แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี

แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี

ทำไมครูคนหนึ่งที่กำลังอนาคตสดใสในแวดวงการศึกษา ถึงได้ตัดสินใจลาออกเพื่อมาเล่นดนตรีเล่านิทานสอนเด็ก

ปัจจุบัน เทคโนโลยีอย่างโซเชียลมีเดียเข้ามาเปลี่ยนแปลงการดำรงชีวิตของผู้คนอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะเด็กๆ กลุ่มที่เรียกว่า Digital Native ซึ่งเกิดมาในยุคดิจิทัล รู้จักแท็บเล็ตก่อนหนังสือ ลากนิ้วบนจอเป็นก่อนจับสีเทียน จนเริ่มมีพฤติกรรมที่แตกต่างจากเด็กสมัยก่อนอย่างชัดเจ สาเหตุหนึ่งอาจมาจากการที่เด็กเหล่านี้ปฏิสัมพันธ์ผ่านดิจิทัลแล้วถอยห่างจากความสัมพันธ์พื้นฐาน ทั้งการพูดคุยต่อหน้าระหว่างผู้คน การสร้างเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีจริงๆ รวมไปถึงการบอกเล่าเรื่องราวผ่านนิทาน เป็นที่มาให้ ครูแอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ตัดสินใจเลือกเส้นทางครูนอกระบบ เพื่อถ่ายทอดความรู้ที่ได้เล่าเรียนมาผ่านนิทานเสียง ที่มีฉากหลังเป็นเสียงประกอบจากเครื่องดนตรีนานาชนิด โดยเฉพาะเครื่องเคาะจังหวะที่ครูแอนถนัดเป็นพิเศษ “หลังจากจบครุศาสตร์ จุฬาฯ ก็ได้ไปเป็นครูประถมอยู่ 7 ปี ระหว่างนั้นก็ช่วยทำละคร แสดงดนตรีมาเรื่อย เริ่มมีสิ่งที่อยากทำแต่ไม่ได้ทำจริงๆ เลยตัดสินใจลาออกมาทำละครดนตรี” แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี ครุศาสตรบัณฑิตจากจุฬาฯ คนนี้ ผันตัวมาเป็นนักดนตรีเต็มขั้น แล้วร่วมแสดงกับกลุ่มดนตรีและละครเด็กหลายกลุ่มในประเทศไทย อย่างเช่น กลุ่ม Mummy Puppet ในงาน LIT Fest, กลุ่ม Yellow Fox, กลุ่ม B-Floor แสดงละครเงาสำหรับเด็ก ซึ่ง ครูแอน-มณีรัตน์ ก็มีกลุ่มของตัวเองที่จัดตั้งกับเพื่อนคือกลุ่ม Ting A Tong ที่มาจาก Sing a Song และ Toy ของเล่นที่ถูกใช้เป็นเครื่องดนตรีที่เด็กๆ นำมาสร้างสรรค์เป็นตัวละครต่างๆ เพื่อถ่ายทอดเรื่องราว และเปิดโอกาสให้เด็กร่วมเรียนรู้ สนุกไปกับภาษาเสียงและดนตรี แม้จะจบเอกประถมศึกษาโดยตรง แต่ครูแอนยอมรับว่าการสอนดนตรีให้เด็กนั้นไม่ง่ายเลย แต่ก็ไม่ยากเกินไปถ้าหากเข้าใจเด็ก เวลาสื่อสารกับเด็กครูแอนเลยจะเน้นความชัดเจน ตรงไปตรงมาไม่ซับซ้อน แต่มีบางครั้งที่คาดเดาอารมณ์เด็กในตอนนั้นไม่ได้ว่าง่วงนอน หิวข้าว หรือกำลังเหนื่อยอ่อน ทำให้ต้องคอยแก้สถานการณ์อยู่ตลอดเวลา เด็กตัวเล็กๆ มีข้อดีที่มีจินตนาการสูง บางอย่างผู้ใหญ่คิดไม่ถึงก็มี เวลาไปแสดงละครดนตรีร่วมกับเด็ก เลยเหมือนไปแลกเปลี่ยนจินตนาการระหว่างกันมากกว่าที่ครูแอนจะเป็นคนสอนอยู่ฝ่ายเดียว “เราว่านิทานกับเด็กมันมหัศจรรย์มากเลยนะ เด็กเราจะสอนจะถ่ายทอดอะไรตรงๆ ยากมาก ยิ่งห้าม ยิ่งทำ นิทานเลยช่วยให้เด็กเข้าใจในสิ่งที่เราอยากสื่อสารได้ง่ายกว่า และจำเอาสิ่งที่ดีในเรื่องกลับไปใช้จริงด้วย” แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี ครูสาวคนเก่งบอกว่านิทานดนตรีที่ประทับใจ คือตอนที่พาเด็กๆ เข้าไปเล่นละคร Jungle Music แล้วใช้กลองแอฟริกัน ผสมเครื่องดนตรีไทย มาสร้างเสียงดนตรีประกอบ เด็กๆ ให้ความสนใจเป็นพิเศษ หลายคนชอบมากจนเอากลับไปเล่นละครเองที่บ้าน นอกจากนิทานดนตรีแล้ว บางครั้งครูแอนไปช่วยเด็กเวิร์กช็อปประดิษฐ์เครื่องดนตรีจากวัสดุใช้แล้ว อย่างเช่น ขวดน้ำ แก้วพลาสติก มาทำเป็นเครื่องดนตรีทำมือง่ายๆ แล้วนำมาใช้เป็นส่วนประกอบในการเล่านิทานร่วมกัน กิจกรรมเหล่านี้ยังเปิดโอกาสให้พ่อแม่ได้เข้ามามีส่วนร่วม ได้มีปฏิสัมพันธ์กับลูก จนบางครั้งผู้ปกครองหลายคนกลับสนุกสนานกับกิจกรรมมากกว่าเด็กๆ เสียอีก “เราอยากทำให้กลุ่มละครเป็นอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้โดยไม่ต้องทำอย่างอื่นเสริมไปด้วย ตอนนี้ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น ได้ไปแสดงต่างประเทศบ้าง อย่างที่เคยไปก็ญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย นอกจากนี้เราก็อยากจะเปิดร้านขายเครื่องดนตรีเล็กๆ เน้นขายเครื่องดนตรีสำหรับเด็กๆ” ครูแอนเล่าให้ฟังว่าแรงบันดาลใจทางดนตรีนั้น เริ่มต้นในช่วงมัธยมจากเสียงดนตรีไทยในงานโรงเรียน เสียงนั้นดังกังวานไพเราะอย่างน่าแปลกใจ เมื่อเทียบกับเสียงดนตรีที่เคยได้ยินผ่านวิทยุ แล้วเสียงนั้นเองที่ทำให้เธอเดินเข้าไปสมัครชมรมดนตรีไทย โดยได้กลองแขกเป็นเครื่องดนตรีคู่มือ เธอฝึกลับฝีกลอง เช้า เที่ยง เย็น จนจบมัธยม ก่อนจะเปิดโลกเครื่องดนตรีเคาะอื่นๆ จากทั่วโลก จากการได้ฟังเพลงบรรเลงของวงบอยไทย คณะบอยแบนด์เครื่องดนตรีไทยร่วมสมัย ที่มี โก้ มิสเตอร์แซ็กแมน และ ขุนอิน-ณรงค์ฤทธิ์ โตสง่า เป็นแกนนำสำคัญ ทำให้เธออยากสร้างเกิร์ลกรุ๊ปนักดนตรีไทยเป็นของตัวเอง โชคดีที่ครูสอนกลองละตินของเธอรู้จักกับ “วงสไบ” วงดนตรีไทยประยุกต์หญิงล้วน เธอเลยได้มีโอกาสตระเวนเดินสายเก็บเกี่ยวประสบการณ์ทางดนตรีในหลายประเทศ “เราเป็นคนชอบดนตรีแนวชาติพันธุ์พื้นเมือง จริงๆ ต้องบอกว่าพอเล่นเป็นงูๆ ปลาๆ ชอบเจมเบ้ของแอฟริกา แต่ที่ชอบจริงๆ เลยคือ กลองไทย เพราะกลองหนังของไทยถ่ายทอดสำเนียงของเราได้ดีที่สุด ฟังแล้วสบายใจ ช่วงนี้กำลังหัดพวกเพอร์คัสชั่นทางฝั่งอาหรับเพิ่ม” แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี ความหลงรักในเสียงดนตรีนี่เอง เป็นหนึ่งในจุดหักเหที่ทำให้คุณครูสาวที่อนาคตในเส้นทางนักการศึกษากำลังไปได้ดี เลือกหันหลังเดินออกนอกกรอบ เพื่อมาเป็นครูเล่านิทานดนตรี แล้วบอกเล่าเรื่องราวให้เด็กได้รู้ในสิ่งสำคัญที่ตำราเรียนไม่เปิดโอกาสให้สอน “ครูในระบบแม้จะมีศักยภาพมาก แต่ด้วยข้อจำกัดเรื่องเวลา การประเมินผล ทำให้ไม่มีเวลาไปสอนเรื่องอื่นๆ นอกเหนือเนื้อหา อย่างพวกทัศนคติที่เป็นบวก ความสุนทรีย์ มโนธรรมต่างๆ ที่อาจสอนไม่ได้ด้วยการอ่านตำราเรียน การออกมาเป็นครูสอนผ่านนิทาน ช่วยให้เราได้สอนจริยธรรม ความคิดสร้างสรรค์ ระเบียบวินัย ทีมเวิร์ก ผ่านการให้เด็กช่วยกันแสดงละคร” แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี นิทานดนตรีหลายเรื่องของแม่พิมพ์สาวคนนี้ เลยมีนักแสดงร่วมหลายคนเป็นเด็กๆ ที่ตอนแรกเป็นเพียงผู้ชม แต่พอได้ฟังเสียงดนตรีจังหวะใสๆ สนุกสนานแล้วก็อดใจลุกขึ้นมากระโดดโลดเต้นเล่นละครไปด้วยกันไม่ได้ “อยากให้เด็กฟังดนตรีแล้วรู้สึกถึงความงามของดนตรี ที่แค่เพียงเงี่ยหูฟังก็จะเปลี่ยนทัศนคติที่เคยเข้าใจในดนตรี เราอยากฝากว่าดนตรีอะคูสติกมันสื่อสารกับคนโดยตรง เทียบกับพวกเทคโนโลยีต่างๆ แล้วดนตรีมันสร้างปฏิสัมพันธ์ระหว่างคน ระหว่างแม่กับลูก ระหว่างครูกับศิษย์ อาจผ่านการเล่านิทาน เราแค่เป็นคนเปิดโลกดนตรีให้เด็ก เพื่อให้เขารักแล้วเดินต่อไปได้ด้วยตัวเอง” แอน-มณีรัตน์ สิงหนาท ครูนอกกรอบ เลือกออกจากระบบเพื่อสอนเด็กด้วยนิทานดนตรี