รู้จัก แอนน์ แฟร้งค์: ความโหดร้ายของสงครามโลก และอภัยวิถี ผ่านบันทึกและ Graphic Novel

รู้จัก แอนน์ แฟร้งค์: ความโหดร้ายของสงครามโลก และอภัยวิถี ผ่านบันทึกและ Graphic Novel

ความโหดร้ายของสงครามโลก และอภัยวิถี ผ่านบันทึกและ Graphic Novel

“ตอนนี้ ผมอายุใกล้จะ 90 ปีแล้ว พลังของผมกำลังลดลงอย่างช้าๆ แต่หน้าที่ที่แอนน์ได้ทิ้งไว้ให้ผมปฏิบัติกลับทำให้ผมแข็งแรงขึ้นมาใหม่ เพื่อต่อสู้ให้เกิดความปรองดองและสิทธิมนุษยชนบนโลกของเรา” ออตโต แฟร้งค์ คุณพ่อของแอนน์ แฟร้งค์ เหตุการณ์สังหารหมู่หรือ holocaust ครั้งใหญ่ที่สุดครั้งหนึ่งของโลก คือเหตุการณ์ที่นาซี ได้กระทำกับชาวยิวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 (ค.ศ.1939-1945) ที่ทำให้ชาวยิวเสียชีวิตหลายล้านคน จนกลายเป็นบาดแผลที่คนรุ่นต่อรุ่นไม่เคยลืมและภาวนาไม่ให้เกิดความเลวร้ายนี้ขึ้นอีก และกลุ่มคนที่น่าสงสารที่สุด ในภาวะสงครามทุกครั้ง แน่นอนว่า คือ กลุ่มผู้บริสุทธิ์ที่ถูกกระทำ โดยเฉพาะคนตัวเล็กตัวน้อยที่ต้องทนทุกข์ทรมานกับสงครามที่ตนไม่ได้ก่อขึ้น เมื่อฝุ่นควันของสงครามจบลง การเรียนรู้ความโหดร้ายในเถ้าถ่านของดินปืนและระเบิด จึงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อให้คนเราได้รับรู้ว่า สงคราม ไม่เคยทำให้ใครมีความสุขอย่างถาวร หนังสือที่มีชื่อว่า “Anne Frank : The Diary of a Young Girl” คือบันทึกสำคัญทางประวัติศาสตร์ชิ้นหนึ่งที่คอยย้ำเตือนกับเราว่า สงครามนี้สร้างความเสียหายให้กับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่อย่างไรบ้าง กับเรื่องราวของแอนน์ แฟร้งค์ สาวน้อยชาวยิวผู้ได้รับไดอารีเป็นของขวัญในวันเกิดวัย 13 ปี ในกาลต่อมา ไดอารีเล่มนี้กลายเป็นหลักฐานสำคัญชิ้นประวัติศาสตร์ ที่บอกเล่าถึงชีวิตของแอนน์ แฟร้งค์ และครอบครัวของเธอที่หลบหนีที่ห้องลับในกรุงอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เป็นเวลาสองปีกว่า ในช่วงที่กองทัพนาซีต้องการกวาดล้างชาวยิวตอนสงครามโลกครั้งที่ 2 ซึ่งในปัจจุบัน หนังสือเล่มนี้ได้รับการแปลไปแล้วถึง 70 ภาษา ขายได้มากกว่า 35 ล้านเล่มทั่วโลก ทางบ้านเรามีการแปลโดยสำนักพิมพ์ผีเสื้อ โดยใช้ชื่อภาษาไทยว่า “บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์” บันทึกบันลือโลกฉบับนี้ ถูกนำไปดัดแปลงเป็นทั้งละครเวทีฉบับบรอดเวย์ ภาพยนตร์ ห้องลับที่แอนน์ แฟร้งค์ และครอบครัวหลบซ่อนอยู่ก็กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ “บ้านแอนน์ แฟร้งค์” ที่มียอดผู้เข้าชมถึงหลักล้านคนแล้ว เรียกได้ว่า แอนน์ คือ แรงบันดาลใจของคนในยุคหลังสงครามโลกในการพูดถึงสันติภาพและสิทธิมนุษยชน 60 ปีผ่านไป แรงบันดาลใจนี้ ได้ถูกถ่ายทอดออกมาอีกสื่อหนึ่ง นั่นคือ นิยายภาพ (Graphic Novel) โดยใช้ชื่อว่า Anne Frank: The Anne Frank House Authorized Graphic Biography อันเป็นผลงานร่วมกันของ ซิด จาคอบสัน และเออร์นี่ คอลอน ขอพูดถึงตัวนักเขียนอย่าง ซิด จาคอบสัน สักนิด เพราะรายละเอียดในการทำงานของเธอน่าสนใจมาก นักเขียนชาวอเมริกัน ผู้เกิดในปีเดียวกันกับแอนน์ แฟร้งค์ (ค.ศ.1929) คร่ำหวอดในวงการอุตสาหกรรมหนังสือการ์ตูนมาช้านาน เคยมีผลงานเด่นอย่างหนังสือนิยายภาพเหตุการณ์การก่อวินาศกรรมที่อเมริกาในวันที่ 11 กันยายน 2001 หรือเหตุการณ์ 911 หนังสือเล่มนี้ถูกพิมพ์ในปี 2006 โดยใช้ชื่อว่า The 9/11 Commission Report เธอเป็นคนอีกคนหนึ่งที่รู้สึกประทับใจกับบันทึกของแอนน์ แฟร้งค์เป็นอย่างมาก ครั้งหนึ่ง เธอเคยให้สัมภาษณ์กับนิตยสารไทม์ว่า หนังสือเล่มนี้ เป็นเทพนิยายที่พูดถึงกำลังใจและความอัปลักษณ์ของมนุษยชาติไปพร้อมๆ กัน ก่อนที่หน้าตาของหนังสือจะออกมาเป็นแบบนี้ นักเขียนได้เดินทางไกลจากบ้านของเธอ ลอสแอนเจลิสไปยังอัมสเตอร์ดัม เพื่อไปดูห้องลับที่แอนน์อาศัยซ่อนตัว จาคอบสันศึกษาข้อมูลของสาวน้อยชาวยิวและครอบครัวถึง 2 ปี ต้องอ่านเอกสารและหนังสือจำนวนมากมาย จนในที่สุด ก็คลอดออกมาเป็นนิยายภาพฉบับนี้ ทันทีที่แอนน์ แฟร้งค์ ฉบับนิยายภาพ ตีพิมพ์ในภาคพื้นยุโรป เสียงวิพากษ์วิจารณ์มีทั้งเชิงบวกและเชิงลบ กลุ่มคนที่มีความคิดในเชิงอนุรักษนิยมและคนเยอรมันหลายคนได้ตั้งคำถามว่า การตีพิมพ์บันทึกของแอนน์ แฟร้งค์ ที่เต็มไปด้วยเนื้อหาหนักๆ ของสงครามโลกในรูปแบบหนังสือการ์ตูน มีความเหมาะสมหรือไม่? แต่หากเปิดใจให้กว้างกันสักหน่อย การเล่าเรื่องแบบการ์ตูน จะทำให้เด็กสัมผัสเนื้อหาได้ง่ายและสนุก เลยไม่น่าแปลกใจว่า แอนน์ แฟร้งค์ ฉบับนี้ ถูกนำไปใช้สอนหนังสือเด็กเนเธอร์แลนด์ในวัยประมาณ 15-16 ปีอีกด้วย หนังสือที่มีความหนาประมาณ 150 หน้าเล่มนี้ เนื้อหาหลักก็ยังคงอยู่ที่ เนื้อความในไดอารีของแอนน์ แฟร้งค์ (ระหว่างวันที่ 12 มิถุนายน 1942 – 1 สิงหาคม 1944) ที่บรรยายถึงบรรยากาศการหลบซ่อนตัวจากกองทัพนาซีในห้องลับเป็นเวลาถึง 2 ปี ก่อนที่เธอ ครอบครัว และคนรู้จัก ที่อาศัยอยู่ในห้องลับจำนวน 8 คน จะถูกจับได้ ในที่สุด แอนน์ แฟร้งค์ ถูกส่งไปยังค่ายกักกันชาวยิวที่เบอร์เกน-เบลเซ่น แล้วเสียชีวิตจากโรคไข้รากสาดใหญ่ในเวลาต่อมา เด็กในวัย 13-15 ปี หัวใจกำลังเต็มไปด้วยความสดใส พลังชีวิตของพวกเขาเต็มเปี่ยมไปด้วยความฝัน แรงกระตือรือร้น ความสนุก และความรักในวัยหนุ่มสาว แต่ทันทีที่ต้องถูกกักตัวเองอยู่ในโลกแคบๆ ที่มองเห็นแต่ท้องฟ้าที่ห้องใต้หลังคา ต้องอดทนต่อความหิว อดทนต่อความเบื่อหน่าย อดทนต่อความกลัวที่ไม่รู้ว่าความตายจะมาถึงตัวเมื่อไร? ในความหมองหม่น ก็ยังมีความแจ่มใสอยู่บ้าง ครอบครัวในห้องลับ จึงพยายามหาเรื่องที่ทำให้เกิดความสุขเล็กๆ น้อยๆ ทำร่วมกันเสมอ อย่างเช่น การจัดงานเลี้ยงเล็กๆ ในโอกาสสำคัญ การฟังวิทยุ การอ่านหนังสือ เป็นต้น แต่สำหรับแอนน์ ความสุขของเธอก็คือ การได้มีความรักแบบหนุ่มสาวกับปีเตอร์ ฟาน เปลส์ หนุ่มน้อยชาวยิวที่มาร่วมอาศัยอยู่ในห้องลับแห่งนี้ แต่ความสุขที่สำคัญกว่าของแอนน์ แฟร้งค์ ก็คือ การได้เขียนไดอารี บอกเล่าระคนระบายอารมณ์กับเรื่องราวในชีวิตประจำวัน เธอฝันอยากเป็นนักเขียน นักหนังสือพิมพ์ แม้ว่าเด็กน้อยจะมีโอกาสได้เขียนหนังสือเล่มใหญ่ในชีวิตเพียงเล่มเดียว แต่หนังสือเล่มนี้กลับกลายเป็นหนังสือที่ทรงอิทธิพลเล่มหนึ่งของศตวรรษที่ 20 ที่เพิ่งล่วงเลยมาไม่กี่สิบปี จุดหนึ่งที่ทำให้นิยายภาพเรื่องนี้น่าสนใจก็คือ การเล่าเรื่องเพิ่มเติมเพื่อชดเชยในฉบับที่เป็นวรรณกรรม เรื่องราวที่เสริมขึ้นก็อย่างเช่น สถานการณ์ของโลกในยุคนั้น ที่เกิดสภาวะเศรษฐกิจล่มในปี 1929 ที่สหรัฐอเมริกา แล้วต่อมาได้ลุกลามไปทั่วโลก ทำให้อดอล์ฟ ฮิตเลอร์ สามารถใช้กระแสนี้ในการสร้างกองทัพนาซีอันโหดเหี้ยมและเกรียงไกรขึ้นมาได้ นิยายภาพได้บรรยายถึงบรรยากาศที่ชาวยิวถูกกีดกันต่างๆ นานา ตั้งแต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเช่น การห้ามใช้รถประจำทางร่วมกับคนอื่น ไปจนถึงความรุนแรงในค่ายกักกัน ที่เต็มไปด้วยกลิ่นของความลำบาก อดอยาก และความตาย อีกส่วนหนึ่งที่เพิ่มเติมเข้ามาในเนื้อเรื่องแล้วทำให้เห็นภาพของแอนน์ แฟร้งค์ชัดเจนยิ่งขึ้นก็คือ ประวัติของคนในครอบครัวแฟร้งค์ ตั้งแต่สมัยที่ออตโต แฟร้งค์ บิดาของเธอยังเป็นหนุ่ม ถูกทางเยอรมันเกณฑ์ทหารไปรบในช่วงสงครามโลกครั้งที่หนึ่ง, ไปทำธุรกิจที่อเมริกา, พบรักกับอีดิธ ฮอลแลนเดอร์ (นามสกุลเดิม) แต่งงานกัน จนมีบุตรสาวสองคนคือ มาร์กอท และ แอนน์ แฟร้งค์ แล้วในที่สุดต้องย้ายที่อยู่จากที่เมืองแฟรงค์เฟิร์ต เยอรมนี ไปที่เมืองอัมสเตอร์ดัม ประเทศเนเธอร์แลนด์ เพราะการคุกคามชาวยิวของนาซีในเยอรมนี ตอนที่น่าสนใจที่สุด ก็คือ ตอนท้ายเล่ม ที่พูดถึงบุคคลผู้รอดชีวิตจากห้องลับเพียงคนเดียว นั่นคือ ออตโต แฟร้งค์ ตัวออตโตเองคงจะบอบช้ำทั้งกายและใจจากสงครามที่เขาไม่มีส่วนได้ (มีแต่ส่วนเสีย) ในครั้งนี้ แต่ในเมื่อยังมีชีวิตอยู่ สิ่งที่ทำได้ก็คือ การสานต่อในปณิธานของเหล่าบุคคลอันเป็นที่รักผู้ล่วงลับไปแล้ว สิ่งหนึ่งที่เป็นแรงยึดเหนี่ยวทางจิตใจของเขา คือ บันทึกของลูกสาวคนเล็กที่มีคนเก็บไว้ให้ตอนควันไฟจากสงครามสงบลง ออตโตเริ่มต้นทำภารกิจเพื่อคนที่รักและเพื่อสันติภาพจากจุดนั้น เขาค่อยๆ เรียบเรียงบันทึกของลูกสาวขึ้นมาใหม่ แล้วนำไปเสนอให้สำนักพิมพ์ตีพิมพ์งานนี้จนเป็นที่รู้จักไปทั่วโลก เมื่อผู้คนเริ่มสนใจ ออตโตจึงผลักดันให้เกิด “มูลนิธิแอนน์ แฟร้งค์” , ทำห้องลับให้กลายเป็นพิพิธภัณฑ์ “บ้านแอนน์ แฟร้งค์” ไปจนถึงก่อตั้ง “การประชุมเยาวชนนานาชาติว่าด้วยสิทธิมนุษยชน หลังจากที่หนังสือ “บันทึกลับของแอนน์ แฟร้งค์” โด่งดังไปทั่วโลก หลายคนอยากรู้ว่า บุคคลที่บอกที่ซ่อนลับที่ครอบครัวแอนน์ แฟร้งค์ อยู่ เป็นใคร? แต่ตัวออตโตเอง แม้ว่าจะเจ็บช้ำมามาก แต่เขาก็ไม่คิดจะเอาความ เขาให้เหตุผลว่า “ผมไม่สามารถยกโทษให้เขาได้ แต่ผมก็ไม่ต้องการแก้แค้น ผมอยากให้มีการคืนดีกัน” สิ่งที่ออตโตทำมาตลอดชีวิต (เขาเสียชีวิตในปี 1980 ด้วยอายุ 91 ปี) ทำให้เราเห็นว่า แม้ว่าสงครามจะทำให้หัวใจผู้ถูกกระทำขุ่นมัวเพียงใด แต่ก็ใช่ว่า หัวใจสีงามจะเกิดขึ้นไม่ได้ Not forget but forgive. อดีตอันเลวร้าย เท่าที่ทราบ ยังไม่มีเครื่องยนต์ใดที่ย้อนเวลากลับไปแก้ไขได้ แต่เรื่องราวในอนาคต เราสามารถออกแบบให้มันเกิดสันติภาพได้ไม่ใช่เหรอ? ขอความสงบสุขจงมีแด่ทุกท่าน