แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical

แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical
เมื่อพูดถึงละครเพลง แดนดินถิ่นทองของมันน่าจะคือ ถนนบรอดเวย์ ช่วงใจกลางแมนฮัตตันแห่งมหานครนิวยอร์ค ที่พัฒนามาเป็นทั้งบ้านของละครเพลง อีกยังเป็น “นครเมกกะ” ของนักแสดงและนักชมละครเพลงมาตั้งแต่ต้นศตวรรษที่แล้ว  ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษ บรอดเวย์บูชา ให้ค่า และส่งเสริมผลงานอเมริกัน ต่างกับย่านละครในอังกฤษอย่างเวสต์เอนด์ (West End) หรือแห่งอื่นในยุโรป ที่เปิดที่ทางให้ละครนานาชาติเข้ามามีบทบาทได้อย่างไม่หวงบ้าน และแม้จะมีละครต่างชาติปรากฏให้เห็นบ้าง แต่สายราชบัลลังก์ของเจ้าแห่งบรอดเวย์ก็ล้วนเป็นอเมริกัน ไม่ว่าจะเป็น จอร์จ เกิร์ชวิน (George Gershwin), โคล พอร์เทอร์ (Cole Porter), คู่หู เลอร์เนอร์-โลว์ (Lerner and Loewe), คู่หู รอดเจอร์ส-แฮมเมอร์สไตน์ (Rodgers and Hammerstein), ไล่มาจนถึง สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ (Stephen Sondheim) เป็นต้น  ในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษ ละครเพลงบรอดเวย์มีการเปลี่ยนแปลงและมีพัฒนาการต่างๆ เรื่อยมา จากโชว์ที่มีเพลงแต่มีเรื่องบ้างไม่มีเรื่องบ้าง ละครพูดที่มีเพลงแทรก ไปจนถึงละครที่เพลงเป็นส่วนหนึ่งของการขับเคลื่อนเนื้อเรื่องอย่างแท้จริง และละครที่ร้องทั้งเรื่องไม่มีพูด ละครเพลงพัฒนามาจนถึงจุดที่นักประวัติศาสตร์เรียกขานว่าเป็น ยุคทอง (Golden Age) ของวงการละครบรอดเวย์ ในช่วงประมาณปี 1943-1959 (ยึดจุดเริ่มต้นจากเรื่อง Oklahoma! ของ รอดเจอร์ส-แฮมเมอร์สไตน์ ที่ปลุกกระแสการผนวกตัวเรื่องกับตัวเพลงให้เป็นเนื้อเดียวกัน) และเมื่อวงการเคลื่อนเข้าสู่ช่วงปลายทศวรรษ 1960 ก็เป็นช่วงที่แม้จะมีงานดี ๆ เกิดขึ้นบ้าง แต่ภาพโดยรวมก็ซบเซา ด้วยสภาพสังคมที่เปลี่ยน ผู้ชมเปลี่ยนรุ่น การเกิดขึ้นของความบันเทิงรูปแบบอื่น เป็นต้น ในช่วงเวลานี้เอง ที่ “คนนอก” จากเกาะอังกฤษ จะพาผลงานอีกแบบมาปลุกกระแสละครเพลงที่ดินแดนศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้ และแทบจะเรียกได้ว่ามายึด “บ้าน” ของชาวละครเพลง คนคนนั้นคือ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ (Andrew Lloyd Webber)  ... กำเนิดซูเปอร์สตาร์ แอนดรูว์ เกิดที่ลอนดอน เมื่อวันที่ 22 มีนาคม ปี 1948 ซึ่งเป็นวันที่นักเรียนละครจะจดจำกันว่าเป็นวันเกิดเดียวกับเจ้าพ่อละครอีกคนคือ Sondheim ซึ่งเกิดก่อน 18 ปี  แอนดรูว์เติบโตในครอบครัวนักดนตรี มีบิดา (William Lloyd Webber) เป็นนักออร์แกน นักแต่งเพลง เป็นอาจารย์สอนที่วิทยาลัยดนตรี Royal College of Music และต่อมาเป็นผู้บริหารของ London College of Music ทางฝั่งมารดา (Jean Hermione Johnstone) เป็นนักไวโอลินและนักเปียโน (มีลูกศิษย์ที่มีชื่อเสียงได้แก่นักเปียโน John Lill) น้องชายของแอนดรูว์ (Julian Lloyd Webber) คืออนาคตศิลปินนักเชลโลที่โลกจะรู้จัก นอกจากนี้ก็มีพี่สาวของแม่ หรือ “ป้าวิ” (Viola Johnstone) ซึ่งเป็นนักแสดง และมักพาเขาไปชมละครตั้งแต่เด็ก ด้วยครอบครัวเช่นนี้เองที่บ่มเพาะให้แอนดรูว์มีความสนใจทั้งดนตรีและละคร เขาทดลองแต่งเพลงตั้งแต่อายุยังไม่สิบขวบ พอเข้าวัยรุ่นก็ลองเอาบทกวีของ T.S. Eliot มาทำเป็นเพลง (ต่อมาจะกลายเป็นเรื่อง Cats และปลายปี 2019 ก็จะมีภาพยนตร์เรื่องนี้ออกฉาย โดยได้ เทย์เลอร์ สวิฟต์ นักร้องสาวชื่อดังมาร่วมแสดงและร่วมเขียนเพลงให้หนังเรื่องนี้ด้วย) ต่อมาก็มีโอกาสแสดงฝีไม้ลายมือการแต่งเพลงตอนเรียนมัธยมจนมีงานเข้าตาค่ายเพลงบ้างเหมือนกัน ซึ่งในที่สุดก็ทำให้เขาได้พบกับ ทิม ไรซ์ (Tim Rice) คู่หูนักเขียนเนื้อเพลงคนแรกที่จะพากันให้พวกเขาโด่งดัง แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical งานชิ้นแรกของทั้งคู่ The Likes of Us (1965) สร้างตามขนบดนตรีและละครแบบของ รอดเจอร์ส-แฮมเมอร์สไตน์ และแม้ว่าจะไม่ได้ถูกนำออกแสดงในตอนนั้น มันก็พาให้พวกเขาได้พบกับการติดต่อจากโรงเรียน Colet Court School (ชื่อเดิมก่อนจะเปลี่ยนมาเป็น St. Paul’s Junior ในปัจจุบัน) ให้ทั้งคู่เขียน “pop cantata” สำหรับวงขับร้องเด็กชาย เพื่อแสดงท้ายเทอม (“คันตาตา” มีความหมายกว้าง ๆ หมายถึงเพลงร้องสำหรับวงประสานเสียง นักร้องเดี่ยว มีดุริยางค์บรรเลงประกอบ มีหลายท่อน และบ่อยครั้งมีเนื้อหาเกี่ยวกับศาสนา) โดยให้นำเอาเนื้อความจากพระคัมภีร์มาเล่าด้วยเพลงสำเนียงป๊อป ซึ่งเป็นหนึ่งในสิ่งที่ได้รับความสนใจในช่วงนั้น ด้วยแนวคิดของการพยายามดึงคนรุ่นใหม่ให้มาสนใจคริสตธรรม ดังจะเห็นตัวอย่างได้จากงานอย่าง The Daniel Jazz (1963) และ Jonah-man Jazz (1966)  ผลลัพธ์คือ Joseph and the Amazing Technicolor Dreamcoat (1968) ที่เล่าเรื่องของ “โยเซฟ” จากพระธรรมปฐมกาล มีการผสมสำเนียงดนตรีป๊อปหลาย ๆ แบบ รวมถึงเพลงแบบคาลิปโซ (Calypso) และเพลงร็อคสไตล์เอลวิส เพรสลีย์  เพลงฉบับ 15 นาทีนี้ได้รับการปรับปรุงและบรรเลงครั้งที่สองในอีกไม่กี่เดือนต่อมา โดยคราวนี้มีสมาชิกวงร็อคมาร่วมแสดงด้วย และด้วยบังเอิญว่าผู้ปกครองของเด็กคนหนึ่งในวงเป็นนักวิจารณ์ดนตรีของหนังสือพิมพ์ Sunday Times ความชื่นชอบในผลงานจึงปรากฏออกสื่อ และทำให้ ลอยด์ เวบเบอร์-ไรซ์ เริ่มเป็นที่รู้จักในลอนดอน ซึ่งโน้ตเพลง Joseph ก็ได้รับการตีพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ Novello และเพลงได้รับการบันทึกแผ่นโดย Decca  ... ซูเปอร์สตาร์ และการบุกอเมริกาคำรบแรก Jesus Christ Superstar (1970) คืองานชิ้นต่อมาของทั้งคู่ และทำให้พวกเขาก้าวเข้าสู่ทางเดินของซูเปอร์สตาร์ งานชิ้นนี้คล้ายต่อยอดจาก Joseph ในแง่ที่ว่าเป็นการนำเรื่องจากพระคัมภีร์มาเล่าใหม่ผ่านดนตรีร่วมสมัย ซึ่งคราวนี้เป็นการขับเน้นสำเนียงดนตรีร็อค ผสมกับสำเนียงดนตรีคลาสสิกสมัยใหม่ มีการตีความมุมมองของเรื่องใหม่ มีการสร้างปมจิตวิทยาของตัวละคร มีการเล่นคำเล่นภาษาในเนื้อร้อง  งานเริ่มต้นด้วยการเป็นเพลงซิงเกิล ซึ่งค่ายแผ่นเสียง Decca ต้องการทดลองตลาดก่อนจะยอมสนับสนุนงานทั้งชิ้น ผลลัพธ์คือเพลง “Superstar” อันเป็นชื่อที่ได้มาจากการที่ ทิม ไรซ์ มองว่า หมายความถึงทั้งนักดนตรีร็อคที่ประสบความสำเร็จ คนดังทั้งหลาย ไปจนถึงสิ่งที่โด่งดังจากการโฆษณาล้นเกิน ซึ่งทั้งหมดทั้งมวล เหมาะกับตัวละครหลัก จีซัส (พระเยซู) ในฉบับการสร้างใหม่ของพวกเขา ในขณะที่เพลง Superstar ไม่ได้ก่อกระแสอะไรเป็นพิเศษในอังกฤษ มันกลับกลายเป็นเรื่องราวใหญ่โตในอเมริกา เกิดทั้งกระแสชื่นชมและกระแสต่อต้าน กระแสเกิดขึ้นทั้งในโรงเรียน โบสถ์ สถานีวิทยุ มีขบวนประท้วงไปที่บริษัทจัดจำหน่าย ซี่งในขณะเดียวกัน ในเวลาแค่ 4 เดือน เพลงนี้ก็ไต่สู่ 80 อันดับเพลงฮิตของบิลบอร์ด และ Decca ก็ยอมอัดเสียงทั้งอัลบั้ม ซึ่ง ลอยด์ เวบเบอร์ ก็ทำดนตรีอย่างจัดเต็มด้วยออร์เคสตรา 85 ชิ้น นักดนตรีร็อค 7 คน นักออร์แกน นักร้องประสานเสียง ได้ เมอเรย์ เฮด (Murray Head) นักร้องเพลง Superstar คนเดิม มารับบทเป็นตัวหลักคือ ยูดาส อิสคาริโอท (เนื้อหาจำนวนมากในเรื่องเล่าผ่านมุมมองของ ยูดาส) และ เอียน กิลแลน (Ian Gillan) แห่งวง Deep Purple มารับบทจีซัส เริ่มต้นจากการเป็น concept album ที่พวกเขาเรียกว่าเป็น “rock opera” อัลบั้มนี้ตีตลาดที่อเมริกาอีกครั้ง ก่อนจะถูกสร้างเป็นละครเวทีที่นิวยอร์กในปี 1971 และในที่สุดก็มีการแสดงละครเรื่องนี้ทั้งที่เวสต์เอนด์และบรอดเวย์ ซึ่งนับได้ว่าหายากมากที่จะมีใครมีผลงานซึ่งจัดแสดงควบที่ย่านละครใหญ่ทั้งสองแห่งนี้ในเวลาเดียวกัน และภายหลังก็จะกลายเป็นมีงานแสดงทั้งหลายเรื่องและหลายที่ในเวลาเดียวกัน แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical คล้ายการมาถึงของเมสสิยาห์ที่รอคอย การมาเยือนของจีซัสในครั้งนี้ได้ช่วยเหลือบรอดเวย์ให้พ้นจากยุคสมัยอันตายซาก และด้วยความบังเอิญ Jesus Christ Superstar ได้รวบรวมลักษณะพิเศษหลายประการ ไม่ว่าจะเป็นการใช้เพลงร้องตลอดเรื่อง (sung-through) มีการใช้ทำนองประจำตัวละคร ดนตรีมีความเกี่ยวเนื่องสัมพันธ์กันตลอดเรื่อง ใช้อุปกรณ์และฉากอันละเอียดซับซ้อน การสื่อสารพลังอารมณ์ที่สูงมาก ลักษณะเหล่านี้เองที่ต่อมาจะพัฒนามาเป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ของวงการละครเพลงไปตลอดกาล นั่นคือ “Megamusical” ... ศึกยึดบัลลังก์ ปี 1979 ทายาทบัลลังก์แห่งบรอดเวย์คนสำคัญคือ สตีเฟน ซอนด์ไฮม์ กำลังจับมือกับ ฮิวจ์ วีลเลอร์ (Hugh Wheeler) นำผลงานอันสำคัญมากต่อวงการละครเพลงออกแสดง ได้แก่ Sweeny Todd (1979) เรื่องราวเขย่าขวัญของกัลบกนักเชือดแห่งอังกฤษ นอกจากตัวเรื่องจะมีพลังมหาศาลด้วยการสำรวจประเด็นทางอารมณ์และจิตวิทยาของมนุษย์อย่างเข้มข้นในแบบที่ไม่ค่อยเกิดขึ้นในวงการบรอดเวย์แล้ว งานชิ้นนี้ยังโดดเด่นด้วยดนตรีออร์เคสตราที่มีความอลังการราวกับเป็นอุปรากร จนเรียกได้ว่าดนตรีนั้นช่วยอุ้มละครเอาไว้ทั้งเรื่อง ซึ่งคุณภาพของผลงานนั้นการันตีได้ด้วยกว่า 20 รางวัลที่ได้ในปีนั้น ในปีเดียวกัน Evita (1978) ผลงานของ ลอยด์ เวบเบอร์-ไรซ์ ก็เดินทางมาถึงบรอดเวย์หลังประสบความสำเร็จในอังกฤษ จะเรียกว่าเป็น “สินค้าส่งออก” ชิ้นแรกของทั้งคู่ก็ได้ เนื่องจากพัฒนาจาก concept album (เช่นเดียวกับ Jesus Christ Superstar) มาจนเป็นละครเวทีแสดงอย่างประสบความสำเร็จแล้ว จึงค่อยส่งออกมายังอเมริกา Evita สร้างมาจากเรื่องอิงชีวประวัติของ เอวา เปรอน (1919-1952) ภรรยาของ ฆวน เปรอน ประธานาธิบดีของอาร์เจนตินา เพลงต่าง ๆ ในเรื่องมีทั้งดนตรีสำเนียงคลาสสิกสมัยใหม่ ดนตรีร็อค ละติน ดิสโก้ รวมอยู่ด้วยกัน เพลง “Don’t Cry For Me Argentina” กลายเป็นเพลงที่ทุกคนรู้จัก มีการใช้เทคโนโลยีฉากอันทันสมัย องค์ประกอบของละครและดนตรีเชื่อมหากันอย่างแนบแน่น และลักษณะโดยรวมเรียกได้ว่ามีความเป็นทายาทของ Jesus Christ Superstar และชี้นำไปหาสไตล์แบบ Megamusical  ศึก 1979 มีผลโดยสรุปคือ Evita มีจำนวนรอบแสดงบนบรอดเวย์มากกว่า Sweeny Todd ถึง 3 เท่า!  อย่างไรก็ตาม จอห์น เคนริค (John Kenrick) นักประวัติศาสตร์ละคร เปรียบเทียบเอาไว้ว่า ทั้งสองโชว์นั้นได้ผู้กำกับชื่อดังคือ แฮโรลด์ พรินซ์ (Harold Prince) มาทำทั้งคู่ มีต้นทุนราคาแพงทั้งคู่ และได้โทนี อวอร์ดส (Tony Awards) 7 รายการทั้งคู่ ถ้าจะต่างกันก็คือ Sweeny Todd “เสียตังค์” ส่วน Evita “ได้ตังค์” แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical แต่ก็ปิดท้ายเอาไว้ว่า Sweeny Todd สร้างประวัติศาสตร์ให้วงการละครเพลง ส่วน Evita เข้ามาอยู่ในประวัติศาสตร์ แล้วก็เดินออกไปแบบทางใครทางมัน... ... ชัยชนะของ Megamusical Megamusical เป็นโชว์ที่ “จัดเต็ม” “เล่นใหญ่” ไม่ว่าจะเป็นเสื้อผ้าหน้าผม เพลงร้องที่อลังการ วงดนตรีอลังการ ฉากแสงสีเสียงตระการตา ความเล่นใหญ่ยกตัวอย่างเช่น เฮลิคอปเตอร์ ใน Miss Saigon หรือ โคมโฟร่วง ใน The Phantom of the Opera หรือกระทั่งชุดและฉากใน The Lion King เจสสิกา สเติร์น (Jessica Stern) ผู้เขียนหนังสือ “The Megamusical” ได้พยายามสรุปลักษณะของละครแบบนี้ออกมาว่า 1) มีเรื่องราวที่มีเนื้อมีหนัง อาจจะเป็นมหากาพย์ สงคราม ศาสนา การไถ่บาป ชีวิตกับความตาย หลายครั้งใช้เรื่องราวจากประวัติศาสตร์ และสื่อสารหรือสร้างพลังทางอารมณ์ที่สูง 2) ดนตรีมักเป็นลักษณะ sung-through คือเน้นเพลงร้อง จำกัดบทพูดให้มีน้อยหรือไม่มีเลย มีดนตรีคลอประกอบและเชื่อมฉากต่าง ๆ ทุกองค์ประกอบของละครถูกเชื่อมโยงด้วยดนตรี มีลักษณะคล้ายอุปรากร (opera) 3) อุปกรณ์และฉากมีความตระการตา คล้ายกับความนิยมที่เกิดขึ้นในยุคเฟื่องฟูของอุปรากรอิตาเลียนศตวรรษที่ 17 หรือ grand opéra ของฝรั่งเศสในศตวรรษที่ 19 และอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญคือ การตลาดอันชาญฉลาด เช่นการสร้างโลโก้ของละครซึ่งเป็นที่จดจำได้ และไปปรากฏอยู่ตามของชำร่วยต่าง ๆ ตั้งแต่แก้วกาแฟ ไปจนถึงเสื้อ และร่ม ตาแมวสีเหลืองบนพื้นสีดำของละครเรื่อง Cats (1982) คือส่วนหนึ่งของสิ่งที่ปฏิวัติวงการ Evita คือเรื่องสุดท้ายที่ ทิม ไรซ์ กับ ลอยด์ เวบเบอร์ ทำด้วยกันอย่างเป็นทางการ พอมาถึง Cats ลอยด์ เวบเบอร์ ร่วมมือกับสองยักษ์ใหญ่แห่งวงการคือ เทรเวอร์ นันน์ (Trevor Nunn) และ คาเมรอน แมคอินทอช (Cameron Mackintosh) ผลิต Cats ออกมาเป็น Megamusical แบบเต็มตัวชิ้นแรกที่ประกาศชัยชนะบนเวทีบรอดเวย์อย่างเต็มภาคภูมิ Cats มีรอบแสดงมากกว่าเรื่องใด ๆ และเมื่อครั้งเข้าสู่บรอดเวย์ มันถึงกับไล่ที่ละครเรื่อง 42nd Street (1980) ที่กำลังแสดงอยู่ที่โรงละคร Winter Garden ต้องย้ายที่ไป จอห์น เคนริค เขียนไว้ว่า “Like a theatrical cancer, Cats spread across the globe.” ... ศึกทายาทบัลลังก์ยกสอง ความสำเร็จของ ลอยด์ เวบเบอร์ ในต้นทศวรรษ 1980 พาให้งานหลายชิ้นถูกผลิตขึ้นอย่างต่อเนื่อง  Joseph and the Amazing Technicolor Dreamcoat ที่เป็นละครแสดงในอังกฤษก่อนหน้านี้ไม่กี่ปี ก็ลัดเลาะเมืองต่าง ๆ ของอเมริกามาจนถึงบรอดเวย์ในปี 1982 งานชิ้นต่อมาอย่าง Starlight Express (1984) ก็ตระการตาด้วยฉากและอุปกรณ์ต่าง ๆ และได้รับเสียงตอบรับอย่างดี คนรอบตัวของเขาก็หันไปทำ Megamusical เรื่องอื่น ๆ อีก อย่าง นันน์ และ แมคอินทอช ไปร่วมทำ Les Misérables (1980) ส่วน ทิม ไรซ์ ไปทำ Chess (1984) เป็นต้น เป็นช่วงเวลาประมาณนั้นเอง ที่ ลอยด์ เวบเบอร์ หย่าร้างกับภรรยาคนแรก และมาแต่งงานครั้งที่สองกับ ซารา ไบรท์แมน (Sarah Brightman) ผู้มีเสียงโซปราโนอันงดงามและทรงพลัง และเสียงของเธอในบทนางเอกของ The Phantom of the Opera (1986) นี้เองที่ทำให้เส้นบาง ๆ ของดนตรีใน Musical/Megamusical หลายเรื่อง กับ Operetta/Opera พร่าเลือนเข้าไปอีก The Phantom of the Opera เป็น Megamusical ที่โดดเด่นมาก ๆ ด้วยฉาก เพลง ดนตรี นักร้อง ออร์เคสตราเน้นอิทธิพลสำเนียงดนตรีคลาสสิกขับเน้นพลังอารมณ์ของเรื่องอย่างตรึงใจผู้ฟัง เป็นผลงานที่ได้รับความนิยมแซงหน้า Cats และเป็นอีกครั้งที่เกิดการ “ไล่ที่” เพื่อยึดโรงละคร Majestic Theater จากละคร 42nd Street (ซึ่งเดิมถูกย้ายออกจาก Winter Garden ด้วยเรื่อง Cats จนมาอยู่ที่ Majestic บัดนี้ถูกไล่เพราะงานของ ลอยด์ เวบเบอร์ อีกครั้ง!)  แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์: ผู้พาละคร Cats บุกบรอดเวย์ด้วยแนวทาง Megamusical ปี 1988 คือการชนกันของ ซอนด์ไฮม์ และ ลอยด์ เวบเบอร์ อีกครั้งด้วย Into the Woods (1987) กับ The Phantom of the Opera แม้ว่าทั้งสองเรื่องจะได้รับโทนี อวอร์ดส ไปครองกันบ้าง แต่ Into the Woods ปิดตัวหลังจากแสดงไป 2 ปี ในขณะที่ “Phantom” ยังคงแสดงอยู่ที่ Majestic Theater ถึงทุกวันนี้ ... ปักธง เรียกได้ว่า Megamusical ภายใต้การนำของ ลอยด์ เวบเบอร์ ตรึงใจผู้ชมจำนวนมาก และปักธงของตัวเองลงในบรอดเวย์สำเร็จ และเป็นหลักไมล์สำคัญให้กับประวัติศาสตร์ของละครเพลง แม้ว่า Megamusical มักจะถูกโจมตีจากนักวิจารณ์และนักวิชาการว่า เน้นแต่ความใหญ่โตและแสงสีเสียง แต่ไม่ค่อยมีเนื้อหาสาระลึกซึ้งก็ตาม และจากนั้นมา เส้นแบ่ง อเมริกัน-ไม่อเมริกัน ในบรอดเวย์ก็เลือนบางจางลง และจากความสำเร็จเหล่านี้ แอนดรูว์ ลอยด์ เวบเบอร์ ก็ได้กลายมาเป็นผู้มีกำลังทรัพย์และอิทธิพลต่อวงการละครเพลง ด้วยการเป็นเจ้าของและหุ้นส่วนโรงละครจำนวนมากในอังกฤษ รวมถึงตั้งมูลนิธิ Andrew Lloyd Webber Foundation เพื่อสนับสนุนศิลปะในอังกฤษอีกด้วย   อ้างอิง William A. Everett and Paul R. Laird (ed.), The Cambridge Companion to the Musical John Kenrick, Musical Theater: A History Vagelis Siropoulos, The Ideology and Aesthetics of Andrew Lloyd Webber’s Muiscals: From the Broadway Musical to the British Megamusical John Snelson, Andrew Lloyd Webber Jessica Stern, The Megamusical Andrew Lloyd Webber, Unmasked: A Memoir   เรื่อง: ธนพล เศตะพราหมณ์