อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล ผู้กำกับภาพยนตร์ชาวไทยที่ได้รับรางวัล Jury Prize จากภาพยนตร์เรื่อง Memoria ในเทศกาลภาพยนตร์ 2021 Cannes Film Festival และเรื่องราวการสร้างสรรค์ผลงานแต่ละชิ้นเล่าขนานไปพร้อมกับเส้นทางการก้าวเดินของวงการภาพยนตร์ไทยในรอบ 20 ปี

สิ้นเสียงปรบมืออันแสนยาวนานกว่า 14 นาที ที่กระหึ่มดังไปทั่วทั้งโรง หลังจากผู้ชมและสื่อมวลชนนานาชาติได้ประจักษ์แก่สายตากับภาพยนตร์เรื่องล่าสุดของ ‘อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล (Apichatpong Weerasethakul) ผู้กำกับที่สร้างชื่อเสียงขจรขจายไปไกลในระดับโลก อภิชาติพงศ์กล่าวขอบคุณทั้งผู้ชมและทีมงานก่อนจะทิ้งท้ายด้วยวลีที่ทำให้คนทั้งโรงต้องปรบมืออีกครั้ง นั่นก็คือ 

Long Live Cinema

คำกล่าวนี้สร้างแรงกระเพื่อมครั้งสำคัญให้กับเหล่านักดูหนัง นักทำหนังในไทย ท่ามกลางความเงียบงันของทั้งภาครัฐที่มีศิลปะและสื่อบันเทิงในไทย ในโมงยามที่โรงภาพยนตร์ยังถูกปิดจากสภาวะโรคระบาด เสียง ๆ หนึ่งได้นำพาทั้งความหวังความฝันของผู้สรรค์สร้างศิลปะให้ดังกึกก้องในอีกมุมหนึ่งของโลก จากบุคคลที่ในวงการหนังในประเทศชื่นชมเพียงหยิบมือ กลับได้รับเสียงสรรเสริญจากนักดูหนังนอกอาณาจักรไทยอย่างกระหึ่มและยาวนาน

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

เรามาทำความรู้จักกับอภิชาติพงศ์ผ่านแง่มุมที่หลากหลายจากหนังของเขาพร้อมทั้งช่วงเวลาคู่ขนานของหนังไทยในรอบ 20 ปีที่ผ่านมา

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

‘ดอกฟ้าในมือมาร’ การทดลองที่ไม่มีวันสิ้นสุด

ชื่อของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล เริ่มเป็นที่รู้จักพร้อมยุคสมัยของหนังไทยที่เริ่มก่อร่างสร้างความนิยมในหมู่คนดู หลังจากที่ นางนาก (นนทรีย์ นิมิบุตร, 1999) ทำเงินในระดับ 100 ล้าน เป็นเรื่องแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์สยาม และสานต่อด้วย ฟ้าทะลายโจร (วิศิษฏ์ ศาสนเที่ยง, 2000) ได้สยายปีกในฐานะหนังไทยที่ได้ไปปักหมุดความสำเร็จในระดับนานาชาติ นับเป็นจุดเริ่มต้นของความหวังอันเรืองรองที่มีต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทย

ในปีเดียวกันนี้ยังมีหนังไทยเรื่องหนึ่งที่ได้รับการกล่าวถึงในอีกมุมหนึ่งของโลก จากนักทำหนังรุ่นใหม่ที่ไร้ประสบการณ์ในการทำหนังระบบสตูดิโอ มีเพียงความรู้ที่ร่ำเรียนมาจากมหาวิทยาลัยชิคาโก้และหนังสั้นเพียงหยิบมือ

เขาได้เริ่มทดลองทำหนังสารคดีที่ถ่ายด้วยฟิล์มขาว-ดำ 16 มม. แต่ประสบการณ์ที่น้อยกลับผลักดันให้เขาทำหนังนอกระบบอย่างเสรี ไม่ว่าจะเป็นประกาศหาคนมาร่วมถ่ายทำหนังร่วมกับเขาเป็นเวลา 3 ปี จนเกิดเป็นหนังสารคดีแนวทดลองจากการนำหญิงสาวนามสมมติที่ชื่อ “ดอกฟ้า” มาเล่าผ่านมุมมองของผู้คนมากมายหลากหลายภูมิภาค ทั้งชาวบ้าน ทั้งคนเป็นใบ้ หนังขับเคลื่อนด้วยการทดลองอย่างไม่หยุดยั้ง ขณะเดียวกันก็ฉายภาพชนบทอันห่างไกลความศิวิไลซ์ให้คนทั้งโลกได้เห็นอีกด้านของสังคมไทย

แม้หนังจะ Blow ภาพจากฟิล์ม 16 มม. ให้มีสัดส่วนตามมาตรฐานภาพยนตร์ แต่ท่ามกลางความแตกละเอียดของเฟรมภาพ หนังกลับทำให้เราสนใจใน “เสียง” ของหนังมากกว่า เพื่อสะท้อนเสียงของคนตัวเล็กตัวน้อยแม้กระทั่งคนที่บกพร่องทางการออกเสียง เพียงเพื่อจะบอกว่าทุกคนลองฟังเสียงเหล่านั้นบ้าง แม้จะเป็นเสียงที่เล็กและเงียบ แต่ทุกเสียงล้วนแต่มีความหมายเสมอ และฉายความบริสุทธิ์ในการทำหนังของอภิชาติพงศ์ได้อย่างงดงาม

แม้หนังจะไม่ได้ออกฉายในโรงภาพยนตร์ในระบบปกติ แต่ชื่อหนัง ดอกฟ้าในมือมาร (Mysterious Object at Noon) ก็เริ่มฉายแสงให้คนดูหนังเทศกาลได้รู้จักกับชื่อ Apichatpong Weerasethakul กันแล้ว จากการเดินสายฉายในเทศกาลนานาชาติต่าง ๆ 


‘สุดเสน่หา’ ถามหาความรักจากคนชายขอบ

ปี 2002 หนังไทยเข้าสู่ยุคแห่งความหลากหลาย ที่มีตั้งแต่หนังคุณภาพอย่าง ๑๕ ค่ำ เดือน ๑๑ (จิระ มะลิกุล) ไปจนถึงหนังคัลท์สุดเหวออย่าง ผู้หญิง 5 บาป (สุกิจ นรินทร์) ภาพยนตร์เรื่องยาวเรื่องที่ 2 ของอภิชาติพงศ์ สุดเสน่หา (Blissfully Yours) ก็ได้ออกฉายในปีนั้น จากหน้าหนังที่หลายคนพาลเข้าใจผิดว่ามันจะเป็นหนังอิโรติกโชว์เนื้อหนังมังสา กลับกลายเป็นหนังโรแมนติกดรามาของคนชายขอบ ที่เต็มไปด้วยเรื่องรักสามเส้าท่ามกลางป่าเขาลำเนาไพร โดยอภิชาติพงศ์ใช้จังหวัดขอนแก่นของเขาเป็นโลเคชั่นในการถ่ายทำ เพื่อเปลี่ยนเป็นพื้นที่ต้องห้ามของรักสามเส้าในแถบตะเข็บชายแดนไทย-พม่าได้อย่างมีมนต์ขลัง

อภิชาติพงศ์ ได้แรงบันดาลใจในวันหนึ่งเมื่อเขาถ่ายทำหนังสั้นในสวนสัตว์และพบสาวพม่าถูกตำรวจจับข้อหาลักลอบเข้าเมืองอย่างผิดกฏหมาย เสี้ยววินาทีแห่งความสุขและความเศร้าเป็นเพียงเส้นคั่นบาง ๆ ไม่ต่างกับความรักของทั้ง 3 ที่พบทั้งความสุขและความขมขื่น แน่นอนว่าชื่อหนังนำพาให้คนดูหนังกระแสหลักคาดหวังจะได้ชมหนังที่มีเนื้อหาเย้ายวนใจ แต่ก็พบกับความผิดหวังเมื่อหนังกลับนำเสนอภาพความจริงที่ไม่มีการปรุงแต่งใด ๆ

แม้ท่ามกลางความผิดหวังของคนในประเทศ แต่ชื่อของอภิชาติพงศ์ กลับเริ่มมีการพูดถึงเมื่อสุดเสน่หาพาตัวเองไปไกลในระดับคว้ารางวัล Un Certain Regard รางวัลหนังยอดเยี่ยมในสายรองของเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ที่มอบให้หนังทุนต่ำแต่มีความทะเยอทะยานสูง ซ้ำยังได้รับการโหวตให้เป็นภาพยนตร์แห่งปีจากนิตยสาร Les Cahiers du cinéma ของประเทศฝรั่งเศสอีกด้วย แน่นอนว่าทั้งโลกเริ่มจับตามองผู้กำกับหนุ่มไฟแรงคนนี้และคาดหวังว่าเขานั้นจะนำพาความแปลกใหม่มาสู่โลกภาพยนตร์ในอนาคตอันใกล้

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

‘หัวใจทรนง’ สำรวจความหลังฝังใจในยามเยาว์

ปี 2003 กระแสความฮิตที่มาพร้อมคุณภาพเกิดขึ้นกับหนังไทย องค์บาก (ปรัชญา ปิ่นแก้ว) สร้างชื่อเสียงขจรขจายไกลในต่างแดน และแฟนฉัน (365 ฟิล์ม) ได้จุดกำเนิดของค่ายหนังไทยที่ทรงอิทธิพลของวงการหนังยุคใหม่ในกาลต่อมา พร้อมสื่อใหม่อายุแสนสั้นอย่างหนังเทเลมูฟวี่ ในโมงยามที่หนังแผ่นได้รับความนิยมหลากหลาย และกลายเป็นเวทีทดลองของนักทำหนังหน้าใหม่มากมาย แรกเริ่มเดิมทีนั้น หัวใจทรนง (The Adventure of Iron Pussy) หนังที่สร้างจากคาแรคเตอร์สุดแหวกจากหนังสั้นของ ไมเคิล เชาวนาศัย ถูกวางในฐานะหนังแผ่นที่ได้รับการออกทุนสร้างโดยค่ายอย่าง GMM แต่เมื่อได้การสร้างสรรค์ร่วมของอภิชาติพงศ์ ที่นำแรงบันดาลใจในวัยเด็กกับขนบของหนังไทยสีฉูดฉาดนำมาปั่นรวมกันกับหนังเพลงและหนังสายลับในยุคสงครามเย็น จนสุดท้ายหนังมีจุดขายจนต้องยกระดับมาฉายในโรงหนังแทน

นับได้ว่าเป็นหนังที่แมสและเข้าถึงผู้ชมในวงกว้างที่สุดในชีวิตของอภิชาติพงศ์ ซ้ำยังได้น้อย วงพรู มาแสดงเป็นพระเอก โดยอภิชาติพงศ์ใช้ช่วงเวลาของการระดมทุนทำหนังเรื่องต่อไปมาทำหนังเรื่องนี้ที่เปรียบเสมือนการพักร้อนของเขา แม้ว่าหนังจะแมส แต่มันก็ยังซ่อนความคัลท์และแสดงเจตจำนงที่จะวิพากษ์วิจารณ์นโยบายปราบปรามยาเสพติดในยุคนั้นที่ว่ากันว่ามีการฆ่าตัดตอนกว่า 2500 ศพที่สังเวยนโยบายนี้ในหนังอีกด้วย

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

‘สัตว์ประหลาด’ ก้าวสู่โลกพิศวงของอภิชาติพงศ์

ปี 2004 โลกของอินเตอร์เน็ตเริ่มทำงานอย่างหนักหน่วง เมื่อเว็บบอร์ดในพันทิปช่วยผลักดันและหนุนหนังที่เคยล้มเหลวในตารางบ็อกซ์ออฟฟิสให้กลับมาโด่งดังจากกระแสปากต่อได้อย่างงดงามจากหนัง โหมโรง (อิทธิสุนทร วิชัยลักษณ์) ในช่วงเวลาใกล้เคียงกันนั้นอภิชาติพงศ์ก็ประกาศศักดาบนเวทีคานส์ได้อีกครั้ง เมื่อเขาได้พาหนัง สัตว์ประหลาด! (Tropical Malady) ชนะใจกรรมการในสาขา Jury Prize ที่ในปีนั้น เควนติน ทาแรนทิโน เป็นประธาน โดยสัตว์ประหลาด! เป็นการถอดโครงสร้างขนบของการเล่าเรื่องอย่างกล้าหาญ ครึ่งเรื่องแรกหนังเล่าเรื่องราวความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มที่ทำงานส่งน้ำแข็งกับนายทหารหนุ่มที่เล่าเรื่องอย่างสมจริงราวหนังสารคดี ก่อนครึ่งหลังจะพาเรานั่งรถไฟเหาะตีลังกาพาไปยังป่าดิบชื้นที่สิงสถิตย์ของเสือสมิงและพบความอัศจรรย์เร้นลับเกินจะหยั่งถึง และเป็นอีกครั้งที่อภิชาติพงศ์กลับไปสำรวจป่าในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อให้ธรรมชาติขับเน้นจินตนาการและความนึกคิดที่ซุกซ่อนอยู่ในตัวตนของเขา

การเขยิบขึ้นอีกขั้นในการรับรางวัลของอภิชาติพงศ์ ทำให้หนังสัตว์ประหลาด!ได้รับการฉายในโรงภาพยนตร์อย่างเอิกเกริกในฐานะความภาคภูมิใจของคนไทย แต่หนังสัตว์ประหลาด! กลับกลายเป็นหนัง ‘ประหลาดสัตว์’ ในสายตาคนดูหนังอีกครั้ง ชื่อของอภิชาติพงศ์กลายเป็นเครื่องการันตีในสายตาของคนดูหนังในฐานะ “คนที่ทำหนังอาร์ตที่ดูไม่รู้เรื่อง” นายทุนของไทยต่างเข็ดขยาดเมื่อมองในฐานะหนังพานิชย์ แต่ทั่วทั้งโลกต่างจับตามองอภิชาติพงศ์ในฐานะคนที่หนังที่ก้าวข้ามกรอบเดิม ๆ ของการทำหนัง ความกล้าที่นำพาคนดูสู่โลกที่ไม่เคยได้สัมผัสจากหนังเรื่องไหนในโลกหล้า สัตว์ประหลาด! ซ่อนนัยของความรักต้องห้ามของคนเพศเดียวกันที่ถูกกรอบศีลธรรมและโลกของสายตาคนปกติมองอย่างหยามหยัน ไม่ต่างกับสัตว์แปลกประหลาดที่อยู่ในป่ารกชัฎ ที่อภิชาติพงศ์นำมาจัดวางอย่างกลมกลืน 

หนังสัตว์ประหลาด!ได้รับเกียรติจาก The Guardian สำนักข่าวชื่อดังแห่งประเทศอังกฤษ ให้อยู่ในลิสต์ 100 หนังยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 โดยให้อยู่ในอันดับที่ 81 และสำนักข่าว BBC ก็ให้หนังสัตว์ประหลาด! อยู่ในอันดับที่ 52 ในลิสต์ 100 หนังยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกัน และสื่อทรงอิทธิพลแห่งโลกภาพยนตร์อย่าง Sight & Sound ยังจัดหนังสัตว์ประหลาด! ให้อยู่ในอันดับที่ 127 ของหนังยอดเยี่ยมตลอดกาล

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย
‘แสงศตวรรษ’ แสงริบหรี่ในบ้านเกิด

ปี 2007 นับเป็นปีที่หนังไทยคึกคักอีกปีหนึ่ง เมื่อเรามีหนังเอพิคยิ่งใหญ่กระตุ้นให้คนไทยรักชาติอย่าง ตำนานสมเด็จพระนเรศวรมหาราช ภาค ๑ องค์ประกันหงสา (หม่อมเจ้าชาตรีเฉลิม ยุคล) เรามีหนังคุณภาพระดับเข้มข้นอย่าง รักแห่งสยาม (ชูเกียรติ ศักดิ์วีระกุล) มีหนังสารคดีที่บันทึกห้วงเวลาของวัยรุ่นและระบบการศึกษา Final Score 365 วัน-ตามติดชีวิตเด็กเอ็นท์ (โสรยา นาคะสุวรรณ) และปฐมบทของหนังคัลท์ LGBTQ+ หอแต๋วแตก (พจน์ อานนท์) แต่ในความเป็นจริงแล้วปีนี้ควรจะเป็นอีกหนึ่งปีที่หนังของอภิชาติพงศ์จะได้ออกฉาย แต่สุดท้ายคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์กลับเลือกที่จะปิดกั้นหนังอย่าง แสงศตวรรษ (Syndromes and a Century) อย่างตื้นเขินด้วยการสั่งหั่นสี่ฉากในหนังเรื่องนี้ ทั้ง ๆ ที่หนังไม่มีฉากยั่วยุทางเพศหรือความรุนแรงแต่อย่างไร มีเพียงฉากพระเล่นกีตาร์ / หมอดื่มเหล้าขณะปฏิบัติหน้าที่ / หมอจูบอย่างดูดดื่มกับแฟนสาว และพระเล่นเครื่องร่อนเท่านั้น แต่หนังกลับโดนบังคับให้ตัดฉากนั้นอย่างไม่เป็นธรรม จนเกิดการเรียกร้องผลักดันให้เกิดกฏหมายจำกัดเรตติ้งและพิจารณาวิจารณญาณของกรรมการอย่างถูกต้องในยุคนั้นในกาลต่อมา

จนสุดท้ายแสงศตวรรษก็ออกฉายในปีต่อมาด้วยการจำกัดโรง พร้อมทั้งเลือกทับฉากที่ไม่ผ่านเซ็นเซอร์ด้วยเฟรมสีดำนิ่ง ๆ ตามระยะเวลาจริงเพื่อแสดงเจตจำนงถึงการถูกปิดกั้นอย่างไม่เป็นธรรมของคณะกรรมการพิจารณาภาพยนตร์

แสงศตวรรษ เป็นหนัง 1 ใน 6 เรื่อง ที่ทำขึ้นในวาระเฉลิมฉลอง 250 ปีชาติกาลของโมสาร์ต นักดนตรีในตำนาน โดยอภิชาติพงศ์ได้แรงบันดาลใจจากพ่อและแม่ของเขาเองที่เป็นหมอทั้งคู่ พร้อมทั้งกลับไปสำรวจความทรงจำของตนผ่านโรงพยาบาลในเมืองขอนแก่นบ้านเกิดเมืองนอนของเขาอีกครั้ง ก่อนเรื่องราวจะผันแปรไปตามบรรยากาศการถ่ายทำในภายหลัง จนกลายหนังที่เล่าเรื่องได้นอกกรอบความคิดเดิม ๆ ฟากฝั่งนักวิจารณ์ในต่างประเทศยังคงต้อนรับหนังเรื่องนี้อย่างอุ่นหนาฝาคั่งเช่นเดิม โดยสำนักข่าว Newsweek ยกให้หนังแสงศตวรรษเป็นหนังยอดเยี่ยมอันดับ 1 ของปีนั้น ส่วนสำนักข่าว BBC ก็ให้หนังเรื่องนี้อยู่ในอันดับที่ 60 ในลิสต์ 100 หนังยอดเยี่ยมแห่งศตวรรษที่ 21 เช่นเดียวกันกับสัตว์ประหลาด! 

 

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

‘ลุงบุญมีระลึกชาติ’ การรำลึกถึงภาพยนตร์ก่อนที่จะจางหาย

ข้ามมาปี 2010 ที่การเมืองร้อนแรงจากความตึงเครียดจากการสลายการชุมนุมของคนเสื้อแดง วงการหนังไทยที่ไร้ซึ่งสีสันกลับได้รับข่าวดีจากอีกฟากฝั่งทวีป เมื่ออภิชาติพงศ์ นำพาหนังเรื่อง ลุงบุญมีระลึกชาติ (Uncle Boonmee Who Can Recall His Past Lives) คว้ารางวัลปาล์มทองคำ จากเทศกาลภาพยนตร์นานาชาติเมืองคานส์ ที่ถือเป็นรางวัลสุงสุดของเทศกาล 

ลุงบุญมีระลึกชาตินับเป็นงานมาสเตอร์พีซที่อภิชาติพงศ์ รวบรวมประสบการณ์ในการทำหนังมายาวนานบวกกับความทรงจำและจินตนาการอันเหนือจริง ผสมผสานผ่านการเล่าเรื่องโดยลุงบุญมีที่อยู่ในภาวะล้มป่วยใกล้ตาย ช่วงเวลากึ่งเป็นกึ่งตายนำพาเขาโลดแล่นไปในอดีตในสมัยที่เป็นทหารคอมมิวนิสต์ และย้อนไปไกลถึงอดีตชาติ หนังนำพาความคิดของคนดูล่องลอยเหนือจริงไปในความฝุ้งฝันท่ามกลางความเชื่อ ความงมงาย ด้วยการคารวะศิลปะภาพยนตร์ พร้อมทั้งสำรวจเขตแดนอันเปราะบางทางการเมืองในยุคนั้นในภาวะกึ่งจริงกึ่งฝัน กล่าวได้ว่านี่คือชัยชนะและความกล้าหาญที่หนังได้นำพาจุดสูงสุดแห่งศิลปะอันแสนบริสุทธิ์สู่จออีกครั้ง หลังจากที่ถูกตีกรอบความคิดโดยหนังเชิงพานิชย์จนไม่อาจดิ้นหลุดจากเซฟโซนได้ แต่ลุงบุญมีระลึกชาติ กลับก้าวข้ามกรอบนั้นได้อย่างสวยงามและตราตรึงใจ โดยเขตแดนที่อภิชาติพงศ์ได้ไปสำรวจในหนังคือตำบลนาบัว อำเภอธาตุพนม จังหวัดนครพนม ในช่วงเวลาที่รัฐบาลทำสงครามต่อต้านคอมมิวนิสต์

แต่น่าเสียดายที่ชัยชนะที่เปรียบได้ดั่งการครองตำแหน่งนางงามจักรวาล หรือการคว้าเหรียญทองกีฬาโอลิมปิกแห่งโลกภาพยนตร์นี้กลับเป็นข่าวที่เงียบเชียบ ด้วยอคติเช่นเดิมที่มองว่า

อภิชาติพงศ์คือเครื่องหมายการค้าของการทำหนังที่ดูไม่รู้เรื่อง

หนังถูกฉายในไทยอย่างเงียบเชียบ ตรงกันข้ามอย่างสิ้นเชิงกับเสียงสรรเสริญจากหลายสำนักระดับโลก ที่ยกให้ลุงบุญมีระลึกชาติ เป็นหนังเรื่องยิ่งใหญ่แห่งทศวรรษที่ 2010s ที่ติดอันดับในหลายสถาบัน ไม่ว่าจะเป็น Indiewire ในอันดับที่ 12 / Rolling Stone ในอันดับที่ 26 / Paste Magazine ในอันดับที่ 14 และ Cinema Scope ให้อยู่ถึงอันดับที่ 2 และยกระดับการเป็นผู้กำกับแห่งยุคผู้สร้างความเคลื่อนไหวให้กับวงการภาพยนตร์และศิลปะยุคใหม่ได้อย่างกล้าหาญและงดงาม

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

‘รักที่ขอนแก่น’ ถึง ‘Memoria’ ความทรงจำอันเว้าแหว่ง และก้าวต่อไปของอภิชาติพงศ์

วงการหนังในกาลปัจจุบัน ท่ามกลางสภาวะที่ไร้ทางออกของวงการภาพยนตร์ไทยที่ไร้ซึ่งความตื่นเต้นและความน่าสนใจ ในหลายปีที่ผ่านมา อภิชาติพงศ์ประกาศว่า รักที่ขอนแก่น (Cemetery of Splendour) น่าจะเป็นหนังเรื่องสุดท้ายที่เขาถ่ายทำในไทย แม้จะมีหนังสั้นที่รวมอยู่ในหนัง 4 เรื่อง ใน 10 Years Thailand (2018) ออกฉาย แต่หนังเรื่องล่าสุดของเขา Memoria ก็เป็นคำตอบที่แน่ชัดแล้วว่าอภิชาติพงศ์ได้ไปลงหลักปักฐานในดินแดนใหม่เป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยอภิชาติพงศ์เลือกเมืองโคลัมเบียที่มีความใกล้เคียงกันกับประเทศไทย ทั้งความเชื่อในเรื่องวิญญาณ และบรรยากาศธรรมชาติในป่าเขตร้อน

อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล: 20 ปีผู้กำกับหนังระดับโลก และความเงียบของหนังไทย

Memoria ได้นักแสดงคุณภาพระดับโลกอย่าง ทิลดา สวินตัน (Tilda Swinton) เรื่องราวของหญิงสาวที่โดนเสียงรบกวนหลอกหลอนจนต้องหาที่มาว่ามันมาจากไหน นำไปสู่การค้นหาความทรงจำที่ขาดหาย และท่องไปในดินแดนลึกลับ เป็นจดหมายรักอีกฉบับที่อภิชาติพงศ์เขียนถึงภาพยนตร์โดยโฟกัสไปที่เสียงที่เป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งของภาพยนตร์ สังเกตได้ว่างานของเขามักเรียกร้องให้คนดูได้เพ่งพินิจมองหนังอย่างตั้งใจเพื่อปล่อยไปตามความรู้สึกมากกว่าจะสนใจในเรื่องราวตามขนบของหนังทั่วไป โดยทั้งหมดทั้งมวลยังคงไว้ซึ่งอัตลักษณ์และลายเซ็นของอภิชาติพงศ์อย่างไม่ผิดเพี้ยน ที่ขาดหายไปกลับเป็นภาษาไทยเพียงเท่านั้น แต่ไม่แปลกใจเท่าไหร่ หากความกระตือรือล้นที่จะทำหนังภาษาไทยของเขาจบลงเมื่อย้อนกลับไปพบทั้งความอึดอัดในการนำเสนอไปจนถึงการการตอบรับที่มองเขาแปลกแยกไปจากวงการเสมอ

เสียงปรบมือที่กึกก้องกว่า 14 นาทีในเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด ถูกถ่ายทอดออกมา พร้อมกับคำทิ้งท้ายของเขาที่กล่าวว่า “Long Live Cinema” อาจสะท้อนได้ถึงแสงสว่างอันสุกสกาวในวงการภาพยนตร์โลก แต่อีกด้านมันก็มืดดำไม่ใช่น้อยเมื่อหันกลับมามองวงการภาพยนตร์ไทยในวันที่ความเงียบงันทางศิลปะเริ่มเด่นชัดจนน่ากลัว

เสียงปรบมืออันกึกก้องยาวนานเป็นการทิ้งท้ายเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ปีล่าสุด เมื่อหนัง Memoria สามารถคว้ารางวัล The Jury Prize เป็นตัวที่สองในชีวิตของอภิชาติพงศ์ต่อจากภาพยนตร์เรื่อง สัตว์ประหลาด! แสดงให้เห็นว่าวงการภาพยนตร์โลกอ้าแขนโอบรับเขาเข้าสู่ส่วนหนึ่งในการผลักดันศิลปะภาพยนตร์ให้เดินหน้าไปด้วยแสงสว่างแห่งความหวังไปได้อีกก้าว แต่อีกด้านมันก็มืดดำไม่ใช่น้อยเมื่อหันกลับมามองวงการภาพยนตร์ไทยในวันที่ความเงียบงันทางศิลปะเริ่มเด่นชัดจนน่ากลัว

 

อ้างอิง:
Sarakadee
SahamongkolFilm
วารสาร จดหมายข่าวหอภาพยนตร์ ฉบับที่ ๔๙

ภาพ: Getty Images