อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี: เที่ยวบินสุดท้ายและการสูญหายของผู้เขียน ‘เจ้าชายน้อย’

อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี: เที่ยวบินสุดท้ายและการสูญหายของผู้เขียน ‘เจ้าชายน้อย’
/ เราจะมองเห็นแจ่มชัดด้วยหัวใจเท่านั้น สิ่งสำคัญนั้นไม่อาจเห็นได้ด้วยตา / ย่างเข้าปีที่ 78 นับจากวันที่ ‘เจ้าชายน้อย’ ฉบับภาษาอังกฤษได้รับการตีพิมพ์และเผยแพร่ จากวันแรกที่บทสนทนาระหว่างเด็กชายผมสีรวงข้าวกับนักบินไร้โชค ได้โอบประคองคืนและวันอันอ่อนไหวของ ‘พวกผู้ใหญ่’ เอาไว้อย่างอ่อนโยน จนหลายต่อหลายคนอดที่จะประทับ ‘เจ้าชายน้อย’ ลงในห้วงทรงจำไม่ได้ ณ ท่าอากาศยานแห่งความทรงจำนี้ ขอให้ผู้โดยสารเตรียมพาสปอร์ตของท่านให้พร้อม โอบกอดความเยาว์วัยและกลิ่นอายแห่งความฝันครั้งยังเป็นเด็กไว้อย่าให้หล่นหาย แล้วออกเดินทางไปกับเที่ยวบินแห่งการระลึกถึง ชาวฝรั่งเศสนาม ‘อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี’ (Antoine de Saint-Exupéry) ในฐานะนักเขียน ‘เจ้าชายน้อย’ และผลงานอีกมากผู้มีอารมณ์ขัน นักคิดผู้มีอารมณ์อ่อนไหว เพื่อนผู้ที่บางครั้งยากจะเข้าใจ และสุดท้าย เขาคือนักบินผู้สูญหายระหว่างเที่ยวบินครั้งสุดท้าย… เช่นเดียวกับเจ้าชายน้อย – เขาออกเดินทางไกล และไม่ได้หวนกลับมาอีกเลย   เด็กชายผู้วาดงูเหลือมชนิดเห็นด้านใน อองตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี เกิดในตระกูลชนชั้นสูงที่มีรากฐานยาวนานในฝรั่งเศส ด้วยวัยเพียง 4 ขวบ เขาเสียพ่อไปด้วยโรคหลอดเลือดสมองตีบ เด็กชายโตมากับแม่ – ผู้หญิงที่สวยและใจดี (ตามคำพูดของแซงเตก) ภายในปราสาทของ the Countess de Tricaud ผู้มีศักดิ์เป็นป้า ที่นั่นแซงเตกได้เล่นซนสมวัย เขาซุกซนไปกับพี่น้อง ฟังนิทานปรัมปราจากแม่ และได้รับการศึกษาอย่างดีที่สุดเท่าที่เด็กคนหนึ่งสมควรจะมี วัยเด็กที่ผาสุกอย่างนั้นเองที่ผลักดันแซงเตกเป็นอย่างที่เขาเป็นเมื่อโตขึ้น เขาช่างหยอกเย้า มีอารมณ์ขัน เต็มไปด้วยความเป็นเด็กที่มากล้น เช่นเดียวกับความรักที่เขามีให้แม่ ครอบครัว และผู้คน ด้วยวัยเพียง 12 ปี เด็กชายแซงเตกเริ่มรู้สึกรักในการขับนกเหล็กลัดผ่านน่านฟ้า รอยยิ้มแห่งความสุขกระจายเต็มใบหน้าของแซงเตกเมื่อเขาได้นั่งเครื่องบินครั้งแรก – ภายในที่นั่งบนเครื่องยนต์เหล็กที่ลอยระเมฆนั่นเองที่แซงเตกค้นพบความฝัน เขาอยากเป็นนักบิน ท่ามกลางสงครามโลกครั้งที่หนึ่งที่เกิดขึ้นและจบลงเมื่อเขายังแรกรุ่น จนถึงสงครามโลกครั้งที่สองที่ตั้งเค้าเมื่อเขาเริ่มโตเป็นผู้ใหญ่ แซงเตกมีโอกาสได้ฝึกบินในฐานะพลทหาร และได้รับใบอนุญาตสำหรับออกบินเมื่อ ค.ศ. 1921 ด้วยวัย 21 ปี เที่ยวบินของแซงเตกเริ่มขึ้น เช่นเดียวกับงานเขียนของเขา หลังจาก ‘ไปรษณีย์ใต้’ นวนิยายเรื่องแรกที่แซงเตกเขียนได้ตีพิมพ์เมื่อปี 1929 เขาก็เริ่มเล่าเรื่องราวที่คละเคล้าประสบการณ์การบินของเขาเข้ากับความคิดในประเด็นอื่น ๆ ที่ต้องการจะส่งสารไปยังผู้อ่านได้อย่างลงตัว ผลงานหลายชิ้น เช่น ‘เที่ยวบินกลางคืน’ (Vol de Nuit หรือ Night Flight: 1931) และ ‘แผ่นดินของเรา’ (Terre des Hommes หรือ Wind, Stand and Stars: 1939) ล้วนเป็นผลงานระดับได้รับรางวัลทั้งสิ้น   ร่วงถลา / เธอรู้ไหม ในยามแสนเศร้า คนเราชอบดูอาทิตย์อัสดง… / แซงเตกผูกพันกับทะเลทรายราวกับว่ามันคือหมุดหมายหนึ่งในชีวิต เขาขับเครื่องบินคู่ใจผ่านทะเลทรายเสมอ บางครั้งเขาอาศัยอยู่ที่นั่นชั่วคราว (ว่ากันว่าเขาเคยเลี้ยงจิ้งจอกทะเลทรายด้วย) บางคราวเขาทำนกเหล็กของตนร่วงถลา ปีกหัก และซัดเซเข้าปะทะผืนทราย เช่นอุบัติเหตุเครื่องบินตกในทะเลทรายซาฮารา, ลิเบีย เมื่อปี 1935 ที่กลายมาเป็นแรงบันดาลใจในการสร้างผลงานชิ้นลือชื่อของเขา สีทองของทะเลทรายระยับพราวแสงตะวันที่แรงกล้า แม้การเต้นรำของเม็ดกรวดขนาดเล็กตรงหน้าจะสวยงามนักหนา  หากอาการขาดน้ำและตาพร่าก็เล่นงานเขาและลูกเรืออีกหนึ่งชีวิตให้ทำได้เพียงรอนแรมอยู่ร่วมสามวันกว่าจะถูกพบและช่วยเหลือโดยกองคาราวานเบดูอิน นั่นคือเรื่องราวที่เกิดขึ้นจริงและมองเห็นได้ด้วยตา ทว่าเช่นเดียวกันกับเนื้อหาภายในหนังสือ ‘เจ้าชายน้อย’ (The Little Prince: 1943) ได้กล่าวไว้ “สิ่งสำคัญนั้นมองเห็นแจ่มชัดได้ด้วยหัวใจเท่านั้น” ภาพที่สลักลงในหัวใจของเขาจากเหตุการณ์ครั้งนั้นจนต้องถ่ายทอดออกมาผ่านปลายปากกา กลับเป็นภาพเด็กชายที่มีเส้นผมสีเดียวกับทุ่งข้าวสาลี ผู้เดินทางมาไกลแสนไกล… จากดวงดาวบีหกหนึ่งสอง   เจ้าชายน้อย / ถ้าเธอเคยมาตอนบ่ายสี่โมง ประมาณสักบ่ายสามโมงฉันก็เริ่มเป็นสุขแล้ว / เริ่มจากวาดภาพงูเหลือมกินช้างชนิดเห็นด้านนอกและเห็นด้านใน แซงเตกพาเราไปสัมผัสกับเรื่องราวของเด็กชายผู้ปรากฏขึ้นกลางเวิ้งทะเลทราย เด็กชายที่พาให้นักบินผู้พาหนะอับปางได้รู้จักกับพวกผู้ใหญ่จากหลาย ๆ ดาว แกะ หมาจิ้งจอก ดอกกุหลาบ งูพิษ และมิตรภาพที่จบด้วยการจากลา เจ้าชายน้อยเป็นเรื่องที่เล่าถึงเด็กและดำเนินเรื่องอย่างเด็ก ๆ แต่กลับทำให้ผู้ใหญ่ร้องไห้ได้อย่างประหลาด เราอ่านระหว่างบรรทัด หยุดพักเพื่อหายใจ หวนระลึกและสะอื้นไห้ เราสุข เราเศร้า เราตระหนักได้ถึงหลายสิ่งหลายอย่างจากประโยคง่าย ๆ เหล่านั้น ความไม่เดียงสาต่อโลกทั้งใบของเจ้าชายน้อยจับใจผู้คนเท่า ๆ กับบางคำจากเด็กชายคนเดียวกันที่ดูจะเข้าใจซึ่งความเป็นไปในโลกเสียเหลือเกิน  ไม่เพียงแต่ผู้อ่านทุกวัยที่หัวเราะและร้องไห้ไปกับ ‘เจ้าชายน้อย’ ซิลเวีย ฮามิลตัน รีนฮาร์ดท์ (Silvia Hamilton-Reinhardt) เพื่อนที่อยู่ใกล้ตัวแซงเตกในตอนที่เขาจรดปากกาเขียนต้นฉบับเรื่องนี้เมื่อปี 1942 บอกว่าเธอมักจะได้ยินแซงเตกหัวเราะเบา ๆ อย่างเบิกบานอยู่เสมอขณะที่บอกเล่าเรื่องราวเหล่านั้นผ่านตัวอักษร เธอมองว่าการกระทำเช่นนั้นของแซงเตกช่างแปลกประหลาด เพราะในช่วงหลัง ๆ ของชีวิตเขามักจะเขียนงานอย่างเคร่งขรึมเสียมากกว่า อีกทั้งเรื่องราวเคล้าฝันที่ทำให้นึกถึงนิทานสำหรับเด็กเรื่องนี้ แซงเตกเขียนขึ้นขณะที่ลี้ภัยสงครามอยู่ในนิวยอร์ก ท่ามกลางโมงยามที่ควรจะเคร่งเครียดด้วยปัญหาความปลอดภัยอันไม่ถูกรับรองของตน เขาเขียนและวาดภาพประกอบในเล่มด้วยตัวเองอย่างมีความสุขยิ่ง ต่างกับความหม่นเศร้าในงานเขียนระยะหลังของเขาเรื่องอื่น ๆ แซงเตกทิ้งต้นฉบับ ‘เจ้าชายน้อย’ ที่เสร็จสมบูรณ์เมื่อปี 1942 เอาไว้ ก่อนที่มันจะถูกตีพิมพ์เป็นฉบับภาษาอังกฤษที่สหรัฐอเมริกาในปีถัดมา  โดยที่ ‘เจ้าชายน้อย’ ยังไม่ทันได้ตีพิมพ์ในประเทศบ้านเกิดของแซงเตกอย่างฝรั่งเศส เขาก็ออกบินตามหมุดหมายไปยังแอลจีเรียเมื่อเดือนพฤษภาคม ปี 1944 ในภารกิจปลดปล่อยฝรั่งเศสและพันธมิตร ที่กลายเป็นภารกิจสุดท้ายในชีวิตเขา   เที่ยวบินสุดท้าย จากอายุของนักบิน แซงเตกในวัย 44 ปีควรจะร่วมบินในภารกิจเพียง 5 เที่ยว หากเขาคือ อวงตวน เดอ แซงเตก-ซูเปรี – เราต่างรู้กันดีว่าเขารักห้วงเวลาที่ได้ขับยวดยานอยู่บนผืนฟ้าสักเท่าใด เขาปฏิบัติภารกิจลุล่วงไปได้ถึง 8 เที่ยวบิน จนกระทั่งเที่ยวบินสุดท้าย เที่ยวบินที่ 9 ของแซงเตกเริ่มต้นตั้งแต่รุ่งสางของวันที่ 31 กรกฎาคม 1944 เขาออกบินแต่เช้า หากไม่ได้กลับมาเมื่อฟ้าค่ำ เหล่านักบินต่างรับรู้ถึงสัญญาณผ่านห้วงเวลานั้น ด้วยน้ำมันในเครื่องบิน Lockheed P-38 Lightning นกเหล็กเก่าแก่และล้าสงครามที่เขาขับ ไม่อาจทำให้เขาอยู่บนฟ้าได้นานไปกว่าเช้าถึงบ่าย ฝูงบินร่วมภารกิจเริ่มออกตามหาเขา ไม่มีเครื่องบินของแซงเตกอยู่ที่ไหนทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นลานดิน บ้านคน หรือบนผิวน้ำ บ้างสันนิษฐานว่าเครื่องบินของเขาถูกยิงโดยมือซุ่มยิงของอีกฝั่ง บ้างก็ว่าเขาทำเครื่องบินตก (เช่นที่เขาเคยทำตกกลางทะเลทรายมาแล้ว) บ้างก็ว่าเขาฆ่าตัวตาย บ้างบอกว่าเขาหายไปเฉย ๆ ไม่ต่างอะไรกับการจากไปของเจ้าชายน้อยหลังถูกงูพิษกัดเข้าที่ข้อเท้า / กรุณาเถิด! ช่วยส่งข่าวถึงฉันด่วนว่าเขากลับมาแล้ว... อย่าปล่อยให้ฉันเศร้าโศกต่อไปเลย / การหายตัวไปของแซงเตกกลายเป็นปริศนาอยู่ร่วมห้าสิบปี ก่อนที่จะเริ่มคลี่คลายเมื่อปี 1998 ฌอง-โคล็ด บิอองโก (Jean-Claude Bianco) ชาวประมงในเมืองมาร์แซย์, ฝรั่งเศส เป็นผู้ค้นพบกำไลเงินสลักชื่อเสียงเรียงนามของแซงเตก และนำมาซึ่งการค้นพบซากเครื่องบินเจนศึกที่สามารถระบุได้อย่างชัดเจนว่าเป็นเครื่องบินของชายผู้หายไปโดยแน่ ท่ามกลางความสับสนของผู้คนว่าเกิดอะไรขึ้นกับแซงเตกและเครื่องบินของเขา ปี 2006 ฮอร์สต์ ริปเพิร์ต นักบินชาวเยอรมันผู้ผ่านสงครามโลกและผันตัวเองเป็นนักข่าว ยอมรับว่าเขาเองคือผู้ยิงเครื่องบินของแซงเตกจนตกลงและจมหายใต้น้ำ พร้อมด้วยคำสารภาพในฐานะผู้ที่ชื่นชอบงานเขียนของแซงเตกเป็นอย่างยิ่งว่า  “ถ้าผมรู้ว่าเป็นเขา ผมจะไม่มีวันยิง”   ดวงดาวนักเล่านิทาน / ขณะที่เธอมองดูท้องฟ้าตอนกลางคืน เพราะเหตุที่ฉันอาศัยอยู่ในดาวดวงหนึ่งในบรรดาดาวทั้งหลาย เนื่องจากฉันกำลังหัวเราะอยู่บนดาวดวงใดดวงหนึ่ง ฉะนั้นดูประหนึ่งว่าดาวทุกดวงกำลังหัวเราะด้วย เธอก็จะมีดวงดาวที่หัวเราะได้ / เฉกเช่นเดียวกับการจากไปของเจ้าชายน้อยที่ทำให้ดาวทุกดวงของแซงเตกเปล่งเสียงหัวเราะได้สดใสราวกับกระพรวน การจากไปของแซงเตกทำให้บนฟ้ามีดวงดาวที่เขียนหนังสือได้ และคล้ายกับว่าเขากำลังเล่าเรื่องราวจากเที่ยวบินมากมายที่เขาผ่านไปพบให้ผู้คนฟังโดยฝากมากับก้อนเมฆในแต่ละวันและคืน หากเพียงเราแหงนใบหน้าขึ้นไป... เราจึงขอจบเที่ยวบินแห่งความทรงจำนี้ด้วยการจับจ้องไปยังท้องฟ้า ไม่ว่าขณะนั้นจะเป็นห้วงเวลาที่พระอาทิตย์เพิ่งตื่นนอน เวลาที่พระอาทิตย์เปล่งแสงจ้าอยู่เหนือหัว เวลาที่พระอาทิตย์เริ่มหรี่แสงใกล้อัสดง หรือเวลาที่ท้องฟ้าไม่มีแสงอื่นใดนอกจากจันทร์และหมู่ดาว ก่อนกล่าวทักทายไปยังแซงเตก – ด้วยความระลึกถึงในผลงานที่เขาสร้าง และด้วยความหวังว่าเขาและเจ้าชายน้อยจะได้หัวเราะและถ่ายทอดเรื่องราวแก่กันอีกครั้ง อยู่ที่ไหนสักแห่งที่ไกลเกินกว่าจะมองเห็นได้ด้วยตา   ที่มา: https://www.nytimes.com/2008/04/11/world/europe/11exupery.html https://librariantolibrarian.wordpress.com/2020/01/24/beyond-the-clouds-what-ever-happened-to-antoine-de-saint-exupery/ http://www.aviation-history.com/airmen/exupery.htm https://lithub.com/when-antoine-de-saint-exupery-disappeared/ https://www.planeandpilotmag.com/article/the-disappearance-of-antoine-de-saint-exupery/