อัง ลี เกือบทิ้งความฝัน แต่ได้ดีเพราะเมียเลี้ยง

อัง ลี เกือบทิ้งความฝัน แต่ได้ดีเพราะเมียเลี้ยง
ในค่านิยมของสังคมตะวันออก หากคุณเป็นชายหัวหน้าครอบครัวที่ไม่มีงานทำ ตกอับ เกาะภรรยากิน คุณอาจได้รับแรงกดดันมหาศาลจากสายตาคนภายนอก และนั่นก็เป็นชีวิตจริงกว่า 6 ปีของ หลี่ อัน หรือ อัง ลี (Ang Lee) ชายที่ฝันอยากเป็นผู้กำกับดัง แต่กลับทำได้เพียงช่วยงานกองถ่ายกระจุกกระจิก และถูกปฏิเสธบทภาพยนตร์สม่ำเสมอ ถึงขั้นคิดล้มเลิกความฝัน ณ เวลานั้นมีเพียงคนเดียวที่อยู่เคียงข้างเขาคือภรรยา เจน หลิน (Jane Lin) หญิงสาวที่บอกกับเขาว่า อย่าทิ้งความฝันตัวเอง “คนโบราณบอกว่า ‘สามสิบให้ตั้งตัว’ ตอนนั้นอายุของผมใกล้สามสิบแล้ว แต่แค่เลี้ยงตัวเองยังทำไม่ได้เลย ผมควรทำอย่างไรดี” ส่วนหนึ่งจากบทความของ อัง ลี ที่ตีพิมพ์ในนิตยสารตู๋เจ่อ ปี 2007 “ผมควรรอต่อไป หรือยอมทอดทิ้งความฝันด้านภาพยนตร์จากใจเสีย โชคดีที่ภรรยาให้กำลังใจผมอย่างทันท่วงที” และด้วยกำลังใจภรรยานี่แหละ ทำให้เขาไม่ล้มเลิกความฝันในใจแล้วเดินตามมันต่อ ในที่สุดลีก็คลอดภาพยนตร์เรื่องแรกของตัวเอง เริ่มต้นเก็บประสบการณ์งานกำกับ เริ่มสร้างชื่อเสียงนอกประเทศ และพาตัวเองขึ้นสูงสุดถึงการได้รับรางวัลอันทรงเกียรติอย่างรางวัลออสการ์ สาขาผู้กำกับยอดเยี่ยม นับเป็นผู้กำกับเอเชียคนแรกที่ได้รับรางวัลนี้ อัง ลี เป็นผู้กำกับภาพยนตร์สัญชาติอเมริกันเชื้อสายไต้หวัน เติบโตในครอบครัวที่ผูกพันกับวัฒนธรรมประเพณีจีนดั้งเดิมอย่างเหนียวแน่น โดยอพยพมาจากจีนแผ่นดินใหญ่หลังพรรคคอมมิวนิสต์จีนชนะสงครามกลางเมือง ลีจึงได้รับการอบรมสั่งสอนอย่างเข้มงวด ขณะที่ตัวเขากลับหลงใหลในศาสตร์ภาพยนตร์เป็นอย่างมาก ซึ่งขัดกับความคิดทางครอบครัวที่ว่า การทำงานในวงการบันเทิงเป็นเรื่องไม่สมควร และสั่งห้ามไม่ให้เขาคิดสนใจงานบันเทิง แต่ความฝันนั้นแรงกล้ากว่าคำสั่ง อัง ลี หอบของออกจากบ้านไปศึกษาภาพยนตร์และการละครที่ไต้หวัน ศึกษาต่อด้านกำกับการแสดงในสหรัฐอเมริกา ที่มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ก่อนจะเข้าเรียนสาขาการผลิตภาพยนตร์ต่อในระดับปริญญาโทที่โรงเรียนศิลปะทิสช์ แห่งมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก  [caption id="attachment_13341" align="alignnone" width="1491"] อัง ลี เกือบทิ้งความฝัน แต่ได้ดีเพราะเมียเลี้ยง Sense and Sensibility (1995)[/caption]   ระหว่างเรียนเขาร่วมกิจกรรมเกี่ยวกับการละครโดยตลอด เคยทั้งเล่นละครเวที เคยแข่งละครพูด และเคยทำภาพยนตร์สั้นที่กวาดรางวัลมามากมาย โดยเฉพาะภาพยนตร์สั้นวิทยานิพนธ์ Fine Line เกี่ยวกับความรักหนุ่มสาวต่างเชื้อชาติที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมของมหาวิทยาลัย แม้เขาจะมีชื่อเสียงพอสมควรหลังเรียนจบ แต่การเป็นคนเอเชียในฮอลลีวูด (ณ ขณะนั้น) ยังไม่ได้รับโอกาสเท่าไหร่ เขาใช้เวลากว่า 6 ปีในการทำงานกองถ่ายเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่บ้านเขียนบทภาพยนตร์ และเป็นพ่อบ้านเลี้ยงดูลูกชายที่เพิ่งเกิด โดยมีภรรยาของเขาเป็นผู้ทำงานหาเงินเลี้ยงครอบครัว สร้างความอับอายถึงขนาดที่เพื่อนของเขาบอกว่า “เป็นผู้ชายแท้ ๆ ปล่อยให้ภรรยาหาเลี้ยงได้อย่างไร” “สำหรับผู้ชายคนหนึ่ง การใช้ชีวิตแบบนี้เป็นเรื่องเสียศักดิ์ศรีอย่างมาก วันหนึ่งพ่อตาแม่ยายให้เงินภรรยามาก้อนหนึ่ง ฝากมาให้ผมนำไปเปิดร้านอาหารจีนสักร้านเพื่อเลี้ยงปากท้อง แต่ภรรยาของผมปฏิเสธแล้วคืนเงินไป พอผมรู้เรื่องนี้ ผมคิดทบทวนอยู่หลายคืน ท้ายที่สุดก็ตัดสินใจว่า บางทีชาตินี้ความฝันด้านภาพยนตร์มันช่างห่างไกลเสียเหลือเกิน หันหน้ามาเผชิญหน้ากับความจริงเถอะ” อัง ลี เคยให้สัมภาษณ์ว่า สุขภาพทางการเงินของครอบครัววิกฤตมาก มื้ออาหารหรูหราที่สุดคือการไปกินไก่ทอด KFC เท่านั้น “ถ้าผมยึดค่านิยมแบบญี่ปุ่น ผมคงคว้านท้องตัวเองไปแล้ว” แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาสำหรับภรรยาของเขาเลย เจน หลิน ไม่เคยบังคับให้เขาออกไปหางานแม้แต่ครั้งเดียว โดยให้เหตุผลว่า ความใฝ่ฝันของสามีคือการสร้างภาพยนตร์ หากสามีไม่ได้ทำตามที่ฝัน เขาจะรู้สึกไร้ชีวิตชีวา และนั่นก็ไม่ใช่คนที่เธอต้องการร่วมชีวิตด้วย วันหนึ่งขณะที่ภรรยากำลังจะออกจากบ้านไปทำงานหาเงิน เธอหันมาพูดกับสามีว่า “อัง อย่าลืมความฝันในใจคุณ” “ภรรยาเป็นเพื่อนสมัยเรียนมหาวิทยาลัย แต่เธอเรียนด้านชีววิทยา” อัง ลี กล่าวถึงภรรยา “หลังเรียนจบก็ทำงานเป็นพนักงานวิจัยยาของสถาบันเล็ก ๆ แห่งหนึ่ง ได้เงินเดือนก็น้อย... เพื่อลดทอนความรู้สึกผิดในใจผม ทุก ๆ วันนอกจากดูหนัง อ่านหนังสือเพื่อเขียนบท ผมจะรับหน้าที่ทำงานบ้านทุกอย่าง ทั้งจ่ายตลาด ทำอาหาร เลี้ยงลูก และทำความสะอาดบ้าน”   [caption id="attachment_13339" align="alignnone" width="1280"] อัง ลี เกือบทิ้งความฝัน แต่ได้ดีเพราะเมียเลี้ยง Pushing Hands (1991)[/caption]   หลังใช้ชีวิตเป็นพ่อบ้านให้ภรรยาเลี้ยงกว่า 6 ปี ในที่สุดด้วยวัย 37 ปี บทภาพยนตร์ที่เขาปลุกปั้นมานานก็ได้รับเงินทุนสนับสนุน นั่นคือผลงานภาพยนตร์ขนาดยาวเรื่องแรกของเขา Pushing Hands (1991) เกี่ยวกับชายชราชาวจีนในนิวยอร์ก ที่ต้องปรับตัวเข้ากับช่องว่างระหว่างยุคและวัฒนธรรม หนังประสบความสำเร็จถึงขนาดได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลม้าทองคำถึง 8 สาขา และเขาก็ค่อย ๆ เข็นภาพยนตร์ออกมาทั้ง The Wedding Banquet (1993) และ Eat Drink Man Woman (1994) อัง ลี เริ่มกลายเป็นที่รู้จักในวงการฮอลลีวูด จากการดัดแปลงวรรณกรรมคลาสสิกมาเป็นภาพยนตร์ Sense and Sensibility (1995) ซึ่งเข้าชิงรางวัลออสการ์ สาขาภาพยนตร์ยอดเยี่ยม เสียด้วย ถึงแม้ตัวเขาจะไม่เข้าชิงสาขาผู้กำกับ แต่ อัง ลี ก็มีชื่อเข้าชิงอีกครั้งในปี 2001 กับ Crouching Tiger, Hidden Dragon (2000) และ ปี 2006 กับ Brokeback Mountain (2005) ซึ่งในปีนี้นี่เองที่เขาขึ้นเวทีออสการ์และคว้ารางวัลผู้กำกับยอดเยี่ยมมาได้ ไม่เท่านั้นในปี 2013 เขาก็คว้ารางวัลเดิมอีกครั้งกับ Life of Pi (2012) นับเป็นผู้กำกับเอเชียคนแรกและคนเดียวที่คว้ารางวัลออสการ์มาครองถึง 2 ครั้ง และถึงแม้เขาจะโด่งดังขนาดนั้น เจน หลิน ก็ยังมอง อัง ลี เป็นสามีคนเดิมเสมอมา โดยมีผลงานภาพยนตร์ที่ชอบที่สุดคือ Pushing Hands ภาพยนตร์เรื่องแรกที่เขาทำตามความฝันได้สำเร็จ Pushing Hands อาจไม่ได้โด่งดังมากนัก แต่มันอยู่ในหัวใจของพวกเราเสมอมา เพราะมันเป็นหนังที่ลีเขียนบทสุดท้ายด้วยตัวเขาเอง และมันมีคุณค่าต่อเขาในเวลานั้น ฉันรักหนังเรื่องนี้ตลอด” ภรรยากล่าว “สำหรับฉัน เขาเป็นคนดี เป็นสามี และเป็นพ่อ ชื่อเสียงต่าง ๆ ไม่สามารถเปลี่ยนแปลงตัวเขาได้เลย” ผลงานของลีมักได้รับคำชมว่าเรียบง่าย แต่สร้างอารมณ์ร่วมที่สะเทือนไปทั้งหัวใจ โดยเฉพาะการสำรวจความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์อย่างมีศิลปะ ที่สำคัญคือการก้าวข้ามกำแพงทางวัฒนธรรม และผสมผสานความเชื่อของตัวเองไว้อย่างแยบยล “โดยธรรมชาติแล้วผมยังคงเป็นคนไต้หวันเพราะเติบโตที่นั่น ซึ่งทำให้ผมมีส่วนผสมทางวัฒนธรรมเหมือนที่คนไต้หวันเป็น แม้กระทั่งการถ่ายภาพยนตร์ มันก็เป็นภาพยนตร์ไต้หวันนะ”   [caption id="attachment_13340" align="alignnone" width="1500"] อัง ลี เกือบทิ้งความฝัน แต่ได้ดีเพราะเมียเลี้ยง Gemini Man (2019)[/caption]   ปี 2019 อัง ลี มีภาพยนตร์เรื่องล่าสุดกับ Gemini Man (2019) อีกหนึ่งภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ที่วางแผนการสร้างมานานกว่าจะเริ่มเปิดกล้อง ด้วยไอเดียแปลกแหวกแนวกับเรื่องราวของ “เฮนรี โบรแกน” (นำแสดงโดย วิลล์ สมิธ) มือสังหารระดับหัวกะทิที่จู่ ๆ กลับกลายเป็นเป้าหมายเสียเอง โดยผู้ไล่ล่าเป็นตัวเขาเองในเวอร์ชันที่หนุ่มกว่า ผู้กำกับยกระดับคุณภาพการถ่ายทำด้วยวิชวลเอฟเฟ็กต์พิเศษที่ไม่เคยนำไปใช้ที่ไหนมาก่อน ถ่ายทำภาพยนตร์ด้วยสปีด 120 เฟรมต่อวินาที (ภาพมาตรฐานปกติอยูที่ 24 เฟรมต่อวินาที) รวมถึงยังถ่ายทำภาพให้ออกมาเป็นภาพ 4K แบบ 3D ซึ่งจะสร้างประสบการณ์ใหม่ในการรับชม “เทคโนโลยีช่วยให้เราสร้างภาพในแบบที่เราอยากเห็น งานวิชวลเอฟเฟ็กต์สามารถเป็นงานศิลปะได้ ซึ่งเรานำมาใช้ในการเล่าเรื่อง และทำสิ่งที่เป็นรูปธรรมให้กลายเป็นภาพที่มองเห็นและเข้าใจได้” ผู้กำกับกล่าวถึงความพิเศษของภาพยนตร์เรื่องนี้ “ภาพยนตร์ก้าวหน้าพัฒนาไปอยู่เสมอ ผมคิดว่าการพาผู้คนไปสู่โลกใหม่ ความเป็นไปได้ใหม่ ตัวตนใหม่ คือสิ่งที่น่าตื่นเต้นของ Gemini Man” การเดินทางสายภาพยนตร์ของ อัง ลี ยังไม่ถึงที่สิ้นสุด หลังจากนี้ ผู้กำกับดังยังมีแผนการสร้าง Thrilla in Manila ที่ยังไม่มีรายละเอียดใด ๆ ออกมา แต่ถึงกระนั้นเราก็การันตีได้ว่ามันต้องเป็นงานคุณภาพเหมือนดั่งที่เขาสร้างมาโดยตลอด มาถึงวันนี้ หากย้อนกลับไปมองความสำเร็จของ อัง ลี เราจะเห็นถึงความมุ่งมั่นที่เขาอุทิศให้กับภาพยนตร์อย่างเต็มที่ แม้จะผ่านช่วงเวลาแสนลำบากกว่า 6 ปีที่ไม่มีงานทำ ไม่มีใครรู้จัก หรือกระทั่งไม่มีเงิน แต่เขาก็ยังเดินทางตามความฝันอย่างจริงจัง พร้อมภรรยาแสนสวยที่อยู่เคียงข้างเขาเสมอ เหมือนดั่งประโยคสุดท้ายในบทความที่ตีพิมพ์ในนิตยสารตู๋เจ่อ ว่า “ตอนนี้ผมได้ออสการ์แล้ว ผมรู้สึกว่าความอดทนของผม ความเสียสละของภรรยา ในที่สุดก็ได้รับสิ่งตอบแทน ขณะเดียวกันก็ทำให้ผมรู้สึกมั่นใจยิ่งขึ้นว่าจะเดินไปบนเส้นทางแห่งภาพยนตร์เส้นนี้ต่อไป เพราะว่าในใจของผม มีความฝันเรื่องภาพยนตร์เสมอมา “แล้ววันนี้พวกคุณได้ค้นพบและเดินตามความฝันของคุณแล้วหรือยัง?”   ที่มา https://www.imdb.com/name/nm0000487/?ref_=nmawd_awd_nm https://www.theguardian.com/lifeandstyle/2013/apr/26/ang-lee-family-values-life-pi http://focustaiwan.tw/news/aeas/201610010021.aspx https://www.nytimes.com/2001/01/28/nyregion/families-far-from-the-spotlight-winning-director-s-wife.html https://whatshihsaid.com/2013/02/26/ang-lee-a-never-ending-dream/ https://www.facebook.com/248189232007093/photos/a.522133844612629/565614840264529/?type=1&theater https://pantip.com/topic/30208874 (บทความแปลจากต้นฉบับภาษาจีนเป็นไทยโดยคุณ อนุรักษ์ กิจไพบูลทวี)