แอนนา วินทัวร์: อะไรที่ทำให้เก้าอี้แถวหน้าในงานแฟชั่นโชว์ระดับโลก ต้องเว้นว่างให้เธอเสมอ

แอนนา วินทัวร์: อะไรที่ทำให้เก้าอี้แถวหน้าในงานแฟชั่นโชว์ระดับโลก ต้องเว้นว่างให้เธอเสมอ
“That’s all!” (แค่นี้แหละ!)  คือประโยคติดปากของมิแรนด้า พรีสท์ลี่ นายหญิงจอมบงการแห่งนิตยสารแฟชั่น ‘รันเวย์’ ที่ปรากฏในภาพยนตร์รอมคอมครองใจวัยรุ่นและคนทั่วโลกอย่าง The Devil Wears Prada (2006) ซึ่งมีความหมายสั้น ๆ 2 อย่างคือ ‘พอแล้ว ลงมือทำเลย’ หรือ ‘หยุดเถอะ ผลงานที่ออกมาน่ะ’  แม้จะฉายมานานสิบกว่าปีแล้ว แต่ภาพยนตร์เรื่องนี้ก็ยังเป็นที่จดจำในการนำเสนอวัฒนธรรมป็อปร่วมสมัย ว่าด้วยเรื่องราวของนักศึกษาจบใหม่ที่ใฝ่ฝันอยากเป็นนักข่าว แต่บังเอิญได้งานเป็นผู้ช่วยบรรณาธิการนิตยสารแฟชั่นจอมเคี่ยว จนต้องเรียนรู้และฝ่าฟันกับฝันร้ายในวงการแฟชั่น นอกจากหนังจะเชื่อมต่อวงการแฟชั่นกับวัฒนธรรมป็อปอย่างเหนียวแน่น The Devil Wears Prada ยังเป็นเหมือนแสงสปอตไลท์ที่ส่องไปหา แอนนา วินทัวร์ (Anna Wintour) บรรณาธิการบริหารแห่งนิตยสารโว้ก อเมริกา (Vogue US) ผู้เป็นต้นแบบของคาแรกเตอร์มิแรนด้า ซึ่งดูเหมือนว่าจะขี้บงการจนอดีตผู้ช่วยของเธอที่โว้กอย่าง ลอเรน ไวส์เบอร์เกอร์ (Lauren Weisberger) เขียนหนังสือถึงและถูกดัดแปลงมาเป็นหนัง The Devil Wears Prada ดังที่ว่ามา อย่างไรก็ตาม เป็นเวลากว่า 50 ปีแล้วที่วินทัวร์ได้รู้จักโลกของแฟชั่นอย่างลึกซึ้ง และอีก 30 กว่าปีที่เธอยืนอยู่บนบัลลังก์ของโว้ก และผลักดันวงการแฟชั่นให้เข้าถึงทุกคนมากกว่าบนรันเวย์  แต่อะไรทำให้ บ.ก. สาวผมบ็อบ ผู้ขึ้นชื่อเรื่องความขี้วีน รักความสมบูรณ์แบบ กลายเป็นผู้หญิงแถวหน้าในวงการแฟชั่นทั้งการเปรียบเปรย และความหมายตรงตามตัวอักษรในแง่ที่ว่า งานแฟชั่นระดับโลกทุกงาน จะต้องเว้นเก้าอี้แถวหน้าให้เธอนั่งอยู่เสมอ คำตอบอยู่ในบทเรียนออนไลน์บนเว็บไซต์ MasterClass ในคลาส ‘Creativity and Leadership’ ที่เธอตกตะกอนบทเรียนสำคัญในฐานะผู้บริหารนิตยสารแฟชั่นระดับโลก และถ่ายทอดให้เหล่าคนรักแฟชั่น นักออกแบบ และคนทำงานสร้างสรรค์ได้ติดตามผ่านประสบการณ์อันยาวนานของเธอ วินทัวร์เกิดในกรุงลอนดอนปี 1949 เติบโตมาในยุค 60s ที่แฟชั่นและวัฒนธรรมเฟื่องฟู เดิมทีชีวิตเธอไม่ได้เกิดมาพร้อมพรสวรรค์ แต่เธอรักการอ่านนิตยสาร และเริ่มต้นอาชีพสายแฟชั่นตั้งแต่วัยเด็ก  ด้วยความที่มีคุณพ่อเป็นบรรณาธิการหนังสือพิมพ์ทั้ง London Evening Standard และ Sunday Express เป็นแรงบันดาลใจให้เธอถักทอฝันในวงการสื่อ โดยมุ่งความสนใจไปที่เรื่องแฟชั่นและเรียนรู้ทุกอย่างทั้งการเลือกเสื้อผ้า การเลือกคนเก่ง ๆ การวาง Layout วิธีเขียนแคปชั่น และสั่งสมประสบการณ์ด้วยสองมืออย่างเข้มข้น “ตอนนั้นฉันเป็นเหมือนฟองน้ำ ที่สามารถหยิบจับไอเดียต่าง ๆ จากการมองเห็นสิ่งต่าง ๆ รอบตัวมาใช้ ไม่มีการอบรมทางการ และฉันก็ไม่ใช่บรรณาธิการที่ดีเท่าไร ฉันค่อนข้างแย่ในการถ่ายภาพโมเดลหรือสินค้าด้วยซ้ำ” วินทัวร์ใช้เวลาเก็บเกี่ยวประสบการณ์ในลอนดอนในนิตยสารหลายที่ ก่อนจะพกความฝันในการเป็นบรรณาธิการที่โว้ก เธอบินมานิวยอร์กในปี 1975 ทำงานเป็นบรรณาธิการแฟชั่นในนิตยสารหลายหัวเช่น Harper’s Bazaar, New York Magazine จนไปเข้าตาเหล่าผู้บริหารสายแฟชั่น และได้สัมภาษณ์งานที่โว้ก จนได้เป็นบรรณาธิการสมใจในปี 1988 ด้วยวัย 39 ปี  แต่นั่นเป็นเพียงจุดเริ่มต้น เพราะใครจะคิดว่าแค่ปกแรก วินทัวร์ก็ฉีกทุกตำราของโว้กทิ้ง นำเสนอความเปลี่ยนแปลงในแบบที่ผู้อ่านและคนในวงการสุดตะลึง   ปกแรกแหกกฎ ขบถให้สุด วินทัวร์แหวกขนบเดิม ๆ ของปกนิตยสารโว้กที่ชอบถ่ายภาพใบหน้าตรงของโมเดลชื่อดัง แต่งตัวด้วยเครื่องประดับชิ้นใหญ่ ใส่เสื้อผ้าสุดหรูอยู่ในสตูดิโอ ด้วยการให้นางแบบสาวจากอิสราเอลอย่าง มิเคลา เบอร์กู (Michaela Bercu) ใส่กางเกงยีนส์จาก Guest ราคาเพียง 50 ดอลลาร์ คู่กับสเวตเตอร์ปักรูปไม้กางแขนของ Christian Lacroix ราคา 10,000 ดอลลาร์ และยิ้มอย่างเป็นธรรมชาติบนถนน แม้จะไม่ใช่ภาพที่ตั้งใจวางไว้ให้เป็นปกตั้งแต่แรก แต่เมื่อได้เห็นภาพแล้ว วินทัวร์เลือกทำตามสัญชาตญาณ ส่งเมสเสจในฐานะผู้นำแฟชั่นคนใหม่ด้วยการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ผู้อ่านเห็นกันในทันที กลายเป็นข้อถกเถียงทั้งดีและร้าย แต่นั่นก็ทำให้งานเข้าถึงผู้ชมที่กว้างขึ้น เปลี่ยนวิธีการมองโลกแฟชั่นที่แต่เดิมต้องไฮแฟชั่นด้วยเสื้อผ้าราคาแพง และไปไกลกว่าขอบเขตเดิม ๆ ที่พาคนอ่านไปสำรวจวัฒนธรรมมากมายอย่างน่าสนใจ แน่นอนว่าภาพถ่ายแฟชั่นบนปกนิตยสารอาจมีพลังมากกว่าการขายของ เพราะมันคือภาพสะท้อนบริบทของสังคมในช่วงนั้น ๆ แสดงถึงความก้าวหน้าเชิงความคิด รวมถึงเป็นพลังที่จะสื่อสารประเด็นสังคม และนั่นคือหัวใจหลักของโว้กภายใต้การดูแลของวินทัวร์ ตัวอย่างความคิดสร้างสรรค์ที่ถูกนำมาใช้ถูกเวลาอย่างกล้าหาญเห็นได้ในปกนิตยสารในปี 2009 ในยุคที่อเมริกาเผชิญปัญหาเศรษฐกิจอย่างหนักหน่วง วินทัวร์และทีมงานเลือกใช้ซูเปอร์โมเดลหญิง 5 คนสวมเสื้อผ้าง่าย ๆ โดยไม่มีไอเทมไหนราคาเกิน 500 เหรียญเลย แนะนำเสื้อผ้าคุณภาพดีในราคาที่เหมาะสมแทน  นอกจากนี้ยังมีหลายครั้งที่เลือกใช้บุคคลสำคัญ เช่น ฮิลลารี คลินตัน หรือ มิเชลล์ โอบามา เพื่อแสดงถึงการสนับสนุน และสะท้อนบทบาทสำคัญของพวกเธอในฐานะผู้นำหญิงที่ทรงอิทธิพล แต่ก็มีความอิสระในการใช้ชีวิต เพื่อสื่อสารกับเหล่าคนอ่าน ผลักดันให้โว้กเป็นแบรนด์ที่แข็งแกร่งและน่ามองมากกว่าเดิม จนได้รับฉายาว่าเป็น ‘คัมภีร์ไบเบิลแห่งแฟชั่น’ ที่เป็นศูนย์กลางกำหนดกระแสทิศทางของแฟชั่นของอเมริกา แม้จะมีหลายครั้งที่ปกของโว้กกลายเป็นปัญหา สร้างข้อถกเถียงเชิงลบมากมาย ทำยอดขายได้ต่ำกว่าเดิม แต่บางทีนั่นอาจเกิดจากความตั้งใจของเจ้าแม่ผู้เฉียบแหลมอย่างวินทัวร์ ภาพคู่รักอย่าง Kim Kardashian และ Kanye West ปรากฏอยู่บนหน้าปกเดือนเมษายนปี 2014 สร้างกระแสฮือฮาอีกครั้ง เพราะชาวอเมริกันต่างไม่ปลื้มกับครอบครัวนี้นัก ทั้งชื่อเสียมากมายที่คนมองว่าไม่ได้มีรสนิยมแฟชั่นเท่าไร เป็นเพียงคนดังบนทีวีเท่านั้น จนคอมเมนต์ในวันนั้นพุ่งกว่า 700 คอมเมนต์ และบางคนถึงกับกล่าวว่า นี่คือจุดสิ้นสุดของแมกกาซีน ถึงเวลาแล้วที่วินทัวร์จะลงจากตำแหน่งบรรณาธิการ ความจริงเปิดเผยในภายหลังเมื่อวินทัวร์เล่าแนวคิดให้ฟังใน MasterClass ว่านั่นคือความตั้งใจที่เธอยอมเสี่ยงแหกกฎอีกครั้งด้วยการนำคนที่มีข้อถกเถียงมาก ๆ มาขึ้นปก กลายเป็นคลื่นสะเทือนวงการไฮแฟชั่น เพราะปกนี้กลายเป็นโอกาสอันชาญฉลาดที่พอสิ้นสุดวัน ทั้งคู่รักและโว้กต่างอยู่ในบทสนทนาของผู้คนในแบบที่ผู้คนจดจำได้ขึ้นใจ ทำให้แบรนด์แข็งแรงกว่าเดิม แต่ถึงอย่างนั้น ก็มีหลายครั้งที่ปกนิตยสารกลายเป็นข้อผิดพลาดให้วินทัวร์และทีมได้เรียนรู้ เช่นฉบับสิงหาคมปี 2017 ที่นำเสนอคอนเซปต์ Gender Fluid (เพศสภาพหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่ผสมทั้งหญิงและชาย) ด้วยการให้นางแบบสาวชื่อดัง Gigi Hadid ใส่ชุดผู้ชายตรงข้ามกับแฟนหนุ่มอย่าง Zayn Malik ที่สวมชุดแสดงถึงเพศหญิง เกิดเป็นข้อวิจารณ์ว่าเป็นการเสนอคอนเซปต์ปลอม ๆ เป็นเพียงคู่รักที่สลับชุดกันใส่ ไม่ใช่ Gender Fluid เลย “มันจำเป็นที่จะจำไว้ว่าไม่ใช่ทุกคนจะเห็นด้วยกับคุณ และจะมีช่วงเวลาที่เส้นทางอาชีพถูกวิจารณ์ อาจจะรุนแรงหรือทำให้คุณเจ็บปวด แต่คุณทำเหมือนมันไม่เกิดขึ้นไม่ได้ ฉันคิดว่ามันเป็นประโยชน์มากที่จะฟังคำวิจารณ์และสิ่งที่คนพูด เพราะหลายครั้ง คุณเรียนรู้จากมัน แต่ในเวลาเดียวกัน คุณต้องคงวิสัยทัศน์ของคุณไว้อย่างจริงใจ”   นางมารสวมปราด้าคือตัวจริงหรือไม่ การเป็นผู้บริหารหญิงที่อยู่จุดสูงสุดของวงการไม่ใช่เรื่องง่ายในสังคมที่ผู้คนยอมรับผู้นำชายมากกว่า และวินทัวร์ก็ไม่ใช่เจ้านายใจดีที่คุยง่าย เธอมีนิสัยขี้จุกจิก ชอบบงการ ไร้ความปรานีแบบที่ปรากฏในตัวละครมิแรนด้า จนลูกน้องพากันขยาด แต่ภาพในภาพยนตร์ไม่ได้สะท้อนตัวตนของวินทัวร์ 100% เป็นเพียงบางส่วนที่ถูกดัดแปลงจากหนังสือ และผสมคาแรกเตอร์ของอีกหลายคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าความเข้มงวดของวินทัวร์ส่งผลในเชิงบวกต่อผลงานของเธอ นิสัยจอมบงการของเธอทำให้งานของโว้กที่ออกมามีคุณภาพ เข้าถึงผู้ชมกว้าง เปลี่ยนวิธีที่ผู้คนแต่งกายในชีวิตประจำวัน และอีกหนึ่งภาพยนตร์ที่สะท้อนเรื่องราวของวินทัวร์พร้อมความสำเร็จของโว้กได้ดีคือ The September Issue (2009) หนังสารคดีที่กำกับโดย R. J. Cutler ในปี 2009 เจาะลึกกระบวนการทำงานเบื้องหลังนิตยสาร และความสัมพันธ์ในการทำงานอันลึกซึ้งกับ creative director อย่าง Grace Coddington บุคคลที่วินทัวร์ยกย่องเป็นหัวใจและจิตวิญญาณของแมกกาซีน โดยชื่อภาพยนตร์ The September Issue มาจากชื่อของนิตยสารโว้กประจำเดือนกันยายน ซึ่งเป็นฉบับสำคัญประจำปีของทั้งโว้กเองและวงการแฟชั่น จนมีคำกล่าวว่า “โว้กฉบับเดือนกันยายน คือคัมภีร์ไบเบิลแห่งวงการแฟชั่น” The September Issue นำเสนอภาพความเนี้ยบในกระบวนทำงานของโว้กที่มีตัวแอนนา วินทัวร์เป็นแกนกลาง แสดงให้เห็นถึงแนวทางนิตยสารของเธอที่ ‘เนี้ยบ’ ตั้งแต่หน้าแรกไปจนถึงหน้าสุดท้าย ซึ่งอาจจะทำให้ทีมงานรู้สึกถึง ‘ความเฮี้ยบ’ ของเธอ แต่ในมุมหนึ่งมันคือความเป็น perfectionist ของเธอเองที่ยกระดับโว้กให้กลายเป็นนิตยสารแถวหน้าของวงการแฟชั่นระดับโลก อีกบทเรียนสำคัญที่วินทัวร์เล่าให้ฟังในคลาสของเธอคือ การมองหาคนที่ใช่ ให้เครดิตกับทีมงานที่เติบโตไปด้วยกัน ให้ฟีดแบ็กที่ตรงไปตรงมา ร่วมสร้างผลงานผ่านการถกเถียงไอเดียและลงมือลงแรงอย่างพิถีพิถัน เพราะชิ้นงานที่สมบูรณ์แบบไม่ได้มาจากฝีมือของวินทัวร์เพียงคนเดียว ยังมีอาร์ตไดเรกเตอร์, ช่างภาพ, โมเดล, สไตลิสต์ และอีกหลายคนที่ช่วยหล่อหลอมองค์ประกอบให้หน้าปกสะดุดตา มีความพิเศษและส่งต่อคุณค่าที่แตกต่างให้ผู้ชม เหมือนดังที่ในภาพยนตร์ The September Issue นำเสนอ “คุณไม่มีอะไรเลยหากไม่มีทีมที่ดี และนั่นทำให้ฉันพยายามที่จะล้อมรอบตัวเองด้วยผู้คนที่ฉันชอบ คนที่ฉันเคารพความคิดเห็น คนที่จิตใจน่าเคารพ คนที่มีรสนิยม ซึ่งอาจแตกต่างจากฉันในแบบที่ฉันฝันไม่ถึงเลยด้วยซ้ำ และนั่นทำให้ฉันตะลึงได้เช่นกัน” บทบาทที่ไม่ได้อยู่แค่ในอาณาจักรนิตยสาร แต่เป็นทั้งหัวหอกและแม่งานของ Met Gala ตั้งแต่ปี 1995 ทำหน้าที่คัดเลือกประธานและแขกร่วมงานคนสำคัญ และระดมทุนมหาศาลกว่า 175 ล้านเหรียญฯ ในแต่ละปีให้กับ Costume Institute ของพิพิธภัณฑ์ Metropolitan Museum of Art ในนครนิวยอร์ก สร้างอีเวนต์แฟชั่นที่คนทั่วโลกได้ชมการเดินแฟชั่นผ่านชุดที่โดดเด่นที่แสดงตัวตนของคนดังในวงการต่าง ๆ เช่น ดารา นักธุรกิจ ดีไซเนอร์ นักกีฬา นักการเมือง และหลังเกิดเหตุการณ์ 9/11 ที่สั่นสะเทือนขวัญชาวอเมริกันอย่างรุนแรง เป็นช่วงเวลาเดียวกันกับวันแรก ๆ ของงาน New York Fashion Week ซึ่งส่งผลให้โชว์แฟชั่นทั้งหมดถูกยกเลิกและดีไซเนอร์หลายคนเสียค่าใช้จ่ายจากงานนี้เป็นจำนวนมาก ข้อขัดข้องที่เกิดขึ้นเกิดเป็นแรงขับเคลื่อนให้วินทัวร์คิดว่าจะทำอะไรได้บ้างเพื่อช่วยเหลือคนในวงการให้ไปต่อได้  โครงการ CFDA (Council for Fashion Designers of America) ร่วมกับ Vogue Fashion Fund จึงถือกำเนิดขึ้น โดยให้เงินทุนถึง 400,000 เหรียญฯ และคำปรึกษากับเหล่าดีไซเนอร์หน้าใหม่ ได้สร้างโชว์และสร้างผลงาน เปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้พัฒนาฝีมือจากสื่อ เงิน  และความช่วยเหลือที่มีในมือ มันแสดงให้เห็นว่าเธอมีความคิดที่จะสนับสนุนวงการแฟชั่นในภาพรวมอยู่ ความสำเร็จของเธอไม่ได้มาจากความทะเยอทะยานหลุดโลกเพียงเท่านั้น แต่มาจากความรักต่อแฟชั่นที่เธอบ่มเพาะมาตั้งแต่เด็ก ความกล้าเสี่ยง และความสามารถในการบริหารคนให้สร้างสรรค์ไอเดียและลงมือทำ ลองผิดลองถูกและเรียนรู้ไปพร้อมกัน จนปัจจุบัน วินทัวร์ดำรงตำแหน่งเป็นทั้งผู้อำนวยการฝ่ายศิลป์ของกองเด นาสต์ (Condé Nast) บริษัทแม่ของโว้กตั้งแต่ปี 2013 และขึ้นเป็นเบอร์หนึ่งฝ่ายคอนเทนต์ที่ดูแลโว้กทั่วโลกในตำแหน่ง Chief Content Officer ในปี 2020 และมาถึงวันนี้ที่วงการแฟชั่นมาไกลจากยุค 60s อย่างมาก แม้จะมีทั้งคนรักและคนเกลียด คำชื่นชมและคำวิจารณ์ ถูกเรียกเป็นนางมารจอมบงการจากอดีตผู้ช่วย และได้รับฉายา ‘นิวเคลียร์วินทัวร์’ ผู้ทำลายล้าง แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า แอนนา วินทัวร์เป็นผู้นำที่สร้างผลลัพธ์ที่เยี่ยมยอดสู่วงการแฟชั่น ไม่ใช่แค่ที่โว้ก แต่เป็นทั้งอเมริกา และส่งแรงกระเพื่อมไปทั่วโลก เก้าอี้แถวหน้าของงานแฟชั่นระดับโลกทุกงาน ต้องมีชื่อเธอจองเป็นเจ้าของในฐานะคนสำคัญที่สุดคนหนึ่งของวงการแฟชั่น เคียงไหล่แม้กระทั่ง ควีนเอลิซาเบธ และเมื่อเจอคำถามสำคัญจากผู้สัมภาษณ์ในคลาสที่ถามถึงสิ่งที่เธอคาดหวังจากผู้ช่วยส่วนตัว เธอกลับตอบด้วยอารมณ์ขันสั้น ๆ ว่า “เอาละ ฉันแค่หวังว่าผู้ช่วยของฉันจะไม่เขียนหนังสือถึงฉันก็แล้วกัน”  ก็แค่นี้แหละ!   ที่มา:  ภาพยนตร์ The Devil Wears Prada (2006), The September Issue (2009), คลาสออนไลน์ “Anna Wintour Teaches Creativity and Leadership” จากเว็บไซต์ MasterClass https://www.theguardian.com/fashion/2018/sep/05/30-years-vogue-anna-wintour-changed-way-world-gets-dressed https://successstory.com/inspiration/profile-on-anna-wintour https://www.teenvogue.com/story/the-devil-wears-prada-lauren-weisberger-anna-wintour https://www.nytimes.com/2020/12/15/business/media/conde-nast-anna-wintour.html  https://www.refinery29.com/en-us/2019/09/8379796/anna-wintour-kim-kardashian-kanye-west-vogue-cover  https://vogue.co.th/fashion/article/whatisseptemberissue