แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน

แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน
ปี 2013 “แอน มาโคซินสกี้” หญิงสาวจากแคนาดา เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้าง หลังจากชื่อของเธอได้ปรากฏใน TIMES 30 ที่ได้รวบรวมคนรุ่นใหม่อายุไม่เกิน 30 ผู้กำลังจะเปลี่ยนโลกนี้ ในเวลานั้นเธอเป็นเพียงแค่สาววัยรุ่นอายุเพียงแค่ 15 ปี เธอเลยถูกจับจ้องว่าเป็นฮีโรสาวผู้จะกอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉาย จนขนาดมีคนให้ฉายาเธอว่า “สาวไฟฉาย” (Flashlight Girl) “แอน มาโคซินสกี้” (Ann Makosinski) เป็นลูกครึ่งฟิลิปปินส์ ครึ่งโปแลนด์ ที่มีเลือดแคนาดาอยู่เต็มร้อย เธอชอบกิจกรรมกลางแจ้ง เล่นกีฬา รักการเดินป่า กางเต็นท์ สีไวโอลิน เรียนการแสดง ตัดต่อวิดีโอ และอ่านวรรณกรรมคลาสสิก โดยเล่มโปรดของเธอคือ “กลาย” (Metamorphosis) ผลงานเขียนขึ้นหิ้งของ ฟรันซ์ คาฟคา นอกจากนี้เธอยังชอบวิทยาศาสตร์มาตั้งแต่เล็ก ๆ ของเล่นชิ้นแรก ๆ ของเธอคือ การรื้อกล่องทรานซิสเตอร์ ถอดชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ที่เสียแล้ว และตัวต่อเลโก้ ซึ่งพอเธอเริ่มเบื่อแล้วร้องขอของเล่นชิ้นใหม่ พ่อเธอที่เป็นนักวิทยุสมัครเล่นกลับซื้อปืนกาวให้ลูกสาวสุดที่รัก แล้วบอกว่าถ้าอยากได้ของเล่นใหม่ก็ไปทำขึ้นมาเองสิ นั่นอาจเป็นจุดเริ่มของเส้นทางนักประดิษฐ์ของสาวคนนี้ แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน โดยสาวน้อยที่เพิ่งมีสมาร์ทโฟนเป็นของตัวเองตอนอายุ 18 ปี หรือราวสองปีก่อน หลังจากจำเป็นต้องใช้โทรทางไกลตอนเรียนมหาวิทยาลัยนี้ ได้ก่อตั้งบริษัท มาโคโทรนิกส์ เอนเตอร์ไพรส์ ที่ถือสิทธิบัตรสิ่งประดิษฐ์เจ๋ง ๆ ไว้หลายอย่าง เช่น eDrink แก้วกาแฟที่ใช้ความร้อนผลิตไฟฟ้าชาร์จสมาร์ทโฟนไปในตัว ทำให้ในปี 2016 นิตยสาร Popular Science เลือกให้เธอเป็นนักประดิษฐ์รุ่นเยาว์แห่งปี นอกจากนี้เธอยังเป็นแบรนด์แอมบาสเดอร์ ให้กับเสื้อฮีทเทคผ้าฟลีซของยูนิโคล่ ซึ่งใช้แนวคิดการเก็บกักความร้อนแบบเดียวกับ “ไฟฉายกลวง” (hollow flashlight) สิ่งประดิษฐ์ที่สร้างชื่อเสียงให้กับเธอ แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน เจ้าไฟฉายนี้ มีจุดเริ่มจากการที่เธอได้มีโอกาสกลับไปเยี่ยมญาติฝ่ายแม่ ที่บ้านเกิดคุณแม่เธอที่ฟิลิปปินส์ ทำให้เธอได้สัมผัสกับความเป็นจริงที่ว่า ในหมู่บ้านเล็ก ๆ อันห่างไกลนี้ แตกต่างจากเมืองใหญ่ศิวิไลซ์ที่เธอคิดว่าเป็นโลกทั้งใบมากแค่ไหน ตอนเด็ก ๆ พ่อแม่ชอบดุเธอตลอดว่ากินอาหารไม่หมดว่า ให้คิดถึงเด็กอดอยากในทวีปแอฟริกาบ้าง ตอนแรกด้วยความเป็นเด็กใสซื่อเธอเลยไม่เชื่อ เพราะไม่คิดว่าจะมีเด็กที่ไหนที่ไม่มีอาหารรับประทาน ด้วยความที่รอบตัวของเธอมีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ จนบางทีมากเกินกว่าความต้องการของเด็กผู้หญิงตัวเล็ก ๆ อย่างเธอด้วยซ้ำไป แต่คนที่หมู่บ้านเล็ก ๆ นี้เหมือนจะไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวกอะไรในชีวิต แตกต่างจากที่บ้านของเธอมากมาย ในทางกลับกันพวกเขาดูมีความสุขกับทุกสิ่งที่พอหาได้ เด็ก ๆ เล่นสนุกด้วยกิจกรรมง่าย ๆ อย่าง วิ่งไล่จับ เตะบอลตามถนน ซึ่งไม่นานแอนก็มีเพื่อนสนิทคนหนึ่งชื่อ มาเรีย ที่เธอยังคงติดต่อกันมาอยู่เรื่อย ๆ ซึ่งน้องมาเรียนี่เองที่เป็นจุดเปลี่ยนชีวิตเธอไปตลอดกาล "ฉันมีเพื่อนที่ฟิลิปปินส์คนหนึ่งที่ติดต่อกันมาตลอดหกปี วันหนึ่งเมื่อสองสามปีก่อน เธอได้ส่งข้อความมาเล่าให้ฟังว่า ตอนนี้การเรียนเธอกำลังตกต่ำมาก ซึ่งไม่น่าเป็นไปได้เพราะเท่าที่จำได้เธอเป็นคนที่หัวดีมากคนหนึ่ง พอฉันถามสาเหตุเธอได้บอกว่า ที่บ้านเธอไม่มีไฟฟ้าตอนกลางคืนทำให้ไม่ได้อ่านหนังสือเลย เวลาช่วงเย็นที่ยังพอมีแสงสว่างเธอก็ต้องทำงานบ้าน พอตกดึกที่ว่างจะอ่านหนังสือก็มืดมาก จนการเรียนเธอเลยแย่ลงเรื่อย ๆ" แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน เรื่องของมาเรียกระแทกใจเธอมาก เพราะสาเหตุที่เพื่อนรักของเธอการเรียนย่ำแย่ไม่ได้มาจากการที่หัวไม่ดี หรือไม่ตั้งใจเรียน แต่เป็นเรื่องที่เด็กในแคนาดา หรืออาจจะเด็กไทยหลายคนไม่เคยคิดถึงมาก่อนเลย นั่นคือการไม่มีแสงไฟอ่านหนังสือในตอนกลางคืน การมีไฟฟ้าใช้อย่างไม่ติดขัดทุกวันทำให้เราหลายคนหลงลืมไปว่ายังมีคนอีกมากกว่า 1,200 ล้านคนทั่วโลก ต้องตกอยู่ภายใต้ความมืด ในช่วงเวลาเดียวกับที่เราเอื้อมมือเรากดเปิดไฟ หรือกำลังเสียบสายชาร์จสมาร์ทโฟน จุดเล็ก ๆ นี้ทำให้เธอได้ย้อนไปคิดถึงสิ่งที่พ่อแม่และคุณครูของเธอเคยเล่าให้ฟังถึงความยากลำบากในการใช้ชีวิตของคนอีกหลายล้านคนทั่วโลก คุณครูคนหนึ่งของเธอเล่าให้ฟังว่าตอนสมัยที่สอนเด็ก ๆ อยู่ที่แอฟริกานั้น ของรางวัลที่ดีที่สุดที่ให้เด็กเป็นเทียนไขเพื่อใช้จุดให้แสงสว่างในยามค่ำคืน เธออยากมีส่วนในการแก้ปัญหานี้ให้กับมาเรีย รวมไปถึงใครอีกหลายคนทั่วโลกที่เจอเรื่องเดียวกัน ในปี 2011 ขณะที่เธออยู่เกรดหก หรือเทียบกับชั้นประถมศึกษาปีที่หก เธอได้พกความตั้งใจแรงกล้านี้ติดตัวไปไปในงานวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นใกล้บ้านด้วย แล้วสิ่งที่ได้กลับออกมาคือไฟฉายมือหมุนที่เธอได้ประดิษฐ์ขึ้นมาจากหลักการ เพียโซอิเล็กทริค (Piezoelectric) ไฟฉายเล็ก ๆ อันนี้เหมือนจะช่วยแก้ปัญหาเรื่องแสงสว่างได้ แต่กลับสร้างปัญหาเรื่องเสียงรบกวนเวลาหมุนปั่นไฟเพื่อเปลี่ยนพลังงานกลให้เป็นประจุไฟฟ้าขึ้นมาแทน ซึ่งมันใช้งานจริงไม่ได้เลยโดยเฉพาะในชุมชนเล็ก ๆ เงียบสงบที่เพื่อนของเธออาศัยอยู่ ลองนึกถึงเสียงดังต่อเนื่องในยามค่ำคืนที่ผู้คนต่างหลับนอน มาเรียน่าจะถูกชาวบ้านก่นด่าตลอดเวลาที่เธอปั่นไฟอ่านหนังสืออย่างแน่นอน แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน เธอเลยมองหาทางออกอื่นที่สามารถให้กำเนิดแสงสว่างได้ ในขณะเดียวกันก็ไม่สร้างมลภาวะทางเสียงอีกด้วย ตอนแรกเธอคิดถึงพลังงานแสงอาทิตย์ แต่ถูกตีตกไปเพราะการใช้งานจริงต้องมีอุปกรณ์มากมายที่ตามมาด้วยค่าใช้จ่ายจำนวนหนึ่ง ต่อมาเธอได้มองความเป็นไปได้เรื่องพลังงานไฟฟ้าจากความร้อนที่ร่างกายมนุษย์สร้างขึ้น ซึ่งเธอมองว่ามันน่าจะเป็นเรื่องที่เยี่ยมยอดมาก เพราะพลังงานนี้จะช่วยโลกได้หลายทาง ทั้งการให้แสงสว่างและช่วยไม่ให้เกิดการสูญเสียพลังงานโดยเปล่าประโยชน์ หนึ่งปีหลังจากนั้นเธอเอาแนวคิดนี้ไปต่อยอดในโครงงานวิทยาศาสตร์ที่เธอนำสิ่งที่เรียกว่าแผ่นเพลทีเยอร์ (Peltier tiles) มาใช้โดยอาศัยปรากฏการณ์เพลทีเยอร์ ที่จะผันความร้อนให้เป็นพลังงาน อธิบายไอเดียของเธอแบบง่าย ๆ คือ ไฟฉายจากความร้อนของร่างกายมนุษย์ แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน เธอเริ่มต้นทดลองด้วยการจุดเทียนไขใต้แผ่นระบายความร้อนที่ถอดจากคอมพิวเตอร์ใช้แล้ว ซึ่งมันสร้างพลังงานไฟฟ้าได้ประมาณหนึ่ง แต่นั้นก็จุดประกายความหวังให้เธอมั่นใจว่าเริ่มมาถูกทางแล้ว เธอเลยนำไปพัฒนาต่อด้วยการทำท่อระบายความร้อนจากอะลูมิเนียม ส่วนอีกด้านเป็นแผ่นรับอุณหภูมิความร้อนจากมือจับ เพื่อส่งไฟฟ้าไปยังหลอดแอลอีดีขนาดเล็กที่ต้องการไฟฟ้าน้อยมาก ตอนแรกมันยังใช้งานไม่ค่อยได้นัก เพราะไฟฉายต้นแบบของเธอผลิตกระแสไฟฟ้าได้เพียงแค่ 50 มิลลิโวลต์ในขณะที่เธอตั้งเป้าไว้ที่ 2,500 มิลลิโวลต์ เธอหาตัวช่วยจากการค้นคว้าหาข้อมูลในอินเทอร์เน็ต จนได้วิธีเพิ่มพลังงานให้กับไฟฉายของเธอ ซึ่งเธอได้นำต้นแบบนี้ไปประกวดในงานวิทยาศาสตร์ แต่ได้เพียงแค่รางวัลรองชนะเลิศติดมือกลับมา แม้จะไม่ได้รางวัลที่หนึ่งแต่ผลงานของเธอก็เริ่มเข้าตาผู้ใหญ่หลายคนที่มองเห็นความตั้งใจ หนึ่งในนั้นคือครูสอนวิทยาศาสตร์ที่มาบอกให้เธอลองส่งผลงานนี้ไปประกวดในงานวิทยาศาสตร์ที่จัดขึ้นโดยกูเกิลดู (2013 Google science fair) เธอลองสมัครออนไลน์ อัพวิดีโอผ่าน YouTube แนะนำผลงานที่ตอนนี้เธอเรียกมันว่า "ไฟฉายกลวง" (hollow flashlight) ไปให้ทางกูเกิลก่อนถึงเส้นตายปิดรับสมัครเพียงแค่ 45 นาที หลายคนอาจจะพอคาดเดาเรื่องราวหลังจากนี้ได้ ในอีกไม่กี่เดือนต่อมา ทางผู้จัดงานแจ้งให้เธอทราบว่าผลงานของเธอได้เข้ารอบสุดท้าย เป็นหนึ่งใน 15 ผลงานจากทั่วโลก สุดท้ายแล้วไฟฉายที่เปลี่ยนความอบอุ่นจากอุ้งมือให้กลายเป็นแสงสว่างของเธอ ก็ได้รับการประกาศว่ามันเป็นสิ่งประดิษฐ์ที่ดีที่สุดในบรรดาเยาวชนช่วงอายุเดียวกัน แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน แม้รางวัลที่เธอได้รับจะมีทั้งเงินทุนการศึกษา เครื่องคอมพิวเตอร์ และโอกาสในการได้ไปดูงานที่ต่างประเทศ แต่เธอกลับรู้สึกว่ารางวัลที่ดีที่สุดคือ การที่ตอนนี้ไฟฉายของเธอได้กลายเป็นจุดสว่างเล็ก ๆ ท่ามกลางความมืดมิด ที่ส่องประกายให้คนทั่วโลกได้รับรู้ว่าตอนนี้มันยังคงมีปัญหาเรื่องการขาดแคลนแสงสว่างในยามค่ำคืนนี้อยู่ ซึ่งมันอาจเป็นทั้งการแก้ไขปัญหาให้กับมาเรีย เพื่อนรักในวัยเด็กของเธอ และอีกหลายคนในพื้นที่ห่างไกลทั่วมุมโลกให้มีชีวิตที่ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ "วันนี้อินเทอร์เน็ตเปิดตาให้เราได้เห็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากทั่วโลก ที่ยังขาดแคลนทรัพยากรที่จะแก้ไข ดังนั้นทุกครั้งที่พวกเรารับรู้ว่าที่ไหนมีปัญหา อยากให้ช่วยกันรีบเข้าไปแก้ไข ไม่ใช่รอคอยให้คนสักคนเริ่มต้น เหมือนฉันที่พยายามช่วยเหลือเท่าที่ทำได้ คุณก็พยายามได้เหมือนกัน แล้วเราก็ร่วมมือช่วยแก้ไขปัญหานั้นด้วยกัน ถ้าคุณบ่นว่ามือถือฉันเริ่มอืด แบตก็หมดเร็วมาก อยากให้ลองคิดหาทางแก้ไข เพราะถ้าแก้โจทย์ได้ มันอาจจะช่วยแก้ปัญหาของคนอีกหลายคนในโลกนี้" โลกเรากำลังมองหาทางแก้ไขปัญหาเรื่องการขาดแคลนพลังงาน ซึ่งเรื่องใหญ่นี้ไม่สามารถแก้ไขได้ด้วยคนเพียงคนเดียว หรือนักประดิษฐ์เพียงลำพัง เธอเชื่อว่าปัญหาระดับโลกนี้จะถูกแก้ไขได้จากการร่วมมือกันของคนมากมายที่ร่วมแชร์วิธีการใหม่ ๆ ที่อาจเป็นการค้นพบเล็ก ๆ หรือ การประดิษฐ์อะไรที่ดูง่าย ๆ เหมือนไฟฉายของเธอที่เหมือนโครงงานมัธยม แต่ตอนนี้ได้รับการต่อยอดจากบริษัทใหญ่ ๆ ให้มันมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นหลายเท่า ทั้งความสว่าง ต้นทุนถูกขึ้น และหน้าตาน่าใช้ว่าตอนเป็นต้นแบบหลายเท่า แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน จากจุดเริ่มที่แค่อยากให้เพื่อนเล่นของเธอ มีแสงสว่างในยามค่ำคืนเพื่ออ่านหนังสือ ตอนนี้เธอไปไกลถึงการให้แสงสว่างที่นำมาซึ่งโอกาสในชีวิตอีกมากมาย ไม่ใช่เรื่องเกินจริงเลยที่จะบอกว่า เรื่องราวของเธอนี้ได้ให้แรงบันดาลใจ เพราะถ้าพลังงานที่แฝงอยู่ภายในตัวเราทุกคนสามารถเปลี่ยนให้เป็นแสงสว่างได้ ทำไมเราจะส่งต่อพลังนี้ให้กับคนอื่นรอบข้างไม่ได้ และเธอยังได้พูดอย่างถ่อมตัวอีกว่าถ้าเธอที่ไม่ได้เก่งที่สุดในชั้นเรียนยังทำได้ขนาดนี้ ทำไม่พวกเราจะลุกขึ้นแก้ไขปัญหาเพื่อให้โลกดีกว่าที่เป็นอยู่ไม่ได้ โดยเรื่องใหญ่ที่เธอหมายถึงคือ ปัญหาเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ที่เราทุกคนไม่ควรมองข้ามมันไป "เราถือว่าโชคดีที่อยู่ในแคนาดา ที่ซึ่งมีเสรีภาพในการค้นคว้าข้อมูล มีเสรีภาพในการแสดงออก เราทุกคนมีความสะดวกสบาย มีอาหารการกินอุดมสมบูรณ์ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ค่อนข้างดี แต่ลองนึกถึงคนในอีกซีกโลกที่ยากลำบากกว่าเรามากดู ถ้าคุณคิดได้ลองถามตัวเองดูว่าฉันทำอะไรได้ มีเรื่องอะไรบ้างที่ฉันยื่นมือเข้าไปช่วยได้เพื่อให้เด็กตัวเล็ก ๆ ในหมู่บ้านอันห่างไกลได้มีแสงสว่างอ่านหนังสือในความมืดมิด ถ้ามองว่าเรื่องนี้เป็นแค่เรื่องเล็ก ๆ อยากบอกว่าการที่เราเริ่มแก้ไขจากเรื่องเล็กนี้ จะนำไปสู่การเห็นหนทางแก้ปัญหาใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ" แอน มาโคซินสกี้ ฮีโรสาวที่กอบกู้โลกนี้ด้วยไฟฉายมือหมุน ภาพ : annmakosinski ที่มา : http://www.tedxteen.com http://tedxrenfrewcollingwood.com TEDxRenfrewCollingwood TEDxYouth https://montecristomagazine.com http://ideas.time.com