อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’

อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’
จำได้ไหมว่าหนังสือสุดหนาที่ทำให้ตัวเองในวัยเด็กยอมหยิบมาอ่านคือเรื่องอะไร ? หนึ่งในคำตอบหลากหลายมักมีชื่อของ “แฮร์รี่ พอตเตอร์” (Harry Potter) วรรณกรรมชุด 7 เล่ม ที่บางเล่มหนาเป็นพันหน้าแต่ก็ทำให้คนอ่านแล้วติดงอมแงมอยู่เสมอ วัยเด็กของหลายคนเติบโตมากับโลกผู้วิเศษ ฮอกวอตส์ ป่าต้องห้าม กบช็อกโกแลต รถเมล์อัศวินยามราตรี ร้านไม้กวาดสามอัน หรือแม้กระทั่งเพิงโหยหวน ดำดิ่งในหน้าหนังสือไปพร้อมกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ รอน และ เฮอร์ไมโอนี่ เมื่อถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ก็ตามดูครบ หลงรักโลกเวทมนตร์ของ เจ.เค. โรว์ลิง จนหมดใจ แม้จะมีช่วงเวลาที่ติดแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่บางครั้งบางคราวก็เหินห่างจากนิยายเรื่องโปรดไปตามกาลเวลา นักอ่านทั้งหลายต่างมีโลกแห่งความจริงที่ต้องเผชิญทั้งการเรียนและการทำงาน เผลอไปชั่วครู่วรรณกรรมเยาวชนระดับโลกก็มีอายุครบ 20 ปีเสียแล้ว กาลเวลาเป็นเครื่องยืนยันถึงความสำเร็จของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ไม่ว่าจะผ่านไปนานแค่ไหน แต่เรื่องราวก็ยังตกตะกอนอยู่ในใจของใครหลายคน รวมถึง อาชว์ – อรุษ เอ่งฉ้วน ศิลปินไทยเจ้าของเพจ ‘Apolar’ (อโพล่า) เรื่องราวน่าตื่นตาของโลกผู้วิเศษ ทำให้เด็กผู้ชายวัย 9 ขวบที่ชอบวาดรูปมากกว่าอ่านหนังสือ ยอมหยิบนิยายเล่มหนาขึ้นมาอ่านอย่างเต็มใจ และไม่เคยคิดว่าเขากับแฮร์รี่ พอตเตอร์ จะวนกลับมาพบกันอีกครั้งในฐานะ ‘นักวาดปกหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ เวอร์ชันครบรอบ 20 ปี’ อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ The People: เคยทำปกหนังสือมาก่อนไหม  อรุษ: ถ้าเป็นงานในไทยส่วนใหญ่เป็นปกหนังสือธรรมะของวัดญาณเวศกวัน ส่วนของต่างประเทศวาดปกให้สำนักพิมพ์ฮาร์เปอร์คอลลินส์ นิวยอร์ก (HarperCollins New York) The People: มาเป็นนักวาดปกให้กับแฮร์รี่ พอตเตอร์ได้อย่างไร  อรุษ: สำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ติดต่อเข้ามาทางเพจบอกว่าสนใจผลงาน ตอนนี้กำลังคัดเลือกนักวาดเพื่อวาดปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ ครบรอบ 20 ปี ถ้าสนใจอยากเป็นผู้เข้ารับการคัดเลือก ให้รวบรวมผลงานเก่า ๆ ส่งให้ทางนานมีบุ๊คส์ จากนั้นสำนักพิมพ์จะส่งให้ทางต่างประเทศพิจารณา เพราะทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ต้นสังกัดต้องดูก่อนทุกอย่าง The People: ตอนสำนักพิมพ์ติดต่อมา คิดว่าตัวเองจะได้งานนี้ไหม  อรุษ: ไม่ค่อยมีความมั่นใจเท่าไหร่ เพราะเราคิดอยู่ตลอดว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่ง รู้ดีว่าในวงการนักวาดมีอัตราการแข่งขันสูง คู่แข่งเยอะ การที่เราได้วาดปกหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ อาจมีปัจจัยหลายอย่าง โอกาส จังหวะลงตัว ลายเส้นที่สำนักพิมพ์ชอบ ตอนนั้นไม่กล้าคาดหวังเยอะ แถมสำนักพิมพ์หายเงียบเป็นเดือน ก็คิดว่าคงไม่ได้แล้ว แต่สุดท้ายตื้นตันมากตอนได้รับการตอบกลับว่าเลือกเรา The People: ตอนเด็กอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพราะว่าอยากอ่าน แต่ตอนนี้ต้องอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เพื่อการทำงาน มู้ดแอนด์โทนเปลี่ยนไปมากน้อยแค่ไหน อรุษ: ค่อนข้างต่าง เพราะครั้งนี้อ่านแบบกดดันมาก ๆ ทุกคนที่เคยอ่านจะรู้ว่ารายละเอียดเยอะมาก สิ่งแรกที่ทำคือการดึงความรู้สึกวัยเด็กกลับมา ความรู้สึกตอน 9 ขวบ ความรู้สึกตอนอยู่ปี 2 ที่ภาพยนตร์ภาคสุดท้ายเข้าฉาย ตอนนั้นเหมือนโตมากับแฮร์รี่ พอตเตอร์ แต่พอหนังจบต้องโฟกัสกับการเรียน เลยเหมือนห่างไปช่วงหนึ่ง เราก็ต้องพยายามให้หนัก นอกจากอ่านหนังสือก็ชอบเข้าไปดูคอมมูนิตี้ของแฮร์รี่ พอตเตอร์ ดูว่าแฟนคลับคุยอะไรกันบ้าง อยากรู้ว่าพวกเขาต้องการอะไรจากหนังสือ หาว่าอะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้คนหลงรักและผูกพันกับหนังสือชุดนี้แม้เวลาผ่านไปนานแล้ว จากนั้นดูปกเวอร์ชันก่อน ๆ มองว่าเรื่องไหนน่าสนใจ เรื่องไหนที่ยังไม่เคยถูกดึงขึ้นปก เราจะให้พื้นที่กับสิ่งเหล่านั้นมากขึ้น ตั้งใจมากว่าการทำปกครั้งนี้ไม่อยากให้คนเห็นรู้สึกว่าจ้างนักวาดมาทำปกหนังสือแล้วจบไป The People: แฮร์รี่ พอตเตอร์ เล่มแรก ๆ ค่อนข้างบาง ทำให้เลือกหยิบประเด็นใหญ่มาไว้บนปกได้ง่าย แต่เล่มหลัง ๆ หนังสือเริ่มหนาขึ้น มีเรื่องราวซับซ้อน แถมมีตัวละครมากขึ้น จะเลือกใจความสำคัญของแต่ละภาคจากอะไร  อรุษ: ทางต่างประเทศมีบรีฟสั้น ๆ ว่าต้องการอะไรบ้าง สิ่งสำคัญคือเขาอยากเห็นภาพวิวัฒนาการตัวแฮร์รี่ อยากให้สีแต่ละเล่มดาร์กขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงโจทย์ตายตัวอย่างการวางตัวละครเอกไว้เป็นเซ็นเตอร์ คนอ่านแฮร์รี่ พอตเตอร์ เห็นโลกเวทมนตร์ผ่านตาเด็กชายแฮร์รี่ รู้จักดินแดนแห่งใหม่พร้อมกันกับเขา ถึงเด็กชายผู้รอดเป็นเซ็นเตอร์แต่ปกเล่ม 1-7 จะวางน้ำหนักแฮร์รี่ไว้ไม่เท่ากัน เล่มแรกออกแบบให้แฮร์รี่เด่นสุดอยู่กลางปกคนเดียว เพราะเขาคือชื่อของวรรณกรรมชุดนี้ แล้วเลือกใช้แม่สี แดง น้ำเงิน เหลือง ให้รู้สึกถึงความสดใส ส่วนเล่มห้องแห่งความลับมีเรื่องราวโยงไปบ้านสลิธีรีนเยอะ สีปกจึงออกเป็นเขียวมะกอก เล่มห้องนักโทษแห่งอัสคาบันมักดำเนินเรื่องช่วงกลางคืน มีแกนเป็นคืนพระจันทร์เต็มดวง การแหกคุก มนุษย์หมาป่า และรถเมล์อัศวินราตรี เลยเลือกสีน้ำเงินจากท้องฟ้าตอนกลางคืนเป็นสีหลัก เวลาอ่านก็พยายามคิดว่าหนังสือเล่มนี้กรีดร้องออกมาเป็นสีอะไร มีแฟนคลับบอกว่ารู้สึกถึงสีม่วงจากเล่มนักโทษแห่งอัสคาบัน แต่เราเก็บสีม่วงไว้เล่มภาคีนกฟินิกซ์ เนื่องจากประกาศของกระทรวงเวทมนตร์เป็นประกาศสีม่วงตัวอักษรสีทองตามที่คุณเจ.เค โรว์ลิง บรรยายไว้ในหนังสือ เราอยากตีความภาพให้แตกต่างจากปกก่อน ๆ โดยแบ่งว่าปกหน้าเน้นตัวละคร ปกหลังใส่สถานที่สำคัญ แล้วค่อยเก็บรายละเอียดให้ครบ บ้านโพรงกระต่ายในเล่มห้องแห่งความลับเราจะวาดป้ายหน้าบ้านให้เอียง มีแม่ไก่อ้วนหลายตัวอยู่ใกล้ป้าย ในหนังสือบรรยายว่ามีหม้อวางระเกะระกะอยู่หน้าประตูบ้าน ก็วาดหม้อไว้ด้วย พยายามเก็บให้ครบเพราะทุกคำในหนังสือมีความหมาย สถานที่ในโลกเวทมนตร์ถือว่าสำคัญไม่แพ้ตัวละคร เป็นส่วนเติมเต็มที่ทำให้คนหลงรักแฮร์รี่ พอตเตอร์ ส่วนตัวละครอื่นที่เลือกขึ้นปกต้องดูที่เนื้อเรื่อง ดูว่าใครส่งผลกระทบต่อเหตุการณ์บ้าง จะปนกันทั้งตัวละครที่สนับสนุนแฮร์รี่ พอตเตอร์ และตัวละครที่ยืนอยู่คนละฝั่งกับแฮร์รี่ แต่ตัวละครรอง ๆ บนปกมักไม่ถูกใช้ซ้ำ พยายามให้พื้นที่ตัวละครใหม่ ๆ ในแต่ละเล่ม ทำให้ตอนแรกแฟนหนังบางคนไม่คิดว่าจะเห็น บาร์ตี้ เคร้าช์ ซีเนียร์ ได้ขึ้นปกเล่มถ้วยอัคนี แต่ถ้าแฟนหนังสือจะรู้กันอยู่แล้วว่าเขามีบทบาทเยอะมาก ด๊อบบี้ เอลฟ์ประจำบ้านได้อยู่บนปกห้องแห่งความลับ พอมาถึงถ้วยอัคนีจะไม่ใช้ด๊อบบี้ซ้ำแม้เขาจะมีบทเด่น แต่เลือกวิงกี้ที่ไม่มีตัวตนอยู่ในเวอร์ชันหนัง แต่ในหนังสือมีความสำคัญกับเนื้อเรื่องแทน ส่วนเล่มภาคีนกฟินิกซ์ให้พื้นที่กับโช แชง เพราะเธอมีอิทธิพลต่อจิตใจของแฮร์รี่ และเล่มเจ้าชายเลือดผสมค่อยเปลี่ยนเป็น จินนี่ วิสลีย์ ปรับไปตามความสำคัญของเนื้อเรื่อง อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ The People: ในเล่มภาคีนกฟินิกซ์ เห็นข้อความภาษาไทยว่า “ภราดรภาพผู้วิเศษ” ทำไมถึงเลือกใช้คำนี้แทนคำว่า “กองทัพดัมเบิลดอร์” ที่มักถูกพูดถึงมากทั้งในหนังสือและภาพยนตร์ อรุษ: ฉากไคลแมกซ์ของเล่ม 5 ทั้งสองเวอร์ชันคือตอนแฮร์รี่กับเพื่อน ๆ บุกไปยังกระทรวงเวทมนตร์และพบกับผู้เสพความตาย เลยอยากให้ความสำคัญกับกระทรวงเป็นพิเศษ ในหนังสือจะเจอคำบรรยายที่คุณเจ.เค. โรว์ลิง เขียนไว้ว่า โถงรับแขกของกระทรวงมีน้ำพุสีทองสลักคำว่า ‘ภราดรภาพผู้วิเศษ’ เลยเลือกใช้คำนี้แทนกองทัพดัมเบิลดอร์ เพราะเป็นส่วนหนึ่งของสถานที่สำคัญที่ส่งผลต่อเนื้อเรื่อง The People: ต้นสังกัดคิดเห็นอย่างไรกับการใส่ภาษาไทยและความเป็นไทยลงในปกหนังสือ  อรุษ: สิ่งแรกเลยต้องขอบคุณสำนักพิมพ์นานมีบุ๊คส์ที่ให้ใส่จินตนาการเต็มที่ ทางเมืองนอกก็น่ารักมากที่ยอมให้ใช้เลขไทยแทนเลขอารบิก แถมยังเสนอแนวคิดให้ควรมีคำว่า “D.A.” แต่เปลี่ยนเป็นภาษาไทยว่า “ก.ด.” ย่อมาจากกองทัพดัมเบิลดอร์ ก็เลยซ่อนคำย่อนี้ไว้ในปกด้วย เขาให้พื้นที่มากจนทำให้กล้าออกจากกรอบ กล้าเล่นอะไรไทย ๆ มากขึ้น เราเลยมองว่าเป็นโอกาสดีทำให้คนอื่นได้เห็นศิลปะไทย ปกหลังเล่มถ้วยอัคนี ตรงแคมป์พ่อมดแม่มดที่แห่แหนมาดูการแข่งขันควิดดิชเวิลด์คัพรอบชิงชนะเลิศ มีแคมป์ของผู้วิเศษชาวไทยปนอยู่ด้วย ถ้าในหนังสือบรรยายว่าผู้วิเศษหลายชาติมาดูการแข่งแล้วทำไมจะมีแคมป์ของคนไทยไม่ได้ เลยวาดแคมป์คนไทยโดยใช้สัญลักษณ์เป็นกินรี ปะปนกับแคมป์ชาวจีนและประเทศโซนอื่น ๆ ส่วนในปกหน้าก็ใส่เส้นม้วน ๆ คล้ายลายกนกไว้ตรงตัวสกรู๊ตปะทุไฟด้วย เราสนุกกับการสร้างสรรค์ แต่ห้ามลืมว่าทุกอย่างต้องตรงกับสิ่งที่คุณเจ.เค. โรว์ลิง บรรยายไว้ในหนังสือ เราพยายามสอดแทรกภาษาไทยไว้ให้พอดี ดูแล้วไม่ฝืน ไม่ทำร้ายออริจินัล เพราะหากฝืนใส่ลายไทย เลขไทย ภาษาไทย หรือลายกนกเยอะ ๆ เพียงเพราะต้องการเห็นอะไรไทย ๆ บนปกนิยายชื่อดัง ก็จะกลายเป็นว่าคนวาดไม่ให้เกียรติต้นฉบับ ต้องไม่พยายามทำให้ปกเป็นแฟรนไชส์ของเรามากเกินไป เพราะให้ตายอย่างไรสุดท้ายแล้วแฮร์รี่ พอตเตอร์ ก็คือผลงานที่มาจากความคิดสร้างสรรค์ของคุณเจ.เค. โรว์ลิง อยู่ดี   The People: พอรูปปกแฮร์รี่ พอตเตอร์ เวอร์ชันครบรอบ 20 ปี ถูกปล่อยออกไป มีคนให้ความสนใจเยอะมาก และมีคนพยายามตีความสิ่งที่ซ่อนไว้ คุณได้เข้าไปดูกลุ่มแฟนคลับแฮร์รี่คุยกันบ้างไหม  อรุษ: เข้าไปดูบ่อยมาก ชอบแอบส่องเขาคุยกัน เพราะเห็นแล้วรู้สึกมีความสุขที่ผลงานถูกตีความ บางครั้งชอบการตีความของแฟน ๆ แฮร์รี่ พอตเตอร์ มากกว่าการตีความของตัวเองเสียอีก หรือตอนที่มีคนคิดไม่เหมือนเราแต่กลับทำให้รู้สึกดี เพราะภาพหนึ่งภาพทำให้เกิดการตีความหลากหลาย รู้สึกชื่นชมแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ มาก ๆ ที่มองเห็นจุดเล็กจิ๋วในปกเครื่องรางยมทูต เราวาดเฮอร์ไมโอนี่ถือหนังสือนิทานบีเดิ้ลยอดกวี ทุกคนรู้จักหนังสือเล่มนั้น แต่ไม่เคยคิดว่ามีใครนั่งมองหน้ากระดาษที่เฮอร์ไมโอนี่เปิดอยู่ แล้วเห็นว่าเราตั้งใจวาดให้เหมือนกับที่คุณเจ.เค. โรว์ลิง วาดไว้ อยากให้ทุกอย่างบนปกมีความหมาย พอเห็นพื้นที่ว่างจะคิดหนักเลยว่าใส่อะไรลงไปดี ใส่อะไรที่มีความหมายกับแฟนคลับ คิดว่าเขาเห็นอะไรแล้วมีความสุข แล้วพอมีคนเห็นจนเกิดการตีความหลากหลายก็รู้สึกหายเหนื่อย และรู้สึกดีที่แฮร์รี่ พอตเตอร์ กลับมาให้คนได้สนุกสนานกันอีกครั้ง สิ่งสำคัญคือไม่อยากให้คนเห็นปกแล้วคิดว่า “อืม ปกแฮร์รี่ 20 ปี” แล้วปล่อยผ่าน อยากให้เห็นปกแล้วรู้สึกว้าว พอซื้อหนังสือกลับไปนั่งเพ่งปกก็เจอสิ่งที่ซ่อนอยู่ ซึ่งตอนดูในร้านหนังสือกลับมองไม่เห็น จากนั้นเปิดในหนังสือก็เจอ Easter egg อีก ทำให้คนอ่านได้ค้นหาไปเรื่อย ๆ สนุกไปพร้อมกับเรา อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ The People: แต่ละเล่มมี Easter egg ซ่อนไว้เยอะมาก ๆ ถ้าต้องเลือกเพียงชิ้นเดียวจากทั้งหมด 7 เล่ม จะเลือกอะไร  อรุษ: ชอบที่สุดน่าจะเป็นถ้วยอัคนี เป็น Easter egg ที่ไม่คิดว่าแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ ชำแหละลึกขนาดนี้ เพราะถ้วยค่อนข้างเล็กมาก มีคนเห็นว่าเราทำถ้วยอัคนีเป็น 3 ระดับ เทียบกับ 3 ภารกิจ ที่ผู้แข่งขันในการประลองเวทไตรภาคีต้องเจอ รอบนอกของถ้วยเป็นเปลือกไข่จากภารกิจแรก วงแหวนชั้นถัดมามีชาวเงือกแหวกว่ายเป็นตัวแทนของภารกิจที่สอง ส่วนวงในสุดมีเส้นตัดไปมาคือเขาวงกต ตรงกลางมีเปลวเพลิงเป็นทั้งไฟของถ้วยอัคนีและตรามาร เท่ากับว่าภารกิจเริ่มจากขอบถ้วยด้านนอกสุดไปถึงด้านในพาไปสู่ลอร์ดโวลเดอมอร์ เล่าเส้นเรื่องที่แยกส่วนกันของเล่ม 4 ให้จบในถ้วยใบเดียว พอปล่อยภาพปกออกไปแล้วมีคนแกะความหมายทั้งหมดได้เลยดีใจมาก เพราะ Easter egg จะไม่ประสบความสำเร็จถ้าคนเห็นแล้วไม่เข้าใจ The People: แม้จะชอบแฮร์รี่ พอตเตอร์ มากแค่ไหน แต่พอนั่งเก้าอี้เปิดคอมพิวเตอร์เตรียมทำงานแต่ไอเดียกลับตัน วาดอย่างไรก็วาดไม่ออก จะแก้ปัญหาอย่างไรเมื่อรู้สึกว่าตัวเองไม่พร้อมทำงาน อรุษ: เป็นบ่อยมาก เป็นตลอด เป็นประจำกับทุกงาน ตอนเรียนคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ก็คิดว่าเป็นเพราะไม่ได้รักงานสถาปัตย์จริง ๆ หรือเปล่าเลยทำงานไม่ออก แต่พอไปเรียนโทด้าน Concept Art ที่ซานฟรานซิสโก เจาะลึกงานอาร์ตก็ยังมีช่วงที่วาดไม่ได้ เลยรู้ว่าอยู่ที่ความกดดันกับความเครียดมากกว่า ตอนปล่อยภาพเล่ม 1-3 ออกไป แล้วต้องทำเล่ม 4 ต่อก็รู้สึกกดดันมาก เพราะคนเห็นปกแรก ๆ แล้วคาดหวัง ส่วนเรากลัวงานตัวเองแย่ลงแล้วทำให้คนผิดหวัง เวลาที่รู้ว่าตัวเองเครียดมากเกินไปเราจะถอยออกจากงาน ถ้าเครียดแล้วฝืนทำต่อ ผลงานที่ได้ก็มีความเครียดสะท้อนออกมา ความตั้งใจนานกว่า 10 เดือน ที่ทำปกแฮร์รี่มันจะไม่มีความหมาย  พอคิดไม่ออกว่าจะวาดอย่างไรต่อก็ถอยกลับมาในฐานะแฟนคลับ นั่งดูคนไปเที่ยวสวนสนุกแฮร์รี่ พอตเตอร์ ดูตอนด๊อบบี้เจอกับแฮร์รี่ครั้งแรกเพราะชอบฉากนั้นมาก ๆ ดูคนรีวิวปกหนังสือ ได้เห็นนักสะสมที่มีปกจากทุกประเทศแล้วเขาบรรยายด้วยใบหน้าที่มีความสุขมาก ดูจนรู้สึกตื่นเต้นไปด้วย ไล่เรียงใหม่แล้วคิดว่าอยากถ่ายทอดอะไร ทำให้คิดว่าอยากเห็นภาพเวลาแฟนคลับแฮร์รี่ พอตเตอร์ พูดถึงปกที่เราตั้งใจทำก็รู้สึกมีแรงทำงานต่อ รู้สึกยอมไม่ได้ เหมือนได้พลังกลับมา The People: คิดอย่างไรกับวงการศิลปะไทย  อรุษ: อันนี้เป็นมุมมองของเราคนเดียว เราเห็นคนไทยมีความสามารถด้านศิลปะเยอะมาก พอเห็นแล้วก็รู้สึกเสียดายเล็ก ๆ ที่ศิลปินส่วนใหญ่ไปสร้างชื่อให้ต่างประเทศแต่ไม่เป็นที่รู้จักในไทย อย่างคุณฝน วีระสุนทร ร่วมทำเรื่อง Frozen เขาก็ดังมาก ตอนนี้ศิลปินไทยไปสังกัดอยู่ต่างประเทศเยอะมาก แต่ในประเทศไทยกลับไม่ค่อยมีพื้นที่ให้พวกเขาได้แสดงฝีมือให้คนรุ่นใหม่ หรือเด็ก ๆ ที่ชอบศิลปะเห็นแล้วเกิดแรงบันดาลใจอยากลุกขึ้นมาทำงานศิลปะบ้าง คนส่วนใหญ่ยังถูกปลูกฝังมาแต่เด็กว่า ‘ความเป็นไทย’ หรือ ‘ลายไทย’ อย่าไปใช้เวลาใครจ้างให้ทำงานเพราะว่าเชย แต่เรามองว่าจะสวยหรือไม่สวยขึ้นอยู่กับการดีไซน์มากกว่า เราอยากเป็นเสียงเล็ก ๆ บอกกับทุกคนว่าตัวเองภูมิใจกับศิลปะไทย ถ้าตั้งใจทำงานผลงานของทุกคนมีโอกาสไปถึงระดับสากลได้ แต่เวลาเดียวกันก็ต้องยอมรับว่างานอาร์ตเมืองไทยไม่ค่อยถูกให้เครดิต เงินทุนการทำแอนิเมชันของไทยน้อยมากเมื่อเทียบกับระดับอินเตอร์ เป็นไปไม่ได้เลยที่งานจะเท่ากับต่างประเทศ แม้มีบุคลากรเก่ง ๆ เยอะ แต่เงินหรือเครื่องมือไม่สามารถส่งให้ผลงานไปถึงที่ตั้งใจไว้ ข้อจำกัดมีเยอะจนทำให้ศิลปินไทยส่วนใหญ่ไปดังต่างประเทศ อรุษ เอ่งฉ้วน: ศิลปินมักเกิ้ลที่สอดแทรกศิลปะไทยในโลกของ ‘แฮร์รี่ พอตเตอร์’ The People: มีความคิดเห็นอย่างไรบ้างกับคำว่า “ศิลปินไส้แห้ง” อรุษ: หลายครอบครัวในประเทศไทยมักมีค่านิยมว่า“เรียนอาชีพนี้สิ ค่าตอบแทนสูง ส่วนอาชีพนี้ค่าตอบแทนไม่ดีอย่าไปเรียนเลย” เป็นเรื่องยากมาก ๆ กับความคิดนี้ เป็นค่านิยมที่อยู่มานานแถมเราก็เจอกับตัว ช่วงสอบเข้ามหาวิทยาลัยก็ลงสมัครคณะศิลปะไว้หลายสาขา พอถึงเวลาต้องเลือกว่าเรียนสถาปัตย์หรือคณะศิลปะอื่น ผู้ใหญ่บอกว่าคณะสถาปัตย์ดูเป็นรูปเป็นร่างมากกว่า ตอนนั้นอายุ 17 ปี ก็คล้อยตามผู้ใหญ่ เรามองว่าสถาปัตย์เป็นเรื่องใหม่ จบไปเป็นอาชีพที่มีงานรองรับจริงจัง แต่กลายเป็นว่าพอเรียนมาถึงปี 4 ถามตัวเองบ่อยมากว่าชอบสิ่งนี้จริงเหรอ พอได้ฝึกงานต้องเข้าไซต์ก่อสร้าง ตกลงงานกับผู้รับเหมา ตรวจงาน ขั้นตอนทั้งหมดกินเวลาจับปากกาวาดรูป เวลาที่ได้ทำสิ่งที่รักจริง ๆ มันหายไป รู้สึกว่าจินตนาการหายไปเกือบ 80 เปอร์เซ็นต์ และเริ่มรู้แล้วว่าข้อจำกัดทั้งหลายมากเกินไปสำหรับเรา ถ้ารู้แล้วว่าชอบหรือรักอะไรจริง ๆ อยากให้ตั้งใจทำให้ดี อย่าเพิ่งรีบมองเรื่องค่าตอบแทน เพราะถ้ามองเงินก่อน เราจะหยุดตัวเองตั้งแต่ก้าวแรกโดยยังไม่ทันได้ขึ้นบันไดด้วยซ้ำ งานอาร์ตเป็นเรื่องละเอียดอ่อน สมัยเรียนมีอาจารย์คนหนึ่งพูดไว้ดีมาก ท่านถามนักศึกษาว่าอยากทำอาชีพอะไร แล้วมีนักศึกษาคนหนึ่งตอบว่า“อาชีพไหนก็ได้ที่ทำเงินเยอะ ๆ” อาจารย์ท่านก็แซวว่า ถ้าคิดแบบนี้ทั้งชีวิตก็ไม่มีวันรวย เพราะคุณกำลังวิ่งตามเงิน อย่าไปมองตรงนั้นมากจนลืมสิ่งอื่น  

“สิ่งสำคัญที่สุดคือการค้นหาให้ได้ว่า ทำอะไรแล้วมีความสุข”