นักแปลไทย นิยมแปล Animal Farm ช่วงรัฐประหาร

นักแปลไทย นิยมแปล Animal Farm ช่วงรัฐประหาร
ย้อนไปหลังการเลือกตั้ง 2562 จบลงนานกว่า 2 เดือน แต่ประเทศไทยก็ยังไม่มีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งเสียที พล.ท. วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี จึงออกมาชี้แจงแทนนายกรัฐมนตรี พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ว่า ทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนของกฎหมาย (บลา ๆ ๆ)  ซึ่งคนก็ไม่ได้สนใจในสาระส่วนนั้นสักเท่าไหร่ แต่มาสะดุดตรงตอนที่เขาเสริมต่อไปว่า “วันนี้นายกฯ ยังคงทำงานตามปกติ โดยเฉพาะงานเอกสารที่มีเข้ามาให้พิจารณาทุกวัน และยังฝากแนะนำให้อ่านหนังสือ Animal Farm ฉบับภาษาไทย ซึ่งเป็นหนังสือน่าอ่านที่ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการดำเนินชีวิตได้เป็นอย่างดี” (ไทยโพสต์) ครับ! นายกรัฐมนตรีที่มาจากการใช้กำลังทหารล้มล้างรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แนะนำให้ประชาชนอ่าน "Animal Farm" งานคลาสสิกของ จอร์จ ออร์เวลล์ นักเขียนชาวอังกฤษ ใครได้ยินก็สงสัยว่านายกฯ เข้าใจอะไรผิดไปรึเปล่า? วีรชน หนังหน้าไฟนายกฯ จึงออกมาให้คำอธิบายว่า เรื่องดังกล่าวไม่เกี่ยวข้องกับการเมืองไทย แต่นายกรัฐมนตรีเห็นว่าผู้เขียนถ่ายทอดเนื้อเรื่องได้ดีและน่าสนใจ” (มติชนออนไลน์) ซึ่งเป็นคำอธิบายแบบไม่เสียดายสีข้างแม้แต่น้อย เพราะ Animal Farm เป็นนิทานการเมืองมาตั้งแต่ต้น และฉบับแปลภาษาไทยก็ยิ่งผูกพันกับการเมืองไทยอย่างแยกไม่ออก เบื้องต้นหนังสือของ จอร์จ ออร์เวลล์ ชัดเจนว่าเป็นงานที่เกิดขึ้นด้วยแรงผลักดันทางการเมือง โดยเขาตั้งใจจะเขียนเสียดสีการเมืองของโซเวียตรัสเซียในยุคโจเซฟ สตาลิน ที่ตอนแรก ๆ ชาวอังกฤษจำนวนมากพากันหลงใหลได้ปลื้มแบบไม่ลืมหูลืมตา จนทำให้เขาถูกสำนักพิมพ์ 4 แห่งปฏิเสธที่จะตีพิมพ์ เพราะมันชัดเจนมากว่าเขาต้องการจะเสียดสีใคร เหมือนที่สำนักพิมพ์แห่งหนึ่งให้เหตุผลในการปฏิเสธตอนหนึ่งว่า "นิทานเรื่องนี้ ถ้ามันกล่าวถึงผู้นำเผด็จการและระบอบเผด็จการโดยทั่วไป ทางสำนักพิมพ์ก็คงไม่ขัดข้อง แต่นิทานเรื่องนี้ ผมเห็นแล้วว่า มันคือพัฒนาการของโซเวียตรัสเซียและสองผู้นำเผด็จการของพวกเขาอย่างสมบูรณ์ มันสามารถเทียบได้แต่รัสเซียเท่านั้น ไม่อาจนึกถึงระบอบเผด็จการอื่นใดได้อีก" (ฺBritish Library) คำอธิบายของสำนักพิมพ์แห่งนี้นับได้ว่าจริง เพราะตอนนั้นการปฏิวัติของชนชั้นแรงงาน ซึ่งเปรียบเทียบได้กับการปฏิวัติของสัตว์เพื่อปลดแอกการกดขี่ของมนุษย์ (ก่อนถูกฝูงหมูเผด็จอำนาจ และปกครองด้วยความเลวร้ายไม่ต่างจากมนุษย์) ในเรื่อง Animal Farm นั้น ยังไม่เกิดขึ้นที่ไหนนอกจากที่รัสเซีย ซึ่งออร์เวลล์ได้ฟังแล้วก็เซ็งที่สำนักพิมพ์เลือกที่จะเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยกลัวกระแสสังคมโจมตี เนื่องจากสมัยนั้นโซเวียตยังเนื้อหอม สตาลินถูกมองว่าเป็นผู้นำที่เข้มแข็งน่าชื่นชม เป็นกุญแจสำคัญสู่ชัยชนะของฝ่ายสัมพันธมิตรช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (หนังสือเล่มนี้ ออร์เวลล์ขึ้นโครงเรื่องไว้ตั้งแต่ปี 1937 เริ่มเขียนปี 1943 เผยแพร่ปี 1945 ซึ่งอยู่ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 พอดี) แต่ยิ่งกาลเวลาผ่านไป การปฏิวัติและรัฐประหารที่ผู้นำคณะอ้างว่าตัวเองทำเพื่อประโยชน์ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นการโค่นล้มระบอบเดิมอันชั่วร้ายไม่เป็นธรรม (อย่างนู้นอย่างนี้) ก็เกิดขึ้นทั่วโลก Animal Farm จึงถูกนำไปเทียบเคียงกับการเมืองของประเทศต่าง ๆ มากขึ้น ในส่วนประเทศไทย จากการค้นคว้าของ รสลินน์ ทวีกิตติกุล (รายงาน ประเด็นการแปลซ้ำ [Retranslation] กรณีศึกษาการแปลเรื่อง Animal Farm ของ George Orwell จาก Paratext ในสำนวนการแปลของ สายธาร, เกียรติขจร ไชยแสงสุขกุล, พันเอก ดร. ชัยพฤกษ์ ปิลกศิริ, บัญชา สุวรรณานนท์ และ สรวงอัปสร กสิกรานันท์ - คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย) พบว่ามีการแปล Animal Farm มาแล้วอย่างน้อย 9 สำนวน ที่สำคัญการเผยแพร่ในแต่ละครั้งยังเกิดขึ้นในช่วงที่เกิดความเปลี่ยนแปลงทางการเมืองอย่างมีนัยสำคัญ คือ ถ้าไม่เป็นช่วงการรัฐประหาร ก็เป็นการเปลี่ยนขั้วทางการเมือง ดังนี้
  1. (ชื่อหนังสือฉบับแปล) ฟาร์มเดียรัจฉาน (ตีพิมพ์) พ.ศ. 2502 - (เหตุการณ์ทางการเมือง) รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2501 จอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ยึดอำนาจรัฐบาลจอมพลถนอม กิตติขจร
  2. สัตวรัฐ พ.ศ. 2515 - รัฐประหาร 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2514 จอมพลถนอม กิตติขจร ยึดอำนาจรัฐบาลตัวเอง
  3. การเมืองของสัตว์ พ.ศ. 2518 - รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาล ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช
  4. แอนนิมอล ฟาร์ม พ.ศ. 2518 - รัฐประหาร 6 ตุลาคม พ.ศ. 2519
  5. ฟาร์มสัตว์ พ.ศ. 2520 - รัฐประหาร 20 ตุลาคม พ.ศ. 2520 พล.ร.อ.สงัด ชลออยู่ ยึดอำนาจรัฐบาลธานินทร์ กรัยวิเชียร
  6. รัฐสัตว์: วรรณกรรมเทพนิยาย พ.ศ. 2544 - การเปลี่ยนขั้วอำนาจทางการเมือง ทักษิณ ชินวัตร ชนะการเลือกตั้งได้เป็นนายกรัฐมนตรีสมัยแรก พ.ศ. 2544
  7. แอนิมอล ฟาร์ม พ.ศ. 2549 - รัฐประหาร 19 กันยายน พ.ศ. 2549 พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ ทักษิณ ชินวัตร
  8. แอนิมอล ฟาร์ม สงครามกบฏของสรรพสัตว์ พ.ศ. 2555 - ความขัดแย้งสีเสื้อ ในปี พ.ศ. 2553 มีการชุมนุมใหญ่ของกลุ่มแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.)
  9. แอนิมอล ฟาร์ม การเมืองเรื่องสรรพสัตว์ พ.ศ. 2557 - รัฐประหาร 22 พฤษภาคม พ.ศ. 2557 พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยึดอำนาจรัฐบาลรักษาการ นิวัฒน์ธำรง บุญทรงไพศาล (ปฏิบัติหน้าที่นายกฯ หลัง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถูกศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยให้พ้นจากตำแหน่ง)
ทำไมถึงต้องแปลบ่อยขนาดนั้น? นักทฤษฎีวรรณกรรมบางราย เสนอว่า การแปล ถือเป็นการเขียนใหม่จากของเก่า (rewriting) โดยการเขียนใหม่ในที่นี้หมายถึง การผลิตเนื้อความใหม่ขึ้นมาจากฐานของเนื้อความอื่นโดยมีเจตนาที่จะดัดแปลงเนื้อความอื่นนั้นให้เข้ากับอุดมการณ์หนึ่ง ๆ หรือลักษณะงานประพันธ์แบบใดแบบหนึ่ง หรือประสานทั้งสององค์ประกอบเข้าด้วยกัน "การเขียนใหม่ (rewriting) ทุกชิ้นไม่ว่าจะมีวัตถุประสงค์ใด ต่างสะท้อนอุดมการณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และลักษณะการประพันธ์แบบหนึ่งแบบใด โดยเป็นการจับงานประพันธ์[อื่น]มาบิดแปร (manipulate) ให้เข้ากับสังคมนั้น ๆ ตามทางที่มุ่งประสงค์ การเขียนใหม่เป็นการบิดแปรเพื่อรับใช้อำนาจ ซึ่งในมุมบวกมันช่วยเรื่องวิวัฒนาการทั้งงานประพันธ์และสังคม การเขียนใหม่สามารถช่วยนำเสนอความคิดใหม่ รูปแบบใหม่ เครื่องมือใหม่ และประวัติศาสตร์ของงานแปลก็เป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์นวัตกรรมงานประพันธ์ รวมถึงประวัติศาสตร์ของการก่อตัวทางอำนาจของวัฒนธรรมหนึ่งเหนืออีกวัฒนธรรมหนึ่งด้วย แต่การเขียนใหม่ก็อาจกด บิดเบือน และจำกัดการเกิดของนวัตกรรมใหม่ได้ และในยุคที่การบิดแปรเพิ่มขึ้นอย่างมากในทุกรูปแบบ  การแปลจึงเป็นตัวอย่างของการศึกษาถึงกระบวนการบิดแปรงานประพันธ์ที่จะช่วยให้เราเข้าใจโลกที่เราอยู่ได้ดียิ่งขึ้น" ส่วนหนึ่งของคำอธิบายในหนังสือ Translation, Rewriting and the Manipulation of Literary Fame โดย André Lefevere ระบุ ส่วนการแปลซ้ำ (retranslation) นั้น ผู้รู้ (หลายคนจากรายงานของรสลินน์) อธิบายว่า การแปลซ้ำเกิดขึ้นเพื่อให้งานแปลมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น เมื่อเวลาเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน จึงอาจจำเป็นต้องมีการแปลซ้ำให้ตัวบทแปลเข้ากับยุคสมัยที่เปลี่ยนไป งานแปลชิ้นแรก ๆ ยังมักจะมีความพยายามที่จะดัดแปลงให้คนอีกกลุ่มที่มีวัฒนธรรมต่างออกไปเข้าใจได้ง่าย ๆ ซึ่งความที่ถูกแปลออกมาอาจจะต่างจากความเดิมมาก เมื่อสังคมเข้าใกล้กันมากขึ้น คนต่างวัฒนธรรมเข้าใจกันมากขึ้น ความจำเป็นของการดัดแปลงเช่นนั้นก็น้อยลง งานแปลชิ้นหลัง ๆ จึงมีแนวโน้มที่จะยึดกับวัฒนธรรมต้นทางมากขึ้น นอกจากนี้ ผู้แปลยุคหลังก็ต้องการ “แข่ง” กับสำนวนแปลยุคแรก จึงจำเป็นต้องทำให้งานของตนต่างออกไปและโดดเด่นกว่าในทางใดทางหนึ่ง (ถ้าของเก่าดีอยู่แล้วจะต้องแปลใหม่ทำไม?)   งานแปล Animal Farm ในเมืองไทยที่แปลซ้ำหลายครั้ง และยังเผยแพร่ในช่วงที่เกิดการเปลี่ยนแปลงหรือความรุนแรงทางการเมืองแบบสุดโต่ง จึงสะท้อนทั้งอุดมการณ์และความผูกพันกับการเมืองไทยอย่างแยกไม่ออก ยิ่งการเมืองเข้มข้น ผู้แปลแต่ละคนก็กระตือรือร้นที่จะแปลวรรณกรรมอมตะชิ้นนี้เพื่อ "รับใช้อำนาจ" และอุดมการณ์ลักษณะใดลักษณะหนึ่งอยู่เสมอ การบอกว่า Animal Farm สำนวนไทยไม่เกี่ยวกับการเมืองไทยจึงรับฟังได้ยาก (และไม่แน่ว่า เร็วๆ นี้ เราอาจได้เห็น คนแปล Animal Farm สำนวนใหม่พร้อมบทวิเคราะห์ตีความชี้นำใหม่ เพื่อช่วยให้คำแนะนำของนายกฯ ประยุทธ์ฟังดูไม่ย้อนแย้งมากจนเกินไปก็เป็นได้)