แอนดรูว์ แยง คนเอเชียผู้สมัคร ปธน. ที่จะแจกเงินชาวบ้านเดือนละ 1,000 ดอลลาร์

แอนดรูว์ แยง คนเอเชียผู้สมัคร ปธน. ที่จะแจกเงินชาวบ้านเดือนละ 1,000 ดอลลาร์
"เราจำเป็นต้องแก้ปัญหาที่ทำให้ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้ง คุณจำ (การเลือกตั้ง) ปี 2016 ได้มั้ยว่าเขาพูดอะไร เขาบอกว่า เขาจะทำให้อเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง แล้ว ฮิลลารี (คลินตัน) โต้กลับอย่างไร? อเมริกายิ่งใหญ่อยู่แล้ว และนั่นก็ไม่ค่อยจะได้ผลเลย การแก้ปัญหาของเขา (ทรัมป์) เป็นอะไรที่งี่เง่าไร้สาระ 'เราจะสร้างกำแพง' 'เราจะหมุนนาฬิกาย้อนหลัง' 'เราจะเอางานที่เคยมีกลับมา' (แต่) เราจะทำในสิ่งที่ตรงกันข้ามทั้งหมด เราจะหมุนนาฬิกาไปข้างหน้า เราจะต้องเร่งพัฒนาการด้านสังคมและเศรษฐกิจ เราจะต้องเปลี่ยนวิธีคิดเกี่ยวกับงานและมูลค่า (ของการทำงานที่รวมไปถึงงานที่ไม่ได้สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจโดยตรง เช่น การทำงานบ้าน ดูแลลูก) "และผมก็คือตัวแทนในอุดมคติที่จะรับงานนี้ เพราะสิ่งที่ตรงกันข้ามกับโดนัลด์ ทรัมป์ก็คือ ชาวเอเชียที่ชอบคณิตศาสตร์" แอนดรูว์ แยง (Andrew Yang) ผู้สมัครตำแหน่งตัวแทนพรรคเดโมแครตในการเลือกตั้งประธานาธิบดี ปี 2020 กล่าวในงานประชุมคณะกรรมการใหญ่พรรคเดโมแครต ประจำฤดูร้อนปี 2019 เรียกได้ว่า แยง เป็นม้ามืดในการเลือกตั้งขั้นต้นของพรรคเดโมแครต เขาเป็นนักธุรกิจที่ไม่เคยลงสนามเลือกตั้งไหนมาก่อน แต่มาลงแข่งในสนามใหญ่สุดของประเทศเป็นสนามแรก และถือเป็นผู้สมัครลงเลือกตั้งขั้นต้นพรรคเดโมแครตที่มีเชื้อสายเอเชียคนแรกด้วย จากข้อมูลของ Yang2020 เว็บไซด์รณรงค์การเลือกตั้งของแยง  แยงเล่าว่า เขาเกิดที่นิวยอร์กเมื่อปี 1975 พ่อแม่ของเขาเป็นชาวไต้หวันที่อพยพมาสหรัฐฯ ในช่วงทศวรรษ 1960s และได้มาเจอกันระหว่างเรียนต่อหลังจบปริญญาตรี พ่อของเขาเคยทำงานเป็นนักวิจัยอยู่ที่ IBM ตลอดการทำงานสามารถสร้างนวัตกรรมจดสิทธิบัตรได้ 69 ใบ ส่วนแม่ของเขาเป็นผู้ดูแลระบบคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยท้องถิ่นแห่งหนึ่ง     แยงจบด้านเศรษฐศาสตร์และการเมืองจากมหาวิทยาลัยบราวน์ ก่อนไปต่อด้านกฎหมายที่มหาวิทยาลัยโคลัมเบีย และได้ทำงานเป็นทนายความอยู่ระยะหนึ่ง ก่อนออกไปตั้งบริษัทของตัวเองในยุคที่อินเทอร์เน็ตเพิ่งตั้งไข่แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เขาจึงย้ายไปทำงานกับบริษัทสตาร์ทอัพด้านสาธารณสุข ซึ่งเขาได้เรียนรู้การทำธุรกิจจากเจ้าของกิจการที่มากประสบการณ์ เมื่ออายุเข้าเลขสามเขาได้นำพาบริษัทด้านการศึกษา (Manhattan Prep - บริษัทติวสอบ) เติบโตจนกลายเป็นเบอร์หนึ่งของประเทศ  เมื่อบริษัทถูกซื้อไป (โดย Kaplan) แยงจึงออกมาตั้งองค์กรไม่แสวงหากำไรที่ชื่อว่า Venture for America ซึ่งช่วยเหลือให้คำปรึกษากับผู้ที่ตั้งใจจะก่อตั้งกิจการเพื่อสร้างงานให้กับท้องถิ่นต่าง ๆ  ความสำเร็จของเขาทำให้เขาได้รับตำแหน่ง Champion of Change ในปี 2012 จากทำเนียบขาวยุคประธานาธิบดี บารัก โอบามา ตามด้วยตำแหน่ง Presidential Ambassador for Global Entrepreneurship ในปี 2015 อีกสองปีต่อมาเขาก็ยื่นหนังสือสมัครตัวแทนลงเลือกตั้งประธานาธิบดีในนามพรรคเดโมแครต เพื่อแก้ไขปัญหาใหญ่ของสังคมซึ่งเขาเห็นตรงกับ โดนัลด์ ทรัมป์ แต่เขาขอเสนอทางออกที่ต่างออกไป หนึ่งในปัญหาสำคัญก็คือปัญหาการว่างงาน โดนัลด์ ทรัมป์ เลือกที่จะแก้ปัญหาด้วยการมุ่งโจมตีชาวต่างชาติว่าเป็นต้นตอของการว่างงานของชาวอเมริกัน และแก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงเพื่อป้องกันคนต่างด้าวหลบหนีเข้าเมือง และใช้กำแพงภาษีเพื่อปกป้องสินค้าอเมริกัน แต่แยงมองว่า สาเหตุของการว่างงานของชาวอเมริกันไม่ได้มาจากชาวต่างชาติอพยพ แต่เป็นเพราะเทคโนโลยี และสังคมต้องปรับตัวเพื่อรับกับความเปลี่ยนแปลงที่ยากจะเลี่ยงได้ หนึ่งในทางออกของเขาคือการแจกเงินประชาชนทุกคนที่อายุเกิน 18 ปี เป็นจำนวน 1,000 ดอลลาร์ (ราว 30,620 บาท) จากรัฐโดยไม่มีภาระผูกพันใด ๆ ที่เขาเรียกว่า เงินปันผลแห่งอิสรภาพ (Freedom Dividend) "ที่ผมอยากจะบอกคือว่า นี่ไม่ใช่สังคมนิยม มันคือทุนนิยมที่ไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์" (CNBC) แยงกล่าวว่า เทคโนโลยีเครื่องจักรอัตโนมัติ (automation) ในตอนนี้สร้างประโยชน์ให้แต่กับผู้ประกอบการ แต่แรงงานกำลังได้รับผลกระทบเมื่อเครื่องจักรเข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ และจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น เงินปันผลแห่งอิสรภาพของเขาจึงเป็นมาตรการที่จะทำให้ประชาชนทั่วไปได้รับประโยชน์จากเทคโนโลยีนี้ด้วย เนื่องจากที่มาของมันมาจากภาษีมูลค่าเพิ่มที่ผู้ประกอบการยากจะเลี่ยงได้  เขาอ้างว่า เงินแจกตัวนี้จะยิ่งทำให้ประชาชนอยากทำงานมากขึ้น เพราะโครงการประกันสังคมในปัจจุบันมีเงื่อนไขว่าผู้รับประโยชน์จะได้รับการช่วยเหลือจนกว่าจะหางานได้ แต่บางทีงานที่พวกเขาหาได้ สร้างรายได้น้อยกว่าที่ได้จากโครงการฯ ผู้รับประโยชน์จึงเลือกที่จะว่างงาน แต่เงินตามนโยบายของเขาเป็นการให้อย่างไม่มีเงื่อนไขจึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาดังกล่าว เจ้าหน้าที่ก็ไม่ต้องเข้ามาวุ่นวายตรวจสอบคุณสมบัติของผู้รับประโยชน์ การที่ประชาชนมีรายได้การันตี ทำให้พวกเขามีโอกาสต่อรองสภาพการจ้างงานกับนายจ้างได้ดีกว่า กระตุ้นให้คนอยากจะลงทุนประกอบกิจการของตนเองมากกว่า เพราะมีรายได้ประจำโดยไม่ต้องกังวลอยู่แล้วส่วนหนึ่ง ปัญหาสุขภาพจิตก็น่าจะน้อยลงเนื่องจากลดความกดดันเรื่องของรายได้ทำให้สุขภาพกายดีตามไปด้วย ประสิทธิภาพในการทำงานก็ดีขึ้นเพราะคนไม่ต้องทนทำงานกับงานที่ไม่เหมาะกับตนเอง และเมื่อความตึงเครียดส่วนตัวลดลง ทุกคนมองถึงอนาคตด้วยความหวัง ความสัมพันธ์ในครอบครัวก็น่าจะดีขึ้นเช่นกัน "ถ้าคุณเคยได้ยินชื่อผมและการหาเสียงของผมมาก่อน คุณคงจะเคยได้ยินอะไรแบบนี้ 'มีชาวเอเชียคนหนึ่งที่ลงชิงตำแหน่งประธานาธิบดีที่ต้องการจะแจกเงินเดือนละ 1,000 ดอลลาร์' คุณเคยได้ยินมั้ย? คงไม่ใช่ครั้งแรกผมพูดถูกรึเปล่า?" แยงกล่าวติดตลกกับผู้ฟังในงานประชุมคณะกรรมการใหญ่พรรคเดโมแครต ก่อนบอกว่า ไอเดียของเขาไม่ใช่เรื่องใหม่ หากเป็นแนวคิดที่ฝังอยู่ในคติของชาวอเมริกันมายาวนาน "โทมัส เพน เสนอแนวคิดของเขาไปยังเหล่าบิดาผู้ก่อตั้งประเทศโดยเรียกมันว่า เงินปันผลของพลเมือง มาร์ติน ลูเธอร์ คิง เสนอและต่อสู้เพื่อมันในยุค 60s และมันก็เป็นสิ่งที่เขาสู้ในวันที่เขาถูกลอบสังหารเมื่อปี 1968 นักเศรษฐศาสตร์เป็นพัน ๆ ที่เห็นด้วยในยุค 60s และ 70s มันเป็นแนวคิดกระแสหลักมากขนาดผ่านสภาผู้แทนราษฎรมาได้สองครั้งในปี 1971 ในฐานะโครงการอุดหนุนครอบครัว และอีก 11 ปีต่อมารัฐหนึ่งได้ผ่านนโยบายแจกเงินปันผล ซึ่งตอนนี้ทุกคนที่อยู่ในรัฐนั้นจะได้รับเงินปีละ 1,000-2,000 ดอลลาร์?” แยงกล่าวถึงแนวคิดของตนที่มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาชนมานาน และมีรัฐหนึ่งรัฐในสหรัฐฯ ที่ได้ทำเช่นนั้นแล้ว นั่นคือ อะแลสกา แยงกล่าวว่า อะแลสกาแจกเงินปันผลให้ประชาชนจากเงินที่ได้จากธุรกิจน้ำมัน ซึ่งถ้าเปรียบเทียบกับศตวรรษที่ 21 น้ำมันก็เหมือนกับเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นปัญญาประดิษฐ์ ข้อมูล ซอฟต์แวร์ ยานยนต์ไร้คนขับ และงานวิจัยก็ชี้ว่า ตอนนี้ข้อมูลของผู้คนมีมูลค่ามากเสียยิ่งกว่าน้ำมัน แต่กลับไม่มีใครได้รับเงินปันผลที่ควรจะได้จากการที่ข้อมูลของตัวเองถูกนำไปใช้ "ในอะแลสกา พวกเขาเรียกเงินตัวนี้ว่า เช็คน้ำมัน ซึ่งพวกเขาชอบมาก ส่วนนโยบายของเราจะเรียกมันว่า เช็คเทคฯ และชาวอเมริกันทุกคนจะชอบมันเช่นกัน" แยงกล่าว ความพยายามของแยงเห็นได้ชัดว่าเป็นการขยายฐานเสียงของเดโมแครตไปถึงคนผิวขาวรายได้น้อยที่รู้สึกว่าตัวเองถูกเพิกเฉยจากพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจในยุครัฐบาลเดโมแครต จึงหันไปเลือก โดนัลด์ ทรัมป์ ที่สัญญาว่าจะยึดหลัก “อเมริกาต้องมาก่อน” ด้วยหวังว่า ทรัมป์จะช่วยรักษางานและเพิ่มพูนรายได้ให้กับตัวเองได้ แต่แยงเชื่อว่า วิธีการของทรัมป์เป็นการทำลายตัวเอง และเขาในฐานะบุคคลที่ตรงข้ามกับทรัมป์ในทุกทางแต่เห็นปัญหาที่ตรงกันจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่าในการเลือกตั้งสมัยหน้า (หากเขาผ่านการเลือกตั้งขั้นต้นของเดโมแครตไปได้)