แมคกายเวอร์ ยอดคนสมองเพชร ตำนานแห่งพยัคฆ์ร้ายมีดพับ

แมคกายเวอร์ ยอดคนสมองเพชร ตำนานแห่งพยัคฆ์ร้ายมีดพับ
ภาพที่เรามักจะเห็นชินตาในหนังหรือซีรีส์แอ็คชัน นั่นคืออาวุธข้างกายของพระเอก ไม่ว่าจะเป็น ปืน ดาบ หอก ธนู หรืออะไรก็ตามแต่ที่แสดงให้เห็นถึงความเก่งกาจและความชำนาญของเหล่าพระเอกในเรื่องนั้น ๆ แต่คงมีไม่กี่คนที่อาวุธของเขาจะเป็นไม้แขวนเสื้อ กาว หมากฝรั่ง หรือกระทั่งมีดพับเล็ก ๆ จะเรียกได้ว่ามีเขาเพียงคนเดียวก็ไม่ผิดที่หยิบจับสิ่งรอบกายมาประกอบเป็นอาวุธได้อย่างง่ายดาย เป็นแรงบันดาลใจของผู้ชมยุค 80s และกลายเป็นตำนานในปัจจุบัน แมคกายเวอร์ (MacGyver) หรือในชื่อไทยอันแสนคมคายว่า “ยอดคนสมองเพชร” เล่าถึงสายลับหนุ่มเจ้าหน้าที่กองกำลังพิเศษขององค์กรลับ Phoenix Foundation ที่รับภารกิจจากรัฐบาลสหรัฐฯ เพื่อยับยั้งแผนร้ายจากศัตรูรอบทิศที่เป็นภัยต่อประเทศ แม้เปิดเรื่องย่อจะดูแสนธรรมดาไม่แตกต่างจากหนังหรือซีรีส์สายลับทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่แตกต่างและทำให้ซีรีส์เรื่องนี้ครองใจผู้ชมนับตั้งแต่ปี 1985 จนถึงปี 1992 นั่นก็คือคือตัวตนของผู้ชายที่ชื่อ แองกัส แมคกายเวอร์ (Angus MacGyver) นั่นเอง อดีตหน่วยรบพิเศษแห่งกองทัพสหรัฐฯ ผู้ผ่านศึกสงครามอย่างโชกโชน แองกัส แมคกายเวอร์ เป็นเลิศในด้านเคมีฟิสิกส์และวิทยาศาสตร์ เขาสามารถแปรองค์ความรู้ให้กลายเป็นอาวุธได้ในชั่วพริบตา ในฐานะผู้ชำนาญการทางด้านระเบิดในสงครามเวียดนาม หลังเสร็จสิ้นสงคราม เขาเข้าร่วมกับ Phoenix Foundation ในฐานะสายลับผู้เก่งกาจ แองกัส เป็นที่รักขององค์กร เพราะมีปฏิภาณไหวพริบดีเยี่ยม สามารถนำสิ่งรอบกายมาประกอบเป็นอาวุธได้อย่างง่ายดาย ซึ่งส่วนใหญ่เขาจะใช้เพื่อแก้สถานการณ์มากกว่าที่จะประหัตประหารกับผู้ร้ายด้วยซ้ำ เราจึงได้เห็นการแก้สถานการณ์คับขันที่สุดเหวอ ทั้งการหยุดขีปนาวุธด้วยคลิปหนีบกระดาษ สร้างบอลลูน D.I.Y. ด้วยลูกฟุตบอล หรือแม้กระทั่งเปลี่ยนท่อไอเสียรถยนต์ให้กลายเป็นบาซูก้า นี่เป็นตัวอย่างของอุปกรณ์หลายร้อยชิ้นที่แองกัสประดิษฐ์ขึ้นมาในแต่ละตอน มันจึงเป็นซีรีส์ที่คนดูแทบไม่สนใจเรื่องราวของมัน เพราะสิ่งที่ดึงดูดมากกว่าคือ ตอนนี้แมคกายเวอร์จะประดิษฐ์อาวุธอะไรขึ้นมาอีก ความนิยมของซีรีส์เรื่องนี้ ค่อย ๆ ทวีความน่าสนใจจากตอนไพล็อตทดลองออกอากาศที่เกือบลงเหว ถึงขนาดตัวผู้กำกับต้องใช้นามแฝงอย่าง อลัน สมิธี (Alan Smithee) เพราะอายถึงขนาดไม่อยากจะใช้ชื่อจริง และความแปลกที่คนส่วนใหญ่ไม่ชินที่มาเจอฮีโรซึ่งไม่ได้หยิบปืนมาบู๊ล้างผลาญต่อกรกับเหล่าร้าย แต่ด้วยความมั่นใจของ ลี เดวิด ซโลทอฟฟ์ (Lee David Zlotoff) ที่เชื่อว่าซีรีส์แอ็คชันพระเอกไม่จำเป็นต้องจับปืนเสมอไปอย่างเรื่องนี้จะต้องดังในอนาคตแน่ ๆ และชื่อ แมคกายเวอร์ จะเป็นชื่อที่ติดปากผู้คนไปทั่วโลกอย่างแน่นอน และมันก็ดังอย่างที่โปรดิวเซอร์คิดจริง ๆ จากเรตติงที่ย่ำแย่ แมคกายเวอร์ ค่อย ๆ สะสมแฟนเดนตายขึ้นมาเรื่อย ๆ จากพระเอกละครน้ำเน่า ริชาร์ด ดีน แอนเดอร์สัน (Richard Dean Anderson) ก็แจ้งเกิดทันทีจากบท แองกัส แมคกายเวอร์ ตัวละครเอกของเรื่อง แอนเดอร์สัน กลายเป็นซูเปอร์สตาร์ที่สาว ๆ ยุคนั้นคลั่งไคล้ในความหล่อเหลา ส่วนเด็กผู้ชายก็มองเขาเป็นฮีโรที่จับต้องได้ ซีรีส์แมคกายเวอร์เองก็มีความสมจริงและเป็นแรงบันดาลใจของหลาย ๆ คนในการประดิษฐ์คิดค้นสิ่งของมากมายจากวัสดุรอบกายที่อยู่ในบ้าน เป็นบทเรียนวิชาวิทยาศาสตร์นอกห้องเรียนที่สนุกน่าติดตาม ก่อเกิดนักประดิษฐ์และนักวิทยาศาสตร์ขึ้นมาไม่น้อยจากซีรีส์ชุดนี้ แม้จะมีการสร้างซีรีส์ชุดนี้ขึ้นใหม่ในยุคปัจจุบัน แต่ก็มีฟีดแบคจากผู้ชมบางส่วนว่า มนต์ขลังและความคลาสสิกไม่ได้ครึ่งของต้นฉบับเลยสักนิดเดียว พระเอกอีกรายที่ขาดไม่ได้ เห็นจะเป็นมีดพับสารพัดประโยชน์ Swiss Army ยี่ห้อ Victorinox ที่ถือกำเนิดมาบนโลกตั้งแต่ปี 1884 และให้หลังราวร้อยปีกว่า ๆ ก็กลับกลายมาเป็นไอเทมชิ้นเด็ดที่วัยรุ่นยุค 80s ต้องพกติดตัวไปตลอด นับตั้งแต่แมคกายเวอร์หยิบมันมาใช้เพื่อประดิษฐ์อาวุธหรือเอาตัวรอดจากสถานการณ์คับขัน ฮอตจนถึงขั้นที่ว่ามีดพับดังกล่าวถูกเรียกว่า “มีดพับแมคกายเวอร์” มาจนถึงทุกวันนี้ ซึ่งก็คงไม่ต่างจากกระเป๋าเหล็กใส่เอกสารที่ถูกเรียกว่า “กระเป๋าเจมส์ บอนด์” เรียกได้ว่านี่คือสิ่งที่บ่งบอกถึงอิทธิพลแห่งยุคสมัยของแมคกายเวอร์ที่มีผลต่อผู้คนยุคนั้น สิ่งที่น่าสนใจในซีรีส์จนเกิดเป็นคำถามว่า ทำไมแมคกายเวอร์ถึงไม่เลือกจับปืนขึ้นต่อสู้? มีตอนหนึ่งที่เล่าถึงปมในวัยเด็กที่เขาหยิบปืนออกไปล่าสัตว์จนเกิดอุบัติเหตุ แมคกายเวอร์พลั้งมือฆ่าเพื่อนของเขาจนกลายเป็นฝันร้ายที่ตามหลอกหลอนเขาไปตลอดชีวิต หากแต่เรากลับมองว่า นอกจากปมในจิตใจของแมคกายเวอร์แล้ว ผู้สร้างคงแฝงนัยบอกกับเราว่า อาวุธที่เหนือกว่าปืนผาหน้าไม้ก็คือ “สติ” และ “ปัญญา” เมื่อมีทั้งสองอย่างเราก็สามารถเผชิญหน้าได้ทุกสถานการณ์ เมื่อมีสติปัญญา เราทุกคนก็สามารถเป็น “แมคกายเวอร์” ได้นั่นเอง   เรื่อง: ครูสิงห์ โสตศึกษา