แอนดี วอร์ฮอล: เจ้าพ่อ ‘ป็อปอาร์ต’ ผู้เปลี่ยน ‘กระป๋องซุป’ ให้จัดจ้าน แล้วเรียกมันว่า ‘ศิลปะ’

แอนดี วอร์ฮอล: เจ้าพ่อ ‘ป็อปอาร์ต’ ผู้เปลี่ยน ‘กระป๋องซุป’ ให้จัดจ้าน แล้วเรียกมันว่า ‘ศิลปะ’
ป้ายโฆษณาซุปแคมป์เบลล์ ภาพขวดโค้กที่ติดอยู่ตามฝาผนัง ภาพมาริลิน มอนโรในจอภาพยนตร์ ภาพของ ‘ประธานเหมา’ ในหน้าข่าว หรือภาพอื่นใดที่เป็นภาพธรรมดาที่เราเห็นในชีวิตประจำวันจนชินตาผ่านหนังสือพิมพ์ นิตยสาร โทรทัศน์ ภาพยนตร์ ไปจนถึงแผ่นบิลบอร์ด ภาพเหล่านี้ ใครจะเชื่อว่า วันหนึ่งจะถูกนำไปตั้งในแกลเลอรี แล้วเรียกว่าเป็น ‘งานศิลปะ’ ได้ แต่หากย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1962 ศิลปินอเมริกันคนหนึ่งนำภาพเหล่านี้มาทำซ้ำพร้อมเติมสีสันจัดจ้านเข้าไปด้วยการพิมพ์ด้วยเทคนิคซิลค์สกรีน ก่อนจะเรียกภาพพิมพ์เหล่านี้ว่าเป็น ‘งานศิลปะ’ แล้วนำไปขายเป็น ‘สินค้า’ ที่มีมูลค่าขึ้นมา ผู้ ‘กระทำความป็อป’ คนนี้ คือ แอนดี วอร์ฮอล (Andy Warhol) บุคคลที่ชื่อว่าเป็นเจ้าพ่อป็อปอาร์ต   “คุณเห็นด้วยไหมที่มีคนบอกว่างานของคุณมันไม่ออริจินัลเลย” “ใช่ครับ” “ทำไมคุณคิดอย่างนั้นล่ะ” “ก็เพราะมันไม่ออริจินัลไง” “คุณแค่คัดลอกภาพสิ่งของทั่ว ๆ ไป” “ ใช่ครับ”  “แล้วทำไมคุณไม่ลองสร้างสรรค์อะไรใหม่ ๆ ดู”  “เพราะมันง่ายกว่าที่จะทำแบบนี้”   “คุณกำลังล้อเล่นต่อหน้าสาธารณชนอยู่หรือเปล่า”  “เปล่า ก็มันทำให้ผมมีอะไรทำ”   บทสัมภาษณ์ของแอนดี วอร์ฮอล ในปี ค.ศ. 1964 เมื่อสื่อถามว่าทำไมผลงานของเขาจึงไม่มีความ ‘แปลกใหม่’ (Original) เอาซะเลย  บทสนทนานี้ชวนให้นึกถึงคำว่า ‘แมสแล้ว’ ในยุคปัจจุบันที่มักถูกตีความค่อนไปทางลบ เช่นเดียวกับงานของวอร์ฮอล เจ้าพ่อป็อปอาร์ตระดับตำนานที่โด่งดังมาจากภาพซุปแคมป์เบลล์ (Campbell’s Soup Cans) มาริลิน มอนโร ( Marilyn Monroe) หรือขวดน้ำอัดลมยี่ห้อโค้ก (Coca-Cola) ที่แทบไม่ต้องตีความให้มากแบบศิลปะแนว Abstract หากแต่หยิบ ‘เรื่องแมส ๆ’ ในชีวิตประจำวันมาทำซ้ำและแต่งเติมออกมาเป็นงานศิลปะเชิงพาณิชย์ที่มีราคา อีกทั้งยังเป็นการบันทึกภาพสังคมอเมริกันในยุคนั้นไว้ได้อย่างแจ่มชัด   วัยเยาว์ก่อนเข้าสู่วงการศิลปะ 6 สิงหาคม ค.ศ. 1928 ท่ามกลางหมอกควันและความหดหู่ของเมืองพิตต์สเบิร์ก (Pittsburgh) รัฐเพนซิลเวเนีย (Pennsylvania) สหรัฐอเมริกา แอนดี วอร์ฮอลลืมตาดูโลกหนึ่งปีก่อนเกิดภาวะเศรษฐกิจตกต่ำครั้งใหญ่ในอเมริกา ด้วยความที่เขาไม่ได้เป็นเด็กสุขภาพแข็งแรง ทำให้ต้องนอนซมอยู่บนเตียงบ่อย ๆ จนระยะหลังเขาเริ่มรู้สึกหวั่นใจทุกครั้งแค่ได้ยินคำว่าแพทย์หรือโรงพยาบาล  วันหนึ่งวอร์ฮอลป่วยหนักจนต้องลาเรียนมาพักรักษาตัวอยู่เป็นเดือน ๆ แต่เดือนแห่งการปลีกตัวออกจากสังคมครั้งนี้กลับเป็นช่วงเวลาที่อนุญาตให้เขาได้ทำในสิ่งที่ตัวเองรัก ไม่ว่าจะเป็นการดูภาพยนตร์ ฟังวิทยุ สะสมภาพเหล่าคนดัง ละเลงดินสอสีลงบนกระดาษและจมอยู่ในห้วงฝันกลางวันอย่างอิ่มเอมใจ ซึ่งเขาเคยกล่าวว่านี่เป็นช่วงเวลาสำคัญที่เขาได้พัฒนาความสนใจและความถนัดด้านศิลปะของตัวเองอย่างจริงจัง โดยเฉพาะการวาดรูป จึงไม่น่าแปลกใจที่วอร์ฮอลจะเลือกจับดินสอสีขีดเขียนภาพตามจินตนาการของเขา ขณะที่เด็กชายคนอื่น ๆ สนุกไปกับการวิ่งลงสนามเพื่อเตะบอลหรือกระโดดลงสระว่ายน้ำ แม้พิตต์สเบิร์กจะเป็นเมืองที่บรรยากาศไม่น่าอภิรมย์สักเท่าไร แต่โชคดีที่เหมาะกับการเรียนศิลปะในยุคนั้น เพราะเหล่านักสะสมหลายคนอาศัยอยู่ในเมืองแห่งนี้ และพวกเขาสนับสนุนการจัดนิทรรศการรวมทั้งชั้นเรียนศิลปะสำหรับเด็ก ๆ ที่มีพรสวรรค์ แอนดี วอร์ฮอลในวัยมัธยมฯ จึงถือโอกาสเข้าเรียนคลาสเหล่านี้เป็นประจำ ก่อนจะตัดสินใจเข้าเรียนสาขาศิลปะเชิงพาณิชย์ที่สถาบันเทคโนโลยีคาร์เนกีในช่วงมหาวิทยาลัย   ชีวิตใหม่ในนิวยอร์ก หลังจบการศึกษา วอร์ฮอลและแม่ของเขาได้ย้ายไปอยู่นิวยอร์ก วอร์ฮอลได้เริ่มต้นอาชีพศิลปินเชิงพาณิชย์ (commercial artist) โดยทำหน้าที่วาดภาพประกอบให้กับนิตยสารและโฆษณาของ Columbia Records, Harper’s Bazaar, Tiffany & Co., Glamour Magazine และ Vogue ผลงานอันโดดเด่นของวอร์ฮอลทำให้เขากวาด 3 รางวัลด้านการออกแบบและตีพิมพ์ภาพประกอบของเขาในนิตยสาร Life ช่วงปี ค.ศ. 1956 - 1957  การทำงานกับวงการโฆษณาทำให้เขาเข้าใจว่าอะไรกำลังเป็นที่นิยมหรือคนพูดถึงกันจนเป็นกระแส ซึ่งวอร์ฮอลได้นำสิ่งเหล่านี้มาปรับใช้กับการสร้างสรรค์งานศิลปะแบบป็อปอาร์ตของเขา วอร์ฮอลค่อย ๆ พัฒนาเทคนิคการวาดภาพที่เรียกว่าเป็น ‘สัญลักษณ์ของแอนดี วอร์ฮอล’ ขึ้นมา โดยใช้กระดาษลอกลาย หมึก และเทคนิคการพิมพ์ซิลค์สกรีน ซึ่งเขาเป็นหนึ่งในคนแรก ๆ ที่เริ่มใช้เทคนิคนี้ ในที่สุดวอร์ฮอลก็ได้สร้างสรรค์ผลงานที่ปูทางให้เขาเริ่มอยู่ในสปอตไลท์ นั่นคืองานแสดงภาพกระป๋องซุปของแคมป์เบลล์ (Campbell’s Soup Cans) ในปี 1962 ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากตอนที่เขากินซุปแคมป์เบลล์เป็นมื้อเที่ยงติดต่อกันหลายวัน และภาพอื่น ๆ ที่สะท้อนลัทธิบริโภคนิยมในช่วงนั้น จนกลายเป็นศิลปินป็อปอาร์ตแถวหน้าของอเมริกาในเวลาต่อมา แอนดี วอร์ฮอล: เจ้าพ่อ ‘ป็อปอาร์ต’ ผู้เปลี่ยน ‘กระป๋องซุป’ ให้จัดจ้าน แล้วเรียกมันว่า ‘ศิลปะ’

ภาพกระป๋องซุปของแคมป์เบลล์ (Campbell’s Soup Cans)

แอนดี วอร์ฮอล: เจ้าพ่อ ‘ป็อปอาร์ต’ ผู้เปลี่ยน ‘กระป๋องซุป’ ให้จัดจ้าน แล้วเรียกมันว่า ‘ศิลปะ’

ภาพประธานเหมา เจ๋อตุง

อย่างไรก็ตาม ในช่วงยุค 70s วอร์ฮอลถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็น ‘ศิลปินเชิงธุรกิจ’ (business artist) แถมยังถูกมองว่างานของเขาดูผิวเผิน ขาดความลึกซึ้ง และมีไว้เพียงเพื่อ ‘การขาย’ แต่วอร์ฮอลกลับมีมุมมองต่อธุรกิจและศิลปะว่า “การทำเงินคือศิลปะ การทำงานคือศิลปะ และการทำธุรกิจที่ดี คือศิลปะที่ดีที่สุด” นอกจากนี้หากมองย้อนกลับไปยังผลงานของเขาจะพบทั้งความโดดเด่น การเสียดสีสังคมพร้อม ๆ กับการเป็นตัวแทนของสังคมอเมริกาในยุคสมัยนั้น  งานป็อปอาร์ตของแอนดี วอร์ฮอลจึงไม่ได้มีไว้แค่คัดลอกภาพสินค้าหรือเหตุการณ์ดัง แต่ยังคล้ายกับไดอารีบันทึกเหตุการณ์ทางประวัติศาสตร์หรือฉายภาพสังคมในยุคเก่าก่อนอย่างการวาดมาริลิน มอนโร หลังจากเธอเสียชีวิต หรือการวาดขวดโคคา-โคลา ซึ่งเป็นตัวแทนของอุตสาหกรรมที่กำลังเติบโตในขณะนั้น    ศิลปินผู้มาก่อนกาล นอกจากการทำงานวาดแล้ว วอร์ฮอลยังเก็บความสนใจวัยเด็กของเขามาสร้างสรรค์ศิลปะแขนงอื่น ๆ ความสามารถอันหลากหลายและเลื่องชื่อเหล่านั้น ทำให้เขากลายเป็นผู้มีชื่อเสียงในสังคม ขณะเดียวกันวอร์ฮอลก็เป็นผู้ที่เข้าใจวงการของเหล่าคนมีชื่อเสียง (celebrity) เป็นอย่างดี   “ในอนาคตทุกคนจะมีชื่อเสียงระดับโลกเป็นเวลา 15 นาที”   วอร์ฮอลกล่าวในปี ค.ศ. 1968 ซึ่งกลับกลายเป็นจริงขึ้นมาในปัจจุบัน ราวกับว่าเขาเป็นพ่อหมอทำนายอนาคต อย่างไรก็ตาม ประโยคนี้ไม่ได้หมายความถึงเหล่าดาราเท่านั้น แต่ยังหมายรวมสื่อที่จะแพร่หลายและเข้าถึงง่ายมากยิ่งขึ้น ทุกคนสามารถปรากฏตัวในจอ เป็นที่รู้จักของสาธารณชนได้ผ่านปุ่มแชร์หรือโพสต์แค่คลิกเดียวเท่านั้น  นอกจากนี้วอร์ฮอลยังเป็นผู้ริเริ่มบุกเบิกในวงการศิลปะแขนงอื่น อย่างการเป็นโปรดิวเซอร์ให้กับวง The Velvet Underground ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นวงดนตรีที่มีอิทธิพลอย่างมากต่อดนตรีอัลเทอร์เนทีฟ พังก์ร็อกในนิวยอร์ก การฉีกกรอบทั้งชื่อและเนื้อเพลงบางเพลงทำให้สถานีวิทยุบางแห่งปฏิเสธการเปิดเพลงเหล่านั้น  นอกจากนี้แอนดียังออกแบบปกอัลบั้มของ  The Velvet Underground เป็นภาพกล้วยสีเหลืองแสนคุ้นตา ซึ่งหากลอกสติกเกอร์นี้ออกมาจะเผยให้เห็นเนื้อในของกล้วยที่มีสีชมพูสื่อถึงนัยทางเพศอีกด้วย วอร์ฮอลจึงนับเป็นหนึ่งในคนที่กล้าพูด กล้าทำเรื่องที่นับว่า ‘สวนกระแส’ หรือ ‘ไม่แมส’ ในยุคสมัยนั้น เขาจึงกลายเป็นเจ้าพ่อป็อปอาร์ตผู้สร้างสรรค์ผลงานที่เรียกเสียงทั้งชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์จากผู้คนจำนวนมาก  กาลเวลาผ่านไปจนกระทั่งช่วงกลางทศวรรษ 1980 ชายผู้ฝังใจกับการเข้าโรงพยาบาลได้หวนกลับไปที่ที่เขาไม่อยากไปอีกครั้ง เมื่อต้องเข้ารับการผ่าตัดถุงน้ำดี แม้การผ่าตัดจะเป็นไปอย่างราบรื่น แต่ระหว่างพักฟื้นกลับเกิดอาการแทรกซ้อนขึ้นจนไม่อาจยื้อชีวิตของศิลปินผู้นี้ไว้ได้อีกต่อไป 20 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 1987 แอนดี วอร์ฮอล ในวัย 58 ปี ได้จมดิ่งเข้าสู่ห้วงนิทราตลอดกาล ทิ้งไว้เพียงตำนานเจ้าพ่อป็อปอาร์ตและผลงานที่สร้างภาพจำและแรงบันดาลใจให้กับผู้คนมาจวบจนทุกวันนี้   ที่มา https://astrumpeople.com/andy-warhol-biography/ https://www.theguardian.com/artanddesign/2012/feb/22/andy-warhol-legacy-lives-on https://www.britannica.com/biography/Andy-Warhol https://www.youtube.com/watch?v=nGGk7x6PK0Y https://www.catawiki.com/stories/587-5-ways-andy-warhol-changed-the-art-world https://www.sutori.com/story/relationship-of-andy-warhol-and-popular-culture--NntBD76yZqQ3pLx4cEpELf4s