั้นเป็นเพราะเขาเป็นนักร้องโอเปร่าที่โลดแล่นระหว่างโลกดนตรีสองกระแส ทั้งคลาสสิกโอเปร่าและโลกดนตรีป็อป อันจะเห็นได้จากการเรียบเรียงดนตรีและการร่วมงานกับป็อปสตาร์หลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็น ‘เซลีน ดิออน’ (Celine Dion) หรือ ‘เอ็ด ชีแรน’ (Ed Sheeran) เสียงร้องเพลงของเขาเข้าถึงได้ทุกกลุ่ม และนำพาความสุขมาให้ผู้คนได้มากมาย จึงไม่น่าแปลกใจที่เขาจะกลายเป็นนักร้องโอเปร่าคนสำคัญ ที่ใครหลาย ๆ คนอยากได้ฟังเขาหลับตาร้องเพลงสด ๆ กับหู และปล่อยจิตใจให้เสียงเพลงของเขานำทางสักครั้ง  แม้ดวงตาจะมองไม่เห็นแสงใด แต่หัวใจของอันเดรอานั้นเชื่อมั่นในดนตรีอย่างยิ่ง สองหูของเขายังได้ยิน และหนึ่งปากของเขายังขับร้องด้วยความเชื่อเสมอมาว่า เสียงเพลงนั้นสามารถเยียวยาและยกระดับจิตใจของผู้คนได้ “ผมเชื่อว่าศิลปะรูปแบบไหนก็เยียวยาจิตใจได้ทั้งนั้น แต่ในฐานะนักดนตรี ผมคิดว่าภาษาเพลงนั้นพิเศษตรงที่มันอยู่ใกล้ชิดกับใจของเรามาก ๆ และยกระดับจิตวิญญาณของเราได้ มันสัมผัสจิตวิญญาณ มันกระตุ้นความหลงใหล มันทำให้เราเป็นคนที่ดีขึ้น”   ที่มา: https://www.britannica.com/biography/Andrea-Bocelli https://lifeinitaly.com/andrea-bocelli-the-story-of-talent/ https://the-talks.com/interview/andrea-bocelli/ https://www.biography.com/musician/andrea-bocelli https://www.classicfm.com/artists/andrea-bocelli/andrea-bocelli-greatest-songs/